บันทึกการเดินทางของ Jyri Pylkkänen ในฐานะแบรนด์แอมบาสเดอร์คนใหม่ของ Glenfiddich & The Balvenie

Share This Post

- Advertisement -

คำถามแรกที่เราเอ่ยหลังจากทักทายทำความรู้จักกับ Jyri Pylkkänen อย่างเป็นทางการในวันสัมภาษณ์ก็คือ ‘คุณออกเสียงชื่อคุณอย่างถูกต้องได้ว่าอย่างไรนะ’ ซึ่งเขาก็ตอบด้วยรอยยิ้ม “ยู-ริครับ” 

ยูริรับตำแหน่งมอลต์แบรนด์แอมบาสเดอร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับบริษัท William Grant & Sons (ผู้นิยามคำว่า ‘single malt whisky’ อย่างเป็นทางการบนโลกใบนี้) สำหรับวิสกี้แบรนด์ Glenfiddich และ The Balvenie โดยเฉพาะ เราลงนั่งสัมภาษณ์กับเขาก่อนงาน Glenfiddich The Where Next Club ณ Lloyd’s Club วันที่อากาศของกรุงเทพมหานครอบอ้าวถึงขีดสุด “ตอนที่ผมย้ายมารับตำแหน่งแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ Glenfiddich และ The Balvenie ที่ประเทศสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ที่ประเทศฟินแลนด์บ้านเกิดของผมอุณหภูมิราวๆ -30 องศาเซลเซียส พอมาถึงประเทศสิงคโปร์ก็เจอ 30 องศาเซลเซียสไปเลยครับ” เขาหัวเราะ “ผมว่าประเทศไทยอากาศร้อนก็จริงนะครับ แต่ว่าไม่ชื้นเท่าประเทศสิงคโปร์ ผมเพิ่งมาประเทศไทยเป็นครั้งแรกเลยครับ บอกเลยว่าผมชอบไวบ์ของกรุงเทพมหานครมากๆ เลยนะครับ รับรู้ได้ถึงความจริงใจ และผู้คนที่นี่ก็น่ารักมากเลยครับ อาหารก็อร่อยมากจริงๆ” 

และเมื่อเดินทางมาทำงานในอีกซีกโลกที่วัฒนธรรมแตกต่างจากบ้านเกิดขนาดนี้ ยูริกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ได้มากที่สุด และในเมื่อกรุงเทพฯ แทบจะได้เรียกว่าเป็นเมืองหลวงแห่งสตรีทฟู้ด เขาก็ได้รับการต้อนรับเป็นอาหารรสชาติจัดจ้านอย่างส้มตำ และอาหารเผ็ดหลากหลายชนิด “ถ้าคุณจะให้ผมแนะนำวิสกี้ที่เหมาะกับอาหารที่ผมกินไปเมื่อวานนี้ ผมแนะนำให้คุณดื่ม Glenfiddich 15 ใส่น้ำแข็งสักสองก้อน กลิ่นสไปซ์ในวิสกี้เข้ากันได้ดีกับอาหารอีสานอย่างแน่นอนครับ” นอกเหนือไปจากอาหารอีสานแล้ว ยูริบอกว่าเขาอยากจะลองกินอาหารภาคใต้ที่ไม่ดัดแปลงรสชาติดูสักครั้ง แม้เราจะเตือนแล้วก็ตามว่ามันเผ็ดจนเราเองก็แทบจะไม่ไหว “ผมอยากลองกินอาหารใต้แบบดั้งเดิมจริงๆ นะครับ” เขายังคงยืนกราน “ผมจะได้หาวิสกี้ที่เหมาะกับอาหารใต้ได้ไงล่ะครับ” 

