Posts

A Quarter Century of Believing in Music

พูดคุยกับ Sam Fogarino (แซม โฟการิโน) มือกลองจากวงโพสต์พังค์ Interpol ถึงอัลบั้มชุดใหม่ของพวกเขา ‘The Other Side of Make-Believe’ ไปจนถึงการเดินทางของแบนด์ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา

Photographer: Ebru Yildiz

 Interviewer: Peerachai Pasutan

เราทราบมาว่าพวกคุณกำลังทัวร์คอนเสิร์ตกันอยู่ในทวีปอเมริกา รู้สึกอย่างไรบ้างที่ได้ออกเดินทางเล่นดนตรีอีกครั้งหลังชะงักไปช่วงโควิด

มันป่วนประสาทและค่อนข้างน่ากลัวเหมือนกันนะแต่โชคดีครับที่เราก็จัดการจนได้ หลังจากที่ผ่านเรื่องราวทั้งหมดนี่มา ก็ยังมีผู้คนมาดูเราแสดงกันเป็นวงอยู่ คือมันทั้งสนุก ขณะเดียวกันก็น่ากลัวหน่อยๆ ครับอย่างตัวผมเอง ตอนเดือนมิถุนายนก็เพิ่งติดโควิดไปที่สเปน คือมันเป็นความเสี่ยงที่คุณต้องเจออยู่แล้วในทุกวันนี้

ชื่อของอัลบั้มล่าสุดนั้นมาจากท่อนหนึ่งของเพลง ‘Passenger’ ทำไมจึงเลือกท่อนนี้มาเป็นชื่ออัลบั้ม แล้วมันสะท้อนแนวคิดหลักของอัลบั้มชุดนี้อย่างไรบ้าง

พอล [พอล แบงส์ – นักร้องนำ] เป็นคนเลือกชื่อนี้ครับผมว่าพอลเขาแค่เล่นกับแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องเล่า การเล่าเรื่อง ความเป็นนิทาน และอาจรวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นทางการเมืองในช่วงนี้นะ เมื่อทุกอย่างคือเฟคนิวส์ ความเป็นจริงจึงอยู่อีกด้านของการอุปโลกน์ [นี้] ผมไม่คิดว่านี่คือประเด็นแบบ ตรงเผงตามตัวอักษรแต่เป็นการครอบงำที่อยู่ในการเล่าเรื่องว่า มันไล่ระดับตั้งแต่การโกหกผิวเผินไปจนถึงการบิดเบือนเรื่องที่น่าสนใจขึ้นมาจริงๆ ได้อย่างไรบ้างครับ

ดูเหมือนว่าวิกฤตโรคระบาดและการสื่อสารทางไกลแทบจะไม่กระทบพวกคุณระหว่างการทำอัลบั้มนี้เลย คุณหาแสงสว่างในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนั้นได้อย่างไรล่ะ

[ที่จริง] ความหวังมันเกิดขึ้นตอนที่ผลงานออกมานะ ผมว่าสำหรับทุกคนในวงแล้ว มันน่ากลัวอยู่เหมือนกันที่ต้องเขียนเพลงจากคนละสถานที่ เพราะสมัยหนุ่มๆ เราเขียนทุกอย่างด้วยกันในห้องใต้ดินมืดๆ ในนิวยอร์กหรือในตึกซ้อมการแสดงหลังเก่าๆ อะไรเทือกนั้น…แต่ไม่นาน เราก็เห็นประโยชน์ของการทำงานแบบนี้ เพราะเรามีเวลาเยอะขึ้นในการทำงานให้ตรงตามเป้า ยิ่งผมกับพอลมีเวลาเยอะมากขณะที่ทำงานกันคนละที่ด้วยแล้ว ผมก็เห็นประโยชน์ของเรื่องนี้จริงๆ ครับ… และเราเล่นดนตรีมาด้วยกัน 20 ปีแล้ว ผมเลยเชื่อว่าตอนนี้พวกเราไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเดียวกันด้วยซ้ำ หรืออย่างน้อยก็ไม่ต้องอยู่ด้วยกันตลอดกระบวนการทำงาน

ในบทสัมภาษณ์ชิ้นหนึ่ง พอลเคยพูดไว้ว่า อัลบั้ม The Other Side of Make-Believe นั้น “มองโลกในแง่ดี สบายๆ เปี่ยมความหวัง และปลุกใจกว่าผลงานก่อนๆ ของวง” แล้วอายุของพวกคุณส่งผลต่อการทำดนตรีที่มีความคิดบวกมากขึ้นหรือไม่

ผมคิดว่าอย่างนั้นนะ การมองโลกในแง่ดีไม่ใช่การยอมแพ้ และในเชิงความคิดสร้างสรรค์ นี่ก็เป็นแค่อีกน้ำเสียงหนึ่ง[ของวง] ผมว่าในความคิดบวกนี้ มันก็ยังมีลายเซ็นสำคัญของ Interpol อยู่เล็กๆ น้อยๆ ที่ยังไม่จางหายไป ลองคิดดูนะครับ ตอนที่คุณต้องคิดบวก สิ่งต่างๆ รอบตัวคุณมักจะย่ำแย่ ดังนั้น มันไม่ใช่ว่าเราจะมาอุดหู ปิดตา แล้วบอกตัวเองว่า “ไม่เป็นไรนะมีความสุขเข้าไว้” หรือต้องมาแบกความรับผิดชอบเอง ก็คงไม่ไปไกลถึงขั้นนั้น

