แค่ได้ทำสิ่งที่ชอบและให้คนรักในสิ่งที่เราเป็นก็พอแล้ว พูดคุยกับพวกเขา ‘The Whitest Crow’

Share This Post

- Advertisement -

“ปีนี้วงอายุเข้าปีที่ 13 แล้ว แต่ก็ยังเป็นน้องใหม่ของคนอื่นอยู่ดีครับ” ไตเติ้ล – ปฏิภาณ สุวรรณสิงห์ นักร้องนำพ่วงตำแหน่งมือกีตาร์ของวง The Whitest Crow เล่าย้อนอดีตด้วยเสียงกลั้วหัวเราะ “ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ดนตรีหลักๆ ที่เราฟังก็จะเป็นบริทป็อป ไซคีเดลิก กอธิค มีความเป็นขาวๆ ดำๆอยู่ในนั้น พอพวกเราจะตั้งชื่อวง ก็อยากให้มีอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับความสยองขวัญอยู่ในชื่อวง ตอนแรกนึกถึงลูกกรงก่อน ได้มาเป็นชื่อ ‘Secret Cage’ แต่พอกำลังจะตัดสินใจ จู่ๆ ชื่อ ‘The Whitest Crow’ ก็โผล่เข้ามาเลยครับ ซึ่งจริงๆ แล้วอีกามันก็เป็นส่วนหนึ่งของหนังสยองขวัญอยู่แล้ว มันเลยเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่ถ้าเป็นกาดำปกติอาจจะธรรมดาไป พวกเราเลย invert มันให้เป็นสีขาว ซึ่งเราอยากจะให้มันสื่อถึงวงของพวกเราที่มักจะถูกตัดสินไปก่อนโดยลุคภายนอกได้ง่ายประมาณหนึ่ง สรุปชอบไอเดียของความย้อนแย้งระหว่างข้างนอกและข้างในที่แตกต่างกัน ก็เลยเป็นที่มาของชื่อวงนี้ล่ะครับ” 

แม้ว่าอายุอานามวงจะนานเกินทศวรรษ สารภาพว่าเราไม่เคยรู้จักวงนี้เลยจนกระทั่งได้ชมฝีมือของพวกเขาในฐานะวงเปิดคอนเสิร์ต Liam Gallagher Live in Bangkok เมื่อปี 2018 และได้ทำความรู้จักพวกเขาผ่านบทเพลงต่างๆ นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา “ซิงเกิ้ลล่าสุดของพวกเรา ‘คฤหาสน์แห่งความเศร้า’ เราได้ร่วมงานกับพี่ตุล วงอพาร์ตเมนต์คุณป้าครับ” ไตเติ้ลเล่า “ซิงเกิ้ลนี้ชื่อเดียวกับอัลบั้มแรกของพวกเราที่กำลังจะออกในเดือนพฤศจิกายนนี้ครับ แต่เพลงนี้เกิดมาก่อนทุกเดโม่ที่เรารวบรวมมาเป็นอัลบั้มนี้เสียด้วยซ้ำครับ เป็นเพลงแรกๆ ที่พวกเราทดลองทำอะไรที่พวกเราอยากจะทำกันก่อน ทำไปทำมาก็ได้เพลงนี้ที่เป็นเพลงที่พวกเราชอบมากๆ เกิดขึ้น แต่เราก็เลือกปล่อยซิงเกิ้ลอื่นๆ ออกมาก่อนในระหว่างการเดินทางของพวกเรา พอมาถึงวันนี้ ที่พวกเรารู้ว่าถึงเวลาต้องขมวดจบเรื่องราวทั้งหมดแล้ว ก็นึกได้ว่ามีเพลง ‘คฤหาสน์แห่งความเศร้า’ ค้างอยู่ในสต็อกเพลงเดโม่ของพวกเรามานานแล้ว เพลงนี้ตอบโจทย์การเล่าเรื่องของวงมากๆ เลยครับ เพราะเพลงของวง The Whitest Crow จะมีความเศร้าซ่อนอยู่ในทุกๆ เพลงอยู่แล้วครับ แต่เป็นน้ำตาที่อยู่ในบริบทที่แตกต่างกัน อาจจะเป็นความโกรธ ความแค้น ความเสียใจ ความดีใจ หรือความทุกข์ต่างๆ นานา เพลงนี้เป็นเพลงที่สรุปจบได้ดีเพราะคฤหาสน์แห่งความเศร้าคือสถานที่สมมติแห่งหนึ่งที่อยู่ในใจเรามาตลอด หลายคนอาจจะแชร์สถานที่นี้ร่วมกับคนอื่นๆ หลายคนอาจจะพบเจอสถานที่นี้ได้ในชีวิตจริง พวกเราอยากให้ทุกคนเข้ามาลองเยี่ยมชมพื้นที่แห่งความทุกข์นี้ในอารมณ์สนุกสนาน มาทำความเข้าใจกับมัน เพื่อให้ปลงไปกับมัน และมีชีวิตอยู่ด้วยกันไปกับมันได้แบบไม่ต้องมีความสุขมากก็ได้ แค่ให้รู้ว่าจะต้องอยู่กับมันอย่างไร และเมื่อรู้แล้ว ก็รีบออกไปจากคฤหาสน์แห่งนี้ให้เร็วที่สุดครับ

