Posts

ชมเฟอร์นิเจอร์ชิ้นสวยที่ได้แรงบันดาลใจจาก “Game of Thrones” ซีรีส์ชื่อดังเรื่องโปรดของหลายๆคน

แม้ว่าซีรีส์ดรามา-แฟนตาซีสุดฮิตอย่าง Game of Thrones ของ HBO จะอวสานไปปีกว่า ๆ แล้ว แต่ก็ยังไม่หยุดที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้แก่แฟนคลับและศิลปินนทั่วโลกครับ อย่างเช่นผลงานล่าสุดของ Lionel Jadot ศิลปินและนักออกแบบชาวเบลเยี่ยม ที่นำเสนอผลงานเฟอร์นิเจอร์ชุด “Game of Thrones” ที่สร้างสรรค์ขึ้นจากอิทธิพลของซีรีส์เรื่องนี้ 

ผลงานชุดนี้ของ Jadot ประกอบด้วยเฟอร์นิเจอร์แบบต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงสไตล์ที่ต่อต้านความเข้าชุด (anti-conformist) และความรักอิสระในการออกแบบของตัวศิลปิน โดยผลงานทุกชิ้นทำขึ้นจากวัสดุรีไซเคิลและวัสดุใกล้ตัวต่าง ๆ ที่ Jadot สะสมเองเป็นเวลาหลายปี และจุดเด่นของผลงานชุดนี้ คือ เก้าอี้นั่งแบบต่าง ๆ ที่ศิลปินบรรยายไว้ว่าเป็น “บัลลังก์” นั่นเอง 

Lionel Jadot

นอกจากนี้ ยังมีผลงานอื่น ๆ นอกจากบัลลังก์ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เช่น เก้าอี้ที่ทำจากเทป VHS ยุคเก่า, โคมไฟตั้งโต๊ะที่มีฐานเป็นเครื่องลายคราม และม้านั่งยาวที่ประกอบด้วยเบาะหลากหลายขนาด

ผลงานชุดนี้กำลังจัดแสดงในชื่อนิทรรศการ “Enthrone Dethrone” ณ Everyday Gallery ประเทศเบลเยี่ยม หรือใครสนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของผลงานชุดนี้ทางออนไลน์ สามารถติดตามที่เว็บไซต์ของ Everyday Gallery ได้ถึงวันที่ 16 สิงหาคมนี้ครับ เชื่อว่าผลงานชุดนี้จะโชว์ความคิดสร้างสรรค์ให้แก่แฟน ๆ ซีรีส์ได้ ไม่มากก็น้อยเลยทีเดียวครับ 

เรื่อง Peerachai Pasutan

เรียบเรียง rhunrun

HBO ซ่อน ‘บัลลังก์เหล็ก’ ไว้ทั่วโลกจำนวน 6 ตัว ให้แฟนคลับได้ตามหา ก่อนซีซั่นสุดท้าย!

ใกล้เข้ามาทุกทีแล้วกับซีรีส์ยอดเยี่ยมแห่งยุคอย่างมหาศึกชิงบัลลังก์ Game of Thrones จากช่อง HBOโดยซีซั่นที่ 8 กำลังจะมาถึงในไม่ช้า เพื่อเล่าเรื่องราวอันเป็นจุดจบของทุกสิ่ง

แต่ก่อนที่จะไปถึงเดือนเมษายน ทางช่อง HBO ได้เปิดเผยกิจกรรมอันน่าสนใจสำหรับเหล่าแฟนคลับซีรีส์บัลลังก์เหล็ก ด้วยการซ่อนบัลลังก์เหล็กขนาดเท่าของจริงจำนวนทั้งหมด 6 ตัวไว้ทั่วทุกมุมโลก

ภาพ Thrones of the Forest บัลลังก์เหล็กในป่า คือบัลลังก์แรกที่ถูกเปิดเผย!

