Posts

เบื้องหลัง Backstage สุดเอ็กซ์คูลซีฟจากโชว์ SIRIVANNAVARI คอลเล็กชั่น Spring/Summer 2023

เก็บตกภาพบรรยากาศ Backstage และซูมดีเทลแบบใกล้ชิด ก่อนเริ่มโชว์แบรนด์ SIRIVANNAVARI คอลเล็กชั่น ‘Tapestries of Dreams’ ประจำฤดูกาล Spring/Summer 2023 โดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ ที่ทรงนำเสนอผลิตภัณฑ์แฟชั่นทั้ง เครื่องแต่งกายสำหรับสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ S’Homme เราไปชมกันดีกว่าครับ ว่าเหล่านายแบบ, นางแบบ จะมีลีลาและท่าโพสต์สุดเปรี้ยวเพียงใด ไปชมกันเลย!

SIRIVANNAVARI ถ่ายทอดมนต์เสน่ห์แห่งวัฒนธรรมผ่านคอลเล็กชั่น ‘Tapestries of Dreams’

เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมาแบรนด์ SIRIVANNAVARI ได้จัดแฟชั่นโชว์สุดยิ่งใหญ่ภายใต้ธีมที่มีชื่อว่า ‘Tapestries of Dreams’ นำเสนอคอลเล็กชั่นประจำฤดูกาล Spring/Summer 2023 โดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า สิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์แห่งแบรนด์ จัดขึ้น ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน เมื่อความหรูหราตระการตาแห่งอินเดียในยุคบริติช ราช (British Raj), ความหลากหลายของสีสัน, รูปทรง และความเป็นเลิศทางงานฝีมือ ได้รับการตีความและรังสรรค์ใหม่ ด้วยเอกลักษณ์ทางการออกแบบ จึงออกมาเป็นผลงานที่จุดประกายความฝันและเย้ายวนใจให้ครอบครองอย่างแท้จริง 

“การออกแบบผลงานในทุกครั้ง ก็เหมือนเป็นการทดลองทางกระบวนการความคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นขั้นตอน สำหรับครั้งนี้ ความแตกต่างหลากหลายในวัฒนธรรมของอินเดีย ได้เปิดโอกาสให้เราได้ใช้ลูกเล่นกับวัสดุนานาชนิด บนรูปทรงและโครงสร้างการตัดเย็บที่ช่วยเพิ่มความสง่างามให้แก่ผู้สวมใส่ทั้งผู้หญิง และผู้ชาย” สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า  สิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์แห่งแบรนด์ SIRIVANNAVARI ทรงมีพระดำรัสเกี่ยวกับการทำงานในคอลเล็กชันนี้  “อาจกล่าวได้ว่า คอลเล็กชันนี้เป็นเหมือนการระดมงานฝีมือที่มีความหลากหลายอย่างที่สุด ทั้งงานจับเดรป งานถักลายแบบมาคราเม นอกจากนั้น ยังมีการใช้เทคนิคงานปักที่สนุก มีการจัดสัดส่วนขององค์ประกอบต่างๆ ได้อย่างลงตัวที่สุด เท่าที่เคยทำมาในงานเสื้อผ้าสำเร็จรูป”

เครื่องแต่งกายชาย S’Homme โครงสร้างทรงชุดเนห์รุ กูรตะ (Nehru Kurta) ซึ่งเป็นต้นแบบแจ็กเกตซาฟารี  ได้ถูกปรับสัดส่วนยืดความยาวไปเป็นเสื้อนอกสำหรับสวมเดี่ยว, สวมกับเสื้อยืดตัวเก่ง  เสื้อเชิ้ตผ้าไหมปักด้ายเดินลาย หรือปักวัสดุหรูหรา ลวดลายแบบอินเดียประยุกต์  เข้าคู่กับกางเกงขายาวทั้งแบบทรงสอบ และทรงหลวม และเพื่อเติมเต็ม ‘อารมณ์ฤดูร้อน’ บรรดาชุดชายหาด และชุดลำลอง โดดเด่นด้วยด้วยผ้าลายพิมพ์ประจำฤดูกาล ที่นำภาพวาดฝีพระหัตถ์ อาทิ ภาพต้นมะพร้าว, ดอกไม้นานาพรรณ, เสือ, นกยูง, ผลทับทิม และนกหลากชนิด วางลวดลายสดใสและอ่อนหวานในเฉดสีพาสเทลสบายตา สะท้อนบรรยากาศของฤดูกาลอย่างชัดเจน  เสื้อคลุมคัฟทานตัวยาวตัดเย็บจากผ้าเนื้อพลิ้วบางเบา, กระโปรงกางเกงความสั้นระดับมินิ และชุดว่ายน้ำสไตล์สปอร์ตแขนยาวเสริมไหล่ ที่สามารถใส่เป็นบอดี้สูทได้อย่างแยบคาย ชุดว่ายน้ำทูพีซกับลูกเล่นจับเดรป เผยเสน่ห์เย้ายวนของทรวดทรง เราได้นำลุคฝั่งสุภาพบุรุษและโชว์เต็มๆ ในครั้งนี้มาฝากกันแล้วครับ จะสวยงามเพียงใด เราไปชมกันเลย!

 

แบรนด์ SIRIVANNAVARI เผยโฉมคอลเล็กชั่นทรงออกแบบที่มีชื่อว่า ‘Tapestries of Dreams’

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์แห่งแบรนด์ SIRIVANNAVARI ทรงพร้อมจัดแฟชั่นโชว์เผยโฉมคอลเล็กชั่นทรงออกแบบ Spring/Summer 2023 โดยใช้ชื่อว่า ‘Tapestries of Dreams’ นำเสนอผลิตภัณฑ์แฟชั่นครบครัน อาทิ เสื้อผ้า, ชุดว่ายน้ำ, กระเป๋า, รองเท้า, เครื่องประดับ และแว่นตา สำหรับสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ โดยองค์ดีไซเนอร์ ทรงสร้างสรรค์พร้อมกำกับการถ่ายภาพและวิดีโอแคมเปญโฆษณาของคอลเล็กชั่นเองอีกด้วย

เตรียมพบกับแฟชั่นโชว์เปิดตัวคอลเล็กชั่นทรงออกแบบแห่งแบรนด์ SIRIVANNAVARI ในวันพุธที่ 22 มีนาคม ศกนี้ ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ที่ สยามพารากอน

น้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณ เทิดทูนในพระวิสัยทัศน์ และพระอัจฉริยภาพผ่านหนังสือ 36 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ตั้งพระทัยมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานและพระราชภารกิจอันยิ่งใหญ่ใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จย่าของพระองค์ ด้วยพระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริมและกระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส

ด้วยพระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพ พระองค์ได้พระราชทานแนวพระดำริในการพัฒนาผ้าไทยให้แก่กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก บูรณาการองค์ความรู้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยที่เป็นมรดกของชาติ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ ช่างทอผ้า และเยาวชนคนรุ่นใหม่ ร่วมกันสร้างสรรค์ผ้าผืนงามที่เปรียบดังบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ สะท้อนวิถีชีวิตอันงดงามไปด้วยภูมิปัญญาที่ถูกฟื้นคืน ผ้าทุกผืนได้ถูกถักทอขึ้นจากเส้นใยและพืชพรรณภายในชุมชน ตามหลักปรัชญา“เศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้และยังประโยชน์ให้แก่ปวงชนชาวไทยเสมอมา  

