Yayoi Kusama: 1945 to Now นิทรรศการแสดงเดี่ยวของราชินีลายจุด Yayoi Kusama ที่พิพิธภัณฑ์ Guggenheim Museum Bilbao

Share This Post

- Advertisement -

Author & Photographer: MutAnt

Since 1945

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการศิลปะที่พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์แห่งเมืองบิลเบา (Guggenheim Museum Bilbao) ประเทศสเปน นิทรรศการที่ว่านั้นมีชื่อว่า Yayoi Kusama: 1945 to Now ของศิลปินหญิงชาวญี่ปุ่นผู้ทรงอิทธิพลในวงการศิลปะร่วมสมัยโลก เจ้าของฉายา ‘ราชินีลายจุด’ (Polka Dot Queen) อย่างยาโยย คูซามะ (Yayoi Kusama) นั่นเอง

ยาโยย คูซามะ เป็นศิลปินผู้บุกเบิกกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ผสมผสานหลากหลายแนวทาง นับแต่ทศวรรษ 1940s จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นศิลปะแสดงสด ศิลปะแฮปเพนนิ่ง ศิลปะจัดวางกับสภาพแวดล้อม งานประติมากรรม งานจิตรกรรม และงานคอลลาจ (ปะติด) โดยเฉพาะผลงานที่มุ่งเน้นในการนำเสนอสีสันอันสดใสฉูดฉาด รูปทรงและลวดลายซ้ำๆ กัน อย่างลวดลายจุดกลม และลวดลายลวงตาคล้ายรยางค์จำนวนนับไม่ถ้วน ผลงานเหล่านี้สะท้อนปรัชญาในการที่ศิลปะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชีวิตของเธอเสมอมา

นิทรรศการครั้งนี้มุ่งเน้นในการนำเสนอคำถามเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของชีวิต อันเป็นแรงขับเคลื่อนในการสร้างสรรค์ทางศิลปะของคูซามะ ผ่านผลงานภาพวาด ภาพลายเส้น ศิลปะจัดวาง รวมถึงข้อมูลเบื้องหลังและบันทึกการทำงานศิลปะแสดงสดและศิลปะแฮปเพนนิ่งของเธอ นิทรรศการเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้สำรวจผลงานของเธออย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ภาพวาดเหมือนของเธอ ผลงานจิตรกรรมตาข่ายลวงตา ผลงานจิตรกรรมลวดลายจุด ประติมากรรมจัดวางนุ่มนิ่ม ไปจนถึงผลงานล่าสุดอย่างศิลปะแบบอิมเมอร์ซีฟ (immersive art) จากกระจกเงาของเธอ ผลงานในนิทรรศการถูกจัดเรียงตามลำดับช่วงเวลาการทำงาน โดยแบ่งออกเป็นประเด็นหลักแปดหัวข้อในชีวิตการทำงานของศิลปินผู้นี้

เริ่มต้นจากผลงานในหัวข้อแรกอย่าง Self-Portrait ที่ประกอบด้วยภาพวาดตัวเองของคูซามะ ในรูปแบบของงานจิตรกรรมและงานวาดเส้นที่โดดเด่นไม่แพ้ผลงานอื่นๆ ของเธอ ภาพวาดเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของการนำเสนอตัวตนของเธอในแง่มุมต่างๆ ทั้งการแสดงตัวตน การประชาสัมพันธ์ตนเอง หรือแม้แต่การทำลายตนเองของเธอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงาน Portrait (2015) ภาพวาดตัวเองของยาโยย คูซามะ ในโทนฉูดฉาดเข้มข้นด้วยสีเหลืองอร่ามสลับดำสนิท พื้นด้านหลังประดับด้วยลวดลายตาข่ายลายพร้อย สองข้างเรียงรายด้วยซี่ฟันแหลมเต็มไปด้วยลายก้นหอย คล้ายกับกำลังอยู่ในปากของสัตว์ประหลาด เรือนผมของเธอประดับด้วยลวดลายฟักทอง ใบหน้า ลำคอ และเนื้อตัวประดับลวดลายจุดกลมสีดำจำนวนมากราวกับมีรูพรุนไปทั่วร่างกายอย่างน่าพิศวง

