ทำความรู้จักกับแบงค์ – ปรีติ บารมีอนันต์ ในฐานะ ‘แบงค์ ปรีติ’ ที่ไม่ใช่ ‘แบงค์ Clash’

Share This Post

- Advertisement -

“คอนเสิร์ตนี้เริ่มต้นจากความอยากของผมเองครับ” แบงค์ – ปรีติ บารมีอนันต์ ลงนั่งคุยกับลอฟฟีเซียล ออมส์ ในบ่ายที่อากาศร้อนอบอ้าว เขาดูสงบและนิ่งกว่าภาพจำของ ‘แบงค์ วง Clash’ ในหัวเราไปยิ่งกว่าเดิมเสียอีก “ผมอยากจะเล่นคอนเสิร์ตบรรยากาศบาร์แจ๊สยุคเก่าๆ ที่มีม่านแดง มีโต๊ะกลม และมีไฟบอลลูนเล็กๆ อยู่ ก็เลยหาสถานที่ที่ตรงกับภาพในหัว คิดเอาไว้ว่าสัก 20-25 โต๊ะก็พอ เพราะอยากจะเล่นเพลงที่ไม่ใช่เพลงฮิต เป็นเพลงที่ไม่เคยเล่น และหาฟังจากคอนเสิร์ตอื่นไม่ได้ พอได้โจทย์แบบนี้ก็ประเมินคนดูไว้ที่ 100-150 คน ราวๆ นั้น

“และผมก็ได้สถานที่แบบที่ผมต้องการเลยนะคุณ เป็นบาร์แจ๊สที่สวยมาก ใหญ่มาก ได้ราวๆ 20 โต๊ะ แบบที่ผมคิดเลย แต่เขาไม่ให้ผมจัดว่ะ” อ้าว… ช็อตเฉยเรากำลังเคลิ้มเลยนะ ทำไมล่ะ “เพราะชื่อ ‘แบงค์ Clash’ นี่ล่ะครับที่เป็นภาพจำของเจ้าของร้านว่าคอนเสิร์ตของผมจะต้องเป็นร็อคมากๆ คนดูต้องกระโดดกันเขาเลยไม่อนุญาตให้เช่าที่ตั้งแต่แรกเลย ก็เลยต้องมาตั้งหลักว่าจะเอายังไงกันต่อ เพราะยังไงผมก็อยากจะจัดโชว์ที่มันมีอารมณ์ส่วนตัวมากๆ แบบนี้ให้ได้อยู่ดี”

ทั้งแบงค์และทีมงานระดมความคิดหา ‘สถานที่’ ที่เหมาะสมกับตัวตนใหม่ของเขาที่กำลังก่อร่างสร้างอยู่กันได้สักพัก ก็มาสรุปได้ว่าอีกหนึ่งบทบาทของแบงค์คือนักแสดงละครเวที เพราะฉะนั้น ‘โรงละคร’ อาจจะตอบโจทย์ทุกข้อของเขาได้ “บรรยากาศมันก็น่าจะคล้ายกับบาร์แจ๊สในหัวผมนะครับ เพราะโรงละครมีม่านแดงอยู่แล้ว และคนดูที่เข้ามาดูในบรรยากาศโรงละครก็คงไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องกระโดดโลดเต้นอะไร แค่นั่งดูปรบมือฟังเราร้องเพลงก็จบแล้ว แต่พอเช็คราคาไปมาก็พบว่าโรงละครเล็กจะราคาแรงกว่าโรงละครขนาดใหญ่ ก็ต้องมาคิดอีกว่าจะตัดสินใจกันอย่างไรดี เพราะคอนเสิร์ตนี้ไม่ได้ขายบัตรน่ะครับ”

คอนเสิร์ตครั้งนี้อยู่ในโปรเจ็กต์ gLIVE ของค่าย genie records ซึ่งแบงค์สารภาพว่าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์นั้นไม่ได้อยู่ในความคิดของเขาเลย “ไม่กล้าคิดถึงเลยครับ เพราะผมรู้สึกว่าสถานที่นี้มันศักดิ์สิทธิ์มากๆ ทั้งงานรับปริญญา ทั้งละครเวทีสเกลใหญ่ ผมไม่กล้าไปแตะหรอก แต่พอได้คุย ก็ได้เห็นว่าเขาเปิดกว้างในราคาที่พอจะจ่ายได้ถ้าทำคอนเสิร์ตไม่ขายบัตร ตอนแรกบอกทีมงานว่าใช้วิธีกั้นม่านดำเอาละกัน มีคนดูสัก500 คนก็พอ จะได้ถ่ายออกมาดูสวย” แต่แบงค์ประเมิน ‘The Ocean’ (ชื่อแฟนด้อมของเขาที่เกิดขึ้นเพราะเขาชอบสีน้ำเงิน และมหาสมุทรก็สีน้ำเงินและกว้างใหญ่ไพศาล) ของเขาต่ำไปนิดหน่อย หลังจากที่ปล่อยบัตรไปแบบงงๆ เป็นจำนวน 999 ใบ ก็ปรากฏว่ามีคนลงทะเบียนมากว่า 5,500 คน “เกือบหกพันคนเลยล่ะครับ” เขาเป่าปาก “ก็เลยบอกค่ายไปว่าเปิดชั้นหนึ่งทั้งหมดละกัน ก็ได้เต็มที่ที่ 2,200 คนเท่านั้นล่ะครับ”

