สายกิน สายชิม ต้องไม่พลาด และใครจะฉลองวันวาเลนไทน์ที่ห้องอาหารคินูบายทาคากิ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ ยังมีให้จับจอง(อยากรู้ว่าทำไมต้องอ่านต่อไป) ครั้งนี้มีแค่เดือนเดียวกับวัตถุดิบที่ไม่ได้เล็ดรอดออกมาให้นอกจังหวัด เพระาแค่ผลิตให้คนท้องถิ่นกับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนฟุกุโอกะก็ไม่พอเสิร์ฟแล้ว เราจึงจะไม่ค่อยคุ้นชื่อกับวัตถุดิบเหล่านี้จากจังหวัดฟุกุโอกะ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหรือหอยนางรมที่ไหนๆ ก็อาจจะมี แต่ของที่เชฟโนริฮิสะ มาเอดะ แห่งห้องอาหารญี่ปุ่น คินูบายทาคากิ (KINU BY TAKAGI) คัดสรรมาไม่ได้มีขายทั่วไป เรียกว่าเป็นของชั้นเลิศประจำจังหวัดที่แม้แต่คนญี่ปุ่นเองจะหารับประทานได้ง่ายๆ
ความพิเศษครั้งนี้ต้องชื่นชมตัวแทนจังหวัดฟุกุโอกะ ตั้งแต่ภาครัฐจนถึงการท่องเที่ยวของจังหวัดที่ผลักดันให้วัตถุดิบเหล่านี้มาเสิร์ฟให้เราได้ลิ้มลอง ประกอบกับฝีมือของเชฟที่การันดีได้มาปรุงมาชนิดรู้คุณค่าของวัตถุดิบทำให้เมนูไคเซกิที่เสิร์ฟในห้องอาหารคินุ ของเดือนกุมภาพันธ์นี้พิเศษสุดๆ เพราะหอยนางรมที่หายากยิ่งนี้มีให้ชิมแค่เดือนนี้เดือนเดียวเท่านั้น ส่วนเครื่องปรุงอื่นๆ แม้จะยังมีอยู่ แต่ไหนๆ จะรับประทานก็ควรจะมาลองให้ครบเซ็ต และเป็นการจัดขึ้นเพื่อฉลองความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างกรุงเทพฯ และ ฟุกุโอกะครบรอบ 15 ปี เดินทางสู่จังหวัดฟุกุโอกะผ่านความอร่อยของวัตถุดิบแห่งความภาคภูมิใจของจังหวัด นำเสนอเป็นอาหารกลางวันและอาหารค่ำเสิร์ฟตามอย่างวิถีไคเซกิ ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนี้ – 28 กุมภาพันธ์ 2566 (ขึ้นอยู่กับปริมาณวัตถุดิบที่จัดส่งมาจากญี่ปุ่น) ย้ำแล้วนะว่าขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ส่งมา ฉะนั้นโอกาสยากเช่นนี้อย่าให้หลุดลอยไป
ทำไมวัตถุดิบชั้นเลิศเช่นนี้ถึงมีการนำเสนอแค่เดือนเดียว ก็เพราะวัฒนธรรมด้านอาหารที่เรียกว่า “เคียว ริวริ” (Kyo-ryori) อันเป็นที่สุดแห่งความมีรสนิยมในเรื่องประสบการณ์การรับประทานอาหารญี่ปุ่น เคียว ริวริ คือ อาหารที่เชฟนำเสนอครสชาติกลมกล่อมที่เกิดจากศาสตร์และศิลปะการปรุงอาหารของเชฟที่สามารถชูรสชาติของวัตถุดิบ หาใช่เกิดจากการเติมเครื่องปรุงต่างๆ แต่อย่างใด และอาหารนั้นๆ ยังรับกับฤดูกาลต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่นที่เป็นอยู่ในขณะนั้น และช่วงเวลาที่วัตถุดิบเหล่านี้มีคุณภาพดีที่สุดคือในช่วงเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อฮากาตะวากิว หอยนางรมพันธุ์ฮิโตตซูบุ จากทะเลบูเซ็น ลูกพลับพันธุ์ฟูยุ สาหร่ายจากทะเลอะริอะเกะ และสตรอเบอร์รี่พันธุ์อะมะโอ เอาแค่ลูกพลับพันธุ์ฟูยุ ซึ่งสงวนสำหรับปลูกในจังหวัดฟุกุโอกะเท่านั้น และฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่จะได้ลูกพลับคุณภาพดีที่สุดอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ดังนั้นลูกพลับฟูยุที่เชฟนำมาจึงมีรสชาติที่หวานฉ่ำ และมีความหอม