ตามด้วยผลงานในหัวข้อที่สองอย่าง Infinity (ไม่มีที่สิ้นสุด) ที่ประกอบด้วยผลงานภาพวาดลวดลายตาข่ายอันพร่าพรายลายตา จากช่วงเวลาในวัยเด็กของคูซามะ ที่เติบโตในโรงเพาะเมล็ดพันธุ์พืชและรายรอบด้วยทุ่งดอกไม้ขนาดใหญ่ รวมถึงการได้เห็นมหาสมุทรแปซิฟิกระหว่างการเดินทางด้วยเครื่องบินไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในปี 1957 ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผลงานภาพวาดชุด Infinity Net ของเธอ ในภาพวาดชุดนี้ ผืนผ้าใบถูกปกคลุมด้วยเส้นสายโค้งคล้ายห่วงที่ตวัดวาดด้วยความฉับไวแม่นยำ จนกลายเป็นลวดลายตาข่ายและจุดที่เชื่อมต่อกันอย่างเปี่ยมอารมณ์ความรู้สึก ด้วยการปาดป้ายฝีแปรงอย่างอิสระซ้ำไปซ้ำมา กลายเป็นภาพจักรวาลที่เราไม่อาจระบุว่าเป็นจุดเริ่มต้นหรือจุดจบ มิติอันซับซ้อนของตาข่ายที่ขยายตัวไม่รู้จบในภาพ ทำให้ผู้ชมถูกกลืนหายไปในความไม่มีที่สิ้นสุดในผลงานของเธอ ดังคำกล่าวของเธอที่ว่า

“ด้วยกระบวนการทำงานซ้ำแล้วซ้ำเล่าของฉัน ตาข่ายเหล่านี้เริ่มต้นขยายตัวไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มันโอบรัดจนฉันลืมเลือนตัวตนของตัวเอง รัดรึงแขนขาและเสื้อผ้าของฉัน และแพร่กระจายไปจนเต็มห้อง”

และผลงานในหัวข้อที่สามอย่าง Accumulation (การเพิ่มจำนวนซ้ำๆ) ที่ประกอบด้วยประติมากรรมจัดวางที่ประกอบจากวัตถุซ้ำๆ เพิ่มจำนวนจนนับไม่ถ้วน แนวคิดของการเพิ่มจำนวนซ้ำๆ ในผลงานศิลปะของคูซามะ ไม่เพียงเกิดจากความหมกมุ่นลุ่มหลงและความปรารถนาตามธรรมชาติในสิ่งที่ซ้ำๆ กันเท่านั้น หากแต่เป็นความปรารถนาที่จะขยายขอบเขตวิสัยทัศน์ของเธอให้กว้างไกลขึ้น หลังจากผลงานชุด Infinity Net คูซามะพัฒนาผลงานในชุด Accumulation ขึ้นด้วยการใช้ภาพคอลลาจ (ตัดปะ) จากกระดาษรีไซเคิล และประติมากรรมนุ่มนิ่ม (soft sculpture) ที่มีรูปแบบซ้ำๆ กันจำนวนมาก เธอยังหยิบเอาข้าวของในชีวิตประจำวันอย่างเก้าอี้ รองเท้า เรือพาย มาแปะติดด้วยประติมากรรมผ้ายัดนุ่นรูปทรงเหมือนองคชาตดุ้นเขื่องสีขาวจำนวนนับไม่ถ้วน รวมถึงถ่ายเอกสารภาพถ่ายวัตถุข้าวของแปะติดประติมากรรมรูปองคชาตเรียงรายเป็นพรืด ติดบนผนังเหมือนวอลเปเปอร์ในห้องแสดงนิทรรศการ ในปี 1965 เธอยังเพิ่มจำนวนผลงานเหล่านี้ด้วยการใช้ห้องกระจกสะท้อนภาพประติมากรรมจัดวางจากผ้ายัดนุ่นรูปองคชาต จนกลายเป็นทุ่งองคชาตที่กว้างไกลราวกับไม่มีที่สิ้นสุด