เส้นทางการเดินทางในฐานะ brand ambassador ให้กับ Glenfiddich และ The Balvenie  

“ผมเกิดและโตที่ประเทศฟินแลนด์ครับ” เขาเริ่มต้นคุยกับเราด้วยน้ำเสียงสบายๆ แม้อากาศจะห่างไกลจากคำว่าสบายไปเยอะมาก “ผมเคยทำงานที่บาร์ค็อกเทล หุ้นกับเพื่อนเปิดบาร์กันน่ะครับ ถึงบาร์ของผมจะโฟกัสที่ค็อกเทล แต่ก็มีวิสกี้ให้เลือกหลากหลายพอสมควร นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมสนใจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิสกี้ หลังจากทำบาร์อยู่ได้แปดปี ศึกษาวิสกี้มาเยอะ ก็ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมงานกับ William Grant & Sons เมื่อปี 2016 ซึ่งผมก็ได้ร่วมงานกับ Glenfiddich และ The Balvenie มาตลอดครับ” 

แปดปีที่ได้เปิดบาร์ของตัวเอง ต่อด้วยแปดปีที่ได้ร่วมงานกับ William Grant & Sons ยูริต้องการการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง “เคยมีเพื่อนร่วมงานของผมแนะนำให้ผมลองดูงานแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดูครับ” เขาเล่า “ผมก็เลยสมัครมาอยู่ตรงนี้นี่ล่ะครับ การดื่มวิสกี้ของคนในภูมิภาคนี้ต่างจากประเทศแถบนอร์ดิกมากเลยนะครับ ทั้งวิธีการดื่ม และกระบวนการดื่ม การได้มาทำงานที่นี่เปิดโอกาสให้ผมได้ออกไปเจอผู้คนหลากหลายสาขาอาชีพ ได้สำรวจตลาดใหม่ๆ หาความเป็นไปได้ให้กับวงการวิสกี้ ผมตื่นเต้นมากจริงๆ ครับกับโอกาสที่ได้มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับ Glenfiddich และ The Balvenie ในอีกซีกโลกแบบนี้” 

ฟังดูแล้วคุณตื่นเต้นมาก เราตื่นเต้นไปด้วยแล้วเนี่ย อยากรู้อีกนิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมการดื่มวิสกี้ที่คุณว่าแตกต่าง มีอะไรที่เรียกได้ว่าเป็น culture shock เลยไหม “คนแถบนี้สั่งวิสกี้เป็นขวด เวลาเข้าร้านอาหารครับ” ยูริตอบทันที “ในประเทศแถบนอร์ดิก สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นครับ เราสั่งวิสกี้กันเป็นแก้วๆ เท่านั้น การสั่งวิสกี้เป็นขวดน่าจะเป็นวัฒนธรรมร่วมของคนในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นะครับ ผมว่า” ถ้าเขารู้ว่านอกเหนือจากการสั่งวิสกี้เป็นขวดแล้ว ประเทศไทยยังมีวัฒนธรรม ‘การฝากเหล้า’ อีก เขาจะช็อคขนาดไหนกันนะ 

ประสบการณ์เกี่ยวกับวิสกี้ที่ไม่มีวันลืมได้ลง

“ครั้งแรกที่ผมได้เดินทางไปที่โรงกลั่น Glenfiddich และ The Balvenie ที่เมืองดัฟฟ์ทาวน์ ประเทศสก็อตช์แลนด์” เขาเล่า “ผมได้พบกับ Brian Kinsman ที่เป็น malt master ให้กับ Glenfiddich ในเวลานั้น และ David C. Stewart ที่เป็น malt master ให้กับ The Balvenie ในเวลานั้น บอกเลยว่าทั้งสองคนคือตำนานแห่งวงการวิสกี้เลยนะครับ ส่วนผมก็คือมือใหม่สุดๆ” แววตาของเขาเปล่งประกายตื่นเต้น “ผมก็แบบว่า… เล่าเรื่อง Glenfiddich ให้ผมฟังหน่อยสิครับ เล่าเรื่อง The Balvenie ด้วยสิครับ ตลอดเวลาเลย และผมก็ได้ไปเยี่ยมแวร์เฮ้าส์ที่โรงกลั่นของทั้งสองที่ ในนั้นอบอวลไปด้วยกลิ่นวิสกี้ แบบว่ารสของวิสกี้ลอยอยู่ในอากาศเลยครับ นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้ชิมวิสกี้ในแวร์เฮ้าส์ เป็นประสบการณ์ที่ลืมไม่ลงอย่างแท้จริง ผมมั่นใจว่าผมจะจำมันได้ตลอดไปเลยครับ” 

