เผยโฉมอย่างดงามไปแล้วเมือ่ไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมากับ Dior Gold House บนพื้นที่ระหว่างเซ็นทรัลชิดลมและเซ็นทรัลเอ็มบาสซี่ ตัวอาคารสีทองที่หรูหราโอ่อ่านอกจากจะพ้องกับชื่อของ Dior ที่หมายถึงเทพแห่งทองแล้วยังสื่อถึงเมืองไทยที่อร่ามไปด้วยสีทองของวัดวาอารามอันงดงาม เรามาดูกันว่า Dior Gold House มีอะไรที่พลาดไม่ได้บ้าง
ตัวสถาปัตยกรรมด้านนอกที่ผสมผสานความเป็นไทยกับฝรั่งเศสได้อย่างลงตัว โครงสถาปัตยกรรมแบบตึกที่ 30 อะเวนิวมงตาญ ที่เป็นบูติกแรกของ Dior แต่ตกแต่งผิวนอกด้วยด้วยโมเสคสีทองแบบไทยๆ ซึ่งรัฐ เปลี่ยนสุขผู้ออกแบบบอกว่าสีทองสำหรับคนไทยคือความทรงจำ แต่ขณะที่สีทองของคนยุโรปคือความหรูหรา และดิออร์มีความหมายถึงเทพแห่งทองคำ
ดาวดิออร์
ถ้าจะให้นับดาวดิออร์ที่เป็นส่วนตกแต่งหลักๆ ในสถาปัตยกรรมของ Dior Gold House เราอาจจะนับไม่ครบเพราะ ดวงหนึ่งอยุ่ด้านนอกอาคาร และอีกสองดวงอยู่ด้านในนั่นก็คือช่องแสงที่เจาะตรงยอดเพดานโดม
ตุ๊กตุ๊ก Dior
จากการออกแบบของศรัณย์ เย็นปัญญา รถตุ๊กตุ๊กของดิออร์ออกแบบโดยสอดสานความเป็นดิออร์ไว้ในรถตุ๊กตุ๊กแบบไทย ซึ่งแท้จริงแล้วรถตุ๊กตุ๊กเป็นวัฒนธรรมร่วมสามสิบกว่าชาติ แต่ละชาติก็มีความต่างกันในรายละเอียดของรูปทรง นอกจากแทรกดาวดิออร์ในการตกแต่ง เบาะยังกรุด้วยเสื้อจันทบูร ตัวรถตกแต่งด้วยการสานด้วยหวายซึ่งอ้างอิงถึงดิออร์ที่เก้าอี้ในเมซงของมิสเตอร์ดิออร์ก็เป็นหวายสาน
กระเป๋า Lady Dior สานจากไม้ไผ่
ไม่ได้มีใบเดียว แต่มีหลายสิบใบมาก เป็นผลงานสร้างสรรค์ของวาสนาและสาวิน สายมา แห่ง Vassana โดยแต่ละใบมีดีไซน์ที่แตกต่างกัน ด้วยการเป็นงานฝีมือทำให้มีรายละเอียดเล็ก ๆน้อยๆ ที่ต่างกันไป แต่โดยส่วนดีไซน์หลักๆ ก็มีความต่างกันด้วย เป้นงานฝีมือที่บ่งบอกถึงความเป้นไทยอย่างแท้จริง
อาร์มแชร์คู่ลูกผสมไทย-ฝรั่งเศส
อาร์มแชร์นั่งสนทนา tête à tête ซึ่งเป็นเก้าอี้สไตล์ฝรั่งเศสที่ทำให้คนนั่งคู่กันหันหน้าเข้าหากัน แต่ความเป็นไทยอยู่ที่ผ้าที่หุ้มเบาะเป็นผ้าลายสานเหมือนเสื่อจันทบูร และมีลายประจำยามแกะสลักช่วงบนขาอาร์มแชร์คู่ตัวนี้ โดยลายนี้มีความเชื่อของคนไทยว่าจะช่วยป้องกันจากสิ่งร้ายต่างๆ
อาร์มแชร์กระจกเกรียบ
ผลงานการออกแบบของเอกรัตน์ วงษ์จริต เป็นอาร์มแชร์โมเดิร์นแบบยุโรปแต่ตกแต่งผิวด้วยกระจกสีซึ่งเป็นงานฝีมือแบบช่างไทยอย่างแท้จริง ต่างจากกระจกสีแบบยุโรป โดยกระจกสีแบบไทยจะมีความบางที่เรียกว่ากระจกเกรียบ เป็นภูมิปัญญาของช่างไทยโดยแท้ เอกรัตน์เลือกโทนสีเข้มไม่ได้ฉูดฉาดให้เป็นสีเบญจรงค์ของไทย
ยูนิคอร์นและสิงโตและโซฟาผ้า life cycle.