ที่น่าเศร้าก็คือ ผลงานในช่วงนี้ของเธอถูกศิลปินเพศชายชาวอเมริกันชื่อดังบางคนฉกฉวยไอเดียของเธอไปเป็นของตัวเองหน้าตาเฉย ไม่ว่าจะเป็นศิลปินป็อปอาร์ตชื่อดังอย่าง คเลส์ โอลเดนเบิร์ก (Claes Oldenburg) ที่หลังจากได้เห็นผลงานประติมากรรมผ้ายัดนุ่นรูปองคชาตของเธอในนิทรรศการกลุ่มที่แสดงร่วมกัน เขาก็ทำผลงานประติมากรรมนุ่มนิ่ม (soft sculpture) ที่ทำด้วยผ้ายัดนุ่นแบบเดียวกันกับที่เธอทำออกมา จนกลายเป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เขาอย่างมาก

หรือศิลปินป็อปอาร์ตชื่อดังอีกคนอย่างแอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) ก็หยิบฉวยไอเดียของเธอไปใช้ โดยหลังจากวอร์ฮอลมาดูนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกของคูซามะในปี 1964 ที่มีวอลเปเปอร์รูปประติมากรรมองคชาตสีขาวจำนวนนับไม่ถ้วนบนผนัง เขาก็ทำงานภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนวอลเปเปอร์รูปหน้าวัวจำนวนนับไม่ถ้วนบนผนังในนิทรรศการของเขาในปี 1966 เช่นกัน

คูซามะยังถูกศิลปินชายชาวอเมริกันอีกคนอย่างลูคัส ซามารัส (Lucas Samaras) ขโมยไอเดียจากผลงาน Infinity Mirror Room – Phalli’s Field (1965) ที่เป็นห้องกระจกเงาสะท้อนภาพทุ่งประติมากรรมรูปองคชาตลายจุดจนจำนวนนับไม่ถ้วนของเธอ มาใช้ในผลงานของเขา

เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้คูซามะหวาดผวา จนต้องปิดหน้าต่างสตูดิโอของตัวเองอย่างมิดชิด เพื่อไม่ให้มีใครมองเห็นและขโมยไอเดียของเธอ ท้ายที่สุดเธอก็จิตตกจนตัดสินใจฆ่าตัวตาย (แต่ไม่สำเร็จ) ในภายหลังเธอกลับไปบำบัดอาการป่วยทางจิตในโรงพยาบาลจิตเวชที่ญี่ปุ่น และพื้นฟูจิตใจตัวเองด้วยการทำงานศิลปะ จนประสบความสำเร็จและสร้างชื่อเสียงในฐานะศิลปินระดับโลกได้ในที่สุด

และผลงานในหัวข้อที่สี่อย่าง Radical Connectivity ที่เป็นเช่นคำกล่าวของคูซามะที่ว่า “ฉันต้องการเริ่มต้นการปฏิวัติโดยใช้ศิลปะ เพื่อสร้างสังคมแบบที่ฉันจินตนาการไว้”ในช่วงปลายทศวรรษ 1960s ท่ามกลางบรรยากาศของการต่อต้านทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองและการต่อต้านสงครามเวียดนาม คูซามะได้พัฒนาแนวทางปฏิบัติทางศิลปะที่เป็นกิจกรรมเคลื่อนไหวและการทำงานศิลปะแสดงสดในพื้นที่สาธารณะ เพื่อต่อต้านการเหมารวมทางเพศและเชื้อชาติ เธอวิพากษ์วิจารณ์นโยบายสนับสนุนสงครามของอเมริกา และดึงดูดความสนใจของสื่อมวลชนด้วยผลงานศิลปะแสดงสดอันท้าทายและกระตุ้นเร้าผู้คนในพื้นที่สาธารณะของเธอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ร่างกายเปลือยเปล่าประดับด้วยลวดลายจุดเพื่อ ‘ลบเลือนตนเอง’ อันเป็นแนวคิดพื้นฐานในปรัชญาของคูซามะ ที่แสดงถึงการปลดปล่อยตัวตน การเยียวยารักษาชุมชน และเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนเข้าด้วยกันอย่างทรงพลัง คูซามะใช้การแสดงสดอันอื้อฉาวเหล่านี้เพื่อหยิบยืมพลังของสื่อมวลชนในการเผยแพร่ปรัชญาที่ว่านี้ของเธอ

