Posts

POP ART : The BATTLE WOUND of THALUFAH นิทรรศการศิลปะแห่งการต่อสู้ทางการเมือง

นิทรรศการศิลปะแห่งการต่อสู้ทางการเมืองแบบทะลุฟ้า

ใครที่สนใจการเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ฝักใฝ่การเมืองผู้มีใจรักประชาธิปไตย คงน่าจะคุ้นเคยกับชื่อของ ‘ทะลุฟ้า’ เป็นอย่างดี ในฐานะกลุ่มนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เริ่มเป็นที่รู้จักเป็นครั้งแรกจากกิจกรรม ‘เดินทะลุฟ้า’ การเดินขบวนจากภาคอีสานถึงกรุงเทพฯ เป็นระยะทาง 247.5 กม. ในเวลา 21 วัน เพื่อแสดงข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในประเด็นต่างๆ ทั้งการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง (ในแคมเปญ ‘ปล่อยเพื่อนเรา’) การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 และการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ตามมาด้วยการก่อตั้ง ‘หมู่บ้านทะลุฟ้า’ ที่พวกเขาสร้างค่ายพักแรมบนท้องถนน ปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล เพื่อสานต่อข้อเรียกร้องต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

รวมถึงการจัดกิจกรรม ‘Art Gallery’ การแสดงผลงานศิลปะและการแสดงศิลปะแสดงสดเชิงสัญลักษณ์ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย บนถนนราชดำเนิน รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และอีกหลายต่อหลายกิจกรรม

ด้วยความที่ทะลุฟ้าเป็นกลุ่มนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ การต่อสู้เคลื่อนไหวของพวกเขาจึงเต็มไปด้วยความแปลกแหวกแนว สดใหม่ อีกทั้งยังเปี่ยมไปด้วยศิลปะและความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างยิ่ง

กว่า 1 ปี ที่พวกเขาออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน เพื่อแสดงถึงเจตจำนงของประชาชนที่ต้องการส่งไปให้ถึงภาครัฐอย่างสันติ แต่พวกเขากลับถูกปราบปรามจากภาครัฐด้วยความรุนแรง ทั้งการสลายการชุมนุม จับกุม คุมขัง ดำเนินคดี และถูกคุกคามโดยอำนาจรัฐนานัปการ

ล่าสุด ในปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มทะลุฟ้าหยิบเอาประสบการณ์ที่ได้รับจากการบังคับใช้ความรุนแรงโดยอำนาจรัฐตลอด 1 ปีที่ผ่านมา นำมาถ่ายทอดให้ผู้คนได้รับรู้ในพื้นที่ทางศิลปะเป็นครั้งแรก ในนิทรรศการที่มีชื่อว่า The Battle Wound of Thalufah ที่นำเสนอผลงานศิลปะในรูปแบบของพยานวัตถุ ที่เป็นเหมือนหลักฐานของการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของพวกเขา วัตถุเหล่านี้เป็นเสมือนหนึ่งรอยบาดแผลจากการต่อสู้ทางการเมือง ดังคำประกาศเจตนารมณ์ของพวกเขาที่ว่า

“ถ้าจะมีใครสักคนกล่าวว่าความเจ็บปวดคือสิ่งที่บอกได้ว่าเรานั้นยังมีชีวิต ดังนั้น… บาดแผลก็คงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บอกได้ถึงร่องรอยของความทรงจำในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่เช่นกัน”

จุดเริ่มต้นของนิทรรศการครั้งนี้เกิดจากการที่ทะลุฟ้าต้องการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการต่อสู้ของพวกเขาในช่วงปลายปี 2564 โดยใช้ชื่อ ‘ลงถนน’ ที่พวกเขาตั้งใจจะแสดงงานศิลปะในพื้นที่ชุมนุมบนท้องถนน เพราะโดยปกติพวกเขาก็ทำการต่อสู้เคลื่อนไหวบนท้องถนนเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว แต่ก่อนหน้าที่จะจัดนิทรรศการที่ว่า พวกเขามีโอกาสได้พบกับมิตร ใจอินทร์ ศิลปินและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองรุ่นใหญ่ที่เชียงใหม่ และได้รับข้อเสนอให้แสดงนิทรรศการในพื้นที่ทางศิลปะของเขา นิทรรศการครั้งนี้จึงถือกำเนิดขึ้นในที่สุด

ด้วยความที่กลุ่มทะลุฟ้าประกอบด้วยคนรุ่นใหม่ มีความ

หลากหลายทางความคิด สมาชิกในกลุ่มบางคนเองก็ศึกษาทางด้านศิลปะ การออกแบบ ภาพยนตร์ และในอีกหลายสาขา ทำให้พวกเขาสามารถหยิบฉวยเอาศิลปะและความคิดสร้างสรรค์มาใช้ในการต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างเปี่ยมสีสัน

พวกเขามองว่าม็อบคือสนามทางวัฒนธรรม และต้องการเปิดพื้นที่การพูดคุยแลกเปลี่ยนทางการเมืองกับคนทำงานศิลปะมากขึ้น ในหลายๆ ครั้ง กิจกรรมการเคลื่อนไหวของพวกเขาเองก็มีศิลปินมืออาชีพมากหน้าหลายตาเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันอีกด้วย

