“วงเริ่มต้นจากผมเลยครับ” เมฆ – จิรกิตติ์ ถาวรวงศ์ นักร้องนำวง Saint After Six เล่า “ผมอยากทำวงดนตรีแนวเมทัลมานานแล้วครับ แต่ยังไม่รู้จักคนที่ชอบดนตรีแนวนี้เหมือนกัน เคยทำวงเล่นๆ กับเพื่อน ใช้ชื่อวงว่า Kage แต่พอเปลี่ยนไลน์อัพ เปลี่ยนแนวเพลง และทิ้งระยะห่างในการปล่อยเพลงไปปีหนึ่ง ก็เลยคิดว่าตั้งวงใหม่ไปเลยดีกว่า ไหนๆ มันก็ไม่ได้มีอะไรเชื่อมโยงกับวงเก่าอยู่แล้ว เลยเปลี่ยนชื่อวงเป็นชื่อนี้นี่ล่ะครับ
“ตอนที่ตั้งชื่อวงนี้ มันเป็นเรื่องตลกมากกว่าครับ” เมฆเล่าต่อ “เราตั้งโดยการกด generate หาชื่อวงโดยให้มันตั้งชื่อแบบสุ่มๆ ไปเรื่อยๆ จนเจอ ‘Saint After Sex’ ก็คิดว่ามันแปลกดี แต่เราไม่อยากให้ชื่อมันดูโจ่งแจ้งไปในทางเซ็กซ์เท่าไหร่ เลยเปลี่ยนเป็น ‘six’ แทนครับ ถ้าถามว่าชื่อวงมีความหมายไหม ส่วนตัวผมชอบความหมายของชื่อนี้อยู่แล้วนะครับ ผมว่าคำว่า ‘sex’ เป็นตัวแทนของการทำบางสิ่งบางอย่างตามอารมณ์ความรู้สึก ส่วนคำว่า ‘saint’ เป็นความรู้สึกบรรลุ หรือต้องการไถ่บาป เหมือนเวลาเราทำอะไรสักอย่างตามอารมณ์ตัวเอง และรู้สึกเสียใจว่าไม่ควรทำลงไปเลย เราก็จะเติบโต และตื่นรู้จากการกระทำของเรา อะไรแบบนี้ครับ เพราะฉะนั้นในแง่ของความหมายมันก็คือ ‘Saint After Sex’ นี่แหละครับ แค่เปลี่ยนเป็น ‘Saint After Six’ เท่านั้นเอง”
แนะนำวงไปแล้ว แนะนำเพลงที่บ่งบอกตัวตนของวงมากที่สุดต่อกันเลย “ผมคงแนะนำเพลง ‘เงา’ นี่แหละครับ” เมฆตอบแบบไม่ต้องคิด “เป็นทั้งเพลงใหม่ล่าสุด และเพลงที่ผมจะแนะนำเลยครับ เพราะมันเป็นเพลงที่เป็นความลงตัวของวงเรา ณ ตอนนี้ที่สุด เพลงแรกที่ปล่อยไปมันยังมีความอยากเล่นอยากลองอยู่มาก เป็นเพลงที่เราคิดว่าเราชอบดนตรีประมาณนี้ แต่พอมาเล่นสดแล้วยังรู้สึกว่าไม่ตรงมือขนาดนั้น แต่พอมาถึงเพลง ‘เงา’ มันผ่านความรู้สึกนั้นมาแล้ว เราเลยออกแบบเพลงแบบที่เรารู้สึกว่าเราชอบที่จะฟัง และชอบที่จะเล่นด้วยครับ
“และเพลงนี้มันมีรากฐานของเมทัลคอร์อยู่ในเพลงอยู่มาก” เมฆเล่าต่อเนื่อง “มันมีความหนักของมันอยู่ แต่ผมเองไม่ได้ชอบการว้ากมากขนาดนั้น คือผมชอบแหละ แต่ไม่อยากว้ากทั้งเพลง เพลงนี้เลยออกมาเป็นแนวที่ดนตรีหนัก แต่วิธีการร้องจะออกแนวฟังง่าย และผมเองก็มาจากสายป็อป ผมเลยรู้ว่าจะใส่เอเลเมนต์ความเป็นป็อปมาในเพลงเมทัลอย่างไรให้ลงตัวที่สุด ส่วนเรื่องดนตรีปล่อยให้เป็นหน้าที่คนอื่นๆ ในวงครับ”
