ย้ายเขม่า ผงฝุ่น และเปลวไฟลงบนผืนผ้าใบ พร้อมดื่มด่ำความงดงามของแรงระเบิดบนผืนฟ้าไปกับไช่กั๋วเฉียง (Cai Guo-Qiang) และนิทรรศการที่อัดแน่นไปด้วยแพสชั่นที่พร้อมจะปะทุในทุกเมื่อ

Author: Pacharee Klinchoo

Photography: Courtesy of Saint Laurent, Cai Studio and The National Art Center, Tokyo

ปฐมบท

ราว 14 พันล้านปีก่อน เชื่อกันว่าปรากฏการณ์ Big Bang ทำให้จักรวาลก่อกำเนิดขึ้น ปรากฏการณ์นั้น (原初火球) มีความหมายตรงตัวว่า ‘primeval fireball’ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับการสร้างสรรค์นิทรรศการเดี่ยวของไช่ ‘Primeval Fireball: The Project for Projects’ ที่กรุงโตเกียว เมื่อปี ค.ศ. 1991 โดยชิ้นงานที่จัดแสดงในนิทรรศการนั้นคือภาพวาด 7 ภาพที่วาดขึ้นจากเขม่าดินปืนในรูปแบบบานพับที่จัดวางอยู่ในเงาสลัว แสดงให้เห็นถึงการก่อกำเนิดและความวอดวายของเหล่าดวงดาราในพื้นที่อวกาศ รวมทั้งพลังแห่งการสร้างสรรค์และการทำลายล้างที่ถือกำเนิดขึ้นจาก ‘การระเบิด’ ที่ไช่ใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการสร้างสรรค์งานของเขา

ไช่ทดลองใช้ดินปืนในการสร้างสรรค์งานของเขามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1984 ช่วงปลายปี ค.ศ. 1986 เขาย้ายมาตั้งรกรากที่ประเทศญี่ปุ่นในฐานะศิลปินเต็มตัวเพื่อจะได้มีอิสระในการสร้างสรรค์งานอย่างเต็มที่ และที่ประเทศญี่ปุ่นนี่เองที่เขาได้พัฒนากระบวนการสร้างสรรค์งานอันเป็นเอกลักษณ์ของเขาออกมาในสองรูปแบบ นั่นคือการวาดภาพด้วยดินปืน และศิลปะการสร้างสรรค์พลุ

แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะมีข้อห้ามต่างๆ ในการใช้ดินปืนมากกว่าประเทศจีนบ้านเกิดของเขา แต่ไช่ก็ทำงานร่วมมือกับโรงงานผลิตพลุในประเทศญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด ออกสำรวจกระดาษญี่ปุ่นที่เหมาะกับการวาดภาพดินปืนของเขาที่สุด สานสัมพันธ์กับผู้คนในแวดวงศิลปะและชาวเมืองอิวากิ จนทำให้เขากลายเป็นศิลปินร่วมสมัยที่มีผลงานอันเป็นเอกลักษณ์และโด่งดังในระดับสากลได้ในที่สุด

เรื่องราวระหว่างกลาง

หลังจากได้รับทุนจาก Asian Cultural Council (ACC) เพื่อไปใช้ชีวิตที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นระยะเวลาหนึ่งปี ในปี ค.ศ. 1995 เขาตัดสินใจย้ายไปตั้งรกรากทำงานศิลปะอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นการถาวร และด้วยความเสรีของประเทศ ทำให้เขาได้สร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ขึ้นอย่างมากมาย แม้ว่าจะได้ทดลองกระบวนการอื่นๆ ไช่ก็ตัดสินใจที่จะใช้ดินปืนเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างสรรค์ผลงานของเขา เพราะเขาเห็น ‘พลังในการทำลายล้างและสร้างสรรค์’ ในมันนั่นเอง

ในช่วงที่ทั่วโลกต้องล็อคดาวน์เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไช่ได้มีเวลาทบทวนสมุดสเก็ตช์ภาพของเขาในช่วงยุค 1980s – 1990s และตระหนักถึงจุดกำเนิดแห่งตัวตนของเขาอันนำไปสู่คอนเซ็ปต์การสร้างสรรค์งานนิทรรศการเดี่ยว Ramble in the Cosmos – From Primeval Fireball Onward ที่เล่าเรื่องต่อจากนิทรรศการ Primeval Firewall ของเขาที่จัดแสดงเมื่อปี ค.ศ. 1991 โดยจุดประสงค์ในครั้งนี้คือการตามรอยการเดินทางไปในห้วงเวลาและอวกาศของตัวเขาเอง

ไช่กั๋วเฉียงในสตูดิโอของเขา

ระเบิดนำร่อง

สามวันก่อนงานเปิดนิทรรศการอย่างเป็นทางการ ไช่แสดงพลังของเขาผ่านงานดอกไม้ไฟในเวลากลางวัน ‘When the Sky Blooms with Sakura’ ที่เหนือชายฝั่งเมืองอิวากิ โดยได้รับแรงสนับสนุนจาก Saint Laurent by Anthony Vaccarello เสมือนเป็นการเปิดโชว์นิทรรศการ และแนะนำโครงการ Iwaki Manbon Sakura ที่เขาและชุมชนอิวากิตั้งมั่นจะปลูกต้นซากุระจำนวน 99,000 ต้นให้สำเร็จจนได้

เรื่องราวร้อยเรียง

ภายในนิทรรศการที่เปรียบเสมือนการเดินทางในจักรวาลของไช่นั้นแบ่งเป็น 4 ส่วน ไล่เรียงเรื่องราวมาตั้งแต่ครั้งเขายังเด็กที่เห็นผู้เป็นพ่อวาดภาพทิวทัศน์ลงบนกล่องไม้ขีด ในเซ็กชั่น Toward Primeval Fireball จึงเริ่มต้นจากการวาดภาพทิวทัศน์เล็กๆ จากการตระหนักรู้ของเขาว่ากล่องไม้ขีดนั้นแท้จริงแล้วบรรจุจักรวาลแห่งความเป็นไปได้อันไม่มีที่สิ้นสุดไว้ และนั่นก็เป็นจุดกำเนิดแห่งพลังการสร้างสรรค์อันไร้ขีดจำกัดของเด็กน้อยนามไช่กั๋วเฉียง

หลังจากทำความรู้จักกับดินปืนเมื่อปี ค.ศ. 1984 มันก็กลายมาเป็นอาวุธสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานของเขามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นผลงานการสร้างสรรค์พลุในงานสำคัญต่างๆ โปรเจ็กต์ส่วนตัว และการใช้เขม่าดินปืนผสมผสานกับหมึกดำในการสร้างสรรค์ผลงานบนผืนผ้าใบ กระจกใส รวมไปถึงกระจกเงา นอกจากนั้น เขายังขยายผลไปใช้ดินปืนที่มีสีสันทั้งในงานแสดงดอกไม้ไฟเวลากลางวัน และงานวาดภาพของเขาเพื่อเป็นการขยายจักรวาลของเขาออกไปให้กว้างไกลกว่าเดิม

เซ็กชั่นพิเศษ

ภายในพื้นที่กว่า 2,000 ตารางเมตรของห้องแสดงงานที่ The National Art Center, Tokyo (NACT) ไช่ได้เนรมิตส่วนที่เรียกว่า Encounter with the Unknown เป็นการแสดงผลงานจัดวางไฟ LED ทั้งสีขาวและหลากสีสันที่สลับสับเปลี่ยน กะพริบพร่างพราวเป็นภาพต่างๆ ทั้งจากโลกเก่า โลกใหม่ โลกตะวันออก โลกตะวันตก ที่ย้ำเตือนให้เห็นถึงแรงกระเสือกกระสนของมนุษย์ที่จะทำความเข้าใจและกระโจนหาจักรวาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทฤษฎีหลุมดำ, ยุริ กาการิน, อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง, มนุษย์ถ้ำ, มนุษย์ต่างดาว, เทพยดา และ UFO

ผลงานของไช่สำรวจตรวจตราเรื่องราวต่างๆ โดยไร้ซึ่งข้อจำกัดด้านเวลาหรือพื้นที่ สลับสับเปลี่ยนไปกับการแสดงถึงแรงบันดาลใจที่เขาได้รับจากจักรวาลต่างๆ และความสงสัยใคร่รู้ในเรื่องที่ยังไม่อาจรับรู้ได้ ผลงานที่เขาจัดแสดงนั้นคือผลงานที่โอบรับการทำลายล้างและการสร้างสรรค์เข้าไว้ด้วยกัน เสมือนคุณสมบัติของดินปืนที่เขาหลงใหล ชวนให้ผู้ชมอย่างเราตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่แห่งตัวตนภายใต้จักรวาลอันเวิ้งว้างไม่มีที่สิ้นสุดเช่นนี้

นิทรรศการ Ramble in the Cosmos – From Primeval Fireball Onward ของไช่กั๋วเฉียงที่สนับสนุนโดย Saint Laurent จัดแสดงที่ The National Art Center, Tokyo ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน – 21 สิงหาคม 2023

แม่ทัพหญิงแห่งศิลปะแสดงสด กับศิลปะแห่งการท้าทายขีดจำกัดความอดทนของร่างกายและจิตใจ Marina Abramovic

Author: MutAnt

ในการทำงานศิลปะ นอกจากศิลปินจะใช้วัตถุดิบอย่างผืนผ้าใบ กระดาษ ไปจนถึงวัตถุดิบหรูหราราคาแพงอย่างหินอ่อน หรือทองเหลือง และสัมฤทธิ์แล้ว วัตถุดิบอีกอย่างที่ศิลปินบางคนหยิบมาใช้งานคือสิ่งที่มนุษย์เราได้รับมาตั้งแต่เกิด นั่นก็คือร่างกายของเรานั่นเอง ศิลปินเหล่านี้เลือกที่จะใช้ร่างกายของตัวเองเป็นเครื่องมือในการทำงานศิลปะต่างผืนผ้าใบหรือวัตถุดิบอื่นใด ส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างศิลปินและผู้ชม และสร้างหนทางใหม่ๆ ของการมีประสบการณ์ร่วมกับงานศิลปะอย่างใกล้ชิดจนน่าตื่นตะลึง ในบรรดาศิลปินจำนวนนั้น มีศิลปินอยู่ผู้หนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นตัวแม่ของศิลปะประเภทนี้ ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า มารินา อบราโมวิช (Marina Abramovic) ศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ชาวเซอร์เบียน ผู้มีฉายาว่า ‘คุณย่าแห่งศิลปะแสดงสด’ (the grandmother of performance art) ศิลปินผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นที่รู้จักมากที่สุดของโลกคนหนึ่ง… แต่ตอนนี้เธออยากให้เราเรียกเธอว่า ‘แม่ทัพหญิงแห่งศิลปะแสดงสด’ (warrior of performance art) มากกว่า

อบราโมวิชบุกเบิกแนวทางใหม่ๆ ให้กับศิลปะแสดงสด ด้วยการดึงผู้ชมให้เผชิญหน้าอย่างใกล้ชิดกับความเจ็บปวด เหนื่อยยาก เลือด บาดแผล ความตาย อย่างใกล้ชิดที่สุด เธอมักจะนำเสนอตัวตนและร่างกายของเธอผ่านบาดแผลและการทรมาน ผลงานของเธอมักจะเกี่ยวข้องกับการท้าทายขีดจำกัดความอดทนของร่างกายและจิตใจ เป้าหมายในการทำงานศิลปะแสดงสดของเธอคือการเอาชนะความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณ โดยใช้ศิลปะข้ามทุกขอบเขตจำกัด หลายครั้งที่เธอต้องเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหนักและเสี่ยงชีวิตในการทำการแสดงสด เธอมองว่าการทดสอบขีดจำกัดของร่างกายเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทางจิตวิญญาณ และมักทำลายระยะห่างระหว่างศิลปินและผู้ชมด้วยการใช้ร่างกายของตัวเองเป็นสื่อทางศิลปะ

