Hommes Interview : Rising Star of Thai Hiphop
Jarvis (จาร์วิส) ดาวรุ่งอีกคนของวงการแร็ปไทยกับความสำเร็จที่ไม่ได้ได้มาแบบฟลุกๆ
Photographer: Ponpisut Pejaroen
แม้จาร์วิสจะดูเหนื่อยนิดๆ จากการง่วนอยู่กับการทำเพลงใหม่เมื่อคืนก่อนหน้า แต่เขาก็ตั้งใจและกระตือรือร้นกับการสัมภาษณ์ของเราทีเดียว… ถึงจะเป็นศิลปินได้เพียงปีกว่าๆ แต่จาร์วิส หรือโฟล์ค – พฤฒพงศ์ ผิวทองงาม ก็มีผลงานฮิตสองเพลงติดกัน ทั้ง ‘น้ำแดงน้ำส้ม’ ที่ทำยอดรับชมไปแล้วกว่า 80 ล้านครั้ง (ในวันที่เราสัมภาษณ์เขา) และ ‘ผมอะ… (Umm)’ ซึ่งกลายเป็นเพลงดังประจำ TikTok อีกเพลง ยังไม่นับ ‘Only You’ ที่มีผู้ฟังจากทุกมุมโลกให้ความสนใจไม่น้อย ทั้งหมดนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าจับตามากๆ สำหรับศิลปินหน้าใหม่ แล้วอะไรกันล่ะที่ทำให้จาร์วิสสนใจมาร้องมาแร็ป “ก่อนหน้านี้ผมเป็นสไตลิสต์ครับ ทำงานเกี่ยวกับเสื้อผ้าให้ศิลปินฮิปฮอป และส่วนใหญ่ก็จะคลุกคลีกับวงการฮิปฮอปครับ ทีนี้ ช่วงโควิด สไตลิสต์ออกกองไม่ได้ ก็เลยมีเวลาว่าง แล้วเราก็ไปสนิทกับพี่บอสซา [Bossa On The Beat] โปรดิวเซอร์ ผมเลยได้มาทำเพลงครับ” จาร์วิสเล่าให้ฟัง
การแร็ปปั่นๆ กวนๆ แต่จริงใจ และบีทเพลงติดโสตประสาท คือจุดเด่นในเพลงของจาร์วิส แต่กว่าเจ้าตัวจะหาเอกลักษณ์ของตัวเองเจอก็ต้องใช้เวลาพักใหญ่เหมือนกัน “ประมาณครึ่งปีถึงหนึ่งปีครับ จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้ผมไม่มีพื้นฐานด้านดนตรีมาก่อน ก็ลองทำในหลายรูปแบบ ทีนี้ด้วยความที่ไม่ได้เก่งด้านเมโลดี การร้อง ฯลฯ มันก็เลยออกมาได้ไม่ลงตัวมากๆ ครับ พอทำไปทำมา พี่บอสซาเขาก็แนะนำอีกทีว่า ‘ทำไมไม่ลองทำอะไรที่กวนๆ ดู’ เพราะในชีวิตประจำวันผมก็เป็นคนกวนๆ อยู่แล้ว ก็เลยเอาพวกมุกตลกที่เราชอบเล่นกันมาใช้ในเพลง และออกมาเป็นเพลงน้ำแดงน้ำส้มครับ” นอกจากความดีใจแล้ว ยังมีอีกสิ่งที่จาร์วิสได้จากความสำเร็จครั้งนี้ “ที่ดีใจที่สุดคือ…” เขาประมวลคำตอบอยู่แป๊บหนึ่ง “การได้เข้าใจตัวเองครับ เพราะว่าก่อนหน้านี้เหมือนเราซึมซับและคลุกคลีกับวงการแร็ปมานานมาก เมื่อได้ทำเพลงแล้วมีกระแสตอบรับที่ดี ก็ทำให้เราเข้าใจว่า ความจริงนั้น เราเองก็ไม่ได้มีความสามารถที่ด้อยขนาดนั้น – แบบที่คิดมาโดยตลอด… เมื่อก่อนเคยคิดว่าอยากจะทำ [เพลง] แต่รู้สึกว่า ‘ตัวเองไม่ได้เก่ง ร้องเพลงไม่ได้’ แต่พอพยายามแล้วก็ได้ค้นพบตัวเองครับ” จาร์วิสพูดอย่างภูมิใจ
จากประสบการณ์การทำเพลงที่ผ่านมา จาร์วิสคิดว่าแร็ป/ฮิปฮอปไทยมีจุดเด่นอยู่ที่ตัวภาษา “ผมมองว่าภาษาไทยมีความแตกต่างทางด้านภาษาแร็ป เอกลักษณ์ของภาษาไทยคือมีคำเยอะ ทำให้เราสามารถเล่นคำได้เยอะครับ ทั้งคำโบราณและคำสแลง แต่จะเสียเปรียบภาษาอังกฤษตรงที่ว่า ภาษาอังกฤษไม่มีวรรณยุกต์ สามารถบิดเสียงได้ แต่ของไทยมี พอบิดเสียงวรรณยุกต์แล้วความหมายของคำจะเปลี่ยนครับ” พอถามเรื่องการทำงานไปพอสมควรแล้ว เราจึงอยากรู้ความเห็นของจาร์วิสต่อคำว่า ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy)’ ในฐานะที่เขาทำงานทั้งด้านดนตรีและแฟชั่น อีกทั้งยังเคยศึกษาเล่าเรียนในวิทยาลัยการออกแบบด้วย “ผมให้ความสนใจกับเรื่องศิลปะครับ ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ก็ค่อนข้างนำเสนอได้ดี แต่ว่ามันยังไม่เพียงพอสำหรับตลาดโลก…” เขาตอบอย่างตรงไปตรงมา “ผมอยากให้คนไทยให้ความสำคัญกับศิลปะมากกว่านี้ เพราะว่าตอนนี้ศิลปะก็เข้ามาเกี่ยวกับเศรษฐกิจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพลงหรือ [ผลงานศิลปะในรูปแบบ] NFT ครับ”
แล้วจาร์วิส ‘ออกแบบ’ เป้าหมายสูงสุดของการเป็นศิลปินไว้อย่างไรล่ะ “ผมอยากไปเล่นเมืองนอกและเป็นที่รู้จักในระดับสากลครับ [ส่วนคอนเสิร์ตที่อยากขึ้นแสดงเป็นพิเศษคือ] Rolling Loud ซึ่งเป็นเวทีฮิปฮอปครับ เพราะผมก็ไม่เคยเห็นคนเอเชียขึ้นเล่นนะครับ” เขาตอบทิ้งท้ายการสัมภาษณ์ แม้จาร์วิสจะยังอุบเนื้อหาของซิงเกิลที่สี่ – ซึ่งก็ปล่อยไปแล้วในวันที่เราตีพิมพ์ – ไว้ แต่เราเชื่อว่าเพลงของเขาจะมอบความสนุกและสร้างกระแสไปทั่วโลกออนไลน์ได้อย่างที่เคยทำมาก่อนแน่นอน
-Author: Peerachai Pasutan –
ติดตามผลงานของจาร์วิสได้ที่ YouTube channel และ Instagram: JV.JARVIS
Special Thanks: Son of Saigon – Vietnamese Street Food & Cafe