ภูฏานเปิดประเทศอีกครั้งภายใต้สโลแกน ‘Believe’

ราชอาณาจักรภูฏานได้เปิดประเทศอีกครั้งเพื่อต้อนนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกหลังปิดประเทศไประยะหนึ่งเนื่องจากการระบาดของโรค COVID-19 พร้อมเปิดตัวยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ซึ่งเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าของประเทศทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ การปรับปรุงนโยบายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ดียิ่งขึ้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และการยกระดับประสบการณ์ของผู้มาเยือนทุกคน

“การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ในรูปแบบ น้อยแต่มาก เป็นนโยบายของประเทศภูฏานซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งแรกที่ประเทศเปิดรับนักท่องเที่ยวในปี 1974 อย่างไรก็ตามจิตสำนึกและความตั้งใจอันดีงามเหล่านี้ค่อย ๆ เลือนหายไปโดยเราไม่รู้ตัว ดั้งนั้นเมื่อมีโอกาสได้ทบทวนสิ่งต่าง ๆ หลังวิกฤตการณ์แพร่ระบาดครั้งใหญ่ ตอนนี้พวกเราพร้อมแล้วที่จะเปิดบ้านอย่างเป็นทางการเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกอีกครั้ง นี่คือช่วงเวลาสำคัญของการทบทวนตัวเอง ทั้งสารัตถะแห่งนโยบาย คุณค่า และความดีที่บรรพบุรุษส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น” ดร. โลเท เชอริง (H.E. Dr. Lotay Tshering) นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏาณกล่าว

 “เราต้องเชื่อมั่นว่าประเทศของเรามีคุณค่า เป็นสังคมที่เปี่ยมไปด้วยความจริงใจ ความซื่อสัตย์ และวิถีธรรมเนียมปฏิบัติ ประเทศที่ประชาชนรู้สึกปลอดภัยท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันเงียบสงบ และได้รับความสะดวกสบายที่ดีที่สุดจากโครงสร้างพื้นฐาน ปกติเวลาเราพูดถึงคำว่า “มีมูลค่าสูง” คนทั่วไปจะรู้สึกถึงสินค้าระดับไฮเอนด์สุดพิเศษ และบริการต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการพักผ่อนแบบลักชัวรี แต่นั่นไม่ใช่ภูฏานเลย เช่นเดียวกับคำว่า “ปริมาณน้อย” ซึ่งก็ไม่ได้หมายถึงการจำกัดนักท่องเที่ยว เราทุกคนรู้สึกซาบซึ้ง และยินดีเป็นอย่างยิ่งเมื่อมีคนเห็นคุณค่าประเทศเล็ก ๆ ของเรา ในขณะที่เราก็ตั้งใจที่จะเรียนรู้จากผู้มาเยือนให้ได้มากที่สุดเช่นกัน ตอนนี้การเข้าออกประเทศของเราไม่มีข้อจำกัดและเงื่อนไขแล้ว ซึ่งน่าจะตอบโจทย์นักท่องเที่ยวหลายคน สิ่งที่ดีที่สุดที่ในการบรรลุวิสัยทัศน์ของเราก็คือเยาวชน และทีมงานผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านการท่องเที่ยว และแม้ว่าเราจะมองพวกเป็นตัวแทนระดับแนวหน้า แต่อันที่จริงแล้ว ชาวภูฏานทุกคนล้วนเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ค่าธรรมเนียมขั้นต่ำที่เราขอให้นักท่องเที่ยวชำระก็เปรียบเสมือนการลงทุนซ้ำ ณ ที่แห่งนี้ สถานที่ซึ่งทุกคนจะมาพบปะกัน มรดกที่เราทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกันไปยังชั่วลูกชั่วหลาน ยินดีต้อนรับเข้าสู่ประเทศภูฏาน” ดร.โลเท เชอริง กล่าวเสริม

การปรับปรุงนโยบายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเทศภูฏานประกาศเพิ่มค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDF) จาก 65 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อคืน ซึ่งจะนำไปใช้ในโครงการต่าง ๆ ที่สนับสนุนการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมของประเทศภูฏาน* ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นจะถูกนำไปสนับสนุนหลากหลายโครงการเพื่อรักษาประเพณีวัฒนธรรมของภูฏาน ตลอดจนโครงการเพื่อความยั่งยืน การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและโอกาสสำหรับเยาวชน รวมถึงให้การศึกษาและการรักษาพยาบาลฟรีสำหรับประชาชน อาทิ บางส่วนของกองทุนค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนจะใช้ไปกับการปลูกต้นไม้เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากนักท่องเที่ยว ยกระดับแรงงานในภาคการท่องเที่ยว ทำความสะอาดและบำรุงรักษาเส้นทาง ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิล และกระตุ้นภาคการขนส่งของภูฏาน รวมทั้งอีกหลายโครงการที่สำคัญ

ในฐานะที่ประเทศภูฏานเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบทางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (เช่น ภัยจากธารน้ำแข็งละลาย น้ำท่วม และรูปแบบสภาพอากาศที่คาดเดาไม่ได้) ภูฏานกำลังเพิ่มความพยายามในการรักษาสถานะให้เป็นประเทศเดียวที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบติดลบ – ในปี 2564 ภูฏานสามารถกักก๊าซคาร์บอนได้ถึง 9.4 ล้านตัน จากปริมาณการปล่อยก๊าซที่มีประมาณ 3.8 ล้านตัน

“นอกจากจะช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของภูฏานแล้ว ค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนยังมุ่งตรงไปที่กิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตแบบเดิมของภูฏาน รวมถึงสถาปัตยกรรมและค่านิยมดั้งเดิม ตลอดจนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมอีกมากมายที่มีความหมายสำหรับเราทุกคน อนาคตของมรดกแผ่นดินอยู่ในมือของเราทุกคนที่ต้องปกป้อง และสรรค์สร้างเส้นทางใหม่ให้สำหรับคนรุ่นต่อไป” มร. ดอร์จี ดราดุล (Dorji Dhradhul) ผู้อำนวยการสภาการท่องเที่ยวแห่งภูฏานกล่าว


“การท่องเที่ยวถือเป็นส่วนสำคัญของภูฎาน ที่ไม่เพียงแต่ส่งผลทางด้านเศรษฐกิจแต่ยังมีผลด้านสังคมเช่นกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราต้องการจะรักษาระดับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนเอาไว้ เป้าหมายในยุทธศาสตร์ใหม่ของเราคือมอบประสบการณ์อันมีคุณค่าสำหรับนักท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างอาชีพที่มีรายได้ดีสำหรับพลเมืองของเราอีกด้วย นี่คือช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง และอยากเชิญชวนทุกคนเข้ามาเป็นพันธมิตรของเราในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้” คุณดราดุล กล่าวเสริม

การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

รัฐบาลภูฏานได้ใช้ช่วงเวลาระหว่างปิดประเทศจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เพื่อปรับปรุงคุณภาพถนน ทางเดิน วัด และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั่วประเทศ ซ่อมแซมและปรับปรุงห้องน้ำสาธารณะ จัดกิจกรรมเก็บขยะ ยกระดับมาตรฐานของผู้ให้บริการเพื่อรับรองบริการท่องเที่ยวที่เป็นมืออาชีพ (เช่น โรงแรม มัคคุเทศก์ บริษัททัวร์ และคนขับรถ) พนักงานและผู้ให้บริการทุกคนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องเข้าร่วมอบรมในโปรแกรมเพิ่มทักษะเพื่อยกระดับคุณภาพของการบริการให้ดียิ่งขึ้น

ยกระดับประสบการณ์ของนักท่องเที่ยว

“เรารู้ดีว่านักท่องเที่ยวจะต้องคาดหวังตั้งแต่ทราบอัตราค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานของงานบริการ และคุณภาพในมิติต่าง ๆ ดังนั้นเราจึงมุ่งมั่นที่จะสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดเพื่อนักท่องเที่ยวทุกคน ผ่านคุณภาพของงานบริการที่จะได้รับ ความสะอาด และการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของเราเพื่ออำนวยความสะดวกตลอดเวลาที่อยู่ที่นี่ ซึ่งเรามีการจำกัดจำนวนรถที่จะวิ่งบนถนน และมีการจำกัดจำนวนผู้ที่เยี่ยมชมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในแต่ละแห่ง ซึ่งถือเป็นการรักษาประสบการณ์ของผู้มาเยือนประเทศภูฏาน เราต้องมอบความจริงใจที่แท้จริง เรียบง่าย แต่ต้องอยู่ในมาตรฐานงานบริการระดับโลก เรายังวางแผนที่จะทำงานร่วมกับภาคีในด้านการท่องเที่ยวเพื่อยกระดับประสบการณ์ที่ผู้มาเยือนสามารถสัมผัสได้เพื่อโชว์สิ่งที่ดีที่สุดที่ภูฏานมีให้พวกเขาได้เห็น และเราหวังว่าทุกท่านจะได้รับรู้และยินดีต่อความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ต้อนรับทุกท่านสู่ประเทศภูฏาน” ดร. ทันดิ ดอร์จี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวสรุป

การพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศภูฏานเกิดขึ้นท่ามกลาง ‘โปรเจ็คท์พลิกโฉมประเทศ’ ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ตั้งแต่ระดับภาคบริหารราชการไปจนถึงภาคการเงิน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้มุ่งสู่การพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศภูฏานโดยได้เสริมทักษะให้พลเมืองทุกคนมีความรู้ และความเชี่ยวชาญที่มากขึ้น

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 ดร.โลเท เชอริง นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานเพื่อเผยโฉมภูฏานในรูปแบบใหม่ต่อหน้าบุคคลสำคัญของประเทศ และแขกผู้มีเกียรติทุกคน ซึ่งจัดขึ้นในทิมพู เมืองหลวงของประเทศภูฏาน ‘แบรนด์ภูฏาน’ มุ่งหวังที่จะมองโลกในแง่ดี และมีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่เพื่อเปิดประตูต้อนรับผู้มาเยือนสู่ราชอาณาจักรแห่งนี้อีกครั้ง ในเวลาเดียวกันก็ต้องสื่อสารคำสัญญาและสร้างอนาคตสำหรับพลเมืองวัยหนุ่มสาวรุ่นต่อไป ‘Believe’ สโลแกนใหม่ของประเทศภูฏานสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นเพื่ออนาคต ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงของเส้นทางที่ทุกคนจะได้สัมผัส

ความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทย

ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประเทศภูฏานมาอย่างยาวนาน ทั้งสองประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการในระดับทวิภาคีมาตั้งแต่ในปี 1989 ซึ่งมิตรภาพระหว่างไทย-ภูฏาน ได้เริ่มต้นมาก่อนหน้านั้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสด็จเยือนระหว่างประเทศของพระบรมวงศานุวงศ์จากสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสองประเทศ อีกทั้งยังมีมรดกทางวัฒนธรรมแห่งพระพุทธศาสนา และการค้าที่เชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้นอีกด้วย

สายการบินดรุ๊กแอร์ และสายการบินภูฏานแอร์ คือ 2 สายการบินซึ่งบินตรงเส้นทางกรุงเทพ-ภูฏาน และประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งในจุดเริ่มต้นหลักสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ต้องการเดินทางไปยังประเทศภูฏาน

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการมาเยือนประเทศภูฏาน ดูได้ที่ www.bhutan.travel/ 

Journey to awakening

นิทรรศการภาพถ่ายของสองพี่น้องที่บอกเล่าเรื่องราวเดียวกันคือการเดินทางแต่มีมุมมองที่แตกต่างกันรวมทั้งเทคนิคการนำเสนอก็ต่างกัน การเล่าเรื่องราวอย่างซื่อตรงไม่มีความซับซ้อนแต่ซ่อนเรื่องราวไว้มากมายของ สิวิกา ประกอบสันติสุข กับภาพถ่ายที่จับเอาสิ่งที่พบเห็นระหว่างการเดินทางมาผ่านขบวนการทางภาพถ่ายแล้วตีความเชิงนามธรรมของ ณัฐ ประกอบสันติสุข ช่างภาพแฟชั่นชื่อดังของวงการทำให้นิทรรศการ ‘A Journey’ ที่ Play art house ถนนทรงวาดเป็นสิ่งที่คนรักศิลปะการถ่ายภาพต้องไปชมให้ได้


From Here to There
ดังที่ทราบว่า สิวิกา ประกอบสันติสุข หรือคุณก้อยที่ใครๆ คุ้นเคยคือนักเขียนเรื่องท่องเที่ยวมากฝีมือผู้ที่ตัวอักษรของเธอสะท้อนจิตวิญญาณของแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งภาพถ่ายสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ของเธอก็เป็นการจับเอาชั่วเวลาขณะที่เธอรู้สึกประทับใจต่อภาพที่เห็นตรงหน้ามาบันทึกไว้ ไม่มีการจัดแต่งที่ซับซ้อน เป็นการเก็บภาพประทับใจที่เธอรู้สึกเพื่อจะบันทึกเรื่องราวการเดินทางเป็นภาพ ทำให้ภาพถ่ายของเธอมีเสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์ไม่แพ้ลีลาการบันทึกเป็นตัวอักษร


