The Color Blue Dream ภาพสีสันแห่งความฝันอันใสสงบของน้ำ I อัจจิมา เจริญจิตร
Author: MutAnt
Photography: Courtesy of The Artist/The Studio
ถึงแม้ในแง่หนึ่ง สีน้ำเงิน (blue) ในวัฒนธรรมตะวันตก อาจจะเป็นสัญลักษณ์ของความโศกเศร้าอาดูร แต่ในวัฒนธรรมทั่วโลก สีน้ำเงิน หรือสีฟ้า ก็เป็นสีของท้องทะเลและท้องฟ้า รวมถึงเป็นสัญลักษณ์แทนเสรีภาพ จินตนาการ แรงบันดาลใจ สติปัญญา ความสงบ และอารมณ์ความรู้สึกอันละเอียดอ่อนเช่นเดียวกัน
ดังเช่นสีสันที่ปรากฏอยู่ในผลงานในนิทรรศการ The Color Blue Dream โดยอัจจิมา เจริญจิตร ศิลปินชาวไทยผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาภาพพิมพ์ ปริญญาโทในสาขาจิตรกรรม และปริญญาเอกในสาขาทัศนศิลป์ จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผลงานของเธอมุ่งเน้นในการนำเสนอภาพลักษณ์ของ ‘น้ำ’ ด้วยการใช้เทคนิคเฉพาะตัวในการเทสีเหลวลงไปบนผืนผ้าใบและเอียงเฟรมให้สีเลื่อนไหลสร้างเป็นภาพขึ้นมา โดยไม่จำเป็นต้องใช้พู่กันวาด จนกลายเป็นภาพนามธรรมของน้ำอันเปี่ยมเอกลักษณ์
อัจจิมากล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลังผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ของเธอว่า`
“งานในชุดนี้เรามุ่งเน้นในเรื่องของความใสสะอาด ความโปร่งแสง และความสงบของน้ำ เราก็เลยเลือกใช้สีที่โปร่งแสงในการทำงาน โดยเริ่มต้นจากการเลือกซื้อสีน้ำมันที่มีคุณสมบัติโปร่งแสง เพื่อให้ความรู้สึกถึงความใสสะอาดของน้ำทะเล“เวลาวาดภาพ เราศึกษาภาพคลื่น ภาพทะเลทั้งจากของจริงในธรรมชาติและจากสื่อต่างๆ ที่มีมากมายในทุกวันนี้ แล้วเราก็เลือกว่าชอบความรู้สึกและความเคลื่อนไหวของน้ำแบบไหน เราก็เก็บภาพเอาไว้ เพื่อให้ได้เค้าลางของภาพที่ใช้ดูในระหว่างการทำงาน โดยไม่ได้คัดลอกจากภาพเหล่านั้นโดยตรง เพราะเวลาทำงาน เราจะไม่ให้เทคนิคมาเป็นตัวนำเรา เหมือนพอเราได้เค้าแล้ว เราก็คิดว่าเราจะไปต่ออย่างไร เราจะเคลื่อนไหวสีสันเราไปแบบไหนแทน เพราะถ้าเราคัดลอก ภาพจะแข็งกระด้าง ไม่เป็นธรรมชาติ แค่เรารู้ว่าภาพที่เรากำลังทำ เราอยากได้สีสันและความรู้สึกแบบไหนเท่านั้น”
เธอยังกล่าวถึงแรงบันดาลใจแห่งสีสันของผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ว่า
“เราสังเกตว่าตัวเองชอบสีน้ำเงินหรือสีฟ้า เวลาเห็นสีฟ้ารอบๆ ตัวเรา แล้วรู้สึกสงสัยว่าทำไมเราถึงชอบเป็นพิเศษ เริ่มต้นจากน้ำทะเล ท้องฟ้า ไปจนถึงแก้วน้ำ ถ้วยชามสีฟ้าเราก็ชอบ เราเลยเริ่มรู้สึกสงสัยว่าสีฟ้ามีอิทธิพลทางจิตวิทยาอะไรเกี่ยวกับความคิดของคน เราเลยไปค้นคว้าความหมายว่าสีฟ้าให้ความรู้สึกอย่างไรบ้างในแต่ละมิติ จนเราไปพบบทความของนักจิตวิทยาที่บอกว่า สีฟ้านั้นเชื่อมโยงกับการทำสมาธิและวิปัสสนา เพราะสีฟ้าส่งผลให้เรารู้สึกสงบและสามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ เราเองก็สนใจทางด้านนี้อยู่แล้ว และเราก็รู้สึกด้วยว่านิสัยของเราเปลี่ยนไปจากการค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมถึงการเข้าไปปฏิบัติคอร์สวิปัสสนา ซึ่งทำให้เราใจเย็นขึ้น ไม่หงุดหงิดโมโหง่าย
