The Da Vinci Code

Share This Post

- Advertisement -

Author: MutAnt

Photography: Courtesy of The Event

Da Vinci Alive Bangkok สัมผัสหลักฐานแห่งอัจฉริยภาพของศิลปินเอกแห่งยุคเรอเนสซองส์ Leonardo da Vinci

เนื่องในโอกาสที่ในเดือนเมษายน ปี 2024 นี้ เป็นปีครบรอบชาตกาล 572 ปี ของหนึ่งในศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) ศิลปินเอกแห่งยุคทองของเรอเนสซองส์ (Renaissance) หรือยุคสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา ผู้เชี่ยวชาญในศิลปวิทยาการหลากสาขา ทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม วาดเส้นเขียนแบบ สถาปัตยกรรม วิทยาศาสตร์ และทฤษฎีต่างๆ มีเพียงศิลปินไม่กี่คนเท่านั้นในประวัติศาสตร์ศิลปะโลกที่จะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักเทียบเคียงเลโอนาร์โด ดา วินชี ผู้ได้รับการยกให้เป็น Renaissance man หรือ ‘บุรุษแห่งยุคเรอเนสซองส์’ เขาเป็นหนึ่งในสามศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ได้รับฉายาว่าเป็น ‘ตรีเอกภาพผู้ศักดิ์สิทธิ์’ (holy trinity) แห่งยุคทองของเรอเนสซองส์ร่วมกับมีเกลันเจโล และราฟาเอล

ดา วินชี ยังเป็นที่รู้จักในฐานะเจ้าของผลงานชิ้นเอกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ที่ต่างก็เป็นผลงานที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกตลอดกาล

นับเป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่งสำหรับมิตรรักแฟนศิลปะชาวไทย ที่มีนิทรรศการศิลปะดิจิทัลอิมเมอร์ซีฟ (digital immersive art) ครั้งยิ่งใหญ่ของศิลปินผู้นี้มาจัดแสดงในบ้านเรา ในชื่อว่า ‘Da Vinci Alive Bangkok’ ที่จัดขึ้นโดย Grande Experiences ผู้สร้างและผู้ผลิต เจ้าของลิขสิทธิ์ Monet & Friends Alive ร่วมกับ Live Impact Event โดยความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์เลโอนาร์โด ดา วินชี (Museo Leonardo da Vinci) ในกรุงโรม และผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงจากอิตาลีและฝรั่งเศส

โดยนอกจากจะมีผลงานศิลปะแบบอิมเมอร์ซีฟ โปรเจ็คชัน ที่ฉายภาพดิจิทัลผลงานศิลปะของเหล่าบรรดาศิลปินชั้นครูแห่งยุคเรอเนสซองส์บนพื้นและผนังให้ผู้ชมได้เข้าไปสัมผัสประสบการณ์อันน่าตื่นตาอย่างใกล้ชิดแล้ว ในนิทรรศการยังมีผลงานในส่วนอื่นๆ ที่น่าสนใจ ทั้งการจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์ บันทึกโบราณ และประวัติข้อมูลของศิลปินเอกผู้นี้อย่างละเอียดลออ ผ่านการจัดแบ่งนิทรรศการเป็นสามโซน

โดยเริ่มต้นในโซนแรก กับนิทรรศการ The Genius of Creation ที่แสดงถึงอัจฉริยภาพของเลโอนาร์โด ดา วินชี ที่ไม่ได้จำกัดขอบเขตอยู่แค่ผลงานศิลปะ หากแต่ความสงสัยใคร่รู้ทางปัญญาและจินตนาการของเขายังทำให้เกิดไอเดียและสิ่งประดิษฐ์มากมาย ที่จดบันทึกและร่างภาพเอาไว้ในสมุดบันทึกจำนวนมหาศาลของเขา ทั้งแผนภาพทางวิทยาศาสตร์ (ที่เป็นเหมือนต้นธารของสิ่งประดิษฐ์ในอนาคต อย่างร่มชูชีพ เฮลิคอปเตอร์ และรถถังทหาร) ภาพร่างและภาพวาดทางกายวิภาคพฤกษศาสตร์ และทฤษฎีเกี่ยวกับการงานจิตรกรรม ภาพกายวิภาคของมนุษย์และสัตว์ ภาพวาดทางภูมิศาสตร์อันแม่นยำ (ว่ากันว่าเขาแอบศึกษากายวิภาคจากการผ่าพิสูจน์ศพในโรงเก็บศพ) ไปจนถึงนวัตกรรมทางวิศวกรรม กลศาสตร์ และกลไก ตั้งแต่การออกแบบเครื่องไม้เครื่องมือทุ่นแรง ไปจนถึงอาวุธสงคราม อากาศยาน และงานสถาปัตยกรรมต่างๆ

