อยากเป็นเจ้าของกิจการ? 7 เคล็ดลับความสำเร็จธุรกิจขนาดเล็ก

1. อย่าวิ่ง … ค่อยๆ เดิน
เจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างเท็ด เทอร์เนอร์, แซม วอล์ตัน, เบอร์นาร์ด อาร์โนลด์ ทำทุกอย่างยกเว้นการเร่งอัดเงินลงไปในธุรกิจของตัวเอง ทุกคนใจเย็นและรอให้ธุรกิจของตัวเองเติบโตไปตามกลไกของมัน เจ้าของกิจการหน้าใหม่ต้องทำตัวเหมือนสิงโตกลางทุ่งหญ้าที่ค่อยๆ ย่องเข้าไปหาเหยื่อ เยือกเย็น อดทน ลดความเสี่ยงลงให้เหลือน้อยที่สุด เมื่อมีโอกาสที่เหมาะสมจึงตะครุบเหยื่อ

2. วางแผนให้แนบเนียน
เจ้าของกิจการบางทีก็ทำตัวเหมือนนักเขียน/นักคิด คือจะจด และค้นคว้าหาข้อมูลตลอดเวลา เช่น กุญแจของธุรกิจตัวเองคืออะไร ศึกษากลยุทธ์คู่แข่ง การตลาดที่จะสร้างเงินหมุนเวียนให้ตัวเองได้มากพอ ซึ่งแน่นนอนว่ารวมไปถึงการพบปะกับคนที่โรงงาน สร้างความสัมพันธ์และให้ความสำคัญกับฐานการผลิต

3. หาจุดเด่นของธุรกิจตัวเอง
ให้คิดเสมอว่าสินค้าของเรามีอะไรดึงดูดมากกว่าคู่แข่ง โฟกัสที่ความสำคัญตรงนั้นและพัฒนามันให้ดี เจ้าของกิจการที่ประสบความสำเร็จทุกคนทราบดีว่าสินค้าของพวกเขาจะต้องมีจุดที่ได้เปรียบคู่แข่งไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

4. เลือกคนให้ดี
แน่นอนว่าเจ้าของธุรกิจเป็นเซลล์ที่ดีที่สุดของธุรกิจนั้นๆ แต่อาจเป็นพีอาร์ที่แย่ หรือเป็นผู้จัดการที่ไม่ดี คุณไม่จำเป็นต้องเก่งไปเสียทุกอย่าง หาทีมที่ดีเพื่อซัพพอร์ทกิจการของคุณ

5. เงินเป็นอ็อกซิเจนของธุรกิจ
ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ นั่นแหละ ว่าเงินก็เป็นเหมือนอากาศหายใจของธุรกิจ ถ้าไม่มีอากาศ ต่อให้ธุรกิจแข็งแรงแค่ไหนก็ล้ม เพราะฉะนั้น ก่อนหน้าที่คุณจะหานักลงทุน หุ้นส่วน กู้ธนาคาร คุณควรจะวางแผนการเงินให้รัดกุมเสียก่อน

6. ไม่รู้ … ก็ถาม
ถามหาหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือธุรกิจที่เพิ่งก่อตั้ง เพื่อสร้างเครือข่ายที่แข็งแรง และมองถึงการร่วมงานกับธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หลายองค์กรมีคนเก่งที่คอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกับธุรกิจของคุณ

Microsoft Chairman Bill Gates (L) looks on during a news conference at company headquarters in Redmond, Washington June 15, 2006. Microsoft announced that effective July 2008 Gates will transition out of a day-to-day role in the company to spend more time on his global health and education work at the Bill & Melinda Gates Foundation. After July 2008, Gates will continue to serve as the companyÕs chairman and an advisor on key development projects. Robert Sorbo/Microsoft/Handout

7. คิดการไกล
หนังสือทุกเล่มหรือวิทยากรทุกคนก็คงพูดถึง ช่วง 1-2 ปีแรกเป็นช่วงที่ต้องใช้เวลาเสมอ แต่ก็อย่าลืมตั้งเป้าหมายให้ตัวเองด้วยละ

เปิดตัวโอเอซิสแห่งใหม่ที่ทั้งสุขสงบและหรูหราใจกลางกรุงกับ Park Hyatt Bangkok ณ เซ็นทรัล เอมบาสซี

Elegance in Details

เพราะเบื้องต้นนั้นแบรนด์ Park Hyatt ทั่วโลกเป็นโรงแรมที่เกิดขึ้นพร้อมจุดประสงค์อันชัดเจน ‘We care for people, so they can be at their best.’ คือ เป็นการสร้างโรงแรมโดยมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนว่าจะดึงส่วนที่ดีที่สุดของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับโรงแรมออกมา เพื่อทำโปรเจ็กต์และเซอร์วิสที่ดีที่สุด ร่วมกัน และเมื่อผมมาเห็นผลลัพธ์กับตา ต้องบอกว่าไม่ผิดหวังเลยครับ

ตัวอาคารของโรงแรมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตึกเซ็นทรัล เอมบาสซีออกแบบคอนเซ็ปต์โดย Amanda Levete (อแมนด้า เลเว็ต) แห่ง AL_A  สตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรมชื่อดังแห่งลอนดอน ที่ผิวอาคารด้านนอกได้แรงบันดาลใจมาจากการทำแพทเทิร์นที่เห็นบ่อยในประเพณีวัฒนธรรมไทยนำมาตีความออกมาเป็นกระเบื้องอลูมิเนียมเล่นเงา เป็นโมดุลที่ แตกต่างกัน มาเรียงซ้อนกันให้เกิดระนาบที่น่าสนใจ เมื่อผิวอาคารมีแสงมากระทบจะเห็นประกายแสงสะท้อนเหมือน Moire Effect คล้ายสิ่งทอ  ที่เหลือบเป็นลาย สิ่งนี้น่าสนใจมาก เพราะการเรียงซ้อนแบบนี้ต้องอาศัยความแม่นยำของคอมพิวเตอร์มาช่วย ซึ่งเป็นการผสมผสานรูปแบบ  ความเป็นไทยผ่านการตีความแบบโมเดิร์นได้ลงตัวทีเดียวครับ

ในส่วนของการตกแต่งภายในนั้นหลักๆออกแบบโดย Yabu Pushelberg บริษัทออกแบบตกแต่งจากนิวยอร์ก ซึ่งเคยออกแบบคอนเซ็ปต์ สโตร์ Siwilai ที่เซ็นทรัล เอมบาสซีมาแล้ว และได้รับความไว้วางใจให้มาร่วมออกแบบให้กับโรงแรมอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีบริษัท AvroKO เข้ามาร่วมออกแบบ Penthouse Bar & Grill บนพื้นที่สามชั้นบนสุดของโรงแรมอีกด้วย แม้ว่า Park Hyatt Bangkok จะไม่ใช่โรงแรมในเครือแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็เป็นที่จับตามองกันเยอะพอควรครับ เพราะเป็น Park Hyatt ที่น่าจะโด่งดังไม่แพ้ Park Hyatt New York เลยทีเดียว

การตีความออกแบบตกแต่งภายในจากคอนเซ็ปต์ ‘Tranquil Oasis’ นั้นทำได้น่าสนใจ เพราะมีการใช้สีของไม้และหินเป็นหลัก นอกจากนั้น ยังมีการผสมผสานเรื่องงานคราฟต์เข้ามา มีการแกะสลักที่ดูไทยแต่โมเดิร์น มากๆกระจายอยู่ทั่วไปในโรงแรม จะเห็นได้ชัดว่านี่คือการเพิ่มชีวิตให้กับการออกแบบสไตล์มินิมอลด้วยงานคราฟต์ ออกมาเป็นโมเดิร์นแบบไทย ซึ่งส่วนตัวผมชอบมาก เพราะไม่ยึดติดกับความเป็นไทยแบบดั้งเดิมจนอาจจะดูล้าสมัย แต่ก็ยังได้กลิ่นอายของความเป็นไทยอยู่ดี

ส่วนตัววัสดุวีเนียร์สีไซคามอร์ (Sycamore Veneer) ที่เขาใช้นั้นนำเข้าจากประเทศอิตาลี ไม่เคยมีใช้ในประเทศไทยมาก่อน เป็นโทนสีที่สวยและอบอุ่นมาก ทำให้เรารู้สึกเหมือนได้พักอยู่ที่บ้าน ไม่ใช่ที่โรงแรม เพราะเขาต้องการให้โรงแรมอบอุ่นและน่าเข้าหา ไม่ใช่ยิ่งใหญ่และหรูหราเพียงอย่างเดียว เขาจึงเลือกใช้วัสดุไม้และหิน ซึ่งเป็นตัวแทนของบ้านและความอบอุ่นภายใน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง นอกจากนั้น วัสดุฮาร์ดแวร์อย่างมือจับประตูต่างๆใช้สีดำ ซึ่งตัดกับอินทีเรียที่เป็นไม้ ดูลงตัวอบอุ่นมากครับ

จุดเด่นอีกประการหนึ่งที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้เห็นจะเป็นงานศิลปะต่างๆที่กระจายอยู่ทั่วไปในโรงแรม ชิ้นที่ผมประทับใจมากได้แก่ภาพถ่าย Bangkok VII (2011) ของ Andreas Gursky (แอนเดรียส เกอร์สกี้) ที่ติดตั้งอยู่บริเวณชั้นเก้า เป็นรูปถ่ายแม่น้ำเจ้าพระยาขาวดำ ซึ่งผมมองว่าภาพนี้เป็นตัวแทนของกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี ช่างภาพสามารถพูดถึงอะไรต่างๆในกรุงเทพฯ ผ่านภาพถ่ายที่ไม่จำเป็นต้องแสดงด้านสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่กลับให้ความรู้สึกสวยงามได้จริงๆ ซึ่งการเลือกชิ้นงานศิลปะนี้ยังได้บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำอย่าง DCA Art Consultant เข้ามาช่วยด้วยนะครับ จึงมั่นใจได้เลยว่าแต่ละชิ้นถูกเลือกมาอย่างพิถีพิถันจริงๆ

นอกจากนั้นบนชั้นสิบ บริเวณด้านนอกก็มีประติมากรรมของ Zhan Wang ที่ชื่อว่า Artificial Rock No. 129 ที่มาเพิ่มทั้งความโมเดิร์นและอบอุ่นให้กับพื้นที่โดยรวมเป็นอย่างมาก ในส่วนของศิลปินไทยก็ปรากฏงานของสมบูรณ์ หอมเทียนทอง ชาติชาย ปุยเปีย และคามิน เลิศชัยประเสริฐด้วยครับ ถือว่าเป็นการผสมผสานได้อย่างมีรสนิยมและลงตัวเป็นอย่างมาก

หลังจากที่ได้เข้าพักใน Park Hyatt Bangkok ด้วยตัวเองมาแล้ว ผมกล้าพูดเลยครับว่า ในตอนนี้ผมสามารถแนะนำให้ลูกค้าต่างประเทศและเพื่อนฝูงกลุ่มวงการดีไซน์ต่างๆได้อย่างไม่อายแล้วว่า ในกรุงเทพฯ เมืองที่ผมอาศัยอยู่นี้นอกเหนือจากโรงแรมชั้นนำอย่าง Mandarin Oriental, The Sukhothai และ The Okura Prestige นี้แล้ว ก็มีโรงแรม Park Hyatt Bangkok ที่ผมสามารถแนะนำให้ทุกคนมาพักได้โดยสะดวกใจแล้วครับ

โรลส์-รอยซ์ Phantom V คันพิเศษที่จอห์น เลนนอนได้ตกแต่งตามสไตล์ร็อกเกอร์ขนานแท้

โรลส์-รอยซ์ ประกาศฉลองครบรอบ 50 ปี อัลบั้ม “เซอร์เจียนต์ เปปเปอส์ โลนลี ฮาตส์ คลับ แบนด์ (Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band)” แห่งวงเดอะ บีเทิลส์ กำหนดจัดแสดงรถยนต์รุ่น Phantom V สีสันสดใสที่ศิลปินก้องโลกแห่งตำนาน จอห์น เลนนอน เคยใช้ขับขี่ไปยังบ้านพักในกรุงลอนดอน เพื่อให้สาธารณชนได้ร่วมยลโฉมรถยนต์แห่งประวัติศาสตร์อย่างใกล้ชิด ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม 2 สิงหาคม 2560

ปัจจุบัน รถยนต์ Phantom V เป็นกรรมสิทธิ์ของพิพิธภัณฑ์ Royal British Columbia Museum ในประเทศแคนาดา โดย Phantom V จะเดินทางจากแคนาดามายังกรุงลอนดอนเพื่อร่วมจัดแสดงในงานแสดงสุดยอดยานยนต์ในตำนาน “The Great Eight Phantoms” ของ โรลส์-รอยซ์ ที่บอนแฮมส์ บนถนนบอนด์สตรีท ซึ่งเป็นย่านใจกลางเมืองที่ศิลปินชื่อดัง จอห์น เลนนอน มักใช้รถยนต์คันนี้ขับไปเยือนอยู่เสมอในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960

เป็นเวลากว่า 50 ปีมาแล้ว ที่วงเดอะ บีเทิลส์ ซึ่งมี จอห์น เลนนอน เป็นสมาชิกก่อตั้งวงมีเพลงฮิตติดชาร์ตมากมาย อาทิ I Saw Her Standing There, Can’t Buy Me Love, A Hard Day’s Night, All My Loving, I Should Have Known Better และ I Feel Fine

ในวันที่ 3 มิถุนายน 1965 วันเดียวกับที่ เอ็ดเวิร์ด เอช. ไวท์ เดินทางไปกับกระสวยอวกาศโครงการเจมินี 4 (Gemini 4) และได้เป็นชาวอเมริกันคนแรกที่ได้เดินทางในอวกาศ แต่ จอห์น เลนนอน ได้รับสิ่งที่พิเศษยิ่งกว่า นั่นคือรถยนต์ โรลส์-รอยซ์ รุ่น Phantom V ในสีวาเลนไทน์แบล็ค (Valentine Black) ซึ่งต่อมา เขากล่าวว่า เขาต้องการเป็นมหาเศรษฐีแบบหลุดโลกอยู่เสมอ และรถยนต์แฟนธอมคือก้าวสำคัญที่จะทำให้ความฝันของเขาเป็นจริง

เลนนอนได้ทำการตกแต่งรถยนต์ Phantom V ใหม่ให้เป็นสไตล์นักร้องเพลงร็อกขนานแท้ โดยปรับเบาะหลังใหม่ให้เป็นเบาะนอนแบบดับเบิลเบด พร้อมติดตั้งโทรทัศน์ โทรศัพท์ และตู้เย็น รวมถึงเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบแนวตั้งและระบบเสียงที่สั่งผลิตพิเศษ (รวมถึงเครื่องกระจายเสียงด้านนอกตัวรถ)

หนึ่ง – สุริยน ศรีอรทัยกุล กับธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับระดับประเทศ

Thailand as World’s Jewelry Hub

วันที่ลอปติมัมได้มีโอกาสสัมภาษณ์หนึ่ง – สุริยน ศรีอรทัยกุล กรรมการผู้จัดการ Beauty Gems กลุ่มธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับที่ใหญ่อันดับต้นๆของประเทศไทย เราอดประทับใจกับท่าที
อันอ่อนโยน สุภาพ สุขุม ในตัวผู้ชายรูปร่างสันทัดคนนี้ไม่ได้ หนึ่งแต่งตัวเต็มยศด้วยสูทเนื้อผ้าดี ท่าทางการเดินสง่างาม น้ำเสียงทุ้มต่ำมีกังวานแห่งความใจดีแฝงอยู่ และเมื่อเราลงนั่งสัมภาษณ์เขาถึงเรื่องราวธุรกิจอัญมณี เราก็เข้าใจเลยว่า เหตุใดกิริยาของหนึ่งจึงนุ่มนวลจับใจเราได้เช่นนั้น “ผมอยู่กับงานสวยงามครับ งานอัญมณีถือเป็นงานที่ละเอียด คนไทยทำอัญมณีได้ดี เราเก่งไม่แพ้ใครในโลก เพราะคนไทยเราใจเย็น ดูจากงานแกะสลักผักผลไม้ แกะแตงโม งานขบวนแห่บุปผชาติต่างๆ หรือแม้แต่ชุดประจำชาติ จะเห็นได้เลยว่า 
ฝีมือของเราจะโดดเด่นกว่าคนอื่นแบบเห็นได้ชัดเลยครับ” หนึ่งเล่าให้เราฟังว่า เขารับช่วงกิจการของครอบครัวมาเป็นรุ่นที่สามแล้ว “ถ้าเป็นกิจการที่ชื่อว่า Beauty Gems นี้ ผู้ก่อตั้งจะคือคุณลุง คุณพ่อ และคุณแม่ของผม ส่วนก่อนหน้านั้นเป็นร้านของคุณปู่กับคุณย่าที่เปิดอยู่ที่ถนนเจริญกรุง ถ้าจะให้นับย้อนไปถึง
ยุคนั้น เราก็เปิดมาได้ 77 ปีแล้วครับ แต่ถ้าเป็นแบรนด์ Beauty Gems อย่างเดียว ก็มีอายุ 53 ปี คือคุณพ่อกับคุณแม่ท่านเปิดมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1964 ช่วงนั้นก็เป็นทำส่ง ซื้อมาขายไป จนกระทั่งปีที่ผมเกิด คือค.ศ. 1973 ท่านก็คิดตั้งเป็นโรงงานขึ้นมาอย่างเป็นจริงเป็นจัง เพราะเห็นว่าคนไทยมีฝีมือจริงๆ จากหน้าร้าน BeautyGems บนถนนเจริญกรุง ก็กลายมาเป็น Beauty Gems Factory ที่เน้นการผลิตอัญมณีคุณภาพสูงเพื่อส่งออกโดยเฉพาะครับ” เขาเล่าดวยสีหน้าและแววตาเปี่ยมสุข เรามองออกได้ไม่ยากเลยว่าเขาชื่นชมคุณพ่อและคุณแม่ที่แผ้วถางกิจการนี้มาจากหัวใจจริงๆ “ต้องนึกภาพนะครับว่าในยุคนั้น ประเทศไทยมีประชากรแค่ 15 ล้านคนเท่านั้น ถนนสายเศรษฐกิจมีแค่เจริญกรุงกับเยาวราช ครอบครัวเราก่อตั้งโรงงานมีพนักงานประมาณ 60 – 70 คน ถือว่าเป็นโรงงานเล็กๆ เท่านั้น หลังจากตั้งโรงงาน ก็ต้องมีแผนกอื่นเพิ่มเติม คือ เราทำโรงงานเพชรพลอย ก็จะมีเรื่องของทองคำ เรื่องเศษทองคำที่เหลือจากการผลิต อะไรพวกนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็ก่อตั้งโรงงานทองคำตามมาครับ ก็ค่อยๆขยายไปเรื่อยๆครับ”ในช่วงต้นๆของธุรกิจ เป็นโชคดีของบริษัทที่คุณพ่อและคุณลุงของเขาสามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้ Beauty Gems จึงได้มีโอกาสไปเปิดตลาดที่ประเทศญี่ปุ่น “ตอนที่ตั้งโรงงานอย่างเป็นทางการ คุณพ่อเล็งเห็นแล้วว่าศักยภาพตลาดอัญมณีไทยน่าจะขายได้ ตอนนั้นศักยภาพของลูกค้าญี่ปุ่นรุ่นแรกๆคือมาดามของบริษัทรถยนต์ที่มาพักโรงแรมโอเรียนทอลในยุคนั้น และอาศัยการบอกเล่าแบบปากต่อปาก ตลาดบูมมากในตอนนั้น ทุกคนอยากจะเก็บชิ้นงาน Made in Thailand ไว้ในคอลเลกชั่นกันหมด ถือว่าเป็นโชคดีจริงๆที่เราสามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ จึงได้มีโอกาสเปิดตลาดที่ถือว่าเปิดยากได้สำเร็จลูกค้าทั้งหมดในตอนนั้นยังคงเป็นลูกค้าของเรามาจนถึงทุกวันนี้ เพราะคนญี่ปุ่นเขาภักดีต่อแบรนด์สูงมาก สำหรับพวกเขาแล้ว ความไว้เนื้อเชื่อใจต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งรุ่นคุณพ่อเริ่มต้นไว้ได้ดีมากครับ เรากลับมาสานต่อจึงไม่มีปัญหาอะไรมาก”ในเมื่อสามารถทำตลาดฝั่งญี่ปุ่นได้แล้ว หนึ่งและพี่ชายที่กลับมาสานต่อกิจการของครอบครัวในช่วงราวๆปีค.ศ. 1995 ก็ตัดสินใจบุกตลาดฝั่งอเมริกาอย่างจริงจัง เนื่องจากทั้งคู่เรียนต่อที่นั่น และเข้าใจวัฒนธรรมและลักษณะนิสัยของลูกค้าอยู่ไม่น้อย สองพี่น้องจึงขยายฐานการผลิต เพิ่มจำนวนพนักงาน เพิ่มคนงานต่างๆด้วยความต้องการที่จะให้อัญมณีไทยกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้หลักให้กับประเทศไทย “ถ้าพูดกันตามจริงแล้ว เมื่อ 30 – 40 ปีที่แล้ว อุตสาหกรรมอัญมณีก็ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่ทำรายได้หลักให้กับประเทศอยู่แล้ว แต่ผมพยายามผลักดันให้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในปัจจุบัน ตลาดอเมริกาได้กลายเป็นตลาดหลักของเรา แซงญี่ปุ่นไปแล้ว โดยยอดของอเมริกาอยู่ที่ 40% ในขณะที่ญี่ปุ่น
อยู่ที่ 20%” หนึ่งเล่าด้วยน้ำเสียงแฝงความภูมิใจ แต่ไร้อาการอวดโอ่ “แต่สำหรับส่วนตัวของผม ใจผมรักตลาดในประเทศ เพราะ Beauty Gems ไม่เคยลงตลาดในประเทศเลย ทุกคนรู้ว่าเราเป็นโรงงาน
ผลิตให้แบรนด์เนมเพื่อส่งออก เราก็อยู่ของเราเงียบๆเป็น OEM ให้กับแบรนด์ดังๆไป คุณแม่ก็บอกว่าเป็นแบบนี้ก็ดีแล้วนะ เพราะถ้าลูกทำรีเทลด้วย ลูกจะเหนื่อยนะ ต้องมีคุย มีบริการ แต่คุณแม่ก็ห้ามไม่อยู่หรอกครับ ใจผมรักทางนี้ ผมคิดว่า ถ้าเราเป็นผู้ส่งออกอัญมณีระดับต้นๆของโลก แต่ในเมืองไทยกลับไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างแต่รู้จักกันในวงแคบๆ แวดวงนักธุรกิจเท่านั้น ผมก็เสียดายนะครับ น่าเสียดายจริงๆ”

ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากให้ของดีๆสวยๆฝีมือของคนไทยอยู่ในประเทศ ทำให้หนึ่งตัดสินใจบุกตลาดภายในประเทศ มีร้านรีเทล จัดงานอีเว้นต์ของบริษัทประจำปี ผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็น ‘ครัวของโลก’ ในธุรกิจการผลิตอัญมณี “ยอดส่งออกของอัญมณีแซงข้าวไปแล้วนะครับ เราเป็นอุตสาหกรรมในห้องแอร์ ตอนนี้ยอดภายในประเทศก็อยู่ที่ 5% ของรายได้บริษัท จริงๆแล้วตลาดในประเทศโตขึ้นเรื่อยๆในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ยอดยังอยู่เท่านั้น เพราะตลาดฝั่งส่งออกโตตามขึ้นไปด้วย ถือว่าประสบความสำเร็จทีเดียว เพราะถือว่าเป็นสินค้าประเภทที่คนไทยสนับสนุนแบรนด์ไทย ซึ่งก็เป็นเพียงหนึ่ง
ในสินค้าไม่กี่ประเภทเท่านั้นนะครับ”

หนึ่งได้รับแรงบันดาลใจในการทำงานมาจากคุณพ่อและคุณแม่ที่เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมอัญมณีทั้งคู่ ทั้งครอบครัวผลักดันหลายเรื่องผ่านสภาอุตสาหกรรม เพื่อเอื้อให้เกิดการตั้งโรงงานอัญมณีในประเทศไทยให้ได้มากที่สุด “ผมไม่คิดว่าเป็นการแย่งตลาดครับ” หนึ่งตอบเมื่อเราถามถึงสถานการณ์ที่มีชาวต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทย “เพราะเราตั้งใจจะผลักดันให้ประเทศเราเป็นศูนย์กลางการผลิตอัญมณีของโลก ดีกว่าให้เขาไปตั้งที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราครับ บ้านเรายังเป็นแค่ 2% ของยอดขายอัญมณีทั่วโลกครับ ผมสนับสนุนให้ทุกคนมาเปิดโรงงานในประเทศ ตราบใดที่ไม่แย่งคนงานกันครับ” แต่เงื่อนไขนั้นฟังดูยากทีเดียวสำหรับคนนอกวงการอย่างพวกเรา “จริงๆ แล้วเราไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการแย่งคนงานกันครับ เพราะในบรรดาโรงงานไทยด้วยกันเอง เราคุยกันชัดเจนว่าอย่าแย่งคนกัน ให้ผลิตคนเพิ่ม ส่วนบริษัทต่างชาติที่เข้ามา เขาก็ค่อยๆเรียนรู้ว่าอย่าดึงตัวใคร เพราะวงการนี้แคบ รู้จักกันหมด แต่ให้สนับสนุนการสร้างคนร่วมกันมากกว่า ซึ่งพอเราได้ข้อสรุปร่วมกันว่า จะช่วยกันผลักดันให้เมืองไทยกลายเป็นฐานผลิตอัญมณีของ
ทุกแบรนด์ สถานการณ์ก็ดีขึ้น เราอยากจะให้ฐานการผลิตอัญมณีคงอยู่ในประเทศของเราไปจน
ตราบชั่วลูกชั่วหลานครับ”หนึ่งเน้นย้ำเสมอว่าจุดเด่นของประเทศไทยคือแรงงานฝีมือจัดจ้าน ทำงานละเอียดประณีตได้กว่าชาติอื่นแบบเห็นได้ชัด แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดูเหมือนจะขาดไปคือความสามารถในการมองภาพรวม “บอกเลยครับว่า ประเทศที่ผลิตอัญมณีได้ดีจะมีประเพณีและประวัติศาสตร์ยาวนาน อย่างประเทศไทยและอิตาลี ส่วนฮ่องกงนั้นได้เรื่องนวัตกรรม และความแปลกใหม่ แต่ฝีมือทางการช่างแพ้เรากับอิตาลีหลุดลุ่ยเลยครับ แต่เราก็ต้องยอมรับว่าต่างชาติเขามีเทคนิคในการออกแบบ

<<ยอดส่งออกของอัญมณีแซงข้าวไปแล้วนะครับ เราเป็นอุตสาหกรรมในห้องแอร์ตอนนี้ยอดภายในประเทศก็อยู่ที่ 5% ของรายได้บริษัท>>

เป็นแพทเทิร์น 
เมื่อรวมกับการศึกษาที่สอนให้พวกเขาทำงานเป็นทีม 
พวกเขาจะมองภาพรวมได้เก่งกว่าช่างไทยที่มักจะเก่งอยู่คนเดียว ดังนั้น เมื่อเรานำเข้าทีมดีไซเนอร์ของแบรนด์มาจากต่างประเทศ ที่เขาส่งมาไกด์ เราต้องยอมรับเลยว่า เราทำได้ดีจริงๆเมื่อมีคนมาไกด์ ถ้าไม่มีใครไกด์ เราก็ดีในระดับหนึ่งเท่านั้น เมื่อเรายอมรับตรงจุดนี้ได้ เราก็ทำงานร่วมกันได้ดี ผลงานออกมาดีจริงๆ วิน-วินทั้งสองฝ่ายครับ”

ก้าวต่อไปในวงการของหนึ่งคือ มองหาทีมงาน
ที่จะมาทำแบรนด์รีเทลอย่างเป็นจริงเป็นจัง “ถ้าถามว่าสินค้าเราจะสามารถต่อยอดเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ระดับสูงเหมือนกับลูกค้าเราในปัจจุบันได้ไหม เป็นได้ครับ 
ผมต้องการทีมงานที่มาควบคุมแบรนด์ คุมบรรจุภัณฑ์ คุมบรรยากาศในร้าน ส่วนผมก็รับหน้าที่ควบคุม
การดีไซน์ และการผลิตให้ ถ้ามีทีมงานแบบนั้นสักสิบทีม เปิดสิบสาขา เราก็เป็นแบรนด์ระดับโลกได้แล้วครับ ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัจจัยหลักคือจิตวิญญาณของคนทำงาน ความเป็นมืออาชีพ เราต้องเป็นมืออาชีพ รวมกันเป็นทีมหลักสิบคน มีทีมย่อยอีกสิบคน ช่วยกันออกคอลเลกชั่น
อย่างต่อเนื่อง เท่านี้ก็เป็นแบรนด์ที่ดีแล้วครับ ก็รอทีมงานแบบนั้นอยู่” หนึ่งพูดด้วยสีหน้ายิ้มๆ เรามองออกว่าเขาตั้งใจจริงกับแนวคิดนี้ เพียงแค่ต้องการทีมที่มีวิสัยทัศน์ใกล้เคียงกัน สามารถคิดงานและนำเสนอโครงการ
ได้ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อมาผ่อนงานจำนวนมหาศาลที่เขาถืออยู่ได้ “หลังจากผลักดันให้อัญมณี
หลุดพ้นจากการตีตราว่าเป็น ‘สินค้าฟุ่มเฟือย’ แล้ว 
ก้าวต่อไปคือ ผมอยากจะผลักดันภาคการท่องเที่ยว ให้การท่องเที่ยวเข้าใจว่าเมื่อนักท่องเที่ยวมาเมืองไทย นอกจากจะดูวัดวาอาราม น้ำทะเล ภูเขาแล้ว ให้นึกถึงอัญมณีเป็นสินค้าที่จะซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้าน เหมือนกับที่เราไปซื้อน้ำหอม ซื้อกระเป๋าที่ฝรั่งเศส ไปแช่ออนเซนที่ประเทศญี่ปุ่น อยากให้ประเทศไทยเป็น Land of Jewel คำนวณง่ายๆว่า นักท่องเที่ยวเข้าเมืองไทยประมาณปีละสามสิบล้านคน ถ้าสุวรรณภูมิขยายเพิ่มอีกเฟส ก็จะเพิ่มจำนวนเป็นสี่สิบห้าล้านคน ขอเพียงแค่หนึ่งเปอร์เซ็นต์จากจำนวนนั้นซื้ออัญมณี เราก็ผลิตไม่ทันแล้วครับ ขอให้ภาครัฐเข้าใจตรงนี้ เพิ่มสินค้าอัญมณีเข้าไปในการโปรโมทการท่องเที่ยวก็พอครับ”

เราจบการสัมภาษณ์หนึ่งด้วยความรู้สึกหลากหลายรวมกัน ทั้งประทับใจในความสุขุม อ่อนโยน ตื่นตะลึงในวิสัยทัศน์ และความรักที่เขามีต่ออาชีพ และทึ่งใน
แรงขับด้านบวกที่เขาส่งมาถึงทีมงานทุกคน ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คุณสมบัติต่างๆเหล่านั้นทำให้เขานำพา Beauty Gems เข้าสู่ตลาดการแข่งขันเวทีโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ

<<ผมอยู่กับงานสวยงามครับ งานอัญมณีถือเป็นงานที่ละเอียด คนไทยทำ
อัญมณีได้ดี เราเก่งไม่แพ้ใครในโลก เพราะคนไทยเราใจเย็น>>

สำรวจเบื้องลึกเบื้องหลังปรากฏการณ์ของมหากาพย์ซีรีส์อย่าง Game of Thrones

ถึงคุณจะไม่เคยเปิดผ่านตาดูเลยสักตอน และถึงคุณจะเป็นคนที่ไม่เสพความบันเทิงผ่านทางซีรีส์อเมริกันเลยสักนิด ความเป็นไปได้ก็คือ อย่างน้อย คุณก็คงต้องรู้จักชื่อ Game of Thrones หรือยิ่งไปกว่านั้น – คุณก็อาจจะถึงขนาดเคยผ่านตาชื่อตัวละครหลากหลายตัวทั้ง Jon Snow (จอน สโนว์) Ned Stark (เน็ด สตาร์ก) หรือ Tyrion Lannister (ทีเรียน แลนนิสเตอร์) มาบ้างแหละน่า! (ผ่านตาทั้งๆ ที่คุณไม่เคยดูสักตอนนี่แหละ)