ประติมากรรมที่าร้างขึ้นจากลูกแบตมินตันที่ถูกทิ้งจากการใช้งานแล้ว ซึ่งเราทราบดีว่าการเล่นกีฬาชนิดนี้ในระดับโปรฯ จะใช้ลูกเปลืองมาก แต่วิชชุลดา บัณฑรานุวงศ์ ได้นำเอาวัสดุเหลือใช้ต่างๆ มาสร้างสรรค์เป็นผลงานของเธอ โดยยูนิคอร์นและสิงโตตัวใหญ่ที่ว่าตั้งอยุ่ในสวน และด้านในมีอาร์แชร์ตัวยาวที่เป็นรูปโค้งหุ้มด้วยริมผ้าที่ไม่สามารถนำไปตัดเย็บอะไรได้แต่วิชชุลดานำมาถักเเพื่อหุ้มเฟอร์นิเจอร์
การรวมตัวของกระเป๋า Lady Dior Art
ห้องหนึ่งเป็นการรวมเอากระเป๋า Lady Dior Art ซึ่งเป็นโครงการที่ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 9 โดยเป็นการร่วมงานของดิออร์กับศิลปินจากประเทศต่างๆ เป็นกระเป๋าเลดี้ดิออร์อาร์ตที่มีเพียงใบเดียวของศิลปินนั้นๆ และที่นี่ยังเป็นที่เดียวที่มีกระเป๋าเลดี้ดิออร์อาร์ตปีที่ 9 ที่ครบทุกใบ ซึ่งปกติกระเป๋าในโครงการนี้จะไม่อยู่รวมในสถานที่หนึ่งๆ ได้ครบทุกใบ
เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งดีไซน์พิเศษ
ผลงานของนักออกแบบคู่คือรัฐ เปลี่ยนสุขและฟิลิปป์ มัวสัน โดยรูปทรงที่มีที่มาจากธรรมชาติเพราะมิสเตอ์ดิออร์หลงใหลในเรื่องของสวน ดอกไม้ และธรรมชาติมากๆ การสร้างสรรค์ผลงานของเขาจะทำในบ้านพักที่แวดล้อมด้วยสวนสวย ดังนั้นนักออกแบบทั้งคู่จริงสร้างเฟอร์นิเจอร์ขึ้นมาเป็นสวนแห่งดิออร์ที่อยู่ภายใน
จุดเช็คอินที่พลาดไม่ได้ Café Dior
ตั้งแต่มีข่าวเรื่อง Dior Gold House จะเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ก็มีข่าวแว่วว่าต้องมี Café Dior แน่นอน ภายในงดงามน่าตื่นตาด้วยงานออกแบบมิติศิลป์โดยกรกต อารมณ์ดี ผู้นำงานจักสาน ตอกไม้ไผ่รังสรรค์เสน่ห์ธรรมชาติในอาณาจักรพรรณพฤกษา และสัตว์ชีวิตขึ้นแบบสามมิติของมวลดอกไม้, ใบไม้ และวิหคนกน้อยได้อย่างละเมียดละไมดุจมีชีวิต
ส่วนสุนทรีย์แห่งกลิ่นรสเป็นการรังสรรค์ของมอโร โกลาเกรโก เชฟผู้มีชื่อเสียง เพียงแต่วันนี้ทางคาเฟ่ดิออร์ยังไม่เปิดให้บริการเราเลยยังไม่ได้ลิ้มลองฝีมือเชฟ โดยคาเฟ่จะเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคมศกนี้
แน่นอนว่ายังมีอีกหลากหลายสิ่งที่รอให้คุณไปชมด้วยตนเอง นี่คือดลกแห่งดิออร์ที่มีที่นี่ที่เดียวในกรุงเทพอย่างแท้จริง เพราะที่อื่นๆ ก็ไม่มีเหมือนที่นี่ โดยเฉพาะการสร้างสรรค์จากศิลปินที่มาร่วมงานกับดิออร์สำหรับ Dior Gold House ในกรุงเทพแห่งนี้