ผลงานที่โดดเด่นที่สุดของเธอคือ Rhythm 0 (1974) ศิลปะแสดงสดที่เธอเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ จำนวน 72 ชิ้น อย่างดอกกุหลาบ กรรไกร ปากกา ปืนพกบรรจุกระสุน และเปิดโอกาสให้ผู้ชมใช้อุปกรณ์เหล่านี้ทำอะไรกับเธอก็ได้ตามใจเป็นเวลา 6 ชั่วโมง ผลงานชิ้นนี้นอกจากจะแสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลการกระทำของตัวเอง มนุษย์เราก็สามารถทำเรื่องเลวร้ายได้อย่างง่ายดาย (ผู้ชมบางคนถึงกับเอาปืนจ่อหัวเธอ) เธอยังต้องการให้ผู้ชมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในผลงานศิลปะของเธอมากกว่าจะเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์อยู่เฉยๆ เท่านั้น

อีกหนึ่งผลงานที่เลื่องชื่อของเธอคือ Balkan Baroque (1997) ที่เธอใช้แปรงขัดถูทำความสะอาดกระดูกวัวโชกเลือดจำนวน 2,500 ท่อน ในเวลา 6 วัน เพื่อแสดงสัญลักษณ์ถึงความเลวร้ายของสงครามที่เกิดขึ้นทุกๆ แห่งหนบนโลกใบนี้ ผลงานชิ้นนี้ร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 47 ในปี 1997 และได้รับรางวัลสูงสุดของงานอย่างสิงโตทองคำ

หรือผลงาน The Artist Is Present (2010) ที่เธอนั่งจ้องตากับผู้ชมเงียบๆ โดยไม่ทำอะไรเลย 8 ชั่วโมงต่อวัน ตลอดระยะเวลาเกือบสามเดือน โดยมีผู้ชมเข้ามานั่งจ้องตากับเธอ 1,545 คน

อบราโมวิชยังก่อตั้งสถาบัน มารินา อบราโมวิช (Marina Abramovic Institute – MAI) ที่สร้างศิลปินรุ่นใหม่หลากหลายแขนงให้เติบโตทางความคิดอย่างไร้ขีดจำกัด เพราะเธอเชื่อว่าศิลปะทุกแขนงสามารถหลอมรวมกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้เสมอ

ล่าสุด มารินา อบราโมวิช เป็นหนึ่งในศิลปินที่เข้าร่วมแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่สามในกรุงเทพฯ ประเทศไทย โดยเธอเลือกผลงานศิลปะแสดงสดระยะยาว (long durational performance) ของสมาชิก MAI มาจัดแสดงในรูปแบบของงานวิดีโอจัดวาง ซึ่งประกอบด้วยวิดีโอแสดงสดชิ้นสำคัญหลากชิ้นที่เกี่ยวข้องกับความโกลาหลและความสงบ อย่าง AAA AAA, The Scream, Dragon Heads, The Current รวมถึงวิดีโอ City of Angels และการแสดงสด Sea Punishing ซึ่งเกิดขึ้นที่อยุธยาและภูเก็ต ตามลำดับ

ที่สำคัญ เธอยังเดินทางมาจัดการบรรยายในหัวข้อ ‘The History of Long Durational Works of Art and MAI’ ให้มิตรรักแฟนศิลปะชาวไทยได้ชมกันเมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา

ในครั้งนี้เรามีโอกาสได้สนทนากับเธออย่างใกล้ชิด โดยมารินา อบราโมวิช กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้กลับมาเยือนกรุงเทพฯ และได้ร่วมแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เป็นครั้งที่สามว่า เธอยินดีที่ได้กลับมาที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง เพราะนอกจากตัวเธอจะมาแสดงผลงานในบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ศิลปินรุ่นเยาว์จากสถาบัน MAI ของเธอก็ได้มาแสดงงานที่นี่ด้วย อบราโมวิชเคยมากรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 1983 เธอกล่าวว่ากรุงเทพฯ เป็นสถานที่ค่อนข้างโดดเด่นเปี่ยมเอกลักษณ์ และในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งนี้ ที่จัดภายใต้ธีม CHAOS : CALM (โกลาหล : สงบสุข) นั้นเป็นแนวคิดที่น่าสนใจมาก เพราะคำว่า ‘โกลาหล’ กับ ‘สงบสุข’ เป็นเหมือนสองด้านของเหรียญเดียวกัน และกรุงเทพฯ ก็เป็นตัวอย่างอันสมบูรณ์แบบของสองคำนี้ เมื่ออยู่ในกรุงเทพฯ เราจะอยู่ใจกลางของมลภาวะทั้งทางเสียงและทางอากาศ นี่คือด้านหนึ่งของเหรียญ แต่เมื่อเราไปยังอีกมุมหนึ่งของกรุงเทพฯ ได้อยู่ในวัดวาอารามและโบสถ์ต่างๆ เราจะได้จดจ่ออยู่กับความเงียบสงัด สันโดษ และการทำสมาธิ ช่างเป็นสถานที่ทางจิตวิญญาณ ภาวะตรงกันข้ามนี้ช่างน่าหลงใหล เพราะเรามีสองด้านที่แตกต่างกันอย่างทรงพลังจนน่าเหลือเชื่อ

อบราโมวิชยังกล่าวถึงเคล็ดลับในการเตรียมตัวสำหรับการทำงานศิลปะแสดงสดอันสุดแสนจะยาวนานและยากลำบากของเธอว่า ในการทำงานศิลปะแสดงสด เราต้องเรียนรู้อย่างมากเกี่ยวกับร่างกายตัวเอง เกี่ยวกับอำนาจจิต เกี่ยวกับความมุ่งมั่นจดจ่อ เกี่ยวกับวินัย การกำหนดจิตใจ และความสันโดษ เวลาทำงานศิลปะแสดงสด เธอต้องเตรียมตัวไม่ต่างอะไรกับนักบินอวกาศ เธอต้องบังคับให้ร่างกายไม่หลั่งน้ำย่อยออกมาเวลากลางวัน เพราะตอนกลางวันเธอจะไม่กินอาหารตลอดวันไปจนถึงกลางคืน นอกจากนั้นเธอยังไม่ดื่มน้ำ ไม่นอนหลับ ไม่เข้าห้องน้ำ แต่จะทำทุกอย่างในเวลากลางคืนแทน

อบราโมวิชกล่าวว่า สำหรับศิลปินแสดงสด ห้วงขณะในปัจจุบันนั้นสำคัญที่สุด เพราะเรามีชีวิตเฉพาะในเวลาปัจจุบันเท่านั้น อดีตและอนาคตนั้นไม่สำคัญเท่ากับนาทีนี้ นาทีนี้จึงสำคัญและจริงที่สุด ในขณะเดียวกัน งานของเธอคือผู้ชม คือสาธารณชน เธอไม่อาจทำงานได้โดยปราศจากผู้ชม ศิลปินแสดงสดและผู้ชมต่างทำงานร่วมกัน ถ้าไม่มีผู้ชม งานของเธอก็ไม่มีความหมายอะไรเลย

ในอดีต ผลงานที่โดดเด่นและสร้างชื่อเสียงให้เธอที่สุดอย่าง Rhythm 0 นั้นมีความสุ่มเสี่ยงจนแทบจะทำให้เธอเสียชีวิตได้ แต่ในขณะที่ผลงานในยุคหลังของเธออย่าง The Artist Is Present นั้นกลับเป็นอะไรที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง เพราะมันช่างเรียบง่าย ไร้กระบวนท่า จนแทบจะไร้การเคลื่อนไหวเลยก็ว่าได้ อบราโมวิชกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างผลงานสองชิ้นในสองช่วงเวลาว่าระหว่างผลงานอย่าง Rhythm 0 กับ The Artist Is Present นั้นเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบที่ดี ผลงานทั้งสองชิ้นนั้นสำคัญสำหรับเธอมากๆ โดยเธอทำงานชิ้นแรกตอนอายุ 28 ปี ด้วยความเกรี้ยวกราด เพราะทุกคนหัวเราะเยาะและบอกว่างานของเธอไม่ใช่ศิลปะ และเธอน่าจะถูกส่งไปโรงพยาบาลบ้า ในยามที่แสดง เธอยืนอยู่ในห้องโดยมีวัตถุอยู่บนโต๊ะ 72 ชิ้น ที่ผู้ชมจะใช้ทำอะไรกับเธอก็ได้ ถ้าพวกเขาอยากฆ่าเธอ ก็สามารถฆ่าได้เลย โชคดีที่พวกเขาไม่ทำ เธอเองก็เพิ่งมาตระหนักทีหลังว่าวัตถุที่เธอวางอยู่บนโต๊ะเหล่านั้นกำลังฉุดรั้งจิตวิญญาณของมนุษย์ให้ต่ำลง อบราโมวิชกล่าวว่าเธอต้องใช้เวลา 35 ปี ถึงจะเข้าใจสิ่งนี้ และเลือกที่จะทำผลงานที่สร้างสถานการณ์ที่ยกระดับจิตใจของมนุษย์ด้วยเก้าอี้สองตัวในงานชิ้นหลังแทน

ถึงแม้จะทำงานเกี่ยวกับการต่อต้านสงคราม และตั้งคำถามกับระบอบเผด็จการ อย่างในผลงาน Balkan Baroque แต่อบราโมวิชเองก็มองว่าเธอไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เธอยังกล่าวอีกว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา หลายคนมักถามเธอว่า “ศิลปะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ไหม” ถึงแม้ศิลปินเยอรมันอย่างโจเซฟ บอยส์ จะเคยกล่าวว่า “ศิลปะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้” แต่โดยส่วนตัว เธอคิดว่าศิลปะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ นี่คือความจริงที่น่าเศร้า เพราะมันเป็นเรื่องที่ยากเอามากๆ และคนรุ่นเธอเองก็ยังไม่สามารถทำได้ ถึงแม้ศิลปะจะสามารถช่วยเปิดความตระหนักรู้ ปลุกสติสัมปชัญญะ และสร้างความเข้าใจ แต่การเปลี่ยนแปลงโลกจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราทุกคนในโลกนี้ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งโดยส่วนใหญ่พวกเรายังไม่ได้ทำ แต่เธอก็ยังทิ้งท้ายอย่างให้ความหวังว่าในอนาคต คนรุ่นใหม่อาจจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ ถึงแม้คนรุ่นเธอยังไม่สามารถทำได้ก็ตามที

Design Moments: ส่องเทรนด์งานออกแบบในงาน Milan Design Week 2023

Author: Suriya Garudabhandu

Photography: Courtesy of the Brands

หนึ่งฉากเด็ดในหนังเรื่อง The Devil Wears Prada คือซีนที่มิแรนดา พรีสต์ลี บก.นิตยสารแฟชั่นตัวร้าย อธิบายถึงความเชื่อมโยงของเสื้อกันหนาวเฉิ่มๆ ที่นางเอกของเรื่องสวมใส่ กับเดรสสีฟ้า cerulean blue ที่ Oscar de la Renta โชว์บนรันเวย์ในปี 2002 สื่อให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างสรรค์เสื้อผ้าบนรันเวย์แฟชั่นโชว์ที่หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่จริงๆ แล้วสร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อรูปแบบการบริโภคสินค้า เศรษฐกิจ และการจ้างงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าที่มีมูลค่ามหาศาล

ถ้าแฟชั่นวีคในมิลานส่งอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมแฟชั่น คงไม่ผิดที่จะกล่าวว่า งาน Milan Furniture Fair หรือที่เรียกกันคุ้นปากว่า ‘มิลานแฟร์’ คืออีเว้นท์สำคัญที่กำหนดเทรนด์ต้นน้ำของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และสินค้าไลฟ์สไตล์ของคนทั่วโลก

ช่วงเวลาประมาณกลางเดือนเมษายนของทุกปี คนในอุตสาหกรรมออกแบบ ผู้ซื้อ ผู้ผลิต นักธุรกิจ รวมถึงเหล่านักออกแบบและสื่อมวลชนจากทั่วทุกมุมโลก จะมาชุมนุมกันอย่างพร้อมเพรียงเพื่อเจรจาซื้อขายเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้าน และอัพเดตเทรนด์สินค้าดีไซน์ในอนาคตกันที่เมืองมิลาน

