เฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศผ่านผลงานศิลปะสุดยูนีค ณ โรงแรม The Standard, Hua Hin

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา โรงแรม The Standard, Hua Hin ได้ชักชวนเราไปชมร่วมชมผลงานศิลปะสุดยูนีค ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลอง ความหลากหลายทางเพศใน Pride Month กับกิจกรรมที่มีชื่อว่า ‘Love Fest

โดยไฮไลท์ของงานคือการเปิดตัวงานศิลปะ ‘เสรีเพศ : Your Own Pride’ โดย ‘แม่น- จิรวัฒน์ ศรีเลื่อนสร้อย’ ผู้คร่ำหวอดในวงการแฟชันและนักออกแบบตัวอักษรชื่อดัง โดยผลงานศิลปะชิ้นนี้ ได้นำเสนอผ่านการใช้คำพูดที่สะท้อนเอกลักษณ์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เมื่อครั้งที่ความหลากหลายยังถูกกำหนดด้วยกรอบความคิดชุดเดิม เพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าและความสำเร็จของการขับเคลื่อนเพื่อความเท่าเทียมทางเพศตลอดหลายปีที่ผ่านมา

‘แม่น- จิรวัฒน์ ศรีเลื่อนสร้อย’

หลายคนอาจจะรู้จัก หรือคุ้นใบหน้าของคุณ ‘แม่น จิรวัฒน์’ กันมาบ้าง หากใครยังนึกไม่ออก คุณแม่นคือผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์สุดยูนีคที่มีชื่อว่า ‘The Only Market Bangkok’ หรือไอเท็มที่มีการสกรีนคำ ‘กรุงเทพมหานคร’ อันโด่งดังนั่นเอง ด้วยประสบการณ์ในวงการแฟชั่น ผู้อยู่เบื้องหลังไอเดียแปลกใหม่ เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทยมากว่าสองทศวรรษ แม่น จิรวัฒน์ จึงมีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านการนำเสนอภาพลักษณ์และความน่าสนใจบนรันเวย์ การถ่ายภาพและงานวิจิตรศิลป์ ที่สื่อถึงความเป็นตัวเองผ่านทางผลงานศิลปะได้อย่างมีเอกลักษณ์ ซึ่งคุณแม่นได้นำเอา ‘Thaipology’ งานศิลปะที่มีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะของตัวอักษรภาษาไทยมาประกอบในชิ้นงานศิลปะที่ The Standard, Hua Hin เพื่อนำเสนอศิลปะประยุกต์ที่มีความร่วมสมัย ผ่านคำพูดที่เคยถูกตีกรอบในสมัยหนึ่งในรูปแบบของตัวอักษรที่เป็นความงดงามในยุคสมัยนั้น ซึ่งได้กลับมามีชีวิตในวงการศิลปะขึ้นอีกครั้งในปัจจุบัน

ไม่เพียงเท่านั้น ทางโรมแรม The Standard, Hua Hin ยังให้เราได้พบกิจกกรรม Pride Month ตลอดทั้งเดือนบนชายหาดหัวหิน เริ่มต้นด้วยการเปิดตัวงานศิลปะในวันที่ 2 มิถุนายน ต่อด้วยการกิจกรรมริมสระน้ำอย่างการชมภาพยนต์ในตำนานเจ้าของรางวัลออสการ์อย่าง Bohemian Rhapsody ในวันที่ 3 มิถุนายน แล้วพบกับความสนุกสนานกับเกมที่ทุกคนเล่นได้อย่าง Not Your Standard Bingo ในวันที่ 15 มิถุนายน ที่ Praça ตั้งแต่เวลา 18.30 น. – 19.30 น. นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Pride Talk ที่เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้มาแชร์ประสบการณ์และพูดถึงความภูมิใจในร่างกายและอัตลักษณ์ของตัวเอง กับแขกรับเชิญพิเศษจากเพจ GIRLxGIRL คอมมิวนิตี้ออนไลน์ขับเคลื่อนสิทธิของกลุ่มผู้หญิงที่รักผู้หญิง ในวันที่ 17 มิถุนายน และส่งท้ายเดือนแห่งการเฉลิมฉลองด้วย DJ Peachji เจ้าหญิงแห่งวงการไฮเปอร์-ป๊อป ที่จะนำเอานำความสนุกของเสียงเพลงยุค Y2K ให้ได้ร้องและเต้นตามที่บริเวณสระว่ายน้ำ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2566 อีกด้วย หากใครไม่อยากพลาดกิจกรรมดีๆ แบบนี้ ตลอดทั้งเดือนนี้หากนึกถึงทะเล The Standard, Hua Hin เป็นอีกหนึ่งจุดมุ่งหมายที่หลายๆ คนต้องห้ามพลาดเลยครับ!

Underverse เปิดตัวฟิกเกอร์รุ่นลิมิเต็ดที่มีเพียง 200 ชิ้นทั่วโลก โดยฝีมือการออกแบบของ AshleyWood

จบลงไปแล้วครับสำหรับงาน Thailand Toys Expo 2023 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา งานนี้มีแบรนด์ของเล่นของสะสม ที่ยกทัพมาอย่างมากมาย มาให้แฟนๆ ชาวไทยได้ชมและเลือกเป็นเจ้าของกันอย่างเนืองแน่น และหนึ่งใน นั้นก็คือ Underverse นั่นเอง ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบโดย Ashley Wood นักออกแบบของเล่นชื่อดังระดับโลก

นับเป็นอีกหนึ่งงาน ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเหล่านักสะสมชาวไทย โดยเฉพาะการเปิดตัว ฟิกเกอร์รุ่น Limited Edition อย่าง Tomorrow Kings Onyx TK V2 ที่ผลิตเพียงง 200 ชิ้นทั่วโลกเท่านั้น มีความโดดเด่นด้วยการออกแบบและผลิตด้วยวัสดุสุดพรีเมี่ยม มาพร้อมกับอาวธุค่กูายครบครัน และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ตัดเย็บอย่างประณีต ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ที่มาร่วมงานเป็นอย่างล้นหลาม นอกจากนีผู้ที่มาร่วมงานยังได้มีโอกาสได้พบปะและใกล้ชิดกับ AshleyWood ที่มาแจกลายเซ็นต์ให้แฟนๆ ด้วยตัวเองอีกด้วย

เหล่านักสะสมของเล่นแนว ArtToy คนไหนที่พลาดงานนี้ไป สามารถเข้าไปชม รายละเอียดของฟิกเกอร์แต่ละซีรี่ส์ของแบรนด์ Underverse เพิ่มเติมได้ทาง https://underverse.com/

‘Field Collapse’ นิทรรศการที่จะพาคุณไปดำดิ่งกับเรื่องราวของโลกระหว่างการก่อสร้างของสถาปัตยกรรม

นิทรรศการ ‘Field Collapse’ เป็นผลงานศิลปะที่ได้รับคัดเลือกจากโครงการ Open Call for Art Projects ที่จัดขึ้นโดย ‘100 Tonson Foundation’ ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยส่งผลงานมาให้คัดเลือกเพื่อจัดแสดงภายใต้การสนับสนุนทางด้านงบประมาณและพื้นที่แสดงงานของมูลนิธิฯ

Photography: Courtesy of 100 Tonson Foundation / Ketsiree Wongwan

งานศิลปะและงานออกแบบถึงแม้จะเป็นงานสร้างสรรค์คนละแขนง แต่ก็มีรากเหง้าพื้นเพมาจากที่เดียวกัน ในปัจจุบันศิลปินหรือนักออกแบบต่างร่วมกันลบเลือนขอบเขตระหว่างศิลปะและงานออกแบบด้วยการสร้างสรรค์ผลงานที่ผสมผสานเอกลักษณ์ของทั้งสองฝั่งเข้าไว้ด้วยกันจนอาจกล่าวได้ว่าแทบจะไม่มีเส้นแบ่งขอบเขตระหว่างงานศิลปะและงานออกแบบอีกต่อไป เช่นเดียวกับผลงานของ thingsmatter สตูดิโอที่สร้างสรรค์งานออกแบบและศิลปะร่วมสมัยที่เป็นการร่วมงานของศาวินี บูรณศิลปิน ศิลปิน/นักออกแบบชาวไทย และทอม แดนเนอเคอร์ (Tom Dannecker) นักออกแบบ/ศิลปินชาวอเมริกัน ผู้ทำงานอยู่บนพรมแดนระหว่างศิลปะและการออกแบบ นอกจาก thingsmatter จะทำงานออกแบบโครงการสถาปัตยกรรมต่างๆ มากมายแล้ว พวกเขายังจัดแสดงนิทรรศการศิลปะหลากหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018, งานอาร์ต ออน ฟาร์ม ของจิมทอมป์สันฟาร์ม และเทศกาล Pattani Decoded 2022

ล่าสุด thingsmatter จัดแสดงนิทรรศการศิลปะที่มีชื่อว่า Field Collapse ณ หอศิลป์ 100 Tonson Foundation ที่นำเสนอผลงานศิลปะที่ผสมผสานงานศิลปะกับสถาปัตยกรรมเข้าด้วยกัน ผลงานชุดนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากช่วงเวลาในกระบวนการระหว่างการก่อสร้างอาคารสถาปัตยกรรม ที่อยู่อาศัย หรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่พวกเขาพบว่ามีความน่าสนใจในเชิงสังคม เศรษฐกิจ หรือแม้แต่มีสุนทรียะบางอย่างซ่อนอยู่ พวกเขาค้นพบว่าพื้นที่ก่อสร้างเป็นโลกที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ที่คนงานก่อสร้างสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นจากโครงไม้หล่อปูนและโครงสร้างเหล็กเส้นต่างๆ ด้วยเทคนิคที่เป็นธรรมชาติ รวมถึงการนำกลับมาใช้ซ้ำ การคำนวณ ผสมผสานกับทักษะที่ส่งต่อมา เพื่อตีความแบบร่างที่สถาปนิกหรือนักออกแบบสร้างสรรค์ขึ้น ทำให้พื้นที่ก่อสร้างเหล่านั้นนำเสนอบริบททางสังคมบางอย่างที่เป็นมากกว่าผลลัพธ์ทางสถาปัตยกรรม

