‘เพลงร็อคไม่หายไปไหนหรอกครับ’ พบบทสัมภาษณ์จากวง Bomb at Track

Share This Post

- Advertisement -

Bomb The System คือชื่อแรกที่ทำให้เรารู้จักกับ Bomb at Track เพราะมันคือชื่ออัลบั้มที่เราบังเอิญเดินผ่านในร้านขายเครื่องเขียนแฟรนไชส์แห่งหนึ่ง และสะดุดตากับสีสันจัดจ้านและภาพกราฟิกดึงดูดใจ เราเลยซื้อกลับมาแบบไม่คิดอะไรมาก แต่พอมาลงนั่งคุยกับ 5 สมาชิกวง ก็ทำให้เรานึกได้ทันทีว่าเหตุใดเราถึงสะดุดตากับอัลบั้มนี้ในตอนนั้น “พวกเราเกือบจะใช้ชื่อวงว่า Bomb The System ครับตอนแรก” ข้น – ศาสตร์ พรมุณีสุนทร มือเบส เล่าที่มาของชื่อ ซึ่งทำให้เราอ๋อในใจทันที “มันเป็นชื่อหนังเกี่ยวกับการพ่นกราฟิตี้ที่พวกเราชอบมากน่ะครับ” ใช่สิ… หนังที่ทำให้เราในวัยเยาว์หลงรัก แต่กลับลืมเลือนเมื่อเติบโตขึ้น ไม่แปลกใจเลยที่หน้าปกอัลบั้มนั้นจะดึงดูดใจเราได้ “พวกเราชอบคำว่า ‘Bomb’ ครับ เลยคิดต่อมาเป็น ‘Bomb Attack’ ซึ่งคือการโจมตี หลังจากเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหลายรอบ ก็มาลงที่ ‘Bomb at Track’ หรือการระเบิดที่แทร็คเพลง เป็นการทำเพลงระเบิดมันๆ หนักๆ แบบที่พวกเราทำน่ะครับ” 

พอได้ฟังคำอธิบายเต็มๆ แบบนี้ เราก็เริ่มจะปะติดปะต่อได้ว่าเหตุใดเราถึงรู้สึกต่อติดกับวงได้อย่างประหลาดทั้งๆ ที่วงนี้ก่อตั้งขึ้นในขวบปีที่เราไม่น่าจะอินกับเพลงแบบนี้ได้ง่ายดายอีกต่อไปแล้ว “ตอนที่ก่อตั้งวงกันเมื่อปี 2016 ก็ไม่ได้เชิงว่าจะคิดเล่นหรือคิดจริงกันขนาดนั้นนะครับ” ข้นเล่าย้อนอดีต “แต่ตอนนั้นมันเหมือนก๊อกสุดท้ายแล้วว่าเดี๋ยวพวกเราก็จะเรียนจบแล้ว (สมาชิกทุกคนในวงเรียนสาขาดนตรี) และเด็กเรียนดนตรี ถ้าอยากจะทำอะไรกันสักอย่าง ก็อยากทำวงนี่ล่ะครับ พวกเราเลยเลือกที่จะลองทำไปเลย คิดน้อยๆ ทำหนึ่งเพลง ไปอัดแล้วก็ปล่อยออกไปเลยครับ ตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่าเพลงนั้นจะพาเราไปที่ไหนได้บ้าง” 

“ตอนลงมือทำตอนนั้นมันก็เป็นแค่ภาพสั้นๆ เฉยๆ เลยครับ” เต้ – วงศกร เตมายัง นักร้องนำ อธิบาย “แค่อยากมีวง แค่อยากปล่อยเพลง แค่นั้นเลย ไม่ได้รู้เลยครับว่าสุดท้ายมันจะเป็นยังไงต่อ” จากภาพสั้นๆ ในตอนนั้น มาถึงวงที่เรียกได้ว่าเป็นรุ่นพี่ของเหล่าชาวดนตรีร็อคยุคนี้แล้ว แรงกดดันเพิ่มขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการคิดทำเพลงในปัจจุบันมากน้อยขนาดไหน “ก็มีบ้างนะครับ แรงกดดัน แต่ก็ไม่ได้กดดันหนักหนามากขนาดนั้น” ข้นตอบ “เพราะสุดท้ายสิ่งที่พวกเราทำอยู่ตอนนี้ก็ไม่ได้ต่างจากสิ่งที่เราทำในตอนนั้นสักเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ต่างคือเราอยู่กับค่าย อาจจะต้องมีหลายๆ ฝ่ายที่มาคอยดูไปกับพวกเราว่าเพลงจะทำงานยังไง ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้างในการไปต่อ” 

“มีค่ายแล้วก็จะได้โฟกัสกับการทำเพลงมากขึ้นนะครับ” เมษ – ภควรรษ ประเสริฐศักดิ์ มือกีตาร์ เสริม ก่อนที่เต้จะสำทับอีกครั้ง “ก่อนจะมีค่าย เราทำเองทุกอย่างเลยครับ เอ็มวีก็ต้องคิดเอง โลเคชั่นก็ต้องหาเอง อาร์ตเวิร์คก็ต้องทำเอง เวลาทำเพลงก็เลยน้อยลงไปด้วย เพราะต้องไปสนใจเรื่องโปรดักชั่นพวกนั้น แต่พอมีค่าย ก็มีคนรับหน้าที่ต่างๆ ให้ เราก็แค่ทำเพลงของเราให้ดีที่สุด เพื่อให้ได้เรื่องราวที่จะต่อยอดไปกับเพลงให้ได้ดีที่สุดเท่านั้นเลยครับ” 