โปรเจ็กต์ดังกล่าว ถูกเปิดเผยออกมาจากทางช่อง HBO เอง เพื่อเป็นการต้อนรับการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของซีรีส์นี้ จึงมอบของขวัญสุดวิเศษให้แฟนๆ ได้ออกตามหา ฆ่าเวลาไปพลางๆ ระหว่างรอซีซั่นสุดท้าย

Thrones of the North

“ตลอด 7 ซีซั่นที่คุณได้ชมเหล่าตัวละครโกหก หลั่งเลือด และสละชีวิตเพื่อแย่งชิงบัลลังก์เหล็ก และก่อนที่ซีซั่นสุดท้ายจะเดินทางมาถึง ยังคงมีเพียงคำถามเดียวที่เกิดขึ้น นั่นก็คือ คุณจะไปได้ไกลแค่ไหน?”

จากคำกล่าวข้างต้นเปรียบได้เหมือนดั่งคำเชื้อเชิญให้เหล่าแฟนซีรีส์จากทั่วโลก คงจะมีบัลลังก์รออยู่ที่ดินแดนใดสักแห่ง เดินทางออกตามหาบัลลังก์เหล็ก และพิชิตมันมาให้ได้เป็นคนแรกในแต่ละแห่ง

Thrones of Valyria

ตำแหน่งของบัลลังก์แต่ละตัวนั้น ไม่มีรายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม เพราะอาจจะถูกตั้งไว้ในพื้นที่ห่างไกลสุดขั้วโลก ซึ่งมีเพียงเบาะแสเดียวของแต่ละบัลลังก์ นั่นก็คือ วิดีโอคลิป 360 องศา ให้แฟนๆ ได้เข้าไปส่องดูและแกะรอยกันเอาเอง

แบ่งออกเป็นบัลลังก์ตามดินแดนต่างๆ โดยภาพบัลลังก์ล่าสุดที่ถูกปล่อยออกมาคือ Throne of Ice

แม้จะเป็นงานที่ดูไม่หมูเลยก็ตาม แต่ในปัจจุบันมีผู้พิชิตบัลลังก์ไปได้แล้ว 4 ตัวด้วยกัน จากทั้งหมด 4 ประเทศได้แก่ อังกฤษ สเปน บราซิล และสวีเดน ยังคงเหลืออีก 2 ตัวที่ยังไม่มีใครตามไปพิชิตได้

ซึ่งล่าสุดก็เป็นคิวของ Throne of Ice ที่เพิ่งถูกปล่อยภาพออกมา และแฟนๆ ต่างคาดเดากันว่าน่าจะอยู่ในพื้นที่ประเทศแคนาดา ภายในรัฐแอลเบอร์ตา


สิ้นสุดการรอคอย WINTER IS HERE! อาดิดาส จับมือ อภิมหาซีรีส์แห่งยุค Game of Thrones เปิดตัวรองเท้า อัลตร้าบูสต์ ลิมิเต็ด อิดิชั่น 6 รุ่น!

Game of Thrones เริ่มออกอากาศมาตั้งแต่ปี 2011 และได้กลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงมากที่สุด จนเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของป็อบ คัลเจอร์ในยุคนี้ และสงครามอันยาวนานก็กำลังจะเดินทางมาถึงซีซั่นที่แปด ซึ่งเป็นซีซั่นสุดท้าย อาดิดาสจึงเอาใจแฟนๆ ด้วยการประกาศความร่วมมือกับ HBO ส่งอัลตร้าบูสต์ ลิมิเต็ด อิดิชั่น รุ่น Game of thrones ที่นำเสนอความเป็นตัวตนของตัวละครทั้งฝ่ายฮีโร่และวายร้ายในโลกเวสเทอรอส (Westeros) ไว้ได้อย่างชัดเจน