จากก่อนหน้าที่เคยแสดงงานศิลปะบนท้องถนน เมื่อมีโอกาสแสดงงานในพื้นที่หอศิลป์ ทะลุฟ้าจึงหยิบเอาผลงานที่เคยแสดงบนท้องถนนมาใช้ในการสื่อสารกับคนกลุ่มใหม่ๆ เพื่อเปิดมุมมองให้พวกเขาเข้าใจการต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มหรือแม้แต่นักต่อสู้เคลื่อนไหวเยาวชนคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันให้มากยิ่งขึ้น

อีกทั้งในช่วงระยะเวลาการจัดแสดงนิทรรศการ ยังเป็นช่วงเวลาครบรอบ 1 ปี ที่กลุ่มทะลุฟ้าก่อตั้งขึ้นมา พวกเขาจึงประมวลเหตุการณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมาบอกเล่าผ่านวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่นำมาจัดแสดง เพื่อเล่าเรื่องราวภายใต้แนวคิดที่มีชื่อว่า “THE BATTLE WOUND” (บาดแผลแห่งการต่อสู้) ด้วยความที่สิ่งของเหล่านี้ผ่านเหตุการณ์ เรื่องราว และมีประสบการณ์เคียงข้างนักต่อสู้เคลื่อนไหวกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิดถึงเลือดเนื้อ

ไม่ว่าจะเป็นป้ายผ้าประท้วงที่พวกเขาเคยใช้คลุมทับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในการชุมนุมเดือนกันยายน ปี 2564 หรือหุ่นผ้าจำลองรูปศพที่พวกเขาใช้ในการเสียดสีและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แทนผู้เสียชีวิตในสถานการณ์โควิดที่แยกราชประสงค์ ในเดือนกันยายน ปี 2564 รวมถึงโปสเตอร์ ใบปลิว สิ่งพิมพ์ ป้ายไวนิล เสื้อยืดรณรงค์ กราฟฟิตี้บนผนัง หรือแม้แต่ข้าวของที่ใช้สอยในม็อบ อย่างเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ผ่านสมรภูมิทางการเมือง ภาชนะเครื่องใช้ในครัวอย่างตะหลิว ทัพพี อันเป็นอุปกรณ์ที่พวกเขาใช้ทำอาหารกินกันในม็อบ จักรเย็บผ้า ที่พวกเขาใช้เย็บป้ายประท้วงและหุ่นผ้า ข้าวของทุกชิ้นเหล่านี้ต่างมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ของกลุ่มทะลุฟ้า ไม่ต่างอะไรกับเชื้อเพลิงที่ช่วยขับเคลื่อนพวกเขาให้เดินหน้าต่อไปได้ก็ไม่ปาน

กลุ่มทะลุฟ้านำวัตถุข้าวของต่างๆ เหล่านี้มาเชื่อมร้อยกันเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นภายใต้แนวคิดหลักของนิทรรศการ เพื่อให้เรื่องราวเหล่านี้ขยายความเข้าใจเกี่ยวกับม็อบ เกี่ยวกับการต่อสู้ของพวกเขา ไปสู่วงกว้าง ไม่จำกัดอยู่กับแค่คนที่สนใจการเมืองเท่านั้น ด้วยความเชื่อว่าศิลปะเข้ากับคนได้ทุกชนชั้น ทุกเพศ 

ทุกวัย และอาจทำให้การต่อสู้ของทะลุฟ้าและเยาวชนคนรุ่นใหม่ผู้รักประชาธิปไตยถูกตีแผ่และสื่อสารกับผู้คนได้มากขึ้น

“เราคิดว่าการที่นักกิจกรรมฯ นักเคลื่อนไหวฯ อย่างเราจะมาทำงานศิลปะนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดแปลกอะไร เราก็เป็นแค่คนที่ทำงานการเมือง เป็นคนที่ออกมาเรียกร้องทางการเมือง ที่เอาประสบการณ์ของเรามาแสดงออกให้คนเห็นผ่านศิลปะ ดังคำกล่าวของอาจารย์ทัศนัย (เศรษฐเสรี) ที่ว่า ‘ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใคร และไม่เป็นขี้ข้าใคร’ เราเชื่อว่าศิลปะควรเป็นของทุกคน ทุกคนสามารถใช้งานศิลปะได้ ศิลปะควรจะพูดได้ทุกอย่าง ศิลปะไม่ควรถูกจำกัดว่าห้ามพูดถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้ ศิลปะควรเป็นอิสระ และเป็นได้ทุกอย่างโดยไม่มีขอบเขต

“ที่เราต้องออกมาต่อสู้เพราะปัญหามาถึงตัวเราจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องปากท้อง เศรษฐกิจตกต่ำ ประเทศเราถูกแช่แข็ง ไม่พัฒนามาหลายปี ตั้งแต่ตอนเราเรียนประถม ไม่ใช่แค่พวกเราเท่านั้นที่รู้สึกว่าชีวิตวัยรุ่นของพวกเราหายไป ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาลชุดนี้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้

