‘Good Doctor’ ถือเป็นซีรีส์เกาหลีเรื่องหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างมากทั่วโลก เนื่องจากถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปดัดแปลงหลายฉบับทั้งอเมริกัน ญี่ปุ่น อินเดีย และตุรกี ปีนี้ก็ถึงคิวของเมืองไทยกับผลงานรีเมคในชื่อ ‘Good Doctor หมอใจพิเศษ’ ซึ่งได้ True CJ Creations เป็นแม่งาน และได้อ๊อฟ – มณฑล อารยางกูรรับหน้าที่ผู้กำกับ เช่นเดียวกับเวอร์ชั่นอื่นๆ ซีรีส์เรื่องนี้เล่าเรื่องของ ‘โฌน’ หมอหนุ่มมากความสามารถที่ตั้งใจช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ขณะเดียวกันเขาต้องฝ่าฟันคำครหาและข้อกังขาต่างๆ เพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองนั้นมีดีไม่แพ้คนอื่นถึงจะเป็นออทิสติกก็ตาม

เน๋ง – ศรัณย์ นราประเสริฐกุล รับบทเด่นของเรื่อง “ตอนนั้นพี่อ๊อฟติดต่อมา ผมเห็นว่านี่เป็นบทที่น่าเล่นมาก ได้เล่นอะไรมากกว่าเดิม ได้เป็นตัวของตัวเอง และรู้สึกว่าตัวละครนี้ท้าทาย [เพราะ] หมอโฌนก็เป็นออทิสติกด้วย เลยอยากจะสำรวจอะไรใหม่ๆ ครับ” เน๋งเล่าเหตุผลที่รับแสดงซีรีส์เรื่องนี้
ส่วนโทนี่ รากแก่น ในบท ‘อาชวินทร์’ หมอรุ่นพี่ผู้มีอคติต่อโฌนนั้น ก็บอกว่านี่เป็นโอกาสดีที่เขาจะได้กลับมาทำงานกับผู้กำกับที่คุ้นเคย “พี่อ๊อฟเป็นผู้กำกับคนแรกของผม หนังเรื่องแรกที่ผมเล่นก็คือเขากำกับ อยู่ดีๆ เขาก็ชวนตอนที่ผมเป็นโควิดป่วยหนัก ผมรู้สึกว่าก็เป็นโอกาสดี เพราะว่าวินทร์เป็นตัวละครที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก่อนหน้านี้เราเล่นแต่บทที่ไม่ใช่เจนเราครับ”
ด้านดู๋ – สัญญา คุณากร นั้นมีเหตุผลเพียงข้อเดียวที่เข้ามารับบท ‘ประภาส’ อาจารย์หมอผู้ใจดีประจำเรื่อง “ผมอยากเล่นเป็นหมอ ง่ายๆ แค่นั้นเลยครับ มันดูมีอะไรดี แล้วผมอยากเล่นผ่าตัดด้วย แต่บทที่ได้เป็นผู้บริหาร ไอ้นี่ก็ผ่าอยู่นั่น (หันไปทางโทนี่) ผมก็บอกว่า ‘อาชวินทร์ เราแลกบทกันไหม” ทุกคนหัวเราะด้วยความเอ็นดู “พี่ดู๋บอก ‘มึงเล่นดีๆ นะ เดี๋ยวกูเสียบนะ’ (หัวเราะ)”
โทนี่แทรกเข้ามาจนเราขำอีกรอบ แพต – ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช ก็มีเหตุผลคล้ายๆ กับดู๋ในการรับเล่นซีรีส์เรื่องนี้ในบท ‘พรีม’ แพทย์คู่หู คู่คิด และคู่ใจของโฌน “แพตอยากเล่นเป็นหมอ รู้สึกว่ามันเท่ เป็นซีรีส์ที่สนุกนะ ตื่นเต้นมาก พอได้จับ [อุปกรณ์ทางการแพทย์] ของจริงแล้วเท่มากเลย และโดยพื้นฐานเราชอบ ‘The Good Doctor’ ของอเมริกามากๆ ด้วย และชอบที่พรีมเป็น [ตัวละคร] สายอาชีพด้วยค่ะ ไม่ใช่มีแค่เรื่องรักเรื่องเกลียดหรือแก้แค้นกันไปวันๆ”