กระทรวงมหาดไทย น้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณ เทิดทูนในพระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มุ่งมั่นสนับสนุนโครงการตามแนวพระดำริของพระองค์อย่างเต็มกำลังเสมอมา จึงได้จัดทำหนังสือ “36 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ปวงชนชาวไทยอย่างอเนกอนันต์ และยังเป็นการเผยแพร่พระภารกิจในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานและพระราชภารกิจอันยิ่งใหญ่ใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จย่าของพระองค์ ที่เห็นเป็นที่ประจักษ์ รวมไว้ในหนังสือเล่มนี้อย่างสมบูรณ์

กระทรวงมหาดไทย น้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณ เทิดทูนในพระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มุ่งมั่นสนับสนุนโครงการตามแนวพระดำริของพระองค์อย่างเต็มกำลังเสมอมา จึงได้จัดทำหนังสือ “36 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ปวงชนชาวไทยอย่างอเนกอนันต์ และยังเป็นการเผยแพร่พระภารกิจในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานและพระราชภารกิจอันยิ่งใหญ่ใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จย่าของพระองค์ ที่เห็นเป็นที่ประจักษ์ รวมไว้ในหนังสือเล่มนี้อย่างสมบูรณ์

rhunrun เรียบเรียง

SIRIVANNAVARI : ‘SUBLIME Haute Joaillerie Collection’

“งานออกแบบครั้งนี้มีความเป็นตัวท่านหญิงเอง เป็นการขยายความต่อเนื่องทางเรื่องราวการออกแบบของ แบรนด์ ผ่านการเลือกใช้สีสันอันเต็มไปด้วยความหรูสง่างาม พร้อมกันนั้นก็คำนึงถึงการใช้งานได้อย่างหลากหลายรูปแบบ”


สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงปรารภถึงแนวทางการทำงานในคอลเลกชันนี้

“ถ้าเราต้องใส่เครื่องประดับสักชิ้น จะคำนึงถึงงานออกแบบที่สวมใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ใช้ได้จากกลางวันถึงกลางคืน สามารถจับคู่กับเครื่องประดับอะไรอีกชิ้นหนึ่ง ดังนั้น ผลงานที่ทำการออกแบบจะมีการพลิกแพลงวิธีสวมใส่ สามารถใช้เป็นเข็มกลัดติดเสื้อในวันหนึ่ง แล้วอีกวันก็ใช้เป็นจี้สร้อยคอ หรือบางครั้ง ก็สามารถดัดแปลงจากสร้อยคอมาสวมเป็นสร้อยข้อมือ หรือต่างหูยาวที่สามารถลดทอนเป็นแบบสวมติดใบหู เพราะว่าท่านหญิงเป็นคนที่ต้องเดินทางเป็นประจำ เลยทำให้นึกถึงว่า ผู้หญิงสักคนที่ต้องเดินทางบ่อย และต้องพกเครื่องประดับติดตัวไปอย่างน้อยที่สุดหนึ่งชิ้น เครื่องประดับชิ้นนั้นก็ต้องมอบประโยชน์ใช้งานได้หลายรูปแบบ ตอบรับกับทุกโอกาส และสถานการณ์”

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์แห่งแบรนด์ SIRIVANNAVARI ทรงเผยโฉม ‘SUBLIME Haute Joaillerie Collection’ คอลเลกชั่นเครื่องประดับอัญมณีชั้นสูง ซึ่งเป็นคอลเลกชั่นพิเศษที่สร้างสรรค์ขึ้นร่วมกับ Gems Pavilion เป็นครั้งที่สอง สำหรับการสรรค์สร้างผลงานครั้งนี้ องค์ดีไซเนอร์ทรงออกแบบชิ้นงานล้ำค่าโดยอาศัยสัญลักษณ์ของแบรนด์ SIRIVANNAVARI อันชัดเจน ทวีความโดดเด่นด้วยการเล่นสีและขนาดของรัตนชาติน้ำงามอีกทั้งยังผสานลูกเล่นการปรับรูปแบบให้ใช้งานได้โอกาส ทุกชิ้นงานจึงเต็มไปด้วยความหมายคู่ควรแก่ชื่อ ‘SUBLIME’ หรือ ‘คุณค่าแห่งความเป็นเลิศ’ อย่างยิ่ง โดยในปีนี้ มีผลงานเครื่องประดับรวมทั้งสิ้น 30 แบบ ประกอบไปด้วยงานที่ผลิตขึ้นเพียงหนึ่งเดียว (One-of-a-kind) ถึง 10 ชิ้น ตลอดจนสร้อยคอ, ต่างหู, สร้อยข้อมือ, เข็มกลัด และ Signature Items รวมไปถึงชิ้นงานผลิตจำนวนจำกัด (ลิมิเต็ด อิดิชัน)

บรรดาสัญลักษณ์และเครื่องหมายนำโชครูปสัตว์อันทรงแบบฉบับ ซึ่งปรากฏอย่างบ่อยครั้งในงานออกแบบแฟชั่นขององค์ดีไซเนอร์ ถูกนำมาใช้กับงานออกแบบเครื่องประดับคอลเลกชันพิเศษนี้ อาทิ ‘ช้าง’ ย่างเท้าในลีลางดงาม, ‘ผึ้งหลวง’ ปีกบอบบางราวกับโบยบิน, ความสง่างามของ ‘ม้า’ และกิริยาอ่อนช้อยของ ’นกยูง’ เคียงคู่มากับดวงดาวเปล่งประกายแสงวับวาว เส้นริบบิ้นมัดปมโบว์หรูหรา และรวงข้าวที่พลิ้วไหว ประหนึ่งความงดงามในสรรพชีวิต และแง่มุมต่างๆ ของธรรมชาติถูกรวบรวมมารังสรรค์ขึ้นเป็นเครื่องประดับเลอค่า สำหรับส่งผ่านความเบิกบาน แสดงถึงความปรารถนาดี และการเติมเต็มความสุขให้แก่ตนเอง และผู้เป็นที่รัก