รองเท้าอาดิดาสรุ่น Game of Thrones ได้นำรายละเอียดของฝ่ายต่างๆ ในสงครามเวสเทอรอส มาใช้ออกแบบเพื่อสร้างเอกลักษณ์ของแต่ละรุ่น ไม่ว่าจะเป็นตราสัญญาลักษณ์บนลิ้นรองเท้า คติโดนๆ ประจำ    แต่ละฝ่ายที่ติดไว้บนแท็คด้านหลัง จนถึงเฉดสีของรองเท้าที่ได้แรงบันดาลใจจากสีประจำแต่ละตระกูล ผนวกกับรูปทรงอันโดดเด่นของอัลตร้าบูสต์ที่มาพร้อมเทคโนโลยีสำหรับนักกีฬาฝีเท้าแรง อย่างบูสต์ (BOOST) ที่ช่วยฟื้นคืนพลังในทุกย่างก้าวพร้อมเสริมความมั่นคงและลดแรงกระแทกได้อย่างดีเยี่ยม อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ Primeknit ที่โอบกระชับเท้า มีความยืดหยุ่น และซัพพอร์ตเท้าส่วนบน

Alberto Uncini Manganelli ผู้จัดการทั่วไป อาดิดาส รันนิ่ง กล่าวว่า “การร่วมมือกันระหว่างอาดิดาสและทีวีซีรีส์ชื่อดังระดับโลกอย่าง Game of Thrones เป็นส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอของเรา เมื่อแบรนด์และทีวีซีรีส์ได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของแพล็ตฟอร์มตัวเองและเป็นกระแสในป๊อป คัลเจอร์ อันเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับโปรเจกต์นี้”

Jeff Peters รองประธานฝ่ายการค้าและลิขสิทธิ์ HBO กล่าวว่า  “Ultraboost x Game of Thrones เป็นการรวมพลังของสุดยอดแบรนด์ที่ทรงพลัง ที่มั่นใจได้เลยว่าทั้งนักกีฬา นักสะสมรองเท้า เหล่าแฟนชั่นนิสต้า และสาวก Game of Thrones จะต้องหมายตามองและอยากจับจองเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแฟนๆ ซีรีส์ต่างก็ชื่นชอบโปรดักต์ผสมผสานเรื่องราวของซีรีส์สุดโปรดของพวกเขาเข้าไป เพราะถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่แฟนๆ จะได้แสดงออกถึงความรักที่มีต่อ Game of Thrones ดังนั้น เราจึงรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่ได้ร่วมงานกับอาดิดาสออกแบบอัลตร้าบูสต์คอลเลคชั่นสุดพิเศษนี้เพื่อต้อนรับซีซั่นสุดท้ายที่กำลังจะมาถึง”

รองเท้าอัลตร้าบูสต์ adidas x Game of Thrones วางจำหน่ายในวันที่ 22 มีนาคมนี้ ณ ร้านอาดิดาส แบรนด์ เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ร้านอาดิดาส สปอร์ต เพอร์ฟอร์แมนซ์ และร้านค้าชั้นนำที่ร่วมจำหน่าย ในราคาคู่ละ 7,300 บาท

ท่านสามารถหาขอมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.adidas.com/ultraboost หรือร่วมแสดงความเห็นได้ที่ @adidasRuning ทั้งทาง Twitter และ Instagram

สำรวจเบื้องลึกเบื้องหลังปรากฏการณ์ของมหากาพย์ซีรีส์อย่าง Game of Thrones

ถึงคุณจะไม่เคยเปิดผ่านตาดูเลยสักตอน และถึงคุณจะเป็นคนที่ไม่เสพความบันเทิงผ่านทางซีรีส์อเมริกันเลยสักนิด ความเป็นไปได้ก็คือ อย่างน้อย คุณก็คงต้องรู้จักชื่อ Game of Thrones หรือยิ่งไปกว่านั้น – คุณก็อาจจะถึงขนาดเคยผ่านตาชื่อตัวละครหลากหลายตัวทั้ง Jon Snow (จอน สโนว์) Ned Stark (เน็ด สตาร์ก) หรือ Tyrion Lannister (ทีเรียน แลนนิสเตอร์) มาบ้างแหละน่า! (ผ่านตาทั้งๆ ที่คุณไม่เคยดูสักตอนนี่แหละ)