เมืองดัฟฟ์ทาวน์ ประเทศสก็อตช์แลนด์ ถือเป็นบ้านเกิดแห่งสก็อตช์วิสกี้เลยก็ว่าได้ เมืองนี้มีประชากรอาศัยอยู่เพียง 2,500 คน ล้อมรอบด้วยภูเขา “เมืองนี้มีโซนที่ชื่อว่า Speyside ซึ่งเหมาะกับการมาเดินป่า ตกปลา และพายคายัคมากเลยครับ” ยูริเล่า “ผมตกหลุมรักโซนนี้ และเมืองดัฟฟ์ทาวน์มากเลย เวลาคุณเข้าไปในเขตเมือง มีป้ายใหญ่มากเขียนว่า ‘Welcome to The Whisky Capital of The World’ ในเมืองเล็กๆ แค่นั้นมีโรงกลั่นวิสกี้อยู่ทั้งหมด 7 โรง และ 3 โรงเป็นของเราครับ” 

ทำความรู้จักกับ Glenfiddich 15 วิสกี้ตัวโปรดของยูริ

‘rich – delicate – ripe’ คือสามคำนิยามที่ยูริมอบให้กับ Glenfiddich 15 “เพราะวิสกี้ตัวนี้มีกระบวนการการผลิตที่แตกต่างจากวิสกี้ตัวอื่นอย่างชัดเจนครับ William Grant & Sons ใช้ระบบที่เรียกว่า ‘solera system’ ในการผลิตวิสกี้ ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์มากในอุตสาหกรรมการผลิตวิสกี้ครับ นอกจากนั้น Glenfiddich 15 ยังเป็นวิสกี้ที่อบอวลไปด้วยกลิ่นเครื่องเทศที่พิเศษมากๆ มันจะทำให้คุณนึกถึงเทศกาลคริสต์มาส ที่สำคัญ เหล้า Glenfiddich หยดแรกที่ออกมาจากถังกลั่นนั้นออกมาในเช้าวันคริสต์มาสปี 1887 พอดีเลย และนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ผมผูกพันกับ Glenfiddich เป็นพิเศษ เพราะตัวผมเองก็เกิดวันที่ 23 ธันวาคมด้วยครับ”  

“และในฐานะที่ Glenfiddich เป็นวิสกี้รุ่นแรกๆ ที่ถือกำเนิดขึ้นบนโลกใบนี้ เราได้สร้างสรรค์มันขึ้นมาตั้งแต่ปี 1887 วิสกี้นี้จึงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ผมเชื่อว่ามันเป็นวิสกี้ที่เหมาะกับทุกคน รวมถึงผู้เริ่มต้นหัดดื่มด้วยครับ” ยูริตอบเมื่อเราถามถึงโพรไฟล์ของคนที่น่าจะชอบ Glenfiddich “ที่สำคัญ เราไม่ได้นำเสนอเพียงแค่รสชาติอันลุ่มลึกของวิสกี้เท่านั้นนะครับ ทุกขวดของเราคือสัมผัสแห่งความหรูหรา และประวัติศาสตร์อันยาวนานของวิสกี้อีกด้วย”