คุณอาจเห็นพวกเขาล่องลอยไปมาเป็นมีม (Meme) อยู่ในเฟซบุค – พวกเขาถูกบรรจุเข้าสู่กระแสธารแห่งป๊อปคัลเจอร์ ถูกเสพโดยทั้งคนที่เป็นแฟนและไม่ใช่ – ประโยค ‘You Know Nothing.’ ที่จอน สโนว์พูดในเรื่อง ก็ถูกนำไปใช้ในหลายความหมาย อาจผิดเพี้ยนไปจากต้นกำเนิดแบบกู่ไม่กลับเสียด้วยซ้ำ นั่นคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นเฉพาะกับสื่อที่สามารถเป็น ‘ปรากฏการณ์’ เท่านั้น

คำถามก็คือ ทำไม – ทำไม Game of Thrones จึงโด่งดังนัก ทั้งๆ ที่มีซีรีส์ถูกผลิตออกมามากมายในแต่ละปี แต่ Game of Thrones ก็ยังคงความแรงได้ในทุกซีซั่น ถึงแม้จะล่วงเข้าสู่ปีที่เจ็ดแล้ว คนก็ยังคงรอการกลับมาของตัวละครทุกตัวอย่างสม่ำเสมอ – และเผลอๆ กลุ่มคนที่รอจะเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

แน่นอน – การอธิบายความสำเร็จของอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งไม่เคยเป็นเรื่องง่าย เพราะย่อมไม่สามารถถูกอธิบายได้ด้วยปัจจัยเพียงหนึ่งหรือสองอย่าง และความพยายามในการอธิบายเรื่องเหล่านั้นก็มักจะจบลงด้วยการถูกกล่าวหาว่าเป็น Post Factual หรือ ‘คำอธิบายหลังปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว’ (เป็นคำพูดหรูๆ ของ ‘ก็แหงสิ มันฮิตไปแล้ว คุณจะอธิบายยังไงก็ได้!’) สิ่งที่มักเกิดขึ้นคือ ถึงแม้เราจะอธิบายอะไรอย่างหนึ่งว่าทำไมจึงประสบความสำเร็จได้ แต่เราก็มักจะใช้ส่วนประกอบเดียวกัน เหตุผลชุดเดียวกันนั้น เพื่อไปสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้ประสบความสำเร็จดุจกันไม่ได้อยู่ดี – แต่ถึงจะทราบทั้งหมดนี้ การพยายามอธิบายสาเหตุที่ Game of Thrones กลายเป็นปรากฏการณ์ ก็ยังคงเป็นเรื่องสนุก ที่จะได้ลองแงะ แคะ แกะ เกา ผลงานชิ้นเขื่องนี้เพื่อดูส่วนประกอบที่สร้างขึ้นมาเป็นมัน – อยู่ดี

Game of Thrones เป็น Prestige TV

David Benioff (เดวิด บานิออฟ) และ D.B. Weiss (ดี. บี. ไวส์) คู่หูผู้ปรับ Game of Thrones จากนวนิยายชุด A Song of Ice and Fire ของ George R.R. Martin (จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน) เป็นซีรีส์ พิจารณาว่า Game of Thrones ไม่ได้เป็นแค่ ‘ซีรีส์ฉายทางทีวี’ แต่พวกเขาพิจารณาเนื้อเรื่องในฐานะ ‘ภาพยนตร์ที่มีความยาว 73 ชั่วโมง’ (6 ซีซั่น ซีซั่นละสิบตอน บวกสองซีซั่นสุดท้ายที่มีความยาวรวมกันเพียง 13 ตอน นับเป็น 73 ตอนทั้งหมด)

นี่เป็นส่วนหนึ่งของกระแสที่ใหญ่กว่าที่เรียกว่า Prestige TV หรือ ‘ซีรีส์ล้ำค่า’ ที่จุดให้เกิดกระแสโต้เถียงว่า ‘ยุคนี้ ซีรีส์ทีวีดีกว่าภาพยนตร์เสียอีก’ ซึ่งก็มีผู้ทัดทาน (อย่างเหมาะสม) ว่าไม่เห็นจะต้องเปรียบเทียบกันเลยว่าซีรีส์ดีกว่าภาพยนตร์ หรือภาพยนตร์ดีกว่าซีรีส์ เมื่อทั้งสองโลกก็มีทั้งผลงานที่ดีและแย่ทั้งนั้น

Prestige TV หรือ ‘ซีรีส์ล้ำค่า’ นั้นสามารถถูกใช้เป็นทั้งคำชื่นชมและคำกระแนะกระแหน ขึ้นอยู่กับว่าคุณเอนเอียงไปทางไหนในการโต้เถียง แต่โดยรวมๆ แล้วคำนี้หมายถึงซีรีส์สำหรับฉายทางโทรทัศน์ ที่ผู้ชมจะรู้สึกว่าได้ชม ‘ผลงานชิ้นเอก’ ได้ดู ‘โชว์ที่จริงจัง’ (Serious TV) ไม่เป็นการผลาญเวลาไปอย่างเล่นๆ ตัวอย่างซีรีส์ที่มักถูกนับว่าเป็น Prestige TV ก็ได้แก่ Game of Thrones (มักจะถูกนับเป็นตัวอย่างแรก), Mr. Robot, Fargo หรือ The Young Pope

Logan Hill (โลแกน ฮิลล์) นักเขียนของ Vulture เคยเขียนบทความตั้งข้อสังเกต (และ – ก็นั่นแหละ – จิกกัดนิดๆ หน่อยๆ) ถึงข้อพิจารณาว่าคุณกำลังดู Prestige TV อยู่หรือเปล่าไว้ในปีค.ศ. 2013 ตัวอย่างข้อสังเกตเหล่านี้ก็ได้แก่ ‘ดูแล้วรู้สึกเหมือนอ่านนิยาย’ ‘ดูแล้วรู้สึกเหมือนชมภาพยนตร์’ ‘แต่ละตอนไม่ใช่ตอนในฐานะ Episodes แต่ให้คิดเสียว่านี่คือบท หรือเป็น Chapters’ ‘อย่าไปเรียกว่าเป็นซีซั่นนะ ให้เรียกว่าไพล็อต’ ‘เป็นซีรีส์ที่รู้สึกรู้สากับตัวเอง (Self-Awareness)’ ‘มีความดำมืด’ ‘มีการโยนคนดูให้ไม่รู้ว่ากำลังดูอะไรอยู่’ ‘ทุกชิ้นส่วนในโชว์นั้นสำคัญ’ (ในความหมายที่ว่าอะไรที่ดูเล็กๆ น้อยๆ หรือตอนแรกทำให้ผู้ชมทั้งคำถามว่า จะให้ดูชีวิตของตาคนนี้ทำไม หรือจะให้ดูเรื่องนี้ทำไม มันเกี่ยวอะไรกับ ‘พล็อตใหญ่’ นั้นจะกลับมาแสดงความสำคัญของตัวมันเองในภายหลังทั้งสิ้น) ‘แทบไม่มีอารมณ์ขัน’ และอื่นๆ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วก็จะเห็นว่า Game of Thrones มีส่วนประกอบเหล่านี้ค่อนข้างครบถ้วน

นั่นคือตัวซีรีส์ฉาย ‘ความแพง’ ของตนเองออกมาอย่างไม่เขินอาย ใครๆ ที่ได้ดู Game of Thrones สักตอนหนึ่ง ถึงจะชอบหรือไม่ชอบ ก็จะรู้สึกได้ถึงความมีราคา ซึ่งหมายถึงทั้งราคาของการสร้าง และราคาของ ‘วิธีคิด’

ความเป็น Prestige TV นั้นแผ้วถางทางให้กับ ‘ยุคทองของโทรทัศน์’ (Peak TV) ในปัจจุบันด้วย แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีผู้เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ว่าด้วยความพยายามที่จะให้ทุกอย่างดู ‘แพง’ นี่แหละ ที่เป็นตัวขัดขวางไม่ให้ผู้สร้างสร้างโชว์ที่แค่ ‘สนุก’ ก็พอ คล้ายกับว่า เมื่อมหากาพย์กลายเป็นกระแสหลัก ทำให้ไม่มีคนผลิตเรื่องเล็กๆ ที่สนุกหรือสวยงามออกมาเท่าที่ควร

Game of Thrones เล่นกับ Social Media เป็น

ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ถูกวางไว้บนฉากแฟนตาซียุคกลาง แต่ Game of Thrones ก็เป็นซีรีส์ที่ ‘เล่น’ กับโซเชียลมีเดียได้อย่างเก่งกาจเหลือเชื่อ ด้วยทรัพยากรด้านเนื้อเรื่องที่มีให้ตักตวงอย่างมากมาย (นวนิยายชุด A Song of Ice and Fire ของ George R.R. Martin มีความยาวรวม 4,500 หน้ากระดาษแล้ว รวมถึงแค่เล่มที่ห้า) และด้วยวิธีที่ผู้เขียนวางเนื้อเรื่องไว้บนโลกสมมติที่มีทั้งตำนาน ประวัติศาสตร์ และการเมืองเป็นของตนเอง ทำให้พื้นที่ของทีวีไม่สามารถฉายทุกสิ่งออกมาได้ทั้งหมด

เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่เหลือจึงถูกนำไปวางไว้บนอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ทั้งในรูปแบบที่เกิดขึ้นจากกลุ่มแฟนเองเช่นวิกิ (http://awoiaf.westeros.org) หรือเกิดขึ้นโดยตั้งใจ เป็นงานโปรดักชั่นของ HBO เช่น เว็บไซต์ทางการของ Game of Thrones ซึ่งมีทั้งแผนที่แบบอินเทอร์แอ็กทีฟ สามารถกดเคลื่อนได้ตามเวลาของโชว์ว่าตัวละครใดกำลังเคลื่อนไหว ไปจนถึงผังตระกูลต่างๆ สำหรับคนที่อยากค้นเพิ่มเติมว่าตัวละครตัวนี้เป็นลูกเต้าเหล่าใคร และทำไมจึงเคียดแค้นอีกตระกูลหนึ่งขนาดนั้น

การวางข้อมูลไว้บนโลกออนไลน์นี้ช่วยส่งให้สถานะของโชว์อยู่ในใจของกลุ่มผู้ชมตลอดเวลา เมื่อพื้นที่ของหนึ่งเอพิโสดไม่ได้บอกข้อมูลทั้งหมดเท่าที่แฟนตัวยงอยากรู้ พวกเขาก็ต้องไปค้นข้อมูลเพื่อตอบสนองความต้องการของตน – แต่ด้วยขนาดที่กว้างใหญ่ของโลกของที่ George R.R. Martin สร้างขึ้น – ยิ่งค้น ก็ดูเหมือนว่าจะยิ่งเจอกับคำถาม แฟนๆ ของ Game of Thrones จึงใช้วิธีศึกษาคล้ายกับนักประวัติศาสตร์ พวกเขาสร้างทฤษฎี (เช่นว่า ใครเป็นลูกของใครกันแน่ – หรือต้นกำเนิดของ Whitewalker นั้นเป็นอย่างไรกันแน่) จากหลักฐานที่ผู้อื่นค้นพบ หรือกระทั่งอาจปรับปรุงทฤษฎีของผู้อื่นให้มีความรัดกุมมากขึ้น และอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในโชว์ได้อย่างเหมาะเหม็งกว่าเดิม

สิ่งเหล่านี้ตอบรับกับกระแสวัฒนธรรม Geek (หรือ ‘ผู้รู้’) ที่มีพลังมากขึ้นในยุคปัจจุบัน กลุ่มผู้ชมทุกวันนี้ไม่พอใจกับการรู้อะไรเพียงแค่ผิวเผินอีกแล้ว พวกเขาต้องรู้ให้ลึก และถ้าจะให้ดีีที่สุด คือรู้ให้ ‘ลึกกว่าคนอื่น’

นอกจากสร้างแรงกระเพื่อมในโลกออนไลน์ ด้วยวิธีที่อยู่บนโลกออนไลน์แล้ว แต่ละตอนของ Game of Thrones ก็ถูกวางมาให้ส่งแรงกระเพื่อมถึงโลกออนไลน์ได้ด้วยตัวเองด้วย สถานการณ์ที่มักถูกวางไว้อย่างชาญฉลาดในตอนที่สามและแปดของทุกซีซั่น (หรือใกล้เคียง) มักจะทำให้เกิดเสียงกึกก้องกัมปนาทในโลกออนไลน์ได้อย่างสม่ำเสมอ ผู้สร้างโชว์วางหมากใหญ่ไว้ได้อย่างพอเหมาะพอดี และผู้รับหน้าที่สื่อสารออนไลน์ของ HBO ก็พร้อมจะ ‘รับลูก’ เมื่อเกิดกระแสขึ้นเสมอ

Jim Marsh (จิม มาร์ช) ผู้อำนวยการฝ่ายดิจิตอลและโซเชียลมีเดียของ HBO รู้ว่า Westeros (โลกของ Game of Thrones) นั้นเป็นสถานที่ที่มีเอกลักษณ์ และสิ่งที่อาจถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนหรือข้อด้อย เช่น จำนวนตัวละครที่มากมาย หรือพล็อตที่ซับซ้อนนั้น เมื่ออยู่บนโซเชียลมีเดียแล้ว สิ่งเหล่านี้กลับกลายเป็นพลังสำคัญในการสร้างกระแส เขายังบอกด้วยว่า “การคาดเดาและบทสนทนาที่เกิดจากรายละเอียดที่เล็กมากๆ ในซีรีส์ที่หลายคนอาจมองข้าม นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่บอกเราว่ากลุ่มผู้ชมของเรานั้นมีเอกลักษณ์ขนาดไหน งานของทีมโซเชียลมีเดียคือการขยาย (Amplify) ความตื่นเต้นและบทสนทนาเหล่านี้ เราพยายามหาทางที่จะตักตวงผลประโยชน์จากบทสนทนาพวกนี้ให้ได้มากที่สุด และก็ยังต้องการจะให้รางวัลกับแฟนๆ ด้วย”

การ ‘ให้รางวัล’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงตัวเงิน แต่หมายความตั้งแต่ ‘ความรู้สึกว่าตัวเองถูก’ เมื่อโชว์ค่อยๆ คลี่คลายคำตอบที่แฟนๆ คาดเดาไว้ในภายหลัง ไปจนถึงการเชิญแฟนตัวยงมาร่วมกิจกรรมที่ HBO จัดขึ้น ให้ได้พบปะกับผู้สร้างและนักแสดง เพื่อทำให้ความเชื่อมั่นในโชว์แข็งแกร่งขึ้นด้วย

Game of Thrones มีเรื่องที่ดีด้วยตัวเอง

ถึงแม้จะมีปัจจัยภายนอกช่วยส่งเสริมแค่ไหน แต่ถ้า Game of Thrones ไม่ได้มีเรื่องราวที่ดี (หรืออย่างน้อย ‘ดีพอ’) การกุมหัวใจมหาชนไว้ก็คงเป็นเรื่องยาก โชคดีที่ Game of Thrones นั้นมีชิ้นส่วนมากพอจน – ถึงแม้คุณจะไม่ชอบบางเรื่องบางตอน – คุณก็ยังสามารถหาชิ้นส่วนที่คุณชอบ และเข้าถึงได้เสมอ อาจเป็นตัวละครสักตัว (เช่น ทีเรียน หรืออาร์ยา) ฉากสักฉาก (เช่น ฉากการตายอย่างน่าสมเพชของตัวละครที่คุณชิงชังมาสามซีซั่น) หรือเซอร์ไพรส์สักครั้ง (เช่น ตระกูลที่คุณเชียร์ถูกฆ่าล้างตระกูล ซึ่งคุณช็อก แต่ก็เป็นความช็อกที่ทำให้คุณยังคงดูต่อไป เพราะเป็นการตายที่แสนสมเหตุสมผล)