ผลงานในชุดนี้นำเสนอข้อมูล ข่าวสาร และข้าวของเครื่องใช้ในกิจกรรมเคลื่อนไหวและการทำงานศิลปะแสดงสดในช่วงยุค 1960s ของเธอ ทั้งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ข้าวของเครื่องใช้ ไปจนถึงหุ่นจำลองการแสดงสดด้วยร่างเปลือยประดับลวดลายจุด และวิดีโอบันทึกการแสดงสดของเธอ

และผลงานในหัวข้อที่ห้าอย่าง Biocosmic ที่เป็นเช่นคำกล่าวของคูซามะที่ว่า “โลกของเราเป็นเพียงจุดกลมอันหนึ่งท่ามกลางดวงดาวนับล้านในจักรวาล ลวดลายจุดกลมจึงเป็นหนทางไปสู่ความไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อเราลบเลือนตัวเองและธรรมชาติรอบข้างด้วยลวดลายจุด เราจะกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสภาพแวดล้อมของเรา”

ด้วยความที่เติบโตในครอบครัวของผู้เพาะชำพืช คูซามะรู้สึกเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติตั้งแต่ครั้งยังเด็ก เธอยังมองเห็นความเชื่อมโยงกับจักรวาลและมิติต่างๆ คำว่า biocosmic (ชีวจักรวาล) นั้นเป็นคำที่แสดงให้เห็นว่าโลกและสวรรค์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสำหรับคูซามะได้อย่างไร ในไม่ช้า เธอเริ่มสังเกตกายวิภาค วงจรชีวิตของพืช และการรวมกันระหว่างสวรรค์และโลก เมื่อเธออธิบายถึงความหมายของลวดลายจุดอันเป็นบุคลิกเฉพาะตัวของเธอ เธอเปรียบพวกมันกับเทหวัตถุในท้องฟ้า โดยตีความว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของจักรวาล และตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของชีวจักรวาลในงานของคูซามะก็คือ ภาพวาดฟักทองอันเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเธอ ด้วยความที่ฟักทองมีพื้นผิวเป็นลูกคลื่น และจุดด่างๆ อันแปลกประหลาด คูซามะเชื่อว่านั่นเป็นจิตวิญญาณอันเปี่ยมเมตตาของพืชผัก และภาพสะท้อนจิตวิญญาณของตัวเธอเอง ทัศนะของคูซามะที่มีต่อธรรมชาติสะท้อนให้เห็นว่าเธอแสดงออกถึงความแปลกแยกจากโลกและความต้องการอันลึกซึ้งที่จะเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาลไปพร้อมๆ กันได้อย่างไร สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ปรากฏอยู่ในผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมฟักทองลายจุดอันน่ารักน่าชังของเธอนั่นเอง

หรือผลงานในหัวข้อที่หกอย่าง Death ที่เป็นเช่นคำกล่าวของคูซามะที่ว่า “ความตายหมายถึงอะไร คือพื้นที่แห่งสีสันและความงาม รอยเท้าอันเงียบสงบ และความว่างเปล่าหลังความตาย ตอนนี้ฉันกำลังอยู่ในขั้นตอนของการสร้างงานศิลปะเพื่อความสุขสงบแห่งจิตวิญญาณของฉัน และโอบกอดสิ่งเหล่านี้เอาไว้ทั้งหมด”

