Author: Mintira Thammapalert
Photography: Courtesy of HBO GO
ใครจะล่วงรู้ว่าเบื้องหลังรอยยิ้มอันสดใสของมิสเตอร์วิลลี่ วองก้า คาแรคเตอร์หลุดโลกจากปลายปากกาของโรอัลด์ ดาห์ล ที่กำลังจะกลับมาสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมนับล้านอีกครั้งในปีนี้กลับมีเรื่องราวที่ตรงกันข้ามกับ ‘ความเป็นวองก้า’ อย่างสิ้นเชิง
จุดเริ่มต้นของเรื่อง “Charlie and the Chocolate Factory” เกิดขึ้นจากความชื่นชอบช็อกโกแลตโดยบริสุทธิ์ใจของโรอัลด์ ดาห์ล นักเขียนชาวเวลส์ผู้มีชื่อเสียงก้องโลก ในวัย 13 ปี ดาห์ลย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเรฟตัน (Repton School) ในเซาธ์ เดอร์บี้ไชร์ (South Derbyshire) ซึ่งกลายเป็นสวรรค์ของหนุ่มน้อยดาห์ลในทันทีเมื่อแคดเบอรี (Cadbury) โรงงานช็อกโกแลต (จริงๆ) แจกตัวอย่างช็อกโกแลตฟรีในแบบต่างๆ ให้นักเรียนเรฟตันลองรับประทาน เพื่อดูว่าพวกเขาชอบช็อกโกแลตแบบใด นักเรียนแต่ละคนจะได้รับกล่องช็อกโกแลตซึ่งบรรจุช็อกโกแลตแท่งเอาไว้ 12 แท่งในแบบที่ไม่ได้ระบุฉลากอะไรไว้เลย 11 แท่งเป็นสินค้าใหม่ อีก 1 แท่งเป็นสินค้าเดิมที่เป็นตัวขายดีที่สุด เด็กๆ จะต้องจัดอันดับว่าชอบแท่งไหนมากกว่ากัน คืนวันอันน่าตื่นใจที่ได้ลิ้มลองช็อกโกแลต ‘ปริศนา’ เหล่านี้ ทำให้เด็กชายดาห์ลถึงกับจินตนาการไปว่าภายในโรงงานแคดเบอรีต้องมี ‘ห้องวิจัยลับ’ อยู่ “ผมเชื่อจริงๆ ว่าที่แคดเบอรีมีห้องวิจัยลับแบบที่มีผู้ใหญ่ชายหญิงมากมายใส่ชุดติดกันสีขาว และใช้เวลาของเขาหมดไปกับการ ‘เล่น’ กับหม้อต้มช็อกโกแลตและน้ำตาลเหนียวๆ ข้นๆ ยุ่งกับการผสม หรือพยายามสร้างสรรค์อะไรแปลกใหม่และเจ๋งสุดๆ ออกมา” ดาห์ลเล่าเอาไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของเขา
ความประทับใจเปลี่ยนเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่อง Charlie and the Chocolate Factory ในอีก 35 ปีต่อมา และนั่นเองเป็นตอนที่ ‘มิสเตอร์วิลลี่ วองก้า’ (Willy Wonka) เจ้าของโรงงานช็อกโกแลตบุคลิกสุดล้ำได้มีโอกาสออกมาโลดแล่นให้เราได้หลงรัก ทว่าเบื้องหลัง ‘ความร่าเริง’ ของมิสเตอร์วองก้า กลับมีบางอย่างซุกซ่อนอยู่ ในช่วงที่กำลังรุ่งโรจน์ด้านงานเขียนในปี ค.ศ. 1960 และกำลังเริ่มต้นผลงานใหม่เรื่องชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลต ธีโอ บุตรชายคนเดียวของดาห์ลกับภรรยาคนแรก แพทริเซีย นีล (Patricia Neal) นักแสดงสาวชาวอเมริกัน ประสบอุบัติเหตุถูกรถแท็กซี่ชนได้รับบาดเจ็บสาหัสขณะมีอายุได้เพียง 4 เดือน ว่ากันว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้น ณ ขณะที่ดาห์ลกำลังนั่ง ‘เขียน’ เรื่อง ชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลตอยู่ในอพาร์ทเมนต์ ธีโอต้องเข้ารับการผ่าตัดต่อเนื่องยาวนานหลายต่อหลายครั้ง นั่นทำให้ดาห์ลวางมือจากงานเขียนไป 18 เดือนเพื่อดูแลลูก รวมถึงร่วมมือกับวิศวกรไฮดรอลิกและศัลยแพทย์ระบบประสาทคิดค้นวาล์ว Wade-Dahl-Till (WDT) ท่อระบายน้ำในโพรงสมองเพื่อช่วยรักษาธีโอ ซึ่งภายหลังวาล์ว WDT ได้ช่วยชีวิตเด็กๆ อีกหลายพันคนทั่วโลก ก่อนที่เทคโนโลยีด้านนี้จะพัฒนาตามทัน
