สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ แบรนด์ SIRIVANNAVARI และองค์อุปถัมภ์มูลนิธิฯ มีพระดำริให้ จัดการแสดงอุปรากร “มาดามบัตเตอร์ฟลาย” ซึ่งเป็นบทประพันธ์ดนตรีของ จาโคโม ปุชชินี (Giacomo Puccini) ชาวอิตาเลียน บทคำร้องเป็นภาษาอิตาเลียน โดย ลุยจิ อิลลิกา (Luigi Illica) และจูเซปเป้ จาโกซา (Giuseppe Giacosa) เป็นอุปรากรที่แสดงถึงความรักระหว่างสาวเกอิชาชาวญี่ปุ่นกับทหารเรือหนุ่มชาวอเมริกัน ที่ยึดมั่นในความรัก โดยการสละชีวิตเพื่อรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของตน อุปรากรเรื่องนี้ได้ถูกนำออกแสดงครั้งแรกที่โรงอุปรากรสกาลา ในกรุงมิลาน ประเทศอิตาลี ในปี ค.ศ.1904 (พ.ศ. 2447) เป็นโอเปร่าเรื่องหนึ่งที่ได้รับ ความนิยมนำออกแสดงมากที่สุด 10 อันดับแรกของโลก
การแสดงครั้งนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงรับเป็นผู้อำนวยการแสดง ทรงคัดเลือกคณะนักแสดงจาก Opera Production กรุงเวียนนา และเปิดคัดเลือกนักแสดงไทยในบทนักแสดงสมทบ และนักร้องประสานเสียง รวมทั้งสิ้น 53 คน ที่สำคัญการแสดงครั้งนี้ ชุดของนักแสดงออกแบบใหม่ทั้งหมด โดยแบรนด์ SIRIVANNAVARI นำโดยองค์ครีเอทีฟไดเรคเตอร์ ทรงออกแบบเสื้อผ้าจำนวน 14 ชุด ด้วยพระองค์เอง สำหรับ 9 ตัวละครหลักทั้งชายหญิง และอีกมากกว่า 40 ชุด โดยทีมงานของแบรนด์ SIRIVANNAVARI ภายใต้แนวคิดทรงกำหนดของพระองค์ท่าน นอกจากนี้ ยังทรงมีส่วนร่วมในการออกแบบฉากเวที ร่วมกับทีมงานจากเวียนนาอีกด้วย
โดยแนวคิดในการออกแบบนั้น มีการแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ ชาวญี่ปุ่น และชาวตะวันตก โดยเสื้อผ้าของกลุ่มชาวญี่ปุ่น ได้มีการนำเสื้อผ้าจากคอลเลคชั่น Spring/Summer 2022 “The Rise of Asian” ของแบรนด์ SIRIVANNAVARI ที่มีแรงบันดาลใจมาจากความรุ่งโรจน์แห่งวัฒนธรรมอาทิตย์อุทัยมาดัดแปลง เพิ่มความอลังการด้วยงานปักอันประณีต เน้นรูปทรงวอลุ่ม เสื้อผ้าออกแบบตามขนบธรรมเนียมของชาวญี่ปุ่นแท้ ในขณะที่เสื้อผ้าชาวตะวันตก เป็นชุดร่วมสมัย แต่เพิ่มเติมรายละเอียดองค์ประกอบที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดดเด่นด้วยงานปักจากช่างฝีมือชั้นครูแห่ง SIRIVANNAVARI Atelier & Academy รวมไปถึงการออกแบบ เสื้อผ้าของนักแสดงสมทบบนเวที ที่ช่วยส่งให้อุปรากรสมบูรณ์ตระการตายิ่งขึ้น
เสื้อผ้ามีบทบาทอย่างยิ่งในการถ่ายทอดถึงความแตกต่างท่างวัฒนธรรม รวมไปถึงชนชั้นของตัวละคร ทำหน้าที่ในเชิงสัญลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นสีสัน เนื้อผ้า บทบาทของตัวละคร ลวดลายบนผ้า ล้วนมีนัยสำคัญที่บอกเล่าเรื่องราวของบทละคร อย่างลวดลายที่อยู่บนเสื้อผ้า ไม่ว่าจะเป็น ดอกไอริส, ดอกโบตั๋น, นกกระเรียน ที่มีความหมายลึกซึ้งทั้งสิ้น การตีความแบบร่วมสมัย ใช้สีและงานปัก ลวดลายเชิงสัญลักษณ์ บอกเล่าเรื่องราว อารมณ์ความรัก ความเศร้า และความผันผ่านแห่งกาลเวลา รวมถึงถ่ายทอดวัฒนธรรมต่างทวีป เพื่อสร้างความดรามาติคอย่างสมบูรณ์ เมื่อผสานเข้ากับดนตรีอันอลังการของวง RBSO เสียงร้องอันทรงพลังของนักแสดงชั้นนำ ฉากอันอลังการและแสงสีบนเวที ที่จัดสร้างโดยทีมงานระดับโลก”