ในวันแสดงคอนเสิร์ตจริง พลังงานจากเขาที่ส่งไปหาคนดู และพลังงานจากคนดูที่ส่งมาหาเขานั้นเกินความคาดหมายของทีมงานเราที่ได้มีโอกาสเข้าไปเก็บภาพหลังเวทีไปเยอะมาก “ภาพที่เกิดขึ้นในวันจริงเป็นภาพแบบที่ปรากฏในหัวผมเลยครับ” แบงค์พูดด้วยน้ำเสียงที่ปิดความภาคภูมิใจไว้ไม่มิด “สิ่งเดียวที่ไม่เหมือนคือไม่ได้เปิดพื้นที่ชั้นสอง เท่านั้นเลยครับ ถ้าถามว่ากดดันไหมกับคอนเสิร์ตเดี่ยวครั้งแรกในชีวิตแบบนี้ คือพวกเราเล่นเพลงที่ไม่ค่อยได้เล่น เพราะฉะนั้น ทั้งผมและนักดนตรีก็กดดัน ทุกคนรู้ว่าบางเพลงที่เราไม่เคยเล่นที่ไหนมาก่อนอาจจะมีโอกาสได้เล่นบนเวทีนี้ครั้งเดียวก็ได้ ถ้าพวกเราทาพลาด เพลงนี้จะถูกจดจำในภาพพลาดๆ นั้นไปตลอดกาล ผมกดดันครับ ครั้งนี้เป็นคอนเสิร์ตที่ผมวอร์มเสียงนานที่สุด นานเท่าที่เล่นละครเวทีเลยครับ”

ในวันที่เรานั่งเขียนบทความนี้ บันทึกการแสดงคอนเสิร์ตได้ถูกปล่อยออกมาอย่างเป็นทางการบนช่องทางยูทูบเรียบร้อยแล้ว เราสัมผัสได้ถึงพลังงานมหาศาลที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านจอเล็กๆ นั่น “ผมว่าคอนเสิร์ตนี้ไม่เหมาะสมกับการถ่ายภาพหรือถ่ายวิดีโอหรอกครับ” แบงค์บอกเราในวันนั้น ซึ่งเราก็พูดติดตลกว่าภาพเบื้องหลังเราออกจะสวยงาม “ยิ่งโดยเฉพาะวิดีโอเนี่ย เพราะเวทีมันมืดมากจริงๆ ผมคุมการตัดวิดีโอด้วยตัวเองเลยนะครับ”

แบงค์ยังคงเป็นศิลปินที่เชื่อมั่นในการแสดงสด และการเสพคอนเสิร์ตสดๆ บนเวที “เวลาคุณดูละคร เห็นคนตีกันในละคร กับคุณเจอคนตีกันในชีวิตจริงอะดรีนาลินมันไม่หลั่งขนาดนั้นหรอก จริงไหมครับ” เขาถาม “การดูคอนเสิร์ตก็เหมือนกัน กราฟหัวใจคุณไม่เต้นเร็วขึ้นหรอกครับถ้าคุณดูจอเล็กอยู่ที่บ้าน คุณต้องมาสัมผัสความสุดของคอนเสิร์ตที่เวทีคอนเสิร์ตเท่านั้นครับ” เราตั้งข้อสังเกตกับเขาว่า เหตุใดคอนเสิร์ตจึงไม่มีการแสดงต่อเนื่องหลายรอบแบบละครเวที ซึ่งแบงค์เองก็ให้คาตอบไม่ได้ แต่ดูจากแววตาแล้ว เราว่าเขาไม่ติดเลยถ้าจะมีคนพร้อมจัดคอนเสิร์ตให้เขาขึ้นแสดงหลายรอบแบบนั้น