คุณอาจเห็นพวกเขาล่องลอยไปมาเป็นมีม (Meme) อยู่ในเฟซบุค – พวกเขาถูกบรรจุเข้าสู่กระแสธารแห่งป๊อปคัลเจอร์ ถูกเสพโดยทั้งคนที่เป็นแฟนและไม่ใช่ – ประโยค ‘You Know Nothing.’ ที่จอน สโนว์พูดในเรื่อง ก็ถูกนำไปใช้ในหลายความหมาย อาจผิดเพี้ยนไปจากต้นกำเนิดแบบกู่ไม่กลับเสียด้วยซ้ำ นั่นคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นเฉพาะกับสื่อที่สามารถเป็น ‘ปรากฏการณ์’ เท่านั้น

คำถามก็คือ ทำไม – ทำไม Game of Thrones จึงโด่งดังนัก ทั้งๆ ที่มีซีรีส์ถูกผลิตออกมามากมายในแต่ละปี แต่ Game of Thrones ก็ยังคงความแรงได้ในทุกซีซั่น ถึงแม้จะล่วงเข้าสู่ปีที่เจ็ดแล้ว คนก็ยังคงรอการกลับมาของตัวละครทุกตัวอย่างสม่ำเสมอ – และเผลอๆ กลุ่มคนที่รอจะเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

แน่นอน – การอธิบายความสำเร็จของอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งไม่เคยเป็นเรื่องง่าย เพราะย่อมไม่สามารถถูกอธิบายได้ด้วยปัจจัยเพียงหนึ่งหรือสองอย่าง และความพยายามในการอธิบายเรื่องเหล่านั้นก็มักจะจบลงด้วยการถูกกล่าวหาว่าเป็น Post Factual หรือ ‘คำอธิบายหลังปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว’ (เป็นคำพูดหรูๆ ของ ‘ก็แหงสิ มันฮิตไปแล้ว คุณจะอธิบายยังไงก็ได้!’) สิ่งที่มักเกิดขึ้นคือ ถึงแม้เราจะอธิบายอะไรอย่างหนึ่งว่าทำไมจึงประสบความสำเร็จได้ แต่เราก็มักจะใช้ส่วนประกอบเดียวกัน เหตุผลชุดเดียวกันนั้น เพื่อไปสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้ประสบความสำเร็จดุจกันไม่ได้อยู่ดี – แต่ถึงจะทราบทั้งหมดนี้ การพยายามอธิบายสาเหตุที่ Game of Thrones กลายเป็นปรากฏการณ์ ก็ยังคงเป็นเรื่องสนุก ที่จะได้ลองแงะ แคะ แกะ เกา ผลงานชิ้นเขื่องนี้เพื่อดูส่วนประกอบที่สร้างขึ้นมาเป็นมัน – อยู่ดี

Game of Thrones เป็น Prestige TV

David Benioff (เดวิด บานิออฟ) และ D.B. Weiss (ดี. บี. ไวส์) คู่หูผู้ปรับ Game of Thrones จากนวนิยายชุด A Song of Ice and Fire ของ George R.R. Martin (จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน) เป็นซีรีส์ พิจารณาว่า Game of Thrones ไม่ได้เป็นแค่ ‘ซีรีส์ฉายทางทีวี’ แต่พวกเขาพิจารณาเนื้อเรื่องในฐานะ ‘ภาพยนตร์ที่มีความยาว 73 ชั่วโมง’ (6 ซีซั่น ซีซั่นละสิบตอน บวกสองซีซั่นสุดท้ายที่มีความยาวรวมกันเพียง 13 ตอน นับเป็น 73 ตอนทั้งหมด)

นี่เป็นส่วนหนึ่งของกระแสที่ใหญ่กว่าที่เรียกว่า Prestige TV หรือ ‘ซีรีส์ล้ำค่า’ ที่จุดให้เกิดกระแสโต้เถียงว่า ‘ยุคนี้ ซีรีส์ทีวีดีกว่าภาพยนตร์เสียอีก’ ซึ่งก็มีผู้ทัดทาน (อย่างเหมาะสม) ว่าไม่เห็นจะต้องเปรียบเทียบกันเลยว่าซีรีส์ดีกว่าภาพยนตร์ หรือภาพยนตร์ดีกว่าซีรีส์ เมื่อทั้งสองโลกก็มีทั้งผลงานที่ดีและแย่ทั้งนั้น

