Photographer: Pannatat Aengchuan
Author: Neeraj Kim
สิบสามปีในวงการบันเทิงกับอายุสามสิบปีของพีช – พชร จิราธิวัฒน์ ลอฟฟีเซียล ออมส์ ชวนเขาคุยเรื่องวิกฤติแห่งศรัทธา ทั้งจากมุมมองที่พีชมีโอกาสรับบท ‘เกม’ ในซีรีส์เขย่าวงการพุทธศาสนาเรื่อง ‘สาธุ’(2567) และความเปลี่ยนแปลงในวงการบันเทิงที่พีชยอมรับว่าตอนนี้หมดยุคของเขาแล้ว หรืออายุที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ความยึดมั่นถือมั่นของเขาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ?
อะไรเป็นคุณสมบัติที่ทำให้เขาเลือกพีชมาเล่นซีรีส์สาธุ
(นิ่งคิดสักพัก) ไม่รู้เหมือนกัน คงเป็นความกล้าแหกกฎมั้ง น่าจะเริ่มจากตรงนั้น พอตัวซีรีส์มันพูดถึงเรื่องศาสนา ก็อาจจะมีนักแสดงบางคนที่เขาไม่สบายใจที่จะทำ หรือเปล่า อันนี้คิดจากมุมมองตัวเองสุดๆ เพราะตั้งแต่ตอนเริ่มก็ไม่ได้รู้จักกับพี่แจ็ค – วรรธนพงศ์ วงศ์วรรณ ที่เป็นผู้กำกับมาก่อน เขาถามว่า ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา พอจะสนใจไหม ตัวตนของเราน่าจะเป็นจุดสตาร์ทที่ทำให้ได้มาคุยกัน
หรือคิดว่าตัวเองโตพอแล้วที่จะรับมือกับประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนได้
ไม่ได้มองแบบนั้น อันที่จริงมันมีเมสเสจที่ดีนะ เป็นเรื่องที่เราควรจะพูด เพราะเราเห็นข่าวเยอะ มีข่าวเกี่ยวกับเรื่องศาสนามาตลอด โจทย์ของการมีศาสนาคือเราอยากให้มนุษย์เป็นคนดี อย่างศาสนาพุทธก็สอนให้ละทิ้งกิเลส เป็นมนุษย์ที่เพอร์เฟ็คท์ขึ้น แต่ในเวลาเดียวกันมันก็มีคนจ้องจะใช้สิ่งนี้มาหาประโยชน์ให้ตัวเอง อันนั้นล่ะคือสิ่งที่ทำให้พากันมาถึงทุกวันนี้ เราเลยเห็นด้านที่ไม่ดีมากขึ้น เพราะฉะนั้นมันเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องช่วยทำให้มันกลับมาดี ผมว่าคนที่ได้ดูซีรีส์เรื่อง ‘สาธุ’ แล้ว สิ่งที่ทำได้อย่างน้อยคือช่วยตรวจสอบ ในเมื่อถ้าไม่มีใครทำ มันต้องเป็นหน้าที่เราที่ต้องทำกันเอง ซีรีส์พยายามแสดงตัวอย่างของความไม่ดี ว่าคนกลุ่มนี้เขามีวิธีทำงานยังไง ฉะนั้นไปช่วยกันจับหน่อย
บทนี้ดูเหมาะกับพีชดีนะ เหมือนเรื่องก่อนๆ เลย แล้วความท้าทายล่ะมีไหม
ผมว่าซีรีส์มันมีเส้นบางๆ อยู่นะว่าเราจะเล่าเรื่องนี้ให้ตรงไปตรงมาได้ขนาดไหน เมื่อยังต้องสนุกอยู่ เพราะมันมีรายละเอียดยิบย่อยที่คนดูต้องเข้าใจไปพร้อมกัน เช่นเรื่องเงิน จะเล่าให้สนุกก็ทำยาก นี่ล่ะคือความท้าทายในฐานะนักแสดง จะทำยังไงให้ยังดูแล้วสนุกไปด้วย ขณะเดียวกันก็ได้ข้อมูลกลับไป ไม่อย่างนั้น ถ้าข้อมูลเยอะเกิน ก็จะกลายเป็นสารคดี ซึ่งก็อาจจะทำให้คนสนใจไม่เยอะ มันต้องแลกเปลี่ยนกันนิดนึงว่าทำยังไงให้สนุกพอที่จะทำให้คนดูเข้าใจว่ามันมีสิ่งนี้จริงๆ
น่าสนใจ ในฐานะนักแสดง พีชมีวิธีคิดแบบนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่
ก็ตั้งแต่แรกเลยนะ ตั้งแต่เล่นเรื่องแรก โชคดีที่ได้แคสติ้งที่ดี ได้ทีมที่ดี ตอนเข้าวงการช่วงแรก เรียนการแสดงเยอะมาก เลยได้เรียนรู้เรื่องการตีความตัวละครมากขึ้น