สำหรับเน๋งแล้ว การร่ำเรียนและเป็นสัตวแพทย์นั้นช่วยให้เขาเตรียมตัวรับบทเป็นศัลยแพทย์ได้มากทีเดียว “ด้วยความที่ผมเรียนสัตวแพทย์ มันเป็นหลักสูตรหกปีเหมือนหมอทั่วไป แต่ว่าอันนี้ [ศัลยแพทย์] ต้องเรียนเฉพาะทาง ผ่าตัด แต่ละเคสค่อนข้างยาก บางทีวิธีการจับเครื่องมือหรือศัพท์เราก็จะพอคุ้นๆ อยู่บ้าง เลยเอามาช่วยได้ แต่ว่าส่วนที่ยากกว่านั้นก็มี ก็ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมอีกครับว่าจริงๆ แล้ววิธีการรักษาเป็นอย่างไร หรือโทรไปถามเพื่อนหมอบ้างคร่าวๆ เพื่อให้เรามีแนวทางว่าต้องทำอะไรในห้องผ่าตัดคน ความดีอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องนี้ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์เสริมทางการแพทย์ต่างๆ ของจริงหมดเลย พอมันเป็นของจริง มันเลยทำให้เรามองเห็นภาพได้ชัดเจนครับ” ถึงเน๋งจะช่วยเพื่อนนักแสดงทำความเข้าใจศัพท์เทคนิคพื้นฐานต่างๆ ได้พอสมควร แต่ทุกคนก็ต้องหาวิธีการแสดงให้สมจริงและเข้ากับตัวเองมากที่สุดอีกทีหนึ่ง
“ท่องบทให้ได้ คือแพตแปลศัพท์ไม่ออกร้อยเปอร์เซ็นต์ เราก็ต้องใช้เวลาทำการบ้านในการจำไม่ให้คำศัพท์เทคนิคมันผิดพลาด จำเป็นภาพในหัวว่าเรากำลังพูดคำศัพท์นี้แล้วกำลังทำอะไรอยู่ อันนี้แพตว่ายาก และเรื่องท่าทางก็สำคัญนะ แพตก็ไปเลียนแบบท่าหมอตอนผ่าตัดจริงๆ พยายามทำให้เนียนและเหมือนเขามากที่สุด” แพตพูดถึงวิธีการแสดงของตัวเอง
ส่วนโทนี่นั้นมีทริคตรงกันข้าม “เราคนละสายเลย ผมความจำไม่ค่อยดี เลยต้องอาศัยความเข้าใจมากๆ คล้ายเน๋งเลยคือไปหาข้อมูลดูว่าขั้นตอนนี้นั้นมีอะไรบ้างเพื่อให้หัวใจเขากลับมาเต้น ฯลฯ อีกอย่างหนึ่งคือเราศึกษาเรื่องการมองด้วย ยิ่งได้ไปอยู่ในห้องผ่าตัด ถ้าเกิดเราผ่าตัดลำไส้ ส่วนมากจะเป็นการส่องกล้องเข้าไปใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นการมองจะอยู่ที่มอนิเตอร์ น้ำหนักมืออะไรเท่าไหร่ก็ต้องสังเกตที่เขาทำ มันไม่ใช่เบาๆ นะ เขาทำแบบ ‘ครึกๆๆ’ อย่างนี้เลย หรือถ้าเกิดผ่าตัดหัวใจหรือช่วงอก เส้นเลือดต่างๆ มันเล็กมาก ต้องใส่แว่นขยาย เรื่องนี้ก็สำคัญ”




