จุดเริ่มต้นจากความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตน ‘Yayoi Kusama’
Yayoi Kusama ศิลปินร่วมสมัยชาวญี่ปุ่นที่โด่งดังไปทั่วโลกในฐานะเจ้าของผลงาน ผู้หลงใหลคลั่งไคล้ในลวดลายจุด (Polka Dot) จนนำมาถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะ ด้วยกระแสงานศิลปะ avant-garde ที่เต็มไปด้วยความน่าพิศวงของสีสัน และลวดลายอันละลานตา เอกลักษณ์ของงานออกแบบเติมเต็มทุกอณูของพื้นที่อย่างไม่รู้จบ จึงเปรียบได้กับลายเซ็นเฉพาะตัวให้กับผลงาน


Yayoi Kusama ได้มุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนสู่งานศิลป์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ พร้อมกันนั้นได้ร้อยเรียงเรื่องราวที่เธอประสบและแปรเปลี่ยนเป็นพลังบนชิ้นงาน ด้วยค่านิยมทางสังคมของญี่ปุ่นในสมัยนั้น ครอบครัวที่ไม่ยอมรับ ทั้งสังคมยังปฏิเสธงานศิลปะ ทำให้การเดินทางจากกรุงโตเกียวสู่มหานครนิวยอร์กตลอดสองทศวรรษระหว่างช่วง 1950s – 1960s ตัวเธอนั้นได้สรรสร้างผลงานมากมาย เพื่อระบายความอึดอัดภายในจิตใจและยังนับเป็นส่วนนึงของการบำบัดอาการป่วยของเธอด้วย ด้วยมิติอันไร้ที่สิ้นสุดบนผลงาน หลังจากเผยโฉมตัวตนให้โลกภายนอกได้รับรู้ถึงฝีมือ ในช่วงทศวรรษที่ 1970s ตัวเธอนั้นได้ตัดสินใจเดินทางกลับสู่บ้านเกิด ณ ประเทศญี่ปุ่น เธอได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินเอกของศตวรรษที่ 21 ผู้เปี่ยมด้วยพรสวรรค์อันหาตัวจับได้ยากและ ยังถือเป็นศิลปินหญิงที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

จากผลงาน “INFINITY DOTS” ลวดลายจุดที่ระบายด้วยมือนั้นถือเป็นเอกลักษณ์ของยาโยอิที่เราต่างคุ้นเคยและจดจำกันได้กันเป็นอย่างดี ลวดลายจุดแห่งความอนันต์นี้คือสัญลักษณ์สำคัญที่แสดงถึงแรงบันดาลใจจากความทรงจำที่มีในวัยเด็ก เธอเรียกการปลดปล่อยพัฒนาการของตัวเองจากความกลัวที่จะต้องเห็นภาพหลอนแบบไม่สิ้นสุดนี้ว่า “การลบเลือนตัวตน (Self-Obliteration)” ของตัวเธอ “ความปรารถนาของฉันคือการทำนายและชั่งวัดความอนันต์ของจักรวาลที่ไร้ขอบเขต จากตำแหน่งที่ตัวฉันเองดำรงอยู่ด้วยลวดลายจุด” ยาโยอิกล่าวผ่านหนังสืออัตชีวประวัติเรื่อง Infinity Net ชื่อเสียงของศิลปินหญิงถูกกล่าวขานในอเมริกานับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960s พร้อมทั้งสมญานาม ‘เจ้าหญิงแห่งลวดลายจุด’ ที่ถึงแม้ว่าตัวยาโยอิจะเรียกตนเองว่าเป็น ‘ศิลปินผู้หมกมุ่น’ ก็ตาม หรืออย่าง “PSYCHEDELIC FLOWER” ซึ่งได้กลายเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของศิลปิน จากผลงานในปีค.ศ. 1993 อีกหนึ่งความหลงใหลของตัวเธอนั้นได้เผยตัวผ่านลวดลายดอกไม้ รูปทรงที่งดงามและแตกต่างไปจากแนวคิดเกี่ยวความอนันต์และไร้จุดสิ้นสุด

ย้อนกลับไปยังโปรเจ็คความสร้างสรรค์ครั้งแรกระหว่างหลุยส์ วิตตองกับยาโยอิ คุซามะในปี 2012 มิตรภาพอันดีระหว่างกันยังคงต่อเนื่องไม่สิ้นสุด แม้จะล่วงเลยมาถึงปีที่สิบ บทสนทนาที่เปี่ยมด้วยความน่าอัศจรรย์ยังคงนำมาขยายและพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง สำหรับหลุยส์ วิตตองการร่วมทำงานกับเหล่าศิลปินถือเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์อันยาวนานของเมซง นับตั้งแต่เกือบร้อยปีก่อนในยุคของ Gaston-Louis Vuitton หลานชายผู้สืบสายเลือดของผู้ก่อตั้ง ได้เชื้อเชิญเหล่าศิลปินมาร่วมออกแบบผลงานสำหรับโชว์บริเวณหน้าต่างและภายในร้านสาขาต่างๆ ของหลุยส์ วิตตอง ความร่วมมือนี้ถูกผลักดันตลอดหลายปีจนเปรียบได้กับการเดินทางผ่านห้วงเวลายาวนาน ขณะเดียวกันก็ผสานไปกับเหตุการณ์ร่วมสมัย นับตั้งแต่ 1988 เมซงได้ร่วมทำงานกับศิลปินและนักออกแบบผู้มีชื่อเสียง อาทิ Sol LeWitt ศิลปินแนวคอนเซ็ปชวลอาร์ตชาวอเมริกัน Richard Prince จิตรกรและช่างภาพชาวอเมริกัน ทาคาชิ มุราคามิ ศิลปินร่วมสมัยชาวญี่ปุ่นและ Jeff Koons ประติมากรกระแสป๊อปอาร์ตชาวอเมริกัน สำหรับยาโยอิ วัตถุงานศิลป์ ลวดลายและจินตนาการเกี่ยวกับความอนันต์อันไร้สิ้นสุดหลอมรวมไปกับสุนทรียศาสตร์ของหลุยส์ วิตตอง โดยถ่ายทอดผ่านไอเท็มหมวดต่างๆ ตั้งแต่กระเป๋าถือ เครื่องแต่งกายสำหรับสุภาพบุรุษ เสื้อผ้าของเหล่าสุภาพสตรี แว่นตา น้ำหอม รองเท้าและเครื่องประดับ ในขณะเดียวกันการแนวทางการออกแบบของเมซงเองก็ถูกนำเสนอผ่านชิ้นงานที่เปรียบได้กับสัญลักษณ์ของเมซง ควบคู่ไปผลงานของยาโยอิที่ดัดแปลงจินตนาการสู่โลกความเป็นจริง

