Author: Peerachai Pasutan
ถึงจะเติบโตมาในครอบครัวหมอและมีความชอบในสายวิทย์ แต่ Gianne Encarnacion (จานน์ เอนการ์นาซิยอน) ก็ค้นพบว่าตัวเองนั้นไปได้ดีกับศิลปะ ทั้งดนตรี การเต้น โดยเฉพาะทัศนศิลป์ที่กลายมาเป็นความสนใจหลักของเธอ “จริงๆ ทางบ้านก็คาดหวังให้ฉันเรียนจบไปเป็นหมอนะ แม่เลยซื้อหนังสือวิทยาศาสตร์สำหรับเด็ก สารานุกรม และกาลานุกรมมาชุดใหญ่ค่ะ ถึงฉันจะชอบอ่านและเรียนจากหนังสือพวกนั้นก็จริง แต่ที่ฉันเอนจอยไปกับการอ่านก็เพราะภาพประกอบต่างๆ ในเล่มค่ะ” เมื่อเห็นถึงพรสวรรค์ด้านการวาดเขียนของลูก พ่อแม่ของจานน์ก็สนับสนุนให้เธอจริงจังกับสายนี้ตั้งแต่เด็กๆ “คุณพ่อคุณแม่ส่งฉันไปเรียนคลาสศิลปะตอนที่ฉันยังเด็กค่ะ ฉันเรียนในโรงเรียนศิลปะที่มีสาขาอยู่ในโรงพยาบาล เลยสะดวกพวกเขาด้วย พอมองย้อนกลับไปแล้ว ก็ตลกดีนะคะที่เพื่อนร่วมชั้นเรียนของฉันช่วงแรกๆ นั้นเป็นหมอที่อายุมากกว่าหรือถึงขั้นรุ่นอาวุโสเลย” สุดท้าย เธอก็จบการศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกการออกแบบสารสนเทศ
อย่างไรก็ดี วิทยาศาสตร์ก็ไม่เคยเลือนหายไปจากชีวิตของจานน์ในฐานะอิทธิพลต่อผลงานของเธอ “ผลงานของฉันคือความโกลาหลที่จัดจ้าน นุ่มนวล และมีแบบแผนค่ะ ตอนโตมา ฉันได้แรงบันดาลใจหลักๆ จากที่บ้าน วิทยาศาสตร์ แฟชั่น และเทคโนโลยียุค 2000s ค่ะ แล้วฉันก็ชอบนำเสนอไอเดียนามธรรมต่างๆ โดยใช้แนวคิดเชิงวิทยาศาสตร์และวัตถุทางดาราศาสตร์ด้วย ดังนั้น พื้นเพครอบครัวสายหมอของฉันก็ยังส่งผลต่อชีวิตของฉันอยู่ค่ะ” ผลงานชุด ‘Yes, I’m Changing’ ที่จานน์ยกตัวอย่างให้เราฟังหลังจากนั้น ก็พอจะยืนยันเอกลักษณ์ตรงนี้ในงานของเธอได้พอสังเขป “ซีรีส์ชุดนี้ได้แรงบันดาลใจจากภาวะความยืดหยุ่นตัวของสมอง (neuroplasticity) หรือความสามารถของสมองในการปรับตัวผ่านการฝึกสมาธิและการปรับวิธีคิด ฉันเปรียบเทียบสิ่งนี้กับมนุษย์ที่สร้างหรือพลิกโฉมตัวเองขึ้นมาใหม่ – โดยเฉพาะหลังจากที่ผ่านเหตุการณ์บอบช้ำมา” สำหรับเรา ดูเหมือนว่าจานน์ได้เติบโตในเส้นทางศิลปะไปพร้อมกับผลงาน ‘เชิงปลดปล่อย’ ชุดนี้ “ฉันภูมิใจมากนะคะกับผลลัพธ์ที่ออกมา แต่ภูมิใจกับกระบวนการ [การทำงาน] มากกว่า เพราะรู้สึกว่าตัวเองก็ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาในทุกขั้นทุกตอนเหมือนกัน” ผลงานอีกชุดหนึ่งอย่าง ‘Somatic Gardens’ ก็สะท้อนความสนใจทั้งด้านวิทยาศาสตร์ของเธอเช่นกัน