“ถ้าพูดความฝันของเราออกไปแล้วคนที่ได้ยินเขาไม่รู้สึกกว่าเราเพ้อเจ้อ ผมว่ามันผิดพลาดละ” เราไม่แน่ใจว่า ไบรท์ – นรภัทร วิไลพันธุ์ จาประโยคนี้มาจากหนังสือหรือภาพยนตร์เรื่องไหนไหม แต่ยอมรับเลยว่าเป็นวรรคทองที่โดนใจระหว่างการนั่งคุยกันในวันนี้ เป็นความตลกร้ายที่วงการบันเทิงไทยมีศิลปินหน้าใหม่ชื่อ ‘ไบรท์’ มากกว่าหนึ่งคน หลายครั้งเราจึงอาจจะคุ้นหูชื่อของเขาจากที่คนเรียกว่า ‘ไบรท์นอ’ ซึ่งย่อพยางค์แรกมาจากชื่อเต็มของเขานั่นเอง เครื่องหน้าที่อาจจะไม่โดดเด่นแบบพุ่งทะยานเมื่อเทียบกับศิลปินคนอื่นในตึกเดียวกัน ทักษะทางการแสดงที่ยังไม่มีลายเซ็นของตัวเอง ทำให้เขาเผชิญกับวิกฤตอัตลักษณ์มานานกว่า 4 ปี นับตั้งแต่เล่นละครเรื่องแรก เมื่อพระเจ้าไม่ได้ประทานพรสวรรค์มาให้ ไบรท์ – นรภัทร เลยเป็นเหมือนตัวแทนผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งที่เกิดในครอบครัวฐานะปานกลาง และมองว่านักแสดงเป็นงานประเภทหนึ่งที่จะทาให้เขามีเงินเลี้ยงดูตัวเองและคนในบ้านได้ มากกว่าเป็นสถานะพิเศษที่เอาไว้หล่อเลี้ยงอัตตาของตน
“ผมพูดกับทุกที่เลยว่าไม่ชอบการแสดงของตัวเองช่วงแรกที่เข้าวงการ ตอนนั้นมันยังไม่เข้าใจ ยังไม่รู้ว่าสไตล์ตัวเองเป็นยังไง ไม่รู้ว่าเราชอบแบบไหน รู้สึกว่าการแสดงมันต้องเป็นแนวทางที่เราชอบด้วย เช่น นักแสดงหลายคนเขาจะไม่เล่นประเภทที่ตัวเองไม่ถนัด แต่ไม่ได้เลือกบทนะ แต่แค่รู้สึกว่าเราสะดวกใจที่จะเล่นแบบไหนมากกว่า” ไบรท์ – นรภัทร ยอมรับผิดกับเรื่องเดิมๆเหมือนบอกเป็นนัยว่าสิ่งนี้เป็นบาดแผลในใจของเขาที่ยังไม่สามารถก้าวข้ามได้ เขาเล่าต่อว่ามีความคาดหวังในผลงาน 1-2 เรื่องแรกมากว่าต้องนำชื่อเสียงมาให้ ทว่าผลที่ออกมากลับไม่เป็นอย่างนั้นจนรู้สึกว่าเลิกหวังจะดีกว่า ไบรท์ – นรภัทร เปิดตัวด้วยการแสดงแรกจากเรื่อง ‘ดอกแก้วกาหลง’ (2560) ในบทพระเอก ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ฝันที่อยากมีรูปตัวเองอยู่บนป้ายบิลบอร์ดมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เหมือนมีคนมาเขย่าให้สติว่าถ้าอยากดังก็ต้องฝึกฝนและพัฒนาตัวเองให้มากกว่านี้ “ผมนับว่าละครเรื่อง ‘พิษรักรอยอดีต’ (2565) เป็นจุดเปลี่ยนในอาชีพนี้เลย” เราชวนเขามองข้ามช็อตมาในวันที่เริ่มเข้าใจศาสตร์ของการแสดง และมีความภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำ “เรื่องนั้นก็ไม่ได้บูมมาก