นิทรรศการ Field Collapse นำเสนอผลงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ขนาดใหญ่ ที่ประกอบด้วยเหล็กเส้นจำนวนนับไม่ถ้วน วางเรียงทับซ้อนพร่างพรายตา และระบบคานไม้อัด ที่กินพื้นที่เกือบทั้งหมดของห้องจัดแสดง ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความงดงามและความชาญฉลาดในการคำนวณการจัดวางโครงสร้างภายในของสิ่งก่อสร้างเพื่อความแข็งแรงและมั่นคงในงานสถาปัตยกรรมแล้ว ผลงานชิ้นนี้ยังเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมและสร้างปฏิสัมพันธ์กับตัวงานผ่านพื้นที่เปิดเป็นทางขึ้นคล้ายบันไดให้ผู้ชมเดินขึ้นไปสัมผัสกับมุมมองภายในตัวงานได้ศาวินี บูรณศิลปิน หนึ่งในสมาชิกของ thingsmatter กล่าวถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“ด้วยความที่พวกเรา (ศาวินีและทอม) ทำงานสถาปัตยกรรม ทำงานออกแบบบ้าน เวลาเราไปยังพื้นที่ก่อสร้างแล้วได้เห็นช่างก่อสร้างทำงานผูกเหล็กเส้นเป็นโครงสร้างฐานรากของอาคาร เรารู้สึกว่ากระบวนการก่อสร้างตรงนี้ จากภาพร่างไปสู่ขั้นตอนที่เสร็จออกมาเป็นงานสถาปัตยกรรม เป็นกระบวนการที่น่าสนใจ มีความงามและสุนทรียะในเชิงกวีอยู่ แต่ก็เป็นความงามที่ไม่ยั่งยืน เพราะเมื่อเหล็กเส้นถูกผูกเสร็จแล้ว ช่างก็จะเทคอนกรีตทับลงไป ซึ่งเป็นลักษณะของงานก่อสร้างที่เรียกว่า คอนกรีตเสริมเหล็ก สุดท้ายโครงสร้างเหล่านี้ก็จะถูกฝังอยู่ในคอนกรีตจนมองไม่เห็น หรือกระบวนการทำงานที่ช่างตอกไม้ เป็นแบบหล่อคอนกรีต หรือทำเสาคาน สิ่งเหล่านี้มีความงามแฝงอยู่ แล้วก็ไม่ใช่ความงามที่สถาปนิกอย่างเราออกแบบเพียงคนเดียว เราอาจจะเป็นคนออกแบบตัวคาน แต่เวลาก่อสร้างเราก็ต้องร่วมงานกับช่างก่อสร้าง ที่ต้องตีความว่าแบบของเราจะสร้างออกมาเป็นอย่างไร แล้วเขาก็ทำออกมาด้วยวิธีที่สิ้นเปลืองงบประมาณน้อยที่สุด ด้วยการใช้ไม้เหลือใช้ หรือวัสดุเก็บตกอะไรก็แล้วแต่ มาทำแบบหล่อ เรารู้สึกว่ากระบวนการเหล่านี้น่าสนใจและน่าชื่นชม 

“ก่อนหน้านี้เราก็เคยทำงานที่นำเสนอกระบวนการแบบนี้ด้วยตัววัสดุอย่างเหล็กเส้น ซึ่งเป็นสิ่งที่โดยปกติเราจะมองไม่เห็นจากงานสถาปัตยกรรมที่สร้างเสร็จแล้ว เพราะมันเป็นโครงสร้างที่ถูกฝังอยู่ภายในคอนกรีต เราก็เลยอยากทำให้สิ่งเหล่านี้ถูกมองเห็นและจับต้องได้ งานสองชุดนี้แสดงที่งานสถาปนิก 60 และงาน Hong Kong Shenzhen Biennale of Urbanism/Architecture ที่ฮ่องกง “งานในนิทรรศการครั้งนี้ทำขึ้นจากเหล็กเส้นที่เขาเรียกว่า deformed bar หรือที่บ้านเราเรียกว่า เหล็กข้ออ้อย (เหล็กเส้นที่มีลักษณะเป็นปล้องๆ เพื่อให้คอนกรีตยึดเกาะได้) เราพัฒนางานชุดนี้ขึ้นจากงานชุดก่อนหน้า ที่เราทำเป็นแค่ก้อนบันไดด้วยเหล็กเส้น เพื่อเล่นกับแนวคิดเกี่ยวกับ positive/negative space และพื้นที่ตัน (solid) กับพื้นที่ว่าง (void) และการตั้งคำถามว่า สถาปัตยกรรมนั้นเป็นพื้นที่ (space) หรือเป็นวัตถุ (object) กันแน่ เรารู้สึกว่าเราอยากเล่นกับสภาวะที่ก้ำกึ่งเหล่านี้ พอเราเริ่มสำรวจงานสองชุดแรก เราก็รู้สึกว่าเราเริ่มมีวิธีการสื่อสารกระบวนการเหล่านี้ออกมาได้ “พอดีทาง 100 Tonson Foundation เขาเปิดโครงการ Open Call for Art Projects ให้นำเสนอโครงการศิลปะเพื่อคัดเลือกให้จัดแสดงใน 100 Tonson Gallery เราก็เลยนำเสนอโครงการนี้ ที่ต่อเนื่องจากงานสองชุดก่อนหน้าที่เราเคยสำรวจไป “เรารู้สึกว่าเราอยู่ในพื้นที่สีเทามาตลอด เพราะพอเราอยู่ในแวดวงสถาปนิก เขาก็จะมองว่าเราอยู่ในสายศิลปะ พอเราอยู่ในแวดวงศิลปะ เขาก็จะมองว่าเราเป็นสถาปนิก ถึงเราจะทำงานศิลปะ ก็เหมือนเป็นงานศิลปะแบบคนนอก (outsider art) แต่เราก็ไม่ได้คิดมากอะไร เพราะเราพยายามทำงานที่เปิดพื้นที่ให้คนเข้ามามีส่วนร่วม หรือสร้างบทสนทนากับผู้คน “ก่อนหน้านี้เราทำงานสถาปัตยกรรมแบบจริงๆ จังๆ อย่างการออกแบบบ้าน-สำนักงานมาตลอด พอถึงจุดหนึ่ง เรารู้สึกว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่ได้พูดถึงเลย เพราะมัวแต่จดจ่ออยู่กับเรื่องการก่อสร้าง งบประมาณ ลูกค้า ผู้รับเหมา หรืออย่างตอนเรียน เราก็สนใจเรื่องอื่น อย่างประวัติศาสตร์ ทฤษฎี และปรัชญา ที่ก็ยังเกี่ยวข้องกับศิลปะและสถาปัตยกรรมนั่นแหละนะ แต่ว่าอาจจะมีความเป็นกวีกว่า หรือมีสเกลที่เล็กกว่า เรารู้สึกว่าพอเรามีทักษะพอที่เราจะสร้างบ้านสร้างอาคารแล้ว เราก็อยากสำรวจ หรือสร้างบทสนทนาในสิ่งที่เรายังไม่ได้พูดถึง เป็นเหมือนการทำงานในเชิงทดลองมากขึ้น

“อาจจะด้วยความที่เราฝึกฝนมาในฐานะนักออกแบบพื้นที่ เมื่อมาทำงานศิลปะ เราก็ยังรู้สึกว่างานของเราจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อมีคนเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับงาน เราชอบมากที่ตอนเปิดงานมีเด็กๆ ขึ้นไปเดินเล่น เรารู้สึกว่ามันช่วยเติมเต็มให้งานของเราสมบูรณ์ เพราะถ้างานตั้งอยู่เฉยๆ เราคิดว่ามันยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เราเปิดพื้นที่ให้คนเข้าไปยืนอยู่ภายในตัวงานและเป็นส่วนหนึ่งของงาน และเปิดพื้นที่ตรงปลายห้องแสดงงานให้ผู้ชมได้มองตัวงานด้านนอก เหมือนเป็นงานประติมากรรม “โดยปกติแล้ว โครงสร้างเหล็กเส้นจะไม่สามารถตั้งอยู่ได้ด้วยตัวเอง มันต้องไปประกอบกับอะไรสักอย่าง จะเป็นปูนหรือวัสดุอื่นประกอบกันให้เกิดความมั่นคงแข็งแรง หรือถ้าไม่ใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง โดยมากเรามักเห็นเหล็กเส้นแบบนี้ถูกใช้เป็นวัสดุตกแต่ง นำมาทำเฟอร์นิเจอร์ หรือราวบันไดตามคาเฟ่ แต่เราอยากใช้มันในลักษณะวัสดุก่อสร้างของโครงสร้างงานสถาปัตยกรรม ที่มีนัยยะในตัวมันที่เกี่ยวเนื่องกับงานก่อสร้าง เราจึงต้องทำให้มันตั้งอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ได้ถูกซ่อนเร้นอยู่ในคอนกรีต ในสเกลที่แทบจะห่อหุ้มคน เพื่อให้คนสามารถสัมผัสพื้นผิวของวัสดุได้ โดยเราใช้เหล็กเส้นไปเกือบ 5 ตัน แต่ในความเป็นจริง ตัวเหล็กเส้นก็ทำงานร่วมกันกับโครงไม้ข้างบนที่ยึดให้แน่น เป็นระบบโครงสร้างรวมที่มั่นคงปลอดภัยพอที่คนจะเดินขึ้นไปได้ โดยถ้าสังเกต โครงสร้างนี้ตั้งอยู่เฉยๆ แต่ไม่ได้ยึดลงกับพื้นเลย

“ส่วนชื่อของนิทรรศการ Field Collapse เราหยิบยืมมาจากงานเขียนของนักวิจารณ์ศิลปะชาวอเมริกัน โรซาลินด์ อี. เคราส์ (Rosalind E. Krauss) อย่าง Sculpture in the Expanded Field (1979) ซึ่งเป็นงานเขียนชิ้นสำคัญที่พูดถึงงานที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างงานสร้างสรรค์อย่างงานประติมากรรม (sculpture) งานภูมิทัศน์ (landscape) และงานสถาปัตยกรรม (architecture) ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีคำว่างานศิลปะจัดวาง (installation art) เลยด้วยซ้ำ ซึ่งงานเขียนชิ้นนี้มีอิทธิพลกับเราตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา ในที่นี้ Field Collapse อาจจะเป็นพื้นที่ที่ทุกสิ่งทุกอย่างมาซ้อนทับกันโดยไม่ได้แยกอย่างชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไรหรือจะต้องเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น”

นอกจากผลงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ขนาดใหญ่ที่เปิดให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมแล้ว ยังมีผลงานภาพร่างลายเส้นอันละเมียดละไม ผลงานภาพพิมพ์ดิจิทัลเปี่ยมสีสันแปลกตา และวิดีโอจัดวางที่บันทึกกระบวนการติดตั้งผลงานแบบ time-lapse จัดแสดงอยู่ด้วย “งาน drawing ในงานนิทรรศการนี้มีสองชุด ชุดแรกเป็นภาพลายเส้นขาวดำที่เราให้ชื่องานว่า workingdrawing ที่เราเอาแบบก่อสร้างของงานชุดนี้หลายๆ หน้ามาทับซ้อนกันทำเป็นงานดิจิทัลคอลลาจ งานสเก็ตช์ชิ้นนี้เป็นเหมือนตัวงาน Field Collapse ในแง่ที่มันเป็นความงามระหว่างทาง หรือแบบไม่ได้ตั้งใจ เหมือนตอนเราทำงานในโปรแกรม AutoCAD หรือ Illustrator เรารู้สึกว่าลายเส้นแบบนี้สวยเหลือเกิน “ผลงานอีกชิ้นมีชื่อว่า Deflected Shape No. 4 (Field Collapse) ซึ่งเป็นไดอะแกรมที่มีที่มาจากโปรแกรมที่ทอมใช้สำรวจและคำนวณความแข็งแรงของโครงสร้างของงานศิลปะจัดวางชุดนี้ เป็นระบบวิศวกรรมที่ใช้คำนวณการรับน้ำหนักของโครงสร้างว่าหนักขนาดไหนจะถึงจุดวิกฤตที่โครงสร้างจะยวบหรือพังลงมา เหมือนเราคำนวณหาว่าคนสามารถขึ้นไปอยู่บนบันไดแต่ละขั้นได้กี่คน โปรแกรมก็จะช่วยคำนวณหาความปลอดภัยว่าคนขึ้นไปข้างบนได้เท่าไหร่ เราก็จับเอาห้วงขณะของจุดวิกฤตนั้นมาขยายความทำเป็นงานภาพพิมพ์ดิจิทัลออกมา”

บางคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า ศิลปะต่างกับงานดีไซน์ตรงที่งานดีไซน์นั้นต้องมีฟังก์ชันหรือประโยชน์ใช้สอย หากแต่ศิลปะไม่จำเป็นต้องมี เมื่อเราตั้งคำถามนี้กับนักออกแบบที่ทำงานศิลปะอย่างศาวินี เธอก็ทิ้งท้ายกับเราว่า “เราคิดว่างานศิลปะมีฟังก์ชันนะ แต่มันมีความเป็นนามธรรมมากกว่าฟังก์ชันตามปกติ อาจจะเป็นฟังก์ชันเพื่อการสื่อสาร หรือเพื่อแสดงออก ในแง่หนึ่ง ศิลปะมีฟังก์ชันทางสายตา หรือฟังก์ชันในเชิงปรัชญา ไม่ใช่ฟังก์ชันในเชิงกายภาพแบบเดียวกับโต๊ะเก้าอี้ สำหรับเรา ศิลปะมีวาระหน้าที่ของมันอยู่ มันมีความเป็นนามธรรม แต่มันก็ยังรับใช้เป้าหมายบางอย่างอยู่ สำหรับเรา เรามีความสุขเวลาเห็นคนได้ดูงานศิลปะแล้วได้สัมผัสกับประสบการณ์บางอย่าง ไม่ว่าจะในแง่ไหน ทั้งมีความเพลิดเพลิน ได้ยิ้ม หรือได้แรงบันดาลใจก็ตามที”

– Author: MutAnt –

VERSACE HOME ปล่อยคอลเล็กชั่นใหม่ที่ยังคงเอกลักษณ์ ณ Milano Design Week

Salone del Mobile และ Milano Design Week หนึ่งในงานที่รวบรวมผลงานออกแบบไว้ในที่เดียว หนึ่งในนั้นก็คือสินค้าคอลเล็กชั่นใหม่จาก VERSACE HOME นำเสนอเฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับคอลเล็กชั่นใหม่ ผลิตโดย Luxury Living Group ออกแบบภายใต้การสร้างสรรค์ของ Donatella Versace ร่วมกับสถาปนิกอย่าง Roberto Palomba และ Ludovica Serafini จาก ps+a studio

ภายในงาน ได้เนรมิตรพื้นที่จัดแสดงขนาด 500 ตร.ม. ของงาน Salone del Mobile ถูกออกแบบเสมือนกล่องสีดำและมีเพดาน สะท้อนแสงพร้อมตกแต่งด้วยผ้าไหมเรืองแสงที่ทำให้เกิดแสงพื้นหลังอย่างสวยงาม อีกทั้งยังสร้างสรรค์พื้นที่สถาปัตยกรรมนี้ให้เปรียบเสมือนโรงละคร โดยเฟอร์นิเจอร์แบบแยกส่วนบางชิ้นถูกนำมารวมกันเพื่อจัดแสดงคอลเล็กชั่น Versace Home รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ใหม่ของปี 2023

โซฟาแบบแยกส่วนรุ่น Zensational หนึ่งในไอเท็มหลักของคอลเล็กชั่นใหม่นี้ สร้างสรรค์ชื่อรุ่นจากการออกแบบที่เน้นการผ่อนคลาย และอ้างอิงจากแรงบันดาลใจของ Versace ในด้านความคลาสสิกและด้านนิยายกรีกโบราณ ซึ่งชิ้นต่างๆ ออกแบบด้วยรูปทรงเรขาคณิตพร้อมตกแต่งผ่านแรงบันดาลใจจากอดีตไม่ว่าจะเป็นรูปทรง ลวดลาย และวัสดุ Tangram ที่เข้ากันกับแผ่นตกแต่งฝ้าของแฟชั่นเฮ้าส์ ส่งผลให้สามารถจัดวางและนำเสนอได้อย่างน่าอัศจรรย์ พร้อมนำเสนอหนังจระเข้แบบนูนที่สอดคล้องกับคอลเล็กชั่น Versace Fall-Winter 2023 ผสมผสานกับลายพิมพ์บาโรกและลวดลายจากผ้าแจ็คการ์ด และอีกหลายรุ่นที่น่าสนใจในงานนี้

นอกจากคอลเล็กชั่นใหม่ของปี 2023 แล้วนั้น Versace Home ยังได้นำเสนอเฟอร์นิเจอร์ที่ขายดีที่สุดบางส่วน อาทิเช่น รุ่น La Greca ที่เป็นจุดเด่นของนิทรรศการในครั้งนี้ และบูติกแฟลกชิปสโตร์บน Via Durini อย่างอาร์มแชร์ขนาดใหญ่ที่ออกแบบด้วยเบาะรองนั่งลึกและฐานหมุนได้ ในปัจจุบันรุ่น Stiletto ขยายไปถึงโต๊ะที่หุ้มบริเวณด้านบนด้วยหนัง เก้าอี้สตูลแบบเพรียวและอาร์มแชร์ bergère ที่มาพร้อมกับเก้าอี้พักเท้า โดยออกแบบอย่างเพรียวบางผสมผสานด้วยศิลปะร่วมสมัย ที่ช่วยเสริมรูปทรงอาร์มแชร์อย่างไดนามิก ในส่วนของพนักพิงมีลักษณะคล้ายคลึงกับรูปหางนางเงือกขนาดใหญ่และสูงเรียวลงมาถึงเท้า ที่ชวนให้นึกถึงรองเท้าส้นเข็มอันเป็นเอกลักษณ์ของทางแบรนด์ คอลเล็กชั่นอื่นๆ ที่จัดแสดง ได้แก่ เตียงรุ่น Signature, Goddess และ La Medusa ที่มีให้เลือกทั้งแบบผ้าและแบบหนัง โคมไฟประกอบด้วยโคมไฟตั้งโต๊ะ LED รุ่น Goddess แบบใหม่ ที่โอบรับพื้นที่ใช้สอยในบ้านแบบร่วมสมัย และโคมช่อ Versace Galaxy ออกแบบด้วยทรงกลมใส เหลือบทองและประดับด้วยโลโก้ Versace

‘Fendi Casa’ ได้เปิดตัวคอลเล็กชั่นใหม่

FENDI Casa – Salone del Mobile 2023

FENDI Casa เปิดตัวคอลเล็กชั่นใหม่ปี พ.ศ. 2566 ที่งาน Milan Design Week 2023 เป็นการตอกย้ำจุดประสงค์ของการเริ่มต้นสร้างบริษัทร่วมทุนระหว่าง FENDI และ Design Holding ในปี พ.ศ. 2564 เพื่อมุ่งเน้นการขยายตลาดการออกแบบระดับไฮเอนด์

โดยคอลเล็กชั่นนี้จัดแสดงขึ้น ณ บูติก Piazza della Scala เมืองมิลาน ซึ่งเป็นพื้นที่แบบมินิมอลแต่แฝงด้วยการตกแต่งอันทรงพลัง ล้อมรอบด้วยองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่มีความโค้งมน และกลายเป็นบรรทัดฐานอันเป็นเอกลักษณ์และเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมอันร่วมสมัยซึ่งมีรากฐานมาจากความคลาสสิกของ FENDI โดยผลงานการร่วมมือในครั้งใหม่และผลงานที่ยังไม่ได้ถูกเผยแพร่ก่อนหน้านี้ มีลายเส้นที่ชัดเจนภายใต้แนวทางการรังสรรค์ของ Silvia Venturini Fendi ซึ่งเป็นคอลเล็กชั่นที่มีหลายแง่มุมด้วยสินค้าหลากหลายคาแรกเตอร์ได้รับแรงบันดาลใจจากความหลงใหลในวัสดุและช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญในรายละเอียดที่เล็กที่สุดซึ่งเป็นรากฐานของการออกแบบอันสำคัญ

แนวคิดหลักสามประการ –  Crafting (งานประดิษฐ์) ซึ่งเชื่อมโยงกับช่างฝีมือ Family (ครอบครัว) ที่มีบรรยากาศอบอุ่น และ Vibrant (ความมีชีวิตชีวา) ไหวพริบอันแข็งแกร่งและทรงเสน่ห์ เสริมปฏิสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้นด้วยการสร้างสรรค์สไตล์อันหลากหลายซึ่งเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ โดยคุณลักษณะที่มีการทำซ้ำภายในคอลเล็กชั่นแม้ว่าจะเป็นเพียงรายละเอียดรวมไปถึงหนัง: ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพต่อมรดกและความเชี่ยวชาญของ FENDI อันเป็นสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นจนกลายเป็นสิ่งที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในการขยายแนวทางจากโลกแห่งแฟชั่นไปสู่โลกแห่งการออกแบบ สีนิยามความสง่างาม: เริ่มต้นด้วยสีควันบุหรี่และสีเบจ จนถึงสีเทาและสีชมพูที่นุ่มนวลหรูหรา

The Incredible Journey เส้นทางแห่งการแกะไม้อันอิสรเสรีของชนาธิป ชื่นบำรุง

Fat Fox and Moon Journey & The Journey of Chanathip

ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารอันไร้พรมแดนในปัจจุบัน ทำให้การชมงานศิลปะเป็นเรื่องสะดวกง่ายดายขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้เราต้องเดินทางออกจากบ้านไปหาชมงานตามหอศิลป์ต่างๆ แต่ทุกวันนี้เราสามารถชมงานจากการแค่ขยับปลายนิ้ว ศิลปินหลายคนเปลี่ยนพื้นที่จากการแสดงงานในหอศิลป์มาแสดงบนโซเชียลมีเดียให้เราติดตามกันมากมาย ในจำนวนนั้นมีศิลปินคนหนึ่งที่เราติดตามผลงานของเขาในโลกออนไลน์มาระยะหนึ่ง ด้วยความที่เราถูกใจผลงานแกะสลักไม้ตัวละครหลากหลายที่ล้วนแล้วแต่เปี่ยมเสน่ห์ น่ารักน่าชัง แต่งแต้มด้วยสีสันสดใส ถึงแม้จะเป็นผลงานแกะสลักไม้ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดประณีตบรรจง แต่ก็ยังหลงเหลือร่องรอยของการแกะไม้เอาไว้ให้เห็นราวกับเป็นฝีแปรงของศิลปินก็ไม่ปาน ทำให้ผลงานของเขาดูมีความอบอุ่น เปี่ยมอารมณ์ความรู้สึก ผลงานเหล่านี้ถูกนำเสนอในเพจที่มีชื่อว่า ‘Fat Fox and Moon Journey’ โดยชนาธิป ชื่นบำรุง ผู้จบการศึกษาจากภาควิชาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หากแต่หันเหมาทำงานแกะไม้ในภายหลังถึงแม้ชนาธิปจะลงผลงานให้ชมอย่างสม่ำเสมอทางเพจของเขา แต่สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น และดูงานออนไลน์ในจอก็ไม่เท่ากับได้เห็นของจริง เมื่อเขามีนิทรรศการแสดงเดี่ยวเป็นครั้งแรกอย่าง ‘The Journey of Chanathip’ ในพื้นที่จริงอย่าง Old Town Gallery เราจึงไม่พลาดโอกาสที่จะไปชมผลงานของเขาให้เห็นกับตา และหยิบฉวยเอาเรื่องราวของเขามาเล่าสู่ให้ฟังกัน ณ บัดนาว