สำหรับ Milan Furniture Fair ปี 2023 นับเป็นการจัดงานครั้งที่ 2 หลังจากที่หยุดจัดงานไปหลายปีเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 หลายคนคาดว่า หลังจากฟ้าเปิด บรรยากาศเริ่มคลี่คลายกลับมาเป็นปกติแล้ว งานมิลานแฟร์ครั้งนี้น่าจะคึกคักเหมือนครั้งก่อนๆ แต่เอาเข้าจริงแล้วจำนวนผู้ร่วมงานปีนี้ยังไม่หนาแน่นเท่าในช่วงที่พีคสุดๆ (ช่วงปี 2016-2018) แต่ถ้าเมื่อเทียบกับปีที่แล้วก็ถือว่าหนาแน่นขึ้นเยอะ ยืนยันได้จากราคาที่พักในมิลานที่พุ่งสูงขึ้น 2-3 เท่าตัว ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี

หนึ่งสัปดาห์ของ Milan Design Week ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มิลานผู้คนพลุกพล่านที่สุดของปีก็ว่าได้ คราวนี้เราแทบไม่เห็นคนใส่แมสก์กันแล้ว นี่อาจเป็นสัญญาณว่าบรรยากาศกลับคืนสู่โหมดปกติแล้ว แบรนด์ใหญ่ๆ เริ่มกลับมาหลังจากหยุดพักไปหลายปี เช่น แบรนด์ระดับโลกอย่าง Samsung และ Lexus เข้ามายึดพื้นที่ทำเลทองใน SuperStudio ย่าน Tortona อย่างไรก็ดี เรามีความรู้สึกว่านี่ยังเป็นการโยนหินถามทาง ดูท่าทีและผู้คนก่อน เพราะดูไม่ค่อยลงทุนลงแรงกับการจัดแสดงเท่าที่ควร ถ้าเทียบกับยุคก่อนโควิด

จุดกำเนิด

Milan Furniture Fair ถือเป็นงานแสดงสินค้าเก่าแก่ที่จัดมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1960s เริ่มต้นจากกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเฟอร์นิเจอร์ในอิตาลีรวมตัวกันจัดงานแสดงสินค้าในเมืองมิลาน เมื่องานประสบความสำเร็จ มีผู้แสดงสินค้าจากทั่วโลกเข้าร่วมมากขึ้น ขนาดของงานก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งราวปี 1970 แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ Cassina ปิ๊งไอเดียจัดงานที่โชว์รูมตัวเองที่อยู่ในย่านใจกลางเมือง จากนั้นแบรนด์อื่นๆ ก็เริ่มทำตาม ทำให้เกิดอีเว้นท์คู่ขนานกันระหว่าง Milan Furniture Fair ในศูนย์แสดงสินค้า และกิจกรรมที่เกิดขึ้นในเมือง ขยายเป็นย่านดีไซน์กระจายทั่วเมือง เช่น ย่าน Tortona, ย่าน Brera ร้านรวงต่างๆ ก็ถือโอกาสร่วมใจจัดกิจกรรม กลายเป็น Milan Design Week ซึ่งประสบความสำเร็จมาก จนกระทั่งกลายเป็นโมเดลต้นแบบให้กับหลายเมืองทำตาม เช่น London Design Week, Tokyo Design Week รวมถึง Bangkok Design Week ที่จัดขึ้นในบ้านเราด้วย

งาน Milan Furniture Fair ครั้งนี้มีสิ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย หลายแบรนด์จัดเต็ม เรียกได้ว่าทุ่มทุนมหาศาล ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์เจ้าบ้านอิตาลี คงเพราะอัดอั้นมาหลายปี พื้นที่แสดงสินค้าของแบรนด์ชั้นนำอย่าง B&B Italia, Kartell, Flexform, Flos ทำออกมาได้ยิ่งใหญ่อลังการ แต่คนที่แย่งซีนได้อย่างน่าสนใจคือ Tom Dixon ที่นำหุ่นแขนกลมานำเสนอโคมไฟแก้วเป่าคอลเลกชั่นใหม่ของเขา ซึ่งทำให้เราเซอร์ไพรส์ไม่น้อย เพราะว่าก่อนหน้านี้ (ก่อนที่จะเกิดโควิด) เรามีโอกาสได้พูดคุยกับดีไซเนอร์ชาวอังกฤษผู้นี้ เขาบ่นว่าการจัดงานที่มิลานแฟร์แต่ละครั้งนั้นแพงเหลือเกิน มีความคิดว่าจะเลิกมางานนี้ในอนาคตอันใกล้ แต่การกลับมาแบบจัดเต็มของเขา หลังโควิดครั้งนี้ เป็นเครื่องยืนยันถึงความสำคัญของงานมิลานแฟร์ที่มีต่ออุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ได้อย่างดี

แบรนด์แฟชั่นร่วมแจมงานดีไซน์วีคกันคึกคัก

เป็นที่รู้กันว่ามิลานเป็นเมืองแห่งแฟชั่นอยู่แล้วแบรนด์แฟชั่นใหญ่หลายแบรนด์จึงถือเอาช่วงนี้ประชาสัมพันธ์แบรนด์ตัวเองผ่านงานดีไซน์ในรูปแบบต่างๆ เริ่มต้นจากแบรนด์ใหญ่Louis Vuitton เปิดตัวคอลเลกชั่นเฟอร์นิเจอร์ชั้นสูง Objets Nomades ดึงเอานักออกแบบตัวท็อปอย่างพี่น้อง Campana จากบราซิล และ Marcel Wanders จากเนเธอร์แลนด์ มาออกแบบเฟอร์นิเจอร์คอลเลกชั่นประจำปีนี้ โดยจัดแสดงที่บูติกใจกลางเมืองย่าน Montenapoleone แน่นอนว่ามีคนรอต่อคิวเข้าชมยาวเหยียด

Christian Dior เปิดตัวคอลเลกชั่นเฟอร์นิเจอร์ Monsieur Dior และ Miss Dior ออกแบบโดย Philippe Starck เป็นเก้าอี้อะลูนิเนียมรูปทรงโมเดิร์นเส้นสายอ่อนช้อย เจือกลิ่นอายคลาสสิกอันเป็นลายเซ็นเฉพาะตัวของดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสผู้นี้ การนำเสนอก็เรียกได้ว่าไม่ธรรมดา เก้าอี้หลายสิบตัวถูกแขวนให้ลอยอยู่บนอากาศ ล้อมรอบจอภาพทรงกระบอกขนาดใหญ่ มันดูอลังการราวกับฝูงเก้าอี้กำลังเต้นบัลเลต์

ในขณะที่แบรนด์แฟชั่นจากสเปน Loewe ก็ยังคงสื่อสารเรื่องราวของแบรนด์ผ่านงานคราฟท์อย่างต่อเนื่อง โดยคราวนี้นำเสนอเก้าอี้ที่ถูกดัดแปลงด้วยเทคนิคงานการสานด้วยวัสดุต่างๆ ภายใต้แนวคิด Loewe Chairs

สำหรับเจ้าบ้านอิตาลีก็ไม่น้อยหน้า มีงานดีไซน์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจมาให้ชมกันเพียบเช่นกัน อย่างแฟชั่นเฮาส์ Fendi Casa จับมือกับ Louis Poulsen ออกคอลเลกชั่นโคมไฟที่คาดว่าแฟนๆ งานดีไซน์ยุคมิดเซนจูรี่ต้องร้องว้าว ส่วน Bottega Veneta นำเสนอกระเป๋าหนังสีเขียวดีไซน์แปลกตา ‘Vieni a Vedere’ ออกแบบโดยปรมาจารย์ดีไซเนอร์ Gaetano Pesce โดยนำเสนอผ่านศิลปะแบบจัดวางที่ออกแบบให้เหมือนกับถ้ำ

งานออกแบบไทยใน Milan Design Week

อย่างที่ได้กล่าวไป Milan Design Week เป็นช่วงเวลาสำคัญของคนในอุตสาหกรรมออกแบบ นอกเหนือจากแบรนด์ใหญ่ๆ ที่มักจะใช้พื้นที่นี้ในการสร้างภาพลักษณ์แล้ว บรรดานักออกแบบอิสระ สถาบันจากหลากหลายประเทศ ต่างก็ใช้เวทีนี้ในการสื่อสารและแสดงศักยภาพ เช่น ดีไซน์มิวเซียมจากเกาหลีใต้ กลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์จากโตเกียวและจาการ์ตา เป็นที่น่าดีใจที่ประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของ Milan Design Week คราวนี้ด้วยเช่นกัน

Slow Hand Design เป็นนิทรรศการงานออกแบบที่จัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ยึดหัวหาดใจกลาง SuperStudio ณ ถนน Tortona ย่านดีไซน์ใจกลางเมืองที่คึกคักที่สุดก็ว่าได้ โดยผู้จัดต้องการใช้พื้นที่นี้เป็นเวทีในการนำเสนอผลงานของนักออกแบบไทยสู่สายตาชาวโลก และในปีนี้มาภายใต้แนวคิด Not a Virgin – materials through Thailand’s innovative designs that sustain the global environment ซึ่งได้ภัณฑารักษ์มือฉมังอย่างอาจารย์เอกรัตน์ วงษ์จริต ศิลปินผู้ได้รับรางวัลศิลปาธร มานำเสนอการใช้ชีวิตท่ามกลางงานดีไซน์ในอนาคตยุคหลังโควิด ยุคสมัยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ทั้งในเชิงของกระบวนการผลิต การออกแบบ และวัสดุที่ใช้ โดยงานนี้รวมเอางานดีไซน์ที่สร้างสรรค์ด้วยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วัสดุรีไซเคิล (non-virgin materials) หลากหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น วัสดุตกแต่งผนังทำจากผักตบชวา เก้าอี้จากเศษหนังเหลือใช้ รองเท้าหนังสุดเก๋ทำจากเปลือกผลไม้ ไปจนถึงชุดถ้วยชามที่ทำจากกากกาแฟและใยมะพร้าว เรียกความสนใจให้ผู้ชมที่ผ่านไปมาได้จำนวนมาก

นอกจากนี้ เรายังได้เจอกับลักชัวรี่แบรนด์สัญชาติไทย Alexander Lamont มาร่วมออกงานในย่าน Brera โดยคราวนี้มาพร้อมกับคอลเลกชั่นใหม่ Malabares (เป็นภาษาสเปน แปลว่าการสร้างสมดุล) เป็นงานออกแบบที่สะท้อนถึงความผันผวนของโลกในช่วงโควิดผ่านเฟอร์นิเจอร์รูปทรงอสมมาตรแต่ดูสมดุล ใช้เทคนิคงานคราฟท์อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ เช่น กรุหนังปลากระเบน (shagreen) และฟางย้อม (straw marquetry) มาสร้างสัมผัสที่หรูหรา

ส่องลูกแก้วทำนายเทรนด์งานออกแบบยุคหลังโควิด

จากการที่ได้สัมผัสงานจัดแสดงงานออกแบบหลายๆ ที่ใน Milan Design Week ‘งานคราฟท์’ ยังคงเป็นธีมหลักที่หลายแบรนด์ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะแบรนด์ระดับลักชัวรี่ ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างจากเทรนด์ในช่วงก่อนโควิดสักเท่าไหร่ แม้ว่าโรคระบาดจะทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยน แต่มนุษย์ก็ยังคงให้ความสำคัญกับงานฝีมือ คุณค่าที่สืบทอดกันมายาวนานนับพันปีไม่อาจทำให้หายไปในช่วงพริบตา

เทคโนโลยีใหม่ๆ ในงานออกแบบมีให้เห็นบ้าง แต่ค่อนข้างบางตา แม้ว่ากระแสของ AI จะกำลังเข้ามา disrupt หลายธุรกิจ แต่การนำมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมออกแบบเพื่อผลิตสินค้าเชิงกายภาพอาจจะต้องใช้เวลาสักพักใหญ่ๆ อย่างไรก็ดี ก็ยังมีงานล้ำๆ ให้ชมกัน ตัวอย่างเช่น งานศิลปะติดตั้ง Sympathetic Resonance โดยบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก Google มอบหมายให้ Google Design Studio นำเสนองานออกแบบเชิงทดลองที่ใช้คลื่นเสียงและอัลกอริทึม มาสร้างสรรค์ฟอร์มของน้ำให้มีผิวสัมผัสที่แปรผันไป ออกแบบโดยศิลปิน-เทคโนโลจิสต์ Lachlan Turczan