Prestige TV หรือ ‘ซีรีส์ล้ำค่า’ นั้นสามารถถูกใช้เป็นทั้งคำชื่นชมและคำกระแนะกระแหน ขึ้นอยู่กับว่าคุณเอนเอียงไปทางไหนในการโต้เถียง แต่โดยรวมๆ แล้วคำนี้หมายถึงซีรีส์สำหรับฉายทางโทรทัศน์ ที่ผู้ชมจะรู้สึกว่าได้ชม ‘ผลงานชิ้นเอก’ ได้ดู ‘โชว์ที่จริงจัง’ (Serious TV) ไม่เป็นการผลาญเวลาไปอย่างเล่นๆ ตัวอย่างซีรีส์ที่มักถูกนับว่าเป็น Prestige TV ก็ได้แก่ Game of Thrones (มักจะถูกนับเป็นตัวอย่างแรก), Mr. Robot, Fargo หรือ The Young Pope

Logan Hill (โลแกน ฮิลล์) นักเขียนของ Vulture เคยเขียนบทความตั้งข้อสังเกต (และ – ก็นั่นแหละ – จิกกัดนิดๆ หน่อยๆ) ถึงข้อพิจารณาว่าคุณกำลังดู Prestige TV อยู่หรือเปล่าไว้ในปีค.ศ. 2013 ตัวอย่างข้อสังเกตเหล่านี้ก็ได้แก่ ‘ดูแล้วรู้สึกเหมือนอ่านนิยาย’ ‘ดูแล้วรู้สึกเหมือนชมภาพยนตร์’ ‘แต่ละตอนไม่ใช่ตอนในฐานะ Episodes แต่ให้คิดเสียว่านี่คือบท หรือเป็น Chapters’ ‘อย่าไปเรียกว่าเป็นซีซั่นนะ ให้เรียกว่าไพล็อต’ ‘เป็นซีรีส์ที่รู้สึกรู้สากับตัวเอง (Self-Awareness)’ ‘มีความดำมืด’ ‘มีการโยนคนดูให้ไม่รู้ว่ากำลังดูอะไรอยู่’ ‘ทุกชิ้นส่วนในโชว์นั้นสำคัญ’ (ในความหมายที่ว่าอะไรที่ดูเล็กๆ น้อยๆ หรือตอนแรกทำให้ผู้ชมทั้งคำถามว่า จะให้ดูชีวิตของตาคนนี้ทำไม หรือจะให้ดูเรื่องนี้ทำไม มันเกี่ยวอะไรกับ ‘พล็อตใหญ่’ นั้นจะกลับมาแสดงความสำคัญของตัวมันเองในภายหลังทั้งสิ้น) ‘แทบไม่มีอารมณ์ขัน’ และอื่นๆ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วก็จะเห็นว่า Game of Thrones มีส่วนประกอบเหล่านี้ค่อนข้างครบถ้วน

นั่นคือตัวซีรีส์ฉาย ‘ความแพง’ ของตนเองออกมาอย่างไม่เขินอาย ใครๆ ที่ได้ดู Game of Thrones สักตอนหนึ่ง ถึงจะชอบหรือไม่ชอบ ก็จะรู้สึกได้ถึงความมีราคา ซึ่งหมายถึงทั้งราคาของการสร้าง และราคาของ ‘วิธีคิด’

ความเป็น Prestige TV นั้นแผ้วถางทางให้กับ ‘ยุคทองของโทรทัศน์’ (Peak TV) ในปัจจุบันด้วย แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีผู้เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ว่าด้วยความพยายามที่จะให้ทุกอย่างดู ‘แพง’ นี่แหละ ที่เป็นตัวขัดขวางไม่ให้ผู้สร้างสร้างโชว์ที่แค่ ‘สนุก’ ก็พอ คล้ายกับว่า เมื่อมหากาพย์กลายเป็นกระแสหลัก ทำให้ไม่มีคนผลิตเรื่องเล็กๆ ที่สนุกหรือสวยงามออกมาเท่าที่ควร