เพราะจานน์ได้ออกแบบภาพพืชพรรณโดยอิงจากอวัยวะส่วนต่างๆ ของมนุษย์ “[ผลงานชุด ‘Somatic Gardens’] กระตุ้นให้คนมองร่างกายในฐานะสวน เพื่อให้มนุษย์รู้สึกปลอดภัยและมีความสุขในนั้น ตอนนี้ ฉันสร้างสรรค์สวนได้ห้าแบบซึ่งอิงจากโซมาติกเซลล์ (somatic cells) ในร่างกายอย่างเซลล์ประสาท ไขมัน เลือด กระดูก ก้อนเนื้อ และเซลล์อวัยวะค่ะ และฉันกำลังวางแผนที่จะอธิบายแนวคิดนี้ และทำหอสมุดพรรณไม้หรือของตัวเองขึ้นมาด้วย”
Gianne Encarnacion
The Philippines
“ฉันว่าเมื่อคุณจริงจังและเอาใจใส่กับงานและกระบวนการทำงาน นั่นหมายความว่าคุณให้เกียรติตัวเองนะ และฉันว่า ความตั้งใจคือวิธีการเชื่อมโยงที่ดีที่สุดกับผู้คน”
นอกจากโลกวิทยาศาสตร์และครอบครัว จานน์ก็มีศิลปินในใจอยู่หลายคนเช่นกัน เมื่อดูชื่อศิลปินแต่ละคนที่เธอเอ่ยถึงก็ทำให้เราเข้าใจถึงสไตล์การสร้างสรรค์ศิลปะของเธอได้ชัดเจนยิ่งขึ้น “ฉันชื่นชมศิลปินที่สร้าง ‘ระบบนิเวศ’ และจักรวาลของตัวเองนะคะ อย่างเฮโรนิมุส บอส์ช (Hieronymus Bosch), ลุยจิ เซราฟินิ (Luigi Serafini) และเคธี สกอตต์ (Katie Scott) ฉันยังชื่นชมความโกลาหลแสนสวยงามและมีแบบแผนในงานของโยชิทากะ อามาโนะ (Yoshitaka Amano), เจมส์ จีน (James Jean) และเรจิ ฮิรามาซุ (Reiji Hiramatsu) และฉันก็รักศิลปินที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวและโลกต่างๆ ผ่านแนวทางที่หลากหลายอีกด้วย เช่นคอรี เฟเดอร์ (Cory Feder), โจอี ยู (Joey Yu), อายะ ทากาโนะ (Aya Takano) และโมนิกา ราโมส (Monica Ramos) ค่ะ” ไม่ว่าแนวทางการทำงานจะเป็นอย่างไร และแรงบันดาลใจจะเป็นใครหรืออะไรนั้น สำหรับจานน์แล้ว ความจริงใจคือคุณลักษณะที่สำคัญที่สุดในชีวิตศิลปิน “ฉันว่าเมื่อคุณจริงจังและเอาใจใส่กับงานและกระบวนการทำงาน นั่นหมายความว่าคุณให้เกียรติตัวเองนะ และฉันว่า ความตั้งใจคือวิธีการเชื่อมโยงที่ดีที่สุดกับผู้คน ฉันแฮปปี้นะคะตอนที่คนเห็นอะไรเหนือไปกว่าสุนทรียภาพในงานของฉัน หรือตอนที่งานของฉันจับใจ ปลอบโยน และทำให้คนเหล่านั้นรู้สึกถึงทุกสิ่งอย่างที่พวกเขาอยากจะเก็บติดตัวเอาไว้ในทุกๆ ที่ค่ะ
“ฉันอยากทำงานอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับแฟชั่นนะ! ไม่ว่าจะเป็นภาพประกอบบนนิตยสารแฟชั่น แคมเปญ บรรจุภัณฑ์ หรืองานคอลแล็บพิเศษกับดีไซเนอร์ ไลน์สินค้า หรือแบรนด์” จานน์พูดถึง ‘โปรเจกต์ในฝัน’ ที่เธออยากจะทำ “ฉันยังสนใจที่จะนำผลงานตัวเองมาผลิตเป็นเครื่องแต่งกายด้วย ดังนั้น ตอนนี้ฉันจึงสำรวจโครงสร้างเสื้อผ้าและผสานลายปักลงบนผ้าให้มากขึ้นค่ะ” สุดท้าย เราขอให้เธอเล่าถึงประสบการณ์จากการมาร่วมงาน Bangkok Illustration Fair ในฐานะศิลปินสักเล็กน้อย “พูดตามตรงนะคะ ฉันไม่คิดว่าตัวเองจะได้รับคัดเลือกเมื่อดูจากจำนวนศิลปินมากความสามารถหลายคนที่มาสมัคร ฉันรู้สึกเป็นเกียรติสำหรับโอกาสครั้งนี้ และก็สนุกไปกับงานมากๆ ทุกคนอบอุ่นและเป็นกันเอง และฉันก็ได้เจอศิลปินชาวไทยหลายคนด้วย หลังงานจบ เลยรู้สึกมีพลังและเปี่ยมแรงบันดาลใจขึ้นมาทันที และเซอร์ไพรส์อยู่เหมือนกันนะคะที่ได้รู้ว่ามีคนดีใจที่ได้มาเจอฉันในงาน เพราะพวกเขาติดตามฉันมาแล้วสักพักด้วย! ปลื้มใจมากค่ะ”
ติดตามผลงานของ Gianne ได้ทาง Instagram @pngianne
France Daffon
The Philippines
“ตอนปีค.ศ. 2018 ฉันผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาค่ะ รู้ตัวเลยว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากสภาวะนั้น และจู่ๆ ได้มารู้จักกับการวาดภาพเส้นเดียว (single line drawing) ก็เริ่มฝึกฝนและหลงรักในกระบวนการสร้างลายเส้นต่างๆ ที่ถ่ายทอดถึงความเสียใจออกมา มันเหมือนกับการฝึกสมาธิและการให้อภัยแบบหนึ่งหลังจากที่ฉันกดดันตัวเองมากเกินไปค่ะ” France Daffon (ฟรานซ์ ดาฟฟอน) เกริ่นให้เราฟังว่าเธอผันตัวมาเป็นนักวาดภาพประกอบเต็มเวลาได้อย่างไร จากนั้น เธอก็เล่าย้อนถึงชีวิตวัยเยาว์ที่ส่งผลถึงเส้นทางชีวิตศิลปินของเธอ “ฉันว่าฉันวาดรูปไปเยอะมากเพื่อที่จะพักใจกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครอบครัวค่ะ การเติบโตในครอบครัวที่ไม่ลงรอยกันนั้นเป็นเรื่องยากนะ การทำศิลปะเลยกลายเป็นช่องทางในการถ่ายทอดอารมณ์ของฉัน ตอนเด็กๆ ฉันลงเล่นกีฬาไม่ได้เพราะป่วยอยู่พักหนึ่ง ทุกๆ ปี ฉันเลยเข้าชมรมศิลปะในโรงเรียนแทน ถึงจะต้องเปลี่ยนที่เรียนก็ตาม [จน] ได้เป็นรองประธานชมรมศิลปะระหว่างเรียนม.ปลายปีสุดท้ายด้วยค่ะ”
