Posts

LEGACY MACHINE SPLIT ESCAPEMENT EVO

หลังการเปิดตัวของ แอลเอ็ม เพอร์เพทชวล อีโว (LM Perpetual EVO), แอลเอ็ม ซีเควนเชียล อีโว (LM Sequential EVO) และแอลเอ็ม สปลิท เอสเคปเมนท์ อีโว (LM Split Escapement EVO) (ซึ่งเคยเปิดตัวครั้งแรกมาแล้วในฐานะรุ่นผลิตจำนวนจำกัดในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ในวันนี้ เอ็มบีแอนด์เอฟ (MB&F) ได้เผยโฉมรุ่นใหม่ของ อีโว (EVO) พร้อมทั้งยืนยันถึงการก้าวเข้าสู่คอลเลกชันหลักด้วยบทบาทอันสำคัญของ อีโว

แนวคิดซึ่งอยู่เบื้องหลัง แอลเอ็ม สปลิท เอสเคปเมนท์ (LM Split Escapement) นั้นเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 2015 ด้วย แอลเอ็ม เพอร์เพทชวล (LM Perpetual) โดยการออกแบบและคิดค้นของช่างนาฬิการะดับมาสเตอร์ชาวไอริชเหนือ สตีเฟน แมคดอนเนลล์ (Stephen McDonnell) จากการแบ่งเป็นสองเกณฑ์สำหรับจักรกลปฏิทินถาวรหรือเพอร์เพทชวล คาเลนดาร์ (perpetual calendar) ซึ่งช่วยให้ง่ายต่อการใช้งานพร้อมทั้งยังคงแสดงไว้ด้วยฟลายอิ้งบาลานซ์วีล (flying balance wheel) อันเป็นสัญลักษณ์ของเอ็มบีแอนด์เอฟ ณ ศูนย์กลางของหน้าปัด ต่อมาไม่นาน แมคดอนเนลล์จึงตระหนักว่ายังมีอีกหนึ่งปัญหา นั่นคือการไม่มีพื้นที่สำหรับจัดวางเอสเคปเมนท์ ดังนั้นแนวคิดซึ่งเคยปรากฏมาแล้วกับ เลกาซี แมชชีน (Legacy Machines) รุ่นก่อนหน้า กับการจัดวางบาลานซ์วีลไว้บนด้านหน้าของนาฬิการ่วมไปกับเอสเคปเมนท์ (escapement) จึงได้ถูกนำมาขบคิดใหม่ ทว่า ด้วยการแสดงปฏิทินถาวรของ แอลเอ็ม เพอร์เพทชวล ที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายในการมอบพื้นที่สำหรับทั้งสององค์ประกอบนี้

แต่ด้วยการเป็นนักแก้ปัญหา แมคดอนเนลล์มีแนวคิดอันชาญฉลาดโดยการสร้างสรรค์เสาบาลานซ์ (balance staff) ขนาดยาวที่สุดในโลก ซึ่งสามารถวางข้ามผ่านกลไกทั้งชุด และคงให้บาลานซ์วีลขนาดใหญ่นั้นครองพื้นที่ของตนเอง นั่นคือบนด้านหน้าของนาฬิกา และย้ายชิ้นส่วนที่เหลือของเอสเคปเมนท์ ได้แก่ แองเคอร์ (anchor) และเอสเคปวีล (escape wheel) ไปยังด้านตรงกันข้ามของกลไก หรือเกือบ 12 มม. ด้านล่าง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘สปลิท เอสเคปเมนท์’ (Split Escapement)

และเมื่อ แอลเอ็ม เพอร์เพทชวล เผยโฉม ยังมีอีกหลากหลายนวัตกรรมมากมายให้พูดถึงเกี่ยวกับสปลิท เอสเคปเมนท์ ที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกตเห็น ดังนั้น ในปี ค.ศ. 2017 เอ็มบีแอนด์เอฟจึงได้ตัดสินใจที่จะสร้างสรรค์ แอลเอ็ม สปลิท เอสเคปเมนท์ (LM Split Escapement) หรือ แอลเอ็ม เอสอี (LM SE) ขึ้น เพื่อตอกย้ำถึงแนวคิดอันอัจฉริยะของแมคดอนเนลล์ โดยกลไกจักรกลไขลานด้วยมือที่ประกอบด้วยชิ้นส่วน 298 ชิ้นนี้ ได้ขับเคลื่อนผ่านตลับลานคู่ซึ่งมอบการสำรองพลังงานได้นาน 72 ชั่วโมง และมาพร้อมด้วยระบบการเปลี่ยนวันที่อย่างรวดเร็วและใช้งานง่าย ที่ช่วยป้องกันผู้ใช้จากการสร้างความเสียหายโดยไม่ได้ตั้งใจต่อกลไก เมื่อทำการปรับตั้งวันที่


