ภาพร่างไร้วิญญาณของเด็กน้อยชาวซีเรียวัยสามขวบ กระตุ้นให้โลกหันมาสนใจปัญหาผู้ลี้ภัยกันอย่างจริงจังมากขึ้น
Success in Refuge
ช่วงสองสามปีให้หลังมานี้ คงไม่มีประเด็นใดฮ็อตไปกว่าภาพร่างไร้วิญญาณของเด็กน้อยชาวซีเรียวัยสามขวบถูกซัดเกยตื้นริมชายหาดประเทศตุรกี ซึ่งภาพนั้นถือเป็นภาพที่กลายเป็นสัญลักษณ์ที่กระตุ้นให้โลกหันมาสนใจปัญหาผู้ลี้ภัยกันอย่างจริงจัง
คุณเห็นภาพนั้นแล้วรู้สึกอย่างไร? โอเค … คงไม่ต้องถามลงลึกอะไรมาก เพราะเราเชื่อว่า ไม่ว่าคุณจะเพศใด ชนชาติใด ศาสนาไหน คุณคงเกิดความรู้สึกร่วมประเภทโศกเศร้า สะเทือนใจ ขวัญเสีย เวทนา หรือแม้แต่ … ไม่อยากรับรู้เรื่องราวเบื้องหลังภาพนั้น แต่คำถามถัดไปคือ … สะเทือนใจแล้วยังไงต่อ?
เราคิดนานมากว่า เราจะเล่าเรื่องราวของเด็กน้อยคนนั้น (และเด็กน้อยอีกคนที่ตัวเปื้อนเลือดและโคลนจากแรงระเบิดที่ก็กลายเป็นภาพตัวแทนความรุนแรงในซีเรียระลอกสองหลังจากที่มีแคมเปญต่อต้านผู้ลี้ภัยเกิดขึ้นในทวีปยุโรป) แบบให้รู้ซึ้งถึงความรันทดของพวกเขาและครอบครัวดีไหม ถ้าหากว่าคุณรับรู้เรื่องราวของพวกเขา ตามหลักจิตวิทยาแล้ว คุณจะมีอารมณ์ร่วม และมีโอกาสที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเหลือพวกเขามากขึ้น แต่มาคิดอีกทีหนึ่ง เราก็ค้นพบความจริงที่ว่าเรื่องราวของเด็กน้อยทั้งสอง (และเด็กน้อยคนอื่นๆ) นั้นสามารถหาอ่านได้ตามสำนักข่าวทุกสำนักทั่วโลก เรียกได้ว่ากูเกิ้ลไม่เกินสองวินาที คุณจะได้น้ำตาท่วมจอกับเรื่องราวอันแสนรันทดของผู้ลี้ภัยจากทั่วโลก ถ้าหลักจิตวิทยาในเรื่องการมีส่วนร่วมรับรู้ที่เรากล่าวไว้เป็นจริง แล้วทำไมปัญหาผู้ลี้ภัยถึงยังไม่ถูกแก้ไขกันอย่างจริงจังเสียทีล่ะ … เราแอบตั้งคำถามดังๆ ในประเด็นนี้
หนึ่งในการเคลื่อนไหวเพื่อให้โลกตระหนักถึงปัญหาผู้ลี้ภัยที่เราอยากกล่าวถึงคือการที่ศิลปินสตรีทอาร์ทผู้โด่งดังอย่าง BANKSY กับผลงานภาพวาดแมวสีขาวเล่นก้อนลวดหนามที่สื่อถึงก้อนไหมพรมบนกำแพงซากปรักหักพังหลังสงครามที่ฉนวนกาซ่า เขาได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในเว็บไซต์ของตัวเองว่า “อันที่จริงคือ ผมอยากจะถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นจริงและความโหดร้ายในฉนวนกาซ่า โดยการโพสต์รูปลงเว็บไซต์ตัวเอง แต่คุณก็ต้องยอมรับนะว่า บนโลกอินเตอร์เน็ต คนเค้า ดูแต่รูปแมวน้อยเท่านั้นแหละ” … ฟังแล้วแสบไปถึงทรวงทีเดียว แต่มันก็จริงใช่ไหมล่ะ
เราจะไม่พูดเรื่องราวโลกสวยมียูนิคอร์นวิ่งบนสายรุ้งหรอก เรารู้ดีว่าโลกนี้มันโหดร้าย ไม่มีใครอยากจะเอา “ปัญหา” ผู้ลี้ภัยมาเป็นปัญหาของตัวเองใช่ไหม ซึ่งความคิดนั้นไม่ได้ผิดอะไรในขณะเดียวกัน ผู้ลี้ภัยเองก็ไม่ได้ผิดอะไรเช่นกัน คุณคงไม่อยากจะออกมาจากบ้านของตัวเอง ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ใช่ไหม แต่มันจำเป็นไง ประเด็นที่เราอยากจะแทรกไว้สักนิดในที่นี้คือ ถ้าเรามองกลุ่มผู้ลี้ภัยเป็นเพียงคนที่ด้อยโอกาสกว่าเรา ไม่ได้เป็น “ปัญหา” เราอาจจะฉุกคิดถึงสถานการณ์ที่พวกเขาต้องเผชิญ เกิดความเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจถึงความจำเป็นต่างๆ ของพวกเขามากขึ้นก็ได้ … แต่ขอย้ำนะว่า เราไม่ได้ปลุกระดมให้คุณลุกขึ้นมากอดผู้ลี้ภัยไว้ในอ้อมอกอ้อมใจหากคุณไม่ “เข้าใจ” พวกเขาอย่างแท้จริง เราก็แค่อยากให้คุณมองพวกเขาในอีกแง่มุมเท่านั้น