เมื่อวันหนึ่งเธอต้องจัดนิทรรศการภาพถ่ายเธอก็ยังเล่าเรื่องโดยไม่ต้องพึ่งตัวอักษร หากแต่มีเพียงชื่อภาพซึ่งก็เป็นชื่อสถานที่นั้นๆ มากกว่า แต่ที่เป็นเรื่องเล่าโดยการนำเอาภาพคนที่กำลังเดินทางไปหรือจากสถานที่นั้นๆ มาจัดองค์ประกอบเป็นส่วนหนึ่งที่ชวนให้จินตนการถึงเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นคนกำลังเดินออกจากประตูถ้ำที่แกะสลักด้วยฝีมือมนุษย์ในอินเดีย ที่คุณก้อยเล่าให้ฟังว่าบรรยากาศที่ตรงนั้นทำให้ณัฐ น้องชายของเธอตัดสินใจจะบวชทั้งๆ ที่เขาไม่ใช่คนที่ลุ่มหลงในเรื่องศาสนามาก่อน เพราะระหว่างที่ยืนอยู่ในนั้นจู่ๆ ก็มีเสียงสวดมนต์กระหึ่มขึ้นมาทำให้รู้สึกปิติ นี่เป็นการเดินทางที่ทำให้ได้ไปพบกับการตื่นรู้โดยไม่ได้ตั้งใจมาก่อน
บางภาพก็เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ในซีเรียซึ่งปัจจุบันถูกทำลายไปแล้วด้วยความเชื่อต่างศาสนา โดยภาพนั้นยืนยันได้ถึงความงดงามยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรมใน Palmyra บนแผ่นดินซีเรีย ซากเมืองขนาดใหญ่ที่เคยเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมแห่งสำคัญที่สุดในยุคโบราณ ภาพสถานที่ถูกบันทึกไว้โดยสิวิกาเมื่อปี 2010 ก่อนถูกกลุ่มรัฐอิสลามหรือไอเอส (IS) ยึดครองและโจมตีจนเกิดความเสียหายในเดือนสิงหาคม 2015


แม้แต่ภาพหมู่บ้านห่างไกลในโมร็อกโกก็ยังดูเป็นจุดหมายที่น่าเดินทางไปให้ถึงเมื่อนำมาประกอบกับภาพชาวพื้นเมืองเดินเท้าไปตามถนนที่มีรถโดยสารวิ่งผ่านโดยมีท้องฟ้าสีสดเกลื่อนด้วยก้อนเมฆทำให้รู้สึกว่าเขาคงจะเดินเท้าไปสู่จุดหมายด้วยความสุข ภาพถ่ายของสิวิกาที่เต็มไปด้วยเรื่องราวนั้นทำให้คนดูรู้สึกอิ่มเอม และเชื่อว่าคนในภาพจะเดินทางส็จุดหมายที่ตัวเองตั้งใจไว้อย่างแน่นอน


From Here to None
ส่วนอีกห้องที่เป็นผลงานภาพถ่ายของณัฐ ประกอบสันติสุข ที่เป็นโมโนโครมและมีความเป็นนามธรรมแต่ไม่ต้องเครียดกับความตีความ ใครเห็นอย่างไร รู้สึกอย่างไรก็อย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก ภาพทั้งหมดมาจากการเดินทางเช่นกัน แต่แทนที่จะเป็นภาพทิวทัศน์เพื่อสื่อถึงการเดินทางไปยังสถานที่หนึ่งๆ แต่ณัฐเลือกจะนำเสนอในมุมขยายถึงวัตถุที่เขาพบเห็นในการเดินทาง แม้แต่ภาพถ่ายจากช่องหน้าต่างของประตูรถไฟที่มีตัวอักษรภาษาฝรั่งเศสคาดทับไว้(บอกว่าประตูนี้เป็นช่องดูวิวอะไรประมาณนั้น)ก็ยังมองผ่านออกไปเห็นทิวทัศน์ข้างทางรถไฟของภูเขาในโมรอคโค แต่เราก็ยังถูกจำกัดด้วยการมองเห็นภาพกว้างนั้นในกรอบแคบของช่องกระจกประตูรถไฟอยู่ดี และ Journey ที่เป็นชื่อภาพของเขาก็เป็นรูปพื้นผิวที่เขานำมาผ่านกระบวนการทางภาพถ่ายใครใคร่ตีความว่าเส้นลายนั้นคือผืนดินที่แตกระแหง หรือมองว่าเป็นเส้นแม่น้ำที่เรามองจากมุมสูงก็แล้วแต่ แต่ก็เป็นการเดินทางเหมือนกัน
แต่ภาพที่ดูแล้วจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเมื่อณัฐได้มาอธิบายเองว่าทำไมภาพนี้จึงชื่อ Ego ก็คือภาพส่วนหัวของประติมากรรมสตรีที่ผ่านเทคนิคการตกแต่งภาพให้มีความคอนทราสต์สูงและมีน้ำหนักภาพที่งดงามน่าประทับใจ แต่ถ้าดูชื่อภาพแล้วสงสัยว่าทำไมถึงชื่อ Ego ณัฐอธิบายไว้ว่าอัตตาทำให้เราลุ่มหลงและตาบอด ประติมากรรมนี้ไม่ได้ถูกสร้างให้เป็นแบบนี้แต่แรก แต่ในสภาพที่เขาไปพบเจอและบันทึกไว้เป็นภาพเมื่อนำมาตกแต่งให้ได้อารมณ์ภาพที่ต้องการเขาก็มองเห็นว่าภาพนี้สื่อถึงเรื่องอัตตา โดยภาพอื่นๆ ของณัฐก็จะตั้งชื่อภาพอย่างเรียบสั้นแต่ให้พลังที่บ่งบอกถึงภาพนั้นๆ ได้โดยไม่ต้องตีความซับซ้อนใดๆ แต่ภาพถ่ายของเขายิ่งดูก็ยิ่งให้เราได้คิดต่อยอดเรื่องราวที่เป็นประสบการณ์ของแต่ละบุคคลไปอย่างไม่มีสิ้นสุด


ชมนิทรรศการ ‘A Journey’ muj Play art house ซึ่งเป็นอาร์ตแกลอรี่ที่ตั้งอยู่ในตึกเก่าแก่อายุกว่าร้อยปีบนถนนทรงวาด ได้แล้ววันนี้ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2565 เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00 – 16.00 น. และในวันศุกร์-อาทิตย์ เวลา 11.00 – 18.00 น.
การเดินทางไป Play art house 993 ถนน ทรงวาด แขวง สัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ใกล้ MRT วัดมังกร) เดินประมาณ 600 เมตร หรือจากท่าเรือราชวงศ์เดินมาประมาณ 500 เมตร #AJourney #ทรงวาด #HommesThailand #LOfficielHommesThailand

LOVE – CAMP – EXPLORE – DREAMS : Bill Bensley’s First Ever (“Coming Out”) Art Exhibition

สำหรับแวดวงสถาปัตยกรรมคงไม่มีใครไม่รู้จัก บิล เบนสเลย์ (Bill Bensley) เขามีผลงานทุกแขนงทางด้านสถาปัตยกรรม ตกแต่งภายใน ภูมิสถาปัตย์รวมทั้งออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ รวมทั้งเป็นนักสิ่งแวดล้อมที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติเป็นอย่างมาก หลายๆ คนติดตามไปพักหรือชมโรงแรมที่เขาออกแบบซึ่งมีจำนวนมากมายจนจะกล่าวได้ละเอียด รวมทั้งงานออกแบบภูมิสถาปัตย์ของเขาก็คืออันดับต้นๆ ของโลก แต่หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาที่เราอยู่ในช่วงการระบาดของไวรัส แต่เขาได้ใช้เวลาช่วงนั้นทำงานศิลปะอย่างจริงจัง


เราได้มาร่วมในงานเปิดนิทรรศการศิลปะครั้งแรกของเขาในชื่อ LOVE – CAMP – EXPLORE – DREAMS โดยในช่วง 3 ปีก่อนเขาได้ล่องเรือส่วนตัวไปตามประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมกับอุปกรณ์สเก็ตช์ภาพ ประเทศเหล่านี้เขามีความคุ้นเคยอยู่แล้ว เขาพูดภาษาอินโดนีเซียได้พอๆ กับภาษาไทยที่เขาก็ใช้สื่อสารได้ หลังจากกลับมาเขาก็เร่ิมทำงานศิลปะอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโควิด 19 ซึ่งกลายเป็นช่วงที่เขาได้ทุ่มเทให้กับการทำงานศิลปะอย่างเต็มที่ จนได้ผลงานออกมาจำนวนมากทั้งในรูปแบบจิตรกรรมและประติมากรรม รวมทั้งศิลปะแนวจัดวาง ดังที่เขาบอกว่าเขาไม่ได้จำกัดตัวเองว่าเป็นศิลปินหรือนักออกแบบ เขาจึงสร้างสรรค์งานไ้ด้อย่างอิสระ
อย่างที่เขาเกริ่นกับทุกๆ คนที่มาชมงานนิทรรศการของเขาในวันแรกว่าเขาคือคนนอกของแวดวงศิลปะ เขาไม่ได้จำกัดความตัวเองว่าเป็นศิลปิน แต่เขาทำงานดีไซน์มาโดยตลอด การทำงานสิลปะของเขาจะมีห้วงที่เขาได้แรงบันดาลใจจากศิลปินระดับโลกมากมายอย่าง ปิกาซโซ,พอล คลี, แจ็คสัน พอลล็อค ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่การเลียนแบบแต่นำเอาเทคนิคการทำงานของศิลปินเหล่านั้นมาสร้างผลงานในเรื่องราวและรูปแบบที่เป็นของเขาเอง ดังจะเห็นว่าในนิทรรศการนั้นแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อซึ่งการทำงานศิลปะของเขาได้สามารถจัดหมวดหมู่ได้อย่างชัดเจน ถ้าเป้นการทำงานแบบเลียนแบบงานของศิลปินท่านอื่นคงไม่สามารถนำเอาผลงานมาจัดหมาจัดหมู่เช่นนี้ได้เพราะคงกระจัดกระจายไม่สามารถนำมารวมกลุ่มกันได้

ก่อนที่จะเข้าสู่โซนต่างๆ ของนิทรรศการ จะมีห้องแรกที่ทาด้วยผนังสีส้มเหมือนเป็นห้องรับแขก เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่เราเห็นในนิทรรศการนี้ก็คือดีไซน์ที่เขาใช้ในงานออกแบบของเขา บางชิ้นมีกลิ่นอายยุคฟิฟตี้ส์ บางชิ้นคลุมด้วยผ้าปักแบบชนเผ่า บางชิ้นเป็นงานฝังผิวไม้ด้วยวัสดุต่างๆ ให้เป็นลวดลาย(marquetry) รวมทั้งการจัดดอกไม้ในแจกันซึ่งมีหลากหลายแต่จะอยู่ในโทนสีม่วง อย่างดอกกล้วยไม้สีม่วงเข้มดังกำมะหยี่นั้นเราก็เห้นในงานดีไซน์ของเขาเช่นกัน คือเขาออกแบบนิทรรศการนี้ด้วยรสนิยมของเขานั่นเอง


LOVE นิทรรศการในส่วนนี้เป็นผลงานที่เกี่ยวกับความรักที่เราแบ่งปันให้กันและกันในฐานะที่เป็นมนุษย์และเพื่อโลกที่เราอยู่ ด้วยความที่เขาเป็นนักสิ่งแวดล้อมและสถาปนิก สิ่งนี้สำคัญสำหรับเขาเป็นอย่างยิ่ง เขาต้องการสอนทุกคนผ่านศิลปะให้ได้มากเท่ากับการที่เขาสอนผ่านการออกแบบโรงแรม(หลายคนจึงติดตามชมผลงานของเขาเพราะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ) เขาชอบความหลากหลายและสีสันต่างๆ ในงานดีไซน์ของเขา และเชื่อว่าสิ่งเดียวที่ควรจะแยกแยะด้วยสีก็คือการซักผ้าเท่านั้น(แยกซักผ้าสีกับผ้าขาว) ไม่ใช่กับเชื้อชาติหรือผิวสี ผลงานในส่วนนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับการแบ่งแยกเชื้อชาติซึ่งเขาคิดว่าเป็นประเด็นที่สำคัญมาก แต่เขากลับถ่ายทอดออกมาด้วยอารมณ์ขันและขนบแบบดั้งเดิม เราจึงเป็นคนที่มีชาติพันธุ์และผิวสีต่างๆ อยู่ในผลงานชุดนี้อย่างไม่มีข้อจำกัดในการสื่อถึงความรักที่มีต่อกัน โดยเขาหยิบจับเอาเรื่องราวรอบตัวมาสร้างเป็นผลงาน แม้แต่คนดูแลต้นไม้ที่บ้านของเขาก็ทำให้เกิดงานชิ้นสวยที่สื่อความหมายถึงความรักของจิระชัยที่มีต่อต้นไม้ในสวนที่เขาดูแล

CAMP เขาอธิบายถึงส่วนนี้ว่า ส่วนนี้นำเสนอเรื่องพฤติกรรมที่แปลกออกไปของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) เพื่อนๆ ของโดโรธี (Dorothy จากเรื่องพ่อมดแห่งออซ) ที่ผมรัก เมืองไทยคือบ้านของผมมามากกว่า 30 ปี ผมรักที่นี่ด้วยเหตุผลหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งความใจกว้างของผู้คน ผลงานที่จัดแสดงในส่วนนี้สื่อให้เห็นถึงกลุ่มคน LGBT ในประเทศไทยในสายตาของผม พวกเขามักปรากฎตัวที่งานปาร์ตี้ใน Baan Botanica ที่จัดเกือบทุกๆ สุดสัปดาห์ ชื่อของงานศิลปะของเขาจะถูกตั้งอย่างซื่อและจริงใจเพราะเป็นที่มาของภาพนั้นนั่นเอง อย่างภาพ“แค่หยุดและดมดอกไม้เป็นพักๆ ดีไหม” ซึ่งเป็นภาพกลุ่มคนทำงานในบ้านของเขาซึ่งเป็นชายหนุ่มที่แต่ละคนก็สาละวนทำงานตามหน้าที่ตนแต่ก็มีบางคนก็ละงานหยิบดอกไม้มาดอมดม เรื่องราวที่สื่อง่ายๆ ผ่านลายเส้นและสีสันที่งดงามน่าสนใจด้วยการใช้เทคนิคใหม่ๆ ไม่ได้ใช้เทคนิคเดิมๆ ไปเสียทั้งหมด แต่ในห้วงเวลาหนึ่งๆ ที่เขาทำงานศิลปะก็จะมีเทคนิคและการลงสีที่คล้ายกัน แต่ถ้าไปสู่ห้วงใหม่เขาก็มีการเปลี่ยนแปลงอีก เลยทำให้การชมนิทรรศการครั้งนี้มีความน่าสนใจและไม่ใช่การนำเสนอในรูปแบบเดิมๆ