Game of Thrones เล่นกับ Social Media เป็น

ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ถูกวางไว้บนฉากแฟนตาซียุคกลาง แต่ Game of Thrones ก็เป็นซีรีส์ที่ ‘เล่น’ กับโซเชียลมีเดียได้อย่างเก่งกาจเหลือเชื่อ ด้วยทรัพยากรด้านเนื้อเรื่องที่มีให้ตักตวงอย่างมากมาย (นวนิยายชุด A Song of Ice and Fire ของ George R.R. Martin มีความยาวรวม 4,500 หน้ากระดาษแล้ว รวมถึงแค่เล่มที่ห้า) และด้วยวิธีที่ผู้เขียนวางเนื้อเรื่องไว้บนโลกสมมติที่มีทั้งตำนาน ประวัติศาสตร์ และการเมืองเป็นของตนเอง ทำให้พื้นที่ของทีวีไม่สามารถฉายทุกสิ่งออกมาได้ทั้งหมด

เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่เหลือจึงถูกนำไปวางไว้บนอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ทั้งในรูปแบบที่เกิดขึ้นจากกลุ่มแฟนเองเช่นวิกิ (http://awoiaf.westeros.org) หรือเกิดขึ้นโดยตั้งใจ เป็นงานโปรดักชั่นของ HBO เช่น เว็บไซต์ทางการของ Game of Thrones ซึ่งมีทั้งแผนที่แบบอินเทอร์แอ็กทีฟ สามารถกดเคลื่อนได้ตามเวลาของโชว์ว่าตัวละครใดกำลังเคลื่อนไหว ไปจนถึงผังตระกูลต่างๆ สำหรับคนที่อยากค้นเพิ่มเติมว่าตัวละครตัวนี้เป็นลูกเต้าเหล่าใคร และทำไมจึงเคียดแค้นอีกตระกูลหนึ่งขนาดนั้น

การวางข้อมูลไว้บนโลกออนไลน์นี้ช่วยส่งให้สถานะของโชว์อยู่ในใจของกลุ่มผู้ชมตลอดเวลา เมื่อพื้นที่ของหนึ่งเอพิโสดไม่ได้บอกข้อมูลทั้งหมดเท่าที่แฟนตัวยงอยากรู้ พวกเขาก็ต้องไปค้นข้อมูลเพื่อตอบสนองความต้องการของตน – แต่ด้วยขนาดที่กว้างใหญ่ของโลกของที่ George R.R. Martin สร้างขึ้น – ยิ่งค้น ก็ดูเหมือนว่าจะยิ่งเจอกับคำถาม แฟนๆ ของ Game of Thrones จึงใช้วิธีศึกษาคล้ายกับนักประวัติศาสตร์ พวกเขาสร้างทฤษฎี (เช่นว่า ใครเป็นลูกของใครกันแน่ – หรือต้นกำเนิดของ Whitewalker นั้นเป็นอย่างไรกันแน่) จากหลักฐานที่ผู้อื่นค้นพบ หรือกระทั่งอาจปรับปรุงทฤษฎีของผู้อื่นให้มีความรัดกุมมากขึ้น และอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในโชว์ได้อย่างเหมาะเหม็งกว่าเดิม

สิ่งเหล่านี้ตอบรับกับกระแสวัฒนธรรม Geek (หรือ ‘ผู้รู้’) ที่มีพลังมากขึ้นในยุคปัจจุบัน กลุ่มผู้ชมทุกวันนี้ไม่พอใจกับการรู้อะไรเพียงแค่ผิวเผินอีกแล้ว พวกเขาต้องรู้ให้ลึก และถ้าจะให้ดีีที่สุด คือรู้ให้ ‘ลึกกว่าคนอื่น’