ฝันร้ายของดาห์ลยังไม่จบแค่นั้น หลังจากย้ายครอบครัวกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่อังกฤษในปี ค.ศ. 1961 และเขาเริ่มกลับมาเขียนเรื่องชาร์ลีฯ ต่อ โอลิเวีย บุตรสาวคนโตวัย 7 ขวบของดาห์ลกลับเสียชีวิตด้วยโรคหัดอย่างไม่ทันตั้งตัว เด็กหญิงบอกพ่อว่าเธอรู้สึกง่วงนอน “หนึ่งชั่วโมงต่อมา เธอหมดสติ และอีก 12 ชั่วโมงต่อมา เธอก็เสียชีวิต” ดาห์ลเขียนเล่าเอาไว้
ความโทมนัสอย่างสุดแสนถาโถมดาห์ล เพื่อเป็นการหลีกหนี เขาหันหน้าเข้าหาสิ่งที่เขารัก นั่นก็คืองานเขียน และทุ่มเทความรู้สึกทั้งหลายที่ประดังประเดเข้ามาออกมาเป็นเรื่องราวของหนุ่มน้อยชาร์ลีและมิสเตอร์วองก้าจนวรรณกรรมเล่มนี้เสร็จสิ้นลงจนได้ในปี ค.ศ. 1964 ซึ่งเป็น 4 ปีแห่งความทุกข์ทรมานที่สุดในชีวิตเขา เป็นไปได้ว่าเรื่องชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลต อาจเป็น ‘สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ’ ที่ช่วยให้ดาห์ลหลุดพ้นจากความเจ็บปวดในชีวิตจริง ดาห์ลใส่เรื่องราว ความรู้สึกต่างๆ หรือแม้กระทั่งสิ่งที่เขาอยากจะให้เป็นลงไปในวรรณกรรม “มนตร์วิเศษอันตื่นตา นักประดิษฐ์อัจฉริยะ ผมคิดว่ามันเห็นชัดมากเลยนะ โดยเฉพาะในตัวของวิลลี่ วองก้าที่มีบุคลิกที่ดูเหมือนจะเอาชนะทุกอย่างได้” โดนัลด์ สเตอร์ร็อค (Donald Sturrock) นักเขียนผู้เขียนอัตชีวประวัติให้ดาห์ลอย่างเป็นทางการตีความ “ผมคิดว่าเขาถ่ายทอดตัวเองลงไปในตัวของวองก้า และยิ่งถ้าคุณทราบถึงสถานการณ์อันยากลำบากในชีวิตส่วนตัวของเขาระหว่างที่เขาเขียนเรื่องนี้อยู่ คุณจะยิ่งรู้สึกได้เลยว่าวองก้านั้นทั้งน่าเห็นใจและน่าทึ่งมากแค่ไหน” และนั่นก็คงเป็นเหตุผลลึกๆ ของผู้อ่านผู้ชมทั่วโลกเช่นกันที่หลงรักมิสเตอร์วองก้าเป็นเพราะพวกเราเองต่างก็มีเรื่องที่อยากหลีกหนีในชีวิตจริงสักเรื่องสองเรื่อง (หรือมากกว่านั้น) อยู่เหมือนกัน
ไม่แน่ใจว่าความสำเร็จอันถล่มทลายของเรื่องชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลตจะช่วยถมช่องว่างในจิตใจของโรอัลด์ ดาห์ลได้บ้างหรือไม่ แต่ที่ทราบแน่ก็คือว่ามิสเตอร์วองก้าผู้มหัศจรรย์ที่ดาห์ลได้รังสรรค์ขึ้นมานั้นจะยังคงมอบความสุขให้กับผู้อ่านและผู้ชมทั่วโลกต่อไปอีกนานเท่านาน ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้เอง Warner Bros Pictures ก็เพิ่งจะพาวิลลี่ วองก้าในวัยหนุ่มกลับมาสร้างความสุขให้ผู้ชมอีกครั้งจากภาพยนตร์เรื่อง Wonka (วองก้า) นำแสดงโดย ทิโมธี ชาลาเมต์ (Timothée Chalamet) ที่มารับบทวิลลี่ วองก้าในช่วงก่อนที่จะมาเป็นมิสเตอร์วองก้าในหนังสือชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลตของดาห์ลซึ่งถ้าคุณพลาดที่จะรับชมเรื่องนี้ไปเมื่อตอนเข้าโรง คุณก็ยังสามารถรับชมภาพยนตร์ Wonka ได้ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคมนี้เป็นต้นไปทาง HBO GOเท่านั้น