นอกจากจะช่วยให้เธอได้ปลดปล่อยตัวเองจากความวิตกกังวลแล้ว เทคนิคการวาดภาพเส้นเดียวนี้ยังทำให้ ฟรานซ์ค้นพบว่า ‘การรวมตัวพบปะ’ คือธีมหลักในผลงานของเธอ “ฉันรักคอนเซปต์ที่การวาดภาพเส้นเดียวนั้นสามารถหมายถึงการยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบและการเชื่อมโยงได้ด้วยเช่นกัน ฉันเป็นคนประเภทที่เรียกร้องความใกล้ชิดและชุมชนนะคะ แล้วนี่ก็สะท้อนอยู่ในงานและการจัดวางองค์ประกอบ [ในงาน] ของฉันด้วย” แล้วฟรานซ์พูดถึงภาพ ‘Buddy Buddy’ ที่เธอได้รับมอบหมายให้ทำจากร้านไวน์และสุราแห่งหนึ่งในนครมากาตี มาเป็นตัวอย่างถึงเรื่องการรวมตัวกันของผู้คนในผลงานของเธอ “‘Buddy Buddy’ นำเสนอภาพมอนทาจ (montage) ให้เห็นว่า ผู้คนจะมาร่วมสมัครสมานสามัคคีและแบ่งปันความเปราะบางไปด้วยกันได้อย่างไร เมื่อเขาค้นพบพื้นที่ที่สามของตัวเองได้สำเร็จค่ะ แล้วเสียงของชื่องานก็เหมือนกับคำวิเศษณ์ ‘buddy-buddy’ แปลได้ว่าเพื่อนสนิทค่ะ” ยิ่งไปกว่านั้น [ภาพเงา] เรือนร่างผู้หญิงและสีน้ำเงิน ก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่ในงานของเธออยู่บ่อยครั้ง อย่างในผลงานสเก็ตบอร์ดไม้เมเปิลเคลือบลาย ‘Stop Stone’ นั้น ฟรานซ์ใช้องค์ประกอบเหล่านี้เพื่อ “ชักชวนให้ผู้หญิงได้ออกแบบ โลดแล่น และเข้าครองพื้นที่ที่ปกติแล้วไม่มีใครเห็นพวกเขา” อีกทั้งการใช้สเก็ตบอร์ดเป็นวัสดุสื่อกลางก็คล้ายกับการไถลเข้าหา ‘หินหยุด’ หรืออุปสรรคต่างๆ ในสังคมตั้งแต่ “ความแตกต่างทางเศรษฐกิจ [ในเขตเมืองตามนครต่างๆ] ไปจนถึงความปลอดภัยและการยอมรับผู้หญิงในชุมชนต่างๆ” ด้วยเช่นกัน เมื่อพูดถึงงานลายเส้นและเรือนร่างมนุษย์ – โดยเฉพาะเรือนร่างของคนข้ามเพศและคนสองเพศ – ฟรานซ์ก็มีเกโก (Gego), บลังกา มิโร สกูดี (Blanca Miró Skoudy) และเจฟฟรีย์ เฉิง (Jeffrey Cheung) เป็นศิลปินในใจของเธอ
“ฉันไม่ได้คาดหวังอะไรเฉพาะเจาะจงกับอาชีพตัวเองในฐานะนักวาดภาพประกอบนะคะ [เพราะ] ฉันเปิดใจรับโอกาสต่างๆ ที่เข้ามา อีกทั้งความเป็นธรรมชาติและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ก็ยังเป็นแรงผลักดันฉันต่อไปค่ะ”
แม้ฟรานซ์จะได้รับโอกาสต่างๆ ในวงการศิลปินมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่ก้าวมาเป็นศิลปินภาพประกอบ แต่เธอก็ต้องหยุดพักไปหลายครั้ง ส่วนหนึ่งก็เพราะตอนนั้นเธอมีอีกอาชีพหนึ่งในฐานะนักทำหนังประจำองค์กรสถาปัตย์ “ตอนที่ฉันตัดสินใจกลับมา [ทำศิลปะ] ฉันก็ลงสมัครในมหกรรม 2023 Manila Illustration Fair ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ฉันได้รับคัดเลือกและ – ถ้าให้พูดนะคะ – มันก็ยังเปลี่ยนชีวิตฉันอยู่นะ ฉันว่านี่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ฉันหันมาเป็นนักวาดภาพประกอบ และตอนนี้ ฉันกำลังหาจุดสมดุลระหว่างวิจิตรศิลป์และภาพประกอบอยู่ค่ะ” แล้วเป้าหมายของเธอในฐานะศิลปินคืออะไรกันล่ะ “ฉันไม่ได้คาดหวังอะไรเฉพาะเจาะจงกับอาชีพตัวเองในฐานะนักวาดภาพประกอบนะคะ [เพราะ] ฉันเปิดใจรับโอกาสต่างๆ ที่เข้ามา อีกทั้งความเป็นธรรมชาติและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ก็ยังเป็นแรงผลักดันฉันต่อไปค่ะ” เธอตอบ แต่แน่นอนว่าฟรานซ์ก็มีหลายสิ่งอย่างที่เธออยากลองทำในงานของตัวเอง “สักวันหนึ่ง ฉันอยากจะใช้สื่อและวัสดุที่แตกต่าง (อย่างสื่อดิจิตอลหรือสื่อดั้งเดิม) ไว้ด้วยกันในโปรเจกต์ที่ใหม่กับตัวฉันเอง แต่ก็ยังคงเชื่อมโยงกับผู้คนได้ค่ะ แล้วฉันก็อยากทดลองกับการระบายสี ลวดศิลป์ (wire sculptures) และการอัดภาพด้วยแสงแดด (cyanotype printing) อีกด้วย” นอกจากนี้ เธอได้แรงบันดาลใจจากผู้ชมในการทำงานกับวัสดุอื่นๆ ด้วย “ฉันอยากมีประสบการณ์ด้านการออกแบบรองเท้า ภาชนะบนโต๊ะอาหาร และขวดไวน์ค่ะ แต่ฉันก็เปิดใจกับสิ่งอื่นๆ ที่ผู้คนอาจแนะนำให้ฉันทำด้วย ตอนที่มีคนบอกว่าพวกเขาจินตนาการภาพประกอบของฉันบนวัตถุอื่นๆ มันน่าตื่นเต้นและถ่อมตนนะคะเพราะฉันรับไว้เป็นคำชมในรูปแบบหนึ่ง
“ฉันสมัครเข้าร่วมงาน Bangkok Illustration Fair และไม่ได้คิดว่าจะได้รับคัดเลือกนะคะ แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่พิเศษและล้นเหลือมากๆ เลย แล้วนี่ก็เป็นครั้งแรกที่ฉันได้มากรุงเทพฯ ด้วย” ฟรานซ์เกริ่นถึงช่วงเวลาที่เธอได้มาร่วมงาน BKKIF แล้วเธอก็เล่าติดตลกต่อว่า “เอาจริงๆ นะคะ ตอนถึงวันบิน ฉันยังยัดเสื้อผ้าใส่กระเป๋าอยู่เลย เลยไม่ได้รู้สึกถึงอารมณ์แห่งการเดินทางจริงๆ แต่มารู้ตัวอีกที [ว่ามาถึงกรุงเทพฯ แล้ว] ก็ตอนที่ไม่เข้าใจใครเลยค่ะ!” นอกจากตัวเธอเองแล้ว ก็ยังมีศิลปินชาวฟิลิปิโนอีกหกคนที่มาร่วมงานครั้งนี้ด้วย ดูเหมือนว่าฟรานซ์จะภูมิใจที่ได้นำเสนอสิ่งหนึ่งที่นอกเหนือจากผลงานศิลปะให้ผู้ชมชาวต่างชาติได้เห็น “เรา [ฟรานซ์และเพื่อนศิลปินชาวฟิลิปิโน] ผูกพันกัน และได้นำจิตวิญญาณและพลังงานชาวฟิลิปิโนมาสู่งานจัดแสดง ฉันว่าบูธข้างๆ จากเมืองไทยยืนยันเรื่องนี้ได้นะ!” เธอได้สัมผัสและประทับใจกับบรรยากาศความใกล้ชิด อันเป็นหัวใจหลักในงานศิลปะของเธอด้วยเช่นกัน “สิ่งที่เราชอบเกี่ยวกับงาน BKKIF คือ ทางผู้จัดงานไม่ได้แยกศิลปินต่างชาติออกจากศิลปินไทย คนท้องถิ่นเลยไม่ได้ลังเลที่จะเข้ามาในบูธของเรา […] ฉันหลงรักความสงสัยใคร่รู้ที่ผู้ชมมีต่อผลงานของฉัน และพวกเขายังถามถึงประสบการณ์ของฉันในกรุงเทพฯ อีกด้วย ส่วนศิลปินชาวไทยก็น่าทึ่งมากๆ ค่ะ! พวกเขาใจดีและช่วยให้ฉันทำตัวสบายๆ ระหว่างการเตรียมการ [หลังจากงานจบลง] ฉันรู้สึกว่าความคิดของฉันเปิดกว้างขึ้นจากการได้พบปะกับผู้คนหลากหลายในช่วงที่มากรุงเทพฯ ได้รับความอบอุ่นกลับมาด้วยค่ะ” ฟรานซ์สรุปจบ
ติดตามผลงานของ France ได้ทาง Instagram @francedaffon
Projek
SembangSembang
Malaysia
“พวกเราภูมิใจที่จะบอกว่าเราเป็นกลุ่มผู้ผลิตสินค้า ดีไซเนอร์ช่างฝัน และนักเขียนเปี่ยมไหวพริบ เพราะเราสร้างสรรค์งานศิลปะที่แตกต่างและเชื่อมโยงกับทุกก้าวเดินในชีวิตให้ได้ชื่นชมกันค่ะ” Projek SembangSembang แนะนำตัวเองอย่างมั่นใจและเปี่ยมพลัง สอดคล้องกับงานป็อปอาร์ตร่วมสมัยของกลุ่มที่ดูสดใส เราเกิดสนใจตรงที่พวกเธอนิยามว่าตัวเองเป็น ‘นักเขียน’ ด้วย หมายความว่าอย่างไรกันนะ “ช่วงที่เรียนสถาปัตย์ เราค้นพบสกิลที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าเราจะเก่ง คนหนึ่งก็ทำกราฟฟิกดีไซน์ได้ดี ส่วนอีกคนก็ชอบงานเขียนมากๆ เราสองคนเลยรวบรวมความกล้าในการทำบางสิ่งอย่างที่เรารู้ว่าแหวกขนบ ก็คือการเริ่มโปรเจกต์นี้ค่ะ” ถึงพวกเธอจะไม่ได้นึกมาเป็นศิลปินแต่แรก แต่พอมีโอกาสได้ทำงานด้านนี้เต็มตัวแล้ว พวกเธอก็เห็นว่านี่เป็นงานที่มั่นคงสำหรับตัวเองได้เช่นกัน “การมาเป็นกลุ่มนักวาดภาพประกอบนั้นไม่เคยอยู่ในแผนชีวิตของเราอย่างจริงจังค่ะ แน่นอนค่ะว่าตอน [ที่เรียนอยู่] นั้นเราคิดว่าการเป็นสถาปนิกเป็นเพียงทางเลือกเดียวของเรา […] การที่เราสามารถทำสิ่งนี้เป็นอาชีพได้ ถือว่าเป็นสิทธิพิเศษอย่างหนึ่งนะคะ ใครจะรู้ล่ะว่าสิ่งที่เริ่มต้นจากการเป็นงานอดิเรกได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต และเป็นสิ่งที่เราหวังว่าจะไม่ปล่อยทิ้งไปค่ะ”
“เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการค้นหา และเรารู้ว่าต้องเติบโตต่อไปและไม่ควรหยุดสำรวจสิ่งต่างๆ ดังนั้น เรายังไม่มั่นใจว่าเราควรตั้งเกณฑ์โปรเจกต์ในฝันอะไรใดๆ”