นอกจากสร้างแรงกระเพื่อมในโลกออนไลน์ ด้วยวิธีที่อยู่บนโลกออนไลน์แล้ว แต่ละตอนของ Game of Thrones ก็ถูกวางมาให้ส่งแรงกระเพื่อมถึงโลกออนไลน์ได้ด้วยตัวเองด้วย สถานการณ์ที่มักถูกวางไว้อย่างชาญฉลาดในตอนที่สามและแปดของทุกซีซั่น (หรือใกล้เคียง) มักจะทำให้เกิดเสียงกึกก้องกัมปนาทในโลกออนไลน์ได้อย่างสม่ำเสมอ ผู้สร้างโชว์วางหมากใหญ่ไว้ได้อย่างพอเหมาะพอดี และผู้รับหน้าที่สื่อสารออนไลน์ของ HBO ก็พร้อมจะ ‘รับลูก’ เมื่อเกิดกระแสขึ้นเสมอ

Jim Marsh (จิม มาร์ช) ผู้อำนวยการฝ่ายดิจิตอลและโซเชียลมีเดียของ HBO รู้ว่า Westeros (โลกของ Game of Thrones) นั้นเป็นสถานที่ที่มีเอกลักษณ์ และสิ่งที่อาจถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนหรือข้อด้อย เช่น จำนวนตัวละครที่มากมาย หรือพล็อตที่ซับซ้อนนั้น เมื่ออยู่บนโซเชียลมีเดียแล้ว สิ่งเหล่านี้กลับกลายเป็นพลังสำคัญในการสร้างกระแส เขายังบอกด้วยว่า “การคาดเดาและบทสนทนาที่เกิดจากรายละเอียดที่เล็กมากๆ ในซีรีส์ที่หลายคนอาจมองข้าม นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่บอกเราว่ากลุ่มผู้ชมของเรานั้นมีเอกลักษณ์ขนาดไหน งานของทีมโซเชียลมีเดียคือการขยาย (Amplify) ความตื่นเต้นและบทสนทนาเหล่านี้ เราพยายามหาทางที่จะตักตวงผลประโยชน์จากบทสนทนาพวกนี้ให้ได้มากที่สุด และก็ยังต้องการจะให้รางวัลกับแฟนๆ ด้วย”

การ ‘ให้รางวัล’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงตัวเงิน แต่หมายความตั้งแต่ ‘ความรู้สึกว่าตัวเองถูก’ เมื่อโชว์ค่อยๆ คลี่คลายคำตอบที่แฟนๆ คาดเดาไว้ในภายหลัง ไปจนถึงการเชิญแฟนตัวยงมาร่วมกิจกรรมที่ HBO จัดขึ้น ให้ได้พบปะกับผู้สร้างและนักแสดง เพื่อทำให้ความเชื่อมั่นในโชว์แข็งแกร่งขึ้นด้วย

Game of Thrones มีเรื่องที่ดีด้วยตัวเอง

ถึงแม้จะมีปัจจัยภายนอกช่วยส่งเสริมแค่ไหน แต่ถ้า Game of Thrones ไม่ได้มีเรื่องราวที่ดี (หรืออย่างน้อย ‘ดีพอ’) การกุมหัวใจมหาชนไว้ก็คงเป็นเรื่องยาก โชคดีที่ Game of Thrones นั้นมีชิ้นส่วนมากพอจน – ถึงแม้คุณจะไม่ชอบบางเรื่องบางตอน – คุณก็ยังสามารถหาชิ้นส่วนที่คุณชอบ และเข้าถึงได้เสมอ อาจเป็นตัวละครสักตัว (เช่น ทีเรียน หรืออาร์ยา) ฉากสักฉาก (เช่น ฉากการตายอย่างน่าสมเพชของตัวละครที่คุณชิงชังมาสามซีซั่น) หรือเซอร์ไพรส์สักครั้ง (เช่น ตระกูลที่คุณเชียร์ถูกฆ่าล้างตระกูล ซึ่งคุณช็อก แต่ก็เป็นความช็อกที่ทำให้คุณยังคงดูต่อไป เพราะเป็นการตายที่แสนสมเหตุสมผล)

