‘ไม่ต้องมีที่ให้ฉันอยู่ แต่ขอแค่มีฉันอยู่ก็พอ’ บทสัมภาษณ์จาก Getsunova

Share This Post

- Advertisement -

โลกหมุนมาในวันที่เจนวายเดินเข้าสู่อายุเลข 4 (หรือบางคนเข้าไปแล้วด้วย!) จากวัยเด็กที่เริ่มต่ออินเทอร์เน็ตแบบ 56k สู่ผู้ใหญ่วัยกลางคนที่ต้องรับมือกับความเอาแต่ใจของทั้งผู้ใหญ่เจนเอ็กซ์และเด็กเจนซี ยังอยากใช้ชีวิตให้สนุกเหมือนตอนเป็นวัยรุ่น แต่ก็กลัวความไม่มั่นคงในตอนแก่ วิกฤตวัยกลางคน หรือ midlife crisis นี้ปกคลุมคนทั้งเจเนอเรชั่นโดยไม่แบ่งสาขาอาชีพ เช่นเดียวกับเก็ตสึโนวา (getsunova) วงดนตรีแนวเพลงป็อปร็อกซึ่งประกอบด้วยสมาชิกทั้งสี่ที่เคยเป็นตัวแทนของวัยรุ่นคือ เนม – ปราการ ไรวา (ร้องนำ), นาฑี โอสถานุเคราะห์ (กีต้าร์), ณต – ปณต คุณประเสริฐ (กีต้าร์และแต่งเพลง) และไปรท์ – คมฆเดช แสงวัฒนาโรจน์ (กลอง) พวกเขายอมรับอย่างเป็นผู้ใหญ่ว่ายุคทองของตัวเองได้ผ่านพ้นไปแล้ว เวลาที่เหลือคือการใช้ชีวิตอย่างสนุกและมีความสุขในฐานะนักดนตรี

นี่เป็นการกลับมาของเก็ตสึโนวาแบบอัลบั้มเต็มในรอบ 5 ปีคิดว่าอะไรคือการเติบโตของทุกคน

ณต: รอบนี้พยายามกลับไปในจุดที่ไม่ต้องพยายาม เพราะเราเป็นวัยรุ่นมามากพอแล้ว ตอนนี้เราเป็นคนแก่ที่สังขารมาถึงจุดที่อยากทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการเหมือนตอนเด็กๆ นึกถึงช่วงที่เราเล่นดนตรีแรกๆ สิ่งที่เราชอบ เล่ามันอย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องโมเดิร์นสู้กับน้องๆ ทีป็อป ซึ่งวงเราก็มีช่วงนั้นนะ ที่รู้สึกว่าต้องทำเพลงให้ทัน เพลงของเราต้องอยู่ในท็อปชาร์ททุกที่ แต่ตอนนี้อยู่ในจุดที่อยากทำอะไรก็ทำเหมือนตอนแรกๆ ที่เราเริ่มตั้งวงกัน ยิ่งได้ทำอัลบั้มเต็มก็รู้สึกว่าง่ายกว่า เพราะมีพื้นที่ได้ทดลองมากขึ้น ภาพรวมมันจะสนุกกว่า เวลาทำภาพจะเต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่า

ในตอนนั้นที่ต้องทำเพลงตามกระแสให้ทันเป็นที่ตัวเราเองหรือค่ายเพลง

นาฑี: เป็นเพราะตัวเองล้วนๆ ที่อยากอยู่ในกระแส ตอนนั้นเรายังอยู่ในเทรนด์ ในยุคหนึ่งเราอยู่ในกระแสมาตลอด ในตอนนั้นก็อยากทำผลงานให้มันคงที่ แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีศิลปินกลุ่มใหม่ๆ เยอะขึ้นมาก ซึ่งเราอาจจะไม่ได้ตามทันแล้ว เลยมาถึงจุดที่งั้นเรากลับมาเป็นเก็ตสึโนวาแบบที่หลายๆ คนก็อยากจะฟัง ทำเพลงในแบบที่เราอยากทำตอนเริ่มตั้งวง เราชอบเพลงประมาณไหน เริ่มด้วยดนตรียังไง มันเป็นองค์ประกอบของอัลบั้มชุดนี้