สิ่งเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านแบบจำลองผลงานต่างๆ ทั้งแบบจำลองตำราโบราณ ทางวิทยาศาสตร์ Codex Leicester ที่ซ่อนรหัสลับของดา วินชี หรือการเขียนตัวหนังสือกลับด้านที่ต้องอ่านด้วยกระจกเงา แบบจำลองเครื่องจักรกลต่างๆ ทั้งเครื่องจักรกลทางการบิน เครื่องจักรทุ่นแรงในระบบไฮโดรลิค ระบบท่อส่งน้ำ เครื่องดนตรี ไปจนถึงชุดประดาน้ำ และงานวิศวกรรมทางการทหาร ที่ถูกจำลองขึ้นอย่างสมจริง

หรือแม้แต่การนำเสนอแบบร่างทางกายวิภาคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพกายวิภาคมนุษย์อันลือลั่นอย่าง Vitruvian Man ที่มีข้อมูลอธิบายแสดงอัตราส่วนของมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบในภาพวาดนี้อย่างละเอียดชัดเจน

ในนิทรรศการส่วนนี้ยังมีภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับความลับเบื้องหลังผลงานชิ้นเอกของเขาอย่าง The Last Supper (1495-1498) ภาพวาดฝาผนังพระกระยาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูคริสต์ ท่ามกลางอัครสาวกทั้งสิบสอง ก่อนที่จะทรงถูกนำตัวไปตรึงกางเขน ที่อยู่บนฝาผนังโบสถ์ซานตา มาริอา เดลเล กราซี ในเมืองมิลาน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งในภาพวาดที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก

ภาพยนตร์เรื่องนี้เผยให้เราทราบถึงความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่ที่ว่า ภาพวาดชิ้นนี้ของดา วินชี เป็นภาพจิตรกรรมแบบปูนเปียก (fresco) ที่ใช้สีฝุ่นผสมน้ำแล้ววาดลงบนปูนปลาสเตอร์ที่ยังไม่แห้งซึ่งปาดไว้บางๆ บนผนัง เมื่อปูนแห้งก็จะทำให้สีซึมลงในเนื้อปูนและติดผนังอย่างถาวรโดยไม่ต้องเคลือบสี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาพวาด The Last Supper ของดา วินชี เป็นภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังแบบปูนแห้ง (fresco-secco หรือ a secco) ซึ่งเป็นวิธีวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ตรงกันข้ามกับเทคนิคการวาดแบบปูนเปียก เทคนิคการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบปูนแห้ง จะทำโดยการผสมสีกับสารที่ทำให้ติดผนัง เช่น ปูนขาว ไข่ กาว น้ำนม และน้ำมัน เพื่อให้สียึดติดกับผนังปูนที่แห้งแล้ว