จากผลงานรุ่นแรกๆ ของ แอลเอ็ม สปลิท เอสเคปเมนท์ นั้นล้วนนำเสนอภายใต้ตัวเรือนคลาสสิกของเอ็มบีแอนด์เอฟ อย่าง เลกาซี แมชชีน (Legacy Machine) แต่ ณ ปัจจุบัน คอลเลกชันนี้จะถ่ายทอดภายใต้ตัวเรือน อีโว (EVO) ซึ่งคิดค้นขึ้นสำหรับไลฟ์สไตล์ที่แอคทีฟมากยิ่งขึ้น

งานออกแบบตัวเรือนใหม่นี้ปรากฏโฉมครั้งแรกในปี ค.ศ. 2020 ด้วยผลงานรุ่น แอลเอ็ม เพอร์เพทชวล อีโว นาฬิกากันน้ำได้ระดับ 80 เมตร พร้อมทั้งเม็ดมะยมหมุนเกลียวลง และประกอบด้วยสายยางแบบผสาน รวมถึงงานออกแบบที่ไร้ขอบตัวเรือน ทว่า แนวคิดของ อีโว นั้นมีความลึกซึ้งมากขึ้น โดยภายในตัวเรือนบรรจุไว้ด้วยกลไกแบบแขวนลอย อันเป็นผลลัพธ์จากการเปิดตัวครั้งแรกในโลกของระบบ “เฟล็กซ์ริง” (“FlexRing”) แบบชิ้นเดียวหรือโมโนบลอกซึ่งช่วยดูดซับแรงสะเทือน พร้อมทั้งลดแรงสั่นสะเทือนได้จากทั้งแนวตั้งและแนวราบที่มาจากหลากหลายไลฟ์สไตล์การผจญภัยในชีวิตจริง

หลังการเปิดตัวของ แอลเอ็ม เพอร์เพทชวล อีโว ตัวเรือนอันเป็นเอกลักษณ์ของ อีโว ได้ผสมผสานสู่คอลเลกชัน เลกาซี แมชชีน มากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการเปิดตัวล่าสุดของนาฬิกาโครโนกราฟรุ่นแรกเท่าที่เคยมีมาสำหรับเอ็มบีแอนด์เอฟ อย่าง แอลเอ็ม ซีเควนเชียล อีโว แม้ว่าก่อนหน้านี้ ได้ปรากฏโฉมกับรุ่นที่ไม่ได้แพร่หลายมากนัก อย่างผลงานซึ่งผลิตในจำนวนจำกัดเพียง 10 เรือนของ แอลเอ็ม สปลิท เอสเคปเมนท์ อีโว (LM Split Escapement EVO) เพื่อร่วมในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี(Golden Jubilee) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
และนอกเหนือจากตัวเรือน อีโว แล้ว ในรุ่นครบรอบ 50 ปี (Golden Jubilee) นี้ยังมาพร้อมการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านการปรับแต่งใหม่ด้านงานออกแบบมาจาก แอลเอ็ม สปลิท เอสเคปเมนท์ นั่นคือจักรกลทั้งหมดถูกหมุนในทิศตามเข็มนาฬิกาไป 30 องศา พร้อมทั้งการติดตั้งเม็ดมะยมไว้ ณ ตำแหน่ง 4.30 นาฬิกา แทนที่จะเป็นตำแหน่ง 2 นาฬิกา ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงความสมมาตรของนาฬิกาอย่างสมบูรณ์ และมอบซึ่งบุคลิกใหม่โดยสิ้นเชิง