ทำความรู้จักกับ The Balvenie 21 วิสกี้ตัวโปรดของยูริเช่นกัน

‘honeyed – nutty – smooth’ เอกลักษณ์ที่ยูริใช้อธิบาย The Balvenie “Balvenie 21 เกิดจากการบ่มวิสกี้ในถังไม้เป็นเวลา 21 ปีครับ” เขาเล่า “และถังไม้นั้นเป็นถังไม้ที่เคยใช้บ่มไวน์มาก่อน วิสกี้ขวดนี้เลยมีกลิ่นดาร์กเบอร์รี่อันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งสำหรับผม วิสกี้ขวดนี้เข้าใกล้เคียงคำว่า ‘เพอร์เฟ็กต์’ ที่สุดแล้วครับ” 

ในขณะที่ Glenfiddich เหมาะสำหรับนักดื่มทุกเพศทุกวัย ยูริเชื่อว่านักดื่มรุ่นใหม่ๆ ต้องการความหลากหลายของรสชาติมากขึ้น “The Balvenie การันตีเรื่องงานคราฟต์ครับ ผู้คนต้องการสัมผัสประสบการณ์การสร้างสรรค์ และประวัติศาสตร์เบื้องหลังการสร้างแบรนด์อันยาวนาน ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเริ่มต้นประสบการณ์การดื่มด่ำวิสกี้คุณภาพดีนั้นน่าจะสนใจแบรนด์นี้เป็นพิเศษครับ” 

สิ่งที่ทำให้ Glenfiddich และ The Balvenie โดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่งอื่นในตลาด

“คุณมีเวลาฟังขนาดไหนล่ะครับ” ยูริหัวเราะทีเล่นทีจริง ส่วนเราตอบหนักแน่นว่า เรามีเวลานั่งฟังทั้งวันอย่างแน่นอน “เริ่มต้นจาก Glenfiddich ก่อนแล้วกันนะครับ” น้ำเสียงของเขาเปลี่ยนเป็นจริงจัง “ทั้ง Glenfiddich และ The Balvenie ต่างก็เป็นกิจการภายในครอบครัวที่สืบทอดต่อกันมา 5 ชั่วอายุคนแล้วครับ เราเริ่มทำวิสกี้กันตั้งแต่ปี 1887 คุณวิลเลียม แกรนท์ พร้อมด้วยลูกชาย 7 คน และลูกสาวอีก 2 คนได้เริ่มต้นสร้างโรงกลั่นวิสกี้ด้วยตัวเองในพื้นที่เขตเมืองดัฟฟ์ทาวน์ สิ่งที่ทำให้โรงกลั่นวิสกี้ในพื้นที่แห่งนี้แตกต่างจากโรงกลั่นแถบอื่นก็คือการได้น้ำบริสุทธิ์จากเทือกเขาที่ไหลผ่านธรรมชาติตรงมาถึงโรงกลั่นนั่นเองล่ะครับ และที่สำคัญ เราเป็นคนที่บัญญัติศัพท์คำว่า ‘single malt’ ขึ้นมาเป็นหนึ่งในการจำแนกประเภทของวิสกี้เลยนะครับ” 

ว้าว… “ก่อนปี 1963 คำว่า single malt ไม่ปรากฏในพจนานุกรมของวิสกี้นะครับ” ยูริอธิบายเมื่อเห็นสีหน้าของเรา “Sandy Grant Gordon หนึ่งในสมาชิกครอบครัวของเราให้คำนิยามว่ามันคือ ‘วิสกี้ที่บ่มอย่างต่ำสามปีในถังที่กลั่นจากโรงกลั่นเดียว ไม่มีสิ่งอื่นใดมาเจือปน’ นั่นเป็นจุดกำเนิด หลังจากจำกัดความและผลิตวิสกี้ single malt ได้สำเร็จแล้ว เขาก็หอบกระเป๋าเดินทางไปที่ทวีปอเมริกา ไปแนะนำวิสกี้ single malt ให้บาร์ทุกแห่ง และบาร์เทนเดอร์ทุกคนรู้จักแบบประเภทเดินไปเคาะประตูบาร์บานต่อบานเลยนะครับ เป็นครั้งแรกที่มีการส่งออกสินค้าประเภทวิสกี้ single malt ออกไปสู่สายตาประชาคมโลก นี่คือประวัติศาสตร์สำคัญที่ทำให้ Glenfiddich เป็นวิสกี้ที่โดดเด่นและแตกต่างจากวิสกี้อื่นๆ ในตลาดครับ” 