สำหรับเทรนด์ระดับมหภาคที่ปรากฏชัดเจนคือเรื่องการออกแบบเพื่อความยั่งยืน แทบทุกแบรนด์ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สำหรับตลาดกลางอย่าง IKEA ผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์อย่าง Samsung ไปจนถึงแบรนด์ลักชัวรี่ไฮเอนด์อย่าง B&B Italia ตลอดจนงานออกแบบของเหล่าดีไซเนอร์คลื่นลูกใหม่จากทั้งฝั่งยุโรปและเอเชีย ที่นำเสนอไอเดียงานออกแบบที่ยั่งยืนกันอย่างคึกคัก

แม้ว่างานมิลานแฟร์จะได้ผ่านช่วงรุ่งเรืองสุดขีดมาแล้ว แต่ก็ยังเป็นอีเว้นท์ที่สำคัญที่สุด ไม่เฉพาะแต่เพียงในกลุ่มคนอุตสาหกรรมออกแบบ แต่รวมถึงคนทำธุรกิจทั่วไปด้วยเช่นกัน ที่นี่คือพื้นที่ปล่อยของ เวทีแสดงศักยภาพ ช่วงเวลาที่หัวกะทิในวงการสร้างสรรค์ทั่วโลกมารวมตัวกัน ถ้าคุณเป็นคนทำธุรกิจที่อยากก้าวหน้ากว่าคนอื่นๆ ไม่ควรพลาดที่จะมาสัมผัสงานนี้ แต่เราแนะนำให้จองตั๋วเครื่องบินและที่พักเนิ่นๆ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 6 เดือน

New York as a Canvas

นับตั้งแต่ราวปี 1620 เกิดการค้นพบดินแดนใหม่ที่ชื่อ New Amsterdam ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อ New York และในศตวรรษที่ 19-20 เป็นช่วงที่ตัวเมืองนิวยอร์ค หรือ New York City ที่ตั้งอยู่บนเกาะแมนฮัตตันเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยการเป็นดินแดนที่ผู้คนจากทั่วโลกเดินทางมา ด้วยหวังจะมีชีวิตที่ดีกว่า ผู้คนมากกว่า 8.4 ล้านคน มากกว่า 200 ภาษา จึงกลายเป็นจุดเด่นที่ทำให้เมืองเต็มไปด้วยหมุดหมายทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย

Photographer: Adison Rutsameeronchai

Author: Jermsiri Luangsupporn

New York: เมื่อเมืองและผู้คนคืองานศิลปะนิวยอร์ค เมืองที่เราต่างรู้กันดีว่าไม่เหมือนใคร ด้วยความเป็นเบ้าหลอมของผู้คนและวัฒนธรรมมายาวนาน ความแตกต่างหลากหลายเหล่านั้นได้กลายเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างเมืองให้มีเอกลักษณ์ งดงาม สร้างสรรค์ ผุพัง เกิดขึ้นใหม่จนเป็นนิวยอร์ค เมืองที่ทุกอย่างคือศิลปะ สะท้อนผ่านตึกอาคาร ผู้คน วิถีชีวิตในแบบที่ใครหลายคนยกให้เป็นเมืองแห่งแรงบันดาลใจ

ทำไมนิวยอร์คจึงเป็นเมืองศิลปะ?

เป็นคำถามที่อาจจะดูกว้าง แต่ถ้าหากคิดลึกๆ ลงไปแล้ว การให้คำตอบว่า ‘เมืองและผู้คน’ คือผู้สร้างงานศิลปะเหล่านี้ขึ้นมาคงไม่ผิดนัก ทั้งตัวเมืองเองที่ผสมผสานโลกเก่า-ใหม่ การจัดวางพื้นที่สำหรับงานสร้างสรรค์ไว้ในทุกๆ แห่ง แม้บนฟุตบาทก็ยังแบ่งพื้นที่เล็กๆ ให้ดอกไม้เบ่งบาน ตะแกรงระบายอากาศบนถนนที่ปล่อยไอร้อนจากระบบรถไฟใต้ดิน ควันสีขาวๆ ที่พวยพุ่งอยู่ทั่วไปในเมือง มองให้ดีก็เป็นความงดงามอย่างหนึ่งผู้คนที่แตกต่างอย่างสุดขั้วจากถิ่นกำเนิด แต่กลับเดินบนถนนเส้นเดียวกัน โดยสารซับเวย์บวนเดียวกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน เช่นเดียวกับน้ำหอมกลิ่นต่างๆ ที่โชยผ่านตอนที่เดินสวนกับใครสักคนบนท้องถนน เมืองที่รวมผู้คนทั้งโลกไว้ด้วยกันในแบบที่ภาษาแทบไม่มีข้อจำกัด กลายเป็นการเชื่อมโยงศิลปะระหว่างคนทั่วโลก หรือเรียกได้ว่าเป็นประตูแห่งโอกาสที่ไม่มีที่ไหนเหมือนและถ้าจะมองแยกย่อยเป็นภาคส่วน ใจความสำคัญในการก่อร่างสร้างนิวยอร์คเป็นเมืองศิลปะ ก็อาจแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ

New York City: เมืองคือผู้คนนับตั้งแต่ราวปี 1620 เกิดการค้นพบดินแดนใหม่ที่ชื่อ New Amsterdam ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อ New York และในศตวรรษที่ 19-20 เป็นช่วงที่ตัวเมืองนิวยอร์ค หรือ New York City ที่ตั้งอยู่บนเกาะแมนฮัตตันเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยการเป็นดินแดนที่ผู้คนจากทั่วโลกเดินทางมา ด้วยหวังจะมีชีวิตที่ดีกว่า ผู้คนมากกว่า 8.4 ล้านคน มากกว่า 200 ภาษา จึงกลายเป็นจุดเด่นที่ทำให้เมืองเต็มไปด้วยหมุดหมายทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย นอกจากนี้ นิวยอร์คยังอยู่บนพื้นฐานการเติบโตที่หล่อหลอมผู้คนในเจเนอเรชั่นใหม่ๆ ให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยศิลปะ ด้วยการเรียนการสอนที่พัฒนาวิธีคิด มุมมอง ให้เข้าใจศิลปะจนซึมซับมันไว้อยู่ในเนื้อในตัวอย่างน้อยๆ การเกิดและเติบโตด้วยสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ก็ทำให้ผู้คนมีสายตาของศิลปิน มีความรุ่มรวยทางสุนทรียะ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการตกแต่งบ้านสำหรับเทศกาลสำคัญๆ ไปจนถึงการใช้พื้นที่ของเมืองจัดแสดงงานศิลปะทุกประเภท ตั้งแต่ไฟน์อาร์ตไปจนถึงงานสตรีทอาร์ตที่มีให้ได้ชมทั่วทั้งเมือง

New Horizons: อาคาร พื้นที่อาศัย ห่อหุ้มและสร้างสรรค์

ตึกอาคารเป็นสิ่งที่โดดเด่นที่สุดอีกอย่างของนิวยอร์ค บนพื้นที่เกาะแมนฮัตตันราว 778.2 ตารางกิโลเมตร กับภาพจำของตึกระฟ้าที่เรียงรายตรงเส้นสายตา ท่ามกลางภาพจำนี้ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังคืออาคารที่สร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ผสมผสานอาคารสมัยต่างๆ มาจนถึงปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น 

Brownstone: อาคารในช่วงแรกของการก่อสร้างเมือง ทุกวันนี้ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปทั้งในย่านบรู๊คลิน ฮาร์เล็ม โฮโบเก้น ไปจนย่านเก่าแก่ต่างๆ สะท้อนอิทธิพลยุโรปชัดเจน ความหมายตรงตัวคือเป็นอาคารที่สร้างจากหินทรายที่ได้รับความนิยมในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา โดยมีการแกะสลักให้เป็นรูปทรงต่างๆ ทั้งเสา ซุ้มประตู รวมถึงฟาซาดที่กลายเป็นจุดเด่นให้บราวน์สโตนแต่ละหลัง

Beaux-Arts: การออกแบบอาคารที่ได้รับความนิยมในศตวรรษที่ 19-20 ได้รับอิทธิพลจากงานสถาปัตยกรรมฝรั่งเศส ด้วยความชดช้อยของเส้นโค้ง จากเค้าโครงของงานในยุคกรีก-โรมัน มักใช้หินอ่อนสีสว่าง และตกแต่งด้วยรูปสลักเทพเจ้ากรีกโบราณ ส่วนใหญ่ออกแบบสำหรับอาคารที่เป็นแลนด์มาร์คหรือสถานที่สำคัญ อย่างเช่น Metropolitan Museum of Art, Grand Central Terminal และ New York Public Library

Art Deco: อาร์ตเดโคได้รับความนิยมในช่วงปี 1920-1930 เน้นรูปทรงเรขาคณิต สีสว่าง และความสมมาตร เป็นยุคสมัยที่รุ่งโรจน์ของงานออกแบบอีกครั้งและกลายเป็นคลาสสิกข้ามกาลเวลาจนถึงปัจจุบัน กลุ่มอาคารอาร์ตเดโคอย่างเช่น Empire State Building, Chrysler Building, One Wall Street, 70 Pine Street, Bryant Park Hotel และ Paramount Building

Modern: ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา เทคโนโลยีสมัยใหม่ คอนกรีต เหล็ก กระจก กับการออกแบบสไตล์มินิมอลิสท์ เส้นสายเรียบง่าย เป็นการใช้พื้นที่แบบ one space ที่ลดกำแพงกั้น เน้นฟอร์มและฟังก์ชั่นเพื่อประโยชน์การใช้งาน อาคารที่อยู่ในสายทางนี้อย่างเช่น United Nations Headquarters, Lever House, Seagram Building และ One World Trade Center

ส่วนที่สนุกสุดๆ ได้แก่อาคารยุค Postmodern ที่เล่นเรื่องฟอร์มแตกต่าง ไม่มีรูปแบบตายตัว ไม่เหมือนใคร และสร้างความใหม่ให้นิวยอร์ค ไม่ว่าจะเป็น AT&T Building หรือ Sony Building, Lipstick Building, 2 Columbus Circle, The New York Times Building, New Museum รวมถึง the Guggenheim ที่ออกแบบโดย Frank Lloyd Wright

Art Life: พิพิธภัณฑ์มีชีวิต

พิพิธภัณฑ์ในนิวยอร์คมีจำนวนมากมาย และขึ้นชื่อว่าควรได้ไปชมสักครั้งในชีวิต แต่นอกเหนือจากพิพิธภัณฑ์ระดับโลกเหล่านั้น ฉากหลังของเมืองที่อยู่บนท้องถนนก็คล้ายเป็นผ้าใบผืนใหญ่ให้ผู้คนจากทั่วโลกเปลี่ยนตัวเองเป็นศิลปินที่สาดสีสันลงไป นิวยอร์คจึงเต็มไปด้วยงานศิลปะระดับโลกไปจนถึงงานสตรีทอาร์ตบนท้องถนน นั่นทำให้ทั้งเมืองคือพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่สร้างสรรค์โดยผู้คน เมื่อเมืองคือขอบเขตของพิพิธภัณฑ์ การก่อสร้างเมืองก็เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความเป็นศิลปินของผู้คน ทั้งการสร้างทางเดินเลียบแม่น้ำฮัดสัน ตึกสร้างใหม่ที่ใช้กระจกเป็นตัวสะท้อนแดดบ่ายอย่างงดงามในทุกๆ วัน สิ่งปลูกสร้างเก่าแก่ก็ถูกดัดแปลงมาใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอย่าง High Line ที่พัฒนาจากรางรถไฟดั้งเดิม หรือกระทั่งซับเวย์ที่กลายเป็นอีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์มีชีวิตของนิวยอร์คไปแล้ว