เป็นเหมือนแรงสะเทือนใต้น้ำที่แรงขึ้นเรื่อยๆ จนเราสัมผัสได้ เรารู้สึกตัวเราถึงออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้กัน เพราะเราต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง พวกเราไม่อยากทนอีกต่อไป ถ้าเราไม่ออกมาทำอะไรสักอย่างตอนนี้ ราคาที่เราจะต้องจ่ายมันจะแพงขึ้นเรื่อยๆ และเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ยากขึ้นเรื่อยๆ

“การทำนิทรรศการครั้งนี้ เป็นเหมือนการเปิดเพดานบางอย่างของเราและของสังคม ว่านักต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมืองก็สามารถทำนิทรรศการศิลปะ และใช้ศิลปะในการขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองได้ ทำให้เห็นว่าศิลปะสามารถเชื่อมโยงกับการเมืองและทุกสิ่งทุกอย่างได้จริงๆ” ตัวแทนกลุ่มทะลุฟ้ากล่าวทิ้งท้าย

– Author: MutAnt –

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากกลุ่มทะลุฟ้า

Photography: Courtesy of the studio

นิทรรศการ Shadow Dancing: Where Can We Find a Silver Lining in Challenging Times?

Shadow Dancing: Where Can We Find a Silver Lining in Challenging Times? เป็นนิทรรศการต่อเนื่องจากโครงการ Challenging Time, Artists and Curatorial Exchange, and Research Residency Program Between Thailand and Taiwan 2020 ซึ่งเป็นโครงการศิลปินในพำนักเพื่อการแลกเปลี่ยนและวิจัยเชิงทดลองออนไลน์ ภายใต้ความร่วมมือทางไกลระหว่าง หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ในกรุงเทพฯ และ พิพิธภัณฑ์ฮงกา ในไทเป

นอกเหนือจากการขยายเครือข่ายที่มีอยู่ระหว่างแวดวงศิลปะของประเทศไทยกับไต้หวันแล้ว นิทรรศการนี้ยังถือเป็นความร่วมมือระหว่างภัณฑารักษ์ ศิลปิน กับผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงผู้ชม ซึ่งมุ่งเน้นการสนับสนุนและส่งเสริมคุณค่าของการร่วมสนทนา การเชื่อมต่อถึงกัน และความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน อันเป็นแบบอย่างสำหรับการอยู่ในโลกนี้ในช่วงเวลาที่ท้าทายในปัจจุบัน

นิทรรศการนี้เป็นนิทรรศการลำดับที่ 2 ในนิทรรศการชุดสงครามเย็นของหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โดยเน้นที่บริบททางสังคมการเมืองและวัฒนธรรมของประเทศไทยและไต้หวัน ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองมาจนถึงปัจจุบัน นิทรรศการนี้ที่เป็นผลลัพธ์ของการอภิปรายอย่างต่อเนื่องระหว่างศิลปินและองค์กรศิลปะทั้งสองแห่งที่เข้าร่วม โดยเป็นการนำประวัติศาสตร์สงครามเย็นกลับมาพิจารณาใหม่ และยังใช้เป็นจุดเริ่มต้นที่มีส่วนช่วยในการสำรวจการคงอยู่ของประวัติศาสตร์และผลพวงจากยุคสงครามเย็น ซึ่งยังคงปรากฏให้เห็นและสัมพันธ์กับความเป็นจริงร่วมสมัย อีกทั้งยังส่งผลถึงการมองหาความเป็นไปได้ในอนาคตที่คลุมเครือ

Shadow Dancing เปิดเผยเรื่องเล่าของประวัติศาสตร์กระแสรองที่ทำให้เราครุ่นคิดพิจารณาเกี่ยวกับสถานการณ์ของชีวิตความเป็นอยู่ในโลกที่ซับซ้อนและมีหลากหลายแง่มุม โดยหยิบยืมมโนทัศน์จากการ การเคลื่อนไหวในความมืด อันเป็นพลวัตที่ตรงข้ามกับความชัดแจ้งและความชอบธรรม ในสถานการณ์ที่เราไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน และเมื่อเราต้องจมอยู่กับความไม่แน่นอนอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ เราจะมองหาแสงสว่างในช่วงเวลาที่ท้าทายเช่นนี้ได้จากที่ไหน? โดยที่เราไม่รู้ตัว จังหวะชีวิตของเราถูกก่อกวนและเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ยังไม่นับความจริงที่ว่าเราได้ใช้ชีวิตภายใต้การควบคุมจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกมาตลอด ในทำนองเดียวกัน Shadow Dancing ยังพาดพิงถึงประวัติศาสตร์อันซับซ้อนและตำแหน่งทางภูมิศาสตร์การเมืองของไต้หวัน ตลอดจนสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองที่ปั่นป่วนในไทยที่คล้ายกับถูกม่านหมอกสีดำปกคลุมไปทั่ว ด้วยเหตุนี้ ผลลัพธ์จากการพบปะพูดคุยเสมือนจริงและการวิจัยออนไลน์ตลอดระยะเวลาสี่เดือนโดยศิลปินชาวไต้หวันและชาวไทยทั้ง 8 คน ประกอบด้วยผลงานศิลปะสหสาขา ที่เน้นประสบการณ์และการมีส่วนร่วม รวมถึงศิลปะวิดีโอการแสดงและศิลปะจัดวางเสียง ผลงานของศิลปินต่างสะท้อนมุมมองอันหลากหลายและนำเสนอการอภิปรายอันล้ำลึกหลายชั้นและต่อเนื่อง