ที่ดา วินชี เลือกใช้เทคนิคปูนแห้งวาดภาพแทนที่จะใช้เทคนิคปูนเปียก เหตุเพราะการวาดภาพแบบปูนเปียกเป็นการวาดภาพด้วยสีเชื้อน้ำ ซึ่งไม่เหมาะกับการใช้เทคนิคเฉพาะตัวของเขา และสีสันบางสีไม่สามารถวาดให้สดใสจากการวาดภาพแบบปูนเปียก ด้วยความที่ปฏิกิริยาเคมีที่เป็นด่างของปูนจะทำให้สีหมองลง ไม่สดใส โดยเฉพาะสีน้ำเงิน จิตรกรสมัยเรอเนสซองส์ตอนต้นหลายคนจึงมักจะใช้เทคนิคปูนแห้ง เพื่อให้ได้สีสันที่สดใสและหลากหลายกว่าเทคนิคปูนเปียก ดา วินชีเองก็ไม่ใช้เทคนิคปูนเปียกวาดภาพ The Last Supper หากแต่ใช้เทคนิคสีน้ำมันบนปูนแห้งแทน เพราะอยากให้ภาพนี้มีสีสันสดใสเรืองรองกว่า ที่สำคัญ เขาไม่ชอบเทคนิคปูนเปียก เพราะเขามองว่ามันทำให้เขาต้องรีบเร่งวาดภาพให้เสร็จก่อนที่ปูนจะแห้งนั่นเอง ซึ่งดา วินชี ถือเป็นจิตรกรที่ขึ้นชื่อว่าทำงานเชื่องช้าอ้อยอิ่งที่สุดในยุคเรอเนสซองส์เลยก็ว่าได้

แต่การใช้เทคนิคปูนแห้งก็ส่งผลให้ภาพวาด The Last Supper เสื่อมสภาพและสูญหายไปเกือบหมดจากผลกระทบจากกาลเวลา สภาพแวดล้อม และศัตรูที่สำคัญที่สุดอย่างความร้อน ความชื้น เพราะสีไม่ได้ซึมลงไปอยู่ในเนื้อปูน แต่เกาะอยู่แค่บนพื้นผิวปูนเท่านั้น ที่สำคัญภาพวาดนี้ยังถูกวาดบนผนังห้องรับประทานอาหารในอารามของแม่ชี จึงมักโดนความร้อนจากควันและไอน้ำของโรงครัว จนทำให้เกิดความเสียหายกับภาพ จนองค์ประกอบดั้งเดิมของภาพวาดภาพนี้ เช่น ฝีแปรง หรือรายละเอียดที่ดา วินชี วาดไว้ เหลืออยู่ไม่มากในปัจจุบัน ถึงแม้จะมีความพยายามบูรณะอย่างมากมายจวบจนกระทั่งครั้งสุดท้ายในปี 1999

อย่างไรก็ดี ภาพวาดชิ้นนี้ก็ถือเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกแห่งยุคเรอเนสซองส์ที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นหนึ่งในภาพวาดที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก เทียบเคียงได้กับภาพวาดปูนเปียกบนเพดานโบสถ์น้อยซิสทีน (Sistine Chapel) ที่เล่าเรื่องราวการสร้างโลกของพระผู้เป็นเจ้า ผลงานชิ้นเอกของศิลปินยิ่งใหญ่ในยุคเรอเนสซองส์อีกคนอย่างมีเกลันเจโลเลยก็ว่าได้

ตามมาด้วยในโซนที่สองกับนิทรรศการ The Secrets of the Mona Lisa ที่เป็นการเปิดเผยความลับเบื้องหลังผลงานชิ้นเอกของดา วินชี ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักที่สุดในโลก และเป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังในโลกศิลปะ นั่นก็คือภาพวาด Mona Lisa (1503-1506 หรือ 1507) หรือ La Gioconda ภาพเหมือนของลิซา เกอราร์ดีนีภรรยาของฟรานเชสโก เดล โจกนโด ขุนนางใหญ่แห่งเมืองฟลอเรนซ์ ภาพวาดพอร์ตเทรตครึ่งตัวแสดงภาพสตรีนั่งวางมือประสานกันอยู่ เธอนั่งอยู่เบื้องหน้าภูมิทัศน์อันกว้างไกล คล้ายกับกำลังอยู่ในความฝัน

ภาพวาดนี้ครองใจนักวิจารณ์และผู้รักศิลปะทั่วโลก ด้วยรอยยิ้มอันเป็นปริศนา และการใช้เทคนิคการวาดภาพที่เรียกว่า สฟูมาโต (sfumato) หรือ ‘การใส่ควัน’ ซึ่งเป็นการเกลี่ยขอบและองค์ประกอบของบุคคล วัตถุ และภูมิทัศน์ในภาพวาดให้พร่าเลือนกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมรอบข้างและธรรมชาติเบื้องหลัง เพื่อสร้างความสมจริงเช่นเดียวกับที่ตามนุษย์มองเห็น ซึ่งเทคนิคสฟูมาโตนี่เองที่เป็นส่วนสำคัญในการถือกำเนิดของยุคทองของเรอเนสซองส์ ดา วินชี ตั้งใจวาดภาพนี้ให้แสดงออกมากกว่าความเหมือนจริง หากแต่ต้องการแสดงออกถึงจิตวิญญาณของเธอผ่านรอยยิ้มอันน่าพิศวง จนผู้ชมอย่างเราเดาไม่ออกว่าเธอกำลังอยู่ในอารมณ์ใดกันแน่