แต่รู้สึกว่าตัวเองเติบโตขึ้นเยอะเลย เป็นเรื่องที่ใช้นักแสดงเยอะ และมีข้อจากัดในการถ่ายทำหลายอย่าง พูดว่าทำงานแบบลำบากเลยก็ได้ แต่รู้สึกว่าจัดการกับตัวเองได้ดีขึ้นมาก ทั้งความกังวล สิ่งที่อยู่ในหัวตัวเอง รวมถึงสถานการณ์ตรงหน้าที่บางวันมันวุ่นวายสุดๆ ไปเลยคือถ้ามองย้อนกลับไปตอนที่ยังเด็กกว่านี้ เราอาจจะควบคุมมันไม่ได้หรอก เมื่อก่อนผมแยกไม่ออกว่า นี่คืองานนะ ส่วนนี่คือโลกส่วนตัว ถ้ามีอะไรมากระทบจิตใจ
ก็จะทำให้งานสั่นคลอน หรือถ้าทำงานแล้วเครียดเกินก็จะส่งผลกับชีวิตส่วนตัว พออยู่ในวงการมาได้ 4-5 ปีก็เริ่มจัดการสิ่งเหล่านี้ได้ดีขึ้น ทำให้โลกสองใบอยู่แยกจากกัน กลับมาตั้งสติ และมองพี่ๆ นักแสดงคนอื่นรอบตัว พวกเขาเป็นตัวอย่างที่ดีแบบไม่ต้องมาสอนเราเลย ก็เห็นว่าชีวิตของพวกเขาก็ไม่ได้ราบรื่นเท่าไหร่แต่ทำไมทำงานได้มืออาชีพจัง บวกกับเริ่มหาหนังสือเกี่ยวกับการฝึกสติ ซึ่งเป็นประโยชน์มาก ชอบเรื่องการฝึกตัวเองเพิ่มขึ้นมาด้วย”
ความโดดเด่นของไบรท์ – นรภัทร เริ่มเข้าตาผู้คนในวงกว้างจากความเป็นตัวของตัวเองเวลาที่เขาปรากฏตัวในรายการต่างๆ เหมือนเป็นเวอร์ชั่นใหม่ที่ปลดล็อกมาแล้ว ไม่ใช่เพราะความเคยชิน แต่เป็นกระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนไปจากการเข้าใจแก่นของการแสดง ความเปลี่ยนแปลงนี้จะเหมือนว่าวที่ติดลมบน เมื่อบินจนเจอร่องสบายในอากาศแล้ว ก็พร้อมที่จะลอยเด่นให้เห็น เปล่งความงดงามในตัวเอง “วันแรกผมทำอะไรไม่เป็นเลย เรียกว่าเริ่มจากศูนย์ได้จริงๆ ส่วนตอนนี้คิดว่าทักษะที่พัฒนาได้ดีสุดคือการอิมโพรไวส์ ช่วงเข้าวงการจะกลัวคำนี้มาก แค่จำบทก็ไม่ไหวละ จนเพิ่งมารู้ตัวว่าเราโฟกัสกับการจำบทเยอะไป การแสดงในช่วง 3-4 ปีแรกเลยออกมาดูเกร็งๆ กลัวพูดผิด กลัวพูดไม่หมด กังวลตลอดว่าเมื่อไหร่จะถึงคิวที่ต้องพูด กลายเป็นการแสดงแบบ
หลอกๆ พอโตก็ได้เห็นอะไรมากขึ้นจนรู้สึกว่า เฮ่ย… สิ่งที่เราถนัดมันไม่ใช่แบบนี้ เราถนัดแนวอิมโพรไวส์มากกว่า หลังจากนั้นเวลาได้บทก็จะรีบอ่านแบบกลืนลงไปเลย แล้วโฟกัสที่พาร์ทเนอร์ของเรา ฟังเขาพูดว่ารู้สึกยังไง แล้วตอบไปในฐานะตัวละคร” บรรยากาศของบทสนทนาเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อเขาละทิ้งความมืดหม่นในอดีตแล้วชวนเราให้มองไปข้างหน้าด้วยกัน
มันเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่ไม่ได้เริ่มต้นอาชีพด้วยการฝึกฝนเต็มที่ก่อนลงสนาม เพราะการแสดงมันไม่ได้ใช้แค่รูปทรัพย์ของความสวยหล่อและการพูดบทอย่างเต็ม แต่เป็นทัศนคติและการยอมรับตัวเองอย่างถึงที่สุดในฐานะร่างทรงของตัวละคร “มัน (นิ่งคิด) ค่อยๆ ชอบขึ้นมาเรื่อยๆ จำได้เลยว่าความรู้สึกนี้ไม่ได้เกิดตอนทำงาน แต่เป็นการเวิร์กช็อปเพื่อพัฒนาการแสดง พอทำไปก็กลายเป็นว่าเราเริ่มชอบอาชีพนี้ละ รู้สึกสนุก ไม่คิดว่าการบ้านทุกครั้งที่ได้รับเป็นภาระหรือหน้าที่ ต่อให้หลังจากนี้ไม่มีใครจ้างก็อยากทาสิ่งนี้อยู่ เราได้เรียนรู้การสังเกตและตีความคนอื่น มองและตั้งคำถามว่าเขาทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปทำไม ตัวละครอย่างนี้มีที่มาแบบไหน และเขาอยากไปต่อยังไง เวิร์กช็อปจนเริ่มซึมเข้าไปในพฤติกรรมของเรา เริ่มสนุกกับวิธีนี้ และรู้สึกว่าได้อะไรเยอะ เราเติบโตเยอะมากๆเพราะการเวิร์กช็อป ไม่ใช่แค่คาดหวังต้องทำให้ดีแค่หน้ากล้องเท่านั้น มันได้รู้ความหมายของงานที่ทำอยู่ จนรู้สึกว่าตัวเองชอบอาชีพแล้ว”
ล่าสุดกับ ‘แบบฝึกรักไม่รู้ล้มย้อนหลัง’ (2567) ซีรีส์เรื่องใหม่ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผลงานของไบรท์ – นรภัทร ได้ฉายในแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง Netflix นี่ยังเป็นการแสดงแนวคอมเมดี้เรื่องแรกของเขา ซึ่งทุกคนรู้กันดีอยู่แล้วว่าการเล่นให้ตลกไม่ใช่เรื่องง่ายสาหรับนักแสดงเลย เพราะต้องอาศัยทั้งประสบการณ์และจังหวะอันแม่นยำ ถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่านักแสดงคนนั้นมีทักษะที่แพรวพราวแล้วหรือยัง “เป็นงานที่รู้มาก่อนหน้านี้สักสองปีได้แล้วครับ ตอนนั้นรู้แค่ว่าจะมีโปรเจ็คท์ oneD ขึ้นมา แต่แค่ฟังพล็อตแล้วรู้สึกแปลกดี ดูแล้วไม่ค่อยเหมือนที่เห็นมา รู้สึกว่าอยากลอง เลยตอบตกลงไป หลังจากนั้นก็พัฒนาโปรเจ็คท์นี้มาเรื่อยๆ จนเริ่มมีเรื่องย่อ มีบท ตามหานักแสดงที่เหลือ พอได้มาแสดงก็สนุกจริงๆ พอใจกับงานนี้มากนะ ตอนถ่ายทำก็สนุกเต็มที่ มันใหม่ด้วย ไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน บรรยากาศที่ทางานมันไม่เหมือนเรื่องอื่นเท่าไหร่ เหนื่อยกว่าเรื่องอื่นเยอะ แต่สนุกมาก” เขาเริ่มเล่าถึงผลงานล่าสุดอย่างออกรส ใครที่เคยผ่านตา