มีคนพยายามอธิบายว่า Game of Thrones นั้นฮิตขึ้นมาได้เพราะมันได้ให้ ‘ทางออก’ จากโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ไปสู่โลกที่ถึงแม้ซับซ้อน แต่คุณในฐานะผู้ชม ก็เห็นเส้นและสายสัมพันธ์ของความซับซ้อนได้ทั้งหมดจากมุมมองแบบบุคคลภายนอก นั่นทำให้คุณรู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่ ‘เข้าใจได้’ และ ‘คลี่คลาย’ มากกว่าโลกแห่งความเป็นจริง โลกของ Game of Thrones นั้นไม่ชวนให้คุณเครียด เพราะประวัติศาสตร์ของตัวมันเองก็แยกขาดไปจากโลกที่คุณยืนอยู่พอสมควร ถึงแม้ว่าบางสถานการณ์จะถูกเปรียบกับ ‘สงครามกุหลาบ’ หรือ The Wars of Roses สงครามอังกฤษในศตวรรษที่ 15 แต่นั่นก็ไกลพอที่จะทำให้คุณรู้สึกไม่เชื่อมโยง เมื่อคุณไม่ต้องเชื่อมโยงกับมันมากนัก คุณก็จะรู้สึกสบายใจ ที่สามารถเห็นผลลัพธ์ของการคาดเดาได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบ

นั่นเองอาจเป็นบทบาทของสื่อบันเทิงที่ได้ผล ซึ่ง Game of Thrones ก็สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและก็เป็นสาเหตุที่ว่าทำไมเราต้องนับวันรอว่าเมื่อไรกันที่ซีซั่นใหม่จะฉายเสียที! Game of Thrones ซีซั่น 7 จะฉายในวันที่ 16 กรกฎาคม 2017 โดยมีความยาวทั้งสิ้น 7 ตอน ก่อนที่ซีซั่น 8 จะตามมาในปีถัดไป โดยมีความยาวทั้งสิ้นเพียง 6 ตอน

เรื่องราวของ แม่ไม้มวยไทย อัลกอริทึม หุ่นยนต์ แขนกลและงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัย

One-Two Combo

ถ้างานหล่อผนังคอนกรีตอันเป็นซิกเนเจอร์ของเขาออกมาไม่เป็นที่พอใจ มิสเตอร์อันโดะจะตะบันหน้าคนคุมงานก่อสร้างไม่ยั้ง แม้จะรู้ว่านี่เป็นเรื่องอำ แต่เมื่อเราจะต้องไปสัมภาษณ์สถาปนิกหนุ่มไฟแรง ประวิตร กิตติชาญธีระ หรือที่รู้จักกันในนาม เต้-ไชยา อดีตนักมวยผู้เจนเวที มีประวัติชนะทีเคโอมานับครั้งไม่ถ้วน เคยประลอง Mortal Combat แถมยังเป็นศิษย์ครูเล็กสำนักมวยไชยาบ้านช่างไทย ทำให้เราต้องตรวจทานคำถามที่เตรียมมาหลายรอบ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ไปกระตุกกล้ามเนื้อผู้ชายคนนี้ให้โชว์แม่ไม้มวยไทยใส่ ทว่าเมื่อได้เจอตัวจริงแล้วปรากฏว่าสถาปนิกหนุ่มผู้นี้เป็นมิตร และอ้อนน้อมถ่อมตนกว่าที่เราจินตนาการมากหลายคนอาจคุ้นหน้าผู้ชายคนนี้ เพราะเต้เคยเป็นนักแสดงมาก่อน เขาสวมบทบาทนักมวยในภาพยนตร์ ‘ไชยา’ และภาพยนตร์เรื่องอินทรีย์แดงเวอร์ชั่นผู้กำกับวิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง แต่บทบาทหลักที่เต้เล่นจริงไม่อิงแสตนอินคือ ‘สถาปนิก’ ผู้ก่อตั้งบริษัท Kiren Architets Associates (อ่านว่า ‘ขี้เล่น’) เมื่อเราถามว่าชื่อนี้ท่านได้แต่ใดมา หนุ่มเต้-ไชยา ตอบว่า “จริงๆแล้วเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพราะทำเล่นๆ แต่พอทำไปทำมาสเกลงานใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ” ร่ำเรียนสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยเอแบค ต่อด้วยปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนเต้จะตัดสินใจลัดฟ้าไปเรียนต่อด้านสถาปัตยกรรมอีกใบที่ประเทศสเปน เมื่อก่อนแนวทางการออกแบบของเต้คล้ายกับสถาปนิกรุ่นใหม่หลายคนที่นิยมงานโมเดิร์นร่วมสมัยติดกลิ่นอายมินิมอล การออกแบบสถาปัตยกรรมสไตล์นี้ มีพื้นฐานอยู่ที่การเขียนแบบและใช้คนตัด แต่หลังจากที่ไปเรียนต่อที่ประเทศสเปน เต้ก็ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ ได้เรียนรู้การออกแบบสถาปัตยกรรมแนวทางใหม่ๆอย่าง Parametricism ซอฟต์แวร์การก่อสร้างที่ใช้เครื่องมือดิจิตอลมาช่วยในการสร้างฟอร์ม (Digital Fabrication) “เราออกแบบเสร็จก็ถ่ายโอนสิ่งที่เราออกแบบไปให้เครื่อง CNC ตัดได้เลย” เต้ได้เรียนรู้การออกแบบโดยใช้อัลกอรึทึ่ม Digital Fabrication การก่อสร้างด้วยโดรน หุ่นยนต์ และแขนกล “ตอนไปเรียนทีแรกผมงงมาก เขาไม่ได้ให้เราออกแบบบ้านหรือออกแบบตึก เขาพูดถึงอีกเรื่องราวหนึ่งไปเลย” เต้ยอมรับว่าช่วงแรกๆเครียดเหมือนกัน เพราะไม่มีพื้นฐานทาง Computer Science มาก่อนเหมือนคนอื่นๆ ทำไมต้องเป็นสเปน? ถึงแม้ว่าสเปนเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นแห่งงานออกแบบ มีสถาปนิกระดับมาสเตอร์อย่าง Antoni

Gaudi (อันโทนี เกาดี) หรือมาสเตอร์ที่ร่วมสมัยอย่าง Santiago Calatrava (ซานติเอโก คาลาทราวา) ส่วนในเรื่องของโปรดักต์ดีไซน์ก็มีซูเปอร์สตาร์อย่าง Jaime Hayon (เจม เฮย์ออน) และ Patricia Urquiola (แพทริเซีย เออร์เควียล่า) แต่ไม่ค่อยมีคนไทยไปเรียนต่อที่นั่นสักเท่าไหร่ เราเลยถามว่าทำไมเขาถึงเลือกไปที่นั่น เต้ให้คำตอบว่า “เพราะผมชอบสถาปนิกสเปนที่ชื่อ Miralles Tagliabue จากออฟฟิศที่ชื่อ EMBT คนที่ออกแบบพาวิเลียนประเทศสเปนในงาน Expo 2010 ปัจจุบันเขาเสียชีวิตไปแล้ว ผมตั้งใจไว้แล้วว่าถ้าไปเรียนจบที่สเปนแล้วจะไปฝึกงานที่บริษัทเขา” ทว่าด้วยความจำเป็นของชีวิต ทันทีที่เขาเรียนจบ เต้ถูกภาระและความรับผิดชอบต่อธุรกิจครอบครัวเรียกตัวกลับเมืองไทย

แนวทางการออกแบบของ Keeren ตอนนี้ใช้คอมพิวเตอร์เป็นพื้นฐานในการดีไซน์ “งานออกแบบของเรานั้นถือว่าท้าทายในการสร้าง แต่สามารถทำได้จริง” 
โปรเจ็กต์ล่าสุดของ Keeren คือ งานออกแบบสถาปัตยกรรมภายในโชว์รูมเมอร์เซเดส-เบนซ์ที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยโจทย์จากลูกค้าคือทำอย่างไรให้พื้นที่โชว์รถนั้นสร้างความดึงดูดให้มากที่สุด “ทีแรกทางเจ้าของไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เราออกแบบจะทำได้จริงอย่างภาพที่นำเสนอหรือไม่ แต่เราได้พิสูจน์แล้วว่าทำได้จริง” เต้โชว์ภาพจากโทรศัพท์มือถือให้เราดู โครงสร้างมีความซับซ้อน ท้าทายแรงโน้มถ่วงโลก เขาเล่าว่าได้แรงบันดาลใจมาจากเส้นสายได้มาจากสนามแข่งรถ ความเร็วและพลังของรถ

“งานนี้เป็นการออกแบบภายใน แต่เราไม่ต้องการสร้างแค่ Ornament (ส่วนประดับตกแต่ง) แต่สเปซที่สร้างประสบการณ์ให้กับผู้ใช้อาคาร” ผลลัพธ์ก็คือสถาปัตยกรรมภายในที่โฉบเฉียวและพริ้วไหว เส้นสายที่มีไดนามิก แน่นอนว่าทั้งหมดใช้คอมพิวเตอร์ในการออกแบบ และใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างยุคใหม่ในการทำให้ภาพสามมิติที่นำเสนอลูกค้ากลายเป็นจริงขึ้นมา โปรเจ็กต์นี้ใช้เวลาในการออกแบบประมาณ 3 เดือน ถือเป็นโปรเจ็กต์เรือธงของสตูดิโอ Kiren ก็ว่าได้ “ลูกค้าที่เข้ามาก็จะรู้แล้วว่าสไตล์ของเรา” สถาปนิกหนุ่มกล่าว

อย่างที่รู้กัน อาชีพสถาปนิกนั้นหนักหน่วงไม่ใช่เล่น การกลับมารับผิดชอบกิจการโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ของครอบครัวและทำสตูดิโอออกแบบของตัวเอง ทำให้เต้ต้องห่างหายจากมวยไทยไชยาที่เขารัก จากที่เมื่อก่อนมีโอกาสได้ซ้อมมวย 5-6 วัน แต่ตอนนี้ต้องหันมาทุ่มเวลาให้กับการออกแบบแทน เมื่อเราถามว่าการได้เรียนมวยไทยมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตอย่างไร เต้ให้คำตอบอย่างหนักแน่น “ทำให้ผมใจเย็นมากๆ มีสติ การฝึกมวยมันต้องฝึกการทำซ้ำๆซึ่งทำให้เกิดสติที่มีสมาธิ พอเรามีสมาธิทำให้การดำเนินชีวิตประจำวัน ตอนต่อยมวยถ้าสติไม่มี หมัดก็โดนเรา ผมก็มาประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำอะไรต้องมีสติ เต็ม 100% ทั้งการพูด การคิด และการกระทำ” ส่วนการฝึกซ้อมมวยไทยไชยาส่งผลต่อการออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างไร คงไม่ต้องบรรยายอะไรมาก ผลงานออกแบบล่าสุดของเขาออกอาวุธได้เฉียบคมเป็นที่ประจักษ์แล้ว

 

William E. Heinecke ผู้ปลุกปั้นกลุ่มบริษัทไมเนอร์ได้เติบโตอย่างเข้มแข็งทั้งในประเทศไทย และทั่วโลก

Minor Foundation Major Success

ภายใต้ร่มเงาต้นสนที่เงียบสงบพลางแว่วเสียงทะเลอยู่เป็นทำนอง ณ โรงแรมอนันตราสิเกา รีสอร์ท William E. Heinecke คือหนึ่งในนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย ธุรกิจที่เขาทำได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่มากมาย ปัจจุบันเขามีอายุ 68 ปีแล้วแต่ไฟในตัวเขายังคงร้อนแรงแตกต่างจากคนรุ่นเดียวกันอย่างน่าอัศจรรย์ อะไรกันคือสิ่งที่ทำให้เขายังคงมีความมุ่งมั่นถึงทุกวันนี้ เราไปฟังคำตอบกันพร้อมๆกัน

เกริ่นกันสักนิดว่า William E. Heinecke (วิลเลียม อี. ไฮเน็ก) 
หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘คุณบิล’ คนนี้คือผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัท Minor International Public Company Limited ที่เขาก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1967 จนถึงปัจจุบัน กลุ่มบริษัทไมเนอร์ได้เติบโตอย่างเข้มแข็งทั้งในประเทศไทย และทั่วโลก ภายใต้การบริการของผู้บริหารวิสัยทัศน์ดี หน้าตาใจดี และความคิดสุขุมคนนี้เมื่อเราถามเขาว่า อะไรคือสิ่งสำคัญที่ทำให้เขายังสามารถยืนอยู่บนจุดสูงสุดของอาชีพตัวเองได้ยาวนานต่อเนื่องขนาดนี้ เขาก็ตอบอย่างตรงไปตรงมา “ผมคงตอบเหมือนนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเหมือนๆกับผมหลายคน นั่นคือ ผมทำงานด้วยความหลงใหล ทำงานด้วยความรัก และเมื่อคุณมีความหลงใหลในสิ่งใดๆก็ตามสิ่งนั้นก็จะติดตัวคุณไปตลอด”​ ฟังคำตอบเขาแล้วเรารู้สึกราวกับได้ยินเสียงอาจารย์ใจดีที่สั่งสอนลูกศิษย์ในสังกัด เราแอบอมยิ้ม พร้อมยิงคำถามต่อว่า ถ้าคำตอบของเขาเหมือนกับนักธุรกิจคนอื่นๆ จริงแล้ว อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มโรงแรมอนันตราแตกต่างและโดดเด่นจากธุรกิจอื่นในสาขาเดียวกัน “เพราะเรามีคอนเซ็ปต์ และใส่ใจที่จะรวบรวมวัฒนธรรมดั้งเดิมของพื้นที่นั้นๆที่โรงแรมแต่ละแห่งตั้งอยู่ นำมาหลอมรวมเข้ากับความสะดวกสบาย และบริการที่ดี ผมต้องการให้ผู้เข้าพักโรงแรมของผมนั้นตื่นมาแล้วไม่ต้องขมวดคิ้วสงสัยว่าเขาอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ การที่จะทำเช่นนั้นได้ เราจะต้องเห็นภาพวัฒนธรรมของแต่ละที่ (Visual Culture) อย่างชัดเจน และออกแบบโรงแรมมาให้เข้ากับภาพดังกล่าว ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเข้าพักที่อนันตราแห่งใดก็ตามบนโลกนี้ คุณก็จะได้กลิ่นอายของท้องถิ่นนั้นๆ นั่นคือเอกลักษณ์สำคัญของโรงแรมเรา ซึ่งเราตั้งใจที่จะสงวนรักษาไว้ เพื่อให้คนต่างวัฒนธรรมได้เรียนรู้ซึมซับ และเพื่อให้คนรุ่นถัดมาได้ศึกษาและรู้จักวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่นอีกด้วย” ก็ไม่น่าแปลกใจอะไรที่คำตอบของเขาจะออกมาทำนองนี้ เพราะสิ่งหนึ่งที่เรารับรู้มาก็คือ บิลได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ถึงขั้นใส่ไว้ในนโยบายหลักของบริษัท โดยคำว่า ‘ยั่งยืน’ นั้น ส่วนหนึ่งหมายความว่า ทุกๆการลงทุน และการดำเนินธุรกิจของเขา จะต้องมีรายได้ส่วนหนึ่ง (หรือส่วนใหญ่) เข้าถึงมือคนท้องถิ่นโดยตรง และทุกธุรกิจจะมีพันธกิจในการรักษาธรรมชาติดั้งเดิมของพื้นที่ที่ดำเนินธุรกิจนั้นๆด้วย ดังนั้น บริเวณที่ตั้งของโรงแรมอนันตรา สิเกา รีสอร์ท จังหวัดตรังนี้อยู่ที่บริเวณปากอ่าว

ป่าโกงกางและต้นสนใกล้เขตอุทยานรักษาพันธุ์สัตว์น้ำแห่งชาติ กิจกรรมหลักของโรงแรมแห่งนี้ คือการเชิญชวนแขกผู้เข้าพัก (รวมทั้งกลุ่มพวกเราด้วย) ออกไปปลูกหญ้าทะเล เพื่อเป็นอาหาร
ให้พยูน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวกลมน่ารัก ที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองตรัง ปัจจุบันหาดูได้ยากขึ้นทุกวัน เพราะแหล่งอาหารเริ่มร่อยหรอ
ลงไป กิจกรรมเพื่อสังคมของโรงแรมนี้จึงกลายมาเป็นส่วนสำคัญ
ไปโดยปริยาย