“เราเริ่มต้นแกะไม้จริงจังเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้เราสอนศิลปะอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา 5 – 6 ปี แล้วก็กลับมาอยู่กรุงเทพฯ มาเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร แล้วก็ออกมาทำงานบริษัท ไปๆ มาๆ ก็รู้สึกเบื่อที่จะออกจากบ้าน คิดว่าเราทิ้งสิ่งที่เราเรียนมาไปหมด เราเห็นรุ่นพี่ เห็นเพื่อน เห็นน้องๆ เป็นศิลปินกันหมด เราอยากเป็นศิลปินกับเขาบ้าง ก็เลยต่อเฟรมเองเพื่อเขียนรูป เขียนเยอะมาก แต่ก็ไม่ได้แสดงที่ไหน สมัยนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดีย ทำไปทำมาก็รู้สึกว่าไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงเท่ากับการที่เราเอาเศษไม้ที่เหลือจากการต่อเฟรมเองมาแกะสลักเล่นด้วยมีดคัตเตอร์ แล้วรู้สึกเพลิดเพลินกว่า รู้สึกตอบโจทย์ตัวเองกว่าการทำงานศิลปะที่เคยคิดเอาไว้ แกะเสร็จก็เอาให้เพื่อน ให้แฟน ก็เริ่มทำมาเรื่อยๆ ยาวมาสิบกว่าปีแล้ว”

“ความจริงการแกะไม้เป็นการเติมเต็มความสุขที่ฝังรากมานานตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว ตอนเรียนเราเครียดกับศิลปะ เครียดกับครูบาอาจารย์ เครียดกับงานเรียน ที่ต้องเป็นอาร์ตจ๋า เราเบื่อ ก็เลยแกะไม้เล่นเพื่อคลายเครียด พอกลับมาทำงานศิลปะอีกก็ยังไม่ใช่อีก การแกะไม้ก็เลยกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขและคลายเครียดมากกว่า”

“เราเรียนศิลปะภาพพิมพ์มา ไม่ได้เรียนประติมากรรม แต่พอจบมาแล้วเราชอบประติมากรรม ไปทำงานประติมากรรมทรายพักหนึ่งด้วย ช่วงนั้นออกจากงาน เราก็ไม่อยากกลับไปทำงานประจำ แต่พอว่างงานก็ไม่มีสตางค์ จะเป็นศิลปินเขียนรูปขายก็ยากลำบาก เราเองก็โนเนม ไม่รู้จักใคร และไม่มีใครรู้จักเรา ก็กลับมาหาอะไรที่เราเคยทำแล้วชอบอย่างการแกะไม้ ทำเสร็จเอาไปฝากขายที่คาเฟ่ของเพื่อน ก็ขายไม่ค่อยได้ แต่ก็ยังไม่เลิกทำ ก็ยังเพียรแกะไม้อยู่ แต่ก็ไปสมัครงานที่สวนสยาม ถึงแม้อายุเราเยอะ เขาก็ยังรับ เพราะโปรไฟล์เราดี เราเคยทำงานอยู่กับไชโยโปรดักชั่นส์ ทำงานประติมากรรมทรายร่วมกับศิลปินต่างชาติ ได้ลงสื่อต่างๆ เป็นกระแสอยู่พักหนึ่ง แต่ก็ไม่ยั่งยืน เพราะประติมากรรมทรายทำเสร็จแล้วแป๊บเดียวก็พัง ก็ได้งานซ่อมหุ่นไดโนเสาร์ที่สวนสยาม ทำอยู่สองวันก็ลาออก ทั้งๆ ที่ที่ทำงานดีมาก สวัสดิการก็ดี แต่เราอยากแกะไม้ เราไม่สนใจว่าจะขายได้หรือขายไม่ได้ ช่างมัน จะอาร์ตหรือไม่อาร์ต ช่างมัน”

“เราจำได้ว่าเริ่มกลับมาทำงานแกะไม้ชิ้นแรกๆ ตอนปี 2010 ตอนนั้นยังทำเป็นตัวละครที่เราชื่นชอบจากการ์ตูนญี่ปุ่น เติมเต็มสิ่งที่เราเคยขาดหายไปตอนเด็กๆ พวกหุ่นยนต์เกรทมาชินก้า, เทตสึจิน หุ่นเหล็กหมายเลข 28, ไอ้มดแดง, เจ้าหนูปรมาณู, หน้ากากเสือ พอดีช่วงนั้นเริ่มมีโซเชียลมีเดียแล้ว แกะเสร็จแล้วก็โพสต์ลงเฟซบุ๊กลงอะไรไป ไม่ได้โพสต์ขายด้วย ด้วยความหน้าบาง ไม่กล้าขายของ จนวันนึง เราโพสต์งานแกะไม้รูปหน้ากากเสือ ก็มีคนมาติดต่อขอซื้อทางเฟซบุ๊ก คนนั้นใช้ชื่อว่า Boyd Kosiyabong เขาบอกว่าอยากได้งานแกะไม้หน้ากากเสืออันนี้ เราจะขายไหม ตอนนั้นเรายังไม่มั่นใจว่าเขาคือพี่บอย โกสิยพงษ์ จริงๆ ไหม เข้าไปส่องโปรไฟล์ก็ดูเหมือนจะเป็นตัวจริง เราก็ขายเขาไป ช่วงนั้นก็เลยบูมมาก เพราะพอแกะอะไรมาเกี่ยวกับตัวละครการ์ตูนญี่ปุ่น สองสิงห์อวกาศเอย อะไรเลย พี่บอยเขาซื้อหมดเลย แกะเสร็จ โพสต์ปุ๊บ เขาจะมาพิมพ์ว่า ‘จอง’ ทุกครั้ง ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ราคา พี่บอยซื้อเสร็จแล้วก็เอาไปตั้งโชว์ที่ค่ายเลิฟอีส ศิลปินที่ค่ายมาเห็นก็ตามมาซื้อกับเรา ตอนแรกเราก็ขายไม่แพง เพราะเราคิดว่างานเราไม่ใช่ศิลปะ เป็นแค่ของเล่น ราคานี้ก็โอเคแล้ว”

“พอแกะไปสักพัก เราก็เริ่มอยากสร้างคาแรกเตอร์ของตัวเอง ก็เริ่มคิดว่าเราน่าจะออกแบบคาแรกเตอร์เฉพาะตัวขึ้นมา ก็คิดเป็นคาแรกเตอร์ชื่อ Fat Fox ซึ่งมีที่มาจากตัวเราเอง ที่เหมือนเป็นหมาป่าในนิทานหนูน้อยหมวกแดง เพราะเราคิดว่าตัวเองไม่ใช่คนดี แล้วตอนนั้นก็มีปัญหาครอบครัว ปัญหาส่วนตัวต่างๆ ก็เลยทำออกมาเป็นคาแรกเตอร์หมาจิ้งจอก ที่เป็นตัวละครเจ้าเล่ห์ เป็นจิ้งจอกอ้วนๆ ไม่สมบูรณ์แบบ เราก็เล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองผ่านจิ้งจอกตัวนี้ ช่วงนั้นชีวิตกำลังอยู่ในขาลง เลิกกับแฟนที่คบมานาน ไม่มีแรงบันดาลใจ เบื่อ หมดกำลังใจจะมีชีวิตอยู่ มีช่วงหนึ่งก็ทำออกมาเป็นเหมือนจิ้งจอกตัวกำลังจะผูกคอตาย แต่จู่ๆ ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาในชีวิต มาให้กำลังใจ ช่วยเหลือโน่นนี่ ช่วยเติมเต็มในสิ่งที่เราขาดหายไป เหมือนเป็นแสงสะท้อนจากดวงจันทร์ เป็นแสงเดียวที่เรามีในยามที่ชีวิตมืดมนอยู่ตอนนั้น เราก็เลยสร้างเป็นคาแรกเตอร์ชื่อ Moon คือเด็กหญิงดวงจันทร์ที่เป็นแสงสว่างแห่งความหวังอันเดียวที่เรามี ก็เลยกลายเป็นที่มาของคาแรกเตอร์ Fat Fox & Moon ขึ้นมา เหมือนเราทำเพื่ออุทิศให้กับน้ำใจและความช่วยเหลือของเขา ตอนนี้เขาก็มาเป็นผู้จัดการส่วนตัวให้เรา คอยดูแลงานเราเบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นการขายงาน การตลาด การทำโปรโมท ดูแลเพจเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ติดต่อลูกค้าต่างชาติ ตอนนี้ก็มีบริษัทอาร์ตทอยไต้หวันมาติดต่อขอเอาคาแรกเตอร์ Moon ตัวนี้ไปทำเป็นของเล่นด้วย” เอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกประการในผลงานแกะไม้ของชนาธิปที่แตกต่างจากนักทำงานแกะไม้คนอื่นก็คือ แทนที่เขาจะใช้อุปกรณ์แกะสลักไม้ตามปกติอย่างเครื่องมือแกะสลักไม้ หรือสิ่วแกะสลักไม้ เหมือนชาวบ้านชาวช่องเขา แต่ชนาธิปกลับใช้อุปกรณ์ธรรมดาๆ ที่หาได้ทั่วๆ ไปอย่างคัตเตอร์ มาใช้แกะสลักไม้แทน แต่คัตเตอร์ธรรมดาๆ นี่แหละ ที่เมื่อมาอยู่ในมือของชนาธิปแล้ว ก็กลับกลายเป็นอุปกรณ์อันเปี่ยมประสิทธิภาพไม่แพ้อุปกรณ์แกะสลักไม้ชั้นดีเลยแม้แต่น้อย”

