Only The Disciplined Ones Are Free in Life

Share This Post

- Advertisement -

สิ่งที่ได้เรียนรู้ในวัย 30 ของเจมส์ – จิรายุ คือการมีวินัยเพื่อทำสิ่งที่ถูกต้อง

Photographer: Wasu Sukatocharoenkul 

Fashion Editor: Chanond Mimgmit

Author: Neeraj Kim

‘โอโซจิ’ ขนบธรรมเนียมทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ในช่วงสิ้นปีของชาวญี่ปุ่นที่ทำมาตั้งแต่สมัยยุคเอโดะ วัตรปฏิบัตินี้ไม่ได้ตอบสนองเพียงความสวยงามอย่างรูปธรรมเท่านั้น แต่ยังถือว่าเป็นพิธีชำระล้างให้บริสุทธิ์ที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อต้อนรับพระเจ้าในเช้าวันใหม่ที่มาอวยพรให้โชคดีมีชัยตลอดปี ร่างกายก็เหมือนกัน เราใช้ชีวิตรีบเร่งตลอด 365 วัน ยังไม่ทันได้สรุปเรียบเรียงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ก็ต้องลุกออกจากเตียงไปทำหน้าที่ตัวเองในเช้าวันใหม่อีกแล้ว จะมีสักกี่ครั้งที่คนเราจะได้ปัดกวาดเช็ดถูหัวใจ และให้เวลาทบทวนกับตัวเองอย่างแท้จริง

ครบรอบ 10 ปีพอดิบพอดีที่เจมส์ – จิรายุ ตั้งศรีสุข ดาราหน้าใหม่ (ในตอนนั้น) จากจังหวัดพิจิตร เข้ามาผจญภัยอยู่ในวงการบันเทิง จากบทคุณชายพูดน้อยใน ‘สุภาพบุรุษจุฑาเทพ’ (2556) สู่บท ‘เป็นหนึ่ง’ ใน ‘มาตาลดา’ (2566) ที่เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าเจมส์ – จิรายุ มีพัฒนาการในด้านการแสดง มีความมั่นใจทั้งในและนอกจอ รวมถึงเป็นหนึ่งในศิลปินที่มีคนรักมากที่สุดอีกด้วย ในโอกาสที่เขามาถ่ายแบบพร้อมเครื่องประดับชิ้นประณีตจาก Mikitomo ลอฟฟีเซียล ออมส์เลยชวนเขาคุยถึงเรื่องความละเอียดอ่อนในการใช้ชีวิต สำรวจความงดงามในอดีต ชื่นชมกับสิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบัน และเตรียมพร้อมกับชีวิตในอนาคต

30 ปีของจิรายุ เตรียมตัวกับเลขนี้มาก่อนไหม

เฮ่ย! จี้ใจดำจังเลย (หัวเราะ) ยังไม่ค่อยได้รู้สึกว่าอายุ 30 แล้ว ไม่คิดว่าจะเร็วขนาดนี้ ยังคิดว่าไม่มีอะไรสามารถพิสูจน์ได้เลยว่าผมโตขึ้น ในช่วงที่เด็กกว่านี้ เคยคิดว่าคนอายุ 30 มันดูโต แต่สุดท้ายผมก็ยังคล้ายๆ เดิมนะ แค่มีภาระมากขึ้น

10 ปีแรกของการเติบโต ชีวิตของเจมส์ – จิรายุ ในจังหวัดอันแสนสงบ

ภาพที่พิจิตรแทบจะไม่มีอะไรเลย เป็นจังหวัดที่เงียบ แล้วก็สามารถจำหน้าคนในพื้นที่ได้เพราะไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในตัวเมืองสักเท่าไหร่ พ่อกับแม่ขายของแล้วต้องเข้ามาในกรุงเทพฯ ก็ต้องไปฝากผมไว้กับตา-ยาย ภาพที่ชัดในหัวน่าจะเป็นเรื่องเล่นเกม ในช่วงเด็กมากๆ เริ่มตั้งแต่ 5 ขวบขึ้น เราก็เป็นเด็กอยู่ในร้านเกมชั่วโมงละ 15 บาท เพื่อนก็มีแต่ส่วนใหญ่จะเจอกันในละแวกบ้าน ชวนกันไปเล่นเกม