“เรื่องดนตรีส่วนใหญ่จะเริ่มจากผมกับพี่อาร์ต (อชิตพล สารกิจพันธ์ – มือกีตาร์ของวง) ครับ” เต้ย – สหชาติ งามแสง มือเบส รับลูกต่ออย่างถูกจังหวะ “วงอื่นอาจจะเริ่มจากกีตาร์ แต่วงผมจะเริ่มจากการทำ sound design ก่อนเป็นอย่างแรกครับ เพราะจะเน้นที่อารมณ์ของเพลงก่อน แล้วค่อยมาใส่ไลน์กีตาร์ในสไตล์พี่อาร์ตอีกทีหนึ่ง และก็ค่อยๆ เติมกันไปจากจุดนั้นครับ”
“หลังจากนั้น สมาชิกทั้งวงก็จะมาตัดสินใจร่วมกันแล้วครับว่าใครจะอยากเล่นดนตรีแบบไหน” เมฆเล่าต่อ “แต่หลักๆ แล้ว เพลงของพวกเราจะเป็นแนว…” เขานิ่งคิดไปสักพัก “สมัยก่อนอาจจะเรียกว่าแนวอีโมฯ ก็ได้นะครับ คือจะเน้นเรื่องอารมณ์ความรู้สึกที่ถ่ายทอดออกมาว่าคนฟังเพลงของเราจะรู้สึกอย่างไร อันนั้นเป็นรากฐานหลักในการสร้างสรรค์เพลงของพวกเราเลยครับ เราไม่ได้สนใจว่าดนตรีจะต้องหนักขนาดไหน แต่เราจะคิดก่อนว่าเพลงนี้จะให้คนฟังรู้สึกอย่างไร ประมาณนี้ครับ”
ฟังดูแล้วดนตรีของคุณก็ออกแนวผสมผสานเป็นทุนเดิมอยู่แล้วนะ “แนวร็อคกินกับอะไรก็อร่อยครับ” อาร์ตหัวเราะ “เป็นแนวดนตรีที่ผสมกับอะไรค่อนข้างง่าย ต่อยอดก็ง่าย มันอยู่ได้ของมันอยู่แล้วครับ มันไม่มีทางหายไปไหนหรอกครับ” ซึ่งทุกคนก็หัวเราะตอบรับ “ผมมองว่ากระแสเพลงแต่ละยุคมันคือเทรนด์ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ น่ะครับ” เมฆเสริม “ผมมองว่าในแต่ละยุคมันจะมีกระแสเพลงหลักของมันอยู่ และก็จะมีคนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้ฟังเพลงกระแสหลัก และมีความกระหายที่จะขึ้นมาอยู่บนดิน และความกระหายนั้นก็จะกลายเป็นคลื่นที่ค่อยๆ ผลักดันให้แนวเพลงนั้นกลายมาเป็นกระแสหลักครับ มันก็ขึ้นอยู่กับว่าเวลานั้นจะมาเมื่อไหร่ ซึ่งช่วงนี้ก็ต้องขอบคุณ Paper Planes, ไททศมิตร, The Darkest Romance, Three Man Down และวงอื่นๆ ที่ช่วยกันวางรากฐานเพลงร็อคให้คนรุ่นใหม่มาสนใจฟังเพลงร็อคมากขึ้นในยุคปัจจุบันนี้ครับ”
Photographer: Intrachai Watmakawan
Author: Pacharee Klinchoo