เมื่องานออกแบบแห่งพระอัจฉริยภาพ เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์ขององค์ดีไซเนอร์มาบรรจบกับความเป็นเลิศทางงานหัตถศิลป์ อันประณีตวิจิตรบรรจงของช่างฝีมือจาก Gems Pavilion เพื่อถ่ายทอดผ่านประกายสว่างสุกใสของเพชรน้ำงาม ตัดกับเฉดสีเจิดจรัสของบรรดาอัญมณีเลอค่าอย่างทับทิม, มรกต, ไพลิน, เพชรเหลือง, มาเธอร์-ออฟ-เพิร์ล, โอปอล, และไข่มุก ความครบครันทางรายละเอียด และการจัดวางองค์ประกอบอย่างลงตัว ปรากฏบนตัวเรือนทองคำสีขาว (white gold) และทองคำสีกุหลาบ (pink gold) ล้วนอาศัยทุกขั้นตอนอันเต็มไปด้วยความพิถีพิถัน ยกย่องซึ่งความเป็นเลิศในทุกชิ้นงาน ด้วยเหตุนั้น สื่อสัญลักษณ์งดงาม ล้ำเลอค่าแห่งความสุข, ความรัก และความปรารถนาดีเหล่านี้ จึงเป็นคอลเลกชันแห่งความพิเศษสุดสมบูรณ์แบบ คู่ควรกับทุกบุคคลผู้ได้ครอบครอง

คอลเลกชันเครื่องประดับอัญมณีชั้นสูง ‘SUBLIME Haute Joaillerie Collection’ พร้อมให้นัดหมายเพื่อเข้าชมได้ที่ร้าน SIRIVANNAVARI Flagship Store ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน โทร. 085-956-6614 และ Gems Pavilion ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน โทร. 02-129-4400 และชั้น G ศูนย์การค้าดิเอ็มโพเรียม โทร. 02-664-8606

ผลงานชิ้นเด่นใน ‘SUBLIME Haute Joaillerie Collection’

เข็มกลัด L’éléphant bleu (เลเลฟองต์ เบลอ)

ด้วยวัฒนธรรมแห่งเอเชียยกย่องให้ช้างเป็นสัตว์มงคล อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความแข็งแกร่งและปัญญา นำมาซึ่งโชคลาภ สีน้ำเงินรอยัลบลูอันหาได้ยากยิ่งของไพลินศรีลังกาน้ำงาม จึงเคียงอยู่คู่กับราชาแห่งสรรพสัตว์
งานออกแบบช้างที่ย่างเท้าเดินอย่างอ่อนช้อย งดงาม ถูกถ่ายทอดสู่เข็มกลัดตัวเรือนทองคำขาวฝังเพชรและไพลินเจียระไนต่างรูปทรงทั่วทั้งตัว ทวีประกายสุกสว่างอย่างความโดดเด่นด้วยลูกเล่นตัดเฉดระหว่างเพชรทรงหยดน้ำขนาด 1.06 กะรัต กับไพลินสีน้ำเงินเข้มเม็ดเดี่ยวขนาด 10.76 กะรัตเจียระไนรูปไข่ ทอประกายล้อแสงสะกดสายตา
น้ำหนักรวมไพลินทั้งหมด 11.999 กะรัต และเพชรรวม 5.94 กะรัต

เข็มกลัด La broche paon rose (ลา โบรช ปาอ็อง โรส)

หนึ่งในสัญลักษณ์ประจำแบรนด์ SIRIVANNAVARI ที่องค์ดีไซเนอร์ทรงโปรด ได้รับการรังสรรค์มาสู่เข็มกลัดนกยูง สื่อความหมายแห่งอำนาจ, ความเข้มแข็ง ทว่าเต็มไปด้วยความงดงาม อ่อนโยน
โอปอลสีกุหลาบเม็ดเดี่ยวขนาด 5.39 กะรัต วางทำหน้าที่เป็นลำตัวนก โดดเด่นท่ามกลางรัศมีงานล้อมเพชรบนตัวเรือนทองคำขาว พวงขนแพนหางนกยูงเน้นรายละเอียด เส้นโครงสร้างที่ลื่นไหล ตระการตาด้วยงานเพชรสีเหลืองสลับเพชรน้ำเจียระไนทรงหยดน้ำฝังประดับเป็นดวงตาหางนกยูงตามความเชื่อในเรื่องโชคลาภและชื่อเสียง พวงหางของนกยูงได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นให้อำนวยต่อการปรับทรงตามความต้องการ นี่คือผลงานที่แสดงถึงไหวพริบ และความชำนาญทางการออกแบบจากมงกุฎหงอนไปจนถึงปลายเล็บ และปลายหางอย่างครบครัน
น้ำหนักรวมเพชรทั้งหมด 6.347 กะรัต

สร้อยคอ La Victoire necklace (ลา วิกตัวร์)

จากความเชื่อแต่บรรพกาลที่ว่าเกือกม้าเป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภ นำมาซึ่งทรัพย์สินเงินทอง ความมั่งคั่ง และความเจริญรุ่งเรือง ไพลินศรีลังกาอันมีความหมายเดียวกันจึงเป็นบทเติมเต็มคุณค่าแห่งเกือกม้าได้อย่างคู่ควร ด้วยงานเจียระไนไพลินรูปทรงวงรีจากซีลอนขนาด 8.8 กะรัต ปรากฏอย่างโดดเด่นเป็นหนึ่งบนโครงสร้างวิจิตรบรรจงของตัวเรือนสร้อยคอทองคำสีขาว ทวีประกายสุกสว่างเรืองรองจากลูกเล่นสลับสีขั้วต่างระหว่างเพชรน้ำและงานลงยาเคลือบดำ ซึ่งได้รับการสรรค์สร้างให้โอบกระชับลำคอได้อย่างพอดี
น้ำหนักเพชรรวมทั้งหมด: 7.175 กะรัตและไพลิน 9.428 กะรัต

โชคเกอร์ Vert sublime

เพื่อยกย่องความสำคัญของ “มรกต” ในฐานะเครื่องหมายแห่งอำนาจ และความมั่งคั่งรุ่งเรืองอันควรค่าสมญานาม “อัญมณีแห่งราชา” อัญมณีสีเขียวขจีขนาดตระการตาอันหาได้ยากยิ่งด้วยน้ำหนัก 39.818 กะรัตจากประเทศแซมเบีย คือเวทีแสดงความวิจิตรบรรจงของงานแกะสลัก ประดับโมทิฟ S Signature อันโดดเด่นอยู่เหนือความงดงามจากคุณลักษณะเฉพาะตัวตามธรรมชาติซึ่งถูกเรียกว่า “สวน” (garden) ท่ามกลางงานล้อมเพชรระย้าเจียระไนทรงหยดน้ำ ไข่มุกอาโกยาสีขาวซึ่งผ่านการคัดขนาดอันพิจารณาถึงความสม่ำเสมอ และคุณสมบัติเนื้อมุกเหลื่อมประกายรุ้งยามต้องแสงถูกนำมาร้อยสายขึ้นตัวเรือนสลับบางตำแหน่งด้วยลูกปัดมรกตเจียระไนทรงกลมผิวเรียบเนียนหมดจด ด้วยความพิถีพิถันในเชิงเทคนิคร้อยไข่มุก และมรกตขึ้นสายทีละเม็ดโดยสลับคั่นด้วยงานมัดปมก่อนร้อยเม็ดต่อไปเพื่อปกป้องถนอม อัญมณีแต่ละเม็ด ให้พ้นจากการเกิดรอยขีดข่วนเพราะขัดสี
เครื่องประดับล้ำค่านี้ เป็นแบบ 3-in-1 ยังสามารถพลิกแพลงดัดแปลงวิธีสวมใส่จากสร้อยคอไปเป็นสร้อยข้อมือได้อย่างง่ายดายโดยอาศัยกลไกกลัดสายอันแยบคาย และยังสามารถแยกชิ้นมรกตสลักลายออกเป็นเข็มกลัดล้ำค่า เต็มเปี่ยมไปด้วยความหมายอย่างลึกซึ้ง
น้ำหนักมรกตรวมทั้งหมด 57.156 กะรัต, น้ำหนักเพชรรวมทั้งหมด 5.177 กะรัต, และไข่มุกทั้งหมดเป็นจำนวน 1,072 เม็ด น้ำหนักรวมทั้งหมด 353.395 กะรัต