อาจจะเริ่มต้นจากการทำความรู้จักโครงการ “Nobody Left Outside – เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างนอก” ของ UNHCR ที่มีภารกิจจัดหาที่พักพิงเร่งด่วนแก่ผู้ลี้ภัยในประเทศต่างๆ โดยมีระยะเวลาการดำเนินงานเบื้องต้น 3 ปี ซึ่งนี่อาจจะเป็นก้าวแรกที่ให้คุณหันมามองเพื่อนร่วมโลกที่โชคร้ายกว่าคุณ และเปลี่ยนสถานะของพวกเขา ที่เป็น “ปัญหา” มาเป็น “สถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” แทนก็เป็นได้
เราหวังเช่นนั้น
ร่วมสนับสนุนโครงการ Nobody Left Outside – เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างนอก” ได้ที่ www.unhcr.or.th
Lord Maurice Saatchi and Charles Saatchi
อาชีพ: ผู้ก่อตั้งเอเจนซี่โฆษณา Saatchi & Saatchi
ลี้ภัยจาก: ประเทศอิรัก
มาอยู่ที่: ประเทศอังกฤษ
ตั้งแต่: 1947
ด้วยเหตุ: หลบหนีการฆ่าล้าง
เผ่าพันธุ์ชาวยิวในประเทศอิรัก
เป็นที่รู้จักเพราะ: สองพี่น้องซาชิเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกทั้งในฐานะนักการเมืองคนสำคัญของประเทศอังกฤษ และผู้ก่อตั้งบริษัทเอเจนซี่โฆษณาอันดับต้นๆ ของโลกนาม Saatchi and Saatchi ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทเอเจนซี่โฆษณาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ในปีค.ศ. 1994 ทั้งสองพี่น้องถูกโหวตออกจากบริษัทตัวเอง โดยผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ พวกเขาเลยมาจับมือกันตั้งบริษัทใหม่ชื่อว่า M&C Saatchi ในปีถัดมาซึ่งก็ … เป็นที่แน่นอนว่า … ประสบความสำเร็จไปทั่วโลกเช่นเคย
Freddie Mercury
อาชีพ: นักร้องนำวง Queen
ลี้ภัยจาก: ประเทศแทนซาเนีย
มาอยู่ที่: ประเทศอังกฤษ
ตั้งแต่: 1964 -1991
ด้วยเหตุ: การปฏิวัติแซนซิบาร์เพื่อฆ่าชาวอาหรับและอินเดียในประเทศ
เป็นที่รู้จักเพราะ: เขาเป็นนักร้องนำของวงดนตรีร็อกชื่อก้องโลกอย่าง Queen ด้วยน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์และการแสดงที่สุดโต่งบนเวทีของเขา ทำให้เขาโด่งดังไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นเขายังร่วมแต่งเพลงอีกหลายเพลงรวมถึงเพลงที่ดังสุดๆ อย่าง Bohemian Rhapsody และ We Are the Champions อีกด้วย เฟร็ดดี้เป็นคนขี้อาย เขามักจะให้สัมภาษณ์ว่าตัวตนที่แท้จริงของเขากับตัวเขาบนเวทีนั้นคือคนละคนกันโดยสิ้นเชิง เขาเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 45 ปีด้วยโรคเอดส์ เหลือไว้เพียงตำนานแห่งวงการดนตรี
Yusra Mardini
อาชีพ: นักกีฬาว่ายน้ำ
ลี้ภัยจาก: ประเทศซีเรีย
มาอยู่ที่: ประเทศเยอรมนี
ตั้งแต่: 2015
ด้วยเหตุ: สงครามกลางเมือง
ในประเทศซีเรีย
เป็นที่รู้จักเพราะ: เธอเป็นสมาชิกของทีมโอลิมปิกผู้ลี้ภัย (Refugee Olympic Athletes Team) และชนะเหรียญทองจากการว่ายท่าผีเสื้อ 100 เมตรในเวลา 1:09:21 นาที เรื่องราวสุดดราม่าของเธอคือ เธอและน้องสาวลี้ภัยออกจากประเทศซีเรียผ่านเลบานอน และตุรกีเพื่อลอบลงเรือไปที่ประเทศกรีซพร้อมกับผู้อพยพคนอื่นอีก 18 คน แต่เรือลำนั้นสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ไม่เกินเจ็ดคน และเมื่อเครื่องยนต์หยุดทำงานกลางทะเล เธอ น้องสาวและผู้อพยพ คนอื่นอีกสองคนที่ว่ายน้ำเป็นก็กระโดดลงมาว่ายน้ำและผลักเรือเป็นเวลากว่าสามชั่วโมงจนกระทั่งขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัย … ถ้าชีวิตจะต้องสู้ขนาดนี้ น้องเอาเหรียญทองไปเลยดีกว่า