เมื่อ ‘Good Doctor หมอใจพิเศษ’ เล่าเรื่องของบุคลากรทางการแพทย์ เราก็อดถามทั้งสี่คนไม่ได้ถึงความคิดเห็นที่พวกเขามีต่อวงการสาธารณสุขบ้านเรา “เท่าที่ได้ยินและสัมผัสด้วยตัวเอง ผมว่าดีนะ คือผมเคยเรียนอยู่ที่ออสเตรเลีย การเข้าถึงการรักษานั้นค่อนข้างยาก เราต้องเป็นหนักจริงๆ เขาถึงจะรักษา หรือแค่เข้าไปขอคำปรึกษาก็แพงมาก แล้วเราก็ได้ยินมาเยอะว่าสาธารณสุขของต่างประเทศสู้ที่ไทยเราไม่ได้หรอก” โทนี่เปิดก่อน
ส่วนหมอเน๋งก็เสริมต่อว่า “สาธารณสุขบ้านเราค่อนข้างโอเค เรารู้สึกว่าทุกคนพยายามผลิตบุคลากรให้ได้ดีๆ มีทุนการศึกษาส่งไปเรียนที่ต่างๆ แล้วทุกคนก็กลับมาพัฒนาสิ่งต่างๆ ที่เมืองไทย ผมว่าความรู้ของเราไม่ได้แพ้ชาติอื่น [ประเทศ] ละแวกใกล้เคียงเราเขาอาจจะส่งเคสมาที่ประเทศเราให้รักษาต่อ อย่างนี้ก็มีเยอะ เหลือเพียงว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาได้ทั้งประเทศ บางทีมันอาจจะกระจุกอยู่ศูนย์กลาง ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่างๆ อาจจะดีกว่าในชนบทครับ” แพตเห็นด้วยกับเน๋งว่าการแพทย์ในต่างจังหวัดยังคงมีปัญหา
แล้วดู๋ก็ให้ความเห็นปิดท้ายต่อประเด็นนี้อย่างน่าสนใจ “ผมโชคดีที่ได้ร่วมงานกับหมอเยอะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝั่งรามาฯ ม. มหิดล มาหลายสิบปี เท่าที่ผมรู้จากข้อมูลต่างๆ เรามีคุณภาพทางการแพทย์และขีดความสามารถต่างๆ ถึงขั้นเทียบเท่าประเทศที่เจริญที่สุดเลย แล้วเรามีกรณีศึกษาที่นานาชาติเขาศึกษาแลกเปลี่ยนข้ามกันไปมา [จน] เป็นเรคคอร์ดของวงการแพทย์โลก แล้วผมรู้กติกาบางอันของโรงพยาบาลที่ได้ร่วมงาน เขาตั้งปณิธานว่า คนไข้ที่เจ็บหนัก จะมีเงินหรือไม่มีเงิน เขาต้องได้ระดับขีดความสามารถสูงสุดในการดูแลรักษา เราถึงต้องมีการสงเคราะห์ช่วยเหลือกัน คนไข้อนาถามีเยอะ แต่เราต้องการให้เขาได้รับบริการในระดับเดียวกับคนไข้ผู้มีกำลังทรัพย์ ไม่รู้ว่าประเทศอื่นเขาคิดแบบนี้หรือเปล่า แต่ผมว่านี่เป็นเรื่องดีของวงการแพทย์ของเรา แต่แน่นอนเราก็ยังมีจุดอ่อนบ้าง ความไม่ทั่วถึง ฯลฯ [ฉะนั้นแล้ว] เรื่องที่ดีก็ต้องสนับสนุนต่อไป ตรงไหนที่เป็นจุดอ่อนก็ทำให้แข็งแรงขึ้นมาครับ”