กับ Spaceless ที่เป็นซิงเกิ้ลใหม่ของวงคาดหวังอะไรจากคนฟังบ้าง

ไปรท์: คาดหวังว่าคนที่รู้จักเก็ตสึโนวาเป็นอย่างดีจะชอบเพลงพวกนี้ คือกลุ่มคนที่เคยฟังเพลงของเรามาก่อน และชอบเพลงในแบบของเราจริงๆ ในยุคเมื่อสิบปีที่แล้วน่าจะคิดถึงกัน เพราะพวกเราก็เดินมาไกลมากๆ จากจุดนั้น จากยุค ‘ไกลแค่ไหนคือใกล้’ (The First Album, 2559) หรือเพลง 

‘คำถามซึ่งไร้คนตอบ’ (ในอัลบั้มเดียวกัน) ไม่ใช่เพลงยุคหลังๆ สักเท่าไหร่ อยากเห็นคนกลุ่มนั้นฟังแล้วรู้สึกว่านี่ล่ะเก็ตสึที่เราชิน เป็นกลิ่นเดิมที่คุ้นเคย คำที่ผมอยากได้ยินจากคนฟังคือ “เก็ตสึโนวากลับมาแล้ว” ที่ผ่านมาหลายปีได้ยินมาเยอะว่าเมื่อไหร่จะปล่อยเพลงใหม่ แต่จริงๆ เรามีซิงเกิ้ลทุกปีอยู่แล้ว แต่ผมได้ยินอย่างนั้นจริงๆ ทั้งๆ ที่เราปล่อยเพลงออกมา อย่างที่ณตบอกว่าหลายๆ ครั้งเหมือนเราพยายามทดลองทำอะไรใหม่หลายๆ อย่างแล้วก็ประสบความสำเร็จบ้าง ไม่ประสบความสำเร็จบ้าง ฉะนั้นนี่คือสิ่งที่พวกเราคาดหวังว่าอยากให้คนฟังรู้สึกว่าเรากลับมาแล้ว

ซิงเกิ้ลแรกล่ะเราจะได้เห็นอะไรในเนื้อหาเพลงบ้าง

เนม: ซิงเกิ้ลแรกที่เราจะปล่อยคือเพลง  ‘ไม่ต้องมีที่ให้ฉันอยู่ แต่ขอแค่มีฉันอยู่ก็พอ’ เนื้อหามันคล้ายกับสถานการณ์ของวงเราในวงการเพลงไทยตอนนี้ จะมีศิลปินรุ่นใหม่ที่อยู่ในกระแส เราไม่ได้อยู่ในนั้นหรอก แล้วก็จะมีอีกรุ่นหนึ่งที่เป็นตำนานไปแล้ว เราก็ไม่ได้อยู่ตรงนั้นเหมือนกัน เราเป็นวงที่อยู่ระหว่างกลางของทุกอย่าง แค่รู้สึกว่าเราไม่ต้องอยู่ตรงไหนก็ได้ หรือใครจะจับเราไปอยู่ตรงไหนก็ได้ แค่มีที่ให้เราอยู่ก็พอ เป็นสิ่งที่ได้จากการเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น อย่างที่ณตบอกเลยว่าอัลบั้มก่อนๆ เราพยายามเกาะวัยรุ่น ถึงตอนนี้ก็คุยกันว่าอยากกลับมาทำแบบตัวเอง จริงๆ ทุกวันนี้ที่ออกไปเล่นตามงาน มันมีความเป็นแบบนั้นอยู่ แต่ผลงานหลังๆ มันจะใช้เทคนิคทางดิจิตัลมากขึ้น พอกลับมามองตัวเอง เลยอยากทำทุกอย่างให้ออร์แกนิก เป็นธรรมชาติมากขึ้น มานั่งหากันว่าถ้าให้อัลบั้มนี้มันฟังแล้วสนุกต้องเป็นประมาณไหน เลยไปตกตะกอนในยุคเพลงที่เราชอบฟัง บริทป็อป บริทร็อก ช่วงนั้นที่เราตื่นเต้นกับเพลงกลุ่มเหล่านี้ที่ปล่อยออกมาแล้วเรารู้สึกว่ามันเจ๋งจริงๆ ไม่ใช่เพราะมันอยู่ในเทรนด์วันนี้