EXPLORE
แสดงให้เห็นถึงช่วงการเดินทางที่เขาเก็บเอาความประทับใจต่างๆ มาสร้างงานศิลปะ นั่นก็คือการล่องเรือดังที่ได้เกร่ินไปข้างต้น ในส่วนนี้มีพื้นที่ขนาดใหญ่แสดงให้เห็นถึงชาวปาปัวที่แสนใจดีที่เขาพบช่วงปลายปี 2019 เมื่อออกเดินทางไปกับเรือ Kudanil Explorer พวกเขาได้สำรวจเกาะต่างๆ ที่อยู่ห่างไกลออกไปซึ่งตั้งอยู่มานานหลายพันปีและแทบจะไม่ได้ติดต่อกับสังคมสมัยใหม่ ในฐานะที่เขาเป็นกระบอกเสียงของของชาวอินโดนีเซีย เขาจึงได้เรียนรู้เรื่องราวในท้องถิ่นและพวกเขามีความสุขเป็นอย่างมากเมื่อคุณบิลสเก็ตช์ภาพของพวกเขา ผลงานในส่วนนี้ได้แรงบันดาลใจจากการเดินทางทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นโปรตุเกส หลวงพระบาง และเขาได้จินตนาการถึงการเดินทางไปยังอเมริกาใต้อีกด้วย แต่มีภาพหนึ่งที่เขาถ่ายทอดสุภาพสตรี 3 ท่านในผมทรงเกล้าสูง ยืนอยู่หน้าป้อมแถวท่าพระอาทิตย์ในช่วงปี 1968 แต่เป็นผลงานที่เขาเพิ่งวาด นั่นคือบันทึกความทรงจำถึงกรุงเทพฯ ที่เขาเคยได้พบพานมา

DREAMS
และก่อนที่จะสิ้นสุดลง ด้วย DREAMS ที่เขาค่อนข้างมีจินตนาการ “งาน” ของเขาคือการคิดเพื่อให้งานออกแบบดูบ้าบิ่นและสนุกมากที่สุดเท่าที่จะจินตนาการได้ นี่คือการเดินทางสู่ความฝันที่ปั้นแต่งขึ้นมา การผจญไปสู่จิตใต้สำนึกและความฝันได้รวมกันไปสู่จุดเริ่มต้นของนิทรรศการนี้ที่เป็นเสมือนโรงภาพยนตร์ของบิล เบนสเลย์ ซึ่งผู้ชมจะได้ทำความรู้จักกับคุณบิลในฐานะดีไซเนอร์ และ BENSLEY คือสตูดิโอ ความฝันสำหรับดีไซเนอร์คือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง
แต่ในฐานะดีไซเนอร์ โดยส่วนใหญ่แล้วเขาเชื่อว่าเราต้องทดลองและเล่นสนุก อันเป็นสิ่งที่เขาทำมาตลอดในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา เขาได้เปิดเผยถึงสิ่งนี้ในโซนสุดท้ายของนิทรรศการผ่านงานจิตรกรรม ประติมากรรมที่แตกต่างจากโซนอื่นๆ เขาเล่นกับเทคนิคและวัสดุที่หลากหลาย ไฟ ไม้ ขี้ผึ้ง โซดาไฟ ตะปู เซรามิก…
การเดินทางผ่านการชมงานศิลปะในนิทรรสการครั้งแรกของเขาทำให้เราได้เกิดไฟในการใช้ชีวิต อาจจะเป็นไฟของการสร้างสรรค์ที่เขาส่งผ่านมาในผลงานของเขา ความรู้สึกมีความสุข สนุกสนานและอิ่มเอม ดังที่เขาย้ำเสมอว่าผลงานศิลปะของเขาจะสร้างความสุขและสนุกสนาน แต่ถ้าจะหาความเศร้า ความกดดันในผลงานของเขานั้นคงไม่มี เพราะเขาส่งผ่านความสุขความสนุกด้วยผลงานของเขาไม่ว่าจะเป็นงานดีไซน์ใดๆ เสมอมา รวมทั้งงานศิลปะของเขาที่เราเพิ่งได้สัมผัสมานี้เช่นกัน

นิทรรศการ LOVE – CAMP – EXPLORE – DREAMS เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมฟรี ตั้งแต่วันที่ 
28 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ RCB Galleria ชั้น 2
ร่วมกับริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก จัดแสดงวันที่ 28 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ RCB Galleria ชั้น 2
รายได้จากการจำหน่ายผลงานทั้งหมดมอบให้กับมูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์และปกป้องสัตว์ป่า และมูลนิธิชินตา มณี (Shinta Mani Foundation)

Bill Bensley’s First Ever (“Coming Out”) Art Exhibition to be held
At River City Bangkok
28 January – 28 February 2022 at RCB Galleria (2nd floor)
All Proceeds to Fund Conservation and Wildlife Protection

#LoveCampExploreDreams #BillBensley #ShintaManiFoundation #Rivercitybangkok #Rivercitycontemporary

Painting X at Xspace Art Gallery

Painting X คือนิทรรศการที่เกิดขึ้นเพื่อตั้งคำถามที่เรียบง่ายว่า “จิตรกรรมคืออะไร?” นิทรรศการครั้งนี้เป็นอารัมภบทของการเริ่มต้นสำรวจงานจิตรกรรมในแง่มุมต่างๆ ทั้งมุมมองต่อศิลปิน มุมมองต่องานจิตรกรรมร่วมสมัยในประเทศไทย เพื่อรวบรวมผลงานของจิตรกรร่วมสมัยที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย และสำรวจความเป็นไปได้ในการขยายขอบเขตการให้ความหมายในงานจิตรกรรม ผ่านผลงานจิตรกรรมชิ้นเยี่ยมหลากรูปแบบ หลายแนวทาง 

อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ภัณฑารักษ์ผู้ริเริ่มโครงการและคัดสรรผลงาน กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการในครั้งนี้ว่า “นิทรรศการ Painting X มีจุดเริ่มต้นจากการร่วมกันก่อตั้งกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า ‘จิตรกรวันเสาร์’ (Saturday Painter) หมายถึงกลุ่มจิตรกรที่ทำงานจิตรกรรมกันอย่างจริงจัง (ซึ่งล้อกับคำว่า ‘จิตรกรวันอาทิตย์’ (Sunday Painter) ที่หมายถึงจิตรกรสมัครเล่น) โดยมีสมาชิกเริ่มต้น 16 คน หลังจากจัดแสดงงานร่วมกันครั้งแรก เราตั้งใจกันว่าจะจัดแสดงงานร่วมกันทุกๆ ปี เพื่อกระตุ้นการทำงานศิลปะด้วยสื่อจิตรกรรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมวิจารณ์ผลงานของกันและกันจากประสบการณ์การทำงานแบบจิตรกรมืออาชีพ เพราะเราต่างเชื่อว่า “งานจิตรกรรมไม่มีวันตาย” แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาดทำให้เราต้องเว้นระยะห่างทางสังคม นิทรรศการครั้งที่สองจึงยังไม่เกิดขึ้นเสียที จนกระทั่ง Xspace Art Gallery เชิญให้ผมร่วมจัดนิทรรศการสำหรับพื้นที่ห้องแสดงผลงานศิลปะขนาดใหญ่ ความคิดเกี่ยวกับนิทรรศการประจำปีของกลุ่มจิตรกรวันเสาร์จึงกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้งโดยตั้งต้นเลือกงานจากสมาชิกจิตรกรวันเสาร์อย่าง สุรพงศ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา, กริช จันทรเนตร, พชร ปิยะทรงสุทธิ์, ตฤณภัทร ชัยสิทธิศักดิ์, อํานาจ วชิระสูตร, ทวีศักดิ์ อุชุคตานนท์, นพนันท์ ทันนารี, พีรนันท์ จันทมาศ, วันสว่าง เย็นสบายดี, อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ, วิทวัส ทองเขียว, จิตรการ แก้วถิ่นคอย, เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ, ปริทรรศ หุตางกูร, สุทธิ เกียรติพุ่มพวง, มิร์ทิลล์ ทิแบย์เรงซ์ (Myrtille Tibayrenc), อัญชลี อนันตวัฒน์, ไปรยา เกตุกูล, นีโน่ สาระบุตร, ชญานิษฐ์ ม่วงไทย และโอ๊ต มณเฑียร

“และด้วยความตั้งใจของ Xspace Art Gallery ที่ต้องการสนับสนุนศิลปินหน้าใหม่ ทางเราจึงจงใจเพิ่มรายชื่อจิตรกรรุ่นใหม่ที่มีรูปแบบการสร้างสรรค์ผลงานที่น่าสนใจและน่าจับตามองหลายคน อย่างสหัสวรรษ แสนปราชญ์, ปิยะธิดา ไกรกิจราษฎร์, ณภัทร สินไตรรัตน์ และจูเลีย โอบอร์น (Julia Oborne) ซึ่งในฐานะผู้จัด ผมพยายามแสดงให้เห็นรูปแบบของงานจิตรกรรมจากศิลปินหลากหลายรุ่น ประสบการณ์ และมุมมอง ศิลปินหลายคนทำงานด้วยความคิด ในขณะที่หลายคนทำงานด้วยความรู้สึก เรามองเห็นและเรียนรู้อะไรจากงานจิตรกรรมที่เป็นภาพนิ่งเหล่านี้? คำถามปลายเปิดที่ไม่ต้องการคำตอบนี้ เหมาะสมอย่างยิ่งในสังคมร่วมสมัยที่ขับเคลื่อนด้วยภาพเคลื่อนไหวในขณะที่แอปพลิเคชั่นต่างๆ กำลังแย่งชิงความสนใจของเราใน 24 ชั่วโมงของเราอยู่ทุกวินาที ผมหวังว่าการเริ่มต้นของนิทรรศการนี้จะเป็นการส่งต่อที่ไม่สิ้นสุด เพื่อขยายของเขตของเสรีภาพ ศักยภาพและการทำงานสร้างสรรค์ศิลปะของศิลปินต่อไป”

มาร่วมหาคำตอบว่า “จิตรกรรม” คืออะไรใน ค.ศ. 2021 

เข้าชมตัวอย่างผลงานได้ที่นี่  

นิทรรศการ Painting X จัดแสดง ณ อาคาร XSPACE Art Gallery ซอยปรีดีพนมยงค์ 14 ถนนสุขุมวิท 71 เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 5 พฤศจิกายน 2564 (จันทร์ ถึง เสาร์ เวลา 10:00 น. – 17:00น.)

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโปรดติดต่อ โทร 066-073-2332, อีเมล contact@xspacegallery.com

New Exhibition at Bangkok National Museum

ชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร หลังปิดไปพักใหญ่เพราะสถานการณ์โควิด 19 ทั้งๆ ที่เพิ่งเปิดนิทรรศการใหม่ที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ที่ชื่อ อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี-ศรีรามเทพนคร เป็นนิทรรศการหมุนเวียนที่เน้นอิทธิพลของศิลปะลพบุรี(เขมรในประเทศไทย)

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของโควิด 19 รอบ 3 ที่สาหัส ทำให้ไม่มีโอกาสมาชมเพราะมีคำสั่งปิดพิพิธภัณฑ์ หอศิลปะทุกแห่งในพื้นที่สีแดงเข้ม  จนมาวันที่ 16 มิถุนายน ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และ พระราชวังบวรสถานมงคลได้เปิดให้เข้าชมอีกครั้งเป็นวันแรก จึงต้องมาชมเพราะไม่อยากพลาดเพราะตามกำหนดเดิมนิทรรศการหมุนเวียนนี้จะหมดวันที่ 30 มิถุนายนนี้ และนิทรรศการถาวรภายในอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ก็มีการจัดใหม่เสร็จสมบูรณ์และเปิดให้ชมเมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้มาเพราะสถานการณ์โควิด 19 นี่แหละ ที่รีบมานี่ก็เพราะไม่อยากพลาดอะไรอีก 