วัยรุ่นในแบบเจมส์ – จิรายุ กับความฝันเก่าก่อนเข้าวงการ

ช่วงนี้มีหลายพาร์ทครับ ตั้งแต่เล่นคอมพ์จริงจังขึ้น เยอะขึ้นมาก ถึงขนาดสามารถประกอบคอมพ์ได้ เป็นเด็กเนิร์ด พ่อพาไปซื้ออุปกรณ์ที่ห้างพันธุ์ทิพย์ ไปซื้อหนังสือคอมพ์มาแล้วดูว่าช่วงนี้เขาใช้อะไรกัน ซื้อเคสเอง พาวเวอร์ซัพพลาย ซีพียู เมนบอร์ด แรม ฮาร์ดดิสก์ ต่างๆ นานา แล้วค่อยมาต่อสายแพ เป็นช่วงอายุสิบต้นๆ หลังจากนั้นก็ไปแข่งลีลาศตอน ป.5 พ่อบังคับ เพราะติดเกมมาก ดูทรงจะไม่ไหวละ เอาออกไปทำกิจกรรมหน่อยก็ดีเนอะ เลยจับพลัดจับผลูได้ไปแข่งในจังหวัด จากนั้นก็ไปแข่งระดับภาค จนเป็นตัวแทนภาคไปแข่งที่แฟชั่นไอส์แลนด์ สมัยนู้นเลย แต่หลังแข่งเสร็จแล้วก็กลับมาเล่นคอมพ์เหมือนเดิม (หัวเราะ) จังหวะที่มันเปลี่ยนจริงๆ น่าจะเป็นช่วง ม.ปลาย อายุประมาณ 16 ผมเรียนสายวิทย์-คณิต ตอนแรกมุ่งหวังมากว่าจะไปวิศวะคอมพิวเตอร์ แต่ดูแล้วว่าฉลาดไม่พอ ก็บอกกับตัวเองว่า เออ ไม่เป็นไร ถ้าสอบไม่ได้ก็ไปเรียนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์แทนก็แล้วกัน อะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จะเขียน จะประกอบอะไรก็ตาม คือต้องการสิ่งนี้ทั้งชีวิตเลย เริ่มเจอสีสันของชีวิตเยอะขึ้น เริ่มมีกลุ่มเพื่อน ได้ใช้ชีวิต ม.ปลาย อย่างเต็มที่ เฮฮาสนุกสนาน การเรียนก็ตกลงเรื่อยๆ (หัวเราะ)

ตอนเข้าวงการใหม่ๆ เราเคยรู้สึกว่าตัวเองทำทุกอย่างได้ ควบคุมทุกอย่างได้ จนพบว่าทุกอย่างมันก็เป็นไปตามสิ่งที่มันเป็น สิ่งที่เราทำได้คือต้องพยายามโฟลวไปกับมัน โตขึ้นไปเรื่อยๆ

สิ่งที่ได้เรียนรู้ตลอด 10 ปีแห่งการทำงาน

สนุกดีครับ ใน 10 ปีนี้มันก็แบ่งเป็นหลายช่วงมากๆ ตั้งแต่ช่วงเวลาแห่งความตื่นเต้น ตกใจว่ากรุงเทพฯ เป็นแบบนี้ วงการบันเทิงเป็นแบบนี้ ได้เจอเรื่องราวเยอะแยะมากมาย จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงที่รู้สึกว่าเหนื่อยจังเลย เบื่อจังเลย ทำไมต้องมาทำงานแบบนี้ทุกวัน จนมาคิดได้ว่าเราต้องทำงานให้ดีขึ้น ผมว่ามันมีหลากหลายรสชาติ ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถในการตัดสินใจหรือวิเคราะห์อะไรได้ ส่วนตอนนี้เลยก็รู้สึกว่าเข้าใจมันมากขึ้น ตอนเข้าวงการใหม่ๆ เราเคยรู้สึกว่าตัวเองทำทุกอย่างได้ ควบคุมทุกอย่างได้ จนพบว่าทุกอย่างมันก็เป็นไปตามสิ่งที่มันเป็น สิ่งที่เราทำได้คือต้องพยายามโฟลวไปกับมัน โตขึ้นไปเรื่อยๆ

