“เพลง ‘ผู้ชายป้ายเหลือง’ นี่เป็นเพลงที่ดูเป็นตัวตนของ Bad Baboon ในตอนนี้มากๆ เลยนะครับ” เก้า – จิรายุ ละอองมณี มือกีตาร์แห่งวง Bad Baboon ตอบด้วยน้ำเสียงอารมณ์ดี เมื่อเราขอให้แนะนำหนึ่งเพลงที่บ่งบอกตัวตนของวงได้มากที่สุด “เป็นซิงเกิ้ลแรกที่ได้ทำงานร่วมกับ Mr. Baboon และได้พี่แป๊บ (ประณัฐ ธรรมโกสิทธิ์) Sweet Mullet กับพี่โอบิ (ภัทรพงศ์ จันทร์ขาว) มาเป็นโปรดิวเซอร์ให้ ไดเร็คชั่นมันก็เริ่มชัดเจนขึ้น จากที่เคยลุยกันเอง ตามใจตัวเองกัน 100% ไดเร็คชั่นมันก็มั่วๆ หน่อย ตอนนี้วงดูเป็นเอกลักษณ์มากขึ้น แนะนำเพลงนี้เลยครับ”
“เอาจริงๆ เพลงนี้ก็ยังไม่ทิ้งความเป็น Bad Baboon แบบก่อนหน้านั้นเท่าไหร่นะครับ” Mr. Baboon รีบออกตัว “เพลงที่ผ่านๆ มามันมีความกวนสไตล์ของวงอยู่ เพลงนี้ก็มีความกวนเหมือนเดิม แค่เป็นความกวนที่เป็นรูปเป็นทรงขึ้นมานิดหนึ่งน่ะครับ” ซึ่งบอม – วิชาวัฒน์ บุดดาบุญ มือเบส ก็รีบตอบรับทันทีเช่นกัน “ผมมองว่ามันเป็นความกวนที่มีความคิดมากขึ้น พูดรู้เรื่องมากขึ้นนะครับ”
“แล้วมันก็นำมาถึงเพลงล่าสุด ‘ข้ามไปเลยได้ไหม ข้ามไปตอนไม่เสียใจ (SKIP)’ ที่เป็นเพลงช้า” เก้าพูดต่อด้วยน้ำเสียงติดความกวน “มันเป็นโหมดที่ผมรู้สึกว่า อัลบั้มชุดแรกของวงมีเพลงช้าเพลงเดียว และไม่ใช่เพลงรักด้วย ผมเลยรู้สึกว่าอยากลองทำดูบ้าง อยากจะรู้ว่ามันจะเป็นยังไงนะ ด้วยอะไรหลายๆ อย่าง ผมว่ามันสมควรแก่เวลาแล้ว หลายคนอาจจะคิดว่านี่พวกเอ็งจะทำตัวแมส อยากจะขายวิญญาณหรือเปล่า ผมก็ตอบได้เลยตรงนี้ว่า… ใช่ครับ คุณคิดถูกแล้ว” ทั้งวงหัวเราะตอบรับเขา “พวกผมไม่ได้ขายแค่วิญญาณนะครับ” Mr. Baboon รีบเสริม “ผมอยากขายโชว์ด้วย ถ้าถามผมว่าเป้าหมายของวงคืออะไร ขอตอบแบบทันทีว่าผมอยากจะมีงานจ้างให้ได้สักครึ่งหนึ่งของลำไย ไหทองคำ ก็พอครับ” และเมื่อบอมเห็นเพื่อนๆ เริ่มจะลากเราออกทะเล เขาก็รีบทำเสียงจริงจังใส่เรา “อันนี้คือพวกเราคุยกันอย่างจริงจังเลยนะครับว่า เพลง 5-6 เพลงที่เรากำลังจะทำกัน ควรจะมีสักกี่เพลงที่เราจะสามารถเอาไปเล่นได้ทุกที่ ให้ทุกคนฟังได้ ใช่ครับ… นี่คือสิ่งที่พวกเรากำลังจะทำต่อไปในอนาคต”
วง Bad Baboon เกิดขึ้นด้วยสมการง่ายๆ คือความอยากทำวงดนตรีนูเมทัลของเพื่อนสองคน “ผมกับนักร้องนำคนเก่า เป็นเพื่อนกัน ก็อยากจะทำวงนูเมทัล ซึ่งเป็นแนวเพลงที่เราโตมาด้วยกันน่ะครับ” เก้าเล่า “ตอนทำเดโม่แรก มีกันอยู่สองคนเลยครับ แล้วก็ไปชวนพี่โดม ที่เป็นรุ่นพี่ที่รู้จักกันมาตั้งแต่เด็กมาเป็นมือกลอง เพราะรู้อยู่แล้วว่าพี่โดมเป็นครูสอนกลอง และพอจะทำวงดนตรี ก็อยากจะเล่นดนตรีกับคนที่ผมสบายใจน่ะครับ ซิงเกิ้ลแรกก็มีกันสามคนนั่นล่ะครับ แต่พอเริ่มมีงานจ้าง ก็รู้ตัวกันว่าต้องหามือเบสแล้วล่ะ ถ้าไม่มีคือเอาไม่อยู่จริงๆ ช่วงนั้นก็เริ่มทำเพลงกับ VOM Records แล้ว ไปซ้อมกันที่สังกะสีสตูดิโอ แล้วไปเจอบอมมาซ้อมกับวงของเพื่อนๆ ตอนนั้น เราก็เดินเข้าไปขโมยตัวบอมมาเลย แบบว่าใครก็ได้ที่เป็นมือเบส มาอยู่วงเราเถอะ หลังจากนั้นเราก็ทำอัลบั้มกันเสร็จเรียบร้อย นักร้องเก่าก็ไม่อยู่แล้ว เราก็เปิดออดิชั่นนักร้องนำคนใหม่แต่ยังไม่รู้สึกว่าใช่ บอมนึกยังไงไม่รู้ ลองติดต่อ Mr. Baboon ไปเล่นๆ ยังไงนะบอม” เก้าโยนให้เพื่อน