ส่วนตัวเห็นว่าสิ่งของจัดแสดงที่มีในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นี้ไม่แพ้ที่ใดในโลกเรื่องโบราณวัตถุชิ้นงามๆ ชิ้นเอกที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปปารีสก็ยังไปชมมิวเซียมกีเมต์ บ่อยๆ เพราะชอบนิทรรศการหมุนเวียนของเขา แต่จริงๆ แล้วโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์บ้านเราก็สวย เพียงแต่ก่อนการจัดแสดงอาจจะไม่ดึงดูดใจ และนิทรรสการหมุนเวียนไม่ค่อยมี แต่หลายปีมานี้ต้องบอกว่าโฉมหน้าของพิพิธภัณฑ์พระนคร เปลี่ยนไป การบูรณะครั้งใหญ่ทำให้ส่วนนิทรรศการถาวรมีชีวิตชีวาน่าเยี่ยมชมมากกว่าเดิม ที่ว่าเดินวันเดียวก็ชมไม่ทั่วก็เป็นจริงแล้วในยุคนี้ ถ้าจะชมอย่างละเอียดนะ ใครที่ไม่เคยมาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นานเกินสามสี่ปีนี่ต้องมาเยือนให้ได้เลย ยิ่งใครบอกว่าเคยมาตอนเด็กๆ ที่โรงเรียนพามาก็ขอให้มา ไปปารีสเรายังต้องเข้าคิวยาวนานเป็นหลายๆ ชั่วโมงเพื่อจะได้ชมรอยยิ้มของแม่โมนา แต่ที่บ้านเรารอยยิ้มของเศียรพระใหญ่ที่พบที่วัดพระศรีสรรเพชร อยุธยา ก็มีเสน่ห์ยืนชมไม่เบื่อเช่นกัน เป็นไฮไลท์หนึ่งที่ต้องมาชมให้ได้ วันนี้ยังไม่ต้องถกกันเรื่องเป็นเศียรของพระศรีสรรเพชรหรือไม่นะ เพราะเดี๋ยวจะยาว มีนักวิชาการถกกันแล้วเขียนหนังสืออกมาเป็นเล่มๆ แล้ว แต่มาทีไรก็จะต้องแวะมาชมทุกครั้งไป

การเปิดพิพิธภัณฑ์ พระนคร ครั้งนี้การเข้าชมนอกจากคนไทยเสียค่าเข้าชมปกติ 30 บาทแล้ว เราต้องใช้บัตรประชาชนยืนยันตัวเพื่อเช็คอินเข้าสถานที่ และรับแทคตามตัวที่จะบอกได้ว่าเราเดินไปชม ณ จุดใดบ้างในกรณีที่มีการสอบสวนโรค ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อให้การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ปลอดภัยและสบายใจสำหรับคนที่มาเข้าชม เมื่อชมเสร็จก็ออกมาคืนแทคตามตัว

แน่นอนว่าสถานที่แรกที่เข้าชมก็คือพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน กับนิทรรศการหมุนเวียน‘อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี-ศรีรามเทพนคร’  ซึ่งเล่าเรื่องแบ่งออกเป้น 4 หัวเรื่อง คือ รากฐานและพัฒนาการก่อนอิทธิพลศิลปะลพบุรี, ลพบุรี-ศรีรามเทพนคร, มรดกจากลพบุรี คลี่คลายปัจจุบัน และคืนชีวิตประติมากรรม โดยส่วนหลังสุดนี้คือการนำเสนอความรู้เรื่องเรื่องการฐูรณะประติมากรรมพระโพธิสัตว์สำริดบ้านโตนด นครศรีธรรมราช ซึ่งองค์จริงเป็นไฮไลท์ตั้งอยู่ในโถงแสดงนิทรรศการ ส่วนที่สี่ที่ให้ความรู้เรื่องการบุรณะนี้จะอยู่ส่วนสุดท้ายของนิทรรศการโดยมีแบบจำลองต่างๆ จัดแสดงไว้

นอกจากการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านโบราณวัตถุแต่ละชิ้นที่คัดสรรมา การจัดแสดงนั้นยังมีคำอธิบายที่ชัดเจน 2 ภาษา คือ ไทย-อังกฤษ สามารถเข้าใจได้โดยง่าย ศิลปะวัตถุแต่ละชิ้นจัดแสดงในส่วนต่างๆ อย่างเหมาะสมทั้งระดับการมองจากผุ้ชม การจัดแสงไฟส่องสว่างต่างๆ แม้แต่โทนสีของส่วนจัดแสดงก็จัดทำอย่างเหมาะสมงดงาม โดยในห้องโถงใหญ่เราจะได้เห็นเศียรพระใหญ่ที่เป็นไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แต่ครั้งนี้อยู่บนฐานและฉากหลังโดยรอบที่เป็นสีเขียวอ่อนทำให้ดูแปลกตาไป แต่ใครๆ ที่มาที่นี่ก็อยากจะชมเศียรพระใหญ่นี้ แต่ก็มีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนบางหัวข้อที่ต้องปิดส่วนนี้ไปเพราะเศียรพระใหญ่อาจจะไม่เป็นเรื่องเดียวกับหัวข้อนิทรรศการ แต่ถ้าจัดแสดงไว้ในฐานะที่เป็นชิ้นเอกที่คนต้องการมาชมก็น่าจะดีกว่า เพราะใครที่มาที่นี่แล้วไม่ได้ชมของชิ้นเอกที่ตั้งใจมาชมก็จะรู้สึกเหมือนไม่เต็มอิ่ม

นอกจากองค์พระโพธิสัตว์สำริดจากบ้านโตนด อ.โนนสูง ที่ตั้งเด่นเป็นสง่า ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่ถูกคนร้ายลักลอบไปขายที่สหรัฐอเมริกา และนายเอเวลรี่ รันเดอร์ ได้ส่งคืนมาให้กรมศิลปากรในปี พ.ศ.2513 ก็ถือเป็นอีกหนึ่งชิ้นเอก(คนละชิ้นกับทับหลังนารายณ์ฯ ที่คนไทยเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาส่งคืนในยุคที่มีเพลงเอาไมเคิล แจ็คสันคืนไป เอาพระนารายณ์คืนมา ชิ้นนั้นไปตั้งอยู่ที่ปราสาทพนมรุ้ง บุรีรัมย์ ตามเดิมแล้ว) ส่วนทับหลังปราสาทหนองหงส์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น ที่เราเพิ่งได้รับคืนมานั้นยังไม่ได้เปิดให้ชมในวันนี้ แต่คาดว่าจะมีการจัดแสดงให้ชมเร็วๆ นี้ 

แต่โดยส่วนตัวก็ต้องชื่นชมว่าการจัดแสดงทับหลังในห้องนิทรรศการครั้งนี้ทำให้น่าสนใจมาก เพราะจัดวางในระดับสายตา ทำให้เราได้ชมความงามอย่างละเอียด ต้องยอมรับว่าการแกะสลักหินทรายของช่างโบราณนั้นทำได้วิจิตรเหลือเกิน อีกชิ้นหนึ่งที่สวยงามไม่แพ้กันก็คือทับหลังเทพนพเคราะห์ ที่อาจจะแปลกตากว่าทับหลังที่เราคุ้นชิน เพราะแกะสลักเป็นรูปเทพนพเคราะห์เรียงเป็นแถวอย่างวิจิตรงดงามโดยไม่มีลวดลายใดๆ มาเป็นส่วนประกอบ ขอให้ไปชมเพราะปกติถ้าทับหลังอยู่ที่ปราสาทหินเราจะต้องเงยหน้าขึ้นชม แต่นี่มาจัดแสดงให้ชมในระดับสายตา ทำให้เราได้พินิจความงามจนเต็มอิ่ม 

แต่ที่ไม่ควรพลาดอีกชิ้นหนึ่งก็คือผอบรูปปลาและสิ่งของต่างๆ ที่บรรจุในผอบ ทำจากวัสดุต่างๆ อาทิ หิน ทองคำ ดินเผาเคลือบ แก้วผลึกและอัญมณี เป็นศิลปะอยุธยา อายุประมาณ 600 ปีมาแล้ว ได้จากกรุปรางค์ประธาน วัดมหาธาตุ พระนครศรีอยุธยา จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา แต่การจัดแสดงที่นี่ทำให้เราได้ชมข้าวของชิ้นเล็กชิ้นน้อยต่างๆ ได้อย่างชัดเจนเต็มตา ซึ่งเป็นเหมือนของเล่นชิ้นจิ๋วต่างๆ รวมทั้งแหวนหนวดกุ้งและแหวนทองคำประดับทับทิมวงเล็กๆ สำหรับเด็ก และตัวผอบปลาก็มีความสวยงามยิ่ง จริงๆ มีชิ้นงานเด่นๆ อีกมาก ทั้งพระพุทธรูปหินทรายและหล่อโลหะ แผ่นหินสลักพระรัตนตรัยมหายานที่แสดงถึงฝีมือช่างยุคนั้น พระอวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีที่แกะจากหินทรายมราพบที่ปราสาทเมืองสิงห์ กาญจนบุรี ก็มีความสวยงามไม่เหมือนที่ไหน แม้แต่เครื่องปั้นดินเผาที่เราอาจจะไม่เคยเห็นอย่างไหรูปนกเคลือบสองสี เตาพนมดงเร็ก บุรีรัมย์ มีอายุประมาณ 800-900 ปีมาแล้ว ซึ่งนายโยธิน-นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ เอื้อเฟื้อจัดแสดง รวมทั้งเครื่องปั้นดินเผาอีกหลายชิ้น 

จากนั้นก็มายังอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นนิทรรศการถาวรเพื่อจัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตรืและโบราณคดีไทยหลัง พ.ศ.1800 เป็นต้นมา โดยจัดแสดงโบราณวัตถุรวม 918 รายการ แบ่งเป็นห้องล้านนาที่มีหลวงพ่อนากพระพุทธรูปที่เจ้าเมืองพระเยาเป็นผู้สร้างเมื่อปี พ.ศ.2019 สิลปะล้านนาที่มีองค์สุกปลั่งงดงาม ห้องสุโขทัย ที่มีหลักศิลาจากรึกหลักที่ 1 สมัยพ่อขุนรามคำแหงจัดแสดงให้ชมแบบใกล้ชิดและใครใคร่อ่านหลักจารึกนี้ก็ทำได้ง่าย เพราะตั้งอยู่ระดับสายตา ห้องอยุธยาที่มีธรรมาสน์สังเค็ต วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี จัดแสดงไว้ ซึ่งการบูรณะทำให้ชิ้นงานมีความสวยงามสมบูรณ์ และห้องที่แสดงตู้พระธรรม โดยมีตู้พระธรรมวัดเซิงหวาย ที่เป็นหนึ่งในชิ้นเอกของพิพิธภัณฑ์นี้มาตั้งแต่แรกจัดแสดงอยู่ แต่ส่วนตัวเห็นว่าการนำตู้พระธรรมไปอยู่ในกล่องกระจกทำให้ชมได้ไม่ถนัดชัดตาดังแต่ก่อน แต่อาจจะด้วยเหตุผลทางด้านการอนุรักษ์ แต่จริงๆ แล้วลายรดน้ำของตู้พระธรรมวัดเซิงหวายนี้เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาที่ถือเป็นงานครูที่ยากจะหาที่ใดเสมอเหมือน ตั้งไปดูเองว่าลายกระหนกที่ลุกเป็นเปลวไฟนั้นงดงามตื่นตาเพียงใดต้องมาดูที่นี่

ส่วนชั้นล่างเป็นห้องกรุงธนบุรี-รัตนโกสินทร์ ที่มีศิลปะวัตถุสมัยกรุงธนบุรีจัดแสดงทั้งพระแท่นไม่แกะสลักที่พระเจ้าตากสินเคยประทับ เก้าอี้พับที่เจ้าพระยาจักรี(รัชกาลที่ 1 ยุครัตนโกสินทร์)ใช้ประทับเวลาออกศึกสงคราม ตู้พระธรรม ฉากกั้นเขียนลายเรื่องอิเหนา กล่องเก็บยาไทยทำจากกระส่วนซองยาทำจากผ้าทอสวยงามตัดเป้นทรงต่างๆ ไว้เก็บสมุนไพรและยาไทย จริงๆ ห้องธนบุรี-รัตนโกสินทร์ แบ่งออกเป็น 2 ห้อง แต่รวมเอาศิลปะวัตถุทั้งสองยุคสมัยไว้ด้วยกัน เพราะสมัยธนบุรีจะมีระยะเวลาสั้น โดยห้องที่จัดแสดงเครื่องราชบรรณาการที่พระราชินีวิคตอเรียถวายแก่พระจอมเหล้าเจ้าอยู่หัวนั้นมีทั้งลูกโลกขนาดใหญ่ รถไฟจำลองที่มีขนาดใหญ่เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีพระโทรนองค์แรกของรัชกาลที่ 5 พระสถูปเจดีย์ที่ทำจากถมปัด แต่ที่น่าสนใจมากก็คือเครื่องมือที่ใช้ในพระราชพิธีวางไม้หมอนเส้นทางรถไฟสายแรกของประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งพลั่วและรถเข็นดินนั้นทำอย่างวิจิตรจากวัสดุมีค่า โดยเฉพาะพลั่วนั้นงดงามมาก

ในวันแรกที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้มาเปิดให้บริการอีกครั้งนี้ยังไม่ได้เปิดส่วนจัดแสดงนิทรรศการที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย แต่ส่วนจัดแสดงอื่นๆ ในหมู่พระวิมานได้เปิดให้ชมตามปกติ ทั้หง้องที่จัดแสดงเครื่องดนตรีไทย ห้องจัดแสดงอิสริพัสตราภูษาภัณฑ์ ห้องจัดแสดงเครื่องโลหะศิลป์  ห้องจัดแสดงเครื่องถ้วยในราชสำนัก ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่น่าสนใจและใช้เวลาเดินชมทั้งหมดในหนึ่งวันก็ไม่ครบ ส่วนใครที่หิวหรือกระหายน้ำมีร้านอาหารท้ายวังกับเมนูอาหารง่ายๆ ให้บริการ รวมทั้งกาแฟร้อนจากเครื่องต้มมอคค่า อยู่ด้านหลังของอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์นั่นเอง 