Milan Kundera
อาชีพ: นักเขียน
ลี้ภัยจาก: สาธารณรัฐเช็ก
มาอยู่ที่: ประเทศฝรั่งเศส
ตั้งแต่: 1975
ด้วยเหตุ: เข้าร่วมกลุ่มต่อต้านโซเวียตในเหตุการณ์ Prague Spring
เป็นที่รู้จักเพราะ: เขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากนวนิยายเรื่อง The Unbearable Lightness of Being (ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต) ได้รับการเสนอชื่อเข้า ชิงรางวัลโนเบลสาขาวรรณคดี ต่อเนื่อง (แต่ยังไม่เคยได้รับ) หลังจากที่เขาถูกถอดสัญชาติ จากประเทศบ้านเกิดและย้ายมาอยู่ ที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นการถาวร เขาก็ “เห็นว่าตัวเองเป็นนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส และยืนยันให้บรรจุงานเขียนของเขาเข้าไปในวิชาวรรณกรรมฝรั่งเศส” … ดูชัดเจนในตัวเองมากทีเดียว
Miloš Forman
อาชีพ: ผู้กำกับและผู้เขียน
บทภาพยนตร์
ลี้ภัยจาก: สาธารณรัฐเช็ก
มาอยู่ที่: สหรัฐอเมริกา
ตั้งแต่: 1968
ด้วยเหตุ: ทำภาพยนตร์วิพากษ์วิจารณ์การเมืองการปกครองภายในประเทศ
เป็นที่รู้จักเพราะ: ภาพยนตร์เรื่องเอกของเขาคือ One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975) และ Amadeus (1984) ทำให้เขาได้รับรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และโด่งดังในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด ซึ่งก็ส่งผลให้เขาได้รับสัญชาติอเมริกันหลังจากถูกแบนจากประเทศบ้านเกิดตัวเอง
Marlene Dietrich
อาชีพ: นักแสดงและนักร้อง
ลี้ภัยจาก: ประเทศเยอรมนี
มาอยู่ที่: สหรัฐอเมริกา
ตั้งแต่: 1939 – 1992
ด้วยเหตุ: เป็นแกนนำต่อต้านพรรคนาซีช่วงสงครามโลก
ครั้งที่สอง
เป็นที่รู้จักเพราะ: เธอเป็นนักแสดง นักร้อง และเพอร์ฟอร์มเมอร์ที่มีความสามารถ และบุคลิกที่ชัดเจน (เธอเป็นผู้หญิงยุคแรกๆ ของโลกที่สวมชุดสูทแบบผู้ชาย) เธอได้รับการจัดอันดับที่เก้าในลิสต์ Greatest Female Star of Classic Hollywood Cinema ภาพจำของเธอนอกเหนือไปจากการเป็นนักแสดงมากความสามารถแล้ว เธอยังเป็นนักเคลื่อนไหว เพื่อสิทธิมนุษยชน (จนกระทั่งถูกแบนจากประเทศบ้านเกิด) คนสำคัญในยุคนั้นอีกด้วย
Madeleine Albright
อาชีพ: นักการเมืองและนักการทูต
ลี้ภัยจาก: สาธารณรัฐเช็ก
มาอยู่ที่: สหรัฐอเมริกา
ตั้งแต่: 1948
ด้วยเหตุ: ลี้ภัยทางการเมืองช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
เป็นที่รู้จักเพราะ: เธอเป็นรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศสหรัฐอเมริกา ถูกเสนอชื่อโดยประธานาธิบดี Bill Clinton (บิล คลินตัน) และเธอก็เป็นนักการทูตคนสำคัญของ United Nations เธอพูดภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย เช็ก โปลิช และโครเอเชีย ได้อย่างคล่องแคล่วถือเป็นหนึ่ง ในนักการเมืองหญิงคนสำคัญของโลก
Gloria Estafan
อาชีพ: นักร้อง
ลี้ภัยจาก: ประเทศคิวบา
มาอยู่ที่: สหรัฐอเมริกา
ตั้งแต่: 1960
ด้วยเหตุ: ลี้ภัยจากเหตุการณ์กบฎคิวบา
เป็นที่รู้จักเพราะ: เธอเป็นที่รู้จักในฐานะนักร้องเสียงดี พร้อมเพลงฮิตติดชาร์ตอย่าง Conga และ Words Get in the Way เป็นหนึ่งในนักร้องดีว่าที่มีผลงานต่อเนื่องยาวนานคนหนึ่งของวงการดนตรี