Posts

เทคนิคการดูแลนาฬิกาวินเทจ ก่อนที่คุณจะตกลงปลงใจครอบครอง

perfect conditions

การเริ่มสะสมคอลเลกชั่นนาฬิกาให้ได้ทั้งมูลค่าทั้งราคาและมูลค่าทั้งจิตใจนั้น ก็ควรจะเริ่มต้นจากพื้นฐานของนาฬิกาที่มีสภาพสวยงามน่าสะสม ซึ่งเราเชื่อว่าทุกคนก็ต้องการนาฬิกาสภาพดีทั้งนั้น คงมีน้อยคนที่จะสะสมนาฬิกาที่สภาพเหมือนผ่านสงครามโลกมาสองครั้งซึ่งจุดสังเกตสำหรับนาฬิกาข้อมือนั้นหลักๆ ก็มีอยู่ 4 แห่งที่ควรจะดูให้ดีและดูให้ขาดตั้งแต่ก่อนที่คุณจะตกลงปลงใจครอบครองนาฬิกาเรือนนั้นแล้ว เพราะทั้ง 4 แห่งนั้นมีความหมายมากต่ออนาคตการเก็บสะสม และครั้งนี้เราก็มาพร้อมกับหลักการง่ายๆ สำหรับพิจารณาชิ้นส่วนทั้งสี่นี้

1.หน้าปัดและเข็ม

toey_14397_w1

การเลือกซื้อนาฬิกาข้อมือวินเทจนั้น เราควรพึงระลึกไว้ว่าหน้าปัดสภาพดีมีชัยไปกว่าครึ่ง เริ่มสังเกตง่ายๆ คือบนพื้นผิวของหน้าปัดไม่ควรมีรอยแตก รอยจุด หรือขึ้นผดที่มีสาเหตุมาจากความชื้น หลักชั่วโมงไม่ควรมีคราบกาวหรือคราบที่ไม่พึงประสงค์อยู่โดยรอบ ตัวอักษรต้องคมชัด ไม่ควรมีตัวอักษรหายไปเพราะรุ่นเก่าๆ นั้นตัวอักษรจะดูยากมากต้องใช้ประสบการณ์พอสมควร บางรุ่นมีการผลิตตัวอักษรออกมาหลายรูปแบบแต่รหัสตัวถังเดียวกัน หากมีพรายน้ำต้องดูให้ดีว่าผงพรายน้ำที่ผลิตจากทริเทียมนั้นไม่ไหลออกหรือเปลี่ยนสภาพเป็นฝุ่นกระจายอยู่บนพื้นผิวหน้าปัด เข็มไม่ควรขึ้นคราบหรือมีปัญหาพรายน้ำทะลุ สิ่งที่ควรสังเกตให้ดีหากนาฬิกามาในสภาพสวยงามเกินควรหรือสภาพของเข็มและหน้าปัดสีต่างกัน ให้ตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะถูกเปลี่ยนหน้าปัดหรือเปลี่ยนเข็มมาใหม่

2.ตัวเรือนและเม็ดมะยม

toey_14404_w1

จริงอยู่ว่าหากซื้อนาฬิกามา แล้วตัวเรือนสภาพไม่สวย ก็สามารถเปลี่ยนได้ แต่ราคาค่าตัวของตัวเรือนอย่างเดียวในสมัยนี้ก็ไม่ธรรมดา ตัวเรือนนาฬิกาวินเทจนั้นจะผลิตออกมาหลากหลายวัสดุอาทิ สเตนเลสสตีล เยลโลว์โกลด์ ไวท์โกลด์ โรสโกลด์ และแพลตินัม ซึ่งการดูตัวเรือนนั้นต้องระวังให้ดีเรื่องการขัดตัวเรือน เพราะการขัดตัวเรือนนั้นจะทำให้ตัวเรือนบางลงและเส้นสายของตัวเรือนเปลี่ยนไปหากช่างขัดไม่ดี ฝาหลังเลขตัวถังต้องตรงกันกับตัวเรือนเพราะเป็นชิ้นที่สามารถถอดเปลี่ยนได้ หากเป็นวัสดุทองคำหรือแพลตินัมสัญลักษณ์ที่สลักไว้เพื่อบอกถึงแร่ธาตุ หรือมาตรฐานของทองนั้นต้องชัดเจน ถ้าเลือนหายไป แนะนำว่าควรตัดใจจากเรือนนั้นเสียเพราะมีโอกาสที่จะเป็นตัวเรือนปลอมหรือผ่านการขัดมาอย่างหนัก เม็ดมะยมต้องเป็นวัสดุเดียวกับตัวเรือนและสีของวัสดุต้องใกล้เคียงกัน แบรนด์ดังๆ อย่าง Rolex, Omega, Patek Philippe และ Vacheron Constantin นั้นจะมีตราสัญลักษณ์ประทับอยู่ที่เม็ดมะยม หากตราสัญลักษณ์ไม่ชัดเจนอาจจะผ่านการขัดมาควรพิจารณาให้ดี