เชฟมาเอดะเลือกใช้ลูกพลับมาเป็นหนึ่งในวัตถุดิบของจานเรียกน้ำย่อย ซึ่งจานนี้ชาวญี่ปุ่นเรียกกันว่า “คาคิ นามะสุ” คือ เมนูที่นำผักดองนานาชนิด รวมทั้งผลไม้ ซึ่งต้องหั่นเป็นเส้นๆ มาคลุกเคล้ากับอาหารทะเลหลากหลายชนิด ซึ่งเป็นเมนูตามประเพณีที่ชาวญี่ปุ่นนิยมรับประทานในช่วงปีใหม่ เชฟนำลูกพลับมาเป็นหนึ่งในวัตถุดิบคลุกเคล้ากับผักชนิดอื่นๆ อาทิ หัวไช้เท้า ผักกาด และเชฟมาเอดะได้สอดแทรกขึ้นฉ่ายของไทยเข้าไปด้วย ซึ่งปรากฏว่าช่วยเสริมรสได้อย่างน่าแปลกใจ ต้องมาลองชิมเองว่าเสริมรสกันได้น่าทึ่งแค่ไหน ในส่วนของอาหารทะเลเชฟมาเอดะนำเสนอ เนื้อปูหิมะ หอยเชลล์ เมื่อคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้ว เชฟจะราดด้วยซอสยูสุที่ทำเป็นเจลลี่ จานนี้เป็นจานเริ่มต้นการเดินทางแห่งความอร่อยของทั้งมื้อกลางวันและมื้อค่ำ และเชฟลงมือดองหัวผักกาดเองด้วย ต้องบอวก่ารสและกลิ่นซับซ้อนแต่สดชื่นมากๆ มีกลิ่นหอมของผิวส้มด้วย
เนื้อฮากาตะวากิว เป็นเนื้อที่ได้มาจากวัวพันธุ์น้ำตาลและวัวพันธุ์ดำของญี่ปุ่น โดยได้รับการเลี้ยงด้วยฟางข้าวคุณภาพดีซึ่งเป็นข้าวที่ปลูกในจังหวัดฟุกุโอกะ และยังเลี้ยงด้วยธัญพืชนานาชนิด โดยวัวเหล่านี้เป็นวัวอายุ 20 เดือนขึ้นไป และเลี้ยงในสิ่งแวดล้อมที่ไร้ความตึงเครียดแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติและทัศนียภาพที่งดงาม ซึ่งเราได้เห็นวิวที่วัวจะได้ชื่นชมทุกๆ วันถึงกับอึ้งเพราะสวยกว่ารีสอร์ทหลายๆ แห่งด้วยซ้ำ แต่เขาปล่อยให้เป็นพื้นที่ให้วัวชมและจำกัดคนเข้าไปเพื่อกันการนำเชื้อโรคไปติดวัว ซึ่งคุณค่าจากสารอาหารที่ได้รับจากธัญพืชเป็นเสมือนอาหารเสริมชั้นดีของวัวเหล่านี้ เพราะช่วยให้วัวเหล่านี้มีเนื้อวัวที่มีชั้นไขมันแทรกเสมือนลายหินอ่อน และ ยังเป็นตัวช่วยให้เนื้อวัวมีความนุ่มชนิดที่เรียกว่าละลายในปาก โดยเชฟมาเอดะนำเนื้อฮากาตะวากิวมาย่างเตาถ่านและราดด้วยซอสเทอริยากิ เสิร์ฟพร้อมด้วยผงไข่แดงและแบล็กทรัฟเฟิ้ล เชฟมาเอดะใช้ความพิถีพิถันและใช้ทักษะขั้นสูงตั้งแต่การเตรียมเนื้อ แขกทุกท่านจะได้เพลิดเพลินกับขั้นตอนย่างเนื้อด้วยเตาถ่านซึ่งเชฟมาเอดะต้องใช้ความใส่ใจในขั้นตอนนี้เป็นอย่างมาก เพื่อให้ได้เนื้อวากิวที่มีความนุ่มกำลังดีสมคำร่ำลือว่า “ละลายในปาก” ซึ่งเมนูนี้มีเสิร์ฟทั้งเมนูเซ็ทมื้อกลางวัน และเซ็ทมื้อค่ำ
แต่สุดยอดไฮไลท์ที่ปกติไม่มีใครที่ไม่ไปฟุกุโอกะด้วยตนเองจะไม่ได้ชิมแน่ๆ เพราะแม้แต่ในญี่ปุ่นเขาก็ไม่ส่งไปขายยังจังหวัดอื่นๆ เพราะมีปริมาณน้อย หายาก และมีแค่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์เท่านั้นหอยนางรมฮิโตตซูบุ จากทะเลบูเซ็น เป็นหอยนางรมขนาดใหญ่ได้รับการเลี้ยงในทะเลบูเซ็น เนื่องจากกระแสน้ำในทะเลบูเซ็นไม่มีคลื่นสูง ประกอบกับทะเลบูเซ็นในเขตน้ำตื้นมีแพลงตอนจำนวนมาก จึงเหมาะกับการทำฟาร์มเลี้ยงหอยนางรม