อย่างที่เกริ่นไปก่อนหน้า SembangSembang นิยามตัวเองว่าเป็นทั้งศิลปินภาพประกอบและนักเขียน (คำเชิงโฆษณา) ข้อเท็จจริงนี้ดูจะยืนยันได้จากผลงานภาพประกอบล้อเลียนแบรนด์สินค้าต่างๆ ซึ่งพวกเธอมักจะใช้ถ่ายทอดสารต่างๆ ที่อยากจะสื่อ “ถึงจะมีความหมิ่นเหม่อยู่บ้างระหว่างพรมแดนที่เราตั้งเกี่ยวกับเรื่องการเลียนแบบและลิขสิทธิ์ พวกเราก็ยึดมั่นในความคิดที่ว่า การล้อเลียนควรจะได้รับการยอมรับและพูดถึง [เพราะ] สำหรับพวกเราแล้ว สิ่งนี้ผลักดันไปสู่การอภิปรายกันอย่างรอบคอบและการมีส่วนร่วมที่ดีระหว่างแบรนด์ค่ะ” จากนั้น พวกเธอก็ยกตัวอย่างผลงานสองชิ้นที่เล่นทั้งภาพและภาษา “เราสนุกกับการวาดภาพล้อเลียนถุงหิ้วฟรังต้าสุดฮิตของ IKEA มากค่ะ เราทำอาร์ตเวิร์คชิ้นนี้ไปพร้อมกับปฏิทินสมุดจดในธีม ‘Because I can! (ก็ไอทำได้)’” การแผลงคำจาก ‘IKEA’ เป็น ‘I can’ ก็เพื่อส่งข้อความเชิงให้กำลังใจกับผู้ชมนั่นเอง ขณะเดียวกัน ก็ยัง “เน้นย้ำความโดดเด่นของกระเป๋าฟรังต้าของบริษัทฯ” ด้วย ส่วนผลงานชิ้นที่สอง คือปฏิทินปีใหม่ล้อกระป๋องปลาซาร์ดีนของ Ayam Brand บวกกับการแผลงชื่อแบรนด์ให้เป็นวลี ‘I am brave (ฉันกล้าหาญ)’ และการพลิกคำว่า ‘sardine’ เป็น ‘don’t be saddened (อย่าแซดดิ)’ พวกเธออธิบายงานชิ้นนี้ให้ฟังต่อว่า “ภาพกราฟฟิกที่เราใช้ – ก็คือภาพนายเงือกนอนตะแคงโชว์ขนดกบนร่างกายอย่างมั่นใจ – นั้นดึงดูดใจผู้ชม และภาพก็ควบคู่ไปกับสารที่เราต้องการจะสื่อด้วย [ว่าเราอยากจะปลุกใจคนต้อนรับปีใหม่] ค่ะ”
เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของ SembangSembang คือการนำบริบทท้องถิ่นและโอกาสพิเศษต่างๆ ในประเทศมาเลเซียมาต่อยอดเป็นผลงานศิลปะที่เข้าถึงใจคนในพื้นที่ (และคนต่างถิ่นด้วย) เช่นแผนที่ ‘Map-ling’ ตอนปีค.ศ. 2019 “นี่คืออาร์ตปรินท์ชิ้นหนึ่งที่ขายดีที่สุดของเรา และห้าปีถัดมา ก็ยังมีคนตามหางานชิ้นนี้อยู่ค่ะ เราเลือกถนนเปอตาลิง (Petaling Street) ซึ่งโด่งดังในกัวลาลัมเปอร์ ร้านอาหารและแหล่งท่องเที่ยวดังๆ มานำเสนอลงบนแผนที่ภาพวาดนี้ เราได้เรียนรู้ว่า การเล่าเรื่องราวผ่านแผนที่นั้นง่าย สนุก และเข้าถึงผู้คนได้มากที่สุด – ทั้งคนท้องถิ่นเองและนักท่องเที่ยวต่างชาติค่ะ” อย่างไรก็ดี ตอนนี้พวกเธอก็ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องเชื่อมโยงกับโลกในระดับสากลด้วย “เราทำงานสายนี้มาแล้วห้าปีค่ะ พอเราโตขึ้น เราก็ตระหนักได้ว่าเราต้องตามทันสากลด้วยเช่นกัน ก้าวแรกที่จะทำเช่นนั้นได้ คือการพยายามให้ทีมได้รับคัดเลือกให้ไปจัดแสดงผลงานในต่างประเทศ และ Bangkok Illustration Fair ก็เป็นการนับหนึ่งค่ะ” แล้วพวกเธอก็กล่าวถึง Bunga dan Bintang เพื่อนศิลปินที่คอยเป็นแรงบันดาลใจและสนับสนุนการผจญภัยของกลุ่มในวงการศิลปะมาตลอด
