เชฟ Mauro Colagreco พร้อมเสิร์ฟทั้งอาหารตา อาหารใจ และอาหารรสเลิศที่ Café Dior ใจกลางกรุงเทพมหานครแล้ว

Share This Post

- Advertisement -

เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่ของ Dior Gold House เมซงดิออร์นำเสนอประสบการณ์อีกขั้นในคอนเซ็ปต์สโตร์อันหรูหรานี้ด้วย Café Dior ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นจากหลากหลายพืชพันธุ์ของประเทศไทย และการตกแต่งที่เต็มไปด้วยเทคนิค savior faire ทางหัตถศิลป์หลากหลายแขนงร่วมกับมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย แต่ไม่ละทิ้งความหรูหรางามสง่าของเมซงดิออร์อันเป็นเอกลักษณ์ 

กรกต อารมย์ดี ผู้สร้างสรรค์ความหรูหราให้กับคาเฟ่ ดิออร์ ได้จัดวางงานสามมิติจากไม้ไผ่อันอ่อนช้อย เพื่อเน้นย้ำเสน่ห์อันรื่นรมย์จากธรรมชาติในลายพิมพ์ชวนฝันอันเป็นเอกลักษณ์ของดิออร์ ผนวกกับงานเฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบโดยศรัณย์ เย็นปัญญา แห่ง 56th Studio 

นอกเหนือไปจากอาหารตาแล้ว อาหารใจและอาหารจริงก็ได้รับการรังสรรค์โดย Mauro Colagreco เชฟชื่อดังที่นำเสนอเมนูของหวานโดยเฉพาะสำหรับคาเฟ่ดิออร์แห่งนี้ โดยแรงบันดาลใจในการออกแบบและปรุงแต่งนั้นมาจากวัฏจักรธรรมชาติที่ผัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปอย่างหลากหลายน่าอัศจรรย์ และธรรมชาตินั้นก็สอดคล้องกับงานสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายของเมซงดิออร์ ก่อให้เกิด haute-gastronomie ให้ทุกคนลิ้มลองอย่างแท้จริง 

เอเลเมนต์ที่ทุกคนคุ้นชิ้นทั้งกุหลาบ แมลงผึ้ง และคฤหาสน์ชนบท ‘ลา ก็อลล์ นัวร์’ อันเป็นที่นำพักยามว่างของเมอร์ซิเออร์คริสเตียน ดิออร์ ถูกดัดแปลง และนำมาใช้ในการรังสรรค์ของหวาน และขนมแป้งพายอบรสเลิศ โดยเมาโรได้กล่าวถึงการสร้างสรรค์ครั้งสำคัญในชีวิตของเขาไว้ว่า “ผมยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการอันทรงเอกลักษณ์ครั้งนี้ รวมถึงยังได้ตระหนักถึงวิสัยทัศน์ร่วมอันลึกซึ้งระหว่างผม กับคริสเตียน ดิออร์ นั่นก็คือความรักต่อธรรมชาติ และศิลปะการทำสวน ซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิดแรงบันดาลใจ และสร้างสรรค์ใหม่ได้อย่างไม่มีวันจบสิ้น เป็นอีกหนึ่งวิถีในการหลอมรวมอาณาจักรแห่งการสร้างสรรค์เข้ากับความงดงามของหลากสรรพสิ่งบนผืนโลก เพื่อปลูกฝัง บ่มเพาะ และสืบสานสำนึกในคุณค่าพรรณพฤกษา และรุกขชาติให้ดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืน

“ผมยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมกับการเปิดตัวคาเฟ่ดิออร์ ภายใน Dior Gold House ใจกลางกรุงเทพมหานคร นี่เป็นโอกาสอันหาได้ยากมากสำหรับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมวิสัยระหว่างศิลปะทางการตัดเย็บของห้องเสื้อชั้นสูงกับศาสตร์แห่งการปรุงอาหารตามวิถีโภชนศิลป์ชั้นสูง ถึงแม้จะเป็นสองวิชาชีพต่างสาขา กระนั้น กลับมีบรรทัดฐานร่วมจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์​ และความประณีต พิถีพิถันทางงานฝีมือ เพื่อให้ช่างศิลป์แต่ละแขนงได้แสดงออกถึงพรสวรรค์ หรือภูมิปัญญาของตนผ่านกระบวนการอันสลับซับซ้อน ซึ่งต่างต้องอาศัยการใช้เวลาเป็นสำคัญ เหนืออื่นใด ความตระหนักรู้ หรือความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความสำคัญในการสืบสานความต่อเนื่องให้แก่บรรดาทักษะ ความชำนาญเหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญอันจะขาดเสียมิได้ในการก้าวสู่จุดสูงสุดของความเป็นเลิศ” 

Author: Pacharee Klinchoo

- Advertisement -