จริงๆ มาที่นี่ค่อนข้างบ่อยในช่วงที่ยังไม่มีวิกฤติโควิด 19 เลยมาแนะนำให้ชมในส่วนจัดแสดงที่เพิ่งปรับปรุงเสร็จล่าสุด แต่จริงๆ โรงราชรถก็เป็นที่ที่ชาวต่างชาติหรือแม้แต่คนไทยเองนิยมเข้าไปชมความวิจิตรของชิ้นงาน ส่วนใครต้องการชมที่ประทับของพระบามสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไปชมได้ที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ใกล้ๆ กับอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ จะเห็นเครื่องเรือนของใช้ในที่ประทับ รวมทั้งภาพของประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน ที่ส่งมาถวาย ซึ่งเชื่อว่ามีภาพแบบนี้เพียงไม่กี่ภาพในโลก และพระปิ่นเกล้าฯ ทรงชื่นชมประธานาธิบดีท่านนี้มาก ทรงนำมาตั้งชื่อพระราชโอรสคือพระองค์เจ้ายอช วอชิงตัน แต่ภายหลังรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามว่าพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศฯ และก่อนกลับอย่าลืมไปชมจิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ที่รวมเอาความเป็นเอกของช่างวังหน้ามาไว้ รวมทั้งนมัสการพระพุทธสิหิงค์ หนึ่งในพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทยเพื่อความเป็นสิริมงคล   

เดวิด เบ็คแฮม ในฐานะทูตสันถวไมตรีขององค์การยูนิเซฟร่วมรณรงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อวัคซีนป้องกันโรค

เนื่องในสัปดาห์แห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก (World Immunization Week) ซึ่งตรงกับสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายนของทุกปี เบ็คแฮมได้ปล่อยวิดีโอโดยเขาได้พูดถึงการห่างหายจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ผู้คนทั่วโลกต้องเผชิญในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการไม่ได้กอดกับคนในครอบครัว การไม่ได้เจอเพื่อนหรือคนที่รัก  โดยเขาได้กระตุ้นให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคร้าย ในขณะเดียวกัน เบ็คแฮมยังได้ย้ำให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนที่จำเป็นตามกำหนด เพื่อปกป้องเด็กๆ จากโรคต่างๆ เช่น โรคคอตีบ หัด และโปลิโอ

เบ็คแฮมกล่าวว่า “ในปีที่ผ่านมา เราต่างเห็นแล้วว่าโรคโควิด-19 ได้นำมาซึ่งความสูญเสียอันมหาศาล แต่ขณะเดียวกัน ก็เตือนให้เราเห็นถึงความสำคัญและศักยภาพของวัคซีน วัคซีนเป็นสิ่งที่ได้ผลและสามารถช่วยชีวิตหลายล้านชีวิตได้ในแต่ละปี  จากการที่ผมร่วมงานกับยูนิเซฟมาตลอดหลายปี ผมเรียนรู้ว่าวัคซีนสำคัญมากขนาดไหนต่อสุขภาพของคนที่เรารัก แต่กระนั้น ก็ยังมีเด็กทั่วโลกจำนวนมากที่ไม่ได้รับวัคซีนจะช่วยปกป้องพวกเขาจากโรคร้ายต่าง ๆ  ตามกำหนด นี่เป็นเหตุผลที่ผมออกมารณรงค์ในสัปดาห์แห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก ผมภูมิใจมากที่ได้ร่วมมือกับยูนิเซฟและพันธมิตร เพื่อเชิญชวนให้พ่อแม่ไปฉีดวัคซีน และพาลูกๆ ไปรับวัคซีนตามกำหนดเช่นกัน”

นอกจากเดวิด เบ็คแฮม แล้ว ยังมีทูตยูนิเซฟและศิลปินผู้สนับสนุนอีกหลายคน อาทิ ออร์แลนโด บลูม, โซเฟีย คาร์สัน, โอลิเวีย โคลแมน, แองเจลิค คิดโจ, เจเรมี หลิน, อลิซซ่า มิลาโน และเจสซี่ แวร์ อีกทั้งบุคลาการทางการแพทย์ ครู และผู้เชี่ยวชาญจากทั่วทุกมุมโลก ที่พร้อมใจกันออกมารณรงค์เรื่องวัคซีนผ่านกิจกรรมออนไลน์ นอกจากนี้ บุคลากรที่ทำงานด่านหน้าจากหลากหลายประเทศ ทั้งในประเทศเบนิน อินโดนีเซีย จอร์แดน และเปรู ก็จะมาบอกเล่าประสบการณ์จริง เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของวัคซีนในการช่วยปกป้องเด็ก ๆ จากโรคร้ายต่าง ๆ ได้

ทุก ๆ ปี ทารกแรกเกิดและเด็ก 14 ล้านคนทั่วโลก ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคที่สามารถป้องกันได้  ซึ่งจำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล พื้นที่ที่มีความขัดแย้ง หรือในชุมชนแออัด ที่บริการสาธารณสุขเข้าไม่ถึง ในปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบให้สถานการณ์ดังกล่าวแย่ลงไปอีก อีกทั้งมาตรการล็อกดาวน์และอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการจัดส่ง ยังอาจส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตของเด็กจากโรคที่ป้องกันได้เพิ่มขึ้นมหาศาล

ในประเทศไทย การได้รับวัคซีนของเด็กยังคงเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงในพื้นที่ชายแดนใต้ ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและสนับสนุนจากยูนิเซฟ ระบุว่า ในจังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส มีเด็กอายุ 1 ปีเพียงร้อยละ 63 และร้อยละ 52 เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนครบ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่ร้อยละ 82 

สัปดาห์แห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก (World Immunization Week) มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนเพื่อปกป้องผู้คนทุกเพศทุกวัยจากโรคภัยไข้เจ็บ ในปีนี้ การรณรงค์ได้เน้นแนวคิด “Vaccines bring us closer” หรือ “วัคซีนเชื่อมเราให้ใกล้กัน” ที่กระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้คนทั่วโลกเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัคซีนในการเชื่อมผู้คนให้ใกล้กัน ตลอดจนส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คนทุกที่ทั่วโลกไปตลอดช่วงชีวิต

การพูดคุยออนไลน์กับทูตสันถวไมตรีของยูนิเซฟ จะเผยแพร่ทาง เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม และสามารถดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่ ตลอดสัปดาห์แห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก

Reclaimed Legacy by Kindness Wood นิทรรศการที่จะทำให้คุณเชื่อมั่นในความงดงามหากแหว่งวิ่นของธรรมชาติมากขึ้น

Author: Pacharee Klinchoo

Photographer: Perakorn Voratananchai

‘From Flaw to Flawless’ คือสิ่งที่ชารีฟ ลอนา Design Director ของ Studio Act of Kindness ดีไซน์สตูดิโอสุดเก๋ ยึดมั่นในการรังสรรค์วัสดุไม้จากเศษไม้เหลือเก็บในโกดังของ Champaca แบรนด์ผลิตและจำหน่ายไม้แท้คุณภาพสูง ที่ลูกค้าและสถาปนิกชั้นนำเลือกใช้ภายใต้ชื่อ ‘Kindness Wood’ หลังจากที่เขาได้เรียนรู้ว่าเศษไม้เหลือใช้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์นั้นมีมากมายมหาศาลขนาดไหน “ตอนแรกสุดที่ผมได้เข้าไปคุยงานกับแบรนด์ Champaca ก็คือเขาอยากได้คอลเลกชั่นไม้พื้นลายแปลกๆ แต่พอผมได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมโรงงาน ผมเห็นทันทีเลยครับว่าแบรนด์นี้มีศักยภาพที่จะไปได้มากกว่าการทำแพทเทิร์นพื้นไม้ไปขายในโชว์รูม” เขาเริ่มต้นเล่าโปรเจ็กต์วัสดุไม้จากเศษไม้ด้วยแววตาตื่นเต้น “ผมไปเจอเศษไม้เหลือจากการผลิตเข้า… อธิบายแบบนี้ดีกว่าครับ เวลาได้ซุงมาท่อนหนึ่งน่ะครับ ซุงจะถูกเลือกให้เป็นเกรดเออยู่แค่ 70% เท่านั้น อีก 30% ที่เหลือที่มีตาไม้หรือร่องรอยของธรรมชาติจะถูกคัดออกว่าเป็นไม้ตกเกรด แต่ด้วยธรรมชาติของต้นไม้ ทำให้เราไม่สามารถควบคุมเกรดของไม้ได้เลย ทำให้โรงงานนั้นสะสมเศษไม้ไว้สามโกดังขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการสะสมมาสามชั่วอายุคนแล้วครับ พอผมเปรยว่าผมอยากจะทำโปรเจ็กต์แบบนี้ คุณพ่อของแพท (พัฒนิศ เจริญกุล Vice President ของ Champaca) ก็ไฟเขียวทันทีเลยครับ เพราะตลอดชีวิตของท่านที่ทำงานมา ท่านเห็นมาตลอดว่าหนทางเดียวในการกำจัดไม้เหล่านี้คือการเผาทิ้ง ทำเป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ส่วนอื่นๆ ของโรงงาน ท่านแฮ้ปปี้มากเลยครับกับโปรเจ็กต์นี้”

ตั้งแต่วันที่ชารีฟได้ก้าวเข้าไปสัมผัสกับเศษไม้จำนวนมหาศาลมาจนถึงวันเปิดแสดงงานนิทรรศการ Reclaimed Legacy ที่โชว์เคสการประยุกต์ใช้วัสดุไม้จริงนั้นกินเวลาเพียงห้าเดือนเท่านั้น ซึ่งถือว่าสั้นมากจริงๆ สำหรับโปรเจ็กต์ใหญ่ขนาดนี้ “ที่ผ่านมา ผมเรียนสถาปัตย์ฯ มา ก็รู้ดีว่าการดีไซน์อย่างยั่งยืนนั้นมันทำได้หลายรูปแบบมาก มีแนวคิดหลากหลายแบบ ส่วนตัวผมรู้สึกว่า ที่ผ่านมา ทุกคนมองเวลาของขยะสั้นไปหน่อย การนำเอาผักตบชวาหรือขวดน้ำมาทำเก้าอี้หรือเฟอร์นิเจอร์มันก็สวยได้แป๊บเดียว เป็นแค่อีเวนต์หนึ่ง แล้วมันก็กลายเป็นขยะอยู่ดี ผมเลยอยากทำอะไรที่มันยั่งยืนกว่านั้น เลยมองว่าเรามีกลุ่มคนที่ไม่สามารถซื้อไม้สักทั้งก้อนได้อยู่แล้ว ถ้าเราสามารถทำไม้สำเร็จรูปจากไม้สักจริงที่มีลายพร้อมใช้เป็นตัวเลือกให้คนเหล่านี้ โดยราคาถูกกว่าเป็นครึ่งหนึ่ง ก็น่าจะดีกว่า”

เฟอร์นิเจอร์ที่ถูกจัดแสดงในนิทรรศการ Reclaimed Legacy ครั้งนี้คือคอลเลกชั่นที่จับต้องได้เพื่อแสดงศักยภาพของ Kindness Wood ว่าทำอะไรได้บ้าง “หลังจากสำรวจเศษไม้ทั้งหมดสามโกดังเต็มๆ แล้ว ผมก็แยกเศษไม้ทั้งหมดออกมาเป็น 14 หมวด” ชารีฟอธิบายต่อด้วยแววตาตื่นเต้นเช่นเคย “ที่มีกรุ๊ปค่อนข้างใกล้เคียงกัน ทุกอย่างมีจำนวนมหาศาลเลยครับ ผมก็ทำไม้ประกอบออกมาทั้งหมด 7 ซีรีส์ ซึ่งระบบหลักของมันคือไม้เหล่านี้จะออกมาเป็นก้อน เหมือนซุง แต่ในแง่ของธุรกิจแล้ว ถ้าลูกค้าต้องการไม้แผ่น ทางเราสามารถจัดการให้ได้ด้วยความบางที่สุดถึง 4 มิลลิเมตร ซึ่งการอัดไม้ก้อนนี้ก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้ใหม่กันหมดทุกคน ทุกภาคส่วน คนงานเองก็ได้พัฒนาตัวเอง บริษัทเองก็ได้ทำงานสร้างสรรค์ใหม่โดยใช้ต้นทุนเดิมของตัวเองที่กองเสียเปล่าอยู่มาหลายทศวรรษ ทำให้เกิดมูลค่าใหม่ ดังนั้น นิทรรศการ Reclaimed Legacy นี่คือแสดงอย่างชัดเจนว่า Kindness Wood มีศักยภาพแค่ไหน เนื่องด้วยความพิเศษที่ผมดีไซน์แต่ละลาย คือในหนึ่งก้อนไม้สามารถตัดออกมาได้สี่ลายไม่เหมือนกันตามแต่ว่าเราจะตัดในมุมไหน ซึ่งถ้าเอาก้อนไม้ทั้งหมด 7 ลายมาตัดเรียงกัน คุณจะได้แพทเทิร์นลายไม้ทั้งหมด 28 แบบ ดังนั้น ไม้หนึ่งก้อนที่คุณซื้อไป สามารถใช้หมดได้ 100% เลยครับ”

เรายังอดประทับใจความรวดเร็วในการรันโปรเจ็กต์ Kindness Wood ระหว่างสองธุรกิจนี้ไม่ได้ มันเหมือนกับเจอเนื้อคู่น่ะ เราออกความเห็น “ที่ผ่านมา ทาง Champaca ได้พยายามจะทำอะไรหลายอย่างอยู่แล้วครับ” ชารีฟยิ้ม “ไปร่วมมือกับองค์การป่าไม้ ไปปลูกป่า ทำอะไรหลายๆ อย่าง ทดแทนสิ่งที่ตัวเองรู้สึกผิดในระหว่างการทำงาน ส่วนผมเองก็เป็นอินทีเรียร์ดีไซน์ที่ทำงานลักชัวรี่เรสซิเดนท์มาเยอะมาก ใช้ไม้ ใช้หินกันแบบสิ้นเปลืองเหมือนจะระเบิดทั้งเขามา ดังนั้น ลึกๆ ผมเองก็รู้สึกผิดอยู่เช่นกันครับ และพอเราได้มาคุยกัน เราเลยคลิกกันทันทีครับ และผมเชื่อนะครับว่า ช่างไม้เองก็คงจะรู้สึกผิดไม่แพ้พวกเราหรอกครับ เพราะไม้ก็คือเครื่องมือทำมาหากินของพวกเขา ถ้าเราจะสามารถเอาเศษเหลือเหล่านั้นมาทำให้เกิดประโยชน์ และยืดระยะเวลาการตัดไม้ออกไปได้อย่างแท้จริง ใครจะไม่ทำล่ะครับ”