คงมีเมืองไม่มากนักที่จะจัดวางสเปซคู่ขนานไปกับการจัดวางตึกอาคาร ทุกๆ บล็อกที่เดินผ่านจะกลายเป็นฉากหลังที่งดงามได้เสมอ ตึกสูงเป็นเส้นนำสายตาไปสู่ท้องฟ้าสีสด และพื้นที่ด้านหน้าตึกหลายแห่งก็ปล่อยเป็นที่ว่างให้ผู้คนได้นั่งมองตึกที่ค่อยๆ เปลี่ยนภาพด้านหลังไปตามแสงสีของวัน

นอกจากความบันเทิงที่ไม่เคยหลับใหล นิวยอร์คยังเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับดนตรี แฟชั่น การแสดงมากมายที่เติบโตส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งล้วนเป็นงานศิลปะในรูปแบบที่สัมผัสได้มากกว่าการมองเห็น

• พิพิธภัณฑ์ในนิวยอร์คมีมากกว่า 80 แห่ง ครบทุกหมวดหมู่ของการจัดแสดง

• The Metropolitan Museum of Art (The Met) คือพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดของนิวยอร์ค ติดอันดับ top five พิพิธภัณฑ์ที่มีผู้เข้าชมสูงสุดในโลกต่อปี

สำหรับนักท่องเที่ยว นิวยอร์คคือเมืองศิลปะที่เต็มไปด้วยเรื่องราวตื่นตาตื่นใจ แต่ถ้าเราลองใช้เวลาสำรวจในรายละเอียด จะมองเห็นอะไรที่มากกว่านั้น

ศิลปะอยู่ในตัวตนของนิวยอร์ค ศิลปินจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาที่นี่เพื่อหาแรงบันดาลใจ ขณะเดียวกันก็ใช้นิวยอร์คเป็นเวทีในการแสดงงาน เชื่อมต่อผู้คนที่สนใจในสิ่งเดียวกัน Susan Hefuna ศิลปินที่สร้างงานศิลปะจากการซึมซับผังเมืองระบบกริด (grid) ของนิวยอร์คที่เธอเห็นทุกๆ วันในการเดินทาง “ฉันจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเดินอยู่ที่ไหน แต่ฉันชอบประสบการณ์ในนิวยอร์คมาก ตัวฉันที่อยู่ในเมืองนี้ เหมือนกับว่ากำลังซึมซับบรรยากาศเหล่านั้น”

เฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศผ่านผลงานศิลปะสุดยูนีค ณ โรงแรม The Standard, Hua Hin

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา โรงแรม The Standard, Hua Hin ได้ชักชวนเราไปชมร่วมชมผลงานศิลปะสุดยูนีค ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลอง ความหลากหลายทางเพศใน Pride Month กับกิจกรรมที่มีชื่อว่า ‘Love Fest

โดยไฮไลท์ของงานคือการเปิดตัวงานศิลปะ ‘เสรีเพศ : Your Own Pride’ โดย ‘แม่น- จิรวัฒน์ ศรีเลื่อนสร้อย’ ผู้คร่ำหวอดในวงการแฟชันและนักออกแบบตัวอักษรชื่อดัง โดยผลงานศิลปะชิ้นนี้ ได้นำเสนอผ่านการใช้คำพูดที่สะท้อนเอกลักษณ์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เมื่อครั้งที่ความหลากหลายยังถูกกำหนดด้วยกรอบความคิดชุดเดิม เพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าและความสำเร็จของการขับเคลื่อนเพื่อความเท่าเทียมทางเพศตลอดหลายปีที่ผ่านมา

‘แม่น- จิรวัฒน์ ศรีเลื่อนสร้อย’

หลายคนอาจจะรู้จัก หรือคุ้นใบหน้าของคุณ ‘แม่น จิรวัฒน์’ กันมาบ้าง หากใครยังนึกไม่ออก คุณแม่นคือผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์สุดยูนีคที่มีชื่อว่า ‘The Only Market Bangkok’ หรือไอเท็มที่มีการสกรีนคำ ‘กรุงเทพมหานคร’ อันโด่งดังนั่นเอง ด้วยประสบการณ์ในวงการแฟชั่น ผู้อยู่เบื้องหลังไอเดียแปลกใหม่ เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทยมากว่าสองทศวรรษ แม่น จิรวัฒน์ จึงมีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านการนำเสนอภาพลักษณ์และความน่าสนใจบนรันเวย์ การถ่ายภาพและงานวิจิตรศิลป์ ที่สื่อถึงความเป็นตัวเองผ่านทางผลงานศิลปะได้อย่างมีเอกลักษณ์ ซึ่งคุณแม่นได้นำเอา ‘Thaipology’ งานศิลปะที่มีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะของตัวอักษรภาษาไทยมาประกอบในชิ้นงานศิลปะที่ The Standard, Hua Hin เพื่อนำเสนอศิลปะประยุกต์ที่มีความร่วมสมัย ผ่านคำพูดที่เคยถูกตีกรอบในสมัยหนึ่งในรูปแบบของตัวอักษรที่เป็นความงดงามในยุคสมัยนั้น ซึ่งได้กลับมามีชีวิตในวงการศิลปะขึ้นอีกครั้งในปัจจุบัน

ไม่เพียงเท่านั้น ทางโรมแรม The Standard, Hua Hin ยังให้เราได้พบกิจกกรรม Pride Month ตลอดทั้งเดือนบนชายหาดหัวหิน เริ่มต้นด้วยการเปิดตัวงานศิลปะในวันที่ 2 มิถุนายน ต่อด้วยการกิจกรรมริมสระน้ำอย่างการชมภาพยนต์ในตำนานเจ้าของรางวัลออสการ์อย่าง Bohemian Rhapsody ในวันที่ 3 มิถุนายน แล้วพบกับความสนุกสนานกับเกมที่ทุกคนเล่นได้อย่าง Not Your Standard Bingo ในวันที่ 15 มิถุนายน ที่ Praça ตั้งแต่เวลา 18.30 น. – 19.30 น. นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Pride Talk ที่เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้มาแชร์ประสบการณ์และพูดถึงความภูมิใจในร่างกายและอัตลักษณ์ของตัวเอง กับแขกรับเชิญพิเศษจากเพจ GIRLxGIRL คอมมิวนิตี้ออนไลน์ขับเคลื่อนสิทธิของกลุ่มผู้หญิงที่รักผู้หญิง ในวันที่ 17 มิถุนายน และส่งท้ายเดือนแห่งการเฉลิมฉลองด้วย DJ Peachji เจ้าหญิงแห่งวงการไฮเปอร์-ป๊อป ที่จะนำเอานำความสนุกของเสียงเพลงยุค Y2K ให้ได้ร้องและเต้นตามที่บริเวณสระว่ายน้ำ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2566 อีกด้วย หากใครไม่อยากพลาดกิจกรรมดีๆ แบบนี้ ตลอดทั้งเดือนนี้หากนึกถึงทะเล The Standard, Hua Hin เป็นอีกหนึ่งจุดมุ่งหมายที่หลายๆ คนต้องห้ามพลาดเลยครับ!

Underverse เปิดตัวฟิกเกอร์รุ่นลิมิเต็ดที่มีเพียง 200 ชิ้นทั่วโลก โดยฝีมือการออกแบบของ AshleyWood

จบลงไปแล้วครับสำหรับงาน Thailand Toys Expo 2023 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา งานนี้มีแบรนด์ของเล่นของสะสม ที่ยกทัพมาอย่างมากมาย มาให้แฟนๆ ชาวไทยได้ชมและเลือกเป็นเจ้าของกันอย่างเนืองแน่น และหนึ่งใน นั้นก็คือ Underverse นั่นเอง ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบโดย Ashley Wood นักออกแบบของเล่นชื่อดังระดับโลก

นับเป็นอีกหนึ่งงาน ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเหล่านักสะสมชาวไทย โดยเฉพาะการเปิดตัว ฟิกเกอร์รุ่น Limited Edition อย่าง Tomorrow Kings Onyx TK V2 ที่ผลิตเพียงง 200 ชิ้นทั่วโลกเท่านั้น มีความโดดเด่นด้วยการออกแบบและผลิตด้วยวัสดุสุดพรีเมี่ยม มาพร้อมกับอาวธุค่กูายครบครัน และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ตัดเย็บอย่างประณีต ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ที่มาร่วมงานเป็นอย่างล้นหลาม นอกจากนีผู้ที่มาร่วมงานยังได้มีโอกาสได้พบปะและใกล้ชิดกับ AshleyWood ที่มาแจกลายเซ็นต์ให้แฟนๆ ด้วยตัวเองอีกด้วย

เหล่านักสะสมของเล่นแนว ArtToy คนไหนที่พลาดงานนี้ไป สามารถเข้าไปชม รายละเอียดของฟิกเกอร์แต่ละซีรี่ส์ของแบรนด์ Underverse เพิ่มเติมได้ทาง https://underverse.com/

‘Field Collapse’ นิทรรศการที่จะพาคุณไปดำดิ่งกับเรื่องราวของโลกระหว่างการก่อสร้างของสถาปัตยกรรม

นิทรรศการ ‘Field Collapse’ เป็นผลงานศิลปะที่ได้รับคัดเลือกจากโครงการ Open Call for Art Projects ที่จัดขึ้นโดย ‘100 Tonson Foundation’ ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยส่งผลงานมาให้คัดเลือกเพื่อจัดแสดงภายใต้การสนับสนุนทางด้านงบประมาณและพื้นที่แสดงงานของมูลนิธิฯ

Photography: Courtesy of 100 Tonson Foundation / Ketsiree Wongwan

งานศิลปะและงานออกแบบถึงแม้จะเป็นงานสร้างสรรค์คนละแขนง แต่ก็มีรากเหง้าพื้นเพมาจากที่เดียวกัน ในปัจจุบันศิลปินหรือนักออกแบบต่างร่วมกันลบเลือนขอบเขตระหว่างศิลปะและงานออกแบบด้วยการสร้างสรรค์ผลงานที่ผสมผสานเอกลักษณ์ของทั้งสองฝั่งเข้าไว้ด้วยกันจนอาจกล่าวได้ว่าแทบจะไม่มีเส้นแบ่งขอบเขตระหว่างงานศิลปะและงานออกแบบอีกต่อไป เช่นเดียวกับผลงานของ thingsmatter สตูดิโอที่สร้างสรรค์งานออกแบบและศิลปะร่วมสมัยที่เป็นการร่วมงานของศาวินี บูรณศิลปิน ศิลปิน/นักออกแบบชาวไทย และทอม แดนเนอเคอร์ (Tom Dannecker) นักออกแบบ/ศิลปินชาวอเมริกัน ผู้ทำงานอยู่บนพรมแดนระหว่างศิลปะและการออกแบบ นอกจาก thingsmatter จะทำงานออกแบบโครงการสถาปัตยกรรมต่างๆ มากมายแล้ว พวกเขายังจัดแสดงนิทรรศการศิลปะหลากหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018, งานอาร์ต ออน ฟาร์ม ของจิมทอมป์สันฟาร์ม และเทศกาล Pattani Decoded 2022

ล่าสุด thingsmatter จัดแสดงนิทรรศการศิลปะที่มีชื่อว่า Field Collapse ณ หอศิลป์ 100 Tonson Foundation ที่นำเสนอผลงานศิลปะที่ผสมผสานงานศิลปะกับสถาปัตยกรรมเข้าด้วยกัน ผลงานชุดนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากช่วงเวลาในกระบวนการระหว่างการก่อสร้างอาคารสถาปัตยกรรม ที่อยู่อาศัย หรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่พวกเขาพบว่ามีความน่าสนใจในเชิงสังคม เศรษฐกิจ หรือแม้แต่มีสุนทรียะบางอย่างซ่อนอยู่ พวกเขาค้นพบว่าพื้นที่ก่อสร้างเป็นโลกที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ที่คนงานก่อสร้างสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นจากโครงไม้หล่อปูนและโครงสร้างเหล็กเส้นต่างๆ ด้วยเทคนิคที่เป็นธรรมชาติ รวมถึงการนำกลับมาใช้ซ้ำ การคำนวณ ผสมผสานกับทักษะที่ส่งต่อมา เพื่อตีความแบบร่างที่สถาปนิกหรือนักออกแบบสร้างสรรค์ขึ้น ทำให้พื้นที่ก่อสร้างเหล่านั้นนำเสนอบริบททางสังคมบางอย่างที่เป็นมากกว่าผลลัพธ์ทางสถาปัตยกรรม