“ที่เราใช้คัตเตอร์แกะเพราะมันสะดวก ความจริงเราก็มีแฟนคลับส่งอุปกรณ์แกะไม้ดีๆ มาให้ใช้ มาให้ช่วยรีวิวนะ แต่เราก็ไม่ใช้ ก็ใช้แต่คัตเตอร์เหมือนเดิม เพราะเราใช้ไม้สนแกะสลัก ที่เลือกใช้ไม้สนเพราะตอนที่เริ่มทำเราไม่มีสตางค์ เหมือนที่บางคนเคยบอกว่า ‘ถ้ารักจะทำงานศิลปะแล้วไม่มีเงินซื้อสีซื้ออุปกรณ์ ก็ให้กรีดเลือดมาเขียนรูป’ เราไม่รู้ว่ามีคนทำอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่านะ แต่เราอยากแกะไม้ แต่ไม่มีสตางค์ เราก็ไปร้านเฟอร์นิเจอร์แถวคลองเตย ไปขอซื้อเศษไม้ที่เขาเหลือจากทำเฟอร์นิเจอร์มาแกะ พอดีไม้พวกนั้นเป็นไม้สนที่ใช้ตีลัง ทำพาเลท เป็นไม้เศรษฐกิจ โตง่าย แต่ข้อเสียของมันคือจะยุ่ยง่ายเวลาใช้สิ่วแกะสลัก ต้องใช้อุปกรณ์ที่คมกริบจริงๆ แบบคัตเตอร์ถึงจะแกะได้ เราก็เลยเลือกใช้คัตเตอร์ทำงาน อีกอย่างเราเป็นคนขี้เกียจลับเครื่องมือด้วย เพราะเครื่องมืออื่นๆ พอใช้แล้วก็ต้องลับ เสียเวลา ใช้คัตเตอร์ก็แค่หักใบมีดทิ้งหรือเปลี่ยนใบมีดแค่นั้นเอง ช่วงหลังๆ เราก็เลยเปิดเวิร์กช็อปสอนแกะไม้ด้วยคัตเตอร์ด้วย”

“ตอนนี้เราแกะไม้เพื่อความสุขของตัวเองจริงๆ หลักฐานก็คือเราไม่รับทำตามออร์เดอร์ เพราะถ้ารับออร์เดอร์ก็ต้องทำตามคนอื่นสั่ง ก็เหมือนกลับไปทำงานบริษัท กลายเป็นลูกจ้างเขาอีกรอบ ตอนนี้เรามีอิสรเสรี อยากไปไหนก็ไป อยากแกะไม้เมื่อไหร่ก็แกะ ไม่มีใครมาสั่งให้ทำ ใครชอบก็ซื้อ ไม่ชอบก็ไม่ต้องซื้อ เท่านั้นเอง นี่แหละคือชีวิตที่เราต้องการ”

– Author: MutAnt –

สุดเจ๋ง! กับผลงานจากแป้นคีย์บอร์ดเหลือใช้แห่งแบรนด์ Button Network โดยนักออกแบบชาวอินโดนีเซีย

เชื่อเหลือเกินว่า งานออกแบบ สามารถหยิบยกแรงบันดาลใจใหม่ๆ ได้จากสิ่งรอบตัวที่เราอาจจะมองข้าม เขาคนนี้ก็เป็นอีกหนึ่งคนครับ Alfaz Syam นักออกแบบชาวอินโดนีเซีย วัย 26 ปี ที่ได้สร้างสรรค์ผลงาน ผ่านแบรนด์ที่มีชื่อว่า Button Network ด้วยการนำแป้นคีย์บอร์ดเหลือใช้ มารังสรรค์ผลงานผ่านไอเท็มแฟชั่นให้ออกมาในรูปแบบแปลกตา ไม่ว่าจะเป็น สนีกเกอร์ที่เราคุ้นตา นำมาเพิ่มลูกเล่นด้วยการใส่แป้นคีย์บอร์ดและตัวต่อเข้าไป หรือจะเป็นไอเท็มแว่นตา ที่เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งชิ้นที่เรียกสายตาของคนรอบข้างได้ไม่น้อย วันนี้เราได้นำผลงานสุดสร้างสรรค์ มาฝากหนุ่มๆ กันแล้วครับ เราไปชมกันดีกว่าครับ ว่าแต่ละชิ้นจะโดดเด่นเพียงใด สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงหรือไม่ เราไปชมกันเลยครับ!

 
 
 
 
 
ดูโพสต์นี้บน Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

โพสต์ที่แชร์โดย Alfaz (@skatesuckers)

 
 
 
 
 
ดูโพสต์นี้บน Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

โพสต์ที่แชร์โดย Button Network (@buttonetwork)

 
 
 
 
 
ดูโพสต์นี้บน Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

โพสต์ที่แชร์โดย Alfaz (@skatesuckers)

 
 
 
 
 
ดูโพสต์นี้บน Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

โพสต์ที่แชร์โดย Alfaz (@skatesuckers)

 
 
 
 
 
ดูโพสต์นี้บน Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

โพสต์ที่แชร์โดย Alfaz (@skatesuckers)

 
 
 
 
 
ดูโพสต์นี้บน Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

โพสต์ที่แชร์โดย Button Network (@buttonetwork)

 
 
 
 
 
ดูโพสต์นี้บน Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

โพสต์ที่แชร์โดย Button Network (@buttonetwork)

 
 
 
 
 
ดูโพสต์นี้บน Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

โพสต์ที่แชร์โดย Alfaz (@skatesuckers)

 
 
 
 
 
ดูโพสต์นี้บน Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

โพสต์ที่แชร์โดย Alfaz (@skatesuckers)

 
 
 
 
 
ดูโพสต์นี้บน Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

โพสต์ที่แชร์โดย Alfaz (@skatesuckers)

 
 
 
 
 
ดูโพสต์นี้บน Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

โพสต์ที่แชร์โดย Alfaz (@skatesuckers)

จุดเริ่มต้นจากความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตน ‘Yayoi Kusama’

Yayoi Kusama ศิลปินร่วมสมัยชาวญี่ปุ่นที่โด่งดังไปทั่วโลกในฐานะเจ้าของผลงาน ผู้หลงใหลคลั่งไคล้ในลวดลายจุด (Polka Dot) จนนำมาถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะ ด้วยกระแสงานศิลปะ avant-garde ที่เต็มไปด้วยความน่าพิศวงของสีสัน และลวดลายอันละลานตา เอกลักษณ์ของงานออกแบบเติมเต็มทุกอณูของพื้นที่อย่างไม่รู้จบ จึงเปรียบได้กับลายเซ็นเฉพาะตัวให้กับผลงาน

Yayoi Kusama ได้มุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนสู่งานศิลป์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ พร้อมกันนั้นได้ร้อยเรียงเรื่องราวที่เธอประสบและแปรเปลี่ยนเป็นพลังบนชิ้นงาน ด้วยค่านิยมทางสังคมของญี่ปุ่นในสมัยนั้น ครอบครัวที่ไม่ยอมรับ ทั้งสังคมยังปฏิเสธงานศิลปะ ทำให้การเดินทางจากกรุงโตเกียวสู่มหานครนิวยอร์กตลอดสองทศวรรษระหว่างช่วง 1950s – 1960s ตัวเธอนั้นได้สรรสร้างผลงานมากมาย เพื่อระบายความอึดอัดภายในจิตใจและยังนับเป็นส่วนนึงของการบำบัดอาการป่วยของเธอด้วย ด้วยมิติอันไร้ที่สิ้นสุดบนผลงาน หลังจากเผยโฉมตัวตนให้โลกภายนอกได้รับรู้ถึงฝีมือ ในช่วงทศวรรษที่ 1970s ตัวเธอนั้นได้ตัดสินใจเดินทางกลับสู่บ้านเกิด ณ ประเทศญี่ปุ่น เธอได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินเอกของศตวรรษที่ 21 ผู้เปี่ยมด้วยพรสวรรค์อันหาตัวจับได้ยากและ ยังถือเป็นศิลปินหญิงที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

cr pictures : Louis Vuitton Official

จากผลงาน “INFINITY DOTS” ลวดลายจุดที่ระบายด้วยมือนั้นถือเป็นเอกลักษณ์ของยาโยอิที่เราต่างคุ้นเคยและจดจำกันได้กันเป็นอย่างดี ลวดลายจุดแห่งความอนันต์นี้คือสัญลักษณ์สำคัญที่แสดงถึงแรงบันดาลใจจากความทรงจำที่มีในวัยเด็ก เธอเรียกการปลดปล่อยพัฒนาการของตัวเองจากความกลัวที่จะต้องเห็นภาพหลอนแบบไม่สิ้นสุดนี้ว่า “การลบเลือนตัวตน (Self-Obliteration)” ของตัวเธอ “ความปรารถนาของฉันคือการทำนายและชั่งวัดความอนันต์ของจักรวาลที่ไร้ขอบเขต จากตำแหน่งที่ตัวฉันเองดำรงอยู่ด้วยลวดลายจุด” ยาโยอิกล่าวผ่านหนังสืออัตชีวประวัติเรื่อง Infinity Net ชื่อเสียงของศิลปินหญิงถูกกล่าวขานในอเมริกานับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960s พร้อมทั้งสมญานาม ‘เจ้าหญิงแห่งลวดลายจุด’ ที่ถึงแม้ว่าตัวยาโยอิจะเรียกตนเองว่าเป็น ‘ศิลปินผู้หมกมุ่น’ ก็ตาม หรืออย่าง “PSYCHEDELIC FLOWER” ซึ่งได้กลายเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของศิลปิน จากผลงานในปีค.ศ. 1993 อีกหนึ่งความหลงใหลของตัวเธอนั้นได้เผยตัวผ่านลวดลายดอกไม้ รูปทรงที่งดงามและแตกต่างไปจากแนวคิดเกี่ยวความอนันต์และไร้จุดสิ้นสุด

cr pictures : Louis Vuitton Official

ย้อนกลับไปยังโปรเจ็คความสร้างสรรค์ครั้งแรกระหว่างหลุยส์ วิตตองกับยาโยอิ คุซามะในปี 2012 มิตรภาพอันดีระหว่างกันยังคงต่อเนื่องไม่สิ้นสุด แม้จะล่วงเลยมาถึงปีที่สิบ บทสนทนาที่เปี่ยมด้วยความน่าอัศจรรย์ยังคงนำมาขยายและพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง สำหรับหลุยส์ วิตตองการร่วมทำงานกับเหล่าศิลปินถือเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์อันยาวนานของเมซง นับตั้งแต่เกือบร้อยปีก่อนในยุคของ Gaston-Louis Vuitton หลานชายผู้สืบสายเลือดของผู้ก่อตั้ง ได้เชื้อเชิญเหล่าศิลปินมาร่วมออกแบบผลงานสำหรับโชว์บริเวณหน้าต่างและภายในร้านสาขาต่างๆ ของหลุยส์ วิตตอง ความร่วมมือนี้ถูกผลักดันตลอดหลายปีจนเปรียบได้กับการเดินทางผ่านห้วงเวลายาวนาน ขณะเดียวกันก็ผสานไปกับเหตุการณ์ร่วมสมัย นับตั้งแต่ 1988 เมซงได้ร่วมทำงานกับศิลปินและนักออกแบบผู้มีชื่อเสียง อาทิ Sol LeWitt ศิลปินแนวคอนเซ็ปชวลอาร์ตชาวอเมริกัน Richard Prince จิตรกรและช่างภาพชาวอเมริกัน ทาคาชิ มุราคามิ ศิลปินร่วมสมัยชาวญี่ปุ่นและ Jeff Koons ประติมากรกระแสป๊อปอาร์ตชาวอเมริกัน สำหรับยาโยอิ วัตถุงานศิลป์ ลวดลายและจินตนาการเกี่ยวกับความอนันต์อันไร้สิ้นสุดหลอมรวมไปกับสุนทรียศาสตร์ของหลุยส์ วิตตอง โดยถ่ายทอดผ่านไอเท็มหมวดต่างๆ ตั้งแต่กระเป๋าถือ เครื่องแต่งกายสำหรับสุภาพบุรุษ เสื้อผ้าของเหล่าสุภาพสตรี แว่นตา น้ำหอม รองเท้าและเครื่องประดับ ในขณะเดียวกันการแนวทางการออกแบบของเมซงเองก็ถูกนำเสนอผ่านชิ้นงานที่เปรียบได้กับสัญลักษณ์ของเมซง ควบคู่ไปผลงานของยาโยอิที่ดัดแปลงจินตนาการสู่โลกความเป็นจริง