ชุดเครื่องประดับ Allure ribbon

นับแต่โบราณกาล ศิลปะการผูกเชือกเป็นรูปโบว์ ไม่ว่าจะใช้กับม้วนจดหมาย, ประดับบนฝากล่อง หรือสิ่งของใดๆ ล้วนสื่อความหมายถึงลึกซึ้งถึงความผูกพัน ความคาดหมายถึงข่าวดี หรือสิ่งที่เป็นของขวัญอยู่ภายใน โบว์จึงเป็นตัวแทนแห่งความสุข ความยินดีเบิกบานได้อย่างชัดเจน
ความงามสง่า ละเมียดละไม ในงานออกแบบโมทิฟตัวเรือนริบบินมัดปมโบว์สามมิติ ในสัดส่วนอสมมาตรประดับทับทิมพม่ารูปไข่ต่างปมมัดกลางโบว์ ในขณะเดียวกัน ความอ่อนช้อยของแถบริบบินซาตินเนื้อเนียนทำจากตัวเรือนทองคำขาวเปิดโปร่งรองรับการฝังเพชรกับทับทิมทอประกายงดงามราวแพรไหมเสมือนจริง
บทสะท้อนถึงสัญลักษณ์สื่อความหมาย “ผูกพันนิรันดร์กาล” ของชุดเครื่องประดับ Allure Ribbon ซึ่งได้รับการออกแบบ และสร้างสรรค์อย่างแยบยล ประกอบไปด้วยสร้อยคอ, สร้อยข้อมือ, เข็มกลัด, ต่างหู และแหวน


สร้อยคอ: น้ำหนักทับทิมรวมทั้งหมด 14.461 กะรัต, น้ำหนักเพชรรวมทั้งหมด 25.996 กะรัต, น้ำหนักแซปไฟร์สีชมพูรวมทั้งหมด 0.180 กะรัต


แหวน: ทับทิมเม็ดกลางน้ำหนัก 3.04 กะรัต, น้ำหนักทับทิมรวมทั้งหมด 3.529 กะรัต, น้ำหนักเพชรรวมทั้งหมด 2.426 กะรัต


สร้อยข้อมือ: ทับทิมทั้งหมดน้ำหนักรวม 5.16 กะรัต, น้ำหนักเพชรรวมทั้งหมด 4.068 กะรัต


ต่างหู: ทับทิมเม็ดกลางน้ำหนัก 2.14 กะรัต, น้ำหนักทับทิมรวมทั้งหมด 7.206 กะรัต, เพชรทั้งหมดน้ำหนักรวม 3.004 กะรัต


เข็มกลัด: ทับทิมเม็ดกลางน้ำหนัก 2.09 กะรัต, น้ำหนักทับทิมรวมทั้งหมด 4.86 กะรัต,
เพชรทั้งหมดน้ำหนักรวม 7.858 กะรัต

ชุดเครื่องประดับ Constellation

งานออกแบบเครื่องประดับ “ดวงดาวแห่งความหวัง” หรือ Constellation แต่ละชิ้น ล้วนโดดเด่นด้วยศิลปะการจัดสัดส่วนองค์ประกอบของโมทิฟรูปทรงต่างๆ ร่วมกับความหลากหลายของรงคศิลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไพลินหลากสีที่ล้วนเลอค่าหายาก เนื่องจากแต่ละเม็ดมอบสีสันละลานตาตามธรรมชาติโดยหาได้ใช้กรรมวิธีแต่งสี หรือการเผาเร่งสีแต่ประการใด

โมทิฟรูปดาวห้าแฉกจากการใช้เส้นตรงกับเหลี่ยมมุมกราฟิกในการออกแบบ โดดเด่นท่ามกลางโมทิฟรูปทรงอื่นอย่างทรงกลม, ทรงหยดน้ำ, จันทร์เสี้ยว และ S Signature ร่วมกันทอรัศมีระยิบระยับจากไพลินหลากเฉดที่นำมาใช้ ตัวเรือนโมทิฟ ทองคำชมพู รองรับงานฝีมือละเอียดอ่อนของการฝังอัญมณีหลากรูปแบบ ให้ความรู้สึกอ่อนหวานและเลอค่า คู่ควรสมบูรณ์แบบสำหรับสุภาพสตรีผู้มีรสนิยม
กำไลข้อมือ: เพชรทั้งหมดน้ำหนักรวม 6.853 กะรัต, แซปไฟร์หลากสีน้ำหนักรวมทั้งหมด 16.91 กะรัต, แซปไฟร์สีชมพูน้ำหนักรวม 0.244 กะรัต, โอปอลน้ำหนักรวม 0.318 กะรัต


สร้อยข้อมือ: เพชรทั้งหมดน้ำหนักรวม 0.841 กะรัต, แซปไฟร์หลากสีน้ำหนักรวมทั้งหมด 5.062 กะรัต, โอปอลน้ำหนักรวม 0.10 กะรัต, มุกน้ำหนักรวม 1.154 กะรัต


แหวน: แซปไฟร์สีเหลือง 2.52 กะรัต, แซปไฟร์หลากสี 0.299 กะรัต, โอปอล 0.093 กะรัต, เพชรทั้งหมดน้ำหนักรวม 0.461 กะรัต


ต่างหู: เพชรทั้งหมดน้ำหนักรวม 1.70 กะรัต, แซปไฟร์หลากสีน้ำหนักรวมทั้งหมด 11.973 กะรัต, โอปอลน้ำหนักรวม 0.193 กะรัต

เข็มกลัด Pegasus brooch

อาชาผู้งามสง่า ได้รับการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์นำโชค และเป็นงานออกแบบที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาทรงนำมาใช้อยู่เสมอ
ความงามเสมือนจริงของแผงคอม้าประกอบขึ้นจากอะความารีนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเน้นความคมชัดของเส้นกราฟิกในงานออกแบบบนเส้นฐานฝังไพลินเจียระไนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า สร้างความกลมกลืนกับอะความารีนน้ำงามเม็ดเดี่ยวขนาด 2.79 กะรัต เจียระไนทรงวงรีหน้าตัดกว้างอันชวนให้นึกถึงเครื่องประดับหัวอันงามสง่าท่ามกลางงานตกแต่งด้วยเพชรและอัญมณีต่างสี รวมถึงโมทิฟเกือกม้าทองคำขาวในตำแหน่งทำมุมกับอะความารีนเม็ดเดี่ยว ซึ่งแกว่งไกวอยู่ใต้เพชรเจียระไนทรงสามเหลี่ยม