กลับมาที่ตัวซีรีส์ เมื่อเป็นการดัดแปลงผลงานของต่างประเทศ ก็ต้องปรับเนื้อหาและบริบทให้เข้ากับบริบทท้องถิ่นและยุคสมัย “ครั้งแรกที่เกาหลีสร้างในปี ค.ศ. 2013 ผ่านมาสิบปี ไทม์ไลน์ก็ไม่เหมือนกัน เราจึงไม่ได้ทำตามต้นฉบับร้อยเปอร์เซ็นต์ ยุคที่เราทำมันก็ผ่านโควิด การแพทย์ก็ก้าวไปข้างหน้าแล้ว และบริบทสังคมไทยก็ไม่เหมือนกับชาติอื่น [เช่น] เราเป็นเมืองที่รับความแตกต่างได้ค่อนข้างมาก [และ] มีความเป็นครอบครัวแบบคนไทยอยู่ครับ” เน๋งตั้งข้อสังเกต
ส่วนโทนี่คิดว่าอารมณ์ขันสไตล์ไทยๆ คือเสน่ห์เฉพาะที่ทำให้ซีรีส์เวอร์ชั่นนี้ต่างจากฉบับอื่น “ที่ดูคือผมชอบความเป็นไทยคอเมดีครับ วัฒนธรรมของเราคือความชิล อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่น่ารักและเป็นกันเอง พอถ่ายทอดมาในลักษณะของซีรีส์ โดยเฉพาะช่วงเปิด เราไม่รู้สึกว่ามันจริงจังเหมือนกับเวอร์ชั่นเกาหลีและอเมริกัน นี่ก็คือความแตกต่างแล้ว… ผมว่า [เป็นเพราะ] พี่อ๊อฟเป็นคนแบบนั้นด้วย ชอบเล่าอะไรที่มันตลก” ความเป็นกันเองและสบายๆ ไม่ได้มีให้เห็นแค่ในซีรีส์แต่หลังฉากก็เป็นอย่างนั้นเช่นกัน
“ต้องให้เครดิตพี่อ๊อฟมากๆ เลยค่ะ เขาเก่งจริง เขาเห็นซีรีส์ทั้งเรื่องมาตั้งแต่ต้น และเราชอบความเปิดกว้างของเขาด้วย เขาฟังนักแสดงว่าคิดอย่างไร ทำไมถึงจะไม่พูดประโยคนี้ ทำไมถึงจะไม่ทำแบบนั้น ไม่ได้ดุจนเกินไป ค่อนข้างคุยกันได้” แพตเสริม




ปิดท้ายการสัมภาษณ์ เน๋งเชิญชวนให้ทุกคนเปิดใจรับชม ‘Good Doctor หมอใจพิเศษ’ กัน ไม่ว่าจะเคยดูเวอร์ชั่นก่อนๆ มาหรือเปล่าก็ตาม แล้วดู๋ก็พูดถึงความรู้สึกก่อนและหลังที่ถ่ายทำซีรีส์เรื่องนี้ จนถึงวันที่ได้เห็นผลงานตัวจริง “ตอนผมดูเวอร์ชั่นอเมริกันก่อนที่จะถ่ายเรื่องนี้ ผมก็เป็นห่วง เพราะผมเชื่อว่า ถ้ามนุษย์ทำเรื่องเดียวกันโดยคนละทีม มันก็อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบ เพราะของเขาดี๊ดี ทุกอย่างสมจริง ก็อดเปรียบเทียบไม่ได้ว่า ‘แล้วพวกเราจะทำได้ดีขนาดนี้เหรอวะ’ [แต่] หลังจากผมดูซีรีส์ของเรานี้เมื่อวันก่อน… เรายืนเท่าเขาเลย หรือล้ำกว่าด้วย (ทุกคนร้องโอ้โหพร้อมกัน) อันนี้ความเห็นส่วนตัวนะ ผมเทหมดหน้าตักเลยครับ”
ติดตามชม ‘Good Doctor หมอใจพิเศษ’ ได้แล้วทาง TrueID ทุกวันศุกร์ เวลา 20:00 น. ครั้งละสองตอน และออกอากาศบนทีวีทาง True Asian More (ช่อง 120, 236) ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 20:00 น.
Author: Peerachai Pasutan
Photography: Courtesy of The Label