POP ART : Keep The Distance

Author: MutAnt

Photography: Courtesy of The Gallery

ที่ผ่านๆ มา เมื่อเราเอ่ยถึงศิลปะนามธรรม (abstract art) คนทั่วไปมักจะคิดว่าเป็นงานศิลปะที่เข้าถึงและเข้าใจยากจนต้องปีนกระไดดู หรือไม่ก็พานคิดว่าเป็นงานศิลปะของคนมักง่าย ที่ทำอะไรมั่วๆ ขึ้นมาก็ได้ จนบางคนอาจถึงกับกล่าวว่า “ลูกอายุสามขวบที่บ้านก็ทำได้” ก็ยังมี จนทำให้เกิดระยะห่างขวางกั้นระหว่างงานศิลปะนามธรรมกับคนทั่วไปจนไกลโขทั้งๆ ที่ผลงานเหล่านี้ปรากฏให้เห็นจะแจ้งอยู่ข้างหน้า เช่นเดียวกับนิยามและความหมายที่ปรากฏในชื่อของนิทรรศการหนึ่งที่มีชื่อว่า Distance and Existence

นิทรรศการที่พยายามนำเสนอบทสนทนาเพื่อลดระยะห่างที่คั่นกลางระหว่างผู้ชมกับงานศิลปะนามธรรม และพยายามนำเสนอแนวความคิดและการรับรู้ใหม่ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อผู้ชมให้เข้าถึงภาษาของศิลปะนามธรรมร่วมสมัยยิ่งขึ้น จากการรวมตัวกันของ 5 ศิลปินหลายรุ่นที่น่าจับตาอย่างเกศ ชวนะลิขิกร, กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย, จิรัชยา พริบไหว, อ้อ สุทธิประภา และอมรเทพมหามาตร กับผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม และศิลปะจัดวางหลากชนิด ที่ถูกคัดสรรโดยภัณฑารักษ์หนุ่มหน้ามน ชล เจนประภาพันธ์

ไม่ว่าจะเป็นผลงานจิตรกรรมนามธรรมของเกศ ชวนะลิขิกร ที่มุ่งเน้นในการนำเสนอกระบวนการทำงานจิตรกรรมผ่านผลงานภาพวาดสีเอกรงค์อันเคร่งขรึม แต่แอบซ่อนชั้นสีสดใสหลากสีสันที่ถูกทับซ้อนกันหลายชั้นข้างใต้พื้นผิวด้านบน หากเผยให้เห็นเป็นคราบไคลหลากสีที่ไหลย้อยด้านข้างเฟรมผ้าใบ โดยไม่บอกเล่าเรื่องราวใดๆ ปล่อยให้ผู้ชมตีความและจินตนาการถึงความหมายที่ซุกซ่อนอยู่ตามใจปรารถนา

หรือผลงานจิตรกรรมนามธรรมของกิติก้อง ติลกวัฒโนทัย ที่เล่นกับมิติของความแบนและความลึก ความแตกต่างระหว่างพื้นผิวทั้งเรียบ ด้าน และมันเงาการจับคู่เปรียบของวัสดุต่างชนิด และการจับคู่ความขัดแย้งแตกต่างระหว่างบางสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องหรือเป็นขั้วตรงข้ามกันอย่างแสงสว่างในยามกลางคืน แสงอาทิตย์ในยามฝนตก หรือความร้อนของน้ำแข็ง ด้วยงานจิตรกรรมที่เป็นส่วนผสมของสีอะคริลิก การคอลลาจ (ตัดแปะ) กระดาษสี และการเคลือบแล็กเกอร์บนแคนวาส

ผลงานของจิรัชยา พริบไหว ได้แรงบันดาลใจจากสวนหลังบ้านของเธอที่เป็นเสมือนหนึ่งพื้นที่ทางจิตวิญญาณ และกิจกรรมการทำสวนที่เปรียบดังการทำสมาธิ จิรัชยาสังเกตปรากฏการณ์ในสวนอย่างแสงแดด สายลม หรือร่องรอยการบินของผีเสื้อ ออกมาเป็นผลงานจิตรกรรมนามธรรมสีอะคริลิกบนผ้าใบ ที่สะท้อนถึงการให้คุณค่ากับเวลาในปัจจุบันขณะของชีวิต

หรือผลงานของอ้อ สุทธิประภา ในรูปของศิลปะจัดวางจากเซรามิกที่ผสานสองขั้วระหว่างความแกร่งและบอบบางของเซรามิก ด้วยรูปทรงที่โค้งมนและอ่อนช้อย ราวกับรูปทรงกำลังพลิ้วไหวไปตามกระแสของธรรมชาติ และความแข็งแกร่งของดินเหนียวที่นำเสนอได้อย่างลื่นไหล กลายเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ผู้ชมเคลิบเคลิ้มในผลงาน

และผลงานของอมรเทพ มหามาตร ที่สื่อสารถึงความเป็นอดีตและปัจจุบันในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน ที่เขาเข้าไปสัมผัสกับแหล่งอารยธรรมเก่าก่อนประวัติศาสตร์ ทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุสิ่งของในยุคก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ ที่ส่งแรงบันดาลใจให้เขาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเซรามิกนามธรรม ที่สื่อถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติด้วยความเคารพและสัมผัสด้วยใจ รวมถึงผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจากอักขระภาษาธรรมโบราณทับซ้อนกันจนกลายเป็นงานสุนทรียะแบบนามธรรมในแบบของเขาเอง

ชล เจนประภาพันธ์ ภัณฑารักษ์ กล่าวถึงแรงบันดาลใจเบื้องหลังนิทรรศการครั้งนี้ว่า “นิทรรศการครั้งนี้เริ่มต้นจากความสนใจของผมเกี่ยวกับงานศิลปะนามธรรม ผมมองว่าก่อนหน้านี้เคยมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ยุคทองของศิลปะนามธรรม’ ในประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2500 – 2520 มีศิลปินนามธรรมในประเทศไทยเกือบ 100 คน หลังจากนั้นมา ศิลปะนามธรรมก็ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง แต่อันที่จริงแล้วก็ไม่ได้หายไปไหน ศิลปินที่ทำงานศิลปะนามธรรมก็ยังคงทำอยู่อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ศิลปินบางคนอาจเปลี่ยนทิศทางไปทำงานในแนวทางอื่นๆ ผมก็เลยตั้งคำถามถึงความแตกต่างในปัจจุบัน ระหว่างศิลปินนามธรรมผู้ยังคงยืนยันแนวทางเดิม ที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสเคลื่อนไหวของศิลปะนามธรรมจากตะวันตกหรืออเมริกันในช่วงยุคสงครามเย็น กับศิลปินนามธรรมเจนเนอเรชันใหม่ๆ ที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับกระแสเคลื่อนไหวของตะวันตกเลย หากแต่ทำงานในแนวคิดแบบร่วมสมัย ทำให้นิยามของศิลปะนามธรรมเกิดความเปลี่ยนแปลงไป นับจากยุคทองที่ศิลปะนามธรรมถูกนำเสนอผ่านผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์เท่านั้น แต่ในปัจจุบัน สื่อทางศิลปะอื่นๆ อย่างงานเซรามิก หรือศิลปะจัดวาง (installation art) ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในงานศิลปะนามธรรมมากขึ้น”

“ผมเลยรู้สึกว่าอยากจะทำนิทรรศการที่สร้างบทสนทนาระหว่างศิลปินสองยุคสมัย โดยเริ่มต้นจากศิลปินรุ่นใหญ่อย่างเกศ ชวนะลิขิกร ที่ถือว่าเป็นศิลปินชั้นครูของงานนามธรรมคนหนึ่งที่ทำงานมาอย่างยาวนานมาก กับผลงานจิตรกรรมนามธรรมบนผืนผ้าใบที่ใช้ฝีแปรงและสีสันอย่างเป็นอิสระในการแสดงออก ตามมาด้วยศิลปินรุ่นกลางอย่างอมรเทพ มหามาตร ที่ทำเซรามิกเป็นงานศิลปะนามธรรมที่มีความโดดเด่นในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ศิลปินเซรามิกอีกคนอย่างอ้อ สุทธิประภา ที่ทำงานเซรามิกในแบบนามธรรมในประเด็นเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์และการหันมาทำความเข้าใจกับสภาวะภายในของตนเอง ผมมองว่ากระบวนการทำงานเซรามิกมีความสอดคล้องกับงานศิลปะนามธรรมตรงที่การทำงานเซรามิกมักจะมีเรื่องของความไม่คาดหมายและเหตุบังเอิญในกระบวนการทำงาน เช่นเดียวกับการทำงานศิลปะนามธรรม”

“หรือศิลปินรุ่นใหม่ขึ้นมาหน่อยอย่างกิติก้อง ติลกวัฒโนทัย ที่ทำงานจิตรกรรมและภาพพิมพ์แบบนามธรรมเชิงทดลอง ที่นำเสนอผ่านเทคนิคการคอลลาจ (ตัดแปะ) ลงบนผืนผ้าใบ และศิลปินรุ่นใหม่อย่างจิรัชยา พริบไหว ที่ทำงานจิตรกรรมนามธรรมด้วยแนวคิดอันเรียบง่าย แต่แฝงความซับซ้อนและเปี่ยมเสน่ห์เฉพาะตัวบางอย่างอยู่”

