Photographer: Thanut Treamchanchuchai
Author: Neeraj Kim
It’s Gonna Be OK
ต้องยอมรับว่า Tilly Birds เป็นศิลปินที-ป็อปที่สามารถรักษาระดับการเติบโตได้อย่างมั่นคง ตั้งแต่เพลง ‘คิด (แต่ไม่) ถึง’ จากอัลบั้ม ‘ผู้เดียว’ ดังเป็นพลุแตกจนเป็นเหมือน S curve ที่ทำให้สมาชิกทั้งสามคนติดลมบนในตลาดเพลงไทย ดนตรีของพวกเขาก็ได้เข้าไปนั่งอยู่ในใจของคนฟังระดับแมส แต่หลายคนยังไม่รู้ว่าทั้งอัลบั้มผู้เดียว (2563) และอัลบั้ม It’s Gonna Be OK (2564) ไม่ใช่จุดเริ่มต้นเส้นทางสายดนตรีของวงนี้ เพราะพวกเขาออกซิงเกิ้ลแรกในนาม Tilly Birds ตั้งแต่ปี 2557 ที่ชื่อ Heart in a Cage โดยเป็นเพลงภาษาอังกฤษ และต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองอีกนานกว่าโลกจะมองเห็นความสามารถของพวกเขา “พูดได้ไม่เต็มปากว่าปีที่แล้วเป็นช่วงเวลาที่วงของเราแอ็คทีฟที่สุดหรือเปล่า เพราะไม่ได้ปล่อยเพลงใหม่เลย แต่เป็นปีที่ได้เดินทางไปเล่นคอนเสิร์ตเยอะมาก รวมถึงในต่างประเทศด้วย” เติร์ด – อนุโรจน์ เกตุเลขา นักร้องนำวัย 29 ปีเล่าถึงภาพรวมในปีที่ผ่านมาให้เราฟัง พวกเขามีคอนเสิร์ตใหญ่ของตัวเองครั้งแรก และบัตรทุกใบขายหมดในเวลา 1 นาที สิ่งนี้น่าจะเป็นหนึ่งในนิยามของคำว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ เพราะมีแฟนเพลงจำนวนไม่น้อยอยากมาฟังพวกเขาเล่นดนตรีสดๆ มากกว่าการนั่งฟังผ่านสตรีมมิ่งอยู่ที่ไหนสักที่หนึ่ง “เป็นปีที่เราได้พิสูจน์วงในด้านอื่นนอกเหนือจากเรื่องเพลง เช่น ด้านการทำโชว์ การแสดงตัวตนในมิติอื่นด้วย” บิลลี่ – ณัฐดนัย ชูชาติ มือคีย์บอร์ดและกีตาร์ของวงวัย 29 ปีพูดเสริม ส่วนไมโล – ธุวานนท์ ตันติวัฒนวรกุล มือกลองพูดน้อยวัย 29 ปีนั่งพยักหน้าเห็นด้วยกับคำตอบของเพื่อนเขาทั้งสองคน
ทศวรรษที่ผ่านมาของ Tilly Birds เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าอย่าหยุดทำในสิ่งที่ตัวเองรัก เพราะแม้ 5 ปีแรกจะยังไม่มีใครเห็น แต่ 5 ปีหลังของพวกเขาคือความเปล่งประกาย ราวกับดาวราหูเคลื่อนย้ายออกจากตัวไปแล้ว
Like a Dead Man
ในทางโหราศาสตร์ ดาวเสาร์เป็นตัวแทนของบทเรียนแห่งชีวิต เปรียบเสมือนครูที่ปล่อยให้เราเผชิญกับช่วงเวลาอันยากลำบากเพื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็ง แต่ละคนจะมีดาวเสาร์เป็นของตัวเอง โดยมันจะใช้เวลาประมาณ 29.5 ปีเพื่อโคจรกลับเข้าสู่เรือนกำเนิดอีกครั้ง คนไทยบางส่วนเชื่อว่าชีวิตที่ลงท้ายด้วยเลข 9 เป็นสัญญะที่เตือนใจให้เรา ‘ก้าว’ เข้าสู่เลขนำหน้าหลักใหม่ บ้างก็ว่าอายุที่ลงท้ายด้วยเลข 9 ควรใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังเพราะจะมีเรื่องตื่นเต้นเข้ามาปะทะอย่างไม่ทันตั้งตัว ดาวเสาร์ยังเป็นดาวแห่งเคราะห์กรรม ใครเคยทำดีเอาไว้ก็จะได้ผลตอบแทนนั้นไป ส่วนในตำราโหราศาสตร์ตะวันตกจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Saturn return ซึ่งในหนึ่งชีวิตของเรามีโอกาสเจอสิ่งนี้ประมาณ 3 ครั้ง (หรือมากกว่านี้หากคุณมีอายุถึง 120 ปี) เคยมีคนตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ศิลปินในกลุ่ม 27 Club หรือนักแสดง นักร้อง นักดนตรีชื่อดังที่จากไปในวัย 27 ปี อาทิ จิม มอร์ริสัน, เคิร์ท โคเบน หรือเอมี่ ไวน์เฮาส์ ได้รับอิทธิพลความรุนแรงจาก ปรากฏการณ์ Saturn return และไม่สามารถต้านทานพลังงานนี้ได้ แต่หากมองในมุมวิทยาศาสตร์ตามแบบโลกสมัยใหม่ ช่วงเวลาแห่งดาวเสาร์กลับเข้าสู่เรือนกำเนิดนั้นสัมพันธ์กับหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตที่เปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กสู่ความเป็นผู้ใหญ่ และเหมือนต้นไม้ผลัดใบที่ต้องเจออีกเมื่อชีวิตเข้าสู่วัยเกษียณ
Heart in a Cage
“เราไม่ใช่เด็กอินเตอร์ แต่เราโตมากับเพลงฝรั่ง” เติร์ดเล่าถึงความทรงจำของเขาที่ส่งอิทธิพลต่อซิงเกิ้ลแรกในชีวิตซึ่งเป็นเพลงภาษาอังกฤษ “จริงๆ ผมฟังเพลงไทยด้วย แต่พอบิลลี่ทำดนตรีเพลงแรกมาและให้เราไปเขียนเนื้อ ก็ไม่รู้ทำไมถึงเขียนเป็นภาษาอังกฤษ มันอาจจะรู้สึกคุ้นชินกว่า” เราฟังอย่างตั้งใจ “Tilly Birds เริ่มจากเราทำเพลงไทยมาสองอัลบั้ม ถ้านับที่เป็น extended play ก็เป็นอัลบั้มที่สาม รู้สึกว่ามันถึงจุดหนึ่งแล้วที่จะกลับมาทำเพลงสากลกัน เพราะวงของเราเริ่มด้วยเพลงสากล ไม่อยากรอไปนานกว่านี้” บิลลี่เล่าต่อคล้ายสารภาพว่าคนที่ฟังเพลงไทยน้อยที่สุดในวงน่าจะเป็นตัวเขาเอง “ฉะนั้นเพลงไทยในแบบ Tilly Birds คือทำให้คนแบบผม คนที่ไม่ได้ฟังเพลงไทย ซึ่งน่าจะชอบ Tilly Birds นะ ทำด้วยมายด์เซ็ตที่ว่า ผมคนหนึ่งที่ไม่ได้ฟังเพลงไทยเหมือนคุณนั่นแหละ” เขาอธิบายวิธีคิดการทำงานของตัวเอง “ช่วงกลางปี 2021 เราเริ่มเห็นว่ามีคอมเม้นท์ชาวต่างชาติเยอะขึ้นในเพลงของเรา เลยคุยกันว่ากลับไปทำเพลงภาษาอังกฤษกันไหม แค่นั้นเลย แล้วก็มีสิ่งกระตุ้นให้กลับไปทำอยู่เรื่อย เช่น อยู่ๆ เราก็ได้รางวัล Best Asian Artist Thailand จากงาน MAMA ที่เกาหลี เหมือนเป็นประตูที่เปิดกว้างขึ้น ซึ่งแต่ก่อนตอนที่เราเริ่มทำมันยังไม่มีคนรู้จักเราขนาดนี้ ถ้ากลับมาทำตอนนี้ก็เหมาะดีนะ ได้คุยกันเรื่องนี้หลายรอบ รู้สึกว่าถ้าไม่ทำตอนนี้ หรือถ้าไม่คิดจะกลับมาทำอะไรแบบนี้ตอนนี้ น่าจะยากกว่านี้แล้ว ต้องตอนนี้แหละ It’s now or never!”