นิทรรศการ Reclaimed Legacy by Kindness Wood จัดแสดงที่ Warehouse 30 (โกดัง 3) ตั้งแต่วันนี้ – 8 เมษายนนี้ ติดตามรายละเอียดได้ ที่นี่

ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ ตำนานประชันเส้นสีและฝีแปรงของครูช่างยุคต้นกรุง

ตำนานคือเรื่องเล่าที่อาจจะมีเค้าความจริงหรือเป็นเรื่องเล่าสืบๆ กันมาซึ่งย่อมจะผิดเพี้ยนไปตามปากผู้เล่า แต่จะมีตำนานใดที่เกี่ยวกับช่างเขียนระดับบรมครูของไทยที่มีสีสันเท่ากับการประชันฝีมือระหว่างครูทองอยู่กับครูคงแป๊ะ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง แม้จะมีหลักฐานให้สืบค้นถึงตัวตนเพียงน้อยนิด ฝากไว้แต่ผลงานจิตรกรรมบนผืนผนังให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมถึงอัจฉริยภาพของครูทั้งสอง

ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ การสร้างบ้านบำรุงเมืองให้พระนครแห่งใหม่ที่อยู่ตรงข้ามกับกรุงธนบุรีเป็นไปอย่างคึกคักเพื่อให้สมกับชื่อกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ฯ ให้สมเป็นเทพสร้าง และคนยุคต้นกรุงหลายต่อหลายคนย่อมเคยเห็นความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยามาก่อน

พระมหากษัตริย์ต้นบรมราชจักรีวงศ์ทรงอุทิศพระวรกายทะนุบำรุงบ้านเมืองและพระศาสนา ไม่แต่เฉพาะขอบเขตกำแพงพระนคร แม้แต่ฝั่งกรุงธนบุรี ที่เป็นที่ตั้งรกรากของพระญาติต่างๆ วัดไหนที่เก่าแก่ทรุดโทรมก็ให้มีการบูรณะ อย่างวัดทองริมคลองบางกอกน้อย ที่เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่ามาก่อน ในสมัยพระไชยราชาธิราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงให้ขุดคลองลัดเพื่อย่นระยะการเดินทาง ปัจจุบันคลองลัดได้กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหญ่แทน ถ้าเราจะเห็นวัดเก่าแก่สืบได้จนสมัยกรุงศรีฯ ตามเส้นทางคลองบางกอกน้อย คลองชักพระ และคลองบางกอกใหญ่ ก็ไม่แปลก เพราะนี่คือเส้นทางแม่น้ำสายเดิมนั่นเอง

หลักฐานหนึ่งของการเป็นจิตรกรเอกยุคต้นกรุงของครูทั้งสองท่านคือบรรดาศักดิ์ที่ได้รับพระราชทาน ครูทองอยู่ได้เป็นหลวงวิจิตรเจษฎา ส่วนครูคงแป๊ะเป็นกรมหลวงเสนีบริรักษ์ ไม่เพียงแต่ผลงานที่ปรากฏและเสียงชื่นชมที่ได้รับจนมีลูกศิษย์และด้อมของแต่ละคนศรศิลป์ไม่กินกันไปโดยปริยาย เพราะครูก็ไม่วิสาสะกัน ด้อมแต่ละฝ่ายก็สรรเสริญเมนตนและเสียดสีเมนฝ่ายตรงข้าม ยิ่งกระพือโหมให้สองครูห่างเกินจนแม้แต่ลูกศิษย์ลูกหาเจอครูของอีกฝ่ายก็ไม่ไหว้ไม่เคารพ

จริงๆ แล้วครูทองอยู่คงจะมีอาวุโสกว่า และครูคงแป๊ะคงเป็นรุ่นใหม่มาแรง ถ้าจะเปรียบครูทองอยู่คือศิลปินยุคเรอเนสซองส์ แต่ครูคงแป๊ะคือยุคแมนเนอริสม์ ทั้งสองยุคนี้ต่อเนื่องกัน อย่างงานจิตรกรรมของมิเคลันเจโล ผลงานส่วนใหญ่ของเขายืนยันถึงความรุ่งเรืองของยุคเรอเนสซองส์ แต่ผลงานหลังๆ ของเขาจะแหวกขนบเดิมๆ เน้นกล้ามเนื้อหรือการจัดวางท่าที่บิดเหมือนผิดธรรมชาติ แต่แท้จริงแล้วเป็นการสร้างความรู้สึกร่วมกับภาพนั้นๆ ไม่เน้นความสวยแบบสมมติเทพเช่นเดิม

ครูทองอยู่จะวาดภาพตามขนบจิตรกรรมไทยดั้งเดิมอย่างเด่นชัด มีแบบแผน เน้นความยิ่งใหญ่อลังการ การวางท่าทางแบบนาฏลักษณ์ และเป็นงานไทยคลาสสิก ครูนิยมวาดภาพเนมิราชชาดก ซึ่งเป็นเรื่องพระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็นกษัตริย์เนมิราชที่บำเพ็ญอธิษฐานบารมี ได้ไปเยี่ยมนรกสวรรค์และกลับมาเล่าให้ปวงราษฎร์เพื่อให้พวกเขาประพฤติตัวอยู่ในธรรม ส่วนครูคงแป๊ะจะแหวกขนบตั้งแต่การนำเอาชาวต่างชาติเข้ามาเป็นส่วนเสริมให้ตัวเด่นที่เป็นแบบขนบไทยดั้งเดิมดูโดดเด่นยิ่งขึ้น การจัดวางองค์ประกอบเน้นเส้นที่เคลื่อนไหว แม้จะบิดผิดจากธรรมชาติ แต่กลับมีพลังพวยพุ่ง หรือแม้แต่การแบ่งเนื้อเรื่องในภาพแทนที่จะใช้เส้นสินเทา แต่ใช้กระบวนและขบวนของผู้คนในภาพแทรกสลับกับทิวเขาและต้นไม้หรือป่า ให้ความรู้สึกเป็นงานแบบสากล ถึงแม้จะไม่มีจุดทัศนียภาพ (perspective) ตามแบบงานตะวันตก แต่ก็รู้สึกได้ถึงความใกล้ไกลหรือระยะในภาพจากการวางองค์ประกอบของจุดเด่นและจุดรอง ภาพกระบวนการสัประยุทธ์นั้นมีความเคลื่อนไหวดึงดูดสายตา ทำให้เราไม่ได้สนใจว่าภาพนี้ไม่ได้มีการจัดวางองค์ประกอบแบบสมมาตรเลย

แล้วก็มาถึง ณ จุดไฮไลท์ของการประชันฝีมือ นั่นก็คือที่วัดทองที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ริมคลองบางกอกน้อย รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ พระราชทานชื่อว่า ‘วัดสุวรรณาราม’ สมเด็จกรมพระราชวังมหาสุรสิงหนาททรงสร้างเมรุหลวงใช้ในการพระราชทานเพลิงศพเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ที่นี่ด้วย และใช้จนถึงรัชกาลที่ 4

ในรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณาราม และครั้งนี้เองที่ให้ช่างเขียนภาพฝาผนังในพระอุโบสถ โดยรวบรวมเอาช่างฝีมือชั้นครูของสยามมาทำงานนี้ แน่นอนว่าต้องมีครูทั้งสองท่านนี้ด้วยเพราะเป็นช่างที่โปรด มีเรื่องเล่าว่าคงแป๊ะฆ่าคนไม่ติดคุก เพราะความเป็นคนอารมณ์หุนหันและชอบดื่มสุรา ครั้งหนึ่งครูคงแป๊ะมีเรื่องวิวาทและพลั้งมือทำให้คู่อริเสียชีวิต โทษหนักนั้นไม่แน่ว่าถึงประหารชีวิตหรือไม่ แต่รัชกาลที่ 3 พระราชทานอภัยโทษด้วยเสียดายว่าเป็นคนมีฝีมือ แต่เรื่องฉาวนี้ทำให้ครูคงแป๊ะเสียชื่อเสียง จนคนไม่เรียกครู เรียกแต่คงแป๊ะเฉยๆ

ในเมื่อด้อมแต่ละฝ่ายกังขากันนักว่าฝีมือใครเหนือใคร ผนังด้านซ้ายของพระประธานในโบสถ์วัดทองจึงเป็นที่ประชันฝีมือแบบกั้นม่าน ผนังนั้นอยู่ติดกันเว้นด้วยช่องหน้าต่าง ห่วงโลหะที่ใช้ติดม่านนั้นก็ยังมีเหลือร่องรอยอยู่ ซึ่งเราเห็นห่วงเหล็กคร่ำสนิมนั้นก็น่าจะเป็นหลักฐานว่าเรื่องกั้นม่านเขียนภาพนี้น่าจะจริง

ครูทองอยู่เลือกเขียนภาพเนมิราชที่เน้นเส้นสายของภาพที่งดงามวิจิตร การวางท่าทางตัวละครในภาพอ่อนช้อยงดงามตามลีลานาฏลักษณ์ ฝีมือการตัดเส้นสุดเฉียบที่ร่ำลือมีให้เห็นอย่างไม่ต้องสงสัยเรื่องฝีมือ รวมทั้งสีสันที่ช่างแต่ละท่านจะมีสูตรลับของการสร้างสรรค์สีจากวัสดุธรรมชาติและจะไม่ถ่ายทอดให้ใครง่ายๆ รายละเอียดของสถาปัตยกรรมสุดวิจิตรเป็นเวียงวังที่โอ่อ่าตระการตา การแบ่งเนื้อเรื่องใช้เส้นสินเทาที่พลิกพลิ้วอ่อนช้อย ไม่ใช่เส้นหยักฟันปลาเพียงอย่างเดียว ในภาพแม้จะแบ่งให้การเที่ยวเทวโลกของเนมิราชนำโดยมาตุลีเทพอยู่ด้านล่างของผนัง แต่ก็มีเส้นสินเทาที่พลิ้วคดโค้งงดงามประดับด้วยลายดอกไม้ ไม่ได้เป็นเส้นสินเทาหยักฟันปลาแบบดั้งเดิม ขณะที่การเที่ยวชมสวรรค์ถูกแบ่งด้วยเส้นสินเทาแบบเดียวกันล้อรับกับยอดปราสาทของเนมิราชที่มีรูปทรงที่โอ่อ่าวิจิตร การจัดวางองค์ประกอบภาพเป็นแบบสมมาตรทุกสิ่ง อ่อนช้อยและโอ่อ่าน่าศรัทธาคงจะนิยามผลงานของครูทองอยู่ได้

ครูคงแป๊ะนิยมวาดภาพมโหสถที่เน้นขบวนรบมีคนสัประยุทธ์กัน ความสับสนวุ่นวายในการรบถูกจัดให้อยู่ในเส้นแนวของลีลาการยุทธ์และวางตำแหน่งให้ขบวนม้าขบวนช้างสอดคล้องต่อเนื่องสอดแทรกตามโขดหินและพงป่า แม้จะไม่ใช่การเขียนภาพแบบทัศนียภาพแบบตะวันตก แต่เรากลับรับรู้ระยะใกล้ไกลของภาพได้ ม้าที่วิ่งห้ออย่างสุดฝีเท้ามีลำตัวเหยียดยาวเป็นเส้นพุ่งให้รู้สึกถึงความแรงของฝีเท้า แม้จะผิดจากกรอบเดิมๆ และไม่เป็นนาฏลักษณ์

ว่ากันว่าครูคงแป๊ะมีเชื้อสายจีน หลายๆ ภาพที่ท่านวาดมีอิทธิพลของกระบวนจีน แต่ภาพที่วัดทองนี้กองทัพเมืองพาราณสีที่มาบุกเมืองมิถิลาแต่งกายแบบเปอร์เซีย ขณะที่ภาพเหล่าข้าราชบริพารเมืองมิถิลาสวมเสื้อหลายอย่าง เหล่ากษัตริย์แต่งกายและมีลีลาแบบนาฏลักษณ์แบบจิตรกรรมไทย ไม่เพียงแต่วาดภาพช่วงสัประยุทธ์ ครูคงแป๊ะยังเลือกวาดเรื่องมโหสถชาดก แต่จับตอนมโหสถพาพระเจ้าวิเทหราชหนีลงอุโมงค์ใต้ดิน แสดงให้เห็นถึงฝีมือและจินตนาการในการวาดบรรยากาศในอุโมงค์อย่างวิจิตรงดงาม และผนังข้างๆ กันก็มีภาพเนมิราชที่วาดโดยครูทองอยู่ เพียงแต่งานชิ้นเอกบนผนังของโบสถ์วัดอรุณนี้ถูกไฟไหม้เสียหายในสมัยรัชกาลที่ 5 จนไม่อาจซ่อมแซมได้ (ครูทั้งสองเสียชีวิตไปก่อนหน้านั้นแล้ว)