“การทำนิทรรศการครั้งนี้เป็นความพยายามในการค้นหาความเป็นไปได้อื่นๆ ของความเป็นศิลปะนามธรรมในกระแสเคลื่อนไหวของงานศิลปะร่วมสมัย ต่อไปอาจมีคนทำงานศิลปะดิจิทัลหรือวิดีโอจัดวางเป็นงานศิลปะนามธรรมก็ได้ เอาจริงๆ ในปัจจุบันเราอาจจะพ้นยุคของการนิยามความหมายของศิลปะแบบต่างๆ แล้วก็เป็นได้ ศิลปินบางคนก็ไม่อยากนิยามว่าตัวเองทำงานแบบไหน ในอนาคตการทำงานในลักษณะนี้อาจไม่ถูกเรียกว่าศิลปะนามธรรมก็เป็นได้”

ชลยังเสริมท้ายถึงที่มาที่ไปของชื่อนิทรรศการที่ได้แรงบันดาลใจจากสื่อศิลปะต่างแขนงว่า “ชื่อนิทรรศการ Distance and Existence ผมได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง The Secret Life of Walter Mitty (2013) ในฉากหนึ่งที่ตัวละครวอลเตอร์ มิตตี้ เดินทางตามหาช่างภาพระดับตำนาน ฌอน โอ’คอนเนล จนไปเจอเขาซุ่มรอถ่ายภาพเสือดาวภูเขา แต่พอเสือดาวเดินออกมาผ่านเลนส์ ฌอนกลับไม่กดชัตเตอร์ แล้วปล่อยให้มันเดินผ่านไปเสียอย่างงั้น มิตตี้ถามฌอนว่าทำไมไม่ถ่ายภาพเอาไว้ ฌอนตอบว่า ‘ความงามที่แท้จริงไม่เรียกร้องความสนใจ’ ผมชอบประโยคนี้มาก ผมรู้สึกว่าประโยคนี้สามารถใช้นิยามสุนทรียะของความเป็นศิลปะนามธรรมได้”

“ในขณะที่ในยุคหนึ่งที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าศิลปะนามธรรมเข้าถึงและเข้าใจยาก หรือเป็นเหมือนงานที่ดูมักง่าย ใครๆ ก็ทำได้ แต่ในปัจจุบัน คนเริ่มเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจและชื่นชมกับงานในลักษณะนี้มากขึ้น ทั้งในแง่ของทัศนธาตุ กระบวนการทำงาน หรือสุนทรียะของสี การจัดวาง ซึ่งเป็นการรับรู้ด้วยประสบการณ์ตรง ผมเลยเลือกใช้คำว่า distance เพื่อสื่อถึงระยะห่างระหว่างผู้ชมกับศิลปะนามธรรม ส่วนคำว่า existence ซึ่งแปลว่าการดำรงอยู่ หมายถึงการดำรงอยู่ของความงามในศิลปะนามธรรม เหมือนในฉากที่ฌอน โอ’คอนเนล ไม่กดชัตเตอร์ แล้วพูดประโยคนั้นออกมา ผมเลยอยากจะชวนผู้ชมมาสร้างบทสนทนาและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับนิยามของงานศิลปะนามธรรมกัน นี่เป็นเหตุผลที่ผมไม่อธิบายเกี่ยวกับแนวคิดเบื้องหลังของผลงานของศิลปินแต่ละคนมากนัก เพราะผมคิดว่าถ้าอธิบายจนหมดก็คงไม่เหลืออะไรให้จินตนาการหรือคิดต่อแล้ว”

นิทรรศการ ‘Distance and Existence’ จัดแสดง ณ บริเวณหอศิลป์ 

ชั้น 1 เอส เอ ซี แกลเลอรี (SAC Gallery)

POP ART : The Nurtured Nature

สำรวจความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นและการกีดกันความหลากหลายทางเพศผ่านศิลปะการจัดดอกไม้ของนรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์

Photography: Courtesy of The Gallery

ดอกไม้ นอกจากจะใช้ประดับ ตกแต่ง เติมแต้มสีสันบรรยากาศมอบความสวยงาม กลิ่นหอมจรุงใจแก่ผู้คนได้แล้ว ในหลายครั้งดอกไม้ยังสามารถใช้แทนสัญลักษณ์ที่สื่อสารบอกเล่าประเด็นต่างๆทางสังคม ทั้งความหวัง เสรีภาพ สันติภาพ ความเท่าเทียม หรือแม้แต่ความหลากหลายทางเพศ ดังเช่นที่ปรากฏในนิทรรศการศิลปะ ที่มีชื่อว่า Nature versus Nurture โดยนรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ศิลปินภาพถ่ายและศิลปะจัดวาง ผู้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการถูกกีดกันเพศสภาพและความไม่เท่าเทียมกันในสังคมผ่านภาพของ ‘ดอกไม้’ หลากรูปแบบและแนวทางอย่างต่อเนื่องจริงจัง

“นิทรรศการ Nature versus Nurture ได้แรงบันดาลใจจากทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ว่าด้วยเรื่องของธรรมชาติและการเลี้ยงดูว่าอะไรที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของมนุษย์มากกว่ากันระหว่างการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือวิธีการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อม ว่าตัวเรานั้นเป็นผลผลิตจากธรรมชาติหรือการเลี้ยงดูกันแน่ ผลงานในนิทรรศการนี้ ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน โดยแทนค่าด้วยการเจริญเติบโตตลอดช่วงชีวิตของดอกไม้ 3 ช่วงเวลา ตั้งแต่ช่วงที่ดอกไม้ถูกเลี้ยงดูอยู่ในฟาร์มเพาะมาจนถึงช่วงที่ถูกตัดส่งขายไปยังตู้แช่ดอกไม้ในประเทศต่างๆ และจบลงที่ผู้คนซื้อไปใช้จัดดอกไม้ตามบ้าน กระบวนการผลิตเช่นนี้สะท้อนช่วงชีวิตที่ถูกควบคุมและจัดการ เช่นเดียวกับกระบวนการจำกัดสิทธิเสรีภาพของคน ด้วยการดัดแปลง ทำลาย หรือกีดกันตัวตนและเพศสภาพให้เป็นไปตามที่สังคมยอมรับ เป้าหมายของนิทรรศการครั้งนี้จึงเป็นการสะท้อนให้ผู้คนตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมและไร้เสรีภาพที่เกิดขึ้นผ่านสิ่งธรรมดาสามัญอย่างดอกไม้ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวี่วัน

“ส่วนแรกเป็นผลงานชุด Cut Chrysanthemum Production เป็นเรื่องของดอกเบญจมาศที่ถูกปรับแต่งพันธุกรรมและได้รับการเลี้ยงดูในฟาร์มเพาะจนกลายเป็นเพียงผลิตผลที่สวยงาม ด้วยความที่ผมไปค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับฟาร์มเพาะดอกเบญจมาศแล้วพบว่า ดอกเบญจมาศในฟาร์มส่วนใหญ่ถูกปลูกแบบควบคุมแสง ลดช่วงเวลากลางคืนให้สั้นลง (break night) เพื่อให้ดอกเบญจมาศมีก้านยาวและดอกโตขึ้น จึงทำให้ดอกเบญจมาศที่ปลูกขายกันทุกวันนี้เป็นดอกไม้ที่ถูกทำลายตัวตนเดิมที่เคยมีในอดีตลงไป จนกลายเป็นสินค้าอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเศร้ามาก เพราะเราไม่สามารถสืบค้นได้ว่าดอกเบญจมาศยุคดั้งเดิมมีหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะมันถูกปรับเปลี่ยนพันธุกรรมมาอย่างยาวนานมาก หรืออย่างดอกลิลี่ สมัยก่อนก็เป็นดอกไม้ที่บานคว่ำ แต่ด้วยความที่ดอกไม้ส่วนใหญ่มักถูกจัดในช่อ พอดอกบานคว่ำก็จัดเข้าช่อได้ยาก ดอกลิลี่เลยถูกดัดแปลงสายพันธุ์ให้กลายเป็นดอกไม้ที่บานหงายจะได้ถูกจัดช่อได้ง่ายขึ้น

“เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเราเองในแต่ละช่วงวัน ผมรู้สึกว่ามีข้อจำกัดบางอย่างทำให้เราไม่สามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ ไม่แตกต่างอะไรกับดอกไม้เหล่านี้ที่ถูกจำกัดตัวตนจากการเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการคนเราเองก็ถูกสังคมจำกัดด้วยการเป็นสิ่งที่สังคม ณ เวลานั้นต้องการเหมือนกัน ผมก็เลยตั้งคำถามว่า แล้วคนเรา ณ ปัจจุบันหลงเหลือความเป็นตัวตนที่แท้จริงอยู่มากน้อยแค่ไหนกันแน่

“ด้วยความที่ผมสั่งดอกเบญจมาศจากฟาร์มหนึ่งเพื่อมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้ แต่ปรากฏว่าวันที่ต้องนำดอกไม้มาแสดง ทางฟาร์มโทรมายกเลิกการส่ง เพราะเจอพายุเข้าจนทำให้ดอกไม้ในแปลงเสียหายเละเทะ ไม่สามารถตัดส่งมาให้ได้ ผมเลยรู้สึกว่านี่แหละคือชีวิตที่เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้ เมื่อดอกไม้ถูกสภาพแวดล้อมทำลาย ก็ต้องกลายเป็นขยะที่ฟาร์มคัดทิ้ง ไม่มีโอกาสเจริญเติบโตได้เลย ไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่เราเผชิญในการถูกบังคับให้เป็นคนในแบบที่สังคมต้องการ ไม่มีโอกาสได้เป็นตัวของตัวเองตามที่เราต้องการได้เลย เราต้องพยายามเป็นเหมือนดอกไม้ที่สมบูรณ์แบบ เพื่อให้สังคม ณ เวลานั้นยอมรับเรา

“ผมจึงซื้อดอกไม้มาจากอีกที่หนึ่ง เพื่อทำงานศิลปะจัดวางที่จำลองแปลงดอกไม้ของฟาร์มที่ผมสั่งจองเอาไว้ ให้เห็นว่าแปลงดอกไม้ที่ถูกพายุเข้ามีสภาพเป็นอย่างไร ส่วนดอกไม้ที่สมบูรณ์แบบก็จะถูกตัดก้านวางบนแท่นแสดงงาน เพื่อให้เห็นว่ามีดอกไม้ส่วนหนึ่งที่สวยงามถูกตัดเพื่อนำไปขายเป็นสินค้า ในขณะเดียวกัน ดอกไม้ที่ไม่สมบูรณ์แบบก็ถูกปล่อยทิ้งให้ตายคาต้นไป

“ส่วนที่สองคืองานชุด Flower Refrigerator เป็นภาพของดอกไม้ที่ถูกจัดวางไว้ในตู้แช่ ผมต้องการเล่าประเด็นเกี่ยวกับการที่บางประเทศการเป็นเพศทางเลือกเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ผมคิดว่าสิ่งที่มนุษย์เราไม่สามารถเลือกได้คือเรื่องของเพศ ครอบครัว ชนชั้นและประเทศที่เราถือกำเนิด เมื่อเราเกิดขึ้นมาในพื้นที่ที่เราถูกกฎหมายหรือแม้แต่ศาสนาจำกัดสิทธิเสรีภาพต่างๆ เช่นเดียวกันกับดอกไม้เมื่อถูกเพาะเลี้ยงเพื่อตัดดอกส่งออกไปยังหลายประเทศ เพื่อไปวางขายอยู่ในตู้แช่ตามร้านขายดอกไม้ต่างๆ ดอกไม้ที่ถูกเลี้ยงดูในฟาร์ม เมื่อถูกตัด แล้วถูกนำไปอัดแน่นไว้ในพื้นที่จำกัดอย่างตู้แช่ ก็ไม่ต่างกับการที่ดอกไม้เหล่านั้นถูกจำกัดเสรีภาพเช่นกัน