Wandering and Wondering
ไม่ใช่ความบังเอิญหรือเรื่องที่น่าแปลกใจสักเท่าไหร่ที่ Tilly Birds จะกลับมาทำเพลงภาษาอังกฤษอีกครั้ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุแห่งความคิดถึง หรือทิศทางการตลาดที่พาให้พวกเขาโกอินเตอร์ได้ง่ายขึ้น แต่ความน่าสนใจอยู่ตรงที่แฟนเพลงผู้เคยชินกับจังหวะของเพลงอย่าง ‘คิด (แต่ไม่) ถึง’ หรือ ‘ถ้าเราเจอกันอีก’ จะต้องทำความรู้จักพวกเขาทั้งสามใหม่อีกครั้งหรือเปล่า “ถ้าเทียบกับสองอัลบั้มที่แล้ว เนื้อหาเพลงในอัลบั้มนี้ง่ายขึ้นนะ เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่ขณะเดียวกันก็มีเพลงที่ท้าทายคนฟังอยู่ อาจอินหรือไม่อินเลย” เติร์ดชวนให้เรามองภาพรวมของอัลบั้มใหม่ แม้ว่าจะเพิ่งปล่อยออกมาแค่ซิงเกิ้ลเดียวก็ตาม “สิ่งที่อัลบั้มนี้แตกต่างจากสองอัลบั้มที่แล้วคือจะเปิดกว้างขึ้นในการตีความ” บิลลี่เสริมต่อ “ถ้าถามแล้วพวกผมตอบไม่ตรงกันก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะแต่ละเพลงจะมีเรื่องที่อยากเล่าต่างกัน ตั้งใจให้มันเป็นแบบนั้น อย่าง White Pills ซิงเกิ้ลแรกที่ปล่อยออกมา ก็ตั้งใจให้คนไปตีความว่านี่คือยาอะไร เอ็มวีและปกอัลบั้มก็จะเป็นอย่างนี้มากขึ้น ให้ภาพได้ทำงานกับคนเพื่อการตีความต่อ ไม่ได้เล่าตรงๆ แบบเดิม” คงจริงอย่างที่เขาว่า แม้ว่าเนื้อหาในเพลง White Pills จะไม่ได้แปลกใหม่อะไร เพราะเล่าเรื่องวัยรุ่นที่หมกมุ่นอยู่กับความทรงจำเก่าๆ จนนอนไม่หลับ และมองหาตัวช่วยเพื่อให้ชีวิตตัวเองมูฟออนต่อไปได้ แต่ทั้งดนตรี เนื้อเพลง และเอ็มวี ก็มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด “เราโตขึ้น งานเราก็โตขึ้น ซึ่งพยายามไม่ทำซ้ำ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าโตเร็วเกินไป เราใช้เวลากับอัลบั้มนี้ประมาณสองปี แต่ก็ยังเชื่อว่าทุกคนน่าจะเข้าใจเนื้อหาที่เราถ่ายทอดออกไป ถ้าใครฟังเพลงของเราทั้งสองอัลบั้มที่แล้ว อัลบั้มนี้ก็จะไม่ช็อก ไม่ได้โดด แต่จะรู้สึกเฟรชมากขึ้น”
The One
ไม่ใช่แค่แฟนเพลงที่ตื่นเต้นกับการกลับมาของ Tilly Birds ในครั้งนี้ พวกเขาทั้งสามคนก็รู้สึกเหมือนกัน “เราคาดหวังกับผลตอบรับทั้งอัลบั้มมากกว่า ไม่ใช่แค่ White Pills ซิงเกิ้ลเดียว” ไมโลอธิบายความรู้สึกของเขาอย่างตั้งใจ “ความคาดหวังง่ายที่สุดคืออยากให้ทุกคนชอบ โดยเฉพาะคนไทย เพราะในอัลบั้มนี้จะมีเพลงที่ซ่อนองค์ประกอบซึ่งจะทำปฏิกิริยากับคนไทยได้สูงถ้าเทียบกับคนฟังชาติอื่น แต่จะไม่บอกว่าเพลงอะไรหรือท่อนไหน เคยมีคนถามว่าเราทิ้งแฟนเพลงคนไทยหรือเปล่า คำตอบคือไม่ใช่ ความคิดนี้ไม่เคยอยู่ในหัวเลยตลอดกระบวนการทำงาน เราแค่ทำเพลงเหมือนทุกอย่างปกติ แต่โจทย์ในรอบนี้คือจะเป็นเพลงภาษาอังกฤษ แค่นั้นเลย” ห้องที่นั่งคุยกันเงียบสงัดหลังจากไมโลพูดจบ เหมือนเขาได้ระบายความรู้สึกบางอย่างในใจออกมา “อืม เราไม่เคยพยายามจะไม่เป็นคนไทย เราเป็นตัวเองเหมือนเดิม” บิลลี่พูดเสริม “ความเป็นไทยหรือไม่นี่อัตวิสัยมากกว่ามีความเป็น Tilly Birds อยู่ในงานหรือเปล่าอีกนะ” ไมโลพูดต่อด้วยประโยคเด็ดอีกรอบ “ช่วงสองปีนี้เราไม่ได้มีแค่คนดูชาวไทย เรามีแฟนเพลงชาวต่างชาติตามมาดูถึงในเมืองไทย จนบางโชว์ต้องพูดสองภาษาแล้ว” เติร์ดพูดถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจนเขาสังเกตได้ “เราแค่หวังว่าอัลบั้มนี้จะทำให้ทั้งแฟนเพลงชาวไทยกับคนฟังกลุ่มใหม่ที่มาเบลนด์เข้าหากันได้ อยากให้มันไม่มีเส้นแบ่ง อยากให้ดนตรีเป็นภาษาสากลที่ทำให้ทุกคนมาเจอกัน และสนุกไปด้วยกัน”
Assistant Photographers: Wanchai Arreeruk / Anurak Duangta