นอกจากกิจกรรมเพื่อสังคมแล้ว เราก็เห็นได้ชัดว่า ภาพทางวัฒนธรรมที่บิลพูดถึงในสัมภาษณ์นั้นก็แสดงออกอย่างเด่นชัดในพื้นที่ของโรงแรม ผ่านทุกภาคส่วนของโรงแรม ทั้งสถาปัตยกรรม อาหาร เครื่องดื่ม รายละเอียดเล็กๆน้อยๆในโรงแรม ไล่ไปถึงการบริการ และจริตของพนักงานทุกคน เราถือว่าบิลประสบความสำเร็จในการดำรงวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม และให้คนนอกถิ่นได้ดื่มด่ำ

ในส่วนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายในประเทศนั้น 
บิลได้ออกความเห็นไว้ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคตอันใกล้ข้างหน้าว่า “ช่วงหลังๆ มานี่ธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทยเติบโตขึ้น
อย่างรวดเร็ว เนื่องจากอิทธิพลของกระแสโลกาภิวัฒน์ แต่ผมเชื่อว่า
นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ในอนาคตมีทางให้เติบโตได้อีกเยอะ ปัจจุบันมีตลาดท่องเที่ยวแนวใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย ทั้งการท่องเที่ยวแบบประหยัด การท่องเที่ยวแบบ Airbnb ไปจนถึงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ในขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ๆนั้นมีแนวโน้มที่จะจับจ่ายใช้สอย
ในเรื่องของประสบการณ์ชีวิตมากกว่าการซื้อของใช้ราคาแพง ดังนั้น 
ถ้าเราสามารถทำให้โรงแรมแต่ละแห่งของเรามีเอกลักษณ์ที่แตกต่าง 
แต่มีอัตลักษณ์และการบริการตามมาตรฐานของเราที่ชัดเจน ผมเชื่อว่าเราจะสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด” เมื่อได้ยินเขาเอ่ยถึง ‘เอกลักษณ์’ หลายครั้งเข้า เราก็อดถามต่อไม่ได้ว่า กลุ่มโรงแรมอนันตรามีแผนที่จะขยายสาขา หรือสร้างโรงแรมคอนเซ็ปต์ใหม่ๆบ้างไหม “แน่นอนครับ ผมสนใจเรื่องโรงแรมคอนเซ็ปต์อยู่แล้ว แต่เรายังต้องทำการบ้านอย่างละเอียดรอบคอบก่อนในตอนนี้” เราอาจจะพอคุ้นชินกับการดำเนินธุรกิจแบบ One Man, One Brand หรือการทุ่มพลังและความถนัดของแต่ละคนลงไปในแบรนด์เดียว เพราะเชื่อกันว่านี่คือปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ แต่สำหรับบิลแล้ว เขาคิดต่างอย่างสิ้นเชิง ในกลุ่มไมเนอร์ของเขานั้นมีทั้งธุรกิจโรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่น ซึ่งแต่ละภาคส่วน ก็ยิ่งใหญ่มาก “ไม่ผิดหรอกครับที่นักธุรกิจหลายคนจะคิดแบบนั้น แต่สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าการมีธุรกิจหลากหลายในเครือนั้นก็ช่วยตอบสนองต่อกลุ่มลูกค้าได้หลายแบบ คือ ผมมองว่าธุรกิจต่างๆนั้นสามารถก้าวข้ามผ่านเส้นแบ่งระหว่างธุรกิจ เพื่อต่อยอดไปยังธุรกิจอื่นๆในอนาคตได้ แน่นอนครับว่าการดำเนินธุรกิจแบบนี้ หมายถึงการทำงานหนักขึ้น ต้องโฟกัสไปที่ละเรื่อง แก้ทีละปัญหา อย่าได้เผลอเอาปัญหาเรื่องโน้นมารวมกับเรื่องนี้เป็นอันขาด คุณจะต้องมีสติมากๆ” ถึงปากจะบอกว่างานหนัก แต่เราก็สังเกตเห็นอยู่ดีว่า ในระหว่างที่เล่าเรื่องธุรกิจของเขาอย่างออกรสนั้น ใบหน้าของคุณบิลเปื้อนยิ้ม และอวลไปด้วยสีหน้าแห่งความสุข เขายังบอกอีกด้วยว่า เขายินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะไปเป็นวิทยากรรับเชิญให้ทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เพื่อให้ความรู้และข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อเด็กรุ่นใหม่ๆอันจะเป็นพลังสำคัญในอนาคตของชาติต่อไปอีกด้วยก่อนจะจบบทสนทนาแห่งความสุขนี้ เราแอบถามเรื่องการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงสู้งานหนักได้ เขาหัวเราะ “ผมให้ความสำคัญกับสุขภาพนะ เชื่อไหมว่าบ้านทุกหลังของผมมียิมในบ้านทั้งนั้น แต่เอาเข้าจริง ก็ไม่ค่อยได้ใช้เท่าไหร่นักหรอก เพราะงานเยอะจริงๆ แต่ถ้ามีโอกาส ผมก็จะหาเวลาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนั่นล่ะ” นอกจากนั้นบิลยังหลงใหลความสวยงามของเครื่องยนต์กลไก เขาสะสมรถยนต์สปอร์ตวินเทจไว้หลายคัน ถือเป็นความชื่นชอบ
ส่วนบุคคลจริงๆ เราขอให้เขาทิ้งท้ายฝากข้อคิดบางอย่างถึงนักธุรกิจรุ่นใหม่ๆ ที่อยากจะประสบความสำเร็จแบบเขาบ้าง “นักธุรกิจรุ่นใหม่ๆ อาจจะชอบคิดว่ามีประตูลัดเปิดไปสู่ความสำเร็จอย่างรวดเร็ว บางคนอยากจะรวยเร็วๆโดยไม่คำนึงถึงวิธีการ นั่นเป็นสิ่งที่ผิดครับ ผมมาถึงทุกวันนี้ได้เพราะผมทำงานหนัก จงจำไว้เสมอว่า ความสำเร็จไม่มีทางลัด มีแต่คนที่พยายามแบบไม่ละทิ้งเท่านั้นที่จะได้รับรางวัลเป็นความสำเร็จ เท่านี้ล่ะครับ”

ทำความเข้าใจนาฬิกาชีวภาพ กับบทสัมภาษณ์ชีวิตนกฮูกกลางคืน

Creature of the Night

ทำความเข้าใจกับนาฬิกาชีวภาพผ่านข้อเขียนของนพ. ชัชพล เกียรติขจรธาดา และฟังวิธีการปรับตัว รับมือกับวงจรชีวิตของคนกลางคืนหลากหลายอาชีพ

มีใครเป็นอย่างนี้บ้างไหมครับ คุณเป็นคนทำงานกลางคืน เวลาหลับเวลาตื่นของคุณจึงไม่เหมือนคนอื่น แม้ว่าคุณจะพยายามนอนอย่างเพียงพอแล้ว แต่หลายครั้งคุณก็ยังรู้สึกเหมือนนอนไม่พอ ไม่สดชื่น กินอาหารก็ไม่ค่อยย่อย ท้องอืดง่าย รู้สึกเหมือนสุขภาพโดยรวมไม่ค่อยดี

หลายท่านน่าจะพอรู้ว่าอาการเหล่านี้เกี่ยวข้องกับสิ่งหนึ่งในสมองของเราที่เรียกว่า “นาฬิกาชีวภาพ” แต่เคยนึกสงสัยไหมครับว่าทำไมมนุษย์จึงมีนาฬิกาอยู่ในสมอง และทำไมแค่การที่เราหลับตื่นไม่ตรงตามพระอาทิตย์ จึงมีผลกระทบต่อร่างกายได้กว้างขวางเช่นนั้น

คำตอบของคำถามนี้เริ่มต้นขึ้นหลายพันล้านปีที่แล้วครับ
นับตั้งแต่มีพระอาทิตย์และโลกของเราเกิดขึ้นในจักรวาล โลกของเราก็หมุนรอบตัวเองและหมุนรอบพระอาทิตย์มาตลอด ผลของการที่โลกหมุนรอบตัวเองก็ก่อให้เกิดแสงและเงาที่ทาบลงบนผิวโลกหมุนวนไปเรื่อยๆเกิดเป็นสิ่งที่มนุษย์เราเรียกว่า กลางวันและกลางคืน ต่อมาเมื่อมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นครั้งแรกในโลกเมื่อประมาณสามพันกว่าล้านปีที่แล้ว สิ่งมีชีวิตยุคแรกก็ต้องหาทางรับมือกับโลกกลางวันกลางคืน ซึ่งมีสภาพแวดล้อมต่างกันอย่างสิ้นเชิง กลางวันมีแดดแรง อุณหภูมิสูงแล้วยังมีรังสียูวีที่อันตรายต่อพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต พอตกกลางคืนแสงยูวีลดลงแต่อุณหภูมิก็อาจจะต่ำจนไม่เหมาะกับการทำงานของเอนไซม์ต่างๆ สิ่งมีชีวิตเริ่มแรกทั้งหลายจึงต้องมีกลไกหรือพฤติกรรมที่ปรับให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่ต่างกันมากเช่นนี้

ต่อมาโลกยิ่งอยู่ยากขึ้นไปอีกเพราะเมื่อประมาณสองพันล้านกว่าปีก่อนมีสิ่งมีชีวิตชนิดเล็กๆชนิดหนึ่งค้นพบวิธีการนำแสงอาทิตย์มา “สังเคราะห์แสง” ขึ้น ผลของการสังเคราะห์แสงนี้ก่อให้เกิดก๊าซพิษชนิดใหม่ที่มีชื่อว่าออกซิเจน ปนเปื้อนไปในบรรยากาศ ก๊าซออกซิเจนที่อันตรายนี้ก่อให้เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตต่างมากมายไปทั่วโลก ยิ่งช่วงกลางวันที่แสงแดดจัดๆ ออกซิเจนยิ่งมีความเข้มข้นสูง กลางวันซึ่งมีแสงแดดสำหรับสังเคราะห์แสงสูงจึงอันตรายมาก และเป็นช่วงเวลานี้เองที่มีสิ่งมีชีวิตบางอย่างวิวัฒนาการเกิดมีระบบนาฬิกาชีวภาพขึ้นมาในร่างกาย การมีนาฬิกาในร่างกายทำให้ชีวิตง่ายขึ้นมาก สิ่งมีชีวิตที่มีนาฬิกาในร่างกายสามารถรู้ว่ากลางวันที่อันตรายจะมาถึงเมื่อไหร่ จึงปรับกลไกในร่างกายให้เหมาะสมเพื่อจะรับกับช่วงเวลาที่อันตรายนั้นได้อย่างดี

ต่อมาไม่นานก็มีสิ่งมีชีวิตที่เรียนรู้วิธีการนำก๊าซพิษออกซิเจน  ที่ปนเปื้อนไปทั่วโลก มาใช้ให้เป็นประโยชน์ นั่นคือนำออกซิเจนมาเผาอาหารที่กินเข้าไป เกิดเป็นสิ่งที่เรารู้จักทั่วไปในชื่อ“การหายใจ” ขึ้น จากนั้นมาการหนีก๊าซออกซิเจนจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป อย่างไรก็ตามระบบนาฬิกาชีวภาพก็ยังมีประโยชน์อยู่ เพราะมาถึงตอนนี้แล้วกลไกในร่างกายของสิ่งมีชีวิตต่างๆทำงานสัมพันธ์กับการขึ้นลงของพระอาทิตย์อย่างกลมเกลียวจนยากจะแยกจากกันได้แล้ว

โลกในยุคปัจจุบัน มนุษย์ซึ่งวิวัฒนาการมาจากสิ่งมีชีวิตที่เล่าไปข้างบน เราจึงมีทั้งระบบนาฬิกาและระบบการหายใจในร่างกายและเราไม่ได้มีนาฬิกาแค่เรือนเดียว แต่มีในเกือบทุกๆเซลล์ของร่างกายนับแสนล้าน หรืออาจจะถึงล้านๆเรือนกระจายทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นในเซลล์ผม เซลล์กล้ามเนื้อ เซลล์ไต ฯลฯ และเพราะนาฬิกาเหล่านี้อวัยวะต่างๆในร่างกายจึงทำงานสัมพันธ์กันด้วยดี

เมื่อร่างกายเราเต็มไปด้วยนาฬิกา ก็มีความเป็นไปได้ที่นาฬิกาจะเดินไม่เท่ากันใช่ไหมครับ แต่โชคดีว่าเรามีนาฬิกากลางตัวหนึ่งอยู่ในสมอง ที่คอยเทียบเวลาให้กับนาฬิกานับล้านในร่างกาย โดยนาฬิกาในสมองจะคอยใช้แสงแดดจากพระอาทิตย์ที่ผ่านเข้าดวงตา เป็นตัว “จูน” หรือเทียบเวลาอีกต่อหนึ่ง ทั้งหมดนี้อาจจะพูดได้ว่าพระอาทิตย์ช่วยทำให้เซลล์ต่างๆที่ประกอบเป็นร่างกายของเราทำงานสัมพันธ์กลมกลืนกันมาช้านาน แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว สิ่งที่ธรรมชาติคาดไม่ถึงก็คือมนุษย์ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าได้!!

แต่ไหนแต่ไรมา แหล่งของแสงไฟที่เข้าตามนุษย์จะมีแค่จาก   4 แหล่งเท่านั้น ได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ ดวงดาว และกองไฟ ที่มนุษย์ก่อขึ้น (ไม่นับหิ่งห้อย) แสงไฟใหม่ชนิดนี้ไม่เพียงส่องสว่างไม่เป็นเวลา ยังส่องสว่างได้ตลอดทั้งวันทั้งคืน และยิ่งไปกว่านั้นส่องสว่างด้วยแสงสีฟ้าได้อีกด้วย (ซึ่งกวนระบบนาฬิกาในสมองได้มาก ต่างจากกองไฟที่แสงสีแดงเด่น) จากนั้นมามนุษย์ก็เริ่มนอนดึกมากขึ้นเรื่อยๆจนเกิดการใช้ชีวิตตอนกลางคืนขึ้นมาได้อย่างจริงจัง

กลับมาที่คนทำงานกลางคืน ในทางทฤษฎีแล้วเป็นไปได้ที่เราจะจัดฉากหลอกนาฬิกาในสมอง (ด้วยผ้าปิดตาเวลานอน แว่นกันแดด แสงไฟฟ้า) ให้เหมือนว่าเราหลับตื่นตามพระอาทิตย์ แต่ในชีวิตจริงเนื่องจากสังคมในโลกปัจจุบันออกแบบมาให้เหมาะกับคนที่ตื่นตอนพระอาทิตย์ขึ้นและเข้านอนตอนพระอาทิตย์ตกดิน ทำให้หลายครั้งคนทำงานกลางคืนต้องสลับมาใช้เวลาหลับตื่นเหมือนคนทั่วไปเป็นระยะๆ ช่วงเวลาที่ต้องสลับการหลับตื่นบ่อยๆนี้อาจจะก่อให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Social Jetlag เมื่อใดก็ตามที่เวลาหลับตื่นเปลี่ยนแปลง นาฬิกาในสมองและนาฬิกาทั่วร่างกายก็จะรวนไปพักนึง ผลคือ ระบบต่างๆในร่างกายก็จะทำงานไม่สัมพันธ์กัน ถ้าภาวะนี้เกิดขึ้นบ่อยๆนานๆ สุขภาพก็จะไม่ดีเสี่ยงที่จะป่วยได้ง่ายขึ้น

คำถามที่หลายท่านคงจะอยากรู้คือ มีทางลัดจะเอาชนะระบบนาฬิกานี้ไหม เสียใจที่ตอบว่าไม่มีวิธีที่มีประสิทธิภาพ 100% ครับ เพราะรากฐานของระบบนี้ถูกวางไว้แล้วนับเป็นพันล้านปีเชียวนะครับ

แม้ว่ามนุษย์เราจะเอาชนะธรรมชาติได้มากมาย แต่มีบางอย่างที่มนุษย์ต้องเคารพกฎของธรรมชาติอยู่ การนอนเป็นหนึ่งในนั้นครับ