3. เครื่องนาฬิกา

suit_5016_w1

อาจจะยากสักนิดสำหรับนักเล่นมือใหม่ที่จะเปิดฝาหลังด้วยตัวเอง ต้องใช้ความชำนาญในการเปิดพอสมควร มิฉะนั้นอาจจะทำให้ตัวเรือนได้รับความเสียหายหรือเป็นรอยได้ แต่เมื่อเปิดฝาหลังมาแล้วเราก็จะเจอสิ่งที่เปรียบเสมือนหัวใจของนาฬิกาคือเครื่องที่อยู่ด้านใน ซึ่งการจะเช็กดูเครื่องนั้นบางครั้งอาจจะต้องใช้คู่มือเพื่อตรวจสอบว่าเครื่องที่อยู่ในนาฬิกาเรือนนั้นตรงรุ่นและเป็นของแท้หรือไม่ แต่หลายแบรนด์ก็ไม่ได้ใช้เครื่องที่ผลิตจากโรงงานตัวเอง ไม่ต้องตกใจนะครับ ความสะอาดของเครื่องก็เป็นส่วนสำคัญที่จะดูว่าเครื่องทำงานได้ดีหรือไม่เพราะหากมีคราบน้ำมันเกาะอยู่ หรือมีร่องรอยความสกปรกเยอะนั่นก็เป็นสัญญาณบ่งบอกว่านาฬิกาเรือนนี้ไม่ได้รับการดูแลมาอย่างต่อเนื่อง อาจจะทำให้คุณต้องควักสตางค์เพื่อจ่ายค่าบำรุงรักษาเพิ่มขึ้นนั่นเอง

4.สายนาฬิกา

toey_14420_w1

บางคนอาจจะไม่ใส่ใจว่านาฬิกาต้องมีสายตรงรุ่นมาด้วย เพราะสามารถหาสายหนังใส่ได้แถมน้ำหนักยังเบาอีกต่างหาก แต่หากมีสายตรงรุ่นมาแบบครบๆ เวลาเก็บสะสมเข้าคอลเลกชั่นก็เท่ไม่ใช่น้อย แถมบางรุ่นที่ตัวเรือนเป็นทองคำมาพร้อมสายทองคำ ควรจดจำไว้ให้ดีว่าส่วนใหญ่นั้นน้ำหนักทองของสายนั้นสูงกว่าตัวเรือนเสียอีก บางยุคบางสมัยถึงขั้นหลอมทองขายกันมาแล้ว ส่วนวิธีการดูสายนั้นก็ลองดูที่ช่องว่างระหว่างข้อต่อแต่ละข้อว่าจะมีช่องว่างประมาณครึ่งมิลลิเมตรเท่านั้น หากห่างมากกว่านั้นก็สันนิฐานว่าอาจจะเริ่มยืดแล้ว แต่หากบางเส้นมีระยะห่างน้อยแต่ระยะแต่ละข้อไม่เท่ากันหรืออายุสายเก่ามากแต่มีระยะห่างที่เป๊ะเกินไปก็อาจจะถูกปรับแต่งได้เช่นกัน บางแบรนด์จะมีรหัสสลักไว้หากเป็นสายเส้นเดียวกันรหัสต้องตรงกัน แต่หากรหัสไม่ตรงกันสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นสายคนละรุ่นที่ถูกสลับมาควรดูให้ครบทุกข้อ และสำคัญที่สุดคือสัญลักษณ์ที่ถูกสลักไว้บริเวณบานพับหากเป็นวัสดุใดต้องมีสลักไว้และต้องมีโลโก้หรือชื่อแบรนด์ตีอยู่ด้วย

checking tips

แต่หากส่องดูรายละเอียดทั้งหมดแล้ว แต่ยังคงไม่มั่นใจ แนะนำให้ลองนำเลขกำกับตัวถังกลับไปเช็กที่ศูนย์บริการของแรนด์นาฬิกาที่คุณครอบครองเพื่อจะได้มั่นใจในรายละเอียดในแต่ละจุดของนาฬิกามากขึ้น

Content by Poramin T., Photography by Sompoch T.