จากความสนใจเกี่ยวกับการตั้งฐานทัพของสหรัฐฯในบ้านเกิดของ ปณชัย ชัยจิรรัตน์ ได้สำรวจแนวคิดเรื่องพื้นที่นอกอาณาเขต และตรวจสอบหาความจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยของทหารในเขตเป่ยโถวและบริเวณใกล้เคียงในไต้หวัน นอกจากนี้เขายังพิจารณาการมีอยู่ของพื้นที่นี้ภายในไทย ซึ่งทำให้เขาได้พบบันทึกเหตุการณ์ของกองทหารก๊กมินตั๋ง กองพันที่ 93 ซึ่งหลังจากถอนที่มั่นออกจากเมืองยูนนานในปี พ.ศ. 2492 บางส่วนได้อพยพไปไต้หวันผ่านโครงการความร่วมมือทางทหารระหว่างไต้หวัน ไทย พม่า กับสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ส่วนอื่น ๆ ถูกทิ้งและยังคงอาศัยอยู่ที่ภาคเหนือของประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน ส่วน ศรภัทร ภัทราคร ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่และการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออกและความเป็นประชาธิปไตย โดยเขาอ้างถึงการเคลื่อนไหวทางสังคมและนักเคลื่อนไหวที่สำคัญในประวัติศาสตร์จากทั้งสองฝั่ง ด้วยความที่เขาสนใจเรื่องเล่ากระแสรองและต้องการรวบรวมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เกี่ยวข้องมาไว้ในงานของเขาให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ด้วยวิธีการที่เขาทำสามารถสร้างพื้นที่ให้เรื่องเล่าขนาดย่อมและเปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในการเติมส่วนที่ขาดหายไป

ผลงานของ เอนคาริอน อัง ใช้เทคนิคการดัดแปลงเสียงและภาษาที่อ้างถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่มีความเกี่ยวเนื่องกับภูมิศาสตร์และปรากฏการณ์ระดับโลก ศิลปินทำการรวบรวมภาพยนตร์ไทยและคลิปเสียงจากแหล่งต่าง ๆ มากมาย และสร้างสรรค์เสียงในรูปแบบใหม่ขึ้นมาเพื่อท้าทายการรับรู้และความเข้าใจของเรา ในขณะที่ เจิ้ง ถิงถิง ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง The Beach และภาพข่าวในประเทศไทยของผู้ประท้วงสองคนที่ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำไปยังรัฐสภา ศิลปินฉายภาพเกาะพีพีของประเทศไทย อันเป็นเกาะสวรรค์ของคนไทยและนักท่องเที่ยว เป็นดั่งจุดหมายที่ไม่มีวันไปถึงได้ กล่าวได้ว่าแดนสวรรค์ในความเป็นจริงนั้นแตกต่างออกไปเมื่อนำไปใช้กับบริบทของเวลาในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เราครุ่นคิดถึงความเป็นจริงที่ท้าทายต่อความคาดหวังและการมองอนาคตของเรา

งานวิจัยของ หลิน อี๋จวิน เกี่ยวกับบทบาทของคนค้าขายหาบเร่ตามท้องถนนในประเทศไทย เกิดขึ้นหลังจากศิลปินได้รู้เห็นว่าคนค้าขายหาบเร่เหล่านี้ตอบสนองต่อการประท้วงและโอกาสทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ นอกจากนี้ศิลปินยังย้อนกลับไปพิจารณาความเป็นมาของคนค้าขายหาบเร่ของไต้หวันอีกด้วย ในขณะที่ จุฬญาณนนท์ ศิริผล ค้นพบแรงบันดาลใจจากวงไอดอลหญิงล้วนยอดนิยมของญี่ปุ่นอย่าง AKB48 และวงน้องสาวต่างประเทศของพวกเขาในเอเชีย ซึ่งรวมถึง BNK48 ในกรุงเทพฯ และ TPE48 ในไทเป เขาสร้าง ANGSUMALIN 48 หรือ ANG 48 เพื่อล้อเลียนวงดังกล่าวว่าทำงานเพื่ออุดมการณ์กระแสหลัก เขายังชี้ให้เห็นถึงความแพร่หลายของวัฒนธรรมหรือซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศญี่ปุ่นในเอเชียตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เจิง เยี่ยนอวี๋ มักใช้ผ้ามาทำหุ่นเชิดโดยใช้เทคนิคการห่อและรัดให้แน่น ศิลปินเกิดความประทับใจต่อการมีส่วนร่วมในชุมชนของ คุณจิม ทอมป์สัน ตลอดจนวิสัยทัศน์ของเขาที่มีต่องานหัตถกรรมและการยกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างบทบาทให้ผู้หญิง ส่วน กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ ในฐานะแพทย์สำหรับครอบครัว เขาสนใจการปะทะสังสรรค์กันระหว่างการแพทย์แผนปัจจุบัน วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมกับบุคคลที่ถูกจำกัด เขาจึงสำรวจเรื่องราว “ดั้งเดิม” ที่ถูกละเลยและความเชื่อมโยงของเรื่องราวเหล่านี้ผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น ศิลปะและการทรงเจ้าเข้าผี นอกจากนี้เขายังจัด Limbic Release โครงการฉายภาพยนตร์ที่จะเชื้อเชิญให้เราขบคิดทบทวนเรื่องการล่าอาณานิคมและผลกระทบของโลกาภิวัตน์

นิทรรศการนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน), สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย, มูลนิธิ เจมส์ เอช. ดับเบิลยู. ทอมป์สัน, พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม, GroundControl, และ SEALECT BRAND, ร่วมกับสถาบันภาพยนตร์และโสตทัศนูปกรณ์ไต้หวัน (TFAI), สถานีโทรทัศน์สาธารณะไต้หวัน (PTS), โรงภาพยนตร์ลิโด้ และสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) และขอขอบคุณสมาชิกของเราที่มีส่วนร่วมและสนับสนุนในการจัดนิทรรศการและโปรแกรมของเรา

โปรแกรมสำหรับสาธารณชน:

17 มีนาคม 2565 วันเปิดงานนิทรรศการ ณ ห้องโถง Event Space ชั้น 2

● เวลา 16:00 – 17:00 น.
ลงทะเบียนและรับการตรวจ ATK ณ ชั้น G

● เวลา 17:00 – 18:30 น.
เสวนาโดยศิลปินไทย จุฬญาณนนท์ ศิริผล, กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ, และปณชัย ชัยจิรรัตน์
ดำเนินรายการโดย ปวีณา เนคมานุรักษ์
ศิลปินไทยทั้ง 3 คนจะมานั่งพูดคุยเกี่ยวกับวิธีการทำงานและการพัฒนาผลงานศิลปะในระหว่างการเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ช่วงออนไลน์มาจนถึงการติดตั้งผลงาน ณ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน

● เวลา 18:30 – 18:45 น. พิธีเปิดนิทรรศการและการกล่าวต้อนรับโดย กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน และ เถียน โย่วอัน ผู้อำนวยการฝ่ายวัฒนธรรม สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป แห่งประเทศไทย

● เวลา 18:45 – 21:30 น. เดินชมนิทรรศการ ณ แกลเลอรี่ 1 และ 2 ชั้น 3

23 เมษายน 2565
● เวลา 16:00 – 18:00 น.
Limbic Release ภาค 1 โดย กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ
การฉายภาพยนตร์เรื่องสั้น ที่ห้อง Event Space หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน
ประกันชีวิต (2009, นฆ ปักษนาวิน, 30 นาที)
เงาสูญสิ้นแสง (2018, กฤษดา นาคะเกตุ, 25 นาที)
32 Km – 60 Years (2018, ลาฮา มีโบ, 20 นาที)
Water without Source (2017, เหลี่ยง ติงหยู, 30 นาที)

เสวนา (ประมาณ 30-45 นาที)
หัวข้อ: สนทนาข้ามสาขาวิชาชีพระหว่างภัณฑารักษ์กับแพทย์/ผู้สร้างภาพยนตร์

ผู้ดำเนินรายการ: กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ (แพทย์/ภัณฑารักษ์ภาพยนตร์)
ผู้ร่วมเสวนา: นฆ ปักษนาวิน (แพทย์/ผู้สร้างภาพยนตร์)
วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา (ภัณฑารักษ์ภาพยนตร์)

7 พฤษภาคม 2565
● เวลา 16:00 – 18:00 น.
Screen World: ด้วยความร่วมมือระหว่างหอศิลป์บ้านจืม ทอมป์สัน, บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลอรี่, สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และ ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โปรแกรมฉายภาพยนตร์ Onsite & Online และการเสวนาข้ามสาขาวิชาชีพกับศิลปิน
จุฬญาณนนท์ ศิริผล ในการรื้อสร้างประวัติศาสตร์และการปลดแอก “ความโรแมนติก” ในประเทศไทยและเอเชีย

ผู้ร่วมเสวนา: อ. ดร. วิกานดา พรหมขุนทอง
(สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล )
รศ. ดร. นัทธนัย ประสานนาม
(ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

*ดำเนินรายการด้วยภาษาไทยพร้อมการแปลสดภาษาอังกฤษ

21 พฤษภาคม 2565
● เวลา 16:00 – 18:00 น.
Limbic Release ภาค 2 โดย กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ
การฉายภาพยนตร์เรื่องยาว ที่ โรงภาพยนตร์ลิโด้ สยามสแควร์ ซอย 2
Bodo (1993, ฮวง หมิง ฉวน, 80 นาที)

เสวนา (ประมาณ 30-45 นาที)
หัวข้อ: สนทนาข้ามสาขาวิชาชีพขยายความเคลื่อนไหวของภาพยนตร์