Teepagorn Wuttipitayamongkol

นักเขียน นักแปล และผู้ร่วมก่อตั้ง The Matter

บางคนอาจจะทำงานกลางคืนหรือกลางวันได้อย่างเดียว แต่สำหรับผม ผมปรับเปลี่ยนชีวิตและวิถีการทำงานได้เรื่อยๆแล้วแต่สถานการณ์ครับ” แชมป์ให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำเสียงราบเรียบ “งานส่วนใหญ่ที่ทำกลางคืนคืองานเขียนชิ้นงานยาวๆที่ต้องอาศัยสมาธิต่อเนื่อง ส่วนกลางวันทำงานประเภทติดต่อประสานงาน ดูแลทีม ประชุม หรือเขียนงานคอลัมน์สั้นๆที่ไม่ต้องใช้ความต่อเนื่องมาก เพราะกลางวันเป็นช่วงเวลาที่มีคนขัด หรือเรียกตลอดเวลาไม่มีชั่วโมงไหนที่สามารถทำงานชิ้นยาวๆได้ทั้งชิ้นโดยไม่ถูกรบกวน ทำให้รวบรวมสมาธิไม่ได้ในตอนกลางวันครับ”

ด้วยลักษณะงานที่หลากหลายของแชมป์ ทำให้เขามีตารางการใช้ชีวิตที่ปรับเปลี่ยนไปแล้วแต่ลักษณะงาน ณ ขณะนั้น ถ้าเป็นช่วงที่ต้องทำงานยาวๆ ผมจะนอนตีสี่ ตื่นเที่ยง แต่ถ้าไม่มีงานแบบนั้น สักตีสองก็นอนแล้ว ไม่เกินนั้น ผมต้องนอนให้ได้หกชั่วโมง ก็ชดเชยให้พอในแต่ละวันก็พอครับ เพราะถ้านอนไม่พอ ผมจะทำงานไม่ได้เลย” แชมป์บอกว่าเขาสามารถทำงานเวลาไหนก็ได้จริงๆ คือสามารถมีพลังงานทำงานได้ทุกเวลา ขอเพียงนอนให้พอเท่านั้น ในขณะที่หลายคนอาจจะมีพลังงานในเฉพาะช่วงกลางวัน ส่วนอีกหลายคนจะคิดงานออกเฉพาะหลังพระอาทิตย์ตกดินเท่านั้น เป็นโชคดีของเขาที่ชีวิตเขาไม่ใช่แบบนั้นเลย บางคนอาจจะถามว่าถ้าสามารถเป็นแบบนั้น ทำงานแบบสั่งได้ขนาดนั้น ทำไมถึงไม่ตื่นแต่เช้ามานั่งทำงานเขียนก่อนจะออกไปทำงานที่ต้องพบปะผู้คนล่ะ ผมเคยทำแล้ว แต่พบว่าพลังงานในช่วงนั้นไม่เหมาะกับการเขียนมากเท่ากับตอนกลางคืน เพราะเรารู้ตัวว่าเดี๋ยวต้องออกไปข้างนอกแล้ว ทำให้เราเขียนไม่เต็มที่มากนัก ในขณะที่กลางคืน การนอนไม่ใช่อุปสรรค เพราะเราไม่ได้นัดกับใครไว้ว่าเราจะนอนตอนกี่โมง เราเขียนจบเมื่อไหร่ค่อยนอน เป็นแบบนี้จะดีกว่าครับ”

ชั่วโมงการทำงานที่พีคที่สุดของแชมป์คือเมื่อตอนที่หนังสือเร่งส่งมากๆ เขาใช้เวลาเขียนโดยไม่นอนทั้งคืนเลยทีเดียว ผมเคยไม่นอนได้นานสุดสามวันครับ มีงีบสักชั่วโมงหนึ่งตอนกลางวันเท่านั้นครับ แต่พอย่างเข้าสามสิบ ทำไม่ได้แล้วครับ ร่างกายประท้วง ดังนั้น ช่วงที่เขียนหนังสือเร่งๆ ผมจะใช้วิธีเขียนบทหนึ่ง นอนพักชั่วโมงหนึ่ง สลับไปเรื่อยๆจนกระทั่งเสร็จ ทำแบบนี้ไม่เกินห้าวันหนังสือเสร็จเลยครับ แต่ช่วงนั้นตารางชีวิตก็ตันไปเลยครับ
พอหนังสือจบ ค่อยมาปรับจูนตารางชีวิตใหม่” อย่างไรก็ดี แชมป์ไม่ค่อยจะป่วยหนักแบบล้มหมอนนอนเสื่อเท่าใดนัก แต่เขาเป็นหวัดหรือปวดหัวนิดหน่อยอยู่บ่อยๆ
ซึ่งมักจะเกิดจากการออกกำลังกายแล้วไม่คูลดาวน์ร่างกายมากกว่า
ไม่ได้เกิดจากการนอนดึก และอาการเหล่านั้นจะหายไปเองเมื่อเขาพักผ่อนชดเชยเพียงพอ

แชมป์บอกว่า เขาไม่ค่อยคิดถึงผลเสียต่อร่างกายที่มาจากการทำงานขนาดนี้ เพราะใจเขามีแต่เรื่องงานเท่านั้น หลังจากงานชิ้นนั้นๆจบลง เขาจะกลับมาจัดการกับตัวเอง ออกกำลังกาย นอนให้พอเพียง กินอาหารดีๆ แต่หลังจากอายุหลังสามสิบมา นอกจากร่างกายที่ประท้วงแล้ว ความรับผิดชอบในฐานะผู้บริหารทำให้เขาต้องมีปฏิสัมพันธ์กับทีมมากขึ้น เขามักจะเก็บพฤติกรรมการทำงานสุดโต่งแบบนี้ไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจริงๆ เท่านั้น ถ้าเป็นงานเขียนคอลัมน์ ปกติ เขาจะพยายามใช้ชีวิตแบบ    ปกติให้ได้มากที่สุด

ถ้าเลือกได้จริงๆ คือหมายความว่าถ้าคนอื่นที่เราติดต่องานไม่ต้องย้ายมาใช้ชีวิตตามเรา ผมเลือกใช้ชีวิตกลางคืนครับ เพราะเย็นกว่า สงบกว่า งานของผมเป็นงานที่ต้องอยู่กับตัวเองเยอะมาก ผมไม่อยากจะให้ไลน์เด้งขึ้นมาตลอดเวลา มานั่งตอบเฟซบุค หรือวิ่งไปประชุม ผมอยากมีเวลาอยู่กับตัวเองเยอะๆ นั่งเขียนงานไปเรื่อยๆ ทำอะไรของตัวเองให้ได้ตลอด ถ้าผมเลือกย้ายงานมาอยู่กลางคืนได้หมด และติดต่องานกับคนอื่นในเวลากลางวันได้เท่านั้น ผมชอบจะอยู่กลางคืนมากกว่า”

FB: Champ Teepagorn

Chanakan Rattana-udom

ศิลปินและนักร้องค่ายไวท์มิวสิค ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่

หลังจากปล่อยซิงเกิ้ลเพลงฟังสบายออกมาให้เราฟังกันได้สักพัก ศิลปินเสียงดีคนนี้กำลังซุ่มเก็บตัวออกอัลบั้มเต็มให้แฟนๆฟังอยู่ในไม่ช้านี้ ในวันที่เราสัมภาษณ์เขาทางโทรศัพท์ เขาอยู่ระหว่างการเดินทางข้ามจังหวัดไปจัดคอนเสิร์ต ผมใช้ชีวิตกลางคืนหนักๆช่วงออกทัวร์คอนเสิร์ตครับ ถ้าเป็นช่วงอัดเสียง ผมทำงานถึงแค่เย็นๆหรือค่ำๆเท่านั้นครับ” อะตอมบอก ผมเป็นคนนอนค่อนข้างดึกมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้วครับ แต่ในช่วงเดินทาง ออกคอนเสิร์ตบ่อยๆ ต้องใช้ชีวิตกลางคืนอย่างจริงจัง มีรู้สึกนิดหน่อยครับว่าร่างกายไม่โอเค แต่ก็ปรับตัวครับ นอนชดเชยให้มากขึ้น กินอาหารดีๆหลังๆ
จึงปรับตัวได้ครับ”

อะตอมชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็กๆ เขาเคยหัดเล่นกีตาร์มาบ้าง แต่ใจรักในการร้องเพลงอยู่เป็นทุนเดิม เขาบอกว่าเขาโชคดีมากที่มีครอบครัวและเพื่อนๆคอยสนับสนุน การมีอาชีพเป็นนักร้องไม่ได้ทำให้ผมเจอครอบครัวน้อยลงนะครับ ไม่กระทบเลย แต่    การเดินทางเยอะๆในช่วงโปรโมทคอนเสิร์ตอาจจะกระทบบ้าง ไม่มากเท่าไหร่หรอกครับ แต่อย่างที่บอกไปว่าผมใช้ชีวิตแบบนั้นเฉพาะช่วงเดินสายโปรโมทเท่านั้น พอจบตรงนี้ผมจะไปเข้าห้องอัด ใช้ชีวิตปกติแล้วครับ”

หลังจากจบการเดินสายโปรโมทเล่นคอนเสิร์ตทั่วประเทศแล้ว ชีวิตของอะตอมจะดีดกลับมาเป็นคนใช้ชีวิตในกลางวันแบบปกติ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าไม่ว่าจะใช้ชีวิตแบบไหนก็ตาม ถ้าดูแลตัวเองและระมัดระวังพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่มีปัญหาอะไรแน่นอน

แม้ว่าจะนอนดึกจนชิน แต่อาชีพของอะตอมไม่ได้บังคับให้เขาทำงานกลางคืนจนเป็นกิจวัตร อะตอมยังสลับมาใช้ชีวิตกลางวันได้บ้าง เรียกได้ว่าเขาสามารถมีชีวิตทั้งสองขั้วได้อย่างดี เพียงต้องอาศัยการเฝ้าระวังและฟังเสียงของร่างกายตัวเองให้มากกว่าคนที่ใช้ชีวิตอย่าง ปกติ’ เล็กน้อยเท่านั้น

FB: Atom (@atomoatomofficial)

Chatchai Wisitsak

ดีเจ

ดีเจไท้ หรือที่รู้จักกันในวงการว่า Taidy เป็นดีเจประจำผับ หลักๆเขาทำงานที่ DND และ Gravity คนในวงการกลางคืนจะคุ้นหน้าคุ้นตาเขากับตัวเอเลี่ยนในคลิปไวรอลที่เล่นเป็นเสมือนตัวเขาในบทบาทดีเจ ไท้ใช้ชีวิตกลางคืนแบบนี้มาตั้งแต่สมัยที่เขาเป็นดีเจสมัครเล่นตอนเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ถ้าทำงานเป็นดีเจจริงๆได้ประมาณสี่ห้าปีแล้วครับ แต่ผมเป็นดีเจในอีเวนต์ต่างๆมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้วครับ เริ่มต้นคือการไปจัดปาร์ตี้ตามร้านอาหารกับเพื่อนๆ เชิญคนโน้นคนนี้มา แล้วประสบความสำเร็จ เริ่มเป็นที่รู้จัก ได้มีงานเข้ามาเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นอาชีพจริงจังครับ”

ด้วยลักษณะงานของไท้ ทำให้เขาไม่เคยได้ทำงานตอนกลางวันเลย แต่เขาออกตัวว่าเขาเป็นคนนอนค่อนข้างน้อยเป็นปกติอยู่แล้ว วันทำงาน ผมนอนประมาณตีสี่ สิบโมงไม่เกินสิบเอ็ดโมงก็ตื่นแล้วครับ ตอนนี้เพิ่งอายุ 25 ปี ผมไม่คิดว่ามีผลกระทบอะไรโดยตรงต่อสุขภาพนะครับ ถ้าจะกระทบ น่าจะเป็นเพราะดื่มเหล้าสังสรรค์มากกว่าครับ ไม่เกี่ยวกับเวลานอน แต่อาจจะเพราะว่าร่างกายของผมชินกับการนอนดึกแบบนี้อยู่แล้วนะครับ แต่ถ้าอายุมากขึ้น ก็คงต้องหันมารักสุขภาพให้มากขึ้นครับ”

ในเรื่องของชีวิตส่วนตัว ไท้ยืนยันว่าความสัมพันธ์กับคนรอบข้างไม่มีกระทบอะไร เขาพบเจอและสังสรรค์กับเพื่อนฝูงได้ตลอดเวลา ผมคิดว่าผมเจอเพื่อนได้บ่อยกว่าคนที่ทำงานประจำอีกครับ เพราะผมว่างเกือบตลอดเวลา กับแฟนก็เจอช่วงบ่ายถึงเย็นก่อนเริ่มงาน บางครั้งแฟนก็ตามไปที่ทำงานด้วยครับ สำหรับผม การใช้ชีวิตแบบนี้ไม่กระทบจริงๆครับ ทุกอย่างอยู่ในโลกออนไลน์หมด เราเสพสื่ออะไรได้เหมือนเดิมครับ ไม่ตกข่าวอะไรหรอก” ไท้จบบทสนทนาด้วยน้ำเสียงหัวเราะ พลางเสริมว่า เขาตั้งใจจะทำอาชีพดีเจไปเรื่อยๆ และใช้ช่องทางออนไลน์โปรโมทตัวเอง เพราะเขาหวังจะทำเพลงของตัวเองต่อไปในอนาคต

FB: Chatchai Wisitsak

Anuphon Kariwan

Head Bartender / Mixologist

ผมเริ่มทำอาชีพบาร์เทนเดอร์มาได้ประมาณสองปีแล้วครับ ก่อนหน้านี้ผมทำธุรกิจส่วนตัวกับที่บ้าน
ใช้ชีวิตกลางวันปกติครับ” ซัน หัวหน้าบาร์เทนเดอร์และมิกโซโลจีสประจำร้าน Track 17 โครงการทองหล่อคอมมอนส์ให้สัมภาษณ์  ตอนแรกไม่คิดจะเป็นบาร์เทนเดอร์หรอกครับ แต่ไปเที่ยวที่นิวยอร์ก เจอเพื่อนที่ทำงานที่นั่น เห็นว่าเขาทำงานได้ทิปเยอะมาก เลยฝึกบ้างจริงจัง คิดว่าจะกลับไปทำงานที่นิวยอร์กบ้าง แต่พอได้ทำงานที่ประเทศไทย ก็เลยอยู่ประเทศไทยยาวเลยครับ”

ซันบอกว่า ก่อนที่เขาจะต้องใช้ชีวิตมนุษย์กลางคืนเนื่องด้วยอาชีพการทำงาน เขาเป็นมนุษย์กลางวันโดยแท้จริง ถ้าวันไหนไม่ได้เที่ยวกลางคืน สี่ห้าทุ่มก็หัวถึงหมอนแล้ว แต่สถานการณ์ชีวิตในปัจจุบันคือ เขาเลิกงานตีหนึ่ง นอนประมาณตีสองตีสาม ตื่นไม่เกินสิบโมงเช้า เขาเป็นบาร์เทนเดอร์ประจำ ไม่ต่างจากการทำงานประจำ ชีวิตเขาจึงเป็นแบบนี้ทุกวัน ตั้งแต่ทำงานแบบนี้ ได้เจอเพื่อนน้อยลงเยอะครับ เพราะหยุดไม่เหมือนคนอื่น ผมได้หยุดงานจริงๆเฉพาะวันพระเท่านั้น เลยได้เจอเพื่อนเฉพาะวันหยุดที่บังเอิญตรงกันเท่านั้น ส่วนกับแฟน แฟนเข้าใจครับ อาจจะมีง้องแง้งบ้างนิดหน่อย แต่ไม่ถือว่าเป็นปัญหาจริงจังครับ พ่อแม่ไม่มีปัญหาเลยครับ ท่านสนับสนุนผมเต็มที่เสมอ ไม่ว่าผมจะทำอะไร”

ร่างกายของซันปรับตัวจนกระทั่งสามารถทำงานกลางคืนได้อย่างไม่มีปัญหา และเขายังมองเห็นข้อดีอีกว่า เขาไม่ต้องตื่นเช้า ไม่ต้องเบียดเสียดคนจำนวนมหาศาลบนรถไฟฟ้า เดินทางสะดวก และในวันหยุด เขากลับมาใช้ชีวิตปกติกับเพื่อนฝูง แฟน และครอบครัวได้อย่างสบายไม่มีปัญหาอะไร

ร่างกายมนุษย์จะมีแรงตอนกลางวันมากกว่าอยู่แล้วครับ ดังนั้นถ้าทำงานแบบผม ต้องคอยเซฟพลังงานให้ดีๆ ถ้ารู้ว่าต้องทำงานยาวตอนกลางคืน ผมจะพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้แบตหมดกะทันหันระหว่างทำงานครับ”