เพชรทั้งหมดน้ำหนักรวม 1.622 กะรัต, อะความารีนทั้งหมดน้ำหนักรวม 5.324 กะรัต ไพลินทั้งหมดน้ำหนักรวม 1.62 กะรัต มรกต 0.129 กะรัตและเพทายสีฟ้า 0.173 กะรัต

ต่างหูรวงข้าว La forme (ลา ฟอร์ม)

รวงข้าว อันถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่ง รุ่งเรือง เครื่องหมายแห่งคำอวยพรให้ผู้รับมีสุขภาพดี ถูกนำมาใช้กับงานออกแบบต่างหู เพื่อจุดประกายความหวังถึงสิ่งดีๆ ในปีใหม่ซึ่งกำลังมาถึง
โมทิฟรวงข้าวทองคำสีขาว ทิ้งตัวแกว่งไกว ขดริบบินปลายแฉกฝังไพลินกับเพชรเจียระไนทรงเหลี่ยมบาแก็ตต์ต่างขนาด ไพลินศรีลังกาสีน้ำเงินสดเจียระไนทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกหน้าตัดสูงบนต่างหูแต่ละข้าง สะท้อนถึงการนำแรงบันดาลใจจากธรรมชาติมารังสรรค์สู่เครื่องประดับได้อย่างประณีตสมจริง


ไพลินเม็ดกลางของต่างหูแต่ละข้าง น้ำหนักรวม (2 เม็ด) 4.39 กะรัต, ไพลินทั้งหมดน้ำหนักรวม 8.688 กะรัต และเพชรทั้งหมดน้ำหนักรวม 2.209 กะรัต

ต่างหู Abeille (อาเบย)

ด้วยแรงบันดาลใจจากแมลงผึ้ง สัญลักษณ์แห่งปัญญาและการถือกำเนิดใหม่ คู่ต่างหูดึงดูดสายตาด้วยโมทิฟทองคำสีกุหลาบ ขึ้นรูปโครงสร้างจำลองแบบปีกบอบบางของผึ้งอย่างสมจริงตามธรรมชาติ ประดับงานร้อยระย้าทิ้งตัวด้วยการใช้รัตนชาติเจียระไนหลากรูปทรงบนตัวเรือนกราฟิกอันประกอบไปด้วยทัวร์มาลีนสีชมพู, แซปไฟร์สีชมพู และเพชรร่วมกันล้อแสงตกกระทบทอประกายสว่างเรืองลอออาบผิวหน้าอย่างงดงาม


เพชรทั้งหมดน้ำหนักรวม 4.321 กะรัต, ทัวร์มาลีนสีชมพูทั้งหมดน้ำหนักรวม 1.38 กะรัต และแซปไฟร์สีชมพูน้ำหนักรวม 0.761 กะรัต

#Sirivannavari
#SirivannavariHauteJoaillerie
#SirivannavarixGemsPavilion

=============

SIRIVANNAVARI คอลเลคชั่น “Glimpse of Lucent Horizon” Autumn/Winter 2022-2023

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์แห่งแบรนด์ SIRIVANNAVARI ทรงพร้อมจัดแฟชั่นโชว์เผยโฉมคอลเลคชั่นทรงออกแบบออทั่ม/วินเทอร์ 2022-2023 ‘Glimpse of Lucent Horizon’ อย่างเต็มรูปแบบ โดยจะนำเสนอผลิตภัณฑ์แฟชั่นอย่างครบครัน อาทิ เสื้อผ้า เครื่องหนัง เครื่องประดับ และจิวเวลรี่ สำหรับสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ

เตรียมพบกับแฟชั่นโชว์เปิดตัวคอลเลคชั่นทรงออกแบบแห่งแบรนด์ “SIRIVANNAVARI” ได้แล้ว ในวันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม ศกนี้ ณ ห้องโฟร์ซีซั่นส์แกรนด์ บอลรูม โรงแรม โฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพฯ และร่วมรับชมการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook และ Youtube ของ Sirivannavari Bangkok และทาง True Vision ผ่านแอปพลิเคชัน TrueID

Happy Holidays! กับ “Bonnes Vacances Collection”ครูซคอลเลคชั่น โมโนแกรมสดใสแฝงความเย้ายวนเล็กๆ จากแบรนด์ SIRIVANNAVARI  

SIRIVANNAVARI ขอแนะนำครูซคอลเลคชั่น Bonnes Vacances (บอน วาก็องส์) คอลเลคชั่นแห่งความ       สุขสันต์ สานต่อฤดูร้อนอันสดใส ที่จะทำให้วันหยุดหรือทริปเดินทางทั้งสำหรับผู้หญิงและชาย สนุกและมีสไตล์ยิ่งกว่าเดิม ตามชื่อของ Bonnes Vacances ที่มีความหมายว่า Happy Holidays!  

คอลเลคชั่น Bonnes Vacances เป็นคอลเลคชั่นโดดเด่นด้วยลายโมโนแกรมประจำฤดูกาล ที่เปิดตัวครั้งแรกในแฟชั่นโชว์ Spring/Summer 2022 ของแบรนด์  รังสรรค์ออกมาด้วยโมทีฟหลัก คือ “Horseshoe Monogram”     (ฮอร์สชู โมโนแกรม) ผ้าทอลวดลายกราฟฟิกรูปเกือกม้า เรียงต่อกันเป็นรูปตัว S ทั้งผืน กราฟฟิกลายใหม่ล่าสุดของ    แบรนด์ แต่งแต้มสีสันสดใสในโทนสีหลัก 3 สี  คือ ฟ้า, เขียว และเหลือง   

เสื้อผ้าสำหรับผู้qaชายและผู้หญิง มีให้เลือก mix & match ได้ตั้งแต่ เสื้อเชิ้ตแขนสั้นผ้าไหมอิตาลี, กางเกงขาสั้นแบบ Unisex, เสื้อที-เชิ้ต,  ชุดนอนสายเดี่ยวและขาสั้นเข้าชุด,  สลิปเดรส, ชุดว่ายน้ำวันพีซแบบคัทเอาท์, ชุดว่ายน้ำทูพีซ, เสื้อคลุมยาว, กระโปรงพันเอว, กระเป๋า duffle, รองเท้าลำลองสไตล์ sandal และ espadrille รวมถึง แอคเซสเซอรี่ ต่างๆ อาทิ เคสใส่แทบเล็ต, เคสใส่ Airpods, card holders และ กระเป๋าใส่ขวดน้ำแบบสะพาย ครบถ้วนสำหรับการแต่งเติมความสุข และความสนุกสนานในช่วงวันหยุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไอเทมสำหรับเที่ยวทะเลที่มาในลุคสดใส แต่แฝงไว้ด้วยความเย้ายวน สง่างามตามสไตล์ผู้หญิงของ SIRIVANNAVARI 