และทำให้หอยนางรมที่ได้มีขนาดใหญ่ เนื้อเยอะ และ เนื้อมีความแน่นให้รสสัมผัสที่ดีเมื่อรับประทาน และในหอยนางรมยังอุดมไปด้วยสารอาหาร ทำให้เนื้อหอยนางรมมีรสชาติเข้ม เสน่ห์ที่สำคัญของหอยนางรมพันธุ์ฮิโตตซูบุ คือ เมื่อได้รับความร้อนจากการปรุงอาหาร เนื้อของหอยจะไม่หดตัว นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่นักชิมจะได้สัมผัสความอร่อยของหอยนางรมพันธุ์นี้ ที่ห้องอาหารญี่ปุ่น คินู บาย ทาคากิ เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย เชฟมาเอดะนำหอยนางรมฮิโตตซูบุและชิราโกะ (อวัยวะภายในของปลา)มาห่อด้วยเต้าหู้แล้วนำไปทอดกรอบ ก่อนเสิร์ฟจะราดด้วยซอสดอกเก๊กฮวย เสิร์ฟคู่กับหอยนางรมฮิโตตซูบุลวก ท็อปปิ้งด้วยคาเวียร์ ให้ท่านได้สัมผัสความอร่อยของเนื้อหอยนางรมฮิโตตซูบุที่ได้รับการปรุงสองแบบ ซึ่งคอร์สนี้ มีอยู่ในเซ็ทมื้อค่ำ โดยจานนี้ขอบอกว่าต้องมาลองเองจริงๆ เนื้อหอยฉ่ำมีรสสัมผัสที่ละมุนและเต็มไปด้วยรสชาติมากๆ อีกทั้งเนื้อหอบยก็มีขนาดใหญ่ รับประทานได้เต็มคำจริงๆ วิธีการปรุงของเชฟก็ชูรสชาติของหอยให้เด่นละเมียดยิ่งขึ้น
วัตถุดิบอีกอย่างที่ยากจะได้ชิมก็คือ สาหร่ายจากทะเลอะริอะเกะ ได้รับการกล่าวขานให้เป็นสุดยอดของสาหร่ายญี่ปุ่น เนื่องจากระดับน้ำในทะเลอะริอะเกะมีความแตกต่างกันมากกว่า 6 เมตรระหว่างช่วงเวลาน้ำขึ้น และ น้ำลง จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้สาหร่ายที่ได้รับการเพาะเลี้ยงที่ทะเลนี้ มีรสชาติและคุณภาพที่ดีกว่า อีกทั้งการเก็บสาหร่ายก็ทำในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สาหร่ายได้กักเก็บสารอาหารรวมทั้งรับแสงแดดมาแล้วอย่างเต็มที่ จึงส่งผลให้สาหร่ายมีรสชาติที่กลมกล่อมครบรส ดังคำที่ชาวญี่ปุ่นให้นิยามไว้คือ “อุมามิ” ในแต่ละปีมีการผลิตสาหร่ายจากทะเลอะริอะเกะ มากกว่าสองพันล้านแผ่น แต่กล่าวได้ว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ จึงไม่เคยมีสาหร่ายจากทะเลอะริอะเกะนำเข้ามาในประเทศไทย ในเดือนนี้จึงถือว่าพิเศษเพราะจะได้สัมผัสความอร่อยอันเป็นเอกลักษณ์ของสาหร่ายจากทะเลอะริอะเกะนี้ได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่ห้องอาหารญี่ปุ่น คินู บาย ทาคากิ โดยเชฟมาเอดะนำมาใส่ในข้าว ซึ่งเชฟนำเสนอข้าวหน้าอาหารทะเลนานาชนิด พร้อมไข่ออนเซ็นและสาหร่ายอะริอะเกะ ซึ่งคอร์สนี้มีทั้งในเซ็ทมื้อกลางวัน และมื้อค่ำ ซึ่งเชฟนำสาหร่ายมาปิ้งไฟให้หอมก่อนจะนำมาใส่ลงในข้าว สัมผัสแรกก็คือความอุมามิที่ระเบิดอยู่ในปาก คนละเรื่องกับสาหร่ายปรุงรส เพราะนี่ไม่ปรุงรสใดๆ กับสาหร่าย แต่ให้รสแท้เป็นตัวนำ ยิ่งได้ข้าวที่เชฟคัดสรรมาต้องบอกว่าได้สาหร่ายมาไปทำกินเองก็ไม่ได้รสชาติที่สมบูรณ์แบบเช่นนี้