ผู้ดำเนินรายการ: กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ (แพทย์/ภัณฑารักษ์ภาพยนตร์)
ผู้ร่วมเสวนา: ปวีณวัช ทองประสพ (ศศ.ม. สาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ เชี่ยวชาญ
ด้านนิเวศวิทยาและกฎหมายพื้นเมือง)
รณฤทธิ์ มณีพันธุ์ (ศศ.ม. สาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ เชี่ยวชาญด้าน
วรรณคดีในช่วงความสะพรึงสีขาว (White Terror), ประวัติศาสตร์
บาดแผล และการศึกษาความทรงจำ)

* โปรแกรมออนไลน์เพิ่มเติมจะประกาศในภายหลัง อย่างไรก็ตามโปรแกรมทางกายภาพอาจมีการเปลี่ยนแปลง โปรดติดตามการอัพเดทเพิ่มเติมบนเว็บไซต์และหน้าเพจเฟสบุ๊คของหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน

หมายเหตุ: ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ผู้เข้าร่วมงานทุกท่านต้องได้รับการตรวจ ATK ที่หน้างาน จึงเรียนมาเพื่อขอความร่วมมือ

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
โทรศัพท์ (+66) 02 001 5470
อีเมล artcenter@jimthonpsonhouse.com
เว็บไซต์ www.jimthompsonartceter.org
เฟสบุ๊ค Jim Thompson Art Center
เวลาเปิด-ปิด: ทุกวัน 10.00 น. – 18.00 น.
ค่าเข้าชม: บุคคลทั่วไป 50 บาท; เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีเข้าชมฟรี; สมาชิกเข้าชมฟรี
กลุ่มนักเรียนนักศึกษา (กรุณาจองล่วงหน้า)

ข้อมูลเพิ่มเติม: เรามีที่จอดรถจำนวนจำกัด ท่านสามารถเดินทางมาหอศิลป์บ้านจิมทอมป์สันด้วยรถไฟฟ้า BTS ลงที่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ทางออกที่ 1 และเดินเข้าซอยเกษมสันต์ 2 เข้ามาประมาณ 200 เมตร

LOVE – CAMP – EXPLORE – DREAMS : Bill Bensley’s First Ever (“Coming Out”) Art Exhibition

สำหรับแวดวงสถาปัตยกรรมคงไม่มีใครไม่รู้จัก บิล เบนสเลย์ (Bill Bensley) เขามีผลงานทุกแขนงทางด้านสถาปัตยกรรม ตกแต่งภายใน ภูมิสถาปัตย์รวมทั้งออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ รวมทั้งเป็นนักสิ่งแวดล้อมที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติเป็นอย่างมาก หลายๆ คนติดตามไปพักหรือชมโรงแรมที่เขาออกแบบซึ่งมีจำนวนมากมายจนจะกล่าวได้ละเอียด รวมทั้งงานออกแบบภูมิสถาปัตย์ของเขาก็คืออันดับต้นๆ ของโลก แต่หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาที่เราอยู่ในช่วงการระบาดของไวรัส แต่เขาได้ใช้เวลาช่วงนั้นทำงานศิลปะอย่างจริงจัง


เราได้มาร่วมในงานเปิดนิทรรศการศิลปะครั้งแรกของเขาในชื่อ LOVE – CAMP – EXPLORE – DREAMS โดยในช่วง 3 ปีก่อนเขาได้ล่องเรือส่วนตัวไปตามประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมกับอุปกรณ์สเก็ตช์ภาพ ประเทศเหล่านี้เขามีความคุ้นเคยอยู่แล้ว เขาพูดภาษาอินโดนีเซียได้พอๆ กับภาษาไทยที่เขาก็ใช้สื่อสารได้ หลังจากกลับมาเขาก็เร่ิมทำงานศิลปะอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโควิด 19 ซึ่งกลายเป็นช่วงที่เขาได้ทุ่มเทให้กับการทำงานศิลปะอย่างเต็มที่ จนได้ผลงานออกมาจำนวนมากทั้งในรูปแบบจิตรกรรมและประติมากรรม รวมทั้งศิลปะแนวจัดวาง ดังที่เขาบอกว่าเขาไม่ได้จำกัดตัวเองว่าเป็นศิลปินหรือนักออกแบบ เขาจึงสร้างสรรค์งานไ้ด้อย่างอิสระ
อย่างที่เขาเกริ่นกับทุกๆ คนที่มาชมงานนิทรรศการของเขาในวันแรกว่าเขาคือคนนอกของแวดวงศิลปะ เขาไม่ได้จำกัดความตัวเองว่าเป็นศิลปิน แต่เขาทำงานดีไซน์มาโดยตลอด การทำงานสิลปะของเขาจะมีห้วงที่เขาได้แรงบันดาลใจจากศิลปินระดับโลกมากมายอย่าง ปิกาซโซ,พอล คลี, แจ็คสัน พอลล็อค ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่การเลียนแบบแต่นำเอาเทคนิคการทำงานของศิลปินเหล่านั้นมาสร้างผลงานในเรื่องราวและรูปแบบที่เป็นของเขาเอง ดังจะเห็นว่าในนิทรรศการนั้นแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อซึ่งการทำงานศิลปะของเขาได้สามารถจัดหมวดหมู่ได้อย่างชัดเจน ถ้าเป้นการทำงานแบบเลียนแบบงานของศิลปินท่านอื่นคงไม่สามารถนำเอาผลงานมาจัดหมาจัดหมู่เช่นนี้ได้เพราะคงกระจัดกระจายไม่สามารถนำมารวมกลุ่มกันได้