ในวันนี้ เอ็มบีแอนด์เอฟ ไม่ได้เปิดตัวเพียงนาฬิกาหนึ่งรุ่น แต่เป็นผลงานสองรุ่นใหม่ของ แอลเอ็ม เอสอี อีโว (LM SE EVO) โดยรุ่นแรกนั้นมาพร้อมตัวเรือนไทเทเนียม เกรด 5 และฐานเครื่องสีฟ้าไอซีบลู (icy blue) คู่ด้วยหน้าปัดสีเทาสเลทเกรย์ (slate grey) รวมถึงหน้าปัดย่อยแบบเปิดที่พร้อมจะทำให้หัวใจคุณสั่นระรัว แต่แน่นอนว่าเป็นไปในทางที่ดี

กับอีกหนึ่งคุณสมบัติอันโดดเด่น คือการเคลือบด้วยเฉดสีเข้มขึ้นพิเศษบนด้านกลไก ซึ่งรังสรรค์เป็นภาพที่ตัดกันยิ่งขึ้นระหว่างเฟืองต่างๆ กับตลับลาน (​barrels) ชุบโรเดียมและรายละเอียดอื่นๆ ตกแต่งด้วยโรสโกลด์ อันเป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงความตัดกันระหว่างธรรมชาติอันแอคทีฟ แต่ร่วมสมัยของคอลเลกชัน อีโว รวมถึงงานฝีมือการตกแต่งตามประเพณีดั้งเดิมของกลไก โดยเอ็มบีแอนด์เอฟ ถือเป็นหนึ่งในแบรนด์ศิลปินผู้เปี่ยมด้วยทักษะและความเชี่ยวชาญที่ยังคงเดินหน้าตกแต่งชิ้นส่วนประกอบกลไกด้วยมืออย่างพิถีพิถันและทุ่มเท เพื่อมอบสุนทรียะการมองเห็นของกลไกอันงดงามเช่นเดียวกับหน้าปัดเรือนเวลา

รุ่นเบเวอร์ลีฮิลส์
ขณะที่ในรุ่นที่สองนั้นเป็นการเผยโฉมซีรีส์เรือนเวลาผลิตจำนวนจำกัดครั้งแรก ที่จะสำรองแบบเอ็กซ์คลูซีฟไว้สำหรับเอ็มบีแอนด์เอฟ แล็บ (MB&F LABs) รูปแบบใหม่ของร้านค้าปลีก ที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยต่อยอดจากความสำเร็จของ แมดแกลลอรี(M.A.D.Galleries) แห่งเอ็มบีแอนด์เอฟ โดยปีนี้จะได้เห็นการเปิดตัวของ เอ็มบีแอนด์เอฟ แล็บ ทั้งในกรุงปารีส, สิงคโปร์ และเบเวอร์ลีฮิลส์ พร้อมด้วยผลงานเอดิชันพิเศษนี้ ที่ได้รับการออกแบบขึ้นอย่างเอ็กซ์คลูซีฟสำหรับหนึ่งใน เอ็มบีแอนด์เอฟ แล็บ บนถนนโรดีโอไดรฟ์ (Rodeo Drive) ของลอสแอนเจลิส

เบเวอร์ลีส์ฮิลส์ เอ็มบีแอนด์เอฟ แล็บ แห่งนี้บริหารงานโดยบริษัทค้าปลีกนาฬิกาชื่อดังของอเมริกาอย่าง เวสไทม์ (Westime) ซึ่งไม่เพียงเป็นพันธมิตรของแบรนด์มานับตั้งแต่เริ่มต้น แต่ยังเป็นหนึ่งในบริษัทแรกที่จะได้ร่วมเปิดตัว เอ็มบีแอนด์เอฟ แล็บ ขณะที่นาฬิการุ่นใหม่ซึ่งผลิตในจำนวนจำกัดเพียง 25 เรือนนี้ยังมาพร้อมสีสันประจำองค์กรของเวสไทม์ ทั้งสีน้ำเงินและดำ ด้วยฐานเครื่องสีดำโดดเด่น ตัดกับหน้าปัดและหน้าปัดย่อยแบบเปิดในเฉดสีเมทัลลิกบลู (metallic blue) โดยผลงานรุ่นนี้จะเป็นนาฬิกา เอ็มบีแอนด์เอฟ แล็บ เพียงรุ่นเดียวที่เปิดตัวในปีนี้