งานของคูซามะเน้นย้ำถึงเส้นแบ่งระหว่างชีวิตและความตายอยู่เสมอ ด้วยความที่ในวัยเด็กเธอถูกรายล้อมด้วยต้นไม้และพืชที่มีอายุสั้นในเรือนเพาะชำของครอบครัว หรือในช่วงวัยรุ่นที่ต้องเผชิญหน้ากับสงครามและผลพวงของมัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการเสียชีวิตของพ่อ และศิลปินผู้เป็นเพื่อนสนิทและคนรักของเธออย่างโจเซฟ คอร์เนล (Joseph Cornell) ในช่วงกลางทศวรรษ 1970s ทำให้เธอคิดว่าความตายหาได้เป็นการสิ้นสุด แต่เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งของชีวิตที่สามารถถือกำเนิดในรูปแบบใหม่ได้ บางครั้งในการต่อสู้ดิ้นรนและความสิ้นหวังในการทำงานสร้างสรรค์ คูซามะปรารถนาที่จะปลดปล่อยตัวเองจากสิ่งที่เธอนิยามว่าเป็นความอ่อนล้าอันหนักหน่วงของชีวิต หากเธอก็เปลี่ยนแปลงความปรารถนานั้นด้วยการสร้างสรรค์ทางศิลปะและวรรณกรรมของเธอ ไม่ต่างอะไรกับการบำบัดจิตใจด้วยจินตนาการ และการตอบแทนทางจิตวิญญาณด้วย ‘ความงามอันศักดิ์สิทธิ์’ แห่งความตาย และการสูญเสียอัตตาเพื่อกลับไปสู่ความเป็นนิรันดร์

และผลงานในหัวข้อที่เจ็ดอย่าง Force of Life ที่นำเสนอผลงานในช่วงปี 1988 ซึ่งเกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญกับงานศิลปะและจิตใจของคูซามะ ด้วยการได้รับการยอมรับจากสาธารณชนที่เธอเคยใฝ่ฝันมาเนิ่นนาน จากการแสดงนิทรรศการระดับนานาชาติ และการตีพิมพ์ผลงานในแวดวงวรรณกรรมหัวก้าวหน้า พลังแห่งการเยียวยาทางศิลปะ และการเฉลิมฉลองการมีอยู่ของชีวิต จึงกลายเป็นประเด็นหลักในการทำงานช่วงนี้ของเธอ ดังที่เธอกล่าวไว้ในปี 1999 ว่าเธอเชื่อว่าบทบาทของเธอคือการแปรเปลี่ยนความทุกข์ทรมานให้กลายเป็นผลงานศิลปะ “เพื่อการเยียวยามวลมนุษยชาติ” ในสหัสวรรษใหม่ คูซามะพยายามสานต่อปณิธานนี้ของเธอให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ด้วยภาพวาดและประติมากรรมอันสนุกสนานและเต็มไปด้วยสีสัน ดังเช่นหนึ่งในผลงานชุดล่าสุดของเธออย่าง My Eternal Soul (2009) และ Every Day I Pray for Love (2019) ที่น่าจะเป็นตัวอย่างอันชัดเจนที่สุด ดังคำกล่าวของเธอที่ว่า

“เมื่อฉันยืนอยู่หน้าผืนผ้าใบผืนใหม่ ปัญหาทั้งหมดก็เลือนหายไปราวกับหมอกควัน ฉันพบว่าตัวเองจมดิ่งอยู่กับภาพวาดอย่างสิ้นเชิง การมีชีวิตทุกวันก็เป็นอะไรที่เพียงพอแล้วที่จะทำให้งานของฉันมีชีวิตชีวา ก่อนที่ฉันจะรู้ตัว ภาพวาดก็ได้เปลี่ยนฉันไปเรียบร้อยแล้ว”

และผลงานในหัวข้อสุดท้ายอย่าง Infinity Mirrored Room ที่มีผู้ชมจำนวนมากเฝ้ารอที่จะเข้าชม ในนิทรรศการครั้งนี้ ทางพิพิธภัณฑ์จัดแสดงผลงาน Infinity Mirrored Room – A Wish for Human Happiness Calling from Beyond the Universe (2020) งานศิลปะจัดวางจากกระจกเงา ที่สะท้อนความหลงใหลอย่างต่อเนื่องของคูซามะที่มีต่อผลสะท้อนอันลึกล้ำไม่มีที่สิ้นสุดของห้องกระจกและแสงไฟระยิบระยับ คูซามะเปลี่ยนภาพลวงตาของกระจกเงาให้กลายเป็นสภาพแวดล้อมอันลึกลับเปี่ยมมนต์ขลัง ที่พาผู้ชมดำดิ่งเข้าไปในละอองดาวแห่งจักรวาลอันไม่มีที่สิ้นสุด

- Advertisement -