Posts

A Chance to Change

Photographer: Perakorn Voratananchai

Direction by: Napat Roongruang

แม้จะเปลี่ยนแนวทางดนตรี แต่ Yes’Sir Days ก็ยังมีพลังเต็มเปี่ยมในการสร้างสรรค์เพลงให้ทุกคนได้ติดตาม

การเปลี่ยนแปลงอาจฟังดูน่ากลัวอยู่เหมือนกัน หากเราเคยชินกับกิจวัตรหรือภาพจำ – ไม่ว่าจะเป็นของเราเองหรือของคนอื่น – มานาน แต่สำหรับ Yes’Sir Days (เยสเซอร์เดย์ส) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อวงในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาคือโอกาสในการสำรวจและทำดนตรีแนวใหม่ๆ ที่ฉีกออกจากความเป็น ‘วงร็อก’ ที่หลายคนคุ้นเคยตลอดสิบปีที่ผ่านมา และซิงเกิลล่าสุดของวงอย่าง ‘จบไม่จริง’ ก็เป็นอีกผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงที่ว่า

“ตั้งแต่เป็น Yes’Sir Days ยุคใหม่ เรายังไม่ได้ทำเพลงที่มีเนื้อหาเจ็บๆ คนฟังก็เลยสงสัยว่า เมื่อไหร่วงจะทำเนื้อหาที่เจ็บๆ สักหน่อย เราก็เลยพยายามรวบรวมไอเดียกันครับว่าคราวนี้เราจะมาเล่าความเจ็บปวดและอกหักในมุมไหนดี สุดท้ายแล้วมาจบที่คำว่า ‘จบไม่จริง’ เป็นคำที่เราอยากได้ ชื่อมันน่าจะอิมแพคต์ดี และผมว่า [ความสัมพันธ์ที่อีกฝ่ายยังตัดใจจากคนรักเก่าไม่ได้] น่าจะเป็นเรื่องที่คนเคยเจอกันค่อนข้างเยอะเหมือนกันครับ” อัทธ์ – อังค์กูณฑ์ ธนาทรัพย์เจริญ ร้องนำ เล่าถึงที่มาที่ไปของเนื้อหาเพลงใหม่ แล้วเขาก็พูดถึงการทำดนตรีในสไตล์ใหม่ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องสมาชิกใหม่ของวง ยุคสมัย และพฤติกรรมการฟังเพลงที่เปลี่ยนไปของผู้คน

“คือเมื่อก่อน อย่างผมกับอาร์ท เราก็จะเติบโตกับเพลงของ Bodyslam, Clash หรืออื่นๆ ในยุคนั้น และเรื่องการพัฒนาซาวด์ในฝั่งต่างประเทศเอง ก็ยังไม่ได้ใช้ซินธ์หรือเสียงสังเคราะห์มาก แต่พอ Yes’Sir Days ก้าวเข้ามาในยุคนี้ เราก็ฟังเพลงเปลี่ยนไป เด็กๆ รุ่นใหม่เริ่มไม่ค่อยฟังเพลงร็อกแล้ว ถ้าจะฟังร็อกคือฟังเพลงบรรเลงหรือเพลงป็อปทั่วไป หรือ [สมาชิกใหม่สองคน] อย่างบอม [ณัฐธีร์ รุ่งเลิศ – นิรันดร์] มือกีตาร์ กับตูน [พชรัชต์ พูลผล] มือเบส เขาก็จะเป็นสายเล่นดนตรีแนวโมเดิร์น วงก็เลยต้องมาคุยกันว่า ทุกคนอยากได้เพลงอย่างไรครับ” อัทธ์อธิบาย ส่วนอาร์ท – วสุรัตน์ พานิช มือกลองของวง เสริมต่อว่า “เราก็มาเวทกันว่า เพลงนี้ [จบไม่จริง] ถ้าไปทางบรรเลงหมด หรือเมโลดีใหม่จ๋าๆ ไปเลย มันอาจจะกระโดดเกินไป ก็เลยดึงมันให้มาทางป็อปด้วย เป็นป็อปร็อกครับ”

แล้วแฟนคลับตอบรับกับแนวดนตรีและสไตล์ที่เปลี่ยนไปของ Yes’Sir Days อย่างไรบ้าง “จริงๆ ถ้าเพลงก่อนหน้านี้ อย่าง ‘สตั๊น (Stun)’ กับ ‘ระบาย’ แฟนคลับก็อาจจะยังไม่ได้ตกใจมาก เพราะตอนนั้น ผมยังไม่ได้อยากเปลี่ยนวิถีเมโลดีร้องมากนักครับ” อัทธ์เกริ่น “แต่ในเพลง ‘จบไม่จริง’ เราทำให้เมโลดีร้องอยู่ในยุคสมัยมากขึ้น และเราน่าจะใส่เต็มด้านดนตรียิ่งกว่าสองเพลงนั้นด้วย [ดังนั้น] ถ้าคนชอบ เขาก็จะบอกว่า ‘หูย! ดีพี่ ชอบเลย เจ๋ง… โห! ฝรั่งมาก’ แต่ถ้าแฟนเพลงเก่าๆ ก็จะรู้สึกไม่คุ้นหู และคอมเมนต์ว่า ‘ทำไมไม่ทำแบบเก่า’ อะไรอย่างนี้ครับ

“แต่ผมก็เข้าใจ [คนที่ไม่ชอบภาพลักษณ์ใหม่ของวง] นะครับ เพราะเราโตกับภาพจำ [การเป็นวงร็อก] แบบนั้นมา แต่วันนี้วงก็เติบโตขึ้น ทุกคนมีเรื่องราวที่เปลี่ยนไป แล้วเราอยากเล่นดนตรีอย่างมีความสุขด้วย ถ้าเรากลับไปทำแบบเก่าเลย ผมว่าเราอาจจะไม่ได้แฮปปี้ขนาดนั้น แต่ในปัจจุบัน เราแฮปปี้กับสิ่งที่เป็น เพราะเราอยากนำเสนอเพลงในรูปแบบใหม่ที่เราชอบครับ” อัทธ์ยืนยันในแนวทางการทำดนตรีแบบใหม่ของวง

เราถามต่อว่า พวกเขามองเห็นอนาคตของอุตสาหกรรมเพลงไทยอย่างไร ในฐานะที่ Yes’Sir Days ก็อยู่ในวงการดนตรีมาสิบปีแล้ว “ผมว่าตอนนี้อุตสาหกรรมเพลงไทยเข้าใกล้ระดับสากลมากขึ้น ทุกอย่างพัฒนาไปเยอะครับ เมื่อก่อน การก้าวขึ้นมาทำเพลงให้คนรู้จักมันยากนะ เพราะพื้นที่สื่อมีน้อย แต่ว่ายุคนี้มันอิสระแล้ว…  ผมว่าคนไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร [ในตลาดโลก] ครับ” อัทธ์ตอบ ทิ้งท้ายการสัมภาษณ์ อัทธ์เป็นตัวแทนขอบคุณแฟนคลับทั้งเก่าและใหม่ที่ติดตามเพลงของวง “แล้วก็ลองดูครับว่า หลังจากนี้ เราจะพาคุณทัวร์ไปในโลกดนตรีที่เป็นแบบ Yes’Sir Days ได้มากขนาดไหน ก็น่าจะมีเพลงให้ฟังได้สนุกหูกันอีก ขอฝากไว้ด้วยครับ”

– Author: Peerachai Pasutan –

ติดตาม Yes’Sir Days ได้ที่ Instagram: @yessirdaysband 

และทาง YouTube channel: Genierock

Aspects of Being an Artist

ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทใด เบล – สุพล ก็ทุ่มเทและใส่ใจต่อทุกสิ่งที่ทำเสมอ