เกือกม้า หรือ Horseshoe ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดี เป็นสิ่งนำโชค ปกป้องจากความโชคร้ายทุกประการ รวมถึงสอดคล้องกับความสนพระทัยและความเชี่ยวชาญในกีฬาขี่ม้า ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา Creative Director ของแบรนด์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ด้วย 

คอลเลคชั่น Bonnes Vacances จะวางจำหน่าย ณ SIRIVANNAVARI Pop-up store ชั้น M อาคาร Bศูนย์การค้า ดิเอ็มควอเทียร์  ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป  และสอบถามรายละเอียดสินค้า และสั่งซื้อ ได้ทาง  Line@: sirivannavari_shop 

rhunrun เรียบเรียง

“เจ้าฟ้าหญิงสิริวัณณวรีฯ” ทรงถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการพัฒนาผ้าไทยจากสีย้อมธรรมชาติเพื่อความยั่งยืนในงานเสวนาวิชาการ “การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล” ที่จังหวัดมหาสารคาม

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมผ้าทอในแต่ละท้องถิ่น พร้อมพัฒนาต่อยอดจากภูมิปัญญาดั้งเดิมให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น ด้วยองค์ความรู้ใหม่ซึ่งบรรจุอยู่ในหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย หรือ  THAI TEXTILES TREND BOOK Spring/Summer 2022 เล่มแรกที่ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำขึ้น โดยทรงรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหาร ทรงค้นคว้า
องค์ความรู้ และควบคุมการผลิตทุกขั้นตอนด้วยพระองค์เอง ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ต่อเนื่องมาถึงเล่มที่ 2
THAI TEXTILES TREND BOOK Autumn/Winter 2022-2023 

ในการนี้ได้เสด็จไปทรงเปิดงาน THAI TEXTILES TREND BOOK Autumn/Winter 2022-2023 และงานเสวนาวิชาการ” ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2564พร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการ และทรงเป็นประธานในงานเสวนาวิชาการ ที่ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันก่อน

และเพื่อเป็นการแบ่งปันองค์ความรู้ดังกล่าวให้แก่นักศึกษา ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น และงานดีไซน์ ในระดับภูมิภาค ได้ใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผ้าไทย จึงมีการจัดงานเสวนาวิชาการหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 2 Thai Textiles Trend Book Autunm/Winter 2022-2023 ณ จังหวัดมหาสารคาม โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทรงเป็นประธานงานเสวนาวิชาการ “การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล” พร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย โดย 12 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ชั้นนำ รวมถึงการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ผลิตภัณฑ์จากโครงการศิลปาชีพ และงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ชาย นครชัยอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม สมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมพัฒนาชุมชน เกียรติศักดิ์ ตรงศิริผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีในพระบรมราชินูปถัมภ์ฯ/นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผศ.ดร.ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน 
รศ.ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล 
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ข้าราชการ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เฝ้าฯ รับเสด็จ 
เมื่อวันเสาร์ที่ 29 มกราคม 2565 เวลา 12.00 น. ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม

สำหรับกิจกรรมสัญจรที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามในครั้งนี้ คณะที่ปรึกษาในการจัดทำเทรนด์บุ๊กตั้งแต่เล่มแรกจนมาถึงเล่มที่ 2 ไม่ว่าจะเป็น กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้กประเทศไทย ธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย 
และ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ต่างมุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อให้ออกมาอย่างดีที่สุด ซึ่งเบื้องต้นการโรดโชว์ไปยังภูมิภาคที่จังหวัดมหาสารคามมีการวางแผนดำเนินการคู่ขนานกับการ
จัดงานที่กรุงเทพมหานคร แต่ด้วยปัญหาและอุปสรรคจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงมีการเลื่อนจัดงานเรื่อยมา 

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือแบบ e-book ได้ทาง http://www.culture.go.th หรือที่ link http://book.culture.go.th/ttt2022/mobile/index.html#p=1 หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โทร. 02-247-0013 ต่อ 4305 และ 4319 – 4321 ในวันและเวลาราชการ

 

“SIRIVANNAVARI:16 YEARS OF GLORY”


สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญาเสด็จเป็นประธานในงานเปิดตัวหนังสือครบรอบ 16 ปีของแบรนด์ “SIRIVANNAVARI: 16 YEARS OF GLORY” พร้อมพระราชทานสัมภาษณ์เล่าเรื่องราวเบื้องหลังการรวบรวมภาพแห่งความทรงจำสุดเอ็กซ์คลูซีฟตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์ในปีพ.ศ. 2548 ณ ชั้น 5 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ไปรษณีย์กลางบางรัก


นอกจากภาพความทรงจำอันสวยงามภายในหนังสือ SIRIVANNAVARI: 16 YEARS OF GLORY ที่ทรงคัดเลือกรูปภาพหลายร้อยภาพอย่างพิถีพิถันด้วยองค์เองเพื่อลงตีพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ภาพสเก็ตช์ภาพการฟิตติ้งนางแบบภาพเบื้องหลังเวทีภาพถ่ายแคมเปญโฆษณาภาพรันเวย์ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่จะนำพาผู้อ่านไปอยู่ในดินแดนของ SIRIVANNAVARI BANGKOK หนังสือเล่มนี้ยังนำเสนอเรื่องราวและเบื้องหลังต่าง ๆ ของแบรนด์ที่ไม่เคยเปิดเผยที่ใดมาก่อนอาทิบทสัมภาษณ์ขององค์ดีไซเนอร์และที่มาของสัญลักษณ์นกยูงหนังสือ “SIRIVANNAVARI: 16 YEARS OF GLORY” มีความโดดเด่นด้วยปกสีชมพูฟูเชียอันเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของแบรนด์ซึ่งแสดงถึงวิสัยทัศน์และความสร้างสรรค์อันเหนือระดับขององค์ดีไซเนอร์


สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์แห่งแบรนด์ SIRIVANNAVARI BANGKOK มีพระดำรัสถึงที่มาของหนังสือ SIRIVANNAVARI: 16 YEARS OF GLORY ว่า “เริ่มต้นจากการไปร้านหนังสือต่าง ๆ ทำให้ได้เห็นหนังสือแฟชั่นของแบรนด์ต่าง ๆ จึงเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเปรียบเสมือนความฝันที่เป็นจริง ข้าพเจ้าเคยมีความฝันไว้ว่าอยากมีหนังสือแฟชั่นเป็นของตัวเอง เป็นหนังสือที่รวบรวมผลงานของข้าพเจ้าและแบรนด์ SIRIVANNAVARI BANGKOK ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงวันนี้ รวมทั้งตั้งใจให้หนังสือเล่มนี้มอบโอกาสให้คนในวงการแฟชั่นรุ่นหลัง ๆ ได้ศึกษาเรียนรู้”