“ดีใจมากเลยครับที่ได้เสียงพี่ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้ามาเติมแต่งให้คฤหาสน์หลังนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น” เสียงไตเติ้ลดีใจแบบปิดไม่มิด “ตอนที่เราทำเดโม่กัน ท่อนที่พี่ตุลร้องในปัจจุบันเป็นท่อนที่เราคิดอยู่แล้วว่าเราจะเอาใครมาร้องดี เพราะจะให้ร้องเองก็เขินๆ เพราะรู้สึกว่าพวกเราไม่ได้มีประสบการณ์หรือออร่าอะไรสักอย่างมากพอที่จะมาร้องท่อนนี้ได้ และพอรู้ว่าพี่ตุลจะมาร้องท่อนนี้ให้ ทุกคนก็เห็นด้วยเลยครับ เพราะพี่ตุลก็น่าจะเข้า-ออกคฤหาสน์แห่งนี้มาหลายครั้งแล้ว เขาน่าจะเป็น time traveller ที่เจนจัดในวงการ และดีใจที่เขามาบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้กับพวกเราในคฤหาสน์แห่งความเศร้าหลังนี้ครับ” 

นอกจากจะเป็นซิงเกิ้ลล่าสุดของวงแล้ว‘คฤหาสน์แห่งความเศร้า’ ยังเป็นเพลงไฮไลท์สำคัญที่วงแนะนำให้คุณเปิดฟังเพื่อทำความรู้จักกับตัวตนของวงเป็นเพลงแรกอีกด้วย “ถ้าคุณเพิ่งมาใหม่ และไม่เคยฟังเพลงของเราเลยสักเพลงนะครับ” อ๋อง – วิศวชาติ สินธุวณิก มือกีตาร์ของวงยิ้ม “ผมอยากให้คุณลองฟังเพลงนี้ดู เพราะเพลงนี้อยู่กับพวกเรามาตลอดการเดินทางของพวกเรา พวกเราคือเพลงนี้ เพลงนี้ก็คือพวกเราล่ะครับ” ซึ่งไตเติ้ลก็เสริมทันที “เราแค่รอเวลาว่าเพลงนี้จะเกิดขึ้นจริงๆ ได้อย่างไรบ้าง พอมาถึงเวลารวบเป็นอัลบั้ม เพลงนี้ตอบโจทย์ที่สุดแล้วครับ เพราะมันเป็นเหมือนสารตั้งต้นของกลิ่นต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในทุกเพลงของอัลบั้มนี้ ทั้งสไตลิ่งแนวดนตรี วิธีการเล่าเรื่อง ไปจนถึงมู้ดแอนด์โทนโดยรวมของทั้งอัลบั้มน่ะครับ” 