จุดเปลี่ยนทางการแสดงของเจมส์ – จิรายุ

น่าจะเป็นตั้งแต่เล่นละครเรื่อง ‘กรงกรรม’ (2562) ได้พี่อ๊อฟ – พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง เป็นผู้กำกับ แล้วมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างในวงการว่า ถ้าเจอพี่อ๊อฟแล้วการแสดงเราจะเปลี่ยนไปเลยนะ พี่อ๊อฟเป็นผู้กำกับที่ไม่ค่อยบรีฟเท่าไหร่ เข้ามาแล้วก็บอกว่าอยากเล่นอะไรก็เล่นนะ เล่นไป เขาบอกว่าเล่นยังไงก็ได้ให้คนดูชอบ ตอนนั้นก็ยังว่าเล่นยังไงวะให้คนดูชอบ (หัวเราะ) เพราะตอนที่ผมเข้าวงการยังไม่ได้มีโอกาสไปเรียนทฤษฎีการแสดงต่างๆ สักเท่าไหร่ เข้ามาก็ทำงานเลย พี่อ๊อฟก็ค่อยๆ เล่าให้ฟังอย่างตั้งใจ ก็พอเห็นภาพทฤษฎีทางการแสดงมากขึ้น ผมว่ามันเป็นเรื่องของเวลา พอเราโตขึ้น เราเข้าใจมากขึ้น มันอาจจะแมตช์กันพอดี สามารถหยิบจับความรู้สึกหรือท่าทางอะไรบางอย่างมาใช้กับตัวละครตัวนั้นได้ ผมว่ามันเป็นเพราะบรรยากาศในกองพี่อ๊อฟด้วยที่ทุกคนตั้งใจทำงานมาก แต่ละคนที่แคสติ้งมาค่อนข้างตรงกับตัวละครนั้น ทุกคนทำการบ้านมาอย่างดีมากๆ ผมเข้าไปก็รู้สึก เฮ่ย! ดูแปลกจังเลย ส่วนบท ‘อาซา’ ที่ได้รับ ก็ไม่ต้องแอ็กชั่นอะไรเยอะ กลายเป็นว่าเวลาถ่ายจริง เหมือนไปดูการแสดงสด แล้วรีแอ็กต์ตามความเป็นจริงที่เห็น สนุกไปตามเรื่อง มันเป็นจุดพลิกจากความคาดหวังและความกดดันต่างๆ ที่เคยผ่านมา เพราะคนอื่นทำหน้าที่ในการแบกตัวละคร แบกเรื่อง ช่วยกันเล่น ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ถ้าเราพยายามรักษาความรู้สึกนี้ไว้ได้ บางทีการแสดงเราอาจจะง่ายขึ้น แต่ดูเป็นธรรมชาติขึ้น เพราะผมเล่นซีนดราม่าได้ไม่เคยดีมาตั้งแต่แรกๆ แล้ว ยอมรับว่ามีจังหวะฟลุกบ้าง ตอนที่ต้องเข้าฉากกับพี่ใหม่ เจริญปุระ เทคแรกยังเล่นไม่ได้ เดินออกมาเพื่อเล่นอีกเทค พี่ใหม่เห็นแล้วก็เข้ามากอด ตบหลัง พูดกับผมว่า พี่ขอเป็นแม่ลูกสักครั้งนึงละกันนะ ผมก็รู้สึก และร้องไห้ตั้งแต่เข้าฉากเลย ผมว่ามันมีความพิเศษอยู่ในกลุ่มนักแสดงของเรื่องนี้

ตั้งใจบวช 15 วันเพื่อเข้าใจตัวเองมากขึ้น

เรารู้สึกว่าเข้าใจตัวเองแล้ว แต่จริงๆ เราแค่แสร้งว่าเข้าใจมัน มันเป็นความกลัวของมนุษย์ เลยต้องพยายามหาคำตอบ พยายามชี้นำ เราชอบตัดสิน คนนั้นน่าจะเป็นอย่างนี้ เรารู้สึกแบบนี้เพราะเราน่าจะเป็นแบบนี้แหละ มันง่ายกว่าการหาคำตอบที่ลึกกว่าซึ่งหมายความว่าเราต้องใช้พลังงานสมองที่มากกว่า สุดท้ายเราก็จะพยายามเลี่ยง โดยการที่ตัดสินไปเร็วๆ แต่ว่าพระพุทธศาสนาพยายามสอนว่ามันเป็นไปในสิ่งที่มันเป็นไป หมายถึงว่า ทั้งเรื่องของคนอื่น เรื่องตัวเราเองด้วย หรือความคิดที่มันวิ่งออกมา ก็แค่วิ่งขึ้นมา สิ่งที่เราทำได้คือเฝ้ามองมันว่าเราจะเป็นยังไง แต่ต้องไม่ตัดสิน 15 วันที่บวชถือว่าเป็นบทเรียนที่ดีมากๆ โชคดีมากด้วยที่ได้มีโอกาสบวชในวัดบวรฯ เพราะเป็นวัดที่มีการเรียนการสอนที่จริงจังมาก วันนึงเรียน 3-4 คลาส ถือว่าได้มากกว่าสิ่งที่เราคาดหวังไว้