ด้วยความที่พระองค์ทรงเริ่มต้นอาชีพในวงการแฟชั่นตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ในพระดำริของพระองค์หญิงคุณสมบัติของศิลปินที่ดีต้องประกอบไปด้วย “ศิลปินที่ดีต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเอง และประวัติศาสตร์ของตัวเอง ต้องเป็นคนที่มุ่งมั่นในงาน ตั้งเป้าหมายและทำให้ได้ตามที่ตั้งใจ มีสปิริต มีการทำงานที่ต่อเนื่อง รวมทั้งต้องมีแพชชั่นในงาน ต้องรู้จริงในงานของตัวเอง รู้จักแก้ปัญหาและมีวินัย รวมทั้งต้องมีเทสต์ที่ดี และรู้เทสต์ของทั่วโลก ทุกวันนี้แม้ว่าโลกจะเต็มไปด้วยเทคโนโลยีมากมาย แต่อย่างไรก็ชอบทักษะด้านงานฝีมือซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ ที่ทำให้ต้องฝึกฝนตัวเองตลอดเวลา เพื่อที่เราจะสามารถบอกทีมงานให้ทำตามได้ อีกอย่างคือ ผู้ใหญ่สั่งมาอย่างไร สอนมาอย่างไร ต้องไม่ลืมสิ่งที่พวกเขาสอนมา บุคคลที่เป็นแรงผลักดันพระองค์เดียวและทรงเป็นไอคอนของข้าพเจ้า ก็คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จย่าทรงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ข้าพเจ้าทูลลาไปเรียนต่อด้านแฟชั่น ที่ประเทศฝรั่งเศส แล้วกลับมาถวายงานรับใช้พระองค์ท่าน”


พระองค์หญิงรับสั่งต่อว่า “ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา การสร้างสรรค์แฟชั่นทุกคอลเลคชันมีความยาก ท้าทาย กดดัน แตกต่างกันไป เพราะอยากทำให้ดีที่สุด แต่สำหรับคอลเลคชันที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แบรนด์มากที่สุดคือ HUMAN DNA ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญหลังจากห่างหายไปจากวงการแฟชั่นร่วมปี และเป็นคอลเลคชันที่มีความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด อีกคอลเลคชันที่ชอบคือ SIRIVANNAVARI COUTURE คอลเลคชั่นพิเศษที่เป็นงานผ้าไทยที่ได้พี่ป้อม (ธีระพันธ์ วรรณรัตน์) มาช่วยให้ไอเดียในการทำผ้าไทยให้ดูเป็นสากลมากขึ้น”


สำหรับสิ่งที่ท้าทายในการทำงานมากที่สุดคือ “เวลา ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด เพราะปฏิทินในวงการแฟชั่นเดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเมื่อต้องพบกับความกดดัน กำลังใจจากทุกคนในทีมเป็นสิ่งสำคัญ หรือเวลามีเรื่องเครียด ถ้ามีเวลาก็จะไปพักผ่อนสมองที่ทะเลแล้วค่อยกลับมาลุยงานใหม่ เพราะถ้าเรากดดันมาก ๆ ก็จะทำให้ลูกน้องเครียดตามไปด้วย”
ส่วนที่มาของสัญลักษณ์นกยูงซึ่งถือเป็นโลโก้ของแบรนด์ SIRIVANNAVARI BANGKOK นั้น พระองค์รับสั่งว่า เป็นผลงานที่สเกตช์ไว้ตั้งแต่สมัยที่ทรงศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา ซึ่งนกยูงเป็นสัตว์ที่มีความสง่างาม แข็งแกร่ง รวมทั้งมีความเป็นนักสู้ และจากรูปสเกตช์ในวันนั้น ก็พัฒนาเรื่อยมาจนเป็นโลโก้ของแบรนด์ในที่สุด


ด้วยความตั้งพระทัยในการส่งต่อแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นต่อไป และผู้ที่รักในแฟชั่น รวมทั้งส่งผ่านประสบการณ์ในวงการแฟชั่นที่สะสมมาตลอดระยะเวลา 16 ปี ผ่านหนังสือ “SIRIVANNAVARI: 16 YEARS OF GLORY” องค์ดีไซเนอร์พระราชทานข้อคิดให้แก่บุคคลที่มองพระองค์เป็นแรงบันดาลใจ ว่า “อย่างแรกคือ ต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง ใจชอบหรือไม่ ถ้าเกิดเจอปัญหา หรือทุกข์เมื่อไหร่ แต่ทุกข์แล้วยังมีความสุข แสดงว่าเราชอบสิ่งนั้นจริง และต้องพร้อมรับมือกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งแง่บวกและแง่ลบ รู้จักยืดหยุ่นในทุกสถานการณ์ ที่สำคัญคือ ยึดความเป็น Identity (ตัวตน) และอย่าลืมพัฒนาตัวเอง ทั้งสมอง มือ ใจ หรือแม้กระทั่งตาของตัวเอง เมื่อฝึกตัวเราแล้ว ก็จะสามารถชนะคู่แข่งได้
“ข้าพเจ้ามองว่า แฟชั่นคือ ความสนุก สดใส แพชชั่น เทสต์ และเป็นการทดลองที่ต้องมูฟออนและยืดหยุ่นได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่อยากบอกน้องๆ ทุกคน ก็คือ ถ้าอยากที่จะเข้ามาในวงการนี้  อยากให้ชอบวงการนี้จริงๆ ชอบอย่างที่เรียกว่า เขาจะอยู่กับเราไปจนตาย และอย่าลืมคนที่ซัพพอร์ตอยู่ข้างหลังเราว่ามีใครบ้าง” 

ทั้งนี้ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 16 ปี แบรนด์ SIRIVANNAVARI BANGKOKสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญาได้ทรงนำซิลูเอทของกระเป๋าคลัทช์ เรซิน ประดับโลโก้นกยูงอันเป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์ ซึ่งผลิตขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2550 โดยทรงนำมาสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ให้มีความพิเศษมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นของที่ระลึกลิมิเต็ดอิดิชั่นในวาระสุดพิเศษนี้


สำหรับความพิเศษของกระเป๋ารุ่นนี้ นอกจากผสมผสานด้วยวัสดุ 3 ชนิดได้แก่ ผ้าไหมส่วนพระองค์ หนัง และเรซิ่น แล้วยังมีวิธีการทำที่ซับซ้อนและเป็นงานคราฟต์ที่ทำด้วยมือทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การนำผ้าไหมส่วนพระองค์มาจับพลีท จากนั้นขึ้นเดรฟและกลึงลายด้วยมือ โดยช่างฝีมือชั้นครู รวมถึงการสร้างความพลิ้วไหวในชิ้นเรซิ่นล้อไปกับสีสันเพื่อชูลวดลายผ้าไหมให้มีความโดดเด่นยิ่งขึ้น จากนั้นเดินทางสู่ขั้นตอนสุดท้ายด้วยการตัดเย็บโดยช่างเฉพาะทางที่ทุ่มเทประสบการณ์ผ่านฝีจักรและเทคนิคจนออกมาเป็นกระเป๋ารุ่นนี้เพื่อฉลองครบรอบ 16 ปี แบรนด์ SIRIVANNAVARIBANGKOK โดยจะมีวางจำหน่ายที่ร้าน SIRIVANNAVARI ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอนตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