ปี 2022 ก็ครบรอบ 20 ปีของ Turn On the Bright Lights สตูดิโออัลบั้มชุดแรกของ Interpol เวลาผ่านไปไวจริงๆ เลยใช่ไหม

เวลาผ่านไปไวจริงครับ บ้ามากเลย แล้วพอย้อนดูตัวเอง ผมเองก็ยังไม่รู้เลยว่านายคนนั้นเขาเป็นใครกันคล้ายกับผมจำไม่ได้ว่าตัวเองเป็นอย่างไรในตอนนั้น แต่ปัจจุบันมันก็วิเศษมากๆ และ [แนวทางของวงตอนนี้]มันฉายแสงกลับไปยังอัลบั้มชุดแรกด้วย เพราะเราไม่ได้วางมือหรือทำอะไรที่ไม่โปรดักทีฟกัน ผมยังคิด [ถึง]

ความเคารพที่คนมีต่ออัลบั้มนี้ และการที่มันอยู่ใน ‘แกรนด์แคนยอนแห่งโลกดนตรี’ ครับ ยังมีคนตื่นเต้นกับอัลบั้มนี้อยู่ พวกคุณได้เรียนรู้อะไรมากที่สุดหลังจากอยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีมา 25 ปีแล้ว

โอ้ว จัดการความคาดหวัง และอย่าเห็นอะไรเป็นของตายครับ… อีกอย่างที่ผมได้เรียนรู้ก็คือความพยายามในการทำให้ค่ายเพลงมาสนใจคุณ โดยเฉพาะตอน 20 ปีก่อน พวกเขารู้จักคุณได้จากเดโมเพลงที่ส่งไปหาเขา แล้วเดโมนั้นก็โดนโยนกองสุมไว้ คือพวกเขาเป็นค่ายเพลงและขายอัลบั้ม เขาจึงรู้ว่าใครจะปังก่อนที่คุณจะดังด้วยซ้ำ และนั่นก็เหมือนกับดับฝันวัยเด็กที่มีกันมาว่าทำเดโมเพลงส่งไป รอในความมืดจนกว่าจะมีคนมาค้นพบ แต่โดยพื้นฐานแล้ว เราต้องอยู่กับโลกตามความเป็นจริงกับมีความนอบน้อม ถึงจะนำไปสู่ความสำเร็จ [อย่างไรก็ตาม] หลังจาก 22 ปีที่ผมอยู่วงการนี้ ผมก็ดีใจนะครับที่ยังมีคนพูดถึงผลงานและไม่ว่าอะไรก็ตามที่วงทำอยู่

นักดนตรีสายร็อกบางคนในไทยแสดงความเห็นว่า นี่ไม่ใช่ยุคของเพลงร็อกอีกต่อไป เนื่องด้วยความนิยมที่ลดลง คุณคิดว่าเรื่องนี้เป็นจริงแค่ไหน

มันขึ้นอยู่กับว่าคุณจะมองเรื่องนี้ไปในทางไหน และขึ้นอยู่กับแหล่งอ้างอิงทางดนตรี [รวมถึง] การเสพดนตรีของคุณด้วยนะ ในแง่หนึ่ง คุณอาจจะมองอย่างนั้นก็ได้ [แต่] อย่างผมอยู่ทางรัฐจอร์เจียตอนเหนือ แล้วรู้สึกว่าแนวคลาสสิกร็อกก็ยังอยู่ ขณะที่บางคนก็บอกว่านี่เป็นยุคของดนตรีสายโพสต์พังค์ หรือโดยรวมแล้วเป็นยุคที่กีตาร์ชูโรง – พูดแบบไม่เจาะจงแนวดนตรีนะ [อีกทั้ง] ผมว่าอินเทอร์เน็ตและการเสพข้อมูลระดับมหาศาล ก็เปลี่ยนไปมากจน [ทำให้ทุกอย่าง] ซับซ้อน และยากที่จะหาอะไรสักอย่างที่ต้องการผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่ง […] อย่างไรก็ตาม ผมว่ามันน่าสนใจนะที่ในสหรัฐแนวเพลงคลาสสิกร็อกได้รับความสนใจแซงหน้าดนตรีใหม่ๆ ดังนั้นนี่ก็น่าสนใจมาก ยิ่งถ้ามีคนมอง Interpol ว่าเป็นวงคลาสสิกร็อกไปแล้ว หลังจากครบรอบ 20 ปีนะ (หัวเราะ)

คุณมีแผนที่จะมาเปิดการแสดงในเอเชียและประเทศไทยบ้างไหม และอยากฝากอะไรทิ้งท้ายถึงแฟนคลับ Interpol ในไทย รวมถึงผู้อ่านของออมส์บ้าง

ครับ ผมหวังเช่นนั้น ผมบอกกับสื่อหลายๆ เจ้าไปว่าหากมีปัจจัยทุกอย่างเกื้อ ทำไมเราจะไม่มาเล่นในเอเชียกันล่ะ คือมันเป็นเรื่องของการเดินทางและจังหวะที่ถูกเท่านั้นครับ… และผมว่ามันเยี่ยมมากเลยที่ผู้คนยังให้ความสนใจต่อวงของเราอย่างต่อเนื่อง ก็หวังว่าเราจะได้พบกับพวกคุณในปีหน้านะครับ