มีคนพยายามอธิบายว่า Game of Thrones นั้นฮิตขึ้นมาได้เพราะมันได้ให้ ‘ทางออก’ จากโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ไปสู่โลกที่ถึงแม้ซับซ้อน แต่คุณในฐานะผู้ชม ก็เห็นเส้นและสายสัมพันธ์ของความซับซ้อนได้ทั้งหมดจากมุมมองแบบบุคคลภายนอก นั่นทำให้คุณรู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่ ‘เข้าใจได้’ และ ‘คลี่คลาย’ มากกว่าโลกแห่งความเป็นจริง โลกของ Game of Thrones นั้นไม่ชวนให้คุณเครียด เพราะประวัติศาสตร์ของตัวมันเองก็แยกขาดไปจากโลกที่คุณยืนอยู่พอสมควร ถึงแม้ว่าบางสถานการณ์จะถูกเปรียบกับ ‘สงครามกุหลาบ’ หรือ The Wars of Roses สงครามอังกฤษในศตวรรษที่ 15 แต่นั่นก็ไกลพอที่จะทำให้คุณรู้สึกไม่เชื่อมโยง เมื่อคุณไม่ต้องเชื่อมโยงกับมันมากนัก คุณก็จะรู้สึกสบายใจ ที่สามารถเห็นผลลัพธ์ของการคาดเดาได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบ

นั่นเองอาจเป็นบทบาทของสื่อบันเทิงที่ได้ผล ซึ่ง Game of Thrones ก็สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและก็เป็นสาเหตุที่ว่าทำไมเราต้องนับวันรอว่าเมื่อไรกันที่ซีซั่นใหม่จะฉายเสียที! Game of Thrones ซีซั่น 7 จะฉายในวันที่ 16 กรกฎาคม 2017 โดยมีความยาวทั้งสิ้น 7 ตอน ก่อนที่ซีซั่น 8 จะตามมาในปีถัดไป โดยมีความยาวทั้งสิ้นเพียง 6 ตอน

จับความอลังการของสามตระกูลดังแห่ง Game of Thrones มาลงปกสมุดสุดคลาสสิก เพิ่มความขลังยามจดบันทึก

The Paper Throne

โมเลสกิน (Moleskine) แบรนด์สมุดบันทึกเก่าแก่ที่โด่งดังในเรื่องคุณภาพ ร่วมมือกับ HBO จัดทำสมุดบันทึกรุ่นพิเศษเพื่อเอาใจ
สาวก Game of Thrones ทีวีซีรีส์อันโด่งดังดำเนินเรื่องมาถึงภาคที่ 6 การห้ำหั่นระหว่างตัวละครทำให้ซีรีส์โด่งดังและเป็นที่นิยมไปทั่วโลก Moleskine Game of Thrones Limited Edition Notebook Collection เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ให้คุณได้บันทึกการผจญภัยภายใต้แรงบันดาลใจจากซีรีย์เรื่องโปรด โดยหน้าปกของสมุดในคอลเลกชั่น
นี้ได้แรงบันดาลใจมาจากตราสัญลักษณ์ประจำบ้านของสามตระกูลหลักในเรื่อง ได้แก่ ตระกูลสตาร์ค ตระกูลแลนนิสเตอร์ และตระกูลทาร์แกเรียน โดยภาพกราฟิกบนปกออกแบบโดย Levente Szabo ศิลปินคลื่นลูกใหม่ผู้มีชื่อเสียงในด้านงานกราฟิกท้ายเล่มยังมีเซอร์ไพรส์พิเศษสำหรับแฟนๆ Game of Thrones นั่นก็คือ สติกเกอร์ลายต่างๆ ที่หยิบยกมาจากซีรีส์ เพื่อเพิ่มความสนุกและลูกเล่นให้กับการจดบันทึก

Game of Thrones Limited 
Edition Notebook Collection 
มาในแบบมีเส้นและไม่มีเส้น ขนาด 9 x 14 เซนติเมตร ราคา 940 บาท 
และขนาด 13 x 21 เซนติเมตร 
ราคา 1,240 บาท