นี่แหละคือสิ่งที่อยากให้ทุกคนหาโอกาสไปชมงานจิตรกรรมที่ถือเป็นหนึ่งในงานชั้นครูของศิลปะไทย เพราะงานจิตรกรรมฝาผนังนั้นไม่สามารถคงอยู่ชั่วกัลปาวสาน ยิ่งงานช่างไทยที่ใช้สีที่ผสมขึ้นเองจากธรรมชาติ ไม่ใช่สีวิทยาศาสตร์แบบยุคสมัยนี้ ใครจะคิดไปชมงานครูควรหาโอกาสไปชม อย่าคิดว่าเมื่อไรก็ไปได้ เพราะภาพเหล่านั้นจะลบเลือนสูญหายไปตามกาลเวลา

มีผลงานของครูทองอยู่และครูคงแป๊ะอยู่ที่ผนังโบสถ์วัดบางยี่ขัน (ไม่ได้เปิดให้ชมนอกจากวาระพิเศษ) วัดดาวดึงษ์ และวัดที่เราไปชมได้ค่อนข้างสะดวกก็คือวัดสุวรรณาราม ริมคลองบางกอกน้อยนี่เอง และภาพฝีมือของครูทั้งสองยังเคียงคู่กันอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์เท่าที่กาลเวลาที่ผ่านมาเกือบสองร้อยปีจะคงไว้ได้ แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่อาจจะยืนยันได้ว่าแท้จริงแล้วในใจของครูทองอยู่จะไม่ได้บาดหมางกับครูคงแป๊ะรุนแรงอย่างที่เอฟซีของแต่ละฝ่ายร่ำลือกัน เพราะครูทองอยู่ฝากผลงานไว้ที่วัดบางยี่ขันที่มีรายละเอียดภาพเป็นเทวดาอยู่ด้านบน แต่มีเทวดาองค์หนึ่งลักษณะเป็นคนจีนมีเคราแพะ ว่ากันว่าคือภาพกึ่งหยอกถึงครูคงแป๊ะนั่นเอง

The Legend Lives On: เปิดศักราชวงการศิลปะอย่างยิ่งใหญ่ด้วยงาน Immersive Art of Thawan Duchanee จากวิสัยทัศน์ของดอยธิเบศร์ ดัชนี ผู้เชื่อมั่นในพลังแห่งศิลปะในโลกเดิม และพลังแห่งการสร้างสรรค์ในโลกใหม่

Author: Pacharee Klinchoo

Photographer: Perakorn Voratananchai

การพบกันระหว่างดอยธิเบศร์ ดัชนี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์บ้านดำ และ George Swami ผู้ก่อตั้ง Fulldome.pro เมื่อสี่ปีที่แล้วอาจเป็นเพียงการนัดกินข้าวธรรมดาระหว่างผู้ชายต่างวัย ต่างเชื้อชาติ ต่างภาษาสองคน แต่ด้วยศรัทธาและความมุ่งมั่นที่จะสรรค์สร้างอะไรบางอย่างให้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ให้จงได้ การพบปะกันครั้งนั้นจึงกลายมาเป็นงาน Immersive Art of Thawan Duchanee หรืองานจัดแสดงผลงานของถวัลย์ ดัชนี ในรูปแบบภาพยนตร์ VR 360 องศา Fulldome พร้อมฟีเจอร์ 3D ต่างๆ อีกกว่า 50 ชิ้น ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 ธันวาคม 2563 – 11 มกราคม 2564 ณ ไอคอนสยาม เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกของโลกที่ได้เห็นภาพลายเส้นฝีแปรงอันเป็นเอกลักษณ์ของถวัลย์ออกมาโลดแล่นเป็นภาพสามมิติอย่างเป็นรูปธรรม และก็ต้องบอกเลยว่าการได้เห็นของจริงด้วยตาตัวเองนั้นน่าตื่นตะลึงกว่าภาพในหัวที่เราจินตนาการมาตั้งแต่เด็กหลายเท่า

From Dream to Reality

“ตอนที่ได้คุยกับคุณจอร์จครั้งแรกเมื่อสี่ปีก่อน เขาก็แนะนำตัวและเล่าว่าเขาทำอะไรอยู่ ผมก็แค่รับรู้ว่าเขาทำอะไร และโลกนี้มีสิ่งนี้อยู่ แต่ผมก็ไม่ได้ตื่นเต้นอะไรมากนัก เพราะรู้สึกว่ามันไกลตัวมาก งานของอาจารย์ถวัลย์เหมือนคนที่อยู่ยุคหิน คงไม่สามารถเอามาจูนกับเทคโนโลยีล้ำๆ แบบนี้ได้ และยังเรื่องงบประมาณอีก เรียกได้ว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว” ดอยธิเบศร์เล่าย้อนอดีตด้วยแววตามุ่งมั่น “แต่หลังจากได้มีโอกาสติดต่อกับเขาอีกสองสามครั้ง เขาก็มาขอพื้นที่ในบ้านดำสร้างโดมไซส์ 8 เมตร ใช้เวลาสร้างสองวัน และฉายงาน 360 องศาที่เขาเคยทำมาให้ผมดูห้านาที แต่นั่นก็เป็นห้านาทีที่เปลี่ยนแปลงความคิดผมไปเลยครับ”

แม้จะออกปากว่าห้านาทีนั้นเปลี่ยนแปลงความคิดของเขาไปทั้งหมด แต่ดอยธิเบศร์ก็ยอมรับว่าการตัดสินใจลงทุนร่วมงานกับ Fulldome.pro นั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินใจผลีผลามได้ “ผมรู้สึกว่ามันแปลกและตื่นเต้นดี แต่ก็แค่นั้นล่ะครับ ยังคงคิดว่าเป็นไปไม่ได้อยู่ดี แค่ค่าทำคอนเทนต์ก็ประมาณ 500-600 ล้านบาทไปแล้ว เราคงไม่มีเงินมากขนาดนั้น แต่จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อมาถึงปี 2020 นี่ล่ะครับ จู่ๆ ผมก็คิดว่าปีนี้ควรเป็นปีที่ต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งแล้ว เพราะบ้านดำไม่ได้จัดงานยิ่งใหญ่จริงๆ มาหลายปีมากๆ แล้ว เราจัดงานที่บ้านดำทุกปีก็จริง แต่เราไม่ได้ทำงานที่ยิ่งใหญ่จริงๆ มานานมาก ครั้งสุดท้ายก็เจ็ดปีที่แล้ว ตั้งแต่ที่เราเปิดตัวเหรียญสุริยะภูมิจักรวาลที่สยามพารากอน ผมรู้สึกขึ้นมาว่าผมอยากทำอะไรแบบนั้นขึ้นมาอีกครั้ง แต่ก็ไม่อยากจัดอะไรซ้ำๆ ซากๆ อีก ผมเลยนึกถึง Fulldome.pro ขึ้นมานี่ล่ะครับ แต่ถ้าจะเอาโดมขนาดใหญ่ไปวางที่ลานพาร์คพารากอน ก็ไม่ได้อยู่ดี เลยคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้ภาพในหัวเป็นจริงให้ได้ล่ะครับ”

และในระหว่างที่คิดสะระตะเรื่องสถานที่จัดงานอันยิ่งใหญ่ในนามพิพิธภัณฑ์บ้านดำอยู่นั้น ดอยธิเบศร์ก็ได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยือนห้างริมน้ำเจ้าพระยาอย่างไอคอนสยาม และที่นี่ เขาก็เห็นศักยภาพในการสร้างภาพฝันในหัวของเขาให้เป็นจริงขึ้นมาทันที “ผมรู้แหละว่าห้างนี้สร้างด้วยเงินมูลค่าเท่าไหร่” เขายิ้ม “และถ้าสังเกตดีๆ ภายในบริเวณห้างมีงานศิลปะอยู่เกือบ 400-500 ชิ้น เป็นการลงทุนซื้องานศิลปะมาสร้างพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของประเทศไทย พอได้เห็นแบบนี้เลยรู้ทันทีว่า พื้นที่นี้เป็นที่ในฝันที่ผมอยากจะจัดงานของคุณพ่อ เลยตัดสินใจคุยกับผู้ใหญ่ พอทุกคนทราบว่าผมอยากจะทำอะไร ก็เปิดไฟเขียวให้ทันที บอกเลยว่าเขายินดีขยับทุกอย่างช่วงปลายปีให้กับงานของผม เขาเปรยว่าอยากให้ผมจัดงานทุกปีเลยด้วยซ้ำ แต่คงเป็นไปไม่ได้หรอกครับ นี่ก็เว้นว่างมาเจ็ดปีแล้ว (หัวเราะ) แค่อยากจัดปีนี้ เพราะผมเกิดมาในยุคเก้าศูนย์ และรู้สึกว่ากว่าจะมาถึงปี 2020 ได้นี่มันยาวนานมาก มีความรู้สึกแบบนี้มาตั้งแต่เด็กๆ ว่าปีนี้จะต้องอะเมซซิ่งมากแน่ๆ แม้ว่าสุดท้ายมันจะอะเมซซิ่งเพราะเป็นปีโลกาวินาศก็ตามเถอะ” ท้ายเสียงของเขาเจือเสียงหัวเราะขื่นๆ แต่เราก็ยังคงเห็นแววตามุ่งมั่นของเขาที่ไม่ได้สลดลงตามน้ำเสียงแม้แต่น้อย

A Few Hiccups Along The Way

ในวันที่ดอยธิเบศร์ตัดสินใจคุยเรื่องโปรเจ็กต์นี้กับไอคอนสยาม สถานการณ์โรคโควิด-19 ยังดูเป็นเรื่องไกลตัวอยู่มาก การวางแผนจัดงานในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมจึงดูเป็นเรื่องสบายๆ “ตอนนั้นผู้ใหญ่เสนอว่าให้เวลาแสดงสองเดือน แต่ผมคิดว่าสัก 45 วันน่าจะพอดี เพราะสองเดือนดูจะยาวไปสำหรับคนไทย ก็เลยไปคุยกับ Fulldome.pro แล้วว่าจะทำ ตอนนั้นปัญหาคือมีทีมพร้อมทำงาน มีสถานที่พร้อมจัดงาน แต่ขาดเงิน แต่สิ่งที่ผมมีคือ ผมมีความหวัง และผมมีศรัทธากับสิ่งที่ผมทำ ซึ่งโควิด-19 ก็ไม่ค่อยจะให้ความร่วมมือสักเท่าไหร่ ในระหว่างปีถึงจะมีการล็อกดาวน์ใดๆ แต่ผมก็มีความหวังว่าช่วงปลายปีที่จัดงาน ประเทศคงจะเปิดพอดี รถไฟฟ้าสายสีทองสร้างเสร็จ ผมก็เปิดงานพอดี ทุกอย่างดูลงตัวไปหมด แต่สถานการณ์โควิด-19 ก็ลากยาวมา จนถึงสี่เดือนสุดท้ายในประเทศไทย ถึงเวลาที่พวกผมต้องมานั่งถามกันเองในทีมว่าพวกเรายังจะอยากทำกันต่อไหม ความยากมันอยู่ที่การตัดสินใจครั้งนี้ล่ะครับ ถ้าจะทำต่อ เราต้องคิดเรื่องการระดมทุนจริงจังแล้ว ทางผู้ใหญ่ก็ถามมาว่าตกลงจะตัดสินใจอย่างไร เพราะช่วงสิ้นปีคงไม่มีใครจัดงานแล้วแน่ๆ พอได้ยินแบบนั้น ผมก็คิดทันทีว่า ยิ่งฟ้ามืดก็ยิ่งเห็นดาวนั่นแหละ ผมจะพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ผมตัดสินใจเดี๋ยวนั้นว่าผมจะเดินหน้าต่อ และเปิดระดมทุนขึ้นมา หาเงินทุกวิถีทาง ขายอะไรได้ก็ขายเอาเงินมาตั้งต้นโปรเจ็กต์ ตอนนั้นตัดสินใจเลยว่าจะหั่นเวลาเหลือแค่ 30 วัน เลือกจัดช่วงวันที่ 11 ธันวาคมปีที่แล้ว จนถึง 11 มกราคมปีนี้ เพื่อให้คร่อมยาวไปตั้งแต่คริสต์มาส สิ้นปี ปีใหม่ ไปจนถึงวันเด็ก เพราะช่วงนี้น่าจะเป็นช่วงที่พีคที่สุดแล้วในสถานการณ์ไม่ปกติแบบนี้ พอตัดสินใจได้ปั๊บ ทางผู้ใหญ่ก็สั่งลุยเลย ทีมก็เริ่มทำงานกันอย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงนั้นครับ”