ในช่วงปลายปี 2004 พาสคาล คอตต์ (Pascal Cotte) วิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลประมวลผลงานจิตรกรรมด้วยคอมพิวเตอร์ เป็นคนแรกที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลฝรั่งเศสและพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ในการเข้าไปวิเคราะห์ภาพวาด Mona Lisa ซึ่งผลการวิเคราะห์ที่ว่านี้ถูกนำเสนอในนิทรรศการนี้อย่างละเอียดลออจนน่าตื่นตา ทั้งภาพขยายความละเอียดสูงกว่า 40 เท่า และภาพจากกล้องอินฟาเรดที่แยกชั้นของภาพวาดชิ้นนี้ให้เห็นถึงกระบวนการทำงานของดา วินชี อย่างชัดเจน ทั้งการร่าง การลบและการแก้ไขภาพ เทคนิคการวาดภาพ และรายละเอียดของภาพ หรือแม้แต่สีสันดั้งเดิมที่อาจจะสูญหายไปตามกาลเวลา จากการซ่อมแซมทำความสะอาด หรือการเคลือบเงา ในนิทรรศการนี้ยังมีการจำลองภาพวาดชิ้นนี้ขึ้นมาในขนาดเท่าจริง และวัสดุจริง (ภาพวาดสีน้ำมันบนแผ่นไม้ป็อปลาร์) โดยถอดกรอบให้เห็นตัวภาพวาดจำลองเหมือนจริงบนแผ่นไม้ ให้ผู้ชมได้เดินดูรอบๆ ทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลังของภาพ แบบ 360 องศา ซึ่งหาดูได้ยากอย่างยิ่งจริงๆ

ตามมาด้วยนิทรรศการในส่วนสุดท้ายอย่าง Beauty of Italian Renaissance ที่ไม่เพียงมีผลงานของเลโอนาร์โด ดา วินชี หากแต่ยังจัดแสดงผลงานของเหล่าบรรดาศิลปินเอกในยุคเรอเนสซองส์ นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ถึง 17 ไม่ว่าจะเป็นมีเกลันเจโล (Michelangelo), ราฟาเอล(Raphael), บอตตีเชลลี (Botticelli), ทิเชียน (Titian), เวโรเนเซ (Veronese) และคาราวัจโจ (Caravaggio) เป็นต้น

ผลงานจำนวนหลายร้อยชิ้นเหล่านี้ถูกทำให้มีชีวิตผ่านระบบ Immersive Multi-Sensory Experience ระบบมัลติแชนเนลโมชั่นกราฟิกผสานระบบเสียงเซอร์ราวด์คุณภาพระดับโรงภาพยนตร์ ฉายลงบนผนังถึง 40 จุด และบนพื้นอีก 20 จุด ประกอบดนตรีจากการประพันธ์ของคีตกวีชาวอิตาเลียนอย่างจาโกโม ปุชชีนี (Giacomo Puccini) และจูเซปเป แวร์ดี (Giuseppe Verdi) ภายในโซนนี้ยังมีการผสมผสานกลิ่นอะโรม่าเพื่อกระตุ้นการรับรู้และเสริมอารมณ์ ราวกับจะนำพาผู้ชมเดินทางข้ามเวลากลับไปยังยุคเรอเนสซองส์อีกด้วย

จัดหนักจัดเต็มขนาดนี้ เรียกได้ว่ามิตรรักแฟนศิลปะไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง!

นิทรรศการศิลปะดิจิทัลอิมเมอร์ซีฟ Da Vinci Alive Bangkok จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ – 31 กรกฎาคม 2567 ณ Attraction Hall ชั้น 6 ไอคอนสยาม

- Advertisement -