“สเต็ปต่อไปหลังจากลงจากเวทีคอนเสิร์ตนี้คือผมจะทำอะไรก็ได้ จะเป็นอะไรก็ได้แล้วครับ” แบงค์ยิ้ม “ผมไม่เคยวาดภาพไว้หรอกว่าผมจะต้องเป็นอดีตศิลปินร็อคที่ผันตัวมาทำเพลงอาร์แอนด์บีจ๋าๆ แต่ผมอยากจะเป็นคนที่ทำดนตรีได้ทุกแนว ตราบใดที่ผมเอาเสียงผมไปใส่แล้วมันเหมาะสม โลกใบนี้มันเปลี่ยนไปแล้วศิลปินหนึ่งคนไม่จาเป็นต้องทำเพลงแนวเดียวกันหมดในทุกอัลบั้ม อันนี้พูดในฐานะ pop culture นะ ไม่ใช่ศิลปินสาย niche แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมจะเป็นนั้น ผมต้องมั่นใจว่าผม ‘เชื่อ’ ในมัน แล้วผมถึงจะเดินหน้าทำมันต่อไปได้เท่านั้นครับ”หลังจากที่เเบงค์พักการทำงานกับวง Clash เขาไม่ทำงานเพลงอยู่ระยะเวลาหนึ่งเลยทีเดียว เพราะเขารู้สึกว่ามันยังไม่ถึงเวลาในทุกบริบท “ผมว่าตอนนั้นคนยังไม่เข้าใจหรอกครับถ้าผมจะออกคอนเสิร์ตเดี่ยวภายในสามเดือนหลังจากเลิกทำวง Clash” แบงค์อธิบาย “ผมเลยกลับไปทบทวนตัวเอง ตกผลึกกับตัวเองว่าจริงๆ แล้วผมจะสามารถทำเพลงอาร์แอนด์บีแบบที่ผมชอบได้จริงๆ ไหม ก็เลยออกมาเป็นอัลบั้ม Blue Magic นี่ล่ะครับ”

ฟีดแบ็คจากผู้ฟังนั้นก็แตกต่างหลากหลาย ซึ่งแบงค์ก็โอบรับทุกคอมเมนต์ไว้อย่างยินดี “คนที่ชอบเพลงอาร์แอนด์บีอยู่แล้วก็จะชอบไปเลย ส่วนคนที่ชอบเพลงร็อคก็จะแบ่งออกเป็นครึ่งต่อครึ่งเลยครับ ครึ่งแรกก็บอกว่าพี่แบงค์น่าจะทำเพลงแบบนี้ให้เยอะๆ นะ ส่วนอีกครึ่งก็บอกว่าชอบร็อคมากกว่า เพราะเขายังติดภาพผมจากวันเก่าๆ อยู่ แต่พอได้ปล่อยอัลบั้มออกมาจริงๆ ผมก็รู้ตัวว่าผมทำเพลงแบบที่ผมชอบทำได้จริงๆ แม้ว่ามันอาจจะต้องแลกมากับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ฟังดูแล้วบางทีก็ไม่สบายใจก็ตาม แต่นั่นก็ทาให้ผมตัดสินใจว่าผมจะไปต่อครับ”

แม้ว่าแบงค์จะตัดสินใจว่าจะไปต่อในวงการเพลง และแอบแย้มมาว่าเขามีแพลนไกลไปถึงการออกอัลบั้มใหม่แล้ว แต่ทุกอย่างยังคงเป็นภาพคลุมเครือสำหรับเขาอยู่ “ชีวิตช่วงนี้เป็นชีวิตที่นิ่งเงียบมากเลยครับ ใครช่วยมาตีผมทีสิ” เขาพูดติดตลกเมื่อเราถามว่าเหตุใดภาพในหัวจึงยังไม่ชัดเจนเสียที “ตอนนี้ผมกำลังรวบรวมทีมงานใหม่ๆ ที่ผมไม่เคยร่วมงานมาก่อน มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เพราะบางครั้งสิ่งที่ผมคิดและทำออกไปนั้นมันอาจจะยากจนเกินไปสาหรับกลุ่มผู้ฟังทั่วไปที่ไม่ใช่แฟนเพลงเดนตายนะครับ สำหรับแฟนเพลง ผมจะร้องอะไรเขาก็ฟังทั้งหมด แต่สำหรับคนฟังทั่วไปมันอาจจะต้องมีการปรับจูนกันนิดหน่อย ดังนั้น การหาโปรดิวเซอร์และทีมงานที่เป็นคนเจเนอเรชั่นใหม่ให้เขามองภาพของผมกลับมาว่าเขาอยากจะได้ยินอะไรจากผม น่าจะเป็นการเริ่มการ ‘รีโนเวท’ บ้านหลังเก่าได้ดี ตัวผมคือบ้าน โครงสร้างเดิมที่เป็นโครงสร้างของ Clash มันดีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปตบแต่งมันให้มากมาย ควรจะทุบและรื้อใหม่ทั้งหมด เพื่อที่จะสร้างบ้านใหม่ และใช่ครับ… ผมพร้อมจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”

Author: Pacharee Klinchoo
Photographer: Pannatat Aengchuan

- Advertisement -