ทันทีที่ตัดสินใจเดินหน้าโปรเจ็กต์ อีกหนึ่งพาร์ทเนอร์หลักอย่าง Fulldome.pro ก็คิดว่างานนี้อาจจะเป็นจริงไม่ได้ ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลา เพราะกว่าจะเปิดไฟเขียวเดินหน้าอย่างเป็นทางการ ทีมก็เหลือเวลาเพียง 3 เดือนในการเตรียมโปรดักชั่นทั้งหมด ซึ่งถ้าดูจากไทม์ไลน์การดำเนินงานแล้วก็แทบจะเป็นไปไม่ได้จริงๆ “เฉพาะการสร้างโดมไซส์ที่ต้องการก็ใช้เวลา 2 เดือนแล้ว ส่วนสำคัญที่สุดก็คือคอนเทนต์ที่จะนำเข้ามาฉายในโดม เขาบอกว่าทำได้มากที่สุดก็แค่ 5 นาทีเท่านั้น ซึ่งผมรู้ว่านั่นเป็นไปไม่ได้สำหรับการขายตั๋วในราคาที่ผมคิดไว้ เขาก็ประนีประนอมที่ 7 นาที เพราะต้องระดมคนจากทั่วโลกลงมาทำงานนี้ การสร้างหนังฮอลลีวู้ดนี่ใช้เวลาเป็นหลายๆ ปีเลยนะ แต่ผมก็ยืนยันว่าทุกอย่างต้องเป็นไปได้ ถึงคุณจะบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่ผมเชื่อแบบนั้น เลยใช้วิธีระดมแอนิเมเตอร์จากทั่วโลกมาทำคอนเทนต์ร่วมกันตาม theme ที่เราเซ็ตไว้ ต่างคนต่างลงมือทำในส่วนของตัวเองตามพื้นที่ที่ตัวเองอยู่ รวมงานของทุกคนมาและส่งไปเรนเดอร์ที่ประเทศแคนาดา ก่อนส่งกลับมาฉายในโดม ผมเองได้ดูคอนเทนต์ดราฟต์สุดท้ายในวินาทีสุดท้าย ก่อนเปิดงานเสียด้วยซ้ำ แต่มันก็เป็นไปได้จริงๆ จากที่เขาบอกว่าทำได้ 7 นาที พวกเราทำได้เป็น 17 นาทีครับ มันอะเมซซิ่งและเกินความคาดหวังไปเยอะมากจริงๆ” น้ำเสียงของดอยธิเบศร์เจือจางไปทั้งความภาคภูมิใจ ความตื่นเต้น และความโล่งใจที่ได้เห็นโปรเจ็กต์นี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้จริงๆ

นอกเหนือไปจากการจัดฉายงาน 360 องศาเป็นเวลา 17 นาทีภายในโดมขนาดใหญ่แล้ว ภายในงานยังมีการทำ AR ที่สามารถให้คนร่วมงานเล่นกับงานภาพสองมิติผ่านฟิลเตอร์ไอจีได้อีกกว่า 50 ชิ้นงาน ซึ่งในส่วนนี้ก็ถือเป็นงานช้างที่ต้องใช้แอนิเมเตอร์อีกกว่า 50 ชีวิต และยังมีความยุ่งยากที่ต้องส่งไปให้เฟซบุ๊กแอพพรูฟก่อนนำไปขึ้นเป็นฟิลเตอร์ในไอจี “กระบวนการพวกนี้วุ่นวายมากจริงครับ” ดอยธิเบศร์ถอนหายใจ “ไหนจะมีกระบวนการโปรดักชั่นสารพัดอย่าง การออกแบบ การทำออร์แกไนซ์ การประชาสัมพันธ์ วันเปิดงานก็มีแฟชั่น พร้อมการแสดงอีกหลายชุด และทั้งหมดนี้ใช้เวลาทำงานจริงๆ แค่ประมาณสามเดือนเท่านั้นเองครับ”

Always Keep the Faith

“โปรเจ็กต์นี้เป็นโปรเจ็กต์ที่เสี่ยงครับ” ดอยธิเบศร์ยอมรับ “ผมไม่รู้เลยว่าทำออกมาแล้วจะดีไหม เป็นการวัดดวงด้วยส่วนหนึ่ง การจัดงานโดยเอาผลงานไปโชว์หรือทำเป็นประติมากรรมลอยตัวเป็นสิ่งที่พื้นฐานมาก แต่การเอางานสองมิติมาแปลงร่างเป็นงานที่จับต้องไม่ได้ขนาดนี้นี่ดูไกลเกินประสบการณ์ส่วนตัวผมมาก ผมเกิดมาในยุคที่โทรศัพท์มือถือยังไม่แพร่หลาย เกิดไม่ทันเด็กยุคใหม่ที่คอลล์ไลน์กันเป็นตั้งแต่เด็ก แต่ผมก็ตั้งคำถามว่าทำไมผมต้องอยู่กับยุคเดิมๆ กันล่ะ ผมอยากทำให้งานศิลปะเข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น จุดประสงค์สำคัญหนึ่งประการก็คืออยากจัดงานให้คุณพ่อนั่นแหละ แต่ผมก็อยากจะยกระดับงานศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศไทยให้มันไปได้ไกลกว่านี้ ผมอยากให้งานนี้ทำให้ผลงานศิลปะของประเทศไทยก้าวกระโดดไปสู่ระดับอินเตอร์ให้ได้ เพราะเวลาคนทั้งโลกมองมาที่งานอาจารย์ถวัลย์ พวกเขาไม่ได้มองเห็นอาจารย์ถวัลย์ แต่มองเห็นประเทศไทย ผมเลยคิดว่า ลงมือทำไปเถอะ แม้จะเป็นช่วงวิกฤติเช่นนี้ก็ตาม แต่ถ้าผ่านปีนี้ไปแล้ว ผมก็ไม่รู้ว่าผมจะมีโอกาส มีความพร้อม หรือมีพลังใจที่จะทำได้ขนาดนี้ไหม พอได้เห็นงานออกมาแบบนี้ ผมแฮ้ปปี้มากครับ เพราะผมได้เห็นงานที่ยังคงความเป็นอาจารย์ถวัลย์อยู่ แต่มาในรูปแบบอาจารย์ถวัลย์ในยุคสองพันยี่สิบแบบนี้

จุดประสงค์ของผมคือการออกทัวร์ไปทั่วโลกครับ” น้ำเสียงของ ดอยธิเบศร์ทำให้เรารับรู้ได้จริงๆ ว่าพลังใจในตัวของเขาล้นเหลือขนาดไหน “ผมถึงตัดสินใจทำงานนี้ขึ้นมา แต่เลือกเปิดตัวที่ประเทศไทย เพื่อเป็นของขวัญให้คนไทยได้ดูก่อน เป้าหมายจริงๆ ของผมไม่ได้อยู่ที่เมืองไทย แต่อยู่ที่ทั่วโลก ผมมีพาร์ทเนอร์อยู่ทั่วโลกอยู่แล้ว ตั้งใจจะไปจัดแสดงทั่วโลกหลังจากสถานการณ์คลี่คลายลง ปีนี้ถือว่าเป็นปีมหาโหดที่สุดแล้วตั้งแต่ที่ผมเกิดมา พิพิธภัณฑ์บ้านดำไม่เคยปิดเลยสักวันเดียว เคยมีคนถามผมว่าบ้านดำปิดวันไหน ผมตอบไปว่า ปิดสองวัน คือวันที่พ่อตาย กับวันที่ลูกตาย ผมเปิดมาตลอดจริงๆ แต่ปีนี้ผมต้องปิดเพราะสถานการณ์โควิด-19 ไปหกเจ็ดเดือน โหดจนผมรู้สึกว่าผมหมดหวังไปเลย นี่คือธุรกิจของผมที่มีลูกน้องต้องดูแล แต่ผมก็ตัดสินใจลุกขึ้นมาสู้ ระดมทุนช่วยเหลือโรงพยาบาล 43 แห่ง ทำอะไรหลายๆ โครงการ จนรู้สึกว่าผมต้องไม่ท้อ ผมต้องสู้ไปด้วยกัน พอมีคนถามว่าทำไมถึงเสี่ยงจัดงานในช่วงเวลานี้ ผมก็ตอบว่า ผมต้องการเขียนประวัติศาสตร์ว่าในปีมหาวิปโยคแบบนี้ ปีที่ไม่มีใครทำอะไรสักอย่าง ปีที่เราเจอแต่เรื่องร้ายๆ แต่เป็นปีที่ผมตั้งใจสร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้เกิดขึ้น และผมก็ทำได้สำเร็จ ผมผลักดันให้วงการศิลปะขยับไปได้อีกก้าวหนึ่ง ในวันที่โลกดับทั้งใบ มีประเทศไทยประเทศเดียวที่ยังลุกขึ้นมาจัดงานอะไรแบบนี้ ผมส่งข่าวออกไปสามภาษา เพื่อให้โลกได้รับรู้ว่า ในวันที่โควิด-19 หมดไปจากโลกนี้แล้ว เราจะได้เจอกันอย่างแน่นอนครับ”

สิ่งเดียวที่คอยประคับประคองดอยธิเบศร์และทีมงานมาถึงจุดนี้ได้คือพลังแห่งความมุ่งมั่นและศรัทธาที่พวกเขามีต่อสิ่งที่ทำแบบเกินร้อย “เหมือนกับผมบ่มเพาะอะไรบางอย่างมากับมือ” ดอยธิเบศร์สรุปเมื่อเราถามว่าเขารู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นงานที่เขาอดตาหลับขับตานอนปั้นมันขึ้นมาสำเร็จลุล่วงลงได้ในที่สุด “คงเหมือนบ่มเพาะต้นกล้าให้กลายเป็นต้นไม้ร้อยอ้อมในชั่วพริบฝัน ซึ่งไม่เคยคิดว่ามันจะเป็นจริงได้ แต่ทุกครั้งที่ผมลงมือทำงานอะไรก็ตาม ผมจะสู้กับศรัทธาในตัวเอง ว่าผมจะทำในสิ่งที่ผมคิดให้เป็นจริงได้ไหม ผมทุบหม้อข้าวออกมาแล้ว ผมไม่เหลืออะไรทิ้งไว้ข้างหลังแล้ว ถ้าผมไม่ไปต่อ ผมก็ตายสถานเดียว เพราะฉะนั้น ผมมีทางเลือกว่าจะตายเพราะโควิด-19 หรือจะตายไปกับงานที่ผมลงมือทำ และผมก็เลือกสิ่งที่ผมรักมากกว่า ผมเชื่อจริงๆ ว่าศรัทธาที่ผมมีจะทำให้ผมฝ่าฟันทุกอุปสรรคไปได้ และผมได้รับความช่วยเหลือจากหลายคนรอบตัว ทั้งผู้ใหญ่ ทีมงานที่เดินมากับผม คนที่สู้เพื่อผม ทำให้ผมรู้ว่านี่เป็นสิ่งที่ผมศรัทธาจริงๆ ผมไม่ได้มีเงินในระดับที่เอามาทำได้เลยโดยไม่เดือดร้อน โปรเจ็กต์นี้คือความยาก คือการเดิมพันชีวิต พอมันออกมาประสบความสำเร็จ ผมบอกเลยว่า วินาทีแรกที่ผมเห็นมันเป็นจริง ผมหายเหนื่อยเลยครับ หายเป็นปลิดทิ้งเลย”

The Birth of Victory Monument: จุดกำเนิดหลักกิโลเมตรที่ศูนย์แห่งถนนพหลโยธิน

ปฏิเสธไม่ได้เลยนะครับว่าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินี่ถือเป็นอีกหนึ่งในชัยภูมิสำคัญของหลากหลายผู้คน ทั้งการรวมตัวกันของคนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด หรือเดินทางกลับต่างจังหวัด เป็นเสมือนทางแยกที่กระจายตัวไปทุกมุมกรุงเทพมหานคร เอาเป็นว่า… มีใครไม่เคยผ่านสถานที่แห่งนี้กันบ้าง เดาว่าคงไม่มีใช่ไหมครับ

ในครั้งที่เกิดกรณีพิพาทระหว่างประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศสเรื่องพรมแดนไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศสเมื่อนานมาแล้วนั้น มีผู้เสียชีวิตชาวไทยทั้งทหาร ตำรวจ และประชาชนผู้ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรกว่า 59 คน รัฐบาลไทยในสมัยนั้นจึงมอบหมายให้หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล สถาปนิกคนสำคัญในยุคนั้นออกแบบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อระลึกถึงวีรชนดังกล่าว มีการวางศิลาฤกษ์โดยพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา และเปิดอย่างเป็นทางการโดยจอมพล ป.พิบูลสงครามในปีพ.ศ. 2485 

แรงบันดาลใจสี่ประการของการสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินั้นได้แก่ ปฏิบัติการของกองทัพทั้งห้าเหล้า ปฏิบัติการของกำลังพลเฉพาะ อาวุธที่ทหารใช้สู้รบ และกรณีพิพาทอันเป็นเหตุให้เกิดการสู้รบ ดังนั้น สัญลักษณ์สำคัญของตัวอนุสาวรีย์คือดาบปลายปืน อันเป็นอาวุธของทหารในยุคนั้นจำนวนห้าเล่มมารวมกัน ให้ปลายดาบชี้ขึ้นบน คมดาบหันออก ทำจากคอนกรีตเสริมเหล็กประดับหินอ่อน มีความสูงประมาณ 50 เมตร ด้านในบรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตในกรณีพิพาทดังกล่าว ส่วนด้านนอกมีรูปปั้นหล่อด้วยทองแดงขนาดประมาณสองเท่าของคนธรรมดา อันเป็นตัวแทนของนักรบห้าเหล่าของประเทศไทย ได้แก่ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และประชาชนพลเรือน 

โดยศิลปินผู้รังสรรค์รูปปั้นเหล่านี้ล้วนแต่เป็นลูกศิษย์คนสำคัญของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี และอาจารย์ศิลป์เป็นผู้คุมการปั้นด้วยตัวเอง ด้านนอกมีแผ่นทองแดงสลักชื่อผู้เสียชีวิตและผู้สละชีพเพื่อชาติจากสงครามหลายครั้งไล่มาตั้งแต่พ.ศ. 2483 – พ.ศ. 2497 ศิริรวมทั้งหมด 801 นาย 

ใครอยากไปชื่นชมความงามของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราแนะนำว่าให้ไปเวลาโพล้เพล้ เพราะท้องถนนจะเต็มไปด้วยรถราและแสงไฟ นอกจากนั้น สิ่งที่เป็นทีเด็ดในแถบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิได้แก่ ‘ก๋วยเตี๋ยวเรือ’ ที่เรียงรายอยู่โดยรอบ ถือเป็นอีกหนึ่งสตรีทฟู้ดที่ไม่ควรพลาดเลยทีเดียว

taken near Victory Monument Station, Bangkok, Thailand