Nicholas Pelloie

หัวหน้าแผนกครัวเบเกอรี โรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ

เชฟนิโคลาส์ทำงานเป็นพ่อครัวเบเกอรีมาได้ 20 ปีแล้ว เขาเพิ่งมารับตำแหน่งหัวหน้าแผนกครัวเบเกอรี โรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ ได้ปีครึ่ง เป็นครั้งแรกที่เขาได้ทำงานในประเทศไทย หลังจากเป็นเชฟเบเกอรีในทวีปเอเชียมาได้กว่า 12 ปี ผมเรียนรู้งานที่ทวีปยุโรปครับ แต่ผมชอบเอเชียมากกว่า”

ถ้าคุณคิดจะทำอาชีพเชฟเบเกอรี คุณต้องหลงใหลมันมากๆ ผมไม่คิดว่านี่คือ งาน’ หรอกครับ แต่คือสิ่งที่ผมรักที่จะทำมากกว่า” เชฟนิโคลาส์เล่าให้เราฟังว่าการเป็นเชฟเบเกอรีนั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยในการทำงานมากมาย ทั้งการทำงานกับทีม การเตรียมงานต่างๆ รวมไปถึงการคิดค้นหาสูตรใหม่ๆเราทำงานประมาณสิบถึงสิบสองชั่วโมง งานเบเกอรีต้องเริ่มทำตั้งแต่หัววัน คือเริ่มงานกันสี่ทุ่ม และทำงานไล่ไปจนแปดโมงเช้า เพื่อให้ขนมปังต่างๆ เสร็จพร้อมเสิร์ฟเป็นอาหารเช้าให้แขกครับ ในส่วนของงานเพสทรี ไม่จำเป็นต้องทำงานกลางคืนครับ ดังนั้น ผมกับทีมจึงมีการคุยกันตลอดเวลา เพื่อสลับสับเปลี่ยนเวลาทำงานให้ทุกคน ในทีมมีความสุขมากที่สุด ส่วนตัวผมคิดว่าการทำงานกลางคืนไม่กระทบอะไรกับชีวิตผมมาก อาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ เพราะผมมีเวลาไปรับลูกส่งลูก มีเวลาอยู่กับลูกในตอนที่ไม่ทำงานได้มากกว่า แต่สำหรับทีมบางคน เขาอาจจะไม่สะดวก ก็ต้องปรับจูนกันไปครับ”

เชฟนิโคลาส์ไม่ได้ชอบหรือชังการทำงานกลางคืนเป็นพิเศษ ระหว่างการให้สัมภาษณ์ เรามองออกว่าเขาหลงใหลการอบขนมปังเสียจนกระทั่งเขาไม่ใส่ใจว่าเขาจะทำงานเวลาไหน ขอเพียงได้ทำงานเท่านั้น การสร้างสรรค์ขนมปังใหม่ๆขึ้นมา ผมจะออกไปหาแรงบันดาลใจข้างนอก ไปดูขนมปังที่คนอื่นทำ เอามาปรับเปลี่ยนส่วนผสม ขนมปังที่คุณเห็นว่าหน้าตาเหมือนกันทุกวันนั้นไม่ใช่เลยครับ มีรายละเอียดต่างๆที่ไม่เหมือนกันครับ และผมมีความสุขกับการทำขนมปังจริงๆ”

bangkok.peninsula.com

Nop Phoomthaisong

ผู้ก่อตั้งบริษัท MAYASEVEN

นพประกอบอาชีพหน้าจอที่เรียกว่า Penetration Testing หรือเรียกกันแบบเข้าใจง่ายคืองานเจาะระบบเพื่อทดสอบระบบความปลอดภัยให้กับบริษัทลูกค้า (หรือจะง่ายกว่านั้นคือ นพเป็นแฮ็กเกอร์มืออาชีพนั่นเอง) ลักษณะงานคือการทำให้ลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทใหญ่   ที่ต้องอาศัยความปลอดภัยใน ระบบไอทีมากๆ อย่างอุตสาหกรรมการเงิน การธนาคาร สายการบิน และประกันภัย ตอนนี้ผมมีลูกค้าหลากหลายครับ เพราะความปลอดภัยทางไซเบอร์ถือเป็นเรื่องสำคัญในโลกยุคปัจจุบัน”

หลังจากได้คอมพิวเตอร์เป็นของตัวเองตั้งแต่มัธยมหนึ่ง นพหลงใหลกับข่าวของแฮ็กเกอร์ และเบนเข็มเข้าสายงานทดสอบเจาะระบบเพราะสามารถใช้ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ได้หลากหลายมากกว่างานเน็ตเวิร์กอื่นๆ ตอนที่ผมยังไม่ตั้งบริษัทที่ต้องมีติดต่อกับคนอื่น ผมทำงานกลางคืนเลยครับ เหตุผลหลักๆคือเพื่อเทสต์ระบบเพื่อจะได้ไม่กระทบระบบที่ใช้งานกลางวัน ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือ ผมสามารถคิดหาทางเจาะระบบใหม่ๆได้ดีเวลาทำงานกลางคืน เพราะต้องมีการบิวด์อารมณ์ก่อนและต้องนั่งทำยาวๆ การทำงานกลางคืนจะไม่มีอะไรมาขัดได้ง่ายเหมือนกลางวัน จึงทำงานได้ต่อเนื่องกว่า และทำได้ดีกว่าครับ”

นพนอนประมาณตีสาม ตื่นไม่เกินสิบโมงเช้า ถ้างานบริษัทให้ทดสอบระบบโดยไม่กระทบต่อยูสเซอร์ เขาจะทำงานช่วงเที่ยงคืนถึงหกโมงเช้า แต่โดยปกติเขาทำงานตั้งแต่ตื่นนอนไปจนถึงเข้านอนอีกครั้งหนึ่ง ผมหลงใหลในด้านนี้ครับ ไม่ถือว่าเหนื่อยเลย” เขาบอก เรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ
ไม่กระทบเลยครับ เพราะคนรอบตัวผมนอนดึกกันหมด แต่ออกตัวก่อนนะครับว่าผมเป็นคนนอนเยอะครับ วันละแปดชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ถ้าผมนอนไม่พอ ผมจะไม่สดชื่น คิดงานไม่ออกครับ ดังนั้น ถึงผมจะทำงานกลางคืน แต่ผมก็ไม่ได้อดนอนนะครับ เวลานอนปกติจริงๆ”

www.mayaseven.com

Panupong Wannaruk

ช่างตัดต่อรายการโทรทัศน์

อีกหนึ่งอาชีพที่นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ตลอดเวลาคือช่างตัดต่อรายการโทรทัศน์ ป๊อปเคยทำงานประจำที่บริษัทใหญ่ในฐานะช่างตัดต่ออยู่นาน ตอนนี้เขาออกมาทำอาชีพเดิมในฐานะฟรีแลนซ์   ไร้สังกัด แต่พฤติกรรมการทำงานของเขาก็ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนไป ผมทำงานกลางคืนเป็นส่วนใหญ่ครับ เพราะเงียบ สงบ ไม่ร้อน คิดงานได้มากกว่าทำงานกลางวันครับ ถ้าเป็นงานตัดต่อนะ” ป๊อปตอบคำถามเราแบบสงวนคำพูด ผมทำงานคนเดียวตอนกลางคืน ทำเสร็จเอาไปให้ทีมดูในตอนเช้า แต่ถ้าต้องมีติดต่อกับลูกค้าหรือคนอื่นที่ต้องทำกลางวัน ก็ต้อง   ทำกลางวันล่ะครับ แต่ส่วนใหญ่ถ้าปรึกษาหรือคุยงานกับคนในทีม ผมเลือกทำกลางคืนครับ”

วงจรชีวิตของป๊อปคือเข้านอนประมาณตีห้า ตื่นเที่ยง สมัยทำงานประจำ เขาเข้างานเที่ยง ทำงานถึง   ห้าโมงเย็น พักกินข้าว สังสรรค์ กับเพื่อนฝูง เตะบอลตามอัธยาศัย จนล่วงถึงสี่ทุ่ม ได้เวลากลับเข้ามาทำงานต่อจนถึงตีสาม พอออกมาเป็นฟรีแลนซ์ เขาตื่นเที่ยงเช่นเคย ทำธุระติดต่องานกับคนอื่น ก่อนจะเก็บตัวทำงานหน้าจอคอมพ์ตั้งแต่ทุ่มไปจนถึงตีห้าซึ่งเป็นเวลานอน ผมใช้ชีวิตแบบนี้มาตั้งแต่เริ่มทำงานครับ ผมเคยลองพยายามทำงานกลางวัน แต่ไม่สำเร็จ เพราะง่วงและร้อน ถึงจะนอนพอ ผมก็ง่วง คิดงานไม่ออก นั่งเสียเวลาไปเฉยๆ พอทำงานกลางคืน ใส่หูฟัง อยู่กับตัวเอง คนเดียว   นี่งานไหลเลยครับ”

ป๊อปบอกว่าเขาเคยคิดอยากจะปรับตัวกลับมาใช้ชีวิตกลางวันเหมือนคนอื่นดูบ้าง แต่ไม่เห็นผล เขาคิดงานตอนกลางวันไม่ออกจริงๆ ดังนั้นเขาจึงเลือกใช้ชีวิตกลางคืนอย่างเต็มใจ ความสัมพันธ์กับครอบครัวไม่กระทบเลยครับ ผมว่าไม่เกี่ยวกันเลยนะครับ ในส่วนของความสัมพันธ์กับแฟน เขาทำงานคล้ายกับผม ชอบทำงานกลางคืนเหมือนกัน ใช้ชีวิตแบบนี้มาได้แปดปีแล้วครับ คงเปลี่ยนลำบากแล้วล่ะ”

รู้จักกับไฟแช็กระดับไฮคลาส ที่ไม่ใช่เพียงแค่หยิบขึ้นมาจุดบุหรี่หมดแล้วก็ทิ้งไป

Art of flame

ทำความรู้จักกับ ‘ไฟแช็ก’ และประวัติศาสตร์ความเป็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงแนวโน้มในอนาคต

<<ย้อนกลับไปสักสองทศวรรษที่แล้ว เมื่อครั้งที่บุหรี่ยังดูไม่เป็นเรื่องร้ายแรงอย่างในปัจจุบัน ไม่มีป้ายหรือเครื่องหมายปิดประกาศห้ามสูบในที่สาธารณะ ตามสถานบันเทิง ร้านอาหาร และโรงแรมยังสามารถ
สูบบุหรี่ได้อย่างเสรี ช่วงเวลานั้นคือยุคทองของไฟแช็กหลายแบบหลายยี่ห้อ อาทิ S.T. Dupont (เอส.ที. ดูปองต์) Dunhill (ดันฮิลล์) Zippo (ซิปโป้) Ronson (รอนสัน) และ Vinci (วินชี่)>>

แต่ละแบรนด์ต่างก็ออกดีไซน์และการออกแบบที่สวยงามมาให้จับจองกันอยู่ตลอดเวลา บางแบรนด์
ถึงขั้นผลิตไฟแช็กทองคำแท้ออกมาเพื่อนักสะสมหรือคนกระเป๋าหนักโดยเฉพาะ ในยุคนั้น ไฟแช็กที่
แสนแพงเหล่านั้นไม่ได้ถูกเก็บใส่กล่องเพื่อการสะสมแบบในตอนนี้ แต่ถูกนำออกมาใช้งานให้เห็นกันละลานตามากทีเดียว

สำหรับไฟแช็กทั้ง 5 แบรนด์ที่กล่าวมานั้นต่างก็มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกัน S.T. Dupont จากประเทศฝรั่งเศสมีรุ่นคลาสสิกที่ใครต่อใครต่างชื่นชอบและถวิลหาที่จะได้ครอบครอง ซึ่งความคลาสสิกของรุ่นนี้ก็ได้แก่เสียงดัง ‘กริ๊ก’ ให้ได้ฟังกันทุกครั้งที่เปิดฝา และเจ้าเสียงนี้สามารถปรับให้ดังหรือเบาลงได้โดยการปรับแต่งน็อตแต่งเสียง เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ฮิตมากๆ ในขณะนั้น แต่ส่วนสำคัญของ S.T. Dupont นั้นไม่ได้มีเพียงเสียง แต่มีเรื่องของลวดลายที่แกะสลักเป็น
คอลเลกชั่นพิเศษ บางคอลเลกชั่นผลิตออกมาจำนวนน้อยและปัจจุบันมีราคาค่าตัวที่สูงมาก ถัดมาคือ Dunhill หนึ่งในไฟแช็กระดับตำนานจากเกาะอังกฤษ โด่งดังจากรุ่นที่ฝาปิดเป็นรูปทรงหัวรถจักรโบราณ และใช้น้ำมันในการจุดแทนแก๊ส ต่อมาได้พัฒนาเป็นระบบแก๊ส และเปลี่ยนรูปทรงเป็นแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบมีฝาปิด แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่ารุ่นต้นตำรับ ซึ่งก็ทำให้ความนิยมของ Dunhill ลดลง แต่รุ่นต้นตำรับกลับมีราคาถีบตัวสูงขึ้นไปแทน ถัดมาคือ Zippo จากประเทศอเมริกาเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ยังไม่ตายและได้รับความนิยมสูงสุด รูปทรงคลาสสิกเป็นสี่เหลี่ยมหัวมนหรือหัวตัด ใช้งานโดยการเปิดฝาและดึงไส้ออกมาเพื่อเติมน้ำมัน ดูแลรักษาได้ง่าย เป็นที่นิยมของนักสะสมไฟแช็กทั่วโลก แต่สิ่งสำคัญใน
การเล่น Zippo นั้นก็ต้องเลือกให้ถูกรุ่น ถูกคอลเลกชั่น ถูกปี เพราะรุ่นที่คนไม่นิยมราคาก็ดำดิ่งลงไปเหลือเพียงหลักร้อย แต่รุ่นที่คนนิยมนั้นออกจากร้านมาเพียงไม่กี่พัน แต่ราคาถีบตัวขึ้นไปประชันกับ Dunhill หรือ S.T. Dupont ได้เลย ส่วน Ronson จากประเทศอเมริกา เป็นแบรนด์เดียวที่ดังในรุ่นปุ่มกด โดยคุณไม่ต้องสไลด์ลูกกลิ้งหรือแกนหมุนเพื่อจุดไฟ จะใช้ระบบการจุดไฟคล้าย Zippo ไฟแช็กหลายรุ่นของ Ronson นั้นมีราคาค่าตัวที่สูงมาก และบางรุ่นผลิตจากทองคำแท้ แต่ในปัจจุบัน Ronson ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Zippo ไปตั้งแต่ปีค.ศ. 2010 และเหลือเพียงผลิตภัณฑ์น้ำมันไฟแช็กสำหรับเติม ที่เป็นกระป๋องสีเหลืองตัดน้ำเงินให้คุณได้เห็นเท่านั้น และสุดท้ายคือ Vinci แบรนด์ไฟแช็กไฮเอนด์ที่พูดไปแล้วเด็กๆต้องงงกันแน่นอนเพราะเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่เลิกผลิตไปแล้ว แต่จริงๆนั้นมีศักดื์ศรีและชื่อชั้นไม่ต่างจาก S.T. Dupont หรือ Dunhill เลยแม้แต่น้อย บอดี้ของ Vinci มีทั้งทองเหลืองและชุบทอง แต่ช่องสำหรับเติมแก๊ส
มีรูปทรงที่แปลกไปสักเล็กน้อย หากใครพบเห็นตามท้องตลาดแล้วยังใช้ได้แนะนำว่าลองต่อราคาและนำมาเก็บไว้ในคอลเลกชั่นจะช่วยเติมเต็มความครบเครื่องเรื่องไฟแช็กให้คุณได้เป็นอย่างดี


หากคุณเป็นหนึ่งในคนที่หลงใหลในศิลปะของไฟแช็กและระบบกลไกที่น่าทึ่งนั้นละก็ การหาซื้อ
ไฟแช็กรุ่นวินเทจหรือรุ่นใหม่สำหรับแบรนด์ที่เรากล่าวไปไม่ใช่เรื่องยากอะไร แต่สิ่งที่ยากกว่าการหาซื้อคือช่างซ่อมฝีมือดีที่คุณจะไว้ใจได้ ในปัจจุบันทั้งประเทศไทยและทั่วโลกนั้น ช่างซ่อมไฟแช็กก็ค่อยๆลดหายไปตามความนิยม บ้างก็เปลี่ยนไปซ่อมนาฬิกา บ้างก็เลิกกิจการ จึงทำให้ไฟแช็กในท้องตลาดหลายๆอันนั้น
มีสภาพที่ใช้งานได้บ้าง ไม่ได้บ้าง และหลายรุ่นในคอลเลกชั่นของนักสะสมก็ทำหน้าที่เพียงนอนอยู่ในกล่อง ไม่ได้ฉายเปลวไฟอันสวยงามออกมาให้เห็นอีกเลย และหากคุณมีไฟแช็กที่เราได้กล่าวไปอยู่ในมือ เราท้าให้คุณลองส่งให้เด็กรุ่นใหม่ๆยืมจุดดู พนันได้เลยว่า มีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ที่จะจุดได้เลยโดยไม่ถามวิธีการใช้แน่ๆ และหากไฟแช็กราคาแสนแพงนั้นวางอยู่ที่ร้านขายของแบกะดินก็รับรองว่าคงมีน้อยคนนัก
ที่จะสนใจหรือไม่ก็อาจจะมองข้ามไปเลย และในอีก
ไม่ช้าคงถึงเวลาแล้วล่ะที่ไฟแช็กสำหรับจุดเปลวไฟเหล่านั้นคงจะกลายเป็นเรื่องเล่าปากต่อปากบทหนึ่งจากรุ่นสู่รุ่นเท่านั้น เพราะไฟแช็กที่ราคาถูกเพียง 
10 และ 20 บาทกำลังครองตลาดและค่อยๆบดขยี้
ความสวยงามของงานศิลปะและสเน่ห์ในการจุดไฟ
ไปเรื่อยๆทีละนิดแล้ว

เราไม่อยากให้วันนั้นมาถึงเลยจริงๆ ให้ตายเถอะ!!!