พูดถึงเพลงใหม่หน่อย “เพลง ‘ช่วงเวลาจุดพลุ’ เป็นเพลงที่เราเปรียบความรักกับการมองดูพลุครับ” เต้เล่า “คือรักที่เจอกันระยะสั้น และเป็นไปไม่ได้ พวกเราเลยเอาไปเปรียบกับการยืนมองพลุว่า เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเรายืนมองมันตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่พอเราเริ่มรู้สึกอินไปกับมัน เริ่มสนใจ เริ่มเห็นว่ามันสวยงาม มันกลับเหลือแต่ควันจางๆ แล้ว เหมือนความทรงจำที่เป็นไปไม่ได้ ค่อยๆ เลือนไปแบบนี้ล่ะครับ” ฟังดูเป็นเพลงรักจ๋าๆ เลยนะ ดนตรีเปลี่ยนไปด้วยไหม “เหมือนจะเป็นการทดลองนิดหน่อยนะครับ” ข้นตอบรับ “เพลงของพวกเราจะง่ายขึ้นจากเดิมอยู่มากพอสมควร จากที่เป็นเพลงร็อค เพลงหนัก เราก็ค่อยๆ ปรับให้เบาลง เริ่มมาตั้งแต่ซิงเกิ้ลก่อนหน้านี้แล้วนะครับ” 

“ปีนี้เราปล่อยเพลงช้าเสียส่วนใหญ่ครับ” เต้เสริม “จะนำเสนอให้เป็นเพลงที่ฟังง่าย ให้คนจดจำง่ายๆ น่ะครับ” ซึ่งนิล – สิรภพ เลิศชวลิต มือกลอง ก็เสริมอีกครั้ง “ในส่วนของดนตรีก็จะเบาลงไปหน่อยนะครับ ก่อนหน้านี้ส่วนของดนตรีคือเน้นลุยแหลก แต่ช่วงนี้พวกเราเห็นตรงกันว่าเราอยากจะให้เพลงเราผ่อนคลายมากขึ้นน่ะครับ” 

ขนาดวงที่ตั้งชื่อว่า ‘การระเบิดใส่บทเพลง’ ยังเปลี่ยนมาทำเพลงซอฟต์ลงขนาดนี้ สถานการณ์ชาวร็อคในสายตาของวงเป็นอย่างไรบ้างในโลกยุคปัจจุบันกันนะ “ผมว่าดนตรีทุกแนวมันมีวงจรของมันนะครับ” เมษออกความเห็น “แต่ผมว่ายุคนี้มันไม่ตายตัวแล้วนะครับว่าเพลงจะต้องถูกนิยามว่าเป็นเพลงร็อคอย่างเดียว มันแตกแขนงและผสมไปได้เยอะเลยครับ ถ้าเป็นยุคก่อน เราอาจจะคิดว่าเพลงร็อคต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น แต่ตอนนี้… อย่างวงพวกเรา ถ้าจะถามว่าทำเพลงแนวอะไร ก็คงไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นแนวร็อคอย่างเต็มปากอีกแล้ว เพราะเราก็ผสมแนวเพลงอื่นๆ มาหลายอย่าง เลยไม่มั่นใจว่าเพลงร็อคต้องเป็นยังไงในยุคนี้นะ” 

สมาชิกทุกคนเงียบ ราวกับคุยกับเสียงในหัวตัวเอง ก่อนที่ข้นจะเกริ่นทำลายความเงียบขึ้นมา “ผมว่าเพลงร็อคมันก็มีการเติบโตของมันน่ะครับ อย่างที่เมษบอก มันก็คือการกลายพันธุ์ของแนวดนตรี แต่ว่าพื้นฐานของเราอาจจะเป็นร็อคที่ผสมอย่างอื่นมาเยอะแยะไปหมดเท่านั้นเอง เพลงร็อคไม่หายไปไหนหรอกครับ อย่างงาน Rock Alarm ที่เราได้ไปเล่นกัน คนก็เยอะเหมือนเดิมครับ” สมาชิกทั้งหมดพยักหน้ารับ สีหน้าสดใสขึ้นทันที “คนดูเต็มเหนี่ยวมากเลยครับ สดชื่นมาก” เมษยิ้ม 

“อยากจะไปเล่นเทศกาล Fuji Rock ที่ประเทศญี่ปุ่นครับ” ข้นตอบทันทีเมื่อเราถามถึงเป้าหมายของวง “จริงๆ คืออยากไปเล่นที่ญี่ปุ่นครับ เพราะไม่เคยไปกันเลย ไปเล่น Summer Sonic ก็ได้ครับ แค่อยากไปเท่านั้นเลย” ก็ขอให้เราได้เจอกันบนเวทีใดเวทีหนึ่งในประเทศเกาะของพวกคุณนะ สัญญาว่าจะโดดให้ยับไปเลย

Photographer: Intrachai Watmakawan
Author: Pacharee Klinchoo

- Advertisement -