ปิดท้ายด้วยอีกหนึ่งวัตถุดิบที่เป็นความภาคภูมิใจของจังหวัดฟุกุโอกะ คือ สตรอเบอร์รี่พันธุ์อะมะโอ ซึ่งเป็นสตรอเบอร์รี่ที่ปลูกเฉพาะในพื้นที่จังหวัดฟุกุโอกะ เป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดและมียอดจำหน่ายสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นติดต่อกันมากกว่า 15 ปี สตรอเบอร์รี่พันธุ์อะมะโอเป็นที่ขึ้นชื่อในเรื่องของรูปทรงที่อวบ ผิวสีแดงสดเงางามเป็นประกาย เนื้อแน่นและมีความฉ่ำหวาน ซึ่งช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเก็บเกี่ยวสตรอเบอร์รี่พันธุ์นี้ คือ ระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม เชฟมาเอดะและทีมของห้องอาหารญี่ปุ่น คินูบายทาคากิจึงรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้นำเสนอสตรอเบอร์รี่พันธุ์อะมะโอซึ่งเป็นผลผลิตที่ดีที่สุดของปีให้แก่แขกทุกท่าน โดยเชฟสร้างสรรค์ให้เมนูของหวานมีความสนุกสอดแทรก เชฟมาเอดะนำเสนอสตรอเบอร์รี่พันธุ์อะมะโอให้แตกต่างกันห้าแบบในหนึ่งถ้วยขนมหวาน เพิ่มความสนุกด้วยการราดซอสสตรอเบอร์รี่อุ่นๆ ลงบนแผ่นช็อกโกแลตที่ประดับอยู่ด้านบนเพื่อให้ช็อกโกแลตละลายเมื่อรับประทานคู่กับผลสตรอเบอร์รี่สด และเจลลี่สตรอเบอร์รี่
ส่วนที่บอกว่าวาเลนไทน์ยังจองทันก็เพราะจริงๆ แล้วช่วงวันวาเลนไทน์นี้ตรงกับวันที่ห้องอาหารปิดในแต่ละอาทิตย์(จันทร์-อังคาร) แต่เมื่อมีเสียงเรียกร้องมาว่าวันพิเศษต้องมีอาหารมื้อพิเศษสิ ทางห้องอาหารจึงเปิดให้บริการในวันวาเลนไทน์ อาหารไคเซกิที่ห้องอาหารนี้จึงยังมีที่ว่างสำหรับคนที่ต้องการฉลองในวันวาเลนไทน์ ที่มาก็เป็นเช่นนี้
อาหารแต่ละจานของเมนูต้อนรับปีใหม่ที่เชฟรังสรรค์ขึ้นนี้ เสมือนเราได้เดินทางสู่จังหวัดฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่นผ่านวัตถุดิบระดับพรีเมี่ยม และหลายๆ ชนิดยังเป็นการนำเสนอเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ทำให้เราได้เข้าถึงความหรูหราในโลกแห่งวัตถุดิบและความละเอียดอ่อนของ วัฒนธรรมด้านอาหารตามวิถีไคเซกิอย่างแท้จริง ซึ่งแม้ที่ญี่ปุ่นเองการนำเสนออาหารูปแบบนี้รับวันจะมีน้อยลงเพราะมีเงื่อนไขต่างๆ มากมายถึงจะเรียกว่าเป็นไคเซกิ ได้ แม้จะจำกัดความง่ายๆ ว่า เป็นวัฒนธรรมการรับประทานอาหารที่นำเสิร์ฟอาหารอย่างต่อเนื่องหลายคอร์ส แต่ที่มาของแต่ละคอร์สนั้นวัตถุดิบก็ต้องถูกต้องตรงตามฤดูกาล การปรุงแต่งด้วยเครื่องปรุงรสจะมีน้อยมากเพราะต้องชูรสธรรมชาติของวัตถุดิบให้โดดเด่น การใช้เครื่องปรุงรสเพียงแค่เสริมรสอย่างเบาบางเท่านั้นเอง ห้องอาหารญี่ปุ่น คินูบายทาคากิ (Kinu by Takagi) เปิดให้บริการวันพุธ – วันอาทิตย์ สามารถรองรับแขกได้ 10 ท่าน ต่อมื้ออาหาร มื้อกลางวันให้บริการห้าคอร์ส ราคา 4,000++ บาท ต่อท่าน เริ่มเสิร์ฟอาหารเวลา 12.00 น. มื้อค่ำให้บริการสิบคอร์ส ราคา 8,000++ บาท ต่อท่าน เริ่มเสิร์ฟอาหารเวลา 18.00 น. สำรองที่นั่งล่วงหน้า และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ห้องอาหารญี่ปุ่นคินูบายทาคากิ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ โทร 0 2659 9000 เว็บไซต์ mandarinoriental.com/bangkok