นิทรรศการ Field Collapse นำเสนอผลงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ขนาดใหญ่ ที่ประกอบด้วยเหล็กเส้นจำนวนนับไม่ถ้วน วางเรียงทับซ้อนพร่างพรายตา และระบบคานไม้อัด ที่กินพื้นที่เกือบทั้งหมดของห้องจัดแสดง ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความงดงามและความชาญฉลาดในการคำนวณการจัดวางโครงสร้างภายในของสิ่งก่อสร้างเพื่อความแข็งแรงและมั่นคงในงานสถาปัตยกรรมแล้ว ผลงานชิ้นนี้ยังเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมและสร้างปฏิสัมพันธ์กับตัวงานผ่านพื้นที่เปิดเป็นทางขึ้นคล้ายบันไดให้ผู้ชมเดินขึ้นไปสัมผัสกับมุมมองภายในตัวงานได้ศาวินี บูรณศิลปิน หนึ่งในสมาชิกของ thingsmatter กล่าวถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“ด้วยความที่พวกเรา (ศาวินีและทอม) ทำงานสถาปัตยกรรม ทำงานออกแบบบ้าน เวลาเราไปยังพื้นที่ก่อสร้างแล้วได้เห็นช่างก่อสร้างทำงานผูกเหล็กเส้นเป็นโครงสร้างฐานรากของอาคาร เรารู้สึกว่ากระบวนการก่อสร้างตรงนี้ จากภาพร่างไปสู่ขั้นตอนที่เสร็จออกมาเป็นงานสถาปัตยกรรม เป็นกระบวนการที่น่าสนใจ มีความงามและสุนทรียะในเชิงกวีอยู่ แต่ก็เป็นความงามที่ไม่ยั่งยืน เพราะเมื่อเหล็กเส้นถูกผูกเสร็จแล้ว ช่างก็จะเทคอนกรีตทับลงไป ซึ่งเป็นลักษณะของงานก่อสร้างที่เรียกว่า คอนกรีตเสริมเหล็ก สุดท้ายโครงสร้างเหล่านี้ก็จะถูกฝังอยู่ในคอนกรีตจนมองไม่เห็น หรือกระบวนการทำงานที่ช่างตอกไม้ เป็นแบบหล่อคอนกรีต หรือทำเสาคาน สิ่งเหล่านี้มีความงามแฝงอยู่ แล้วก็ไม่ใช่ความงามที่สถาปนิกอย่างเราออกแบบเพียงคนเดียว เราอาจจะเป็นคนออกแบบตัวคาน แต่เวลาก่อสร้างเราก็ต้องร่วมงานกับช่างก่อสร้าง ที่ต้องตีความว่าแบบของเราจะสร้างออกมาเป็นอย่างไร แล้วเขาก็ทำออกมาด้วยวิธีที่สิ้นเปลืองงบประมาณน้อยที่สุด ด้วยการใช้ไม้เหลือใช้ หรือวัสดุเก็บตกอะไรก็แล้วแต่ มาทำแบบหล่อ เรารู้สึกว่ากระบวนการเหล่านี้น่าสนใจและน่าชื่นชม 

“ก่อนหน้านี้เราก็เคยทำงานที่นำเสนอกระบวนการแบบนี้ด้วยตัววัสดุอย่างเหล็กเส้น ซึ่งเป็นสิ่งที่โดยปกติเราจะมองไม่เห็นจากงานสถาปัตยกรรมที่สร้างเสร็จแล้ว เพราะมันเป็นโครงสร้างที่ถูกฝังอยู่ภายในคอนกรีต เราก็เลยอยากทำให้สิ่งเหล่านี้ถูกมองเห็นและจับต้องได้ งานสองชุดนี้แสดงที่งานสถาปนิก 60 และงาน Hong Kong Shenzhen Biennale of Urbanism/Architecture ที่ฮ่องกง “งานในนิทรรศการครั้งนี้ทำขึ้นจากเหล็กเส้นที่เขาเรียกว่า deformed bar หรือที่บ้านเราเรียกว่า เหล็กข้ออ้อย (เหล็กเส้นที่มีลักษณะเป็นปล้องๆ เพื่อให้คอนกรีตยึดเกาะได้) เราพัฒนางานชุดนี้ขึ้นจากงานชุดก่อนหน้า ที่เราทำเป็นแค่ก้อนบันไดด้วยเหล็กเส้น เพื่อเล่นกับแนวคิดเกี่ยวกับ positive/negative space และพื้นที่ตัน (solid) กับพื้นที่ว่าง (void) และการตั้งคำถามว่า สถาปัตยกรรมนั้นเป็นพื้นที่ (space) หรือเป็นวัตถุ (object) กันแน่ เรารู้สึกว่าเราอยากเล่นกับสภาวะที่ก้ำกึ่งเหล่านี้ พอเราเริ่มสำรวจงานสองชุดแรก เราก็รู้สึกว่าเราเริ่มมีวิธีการสื่อสารกระบวนการเหล่านี้ออกมาได้ “พอดีทาง 100 Tonson Foundation เขาเปิดโครงการ Open Call for Art Projects ให้นำเสนอโครงการศิลปะเพื่อคัดเลือกให้จัดแสดงใน 100 Tonson Gallery เราก็เลยนำเสนอโครงการนี้ ที่ต่อเนื่องจากงานสองชุดก่อนหน้าที่เราเคยสำรวจไป “เรารู้สึกว่าเราอยู่ในพื้นที่สีเทามาตลอด เพราะพอเราอยู่ในแวดวงสถาปนิก เขาก็จะมองว่าเราอยู่ในสายศิลปะ พอเราอยู่ในแวดวงศิลปะ เขาก็จะมองว่าเราเป็นสถาปนิก ถึงเราจะทำงานศิลปะ ก็เหมือนเป็นงานศิลปะแบบคนนอก (outsider art) แต่เราก็ไม่ได้คิดมากอะไร เพราะเราพยายามทำงานที่เปิดพื้นที่ให้คนเข้ามามีส่วนร่วม หรือสร้างบทสนทนากับผู้คน “ก่อนหน้านี้เราทำงานสถาปัตยกรรมแบบจริงๆ จังๆ อย่างการออกแบบบ้าน-สำนักงานมาตลอด พอถึงจุดหนึ่ง เรารู้สึกว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่ได้พูดถึงเลย เพราะมัวแต่จดจ่ออยู่กับเรื่องการก่อสร้าง งบประมาณ ลูกค้า ผู้รับเหมา หรืออย่างตอนเรียน เราก็สนใจเรื่องอื่น อย่างประวัติศาสตร์ ทฤษฎี และปรัชญา ที่ก็ยังเกี่ยวข้องกับศิลปะและสถาปัตยกรรมนั่นแหละนะ แต่ว่าอาจจะมีความเป็นกวีกว่า หรือมีสเกลที่เล็กกว่า เรารู้สึกว่าพอเรามีทักษะพอที่เราจะสร้างบ้านสร้างอาคารแล้ว เราก็อยากสำรวจ หรือสร้างบทสนทนาในสิ่งที่เรายังไม่ได้พูดถึง เป็นเหมือนการทำงานในเชิงทดลองมากขึ้น

“อาจจะด้วยความที่เราฝึกฝนมาในฐานะนักออกแบบพื้นที่ เมื่อมาทำงานศิลปะ เราก็ยังรู้สึกว่างานของเราจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อมีคนเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับงาน เราชอบมากที่ตอนเปิดงานมีเด็กๆ ขึ้นไปเดินเล่น เรารู้สึกว่ามันช่วยเติมเต็มให้งานของเราสมบูรณ์ เพราะถ้างานตั้งอยู่เฉยๆ เราคิดว่ามันยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เราเปิดพื้นที่ให้คนเข้าไปยืนอยู่ภายในตัวงานและเป็นส่วนหนึ่งของงาน และเปิดพื้นที่ตรงปลายห้องแสดงงานให้ผู้ชมได้มองตัวงานด้านนอก เหมือนเป็นงานประติมากรรม “โดยปกติแล้ว โครงสร้างเหล็กเส้นจะไม่สามารถตั้งอยู่ได้ด้วยตัวเอง มันต้องไปประกอบกับอะไรสักอย่าง จะเป็นปูนหรือวัสดุอื่นประกอบกันให้เกิดความมั่นคงแข็งแรง หรือถ้าไม่ใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง โดยมากเรามักเห็นเหล็กเส้นแบบนี้ถูกใช้เป็นวัสดุตกแต่ง นำมาทำเฟอร์นิเจอร์ หรือราวบันไดตามคาเฟ่ แต่เราอยากใช้มันในลักษณะวัสดุก่อสร้างของโครงสร้างงานสถาปัตยกรรม ที่มีนัยยะในตัวมันที่เกี่ยวเนื่องกับงานก่อสร้าง เราจึงต้องทำให้มันตั้งอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ได้ถูกซ่อนเร้นอยู่ในคอนกรีต ในสเกลที่แทบจะห่อหุ้มคน เพื่อให้คนสามารถสัมผัสพื้นผิวของวัสดุได้ โดยเราใช้เหล็กเส้นไปเกือบ 5 ตัน แต่ในความเป็นจริง ตัวเหล็กเส้นก็ทำงานร่วมกันกับโครงไม้ข้างบนที่ยึดให้แน่น เป็นระบบโครงสร้างรวมที่มั่นคงปลอดภัยพอที่คนจะเดินขึ้นไปได้ โดยถ้าสังเกต โครงสร้างนี้ตั้งอยู่เฉยๆ แต่ไม่ได้ยึดลงกับพื้นเลย

“ส่วนชื่อของนิทรรศการ Field Collapse เราหยิบยืมมาจากงานเขียนของนักวิจารณ์ศิลปะชาวอเมริกัน โรซาลินด์ อี. เคราส์ (Rosalind E. Krauss) อย่าง Sculpture in the Expanded Field (1979) ซึ่งเป็นงานเขียนชิ้นสำคัญที่พูดถึงงานที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างงานสร้างสรรค์อย่างงานประติมากรรม (sculpture) งานภูมิทัศน์ (landscape) และงานสถาปัตยกรรม (architecture) ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีคำว่างานศิลปะจัดวาง (installation art) เลยด้วยซ้ำ ซึ่งงานเขียนชิ้นนี้มีอิทธิพลกับเราตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา ในที่นี้ Field Collapse อาจจะเป็นพื้นที่ที่ทุกสิ่งทุกอย่างมาซ้อนทับกันโดยไม่ได้แยกอย่างชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไรหรือจะต้องเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น”

นอกจากผลงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ขนาดใหญ่ที่เปิดให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมแล้ว ยังมีผลงานภาพร่างลายเส้นอันละเมียดละไม ผลงานภาพพิมพ์ดิจิทัลเปี่ยมสีสันแปลกตา และวิดีโอจัดวางที่บันทึกกระบวนการติดตั้งผลงานแบบ time-lapse จัดแสดงอยู่ด้วย “งาน drawing ในงานนิทรรศการนี้มีสองชุด ชุดแรกเป็นภาพลายเส้นขาวดำที่เราให้ชื่องานว่า workingdrawing ที่เราเอาแบบก่อสร้างของงานชุดนี้หลายๆ หน้ามาทับซ้อนกันทำเป็นงานดิจิทัลคอลลาจ งานสเก็ตช์ชิ้นนี้เป็นเหมือนตัวงาน Field Collapse ในแง่ที่มันเป็นความงามระหว่างทาง หรือแบบไม่ได้ตั้งใจ เหมือนตอนเราทำงานในโปรแกรม AutoCAD หรือ Illustrator เรารู้สึกว่าลายเส้นแบบนี้สวยเหลือเกิน “ผลงานอีกชิ้นมีชื่อว่า Deflected Shape No. 4 (Field Collapse) ซึ่งเป็นไดอะแกรมที่มีที่มาจากโปรแกรมที่ทอมใช้สำรวจและคำนวณความแข็งแรงของโครงสร้างของงานศิลปะจัดวางชุดนี้ เป็นระบบวิศวกรรมที่ใช้คำนวณการรับน้ำหนักของโครงสร้างว่าหนักขนาดไหนจะถึงจุดวิกฤตที่โครงสร้างจะยวบหรือพังลงมา เหมือนเราคำนวณหาว่าคนสามารถขึ้นไปอยู่บนบันไดแต่ละขั้นได้กี่คน โปรแกรมก็จะช่วยคำนวณหาความปลอดภัยว่าคนขึ้นไปข้างบนได้เท่าไหร่ เราก็จับเอาห้วงขณะของจุดวิกฤตนั้นมาขยายความทำเป็นงานภาพพิมพ์ดิจิทัลออกมา”

บางคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า ศิลปะต่างกับงานดีไซน์ตรงที่งานดีไซน์นั้นต้องมีฟังก์ชันหรือประโยชน์ใช้สอย หากแต่ศิลปะไม่จำเป็นต้องมี เมื่อเราตั้งคำถามนี้กับนักออกแบบที่ทำงานศิลปะอย่างศาวินี เธอก็ทิ้งท้ายกับเราว่า “เราคิดว่างานศิลปะมีฟังก์ชันนะ แต่มันมีความเป็นนามธรรมมากกว่าฟังก์ชันตามปกติ อาจจะเป็นฟังก์ชันเพื่อการสื่อสาร หรือเพื่อแสดงออก ในแง่หนึ่ง ศิลปะมีฟังก์ชันทางสายตา หรือฟังก์ชันในเชิงปรัชญา ไม่ใช่ฟังก์ชันในเชิงกายภาพแบบเดียวกับโต๊ะเก้าอี้ สำหรับเรา ศิลปะมีวาระหน้าที่ของมันอยู่ มันมีความเป็นนามธรรม แต่มันก็ยังรับใช้เป้าหมายบางอย่างอยู่ สำหรับเรา เรามีความสุขเวลาเห็นคนได้ดูงานศิลปะแล้วได้สัมผัสกับประสบการณ์บางอย่าง ไม่ว่าจะในแง่ไหน ทั้งมีความเพลิดเพลิน ได้ยิ้ม หรือได้แรงบันดาลใจก็ตามที”

– Author: MutAnt –

VERSACE HOME ปล่อยคอลเล็กชั่นใหม่ที่ยังคงเอกลักษณ์ ณ Milano Design Week

Salone del Mobile และ Milano Design Week หนึ่งในงานที่รวบรวมผลงานออกแบบไว้ในที่เดียว หนึ่งในนั้นก็คือสินค้าคอลเล็กชั่นใหม่จาก VERSACE HOME นำเสนอเฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับคอลเล็กชั่นใหม่ ผลิตโดย Luxury Living Group ออกแบบภายใต้การสร้างสรรค์ของ Donatella Versace ร่วมกับสถาปนิกอย่าง Roberto Palomba และ Ludovica Serafini จาก ps+a studio

ภายในงาน ได้เนรมิตรพื้นที่จัดแสดงขนาด 500 ตร.ม. ของงาน Salone del Mobile ถูกออกแบบเสมือนกล่องสีดำและมีเพดาน สะท้อนแสงพร้อมตกแต่งด้วยผ้าไหมเรืองแสงที่ทำให้เกิดแสงพื้นหลังอย่างสวยงาม อีกทั้งยังสร้างสรรค์พื้นที่สถาปัตยกรรมนี้ให้เปรียบเสมือนโรงละคร โดยเฟอร์นิเจอร์แบบแยกส่วนบางชิ้นถูกนำมารวมกันเพื่อจัดแสดงคอลเล็กชั่น Versace Home รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ใหม่ของปี 2023

โซฟาแบบแยกส่วนรุ่น Zensational หนึ่งในไอเท็มหลักของคอลเล็กชั่นใหม่นี้ สร้างสรรค์ชื่อรุ่นจากการออกแบบที่เน้นการผ่อนคลาย และอ้างอิงจากแรงบันดาลใจของ Versace ในด้านความคลาสสิกและด้านนิยายกรีกโบราณ ซึ่งชิ้นต่างๆ ออกแบบด้วยรูปทรงเรขาคณิตพร้อมตกแต่งผ่านแรงบันดาลใจจากอดีตไม่ว่าจะเป็นรูปทรง ลวดลาย และวัสดุ Tangram ที่เข้ากันกับแผ่นตกแต่งฝ้าของแฟชั่นเฮ้าส์ ส่งผลให้สามารถจัดวางและนำเสนอได้อย่างน่าอัศจรรย์ พร้อมนำเสนอหนังจระเข้แบบนูนที่สอดคล้องกับคอลเล็กชั่น Versace Fall-Winter 2023 ผสมผสานกับลายพิมพ์บาโรกและลวดลายจากผ้าแจ็คการ์ด และอีกหลายรุ่นที่น่าสนใจในงานนี้

นอกจากคอลเล็กชั่นใหม่ของปี 2023 แล้วนั้น Versace Home ยังได้นำเสนอเฟอร์นิเจอร์ที่ขายดีที่สุดบางส่วน อาทิเช่น รุ่น La Greca ที่เป็นจุดเด่นของนิทรรศการในครั้งนี้ และบูติกแฟลกชิปสโตร์บน Via Durini อย่างอาร์มแชร์ขนาดใหญ่ที่ออกแบบด้วยเบาะรองนั่งลึกและฐานหมุนได้ ในปัจจุบันรุ่น Stiletto ขยายไปถึงโต๊ะที่หุ้มบริเวณด้านบนด้วยหนัง เก้าอี้สตูลแบบเพรียวและอาร์มแชร์ bergère ที่มาพร้อมกับเก้าอี้พักเท้า โดยออกแบบอย่างเพรียวบางผสมผสานด้วยศิลปะร่วมสมัย ที่ช่วยเสริมรูปทรงอาร์มแชร์อย่างไดนามิก ในส่วนของพนักพิงมีลักษณะคล้ายคลึงกับรูปหางนางเงือกขนาดใหญ่และสูงเรียวลงมาถึงเท้า ที่ชวนให้นึกถึงรองเท้าส้นเข็มอันเป็นเอกลักษณ์ของทางแบรนด์ คอลเล็กชั่นอื่นๆ ที่จัดแสดง ได้แก่ เตียงรุ่น Signature, Goddess และ La Medusa ที่มีให้เลือกทั้งแบบผ้าและแบบหนัง โคมไฟประกอบด้วยโคมไฟตั้งโต๊ะ LED รุ่น Goddess แบบใหม่ ที่โอบรับพื้นที่ใช้สอยในบ้านแบบร่วมสมัย และโคมช่อ Versace Galaxy ออกแบบด้วยทรงกลมใส เหลือบทองและประดับด้วยโลโก้ Versace

‘Fendi Casa’ ได้เปิดตัวคอลเล็กชั่นใหม่

FENDI Casa – Salone del Mobile 2023

FENDI Casa เปิดตัวคอลเล็กชั่นใหม่ปี พ.ศ. 2566 ที่งาน Milan Design Week 2023 เป็นการตอกย้ำจุดประสงค์ของการเริ่มต้นสร้างบริษัทร่วมทุนระหว่าง FENDI และ Design Holding ในปี พ.ศ. 2564 เพื่อมุ่งเน้นการขยายตลาดการออกแบบระดับไฮเอนด์

โดยคอลเล็กชั่นนี้จัดแสดงขึ้น ณ บูติก Piazza della Scala เมืองมิลาน ซึ่งเป็นพื้นที่แบบมินิมอลแต่แฝงด้วยการตกแต่งอันทรงพลัง ล้อมรอบด้วยองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่มีความโค้งมน และกลายเป็นบรรทัดฐานอันเป็นเอกลักษณ์และเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมอันร่วมสมัยซึ่งมีรากฐานมาจากความคลาสสิกของ FENDI โดยผลงานการร่วมมือในครั้งใหม่และผลงานที่ยังไม่ได้ถูกเผยแพร่ก่อนหน้านี้ มีลายเส้นที่ชัดเจนภายใต้แนวทางการรังสรรค์ของ Silvia Venturini Fendi ซึ่งเป็นคอลเล็กชั่นที่มีหลายแง่มุมด้วยสินค้าหลากหลายคาแรกเตอร์ได้รับแรงบันดาลใจจากความหลงใหลในวัสดุและช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญในรายละเอียดที่เล็กที่สุดซึ่งเป็นรากฐานของการออกแบบอันสำคัญ

แนวคิดหลักสามประการ –  Crafting (งานประดิษฐ์) ซึ่งเชื่อมโยงกับช่างฝีมือ Family (ครอบครัว) ที่มีบรรยากาศอบอุ่น และ Vibrant (ความมีชีวิตชีวา) ไหวพริบอันแข็งแกร่งและทรงเสน่ห์ เสริมปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้นด้วยการสร้างสรรค์สไตล์อันหลากหลายซึ่งเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ โดยคุณลักษณะที่มีการทำซ้ำภายในคอลเล็กชั่นแม้ว่าจะเป็นเพียงรายละเอียดรวมไปถึงหนัง: ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพต่อมรดกและความเชี่ยวชาญของ FENDI อันเป็นสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นจนกลายเป็นสิ่งที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในการขยายแนวทางจากโลกแห่งแฟชั่นไปสู่โลกแห่งการออกแบบ สีนิยามความสง่างาม: เริ่มต้นด้วยสีควันบุหรี่และสีเบจ จนถึงสีเทาและสีชมพูที่นุ่มนวลหรูหรา

The Incredible Journey เส้นทางแห่งการแกะไม้อันอิสรเสรีของชนาธิป ชื่นบำรุง

Fat Fox and Moon Journey & The Journey of Chanathip

ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารอันไร้พรมแดนในปัจจุบัน ทำให้การชมงานศิลปะเป็นเรื่องสะดวกง่ายดายขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้เราต้องเดินทางออกจากบ้านไปหาชมงานตามหอศิลป์ต่างๆ แต่ทุกวันนี้เราสามารถชมงานจากการแค่ขยับปลายนิ้ว ศิลปินหลายคนเปลี่ยนพื้นที่จากการแสดงงานในหอศิลป์มาแสดงบนโซเชียลมีเดียให้เราติดตามกันมากมาย ในจำนวนนั้นมีศิลปินคนหนึ่งที่เราติดตามผลงานของเขาในโลกออนไลน์มาระยะหนึ่ง ด้วยความที่เราถูกใจผลงานแกะสลักไม้ตัวละครหลากหลายที่ล้วนแล้วแต่เปี่ยมเสน่ห์ น่ารักน่าชัง แต่งแต้มด้วยสีสันสดใส ถึงแม้จะเป็นผลงานแกะสลักไม้ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดประณีตบรรจง แต่ก็ยังหลงเหลือร่องรอยของการแกะไม้เอาไว้ให้เห็นราวกับเป็นฝีแปรงของศิลปินก็ไม่ปาน ทำให้ผลงานของเขาดูมีความอบอุ่น เปี่ยมอารมณ์ความรู้สึก ผลงานเหล่านี้ถูกนำเสนอในเพจที่มีชื่อว่า ‘Fat Fox and Moon Journey’ โดยชนาธิป ชื่นบำรุง ผู้จบการศึกษาจากภาควิชาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หากแต่หันเหมาทำงานแกะไม้ในภายหลังถึงแม้ชนาธิปจะลงผลงานให้ชมอย่างสม่ำเสมอทางเพจของเขา แต่สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น และดูงานออนไลน์ในจอก็ไม่เท่ากับได้เห็นของจริง เมื่อเขามีนิทรรศการแสดงเดี่ยวเป็นครั้งแรกอย่าง ‘The Journey of Chanathip’ ในพื้นที่จริงอย่าง Old Town Gallery เราจึงไม่พลาดโอกาสที่จะไปชมผลงานของเขาให้เห็นกับตา และหยิบฉวยเอาเรื่องราวของเขามาเล่าสู่ให้ฟังกัน ณ บัดนาว