 

เปิดกรุของสะสมปราสาท วิทยาภัทร์คอลเล็กเตอร์นาฬิกาวินเทจอันดับต้นๆ ของประเทศไทย

ปราสาท วิทยาภัทร์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์นาฬิกาข้อมือวินเทจ ปากกา และนาฬิกาพก รวมไปถึงนาฬิกาตั้งโต๊ะ และเครื่องมือช่างวินเทจหลากหลายรายการนั้น จริงๆ แล้วเขาเป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท อิทเทลเลคท์ จำกัด ผู้ผลิตเครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาเรียนรู้ เรียกได้ว่าเขาไม่มีธุรกิจอะไรเกี่ยวข้องกับวงการนาฬิกาเลย นอกเหนือไปจาก ‘ความรัก’ เท่านั้น

เพราะรักจึงสะสม

“ปกติเวลาใครเข้ามาในห้องนี้จะคิดว่าผมขายนาฬิกา ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมไม่ได้มีอาชีพเกี่ยวข้องกับนาฬิกาเลย” ปราสาทเปิดบทสนทนากับเราพร้อมกับมองไปรอบพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมที่เต็มไปด้วยเรือนเวลาวินเทจด้วยแววตาแห่งความรัก “ผมทำอาชีพเป็นผู้ผลิตเครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เป็นนายกสมาคมผู้ผลิตฯ สื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษามาหลายสมัย ส่วนนาฬิกานี้ทำเพราะรัก เพราะชอบเท่านั้น ผมจึงจะบอกทุกคนที่เข้ามาในห้องนี้ว่า อย่าขอ หรืออย่าขอซื้อเลย ไม่อย่างนั้นผมจะลำบากใจมาก” ไม่น่าแปลกใจเลยที่ใครๆ จะคิดว่านาฬิกาในห้องนี้มีไว้เพื่อขาย หรือเก็งกำไร เพราะทั้งห้องนั้นเต็มไปด้วยนาฬิกาวินเทจสารพัดรุ่น หลากหลายยี่ห้อ บางรุ่นเก่าเก็บหายากมากเสียจนพิพิธภัณฑ์ของแบรนด์เองก็ยังไม่เคยเห็น “ผมเลือกเก็บเฉพาะนาฬิกาวินเทจ เพราะแต่ละเรือนจะมีเรื่องเล่า 
มีเรื่องราว เก็บสนุกกว่านาฬิกาใหม่ซึ่งใครมีเงินก็ซื้อได้ และบาง
แบรนด์ก็ผูกพันกับตัวผมมากๆ อย่างเช่น Omega นี่ถือว่าผูกพันมาก 
เพราะเป็นนาฬิกาในฝันของผมสมัยเด็กๆ คือ แบบอยากได้ตั้งแต่ตอนเป็นหนุ่มๆ แล้วไม่มีเงินซื้อไง ก็เริ่มต้นซื้อ Seiko ไปก่อน 
ช่วงประมาณยุค ’70s Omega Dynamic ราคาอยู่ที่สามพันสองร้อยบาท ในขณะที่ Seiko M88 ราคาเรือนละสองร้อยบาท ผมอยากได้ ไปขอเขาผ่อน เขาคิดสามร้อยยี่สิบบาท ผ่อนเดือนละร้อย ก็ยังต้องผ่อนไปตั้งสามเดือน แล้วพอเริ่มมีรายได้ ก็เลยเก็บมาเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นคอลเลกชั่นใหญ่ในปัจจุบัน”

ปราสาทเล่าว่า เขาเริ่มเก็บนาฬิกาเป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ ก็เมื่อกว่าสี่สิบปีที่แล้ว ช่วงชีวิตที่เขาตกงาน ไม่มีอะไรทำ ก็หยิบจับของเก่าภายในบ้านมาลูบคลำเล่น เอานาฬิกาโบราณของน้าชายมาขัด เปลี่ยนสาย นำมาใส่ “เพราะไม่มีเงินซื้อใหม่ไงครับ” ปราสาทพูดติดตลก​ “แต่พอเอามา
ใส่จริงๆ ก็รู้สึกหลงรัก รู้สึกว่าสวยมาก เลยเริ่มเห็นของเก่าสวย มีคุณค่า 
ในสมัยนั้นคนไทยไม่ค่อยเล่นของเก่าเท่าไหร่นะ ยุคแรกๆ ที่ผมไปเดินดูนาฬิกา Rolex Bubble Back สองกษัตริย์สภาพสวยๆ นี่ ราคาเรือนละ
ไม่ถึงสองพันนะครับ ผมก็อาศัยเก็บตามมีตามเกิด ไม่ได้เน้นของแพงครับ เน้นของที่ชอบ ผมคิดว่า แค่ซื้อมาเพราะชอบ คุณก็ได้กำไรไปแล้วครับ”

คุณค่าอยู่ที่จิตใจไม่ใช่ราคา!

ดังที่ปราสาทเล่าให้เราฟังว่า เขาไม่ได้ให้คุณค่าของนาฬิกาในคอลเลกชั่นผ่านราคาค่าตัว แต่ให้คุณค่าทางด้านความพึงพอใจของตัวเองเป็นหลัก เขาจึงให้คำแนะนำแก่คอลเลกเตอร์รุ่นใหม่ๆ เสมอว่า อย่าได้ไปคิดจะ
เก็บนาฬิกาเพื่อเก็งกำไร แต่ให้คิดเก็บนาฬิกาที่ชอบ แล้วกำไรจะตามมาเอง “ถ้าพูดกันตรงๆ นะครับ กำไรที่ได้จากการหมุนเวียนนาฬิกานั้น
ส่วนมากตกไปอยู่ที่พ่อค้า ไม่ใช่นักสะสม คุณต้องมองให้ออกว่า นาฬิการุ่นใหม่ๆ นั้น โอกาสที่จะได้ราคามากกว่าตอนซื้อนี่น้อยมาก แต่นาฬิกาวินเทจ
นี่อีกเรื่องหนึ่งนะ เพราะอันนี้อาศัยความยาวนานในการเก็บ คือ ถ้าคุณซื้อนาฬิกามาวันนี้ แล้วรอขายต่ออีกสี่สิบปีให้หลัง ราคาอาจจะขึ้นหลายเท่า แต่คุณจะอยู่ถึงวันนั้นไหมล่ะ” ปราสาทถามด้วยเสียงหัวเราะ “ดังนั้น ถ้าคิดจะเป็นคอลเลกเตอร์นะ ให้เก็บด้วยความรัก รับประกันได้กำไรแน่นอน อย่างแรกก็มีความสุข ได้ชื่นชมของที่ชอบที่อยากได้ อย่าเก็บด้วยความคาดหวังว่าจะทำกำไร เพราะถ้าไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง 
ก็จะทำให้ชีวิตเป็นทุกข์นะครับ”

ปรัชญาการเก็บนาฬิกาด้วยความรักที่ปราสาทยึดมั่นนั้นทำให้เขาไม่ตกเป็น ‘ทาส’ ของของสะสมชุดใหญ่ภายในพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมนี้  เมื่อเราถามเขาถึงวิธีการดูแลรักษานาฬิกาจำนวนมหาศาลเหล่านี้ เขาตอบสั้นๆ ว่า “ผม ‘ดู’ เขา แต่ไม่ได้ไปคอยระวังรักษาเขาครับ ไม่อย่างนั้น
ผมจะตกเป็นทาสของนาฬิกา คือ ผมซื้อนาฬิกามาดู ผมก็มีความสุขแล้ว ถ้าผมต้องมานั่งระมัดระวังนาฬิกาทุกเรือน ชีวิตผมคงจะลำบากแย่ บางครั้งผมหยิบนาฬิกามาใส่ก็ลืมไขลานด้วยซ้ำ สำหรับผมแล้ว นาฬิกาจะเดินตรงหรือไม่ตรง ไม่ค่อยเป็นประเด็นสำคัญนัก ผมแค่มองว่า ผมชอบดีไซน์นี้ ใส่แล้วสวย อยากใส่ก็ใส่เลย ดังนั้น คำตอบของผมก็คือ ผมไม่ได้ดูแลนาฬิกา ผมแค่เดินดูนาฬิกาแล้วมีความสุขก็เท่านั้น ไม่ได้กังวลจนต้องคอยเช็คว่านาฬิกาแต่ละเรือนเดินตรงหรือไม่”

งานศิลปะที่สวมใส่ได้

“ผมชอบงานศิลปะครับ” ปราสาทตอบเมื่อเราถามว่าเขาชอบนาฬิกาอื่นๆ ที่ไม่ใช่นาฬิกาข้อมือด้วยใช่หรือไม่ “ในห้องนี้จะมีงานศิลปะอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนาฬิกาผสมอยู่ด้วย คือ ผมมองงานศิลปะแล้วรู้สึกว่าสวย ผมก็จะเก็บไว้ แต่งานศิลปะชิ้นใหญ่ๆ แบบภาพวาด หรือนาฬิกาติดผนังนั้น ผมมีพื้นที่จำกัด เพราะไม่มีผนังให้ติด ไม่รู้จะไปเก็บที่ไหน ผมจึงเลือกที่จะเก็บงานศิลปะขนาดเล็กลง ก็ได้แก่นาฬิกาข้อมือ นาฬิกาพก นาฬิกาตั้งโต๊ะขนาดเล็ก และปากกาแนววินเทจแต่ในขณะเดียวกัน ผมทำงานเกี่ยวกับช่าง ก็เลยมองเครื่องมือวิทยาศาสตร์โบราณเป็นงานศิลปะไปด้วยครับ”

นอกเหนือไปจากนาฬิกาข้อมือ และของสะสมอื่นๆ แล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้คอลเลกชั่นในห้องนี้สมบูรณ์แบบขึ้นอีกหลายเท่าตัว ก็ได้แก่
แอ็กเซสเซอรี่ต่างๆ เกี่ยวกับนาฬิกา ไม่ว่าจะเป็นถาด ฐานตั้ง กล่อง ใบรับประกัน และอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งปราสาทเองก็บอกว่า บางครั้ง การ ‘เสาะ’ แสวงหาของเหล่านี้นั้นก็ต้องอาศัยความบังเอิญและพรหมลิขิตเป็นตัวชักพา “การเก็บของเหล่านี้ทำให้เราสนุกขึ้น เพราะการที่เราเอานาฬิกา Rolex ไปใส่บนฐาน Rolex ที่ถูกยุคถูกสมัย ทำให้นาฬิกาดูดีขึ้น และก็ดีต่อจิตใจเราด้วย อย่างฐานของ TAG Heuer แบบโบราณผมก็มีอยู่สองสามชิ้นเท่านั้น ถ้ามีโอกาสเจอ ผมจะซื้อเสมอ นี่รวมถึงกล่องโบราณ ใบรับประกันโบราณ และอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ด้วยนะครับ เพราะทำให้การสะสมของผมนั้นสนุก และมีเรื่องราวมากขึ้น”

เรื่องราวแห่งความผูกพัน

“นาฬิกาเรือนแรกที่ผมเก็บนี่ ไม่มีชื่อหรือเป็นที่รู้จักเลยครับ ยี่ห้อ Prely ซึ่งในปัจจุบันก็ไม่มีแล้ว เป็นนาฬิกาของน้าชายที่ยกให้พี่ชายผม เมื่อพี่ชายผมซื้อเรือนใหม่ ก็ทิ้งเรือนนี้ไว้ ผมก็เอามาใส่เล่นช่วงตกงาน ก็รู้สึกชอบทันที หน้าปัดแตกลายงา และขึ้นราตามอายุ ดูสวย และคลาสสิกสุดๆ ครับ” และด้วยความผูกพันดังกล่าวนั้น ทำให้ปราสาทเริ่มต้นการสะสมนาฬิกาด้วยความรักอย่างจริงจัง และดังที่เขาเน้นย้ำไว้หลายต่อหลายครั้งว่า การเก็บสะสมของเขานั้นเริ่มต้นจากความรัก ดังนั้น ความรักจึงกลายเป็นแรงผลักดันให้เขาเก็บสะสมมาจนถึงทุกวันนี้ “มีคนถามผมเสมอว่า มีอะไรค้างคาใจไหมกับการสะสม ผมตอบได้เลยว่า ไม่มีแล้ว เมื่อก่อนผมมี
ความฝันที่จะได้ Omega, Rolex และ TAG Heuer บางรุ่นซึ่งในปัจจุบันผมก็ตามเก็บได้หมดแล้ว Rolex Bubble Back ตัวที่ผมคิดว่าสวยที่สุด
ในประเทศไทยก็อยู่กับผมแล้ว  Corum Saddam Hussein เรือนเดียวในโลกก็ยังโคจรมาเจอผมจนได้ ส่วน Corum Rolls-Royce นี่นายช่างใหญ่ของ Corum จากสวิตเซอร์แลนด์ก็บอกให้มาดูของจริงที่ผม  เรียกได้ว่าผมมีครบหมดแล้วล่ะ แต่ในกรณีที่เดินไปเจอบางเรือนแล้วอยากได้ อันนี้ถือเป็นเรื่องไม่คาดคิด ไม่นับนะครับ” ปราสาทจบบทสนทนาด้วยรอยยิ้ม

แม้จะออกตัวว่าไม่มีอะไรค้างคาในใจแล้ว แต่ปราสาทก็ยืนยันว่าเขาจะไม่หยุดสะสมนาฬิกา “ก็หยุดไม่ได้จริงๆ นะครับ ทุกครั้งที่เห็นก็จะคิดว่า เอาไปเพิ่มอีกสักนิดแล้วกัน บางทีซื้อมาเพิ่ม เอามาวางในตู้นาฬิกานี่ก็กลืนหายไปเลย ไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรเพิ่มขึ้น ผมก็เข้าใจปรัชญาตัวนี้
จนถึงขั้นเขียนติดไว้ที่โต๊ะทำงานว่า ถ้ามีนาฬิกาอีกสักเรือนหรือสองเรือนเพิ่มขึ้น จะทำให้สถานภาพเราแตกต่างไปจากวันนี้ไหม คำตอบก็คือ
ไม่หรอก ก็เท่านี้แหละ สถานภาพก็เท่านี้แหละไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้แล้ว แต่ก็อย่างที่บอก เป้าหมายของผมไม่ใช่การทำกำไรจากนาฬิกา 
แต่คือความสุขที่ได้จากการสะสม ผมเลือกสะสมสิ่งที่ผมมีความสุข และนั่นก็เป็นกำไรสูงสุดของชีวิตแล้วครับ”