ก่อนที่จะเข้าสู่โซนต่างๆ ของนิทรรศการ จะมีห้องแรกที่ทาด้วยผนังสีส้มเหมือนเป็นห้องรับแขก เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่เราเห็นในนิทรรศการนี้ก็คือดีไซน์ที่เขาใช้ในงานออกแบบของเขา บางชิ้นมีกลิ่นอายยุคฟิฟตี้ส์ บางชิ้นคลุมด้วยผ้าปักแบบชนเผ่า บางชิ้นเป็นงานฝังผิวไม้ด้วยวัสดุต่างๆ ให้เป็นลวดลาย(marquetry) รวมทั้งการจัดดอกไม้ในแจกันซึ่งมีหลากหลายแต่จะอยู่ในโทนสีม่วง อย่างดอกกล้วยไม้สีม่วงเข้มดังกำมะหยี่นั้นเราก็เห้นในงานดีไซน์ของเขาเช่นกัน คือเขาออกแบบนิทรรศการนี้ด้วยรสนิยมของเขานั่นเอง


LOVE นิทรรศการในส่วนนี้เป็นผลงานที่เกี่ยวกับความรักที่เราแบ่งปันให้กันและกันในฐานะที่เป็นมนุษย์และเพื่อโลกที่เราอยู่ ด้วยความที่เขาเป็นนักสิ่งแวดล้อมและสถาปนิก สิ่งนี้สำคัญสำหรับเขาเป็นอย่างยิ่ง เขาต้องการสอนทุกคนผ่านศิลปะให้ได้มากเท่ากับการที่เขาสอนผ่านการออกแบบโรงแรม(หลายคนจึงติดตามชมผลงานของเขาเพราะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ) เขาชอบความหลากหลายและสีสันต่างๆ ในงานดีไซน์ของเขา และเชื่อว่าสิ่งเดียวที่ควรจะแยกแยะด้วยสีก็คือการซักผ้าเท่านั้น(แยกซักผ้าสีกับผ้าขาว) ไม่ใช่กับเชื้อชาติหรือผิวสี ผลงานในส่วนนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับการแบ่งแยกเชื้อชาติซึ่งเขาคิดว่าเป็นประเด็นที่สำคัญมาก แต่เขากลับถ่ายทอดออกมาด้วยอารมณ์ขันและขนบแบบดั้งเดิม เราจึงเป็นคนที่มีชาติพันธุ์และผิวสีต่างๆ อยู่ในผลงานชุดนี้อย่างไม่มีข้อจำกัดในการสื่อถึงความรักที่มีต่อกัน โดยเขาหยิบจับเอาเรื่องราวรอบตัวมาสร้างเป็นผลงาน แม้แต่คนดูแลต้นไม้ที่บ้านของเขาก็ทำให้เกิดงานชิ้นสวยที่สื่อความหมายถึงความรักของจิระชัยที่มีต่อต้นไม้ในสวนที่เขาดูแล

CAMP เขาอธิบายถึงส่วนนี้ว่า ส่วนนี้นำเสนอเรื่องพฤติกรรมที่แปลกออกไปของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) เพื่อนๆ ของโดโรธี (Dorothy จากเรื่องพ่อมดแห่งออซ) ที่ผมรัก เมืองไทยคือบ้านของผมมามากกว่า 30 ปี ผมรักที่นี่ด้วยเหตุผลหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งความใจกว้างของผู้คน ผลงานที่จัดแสดงในส่วนนี้สื่อให้เห็นถึงกลุ่มคน LGBT ในประเทศไทยในสายตาของผม พวกเขามักปรากฎตัวที่งานปาร์ตี้ใน Baan Botanica ที่จัดเกือบทุกๆ สุดสัปดาห์ ชื่อของงานศิลปะของเขาจะถูกตั้งอย่างซื่อและจริงใจเพราะเป็นที่มาของภาพนั้นนั่นเอง อย่างภาพ“แค่หยุดและดมดอกไม้เป็นพักๆ ดีไหม” ซึ่งเป็นภาพกลุ่มคนทำงานในบ้านของเขาซึ่งเป็นชายหนุ่มที่แต่ละคนก็สาละวนทำงานตามหน้าที่ตนแต่ก็มีบางคนก็ละงานหยิบดอกไม้มาดอมดม เรื่องราวที่สื่อง่ายๆ ผ่านลายเส้นและสีสันที่งดงามน่าสนใจด้วยการใช้เทคนิคใหม่ๆ ไม่ได้ใช้เทคนิคเดิมๆ ไปเสียทั้งหมด แต่ในห้วงเวลาหนึ่งๆ ที่เขาทำงานศิลปะก็จะมีเทคนิคและการลงสีที่คล้ายกัน แต่ถ้าไปสู่ห้วงใหม่เขาก็มีการเปลี่ยนแปลงอีก เลยทำให้การชมนิทรรศการครั้งนี้มีความน่าสนใจและไม่ใช่การนำเสนอในรูปแบบเดิมๆ