เราคิดว่าเรื่องของ Glenfiddich ว้าวมากแล้ว แต่เราคิดผิด “The Balvenie ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1892 หรือห้าปีหลังจากที่ Glenfiddich ถือกำเนิดขึ้น” ยูริเล่าต่อด้วยน้ำเสียงสนุกสนาน “คุณแกรนท์เห็นศักยภาพของธุรกิจวิสกี้ เลยขยายการผลิตออกมา และตั้งใจผลิตวิสกี้ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าจะมีต้นกำเนิดมาจากครอบครัวเดียวกันขึ้นมา และเขาก็ทำได้จริงๆ ครับ

“The Balvenie เป็นการผลิตวิสกี้ที่เรียกได้ว่าเป็นงานคราฟต์แขนงหนึ่งเลยครับ” ยูริอธิบายต่อ “เรายังผลิตมอลต์จากข้าวบาร์เลย์ด้วยตัวเอง ซึ่งในปัจจุบันมีเพียง 7 โรงกลั่นเท่านั้นที่สามารถทำแบบนี้ได้ เราจึงสามารถควบคุมปริมาณน้ำตาลในมอลต์ให้อยู่ในระดับเหมาะสมที่จะทำให้วิสกี้ของ The Balvenie มีรสชาติหวานอันเป็นเอกลักษณ์ได้ และกระบวนการการผลิตมอลต์ต้องใช้แรงงานคนในการเกลี่ยข้าวให้กระจายตัวตลอดเวลา เราเป็นโรงกลั่นเดียวที่ยังใช้แรงงานคนในปัจจุบัน”

นอกเหนือไปจากการผลิตมอลต์ด้วยตัวเอง หม้อทองเหลืองที่ใช้เป็นถังกลั่นก็สำคัญไม่แพ้กัน “เรามีช่างตีทองเหลือง (coppersmith) เป็นของตัวเองด้วยครับ” ยูริเล่าด้วยรอยยิ้ม “หม้อทองเหลืองสำหรับกลั่นต้องมีความหนา และความสม่ำเสมอเท่ากันหมด เพราะถ้าแต่ละหม้อกลั่นแตกต่างกัน มันจะทำลายสมดุลของวิสกี้ที่ผ่านหม้อกลั่นเล่านั้น ดังนั้น ความเชี่ยวชาญของช่างทองเหลืองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในกระบวนการผลิต” และก็ไม่แปลกใจที่ Dennis McBain ช่างทองเหลืองคนเก่าแก่ที่สุดคนหนึ่งของโรงกลั่นจะอายุครบ 82 ปีในปีนี้ แม้ว่าเขาจะเกษียณหลังจากทำงานให้กับโรงกลั่นมาได้ 64 ปี แต่เขาก็ยังคงแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนสถานที่ทำงานที่เขาเชื่อว่าเป็นบ้านอยู่อย่างสม่ำเสมอ (ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานทองเหลือง คลิกที่นี่)