“เราเริ่มต้นแกะไม้จริงจังเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้เราสอนศิลปะอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา 5 – 6 ปี แล้วก็กลับมาอยู่กรุงเทพฯ มาเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร แล้วก็ออกมาทำงานบริษัท ไปๆ มาๆ ก็รู้สึกเบื่อที่จะออกจากบ้าน คิดว่าเราทิ้งสิ่งที่เราเรียนมาไปหมด เราเห็นรุ่นพี่ เห็นเพื่อน เห็นน้องๆ เป็นศิลปินกันหมด เราอยากเป็นศิลปินกับเขาบ้าง ก็เลยต่อเฟรมเองเพื่อเขียนรูป เขียนเยอะมาก แต่ก็ไม่ได้แสดงที่ไหน สมัยนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดีย ทำไปทำมาก็รู้สึกว่าไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงเท่ากับการที่เราเอาเศษไม้ที่เหลือจากการต่อเฟรมเองมาแกะสลักเล่นด้วยมีดคัตเตอร์ แล้วรู้สึกเพลิดเพลินกว่า รู้สึกตอบโจทย์ตัวเองกว่าการทำงานศิลปะที่เคยคิดเอาไว้ แกะเสร็จก็เอาให้เพื่อน ให้แฟน ก็เริ่มทำมาเรื่อยๆ ยาวมาสิบกว่าปีแล้ว”

“ความจริงการแกะไม้เป็นการเติมเต็มความสุขที่ฝังรากมานานตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว ตอนเรียนเราเครียดกับศิลปะ เครียดกับครูบาอาจารย์ เครียดกับงานเรียน ที่ต้องเป็นอาร์ตจ๋า เราเบื่อ ก็เลยแกะไม้เล่นเพื่อคลายเครียด พอกลับมาทำงานศิลปะอีกก็ยังไม่ใช่อีก การแกะไม้ก็เลยกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขและคลายเครียดมากกว่า”

“เราเรียนศิลปะภาพพิมพ์มา ไม่ได้เรียนประติมากรรม แต่พอจบมาแล้วเราชอบประติมากรรม ไปทำงานประติมากรรมทรายพักหนึ่งด้วย ช่วงนั้นออกจากงาน เราก็ไม่อยากกลับไปทำงานประจำ แต่พอว่างงานก็ไม่มีสตางค์ จะเป็นศิลปินเขียนรูปขายก็ยากลำบาก เราเองก็โนเนม ไม่รู้จักใคร และไม่มีใครรู้จักเรา ก็กลับมาหาอะไรที่เราเคยทำแล้วชอบอย่างการแกะไม้ ทำเสร็จเอาไปฝากขายที่คาเฟ่ของเพื่อน ก็ขายไม่ค่อยได้ แต่ก็ยังไม่เลิกทำ ก็ยังเพียรแกะไม้อยู่ แต่ก็ไปสมัครงานที่สวนสยาม ถึงแม้อายุเราเยอะ เขาก็ยังรับ เพราะโปรไฟล์เราดี เราเคยทำงานอยู่กับไชโยโปรดักชั่นส์ ทำงานประติมากรรมทรายร่วมกับศิลปินต่างชาติ ได้ลงสื่อต่างๆ เป็นกระแสอยู่พักหนึ่ง แต่ก็ไม่ยั่งยืน เพราะประติมากรรมทรายทำเสร็จแล้วแป๊บเดียวก็พัง ก็ได้งานซ่อมหุ่นไดโนเสาร์ที่สวนสยาม ทำอยู่สองวันก็ลาออก ทั้งๆ ที่ที่ทำงานดีมาก สวัสดิการก็ดี แต่เราอยากแกะไม้ เราไม่สนใจว่าจะขายได้หรือขายไม่ได้ ช่างมัน จะอาร์ตหรือไม่อาร์ต ช่างมัน”

“เราจำได้ว่าเริ่มกลับมาทำงานแกะไม้ชิ้นแรกๆ ตอนปี 2010 ตอนนั้นยังทำเป็นตัวละครที่เราชื่นชอบจากการ์ตูนญี่ปุ่น เติมเต็มสิ่งที่เราเคยขาดหายไปตอนเด็กๆ พวกหุ่นยนต์เกรทมาชินก้า, เทตสึจิน หุ่นเหล็กหมายเลข 28, ไอ้มดแดง, เจ้าหนูปรมาณู, หน้ากากเสือ พอดีช่วงนั้นเริ่มมีโซเชียลมีเดียแล้ว แกะเสร็จแล้วก็โพสต์ลงเฟซบุ๊กลงอะไรไป ไม่ได้โพสต์ขายด้วย ด้วยความหน้าบาง ไม่กล้าขายของ จนวันนึง เราโพสต์งานแกะไม้รูปหน้ากากเสือ ก็มีคนมาติดต่อขอซื้อทางเฟซบุ๊ก คนนั้นใช้ชื่อว่า Boyd Kosiyabong เขาบอกว่าอยากได้งานแกะไม้หน้ากากเสืออันนี้ เราจะขายไหม ตอนนั้นเรายังไม่มั่นใจว่าเขาคือพี่บอย โกสิยพงษ์ จริงๆ ไหม เข้าไปส่องโปรไฟล์ก็ดูเหมือนจะเป็นตัวจริง เราก็ขายเขาไป ช่วงนั้นก็เลยบูมมาก เพราะพอแกะอะไรมาเกี่ยวกับตัวละครการ์ตูนญี่ปุ่น สองสิงห์อวกาศเอย อะไรเลย พี่บอยเขาซื้อหมดเลย แกะเสร็จ โพสต์ปุ๊บ เขาจะมาพิมพ์ว่า ‘จอง’ ทุกครั้ง ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ราคา พี่บอยซื้อเสร็จแล้วก็เอาไปตั้งโชว์ที่ค่ายเลิฟอีส ศิลปินที่ค่ายมาเห็นก็ตามมาซื้อกับเรา ตอนแรกเราก็ขายไม่แพง เพราะเราคิดว่างานเราไม่ใช่ศิลปะ เป็นแค่ของเล่น ราคานี้ก็โอเคแล้ว”

“พอแกะไปสักพัก เราก็เริ่มอยากสร้างคาแรกเตอร์ของตัวเอง ก็เริ่มคิดว่าเราน่าจะออกแบบคาแรกเตอร์เฉพาะตัวขึ้นมา ก็คิดเป็นคาแรกเตอร์ชื่อ Fat Fox ซึ่งมีที่มาจากตัวเราเอง ที่เหมือนเป็นหมาป่าในนิทานหนูน้อยหมวกแดง เพราะเราคิดว่าตัวเองไม่ใช่คนดี แล้วตอนนั้นก็มีปัญหาครอบครัว ปัญหาส่วนตัวต่างๆ ก็เลยทำออกมาเป็นคาแรกเตอร์หมาจิ้งจอก ที่เป็นตัวละครเจ้าเล่ห์ เป็นจิ้งจอกอ้วนๆ ไม่สมบูรณ์แบบ เราก็เล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองผ่านจิ้งจอกตัวนี้ ช่วงนั้นชีวิตกำลังอยู่ในขาลง เลิกกับแฟนที่คบมานาน ไม่มีแรงบันดาลใจ เบื่อ หมดกำลังใจจะมีชีวิตอยู่ มีช่วงหนึ่งก็ทำออกมาเป็นเหมือนจิ้งจอกตัวกำลังจะผูกคอตาย แต่จู่ๆ ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาในชีวิต มาให้กำลังใจ ช่วยเหลือโน่นนี่ ช่วยเติมเต็มในสิ่งที่เราขาดหายไป เหมือนเป็นแสงสะท้อนจากดวงจันทร์ เป็นแสงเดียวที่เรามีในยามที่ชีวิตมืดมนอยู่ตอนนั้น เราก็เลยสร้างเป็นคาแรกเตอร์ชื่อ Moon คือเด็กหญิงดวงจันทร์ที่เป็นแสงสว่างแห่งความหวังอันเดียวที่เรามี ก็เลยกลายเป็นที่มาของคาแรกเตอร์ Fat Fox & Moon ขึ้นมา เหมือนเราทำเพื่ออุทิศให้กับน้ำใจและความช่วยเหลือของเขา ตอนนี้เขาก็มาเป็นผู้จัดการส่วนตัวให้เรา คอยดูแลงานเราเบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นการขายงาน การตลาด การทำโปรโมท ดูแลเพจเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ติดต่อลูกค้าต่างชาติ ตอนนี้ก็มีบริษัทอาร์ตทอยไต้หวันมาติดต่อขอเอาคาแรกเตอร์ Moon ตัวนี้ไปทำเป็นของเล่นด้วย” เอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกประการในผลงานแกะไม้ของชนาธิปที่แตกต่างจากนักทำงานแกะไม้คนอื่นก็คือ แทนที่เขาจะใช้อุปกรณ์แกะสลักไม้ตามปกติอย่างเครื่องมือแกะสลักไม้ หรือสิ่วแกะสลักไม้ เหมือนชาวบ้านชาวช่องเขา แต่ชนาธิปกลับใช้อุปกรณ์ธรรมดาๆ ที่หาได้ทั่วๆ ไปอย่างคัตเตอร์ มาใช้แกะสลักไม้แทน แต่คัตเตอร์ธรรมดาๆ นี่แหละ ที่เมื่อมาอยู่ในมือของชนาธิปแล้ว ก็กลับกลายเป็นอุปกรณ์อันเปี่ยมประสิทธิภาพไม่แพ้อุปกรณ์แกะสลักไม้ชั้นดีเลยแม้แต่น้อย”

“ที่เราใช้คัตเตอร์แกะเพราะมันสะดวก ความจริงเราก็มีแฟนคลับส่งอุปกรณ์แกะไม้ดีๆ มาให้ใช้ มาให้ช่วยรีวิวนะ แต่เราก็ไม่ใช้ ก็ใช้แต่คัตเตอร์เหมือนเดิม เพราะเราใช้ไม้สนแกะสลัก ที่เลือกใช้ไม้สนเพราะตอนที่เริ่มทำเราไม่มีสตางค์ เหมือนที่บางคนเคยบอกว่า ‘ถ้ารักจะทำงานศิลปะแล้วไม่มีเงินซื้อสีซื้ออุปกรณ์ ก็ให้กรีดเลือดมาเขียนรูป’ เราไม่รู้ว่ามีคนทำอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่านะ แต่เราอยากแกะไม้ แต่ไม่มีสตางค์ เราก็ไปร้านเฟอร์นิเจอร์แถวคลองเตย ไปขอซื้อเศษไม้ที่เขาเหลือจากทำเฟอร์นิเจอร์มาแกะ พอดีไม้พวกนั้นเป็นไม้สนที่ใช้ตีลัง ทำพาเลท เป็นไม้เศรษฐกิจ โตง่าย แต่ข้อเสียของมันคือจะยุ่ยง่ายเวลาใช้สิ่วแกะสลัก ต้องใช้อุปกรณ์ที่คมกริบจริงๆ แบบคัตเตอร์ถึงจะแกะได้ เราก็เลยเลือกใช้คัตเตอร์ทำงาน อีกอย่างเราเป็นคนขี้เกียจลับเครื่องมือด้วย เพราะเครื่องมืออื่นๆ พอใช้แล้วก็ต้องลับ เสียเวลา ใช้คัตเตอร์ก็แค่หักใบมีดทิ้งหรือเปลี่ยนใบมีดแค่นั้นเอง ช่วงหลังๆ เราก็เลยเปิดเวิร์กช็อปสอนแกะไม้ด้วยคัตเตอร์ด้วย”

“ตอนนี้เราแกะไม้เพื่อความสุขของตัวเองจริงๆ หลักฐานก็คือเราไม่รับทำตามออร์เดอร์ เพราะถ้ารับออร์เดอร์ก็ต้องทำตามคนอื่นสั่ง ก็เหมือนกลับไปทำงานบริษัท กลายเป็นลูกจ้างเขาอีกรอบ ตอนนี้เรามีอิสรเสรี อยากไปไหนก็ไป อยากแกะไม้เมื่อไหร่ก็แกะ ไม่มีใครมาสั่งให้ทำ ใครชอบก็ซื้อ ไม่ชอบก็ไม่ต้องซื้อ เท่านั้นเอง นี่แหละคือชีวิตที่เราต้องการ”

– Author: MutAnt –