เรื่องนี้ก็จะเห็นทันทีว่าการแสดงของเขาเปลี่ยน มันเป็นแอ็คติ้งแบบพุ่งตรง มีทิศทาง โปรยเสน่ห์แบบเกลื่อนกลาด ทำนายได้เลยว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นเข้าสู่ยุคทองของไบรท์ – นรภัทร แบบไม่มีอะไรมาขวางเขาได้อีกต่อไปแล้ว “ถ้าในมุมการแสดงเหมือนเราเข้าใจอะไรบางอย่างทะลุไปอีกขั้นหนึ่งละ นักแสดงทุกคนน่าจะเคยได้ยินว่าคาว่า ‘Acting is not acting.’ แต่อาจไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่ามันคืออะไร พอผ่านเรื่องนี้ไปรู้สึกว่าเราเข้าใกล้ประโยคนี้ยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเราไม่คิดมาก พอเราไม่กังวล ไม่ออกแบบทุกอย่างในหัวไว้ก่อน ทำตัวสบายๆ ก็ออกมาโอเค ดูเป็นมนุษย์ขึ้นมา”
แล้วอะไรคือสิ่งที่เขามุ่งหวังต่อไป “อยากเล่นหนัง อยากมากครับ! (เน้นเสียง) มันต้องลองสักครั้งหนึ่งก่อนถึงจะรู้ว่าอยากทามันไปตลอดไหม แต่คิดว่าผมอยากทำมันนะ เพราะดูเป็นงานที่ไม่ยืดเยื้อ ทุกคนตั้งใจมาทำและใส่สุดแรงตั้งแต่ต้นจนจบ น่าจะเป็นงานที่หวือหวาสุดโต่งดี อยากทางานกับโปรเจ็คท์ที่ทุกคนเอาจริงกันมากๆ” เขาเล่าต่อ “อีกเป้าหมายตอนนี้ผมอยากเป็นอิสระ คืออิสระในการใช้ชีวิตที่เราสามารถเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองได้จริงๆ รู้สึกว่ายังไม่ได้ทำอะไรตามใจตัวเองขนาดนั้น แค่อยากตื่นเช้า ออกกำลังกาย อ่านหนังสือสักหน่อย ออกไปทากิจกรรมที่ชอบ วันไหนอยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไม่ทำ อยากไปอยู่ชนบทสักเดือน อยากไปเที่ยวต่างประเทศนานๆ” ไบรท์บอกว่าเป้าหมายในอาชีพนี้คือการรักษามาตรฐานการเป็นนักแสดงที่ดี เขามาไกลมากแล้ว จากที่ไม่กล้าแม้แต่จะออกไปยืนหน้าห้องเรียนท่ามกลางสายตาผู้คนที่จับจ้อง
เราถามก่อนจากกันว่าอะไรเป็นความทรงจำในวัยเด็กที่สะท้อนความเป็นไบรท์ – นรภัทร ได้มากที่สุด “ภาพซ้อนจักรยานแม่ไปเรียนพิเศษ” เขาตอบ “เป็นกิจกรรมที่ทำทุกวันหลังเลิกเรียน ซ้อนท้ายจักรยานที่แม่ปั่น ออกจากหมู่บ้านตัวเองไปหมู่บ้านข้างๆ เพื่อเรียนพิเศษ เลิกเรียนก็ขอเงินแม่ซื้อนมหมีกระป๋องนึงกินและกลับบ้านนอน รู้สึกว่ามันเรียบง่ายมาก ชีวิตผมก็ต้องการแค่นั้นล่ะ”
Photographer: Pannatat Aengchuan
Stylist: Napat Roongruang
Author: Neeraj Kim
Model: Norraphat Vilaiphan / Make Up: Torranit Jirasirikan / Hair: Ratchada Puangpuangngam
Assistant Stylists: Natthapon Samakkepilom / Phasawie Chutrakul
Assistant Photographers: Tewin Manajit / Nuttapon Mansukphol / Kridsanapol Petjarus