ความกังวลของคนอายุ 30

ยังไม่ชัวร์เลยว่าตัวเองอายุ 30 จริงหรือเปล่า (หัวเราะ) ผมว่าเป็นเรื่องของการควบคุมตัวเอง หมายถึงการบังคับตัวเอง เป็นสิ่งที่พยายามทำมากที่สุดในวัยนี้ เป็นช่วงเวลาที่เราพอรู้พอเห็นอะไรมากขึ้น ทั้งในเรื่องการทำงาน สังคม ครอบครัว ทุกสิ่งอย่างที่เราเจอมา เป็นเรื่องที่ต้องพยายามจัดการตัวเองให้ได้ แล้วก็ไม่โอนอ่อนกับชีวิตมากเกินไป มีวินัยในการใช้ชีวิต เช่น รู้ว่าต้องออกกำลังกายก็ต้องไป งานอะไรที่ต้องทำก็ต้องทำ ไม่หนีมัน อยู่กับมัน ค่อยๆ ใช้เวลากับมัน หน้าที่มันมาเมื่อเรารู้ว่าเราต้องการทำอะไร และอยากทำอะไร แต่เราทำไม่ได้ หน้าที่มันน่าจะเริ่มจากตรงนั้น ก็เลยรู้ว่ามีทั้งสิ่งที่อยากทำและสิ่งที่ต้องทำด้วย มันสอดคล้องกัน อยู่แค่ในตัวเรานี่ล่ะ

การร่วมงานครั้งแรกระหว่างเจมส์กับ Mikimoto

ถ้าให้ผมเลือกเครื่องประดับติดตัวหนึ่งชิ้น ผมคงจะเลือกสร้อยคอเพราะผมชอบสร้อยคอของ Mikimoto ไม่ว่าจะเป็นไข่มุกอะโกย่า หรือมไข่มุกเซาธ์ซีส์ ผมรู้สึกว่ามันน่ารักดี ถ้าเลือกใส่กับเสื้อยืดธรรมดา จะทำให้ดูเท่มากครับ และในวันนี้ที่ได้ถ่ายแฟชั่นเซ็ตปก ผมชอบเครื่องประดับทุกชิ้นเลยนะครับ แต่ถ้าให้เลือกแค่ชิ้นเดียว ผมขอเลือกตัวเข็มกลัดที่ขึ้นปกหนังสือเลยครับ มันสวยมากจริงๆ พอใส่แล้วทำให้สูทธรรมดาดูมีอะไรขึ้นมาทันที 

ผมดีใจนะที่ได้มาถ่ายแฟชั่นเซ็ตกับ Mikimoto ในวันนี้ เพราะเรื่องราวของแบรนด์ก็คือ แบรนด์ตั้งใจมากๆ ที่จะทำให้ไข่มุกเป็นเครื่องประดับสำหรับผู้หญิงที่ใส่แล้วสวยมากๆ ในยุคก่อตั้ง ผมเองก็พยายามที่จะทำให้ผมงานของผมในวงการบันเทิงออกมาให้ดีที่สุด ผมอยากจะค่อยๆ เจียระไนผลงานของผม ค่อยๆ ล้าง ค่อยๆ ขัดมัน ทำให้มันเป็นรูปร่างและความสุขที่พอดิบพอดีกับผู้ชมทุกคนครับ น่าจะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงผมกับแบรนด์น่ะครับ

Make Up: Kanniput Sananwong

Hair: Paiboon Chencharatwat

Assistant Photographers: Similan Prangprasert / Watchara Panthong / Pak Lueng-on

Assistant Stylist: Napat Roongruang 

Videographer: Ketsara Leecharoen

Assistant Videographer: Suradit Laorsittipirom

Co-producer: Akeera Sasungnern

- Advertisement -