“เรื่องถังไม้ก็สำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นๆ นะครับ” เขาพูดต่อ “เรามีช่างฝีมือชำนาญการเรื่องถังไม้ทำหน้าที่ดูแล ซ่อมแซม และบำรุงถังไม้บ่มวิสกี้ตลอดเวลา เวลามีถังไม้ส่งมาจากประเทศอเมริกาหรือทวีปยุโรป ช่างฝีมือจะสำรวจถัง พร้อมจัดการซ่อมแซมให้ถังนั้นใช้การต่อไปได้ครับ” เดี๋ยวนะ… เราเบรคเขา คุณใช้ถังซ้ำเหรอ น้ำเสียงเราคงเต็มไปด้วยความไม่รู้จนยูริยิ้มอย่างอ่อนโยน “ในประเทศอเมริกา ถังบ่มใช้แค่ครั้งเดียวครับ” เขาอธิบาย ส่วนเราตั้งใจฟังแบบสุดๆ เพราะนี่เป็นสิ่งที่เราจะไม่มีวันได้รู้ หากไม่ได้ลงนั่งคุยกับเขาอย่างแน่นอน “พวกเขาใส่วิสกี้ลงไปบ่ม เอาออกมาใส่ขวด และถังก็หมดหน้าที่ มันอาจจะถูกโยนทิ้งไปเฉยๆ หรือส่งข้ามโลกมาให้เราใช้ต่อ ซึ่งนั่นทำให้เราได้กลิ่นและรสวิสกี้ที่ถูกดูดซับไว้ในไม้โอ๊คอเมริกัน ซึ่งก็จะทำให้ได้รสที่แตกต่างออกไปจากถังที่ทำจากไม้โอ๊คที่ถูกปลูกในทวีปยุโรป กลิ่นและรสสัมผัสก็จะแตกต่างออกไป หาไม่ได้จากการบ่มในถังที่ผลิตในทวีปยุโรปครับ” 

Distillery Library และทิศทางของสังคมวิสกี้ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“เรามี Private Library ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่รักวิสกี้ได้เข้ามาเทสต์วิสกี้ที่หายากได้ครับ” ยูริอธิบายเรื่อง Distillery Library ให้เราฟัง “เป็นพื้นที่ลับสุดเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมอบประสบการณ์วิสกี้หลากหลายให้คุณทั้ง Glenfiddich และ The Balvenie ครับ”

และถ้าเราไม่เคยอินกับวิสกี้มาก่อนเลย และมีโอกาสเข้ามาที่นี่ คุณจะแนะนำให้เราเริ่มต้นที่อะไรได้ เราให้โจทย์เขา “Glenfiddich 12 เลยครับ” ยูริตอบทันที “เพราะมันนุ่ม ลื่นคอ มีความสมดุลของรสชาติที่นุ่มนวล เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีครับ คุณลอง Glenfiddich 12 Highball ดูสักครั้ง และคุณจะเอนจอยไปต่อได้เรื่อยๆ เลยจริงๆ ครับ

“เสน่ห์ของวิสกี้มันไม่ใช่แค่เรื่องรสชาตินะครับ” ยูริทิ้งท้าย “มันคือการเดินทางจากอดีตจนถึงปัจจุบัน สมมติว่าคุณเปิด Glenfiddich 18 คุณไม่ได้แค่ดื่มวิสกี้รสชาติดีเท่านั้น แต่คุณกำลังดื่มด่ำประวัติศาสตร์ของวิสกี้ในขวดนั้นๆ ทันทีที่คุณเปิดขวด คุณได้สัมผัสประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยของวงการวิสกี้ นี่คือเสน่ห์แรกของวิสกี้ครับ และรสชาติของวิสกี้นั้นลึกลับซับซ้อน มีหลากหลายชนิดให้คุณสำรวจ นั่นเป็นสิ่งที่จะทำให้คุณถูกดึงลงไปสู่ห้วงแห่งการผจญภัยของวิสกี้ ลึกลงเรื่อยๆ จนถอนตัวกลับออกมาไม่ได้เลยครับ”  

กดติดตาม Glenfiddich (@GlenfiddichWhisky), The Balvenie (@TheBalvenie) และยูริ (@finnishjyrdram) เพื่อสัมผัสประสบการณ์ดำดิ่งสู่ห้วงผจญภัยของวิสกี้ให้ลึกกว่าเดิม

Author: Pacharee Klinchoo
Photography: Courtesy of William Grant & Sons

- Advertisement -