แต่ละคนมีส่วนร่วมในอัลบั้มนี้ยังไงบ้าง

ณต: ส่วนใหญ่ผมขึ้นเพลงมาก่อนแล้วให้พี่เนมลองฟังหรือร้องไกด์ แต่อย่างเพลงนี้จะพิเศษหน่อยเพราะเราได้บินไปทำงานกับโปรดิวเซอร์ที่ประเทศสวีเดน ชื่อว่ามาร์ติน แฮนเซน เขามีชื่อเสียงจากการโปรดิวซ์งานเพลงในยุโรป อย่างวงดังๆ ก็มี Scorpions เขาเป็นโปรดิวเซอร์สายเก๋า ได้บทเรียนจากการทำงานค่อนข้างเยอะ ทั้งในเรื่องการตัดสินใจ วิธีการตัดบางอย่างออก หรือรวมอะไรเข้ามา เขาเอาเดโมเราไปและบอกว่าเห็นภาพอะไรบ้าง เขาบอกเราว่าจะพัฒนามันไปที่ไหนได้ ซึ่งคือความน่าตื่นเต้น

แต่ก็ไม่ต้องไปคาดหวังว่า เชี่-ย!!! ฝรั่งโปรดิวซ์มันต้องทำเพลงได้ดีแบบไม่เคยมีมาก่อนเลย เพราะสุดท้ายแล้วมันก็คือการทำเพลงให้ออกมาเป็นเก็ตสึโนวามากที่สุด แต่ทำให้มันดูมีความคลาสสิกมากขึ้น เป็นมิติใหม่ของเราด้วย

เคยเจอเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่รู้จักเราไหม

เนม: เยอะมาก เวลาไปงานแจกรางวัล เขาไม่รู้จักเรากันไปหมดแล้ว ไม่ได้พูดถึงแค่คนดูนะ คนที่เป็นศิลปินเองก็ไม่รู้จักเรา เลยไม่ค่อยอยากไป (หัวเราะ) ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร อืม (คิด) แต่ก็รู้สึกได้ว่าเขาไม่รู้จักเรา

ไปรท์: มันยิ่งโตขึ้นยิ่งเข้าใจโลกมากขึ้น ว่าการขึ้นลงเป็นธรรมดาของชีวิต ถามว่าอยากให้เขารู้จักไหม ก็อยากแหละ ถึงตอนนี้แล้วก็เฉยๆ ทำงานให้มันดีที่สุดพอ เหมือนอย่างที่เราทำอยู่เรื่อยๆ วันหนึ่งมันอาจจะกลับมาเหมือนเดิมก็ได้ เป็นธรรมดา

ณต: แต่โดยส่วนตัวผมชอบฟีลนี้นะ กลับมาอีกทีคนไม่รู้จักแล้ว เพราะมันคือความสนุกเหมือนตอนที่เราเริ่มดังเมื่อสิบปีก่อน ตอนที่รู้สึกว่า “เชี่-ย เขารู้จักเราด้วยว่ะ” ความรู้สึกมันหายไปแล้วช่วงหนึ่ง เคยมีช่วงที่มีคนซุบซิบว่าใช่เราหรือเปล่านะ แอบเปิดมือถือดู เจอเยอะๆ ก็เริ่มชิน กลายเป็นเรื่องปกติ ในใจก็คิดว่า “ต้องรู้จักสิวะ” ช่วงนั้นเพลงมันดัง แต่พอตอนนี้ ถึงช่วงที่ไม่รู้จักกัน มันเริ่มกลับมาสนุก วันไหนที่มีคนจำเราได้สักคน มันเริ่มมีค่ามาก ทำให้ผมรู้สึกวัยรุ่นขึ้นในช่วงนี้ ไม่งั้นจะเป็นฟีลศิลปินรุ่นพี่ ทุกคนต้องรู้จัก ทุกคนมาไหว้ เราเหมือนเด็กที่อยากออกเทป อยากออกซิงเกิ้ล แล้วคนเริ่มรู้จัก หนึ่งคนมันมีค่ามากขึ้นจากเมื่อก่อนที่คนจำได้เป็นสิบๆ คน แต่ตอนนี้แค่คนเดียวมาทักแม่-งมีค่ามาก วันนั้นรู้สึกดีทั้งวันเลยแค่คนเดียวจำได้ เหมือนยอดไลค์ เมื่อก่อนถ้าคนไลค์ไม่ถึงพันคือโกรธเลย ทุกวันนี้คนไลค์ 500 คือตื่นเต้นมาก (หัวเราะ) นั่นล่ะ มันคือมันคือตอนที่มีคนตามเราแค่ไม่กี่คนเอง แต่ก่อนมาถึงจุดนี้มันต้องผ่านการขึ้นสูงสุดมาก่อน มันก็กลับมาสนุกได้อีกครั้งหนึ่ง

Photographer: Thanut Treamchanchuchai

Author: Neeraj Kim

Assistant Photographers: Anurak Duangta / Wanchai Arreeruk / Kachapon Panuditeekun

- Advertisement -