“ตอนนั้น Mr. Baboon ก็เริ่มมาทำงานกับพี่โอ๊ค (พงษ์พันธ์ พลสิทธิ์ – มือเบสวง Big Ass และผู้ก่อตั้ง VOM Records) แล้ว และในวงการ เราก็รู้กันอยู่แล้วว่าพี่เขาเป็นแรปเปอร์อยู่แล้ว ร้องอาร์แอนด์บีก็ได้ และเพื่อนๆ พี่เขาก็ตัวนูเมทัลเลย เรียกได้ว่าทุกคนรู้หมดว่าเขาร้องนูเมทัลได้ ว้ากได้ เขียนเพลงก็ได้ ผมเลยสุ่มทักหลังไมค์ไปว่า ‘พี่ครับ วง Bad Baboon จะมีงานเล่นที่เทศกาล Rock Alarm สะดวกมาเล่นด้วยกันไหมครับ พอผมพิมพ์ไปประมาณสิบวินาที แบบนับหนึ่งถึงสิบ พี่เขาก็ตอบกลับมาทันทีว่าได้ครับ… คือพี่ได้คิดไหมน่ะตอนนั้น”
“ตอนนั้นว่างน่ะ” Mr. Baboon หัวเราะ “ตอนนั้นไม่ได้คิดเลยนะครับว่าจะได้ตัวพี่เขามาเป็นนักร้องนำ” เก้าหัวเราะไปด้วย “ก็ลองทักไปเฉยๆ โชคดีที่พี่เขาตอบตกลงมาเป็นนักร้องนำนี่ล่ะครับ”
คุยกันแบบเฮฮาไปเยอะแล้ว ชาว Bad Baboon คิดเห็นอย่างไรกับสถานการณ์ชาวร็อคในโลกยุคปัจจุบันกันบ้าง “ผมว่าคนยุค 2000s ที่โตมากับเพลงนูเมทัลมันเริ่มโตกันแล้วน่ะครับ” Mr. Baboon พูดด้วยน้ำเสียงเป็นการเป็นงาน “พอโตมา เริ่มมีความสามารถในการทำเพลง ก็อยากจะ back to basic กลับไปทำเพลงที่เราชอบฟังกันสมัยเด็กๆ ผมว่ามันถึงเวลาของมันแล้วนะครับ หลายๆ คนก็เริ่มเอาความเป็นร็อคมาอยู่ในเพลงสมัยใหม่มากขึ้น ก่อนหน้านี้ซาวด์เพลงมันจะป็อป หรืออินดี้โฟล์คเป็นหลัก ไม่ค่อยมีซีนร็อคมากนัก แต่ผมว่าคนไปมิวสิคเฟสติวัลก็อยากจะมีฟีลได้กระโดดโลดเต้น มีซาวด์ที่มันมากๆ บ้างล่ะครับ ผมรู้สึกแบบนั้นนะ”
“ผมว่าคนมันก็โหยหาแหละ” เก้าสำทับ “ผมว่าวัยรุ่นน่าจะเป็นกลุ่มที่กำหนดแนวดนตรีหลักของวงการดนตรีในยุคนั้นๆ แหละ มันเป็นวัยที่มีแรง และมีความขบถในตัวอยู่แล้ว คือก่อนหน้านี้ กระแสร็อคมันอยู่มานานมากๆ แล้ว ก็ไม่แปลกใจว่ามันจะพลิกกลับ เพราะความขบถของกลุ่มวัยรุ่นนี่แหละ เห็นพ่อแม่ฟังร็อค เรามันขบถนี่ อยากจะทำอะไรก็ได้ที่ไม่ร็อค อยากจะชิวที่สุด คนอื่นโดดไปให้สูงที่สุด นี่จะนั่งให้ชิวที่สุด ให้เหลวที่สุด ชาวร็อคจะใส่ชุดดำ จะแอนตี้สังคม นี่ก็จะใส่สีสัน มันไม่มีอะไรผิดเลยครับ มันก็เป็นแบบนี้มาตลอด”
เห็นจะจริง เราคิดย้อนไปถึงยุคที่เพลงร็อค (หมายรวมถึงเมทัล อีโม และอื่นใดที่คล้ายคลึง) เป็นสัญลักษณ์ของความขบถในยุคที่เก่ากว่านี้ “ผมทำเพลง ก็อยากจะทำให้เพลงมันมีคุณค่าอะไรบางอย่าง” เก้าสรุปจบบทสนทนากับเรา “เราอยากให้งานของเราเข้าถึงคนในวงกว้างมากขึ้น ให้คนรู้สึกว่าเพลงของเรามันมีประโยชน์อะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ประโยชน์แบบกินวิตามินนะ” ก็ยังอุตส่าห์วกกลับมาเล่นมุกนะ เราหัวเราะ “แต่เป็นประโยชน์แบบฟังแล้วเพลินน่ะครับ เหมือนเวลาที่ผมตื่นเช้ามา ได้ฟัง Coldplay แล้วรู้สึกดี อะไรแบบนี้ ผมอยากให้คนฟัง Bad Baboon ตอนอาบน้ำตอนเช้า แล้วรู้สึกกระปรี้กระเปร่า พร้อมไปทำงานน่ะครับ”
Photographer: Intrachai Watmakawan
Author: Pacharee Klinchoo