EXPLORE
แสดงให้เห็นถึงช่วงการเดินทางที่เขาเก็บเอาความประทับใจต่างๆ มาสร้างงานศิลปะ นั่นก็คือการล่องเรือดังที่ได้เกร่ินไปข้างต้น ในส่วนนี้มีพื้นที่ขนาดใหญ่แสดงให้เห็นถึงชาวปาปัวที่แสนใจดีที่เขาพบช่วงปลายปี 2019 เมื่อออกเดินทางไปกับเรือ Kudanil Explorer พวกเขาได้สำรวจเกาะต่างๆ ที่อยู่ห่างไกลออกไปซึ่งตั้งอยู่มานานหลายพันปีและแทบจะไม่ได้ติดต่อกับสังคมสมัยใหม่ ในฐานะที่เขาเป็นกระบอกเสียงของของชาวอินโดนีเซีย เขาจึงได้เรียนรู้เรื่องราวในท้องถิ่นและพวกเขามีความสุขเป็นอย่างมากเมื่อคุณบิลสเก็ตช์ภาพของพวกเขา ผลงานในส่วนนี้ได้แรงบันดาลใจจากการเดินทางทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นโปรตุเกส หลวงพระบาง และเขาได้จินตนาการถึงการเดินทางไปยังอเมริกาใต้อีกด้วย แต่มีภาพหนึ่งที่เขาถ่ายทอดสุภาพสตรี 3 ท่านในผมทรงเกล้าสูง ยืนอยู่หน้าป้อมแถวท่าพระอาทิตย์ในช่วงปี 1968 แต่เป็นผลงานที่เขาเพิ่งวาด นั่นคือบันทึกความทรงจำถึงกรุงเทพฯ ที่เขาเคยได้พบพานมา

DREAMS
และก่อนที่จะสิ้นสุดลง ด้วย DREAMS ที่เขาค่อนข้างมีจินตนาการ “งาน” ของเขาคือการคิดเพื่อให้งานออกแบบดูบ้าบิ่นและสนุกมากที่สุดเท่าที่จะจินตนาการได้ นี่คือการเดินทางสู่ความฝันที่ปั้นแต่งขึ้นมา การผจญไปสู่จิตใต้สำนึกและความฝันได้รวมกันไปสู่จุดเริ่มต้นของนิทรรศการนี้ที่เป็นเสมือนโรงภาพยนตร์ของบิล เบนสเลย์ ซึ่งผู้ชมจะได้ทำความรู้จักกับคุณบิลในฐานะดีไซเนอร์ และ BENSLEY คือสตูดิโอ ความฝันสำหรับดีไซเนอร์คือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง
แต่ในฐานะดีไซเนอร์ โดยส่วนใหญ่แล้วเขาเชื่อว่าเราต้องทดลองและเล่นสนุก อันเป็นสิ่งที่เขาทำมาตลอดในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา เขาได้เปิดเผยถึงสิ่งนี้ในโซนสุดท้ายของนิทรรศการผ่านงานจิตรกรรม ประติมากรรมที่แตกต่างจากโซนอื่นๆ เขาเล่นกับเทคนิคและวัสดุที่หลากหลาย ไฟ ไม้ ขี้ผึ้ง โซดาไฟ ตะปู เซรามิก…
การเดินทางผ่านการชมงานศิลปะในนิทรรสการครั้งแรกของเขาทำให้เราได้เกิดไฟในการใช้ชีวิต อาจจะเป็นไฟของการสร้างสรรค์ที่เขาส่งผ่านมาในผลงานของเขา ความรู้สึกมีความสุข สนุกสนานและอิ่มเอม ดังที่เขาย้ำเสมอว่าผลงานศิลปะของเขาจะสร้างความสุขและสนุกสนาน แต่ถ้าจะหาความเศร้า ความกดดันในผลงานของเขานั้นคงไม่มี เพราะเขาส่งผ่านความสุขความสนุกด้วยผลงานของเขาไม่ว่าจะเป็นงานดีไซน์ใดๆ เสมอมา รวมทั้งงานศิลปะของเขาที่เราเพิ่งได้สัมผัสมานี้เช่นกัน

นิทรรศการ LOVE – CAMP – EXPLORE – DREAMS เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมฟรี ตั้งแต่วันที่ 
28 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ RCB Galleria ชั้น 2
ร่วมกับริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก จัดแสดงวันที่ 28 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ RCB Galleria ชั้น 2
รายได้จากการจำหน่ายผลงานทั้งหมดมอบให้กับมูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์และปกป้องสัตว์ป่า และมูลนิธิชินตา มณี (Shinta Mani Foundation)

Bill Bensley’s First Ever (“Coming Out”) Art Exhibition to be held
At River City Bangkok
28 January – 28 February 2022 at RCB Galleria (2nd floor)
All Proceeds to Fund Conservation and Wildlife Protection

#LoveCampExploreDreams #BillBensley #ShintaManiFoundation #Rivercitybangkok #Rivercitycontemporary