ถ้าอย่างนั้นชวนพีชย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น เคยบอกว่าการเข้าวงการเป็นเรื่องบังเอิญ และในช่วงแรกไม่มีความสุขกับการทำงานเลย อะไรคือสิ่งที่ทำให้เรายังอยู่ตรงนี้
(นิ่งคิด) เราไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เราเลือกหรือตัดสินใจจะเป็นสิ่งที่ดี 100 เปอร์เซ็นต์ มันก็มีทั้งดีและไม่ดีแลกกันล่ะ แต่ถ้ามองกลับไปก็รู้สึกว่าความโชคดีมันเยอะกว่า เราได้โอกาสเริ่มเรียนรู้เร็วกว่าเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันว่าทำงานเป็นยังไง อยู่ร่วมกับคนอื่นยังไง เราได้สะท้อนมุมมองตัวเองตั้งแต่อายุน้อย ได้ประสบการณ์ที่ได้ทำหลายอย่างหลากหลาย ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวกับคนเยอะมาก เพราะพอเปลี่ยนกองก็เปลี่ยนคนไปตลอด โชคดีที่ผมเริ่มมากับ GTH ทุกคนจริงจังกับงานมากๆ อยากทำให้มันดี ผมได้มาเริ่มในโปรเจ็คท์ที่ดีด้วย อย่าง Suckseed (2554) เพราะเป็นเด็กรุ่นเดียวกันเกือบจะทั้งหมด มันได้อยู่ในบรรยากาศที่ทุกคนจริงจังกับสิ่งที่ตัวเองทำ ก่อนจะเริ่มถ่ายหนังเราอยู่ในบ้านเดียวกันเพื่อเรียนรู้ว่าเราจะเป็นเพื่อนกันยังไง มันจริงจังว่ะ มันคงมีไม่กี่ที่หรอกมั้งที่ให้เวลากับเรื่องอะไรแบบนี้
แล้วเคยรู้สึกว่าไม่สนุกกับการทำงานบ้างไหม
เยอะ ก็แล้วแต่วันนะ มันก็มีบ้างล่ะวันที่ไม่ดี เวลาวันไหนที่เล่นไม่ได้ มันก็รู้สึกเยอะเหมือนกัน มันเป็นอาชีพที่ใช้ความรู้สึก แล้วงานแสดงมันเป็นงานกลุ่ม เราพึ่งคนอื่นเสมอ หนังจะดีได้ไม่ใช่เราคนเดียว เราพยายามสุดความสามารถไม่ได้แปลว่ามันจะดี มันพึ่งคนที่เข้าฉาก นายทุน คนโปรโมท คนตัดต่อ ผู้กำกับ คนเขียนบท ทุกอย่างไปหมด มันอาจจะไม่ใช่ความผิดของเราทุกครั้ง มันแชร์ความรับผิดชอบร่วมกัน คนอาจจะมองว่าอาชีพนี้สบาย แต่มันเป็นอาชีพใช้แรงงานในรูปแบบหนึ่ง เวลานักแสดงต้องทรมานตัวเองแล้วเห็นผลลัพธ์ที่ไม่เวิร์ก มันย่อมเจ็บปวดเป็นธรรมดา เพราะเราเอาความรู้สึกตัวเองไปแขวน มันจะมีอาชีพไหนบ้างที่ต้องทำให้ตัวเองเครียด ทำให้ไม่มีความสุข เพื่อฉายให้คนดู น้อยอาชีพที่จะอยากเจ็บปวดตัวเองเพื่อให้คนเห็น เวลามันไม่เวิร์กก็กลับมาตั้งคำถามตัวเองได้เหมือนกันว่า มันใช่ป่าววะที่เราเหนื่อยไปมันเมคเซนส์ไหม เราลดอายุตัวเองลงจากความเครียดไปทำไม
อืม มันก็อาจจะเกิดวิกฤติศรัทธาในตัวเองขึ้นได้ แล้วการร่วมงานกับ Netflix มันเหมือนก่อนหน้านี้…
(ตอบสวนทันที) ต่างกันเยอะครับ เป็นตัวอย่างของการทำงานแบบเป็นระบบมากๆ อย่างเช่น เมื่อก่อนคนทำงานกองถ่ายจะรู้เลยว่าเราจะเริ่มงานประมาณ 6โมงเช้า เสร็จประมาณ 4 ทุ่ม ระยะเวลามัน 18 ชั่วโมง แต่โดยมาตรฐานอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่อเมริกามันจำกัดที่ 12 ชั่วโมง จริงๆ ถ้าพูดตามกฎหมายแรงงาน การทำงาน 18 ชั่วโมงมันไม่เมคเซ้นส์นะ มันอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำงานได้ นี่แค่นักแสดง ยังไม่รวมทีมงานที่หนักยิ่งกว่าเราอีก บางคนมาถึงกองถ่ายตั้งแต่ตี 4 กว่าจะเก็บของทุกอย่างเสร็จก็เที่ยงคืน พรุ่งนี้ต้องไปต่อ เวลาที่พวกเขาได้พักมันน้อยมาก เราจะเห็นคนเสียชีวิตในกองถ่ายเพราะทำงานเยอะเกินไป มันไม่ใช่เรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องที่จะยอมรับได้ แต่เรายอมรับมัน ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะยอมรับตั้งแต่แรก มันเป็นอาชีพที่ดูสวยงามก็จริง แต่ฉากหลังมันไม่มีใครออกมาพูดว่าฉันทำงานนานแค่ไหน ได้พักกี่ชั่วโมงก่อนกลับไปถ่ายใหม่ ผมเคยเจอการถ่าย 27 ซีนใน 1 วัน มันไม่มีทางที่เราจะเล่นออกมาได้ดี มนุษย์ใช้ความสามารถทางสมอง 4 ชั่งโมงติดกันก็เก่งแล้วนะ ที่เหลือมันเป็น autopilot หมดแล้ว แล้วเราจะไปคาดหวังผลลัพธ์ให้มันดีได้ยังไงในเมื่อไม่ได้การซัพพอร์ตในการทำงานอย่างเต็มที่ สุดท้าย คนดูบอกว่า ทำไมเล่นไม่ดีเลย
แบบนี้มันทำให้เรารู้สึกอิ่มตัวจนเคยบอกว่าหมดยุคของเราแล้ว แต่ก็ยังเล่นซีรีส์เรื่องนี้ เพราะ
ก็ยังเป็นนะ ยิ่งทำมาเยอะ ยิ่งรู้เยอะ อะไรบางอย่างมันผิดปกติในอุตสาหกรรมนี้ แต่ก็ไม่รู้จะแก้ยังไงเหมือนกัน เพราะถ้าเราอยากแก้ แต่คนอื่นไม่เห็นดีด้วย ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น เราเล็กมาก เราอาจจะบอกว่าเสียงเราสำคัญ แต่พูดไปแล้วไม่มีใครรับต่อ ก็จบ แต่ที่รับเล่นเรื่องนี้เพราะชอบบท อยากไปทดลองดูว่าถ้าเป็นมนุษย์คนนี้จะเป็นยังไงบ้าง นั่นคือด้านดีของอาชีพนักแสดง ชอบเวลาที่รู้สึกว่า อ้าว เรามีความสามารถนี้อยู่ในตัวด้วยหรอ เราสามารถเป็นมนุษย์แบบนี้ได้ ก็เจ๋งดีนะ
ได้เรียนรู้อะไรจากนักแสดงหลักอีก 2 คน
สำหรับเจมส์ (ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ) เราทำงานมาเยอะกันตั้งแต่วัยรุ่นแล้วิก็เลยง่าย แต่การแสดงมันต้องเปลี่ยนนะ เราไม่ควรเล่นหนังเหมือนเดิม ถ้าเล่นแล้วเหมือนเดิมก็อย่าเล่นดีกว่า มันก็เป็นหน้าที่เราที่ต้องพยายามนำเสนอสิ่งใหม่ไปเรื่อยๆ กับเจมส์ก็สนุกดี รู้จักกันมาตั้งนานก็จริง แต่เราไม่เคยทำงานด้วยกันเลย เล่น ‘ฮอร์โมน’ ด้วยกัน แต่ไม่เคยเข้าฉากเดียวกันเลยแม้แต่แว็บเดียว แต่พอได้ทำงานด้วยกันก็สนุกดี เราโตมาด้วยโมเดลการแสดงแบบเดียวกัน เราจะคุยภาษาที่ค่อนข้างใกล้กัน เช่น กูจะเอาแบบนี้นะ มันเลยเร็วมาก แลกเปลี่ยนไอเดียกันได้เร็ว เขาก็จะกล้าคอมเม้นท์เรา พอฟังแล้วก็เจอมุมมองใหม่ที่คิดไม่ถึง มีคนมาช่วยเรามองอีกมุมหนึ่ง ทำให้เราสมบูรณ์ขึ้น ส่วนแอลลี่ (อชิรญา นิติพน) อายุต่างกันมาก ต้องปรับตัวเยอะเพราะไม่เคยทำงานกับนักแสดงที่อายุน้อย เด็กสุดเท่าที่ผมเคยเจอเลย ตอนแรกก็สงสัยเหมือนกันว่าทำงานกับวัยรุ่นจะเป็นยังไง พอมาเข้าซีนก็มีจังหวะที่เดาไม่ได้เยอะเหมือนกัน แอลลี่จะมีจังหวะของเขาที่ไม่เหมือนใคร ก็เป็นความรู้สึกใหม่ๆ เป็นเรื่องตื่นเต้นที่ได้ทำงานในแต่ละวัน
Assistant Photographer: Tawin Manajit