Photographer: Napat Gunkham

คนหน้าไมค์/คนเบื้องหลัง

แม้เบล – สุพล พัวศิริรักษ์ จะห่างหายจากการเป็นคนหน้าไมค์ไปพักใหญ่ แต่เมื่อ ‘เท่าไหร่ก็ไม่พอ’ ซิงเกิลใหม่ของเขาปล่อยออกมา ก็จับอารมณ์ความรู้สึกผู้ฟังได้อยู่หมัด ไม่ต่างจากที่ผลงานก่อนๆ หน้าของเขาเคยทำไว้ เบลพูดถึงที่มาที่ไปของเพลงนี้ให้ฟังว่า “ตอนนั้น มันมีมวลความรู้สึกที่อัดแน่นอยู่ในตัวผมเกี่ยวกับเรื่องความ ‘เท่าไหร่ก็ไม่พอ’ แล้วเมื่อถึงเวลาทำซิงเกิลนี้ก็รู้สึกว่ามองไม่เห็นเรื่องอื่นเลย เราต้องเล่าเรื่องนี้ แล้วมันก็เกิดสถานการณ์นั้นอยู่ด้วย เลยเอาคอนเทนต์นี้มาถ่ายทอดครับ” แม้จะได้เนื้อหาใจความมาแล้ว แต่เบลและทีมงานก็ใช้เวลาพอสมควรกับการหาสไตล์ดนตรีที่ใช่มาเพิ่มความสมบูรณ์ของซิงเกิลนี้ “ตอนแรกเราทำดนตรีเป็นแบบติดป็อปร็อกนิดหนึ่ง แต่ทำไปถึงจุดหนึ่ง เรารู้สึกว่า [พอเป็น] ร็อกหน่อยๆ เราไม่อินแล้วถึงแม้จะเริ่มต้นด้วยอย่างนั้น จริงๆ หลังๆ มานี้ ผมชอบฟังเพลงโซล อาร์แอนด์บี เพราะฉะนั้น ก็เลยรื้อดนตรีและหาส่วนประกอบใหม่ ทีนี้ โครงสร้างเพลงที่มีอยู่น่าจะเป็นแนวบริทป็อปได้ ผมเลยพยายามดึงความเป็นโซลที่ผมชอบมาใส่ผ่านการใช้เครื่องสาย โชคดีที่ครั้งนี้ได้อัดเครื่องสายสดๆ ทั้งหมด 12 เครื่อง ซึ่งผมไม่เคยอัดเยอะขนาดนี้มาก่อน… รู้สึกว่ามันเป็นโปรดักชันที่ออกมาสมบูรณ์แบบดั่งที่ใจเราอยากได้ในทุกๆ ขั้นตอน รวมถึงการบันทึกเสียงด้วยครับ” เบลเล่าอีกเหตุผลหนึ่งที่ซิงเกิล ‘เท่าไหร่ก็ไม่พอ’ ใช้เวลาทำนานคือบทบาทของเบลในการไปดูแลศิลปินคนอื่นๆ เราจึงถามเบลว่า ถ้าให้เลือกระหว่างการเป็นคนเบื้องหน้ากับคนเบื้องหลัง เจ้าตัวจะเลือกอะไร “ชอบทั้งสองอย่างเลย รู้สึกว่ามันเป็นคนละโจทย์ และเป็นความท้าทายคนละแบบ ถ้าทำงานของตัวเองก็จะคิดเอง ตัดสินใจเอง และรับผิดชอบผลลัพธ์เอง แต่ความยากที่ดูเหมือนไม่น่าจะยากคือทำให้ตัวเองคิดเยอะและเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเยอะ [อีกด้านหนึ่ง] พอทำงานให้คนอื่น เราก็จะเห็นชัดว่า [ศิลปินแต่ละคน] เขาควรจะทำอะไร ก็จะมีมุมอื่นๆ ที่เราไม่สามารถทำกับตัวเอง แต่ด้วยตัวตนความเป็นศิลปินคนนั้น มันเอื้อให้เขาทำได้ และเราก็สนุกกับการได้ทำโจทย์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ตัวเองบ้างครับ” เบลตอบ นอกจากนี้ การได้เห็นรุ่นน้องของตัวเองกำลังจะได้ไปแสดงที่ต่างประเทศ ก็ทำให้เบลภูมิใจมิใช่น้อย “ดีใจกับน้อง [บิวกิ้น – พุฒิพงศ์ และพีพี – กฤษฏ์] ครับ เหมือนเราเริ่มทำงานเพลงกันมาตั้งแต่วันแรกๆ แล้วก็เขาก็เดินทางของเขามา และวันนี้ มันก็เป็นอีกก้าวหนึ่งที่เขาจะได้มีประสบการณ์ในการเล่นในมิวสิคเฟสติวัล [Summer Sonic 2022] ที่ญี่ปุ่น คิดว่าทั้งแฟนๆ และพี่ๆ รอบตัวเขาก็ดีใจไปกับเขาด้วยครับ”