ถ้าวงสามารถหยิบจับบทเพลงอายุ 13 ปีมาปรากฏตัวในอัลบั้มแรกของวงได้ แปลว่าวงเชื่อมั่นในดนตรีร็อคที่ตัวเองชอบในยุคนั้นมากเลยนะ เราตั้งข้อสังเกต คุณเชื่อมั่นในเพลงร็อคมากขนาดไหนในบริบทที่คนเชื่อกันว่าร็อคกำลังจะตาย หรือถึงขั้นตายไปแล้วแบบนี้ “ผมว่าเพลงร็อคมันน่าจะอยู่ในทุกยุคทุกสมัยนะครับ” ไตเติ้ลตอบด้วยน้ำเสียงมั่นใจ “แต่ความใหญ่ของมันอาจจะแตกต่างกันไปตามภาษาดนตรีของโลกในแต่ละยุค ส่วนในปัจจุบันเห็นได้ชัดว่าเพลงร็อคที่ไม่ตายคือเพลงร็อคที่มีการผสมผสานแนวเพลงอื่นๆ เข้าไป ผมว่ามันเลยยุคที่จะเกิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาในแง่ของศิลปะแล้วครับ มันเป็นยุคที่หยิบจับอะไรเก่าๆ มามิกซ์เพื่อให้เกิดอะไรที่น่าสนใจมากขึ้น ผมเห็นวงร็อคหลายๆ วงที่เป็น top tier ในวงการใช้กระบวนการนี้ในการทำงานทั้งไทยและเทศ ซึ่งผมรู้สึกว่านี่เป็นวิธีที่ทำให้ดนตรีร็อคไม่ตายหรือหายไปไหนครับ” 

“ส่วนผมมองว่าดนตรีร็อคยังอยู่ได้ครับ” เบ็น – นัทธพงศ์ พรหมจาต มือกลอง รีบเสริม “แต่อาจจะอยู่ได้ยากถ้าไม่มีส่วนผสมอื่นเข้ามาเลย ผมว่าในยุคปัจจุบันวงที่ยังทำเพลงร็อคอยู่คือวงที่มีส่วนผสมของเพลงร็อคมากกว่าเพลงแนวอื่น เพราะในยุคปัจจุบันผมว่าคนไม่ได้มองหาวงร็อคแบบ pure rock 100% อีกต่อไปแล้ว แต่ทุกคนมองหาเพลงร็อครสชาติใหม่ เพราะโลกมันเปลี่ยนไปทุกวันครับ ถ้าเราสามารถทำเพลงร็อคที่มีส่วนผสมอย่างอื่นเข้ามาได้อย่างกลมกล่อมมากพอ มันจะทำให้วงเราอยู่ได้นาน และอยู่ได้เรื่อยๆ ครับ” 

“ขอแค่เรามีความสุขกับทุกวันที่ได้ทำเพลง ได้ปล่อยเพลงให้คนฟัง และได้ทดลองอะไรใหม่ๆ ก็โอเคแล้วครับ” ไตเติ้ลตอบแบบไม่ต้องคิดเมื่อเราถามถึงเป้าหมายสูงสุดของวง “เรื่องความคาดหวังต่างๆ ผมว่าวงดนตรีก็มีทุกวงล่ะครับ ถ้าได้อย่างที่คาดหวังก็ดี แต่ในขณะเดียวกัน เราก็อยากจะมีความสุขกับสิ่งที่เราทำ และให้คนอื่นได้มีความสุขไปกับพวกเราด้วย นั่นน่าจะเป็นเป้าหมายหลักของพวกเราที่พยายามทำอะไรที่ตัวเองชอบจริงๆ และให้คนอื่นชอบเราที่เป็นตัวเรานี่ล่ะครับ”

Photographer: Pannatat Aengchuan
Author: Pacharee Klinchoo

- Advertisement -