“ผมทำการค้นคว้าเกี่ยวกับร้านดอกไม้ในประเทศต่างๆ ที่มีกฎหมายที่ไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศว่าเขาขายดอกไม้ชนิดไหนบ้าง แล้วก็ใช้ดอกไม้เหล่านั้นมาจัดเรียงสีสันให้คล้ายกับธงชาติของประเทศที่ว่า ดอกไม้บางส่วนอาจเป็นดอกไม้ท้องถิ่นในประเทศเหล่านั้น บางส่วนอาจเป็นดอกไม้ที่ถูกนำเข้ามา เหมือนกับคนเราที่พอเดินทางไปต่างประเทศก็จะถูกกฎหมายของประเทศเหล่านั้นมาจำกัดสิทธิเสรีภาพหรือตัวตนของเรา เช่นเดียวกับดอกไม้เหล่านี้ที่ไม่ได้มีสิทธิเลือกอะไรให้ตัวเอง

“หลังจากตามหาดอกไม้ตามฤดูกาลที่มาเรียงให้ตรงตามสีธงชาติของประเทศเหล่านั้นแล้ว ผมก็บันทึกภาพดอกไม้เหล่านั้น ด้วยกระบวนการ scanography หรือการสแกนด้วยเครื่องสแกนขนาดใหญ่เพื่อให้เกิดเป็นภาพที่ดูเหมือนดอกไม้ถูกอัดแน่นอยู่ในตู้แช่และไฟของเครื่องสแกนเองก็ดูคล้ายกับไฟของตู้แช่ที่มีแสงสว่างส่องอยู่ที่ระยะด้านหน้าและทิ้งความมืดไว้ในระยะด้านหลัง ส่วนโครงของตู้แช่ผมให้ร้านกรอบรูปผลิตขึ้นมาให้ดูใกล้เคียงกับตู้แช่แต่มีขนาดเล็กลง และนำมาวางทับบนภาพดอกไม้อีกที ส่วนป้ายชื่อบนตู้แช่ผมใช้ชื่อของดอกไม้ประจำประเทศที่ความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพื่อเป็นสัญญะบอกใบ้ให้ผู้ชมตีความโดยไม่บอกชื่อประเทศเหล่านั้นตรงๆ เมื่อพลิกดูภาพในแนวนอน ผู้ชมก็อาจจะพอเดาออกว่าเป็นสีของธงชาติประเทศใดบ้าง

“ส่วนที่สามคืองานชุด The Other Side of Flower Arrangement ที่พูดเรื่องการจัดดอกไม้ ซึ่งผมไปค้นคว้ามาว่า ในอดีตการจัดดอกไม้ถูกสงวนเอาไว้สำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น ผมรู้สึกสงสัยว่าทำไมการจัดดอกไม้ถึงถูกจำกัดเอาไว้แค่สำหรับคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น หรือเราถูกแบ่งแยกชนชั้นผ่านสิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่างการจัดดอกไม้มาตั้งแต่สมัยโบราณ ผมอยากสมมติตัวเองว่า ถ้าตัวผมเกิดในยุคสมัยนั้น ผมจะสามารถจัดดอกไม้ออกมาเป็นแบบไหนได้บ้าง ด้วยความที่ผมเกิดมาในครอบครัวชนชั้นกลาง ผมก็เลยอยากเอาวัตถุในชีวิตประจำวันของชนชั้นกลางอย่างขันน้ำ ชามใส่อาหารแมว กะละมังล้างผัก หรือครกมาเป็นภาชนะแทนแจกันใบหรูที่คนร่ำรวยชนชั้นสูงใช้จัดดอกไม้กันเพราะผมอยากลดความสูงส่งของการจัดดอกไม้ในอดีตลงด้วยการใช้ความเป็นชนชั้นกลางของตัวเองสร้างผลงานชุดนี้ขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านของชนชั้นกลางที่ค่อนมาทางล่าง ที่ใช้ขันอาบน้ำโดยไม่ได้ใช้ฝักบัวด้วยซ้ำไป

“ผมเลือกใช้เทคนิคการจัดดอกไม้แบบอิเคบานะ เพราะที่บ้านผมมีหนังสือสอนจัดดอกไม้ที่พิมพ์มาหลายสิบปีแล้ว ในหนังสือบอกเอาไว้ว่าการจัดดอกไม้แบบอิเคบานะเป็นที่นิยมในประเทศไทย เพราะใช้ดอกไม้จำนวนน้อย ทำให้ใช้เงินไม่เยอะ ผมคิดว่านี่เป็นรูปแบบการจัดดอกไม้ที่เหมาะกับผมมาก เพราะผมเองก็ไม่ได้ร่ำรวยขนาดที่จะซื้อดอกไม้มากมายมาจัด ในขณะเดียวกัน การเรียนอิเคบานะในยุคปัจจุบันกลับเป็นสิ่งที่มีราคาแพงมาก ผมจึงอยากลดความสูงส่งลงด้วยการใช้การจัดดอกไม้

แบบอิเคบานะที่ผมฝึกฝนเองโดยไม่ได้ไปเรียนมาจากที่ไหน

“ดอกไม้ที่จัด ผมก็ซ่อนสัญลักษณ์บางอย่างด้วยการดัดใบและดอกไม้ให้เป็นคำหยาบ (ภาษาอังกฤษ) เพราะผมมองว่า พอคนเห็นว่าเป็นคำหยาบปุ๊บ ก็จะมองว่าเป็นของต่ำ ผมรู้สึกว่านี่เป็นอีกสิ่งที่คนเราให้คุณค่าความเป็นชนชั้นให้กับมัน ทั้งๆ ที่ก็เป็นภาษาเหมือนๆ กันผมก็เลยอยากใส่คำหยาบเหล่านี้ลงไปในการจัดดอกไม้ในครั้งนี้ เพราะอยากลดทอนความสูงส่งของการจัดดอกไม้ที่มีมาแต่อดีต หรือตัวดอกไม้เอง บางดอกก็มีคนมองว่าเป็นดอกไม้ราคาถูก ไม่ควรเอามาจัดช่อ เพราะคนที่ได้รับไปคงไม่ชอบ ผมกลับมองว่าดอกไม้แต่ละชนิดควรมีความเท่าเทียมกัน ไม่ควรถูกมนุษย์เอาไปแบ่งแยกชนชั้นเป็นของต่ำ-ของสูง หรือผ้าที่ใช้ทำฉากถ่ายรูปก็เป็นผ้าราคาถูกที่หาซื้อได้ในท้องตลาดทั่วไป กล้องที่ใช้ถ่ายภาพก็เป็นกล้องดิจิทัลที่ผมใช้ถ่ายรูปมาเป็นสิบปีแล้ว ภาพที่พิมพ์ออกมาผมใช้เทคนิคทำพื้นผิวให้ดูเหมือนเป็นภาพเก่าๆ ในสมัยก่อน เพราะผมค้นคว้ามาว่าสมัยก่อนคนชอบถ่ายภาพการจัดดอกไม้ในลักษณะนี้

“งานชุดนี้ผมใช้ทุกสิ่งอย่างที่อยู่ในชีวิตของผมจริงๆ ไม่ได้เสแสร้งปลอมแปลงหรือพยายามทำให้ดูสูงส่ง สำหรับผม ภาชนะใส่ดอกไม้จะเป็นอะไรก็ได้ ขอแค่เพียงสามารถใส่น้ำแล้วก็หล่อให้ดอกไม้มีชีวิตยืนยาวต่อไปได้ก็เพียงพอแล้ว ตอนเด็กๆ ผมเองก็ไม่กล้าใช้แจกันถูกๆจัดดอกไม้ เพราะผมรู้สึกว่าดูไม่ดี แต่พอโตขึ้นมา ผมก็รู้ว่านั่นคือสิ่งที่สังคมพยายามบอกว่าต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ สิ่งนี้ราคาถูก ราคาแพง สิ่งนี้ของต่ำ ของสูง ผมมองว่าแค่เราได้มีโอกาสใช้เวลาในการจัดดอกไม้เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

“ดอกไม้เป็นสิ่งที่ผมชอบมาตั้งแต่เด็ก ในอัลบั้มภาพถ่ายที่แม่เก็บเอาไว้มักจะเป็นรูปตัวผมไปดมดอกไม้ในที่ต่างๆ สมัยเด็ก ทุกๆ ปีผมจะไปอยู่กับป้าที่จังหวัดสุรินทร์ บ้านป้าจะมีหนังสือเกี่ยวกับดอกไม้เยอะมากผมก็ชอบไปเปิดอ่าน จนสามารถจำได้ว่านี่คือดอกอะไร ชื่ออะไร เวลาที่ผมไปตลาดต้นไม้ดอกไม้กับแม่ ผมรู้จักชื่อดอกไม้แทบทุกชนิด จนแม่ผมตกใจว่าทำไมถึงรู้จักดอกไม้เยอะขนาดนี้ สมัยเด็กๆ ผมยังเคยเอาดอกไม้มาทำเป็นมงกุฎสวมหัวเดินรอบบ้าน ผมรู้สึกว่าดอกไม้เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ผมรู้จักตัวตนของตัวเองมากขึ้น

“สำหรับผม ดอกไม้ไม่ต่างอะไรกับมนุษย์ มันมีอวัยวะคล้ายคลึงกับมนุษย์ มีชีวิต เติบโต มีตูม มีบาน มีเหี่ยวเฉา และโรยรา ใกล้เคียงกับชีวิตมนุษย์ ผมคิดว่าดอกไม้กลายเป็นสิ่งที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวที่ผมเคยเผชิญมาได้แทนคำพูด ผมแค่อยากเอาตัวตนของผมใส่เข้าไปในงานศิลปะ โดยมีดอกไม้เป็นตัวกลาง

“สมัยเด็ก ผมไม่กล้าบอกใครว่าตัวเองเป็นเพศทางเลือก เพราะกลัวว่าสังคมจะไม่ยอมรับ ความกลัวนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมต้องปิดบังตัวเองมาโดยตลอด ผมเลยรู้สึกว่าในช่วงเวลาที่ผมปิดบังซ่อนเร้นตัวเองมาหลายสิบปีนี่ผมสูญเสียอะไรไปบ้าง แล้วผมจะเรียกคืนสิ่งที่สูญเสียเหล่านั้นกลับมาได้อย่างไร ผมอยากใช้ดอกไม้บอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ผ่านงานศิลปะที่ผมทำขึ้นมา”

– Author: MutAnt –