บทเรียนชีวิตในวัย 40

เบลก็อายุเข้าเลขสี่ไปเมื่อปลายปีก่อน เราจึงถามเจ้าตัวว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่เขาได้ตระหนักหลังจากเข้าสู่วัยนี้ แม้เบลจะขัดเขินนิดหน่อยตอนที่ได้ฟังคำถาม แต่คำตอบของเขาก็ชัดเจนและหนักแน่นทีเดียว “ให้นึกเร็วๆ และชัดที่สุดตอนนี้ ผมรู้สึกว่าทุกอย่างคือเรื่องชั่วคราว แต่เรื่องชั่วคราวนั้นๆ จะสั้นหรือจะยาว มันก็แล้วแต่ แต่ถ้าคุณอยู่ในช่วงเวลาที่สวยงาม คุณก็ปล่อยตัวปล่อยใจ สนุกแล้วก็ซึมซับไปกับมัน และก็ต้องคิดว่าอย่าจมอยู่กับอะไรบางอย่างที่จบและผ่านไปแล้วครับ [เพราะ] สุดท้ายแล้ว ยังมีเรื่องดีๆ อีกมากมายที่ยังรอเราอยู่ครับ”

ทั้งนี้ ยังมีอีกสองสิ่งที่เขาได้เรียนรู้มากขึ้นในวัยนี้เรื่องแรกคือการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในชีวิต “พออายุมากขึ้น ก็รู้สึกว่ารับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น ไม่ได้บอกว่ามันง่ายขึ้นหรือไม่กระทบต่อความรู้สึกเราเลยนะ เพราะทุกๆ การเปลี่ยนแปลงมันสั่นสะเทือนเราอยู่แล้ว แต่พอประสบการณ์ชีวิตเรามากขึ้น ก็ทำให้จัดการมันได้ดีขึ้น” และเรื่องที่สองคือการกลับมาฟังผลงานของตนได้อย่างมั่นใจขึ้น “ที่ผ่านมา ผมจะไม่ค่อยฟังงานของตัวเองได้มากนัก [เพราะ] พอมองย้อนกลับไปจะชอบเห็นนั่นนิดตรงนี้หน่อย [ที่ไม่พอใจ] แต่ประมาณห้าปีหลัง ผมเริ่มชื่นชมผลงานตัวเองได้มากขึ้น [ดังนั้น เวลาทำเพลงใหม่ๆ] ผมก็อยากจะทำอะไรที่พอมองย้อนกลับมาแล้ว [เราเห็นว่าผลงานชิ้นนั้น] สมบูรณ์แบบที่สุดแล้วในเวลานั้นครับ

“ผมรู้สึกโชคดีที่ความฝันนี้ [การเป็นศิลปิน] ผมได้ทำมันจริงๆ และสามารถทำได้เรื่อยๆ จนถึงปีนี้ ก็ต้องขอขอบคุณทุกคนที่สนับสนุนผมตลอดมาครับ” เบลพูดทิ้งท้ายการสัมภาษณ์ครั้งนี้ก่อนที่จะไปถ่ายภาพต่อ “หวังว่าเราคงได้เจอกันบ้างในบางโอกาส และมีโอกาสทำเพลงให้ได้ฟังกันต่อไปเรื่อยๆ ครับ”

– Author: Peerachai Pasutan –