หนังสือ SIRIVANNAVARI: 16 YEARS OF GLORY มีจัดจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ดังนี้
Line Official : @sirivannavari_shop
Instagram :Sirivannavari Bangkok
Facebook :Sirivannavari Bangkok
www.sirivannavari.com
www.asiabooks.com
https://thailand.kinokuniya.com



“ผ้าลายขอเจ้าฟ้าฯ” สร้างมูลค่าหลายพันล้านให้ชุมชน โดยฝีมือศิลปินช่างทอผ้าของไทย

กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้สนองแนวพระดำริ ผ่าน “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” จัดกิจกรรมโครงการประกวดผ้าลายขอพระราชทานฯ และจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ 8 ครั้ง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานการทอผ้า

รวมทั้งสร้างศิลปินช่างทอผ้ารุ่นใหม่ของไทย โดยนำทีมกรรมการและที่ปรึกษาโครงการฯลงพื้นที่

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นำทีมที่ปรึกษาและกรรมการโครงการฯ พบปะศิลปินช่างทอผ้าจาก 3 จังหวัดอีสานตอนกลาง ได้แก่ สกลนคร นครพนม และกาฬสินธุ์ โดยกิจกรรมจัดขึ้น ณ ศาลากลางจังหวัดสกลนคร มีนายศิริชัย ทหรานนท์ นักออกแบบและประธานกรรมการการตัดสินในระดับภูมิภาค นายอัครชญ แก้วอาภรณ์ กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก และผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ได้ร่วมชี้แจง กติกาสำคัญ รางวัล และกำหนดการโครงการประกวดผ้าลายพระราชทานฯ ตลอดจนมีการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การย้อมสีธรรมชาติไหมไทยพันธุ์พื้นบ้าน” และ “การเข็นฝ้ายแบบโบราณ” โดยเจ้าหน้าที่กรมหม่อนไหม ในการอบรมยังมีศิลปินช่างทอผ้ารุ่นเก่าของสกลนคร ที่ส่วนใหญ่มาจากหมู่บ้านย้อมสีธรรมชาติและผลิตผ้าครามได้เข้าร่วมอบรม ศิลปินช่างทอผ้าจากบ้านท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสถานที่แรกที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทอดพระเนตรเห็นชาวบ้านนุ่งผ้าไหมมัดหมี่ ขณะเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในปี 2513 ซึ่งศิลปินช่างทอผ้าของบ้านท่าเรือที่เคยเป็นผู้ชนะเลิศโครงการประกวดทอผ้าของโครงการศิลปาชีพฯ ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ให้กับผู้เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ พร้อมกับแสดงความดีใจที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงฟื้นฟูโครงการประกวดผ้าขึ้นมาอีกครั้ง

ครั้งที่ 2 จัดขึ้น เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2564 มีนายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน นายอัครชญ แก้วอาภรณ์ กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก และคณะกรรมการได้เดินทางไปพบศิลปินช่างทอผ้าที่บ้านโคกล่าม อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม กิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากศิลปินช่างทอผ้าในพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด สุรินทร์ ชัยภูมิ สกลนคร ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ มีกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง“ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยนายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหาร นิตยสารโว้กประเทศไทย เรื่อง “คอลเลคชั่นผ้าไทยร่วมสมัย” โดยนายพลพัฒน์ อัศวะประภา นักออกแบบและผู้ก่อตั้ง ASAVA Group และนายสธน ตันตราภรณ์  ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่น เรื่อง “คุณภาพเส้นใย ไหมพันธุ์ไทย ฝ้ายพื้นเมือง” โดยนายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบและผู้ก่อตั้งแบรนด์ WISHARAWISH  และเรื่อง “การสร้าง Story Telling และ Packaging” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน และ ดร.กรกลด คำสุข จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สำหรับบ้านโคกล่ามเป็นหมู่บ้านย้อมสีธรรมชาติที่ยังใช้ไม้มงคลในการย้อมผ้าอย่างขนุน คูน ยอ ซึ่งในการอบรมครั้งนี้ มีศิลปินช่างทอผ้าเข้ามาร่วมรับฟังจากหลายจังหวัด ดังนั้นคณะกรรมการโครงการประกวดฯ จึงเห็นความสำคัญและมุ่งมั่นในการมองหาศิลปินช่างทอผ้ารุ่นใหม่ที่สืบสานองค์ความรู้การทอผ้าไทยให้สืบต่อไป

ส่วนการอบรมครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่ บ้านหัวฝาย อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ซึ่งนายสมศักดิ์ จังตระกูล  ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นให้เกียริติเป็นประธานในพิธีเปิด มีศิลปินช่างทอผ้าจากจังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และชัยภูมิเข้าร่วม สำหรับจังหวัดขอนแก่นได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของการทอผ้าในประเทศไทย ที่สร้างมูลค่าให้แก่การทอผ้าได้หลายพันล้านบาทต่อปี มีผู้เชี่ยวชาญและศิลปินช่างทอฝีมือดีหลายคนที่เคยส่งผ้าเข้าประกวดในโครงการศิลปาชีพฯ ซึ่งบางคนได้เลิกทอผ้าไปแล้วในปัจจุบัน แต่มีความกระตือรือร้นที่กลับมาทอผ้าส่งเข้าประกวดอีกครั้ง

       ในการอบรมทั้ง 3 ครั้ง ได้รับความสนใจอย่างมาก มีการตั้งคำถามและนำผ้าทอตัวอย่างมาให้ชม พร้อมทั้งเล่าถึงความตั้งใจในการทอผ้าเพื่อส่งเข้าประกวด ศิลปินช่างทอผ้าหลายคนมีความมุ่งหวังที่จะคว้ารางวัลชนะเลิศเมื่อทราบว่า รางวัลชนะเลิศเป็นเหรียญทองที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาจะพระราชทานแก่ผู้ชนะการประกวดในพิธีเปิดงาน OTOP CITY ประจำปีนี้ และออกแบบโดยนายศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี ศิลปินวาดภาพผู้มีชื่อเสียง

       ทั้งนี้ผู้สนใจส่งผ้าลายพระราชทานเข้าประกวด สามารถส่งใบสมัครได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดทั่วประเทศ ภายในวันที่ 30 เมษายน 2564 และสามารถส่งผ้าเข้าประกวดได้ภายในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 โดยโครงการประกวดผ้าลายพระราชทานฯ จะดำเนินการตัดสินตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการประกวดผ้าลายพระราชทานฯ ติดต่อได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชน ทุกจังหวัด หรือที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย หรือติดต่อได้ที่เพจ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยหากมีคำถามหรือต้องการจะแสดงรูปผลงานผ้าทอ โปรดใส่แฮชแท็ก #ผ้าไทยใส่ให้สนุก #phathaisaihaisanook นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มช่องทางติดต่อทาง LINE Official Account “@saihaisanook” และทาง QR Code ที่เห็นนี้ด้วยเช่นกัน สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งต่อไป จะจัดขึ้นที่ จังหวัดลำพูน อุทัยธานี สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ ผู้ที่สนใจจะร่วมกิจกรรมสามารถติดตามข้อมูลได้จากเพจดังกล่าว