“พูดตามตรงนะคะ ตอนที่เราเห็นประกาศรับสมัครจากงาน BKKIF เราก็คว้าโอกาสไว้ แต่ไม่ได้ตั้งความหวังอะไรมากนัก อย่างไรก็ดี แน่ค่ะว่าพวกเราก็ดีใจสุดขีด (พร้อมกับความไม่เชื่อนิดๆ) ว่าเราจะได้รับคัดเลือกให้จัดแสดงผลงานร่วมกับ Book of Lai ศิลปินชาวมาเลย์อีกคนหนึ่งค่ะ” พวกเธอเล่าต่อถึงประสบการณ์จากนิทรรศการในกรุงเทพฯ “เราดีใจค่ะที่สามารถนำผลงาน ‘The Big Bangkok Theory’ มานำเสนอ และสนุกกับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆ ต่องานชิ้นนี้ค่ะ [อีกทั้ง] การได้ผูกมิตรกับเพื่อนศิลปินภาพประกอบทั้งจากประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์นั้น ทำให้เรามั่นใจว่าเราเดินมาถูกทางแล้วค่ะ พวกเรามีช่วงเวลาดีๆ ตลอดทั้งห้าวันที่อยู่ในกรุงเทพฯ ได้สื่อสารกับผู้ชม – ถึงจะมีกำแพงภาษาเล็กน้อย – และการมาสรุปทุกสิ่งอย่างผ่านบทสัมภาษณ์นี้นั้น คือไฮไลท์ของการเดินทางของเราค่ะ”
เราอยากรู้ว่า ตอนนี้ SembangSembang มีโปรเจกต์ในฝันในใจอยู่บ้างหรือเปล่า “ถึงตอนนี้เราจะอยู่ในอุตสาหกรรมครีเอทีฟมาสักพักแล้ว แต่เราก็ไม่เหนียมอายนะคะที่จะยอมรับว่า เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการค้นหา และเรารู้ว่าต้องเติบโตต่อไปและไม่ควรหยุดสำรวจสิ่งต่างๆ ดังนั้น เรายังไม่มั่นใจว่าเราควรตั้งเกณฑ์โปรเจกต์ในฝันอะไรใดๆ เพราะเรากลัวว่านั่นจะพาเราไปสู่จุดจบเมื่อเราทำงานงานนั้นสำเร็จ” พวกเธอตอบ “แต่ข่าวดีคือ พวกเรากำลังใช้ชีวิตตามความฝันของเราจริงๆ ค่ะ และทำงานทุกชิ้นให้เป็น ‘โปรเจกต์ในฝัน’ ของเราค่ะ” นอกจากจะสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแล้ว พวกเธอยังเปิดอาร์ตคาเฟ่ของตัวเองด้วย เป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่าศิลปะสามารถเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้ “เราตั้งชื่อร้านว่า ‘Mari! Ke Kedai’ (หมายความว่า ‘ไปร้านนั้นกันเถอะ!’) จึงขอเชิญชวนทุกคนที่มาเยือนมาเลเซียให้มาแวะร้านของเราสักเล็กน้อย [นอกจากจะมีสินค้าของเราเองแล้ว] เรายังรวบรวมแบรนด์กว่า 30 แบรนด์มาจัดจำหน่ายที่ร้านด้วยค่ะ”
ติดตาม Projek SembangSembang ได้ทาง Instagram @sembangsembang และร้าน Mari! Ke Kedai ทาง @marikekedai