“ตอนเริ่มต้นโครงการนี้ เราคุยกับทางแกลเลอรีว่า เราอยากให้งานชุดนี้เป็นงานที่ทำให้คนที่เดินเข้ามาแล้วรู้สึกสงบ เยือกเย็น เหมือนได้สัมผัสกับน้ำภายใต้ท้องฟ้าสีคราม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่างานทุกชิ้นต้องเป็นสีน้ำเงินหรือสีฟ้าไปหมด เราไม่ได้จำกัดตัวเองว่างานในชุดนี้ต้องใช้แต่สีน้ำเงินกับฟ้าเท่านั้น เราแค่อยากให้รู้สึกถึงอารมณ์แห่งความสงบนิ่ง ความเคลื่อนไหวที่ไม่เร่งรีบ แล้วเราก็บังเอิญเจอความหมายของคำว่า The Color Blue Dream ซึ่งเป็นสำนวนภาษาอังกฤษที่หมายถึงการที่เราเข้าไปอยู่ในโลกใบเล็กๆ ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเวลาค่อยๆ เคลื่อนไปช้าๆ
“งานของเราเป็นเหมือนสิ่งที่อยู่ภายใต้ท้องฟ้า เป็นสภาวะของแสงสะท้อนที่กระทบน้ำ ที่มีความใสสะอาด ตอนจัดทำนิทรรศการครั้งนี้ เราตั้งใจนำเสนอให้ทางเข้าเป็นเหมือนประตูที่ถูกแง้มเอาไว้นิดๆ เพื่อให้คนต้องเอียงตัวลอดเข้ามาภายในห้องแสดงงาน เหมือนลอดจากโลกภายนอกเข้ามาสู่บรรยากาศของน้ำที่ใสสะอาด”
นอกจากผลงานที่ให้บรรยากาศของท้องทะเลท่ามกลางแสงสว่างสดใสแล้ว ในนิทรรศการครั้งนี้ของอัจจิมายังมีส่วนของห้องมืดที่เปิดพื้นที่คล้ายอุโมงค์ ให้ผู้ชมเดินข้ามสะพานไม้เพื่อเข้าไปชมภาพของท้องทะเลในยามกลางคืนราวกับกำลังเดินอยู่ริมทะเลอีกด้วย
“ห้องกลางคืนนั้นเกิดจากการที่เราชอบเวลาที่ทำงานเสร็จแล้วนั่งดูงานตัวเองไปจนเย็นย่ำ ดึกดื่นมืดค่ำ จู่ๆ เราก็รู้สึกว่า ถ้าเราทำให้งานเราเรืองแสงในตอนกลางคืนจะเป็นอย่างไร เราเลยเริ่มทดลองด้วยการไปหาผงเรืองแสงมาทำงานวาดภาพ เป็นงานกระดาษ ซึ่งเราทดลองเทคนิคนี้มาก่อนที่จะทำงานในโครงการนี้ด้วยซ้ำ พอมาทำนิทรรศการครั้งนี้ เราก็นึกไปถึงสิ่งที่เคยทดลองเอาไว้ เรารู้สึกว่า ความใสกระจ่างที่ว่านี้ ก็น่าจะสามารถเรืองแสงในความมืดด้วย เราก็เลยลองใช้ผงเรืองแสงที่เราเคยทดลองมาทำงานในชุดนี้ ทีนี้เราก็เลยต้องสร้างงานออกมาในสองภาพลักษณ์ สองผลลัพธ์ คือตอนกลางวัน เราสามารถเห็นภาพในแสงปกติ พอไฟปิด ผงเรืองแสงที่ว่านี้ก็จะทำงาน ทำให้ภาพเรืองแสงในความมืด เวลาทำงานเราก็ต้องรอจนกลางคืน เพื่อจะเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปเป็นร่าง แล้วก็เอากลับไปทำตอนกลางวัน สลับกันไปมาจนงานเสร็จสมบูรณ์
“ส่วนสะพาน เราทำขึ้นจากความรู้สึกของตัวเองเวลาไปเที่ยวทะเล แล้วเราอยากเห็นน้ำเรืองแสงตอนกลางคืน เราก็ต้องเดินทอดน่องข้ามฝั่งไปชมบนสะพานไม้ ท่ามกลางความเวิ้งว้าง นึกภาพเหมือนผู้หญิงสวมกระโปรงบาน โดนลมพัดจนพลิ้วๆ เดินข้ามสะพานไปมองน้ำทะเลเรืองแสงจากสองฟากฝั่งทะเล
“นอกจากภาพของท้องทะเล ในห้องนี้ยังมีภาพของน้ำตกด้วย เพราะเราฝึกทำสมาธิวิปัสสนา และเรามองว่าวิปัสสนานั้นเป็นเรื่องของสัจธรรมความเป็นจริง เมื่อดูภาพน้ำตก นักวิปัสสนาจะเข้าใจว่าน้ำตกนั้นแฝงปรัชญาแห่งสัจธรรม คือสิ่งที่อยู่สูงต้องลงมาสู่ที่ต่ำ หรือในปรัชญาเซนก็จะบอกว่า น้ำตกเหมือนเทพเจ้า หรือความจริงอันไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
“เวลาเราทำงาน เราต้องตะล่อมความคิดเพื่อสร้างภาพขึ้นมาโดยพยายามไม่คัดลอกความจริง แต่ด้วยความที่เทคนิคที่เราทำนั้นพ้องกับความเคลื่อนไหวของน้ำจริงๆ เพราะการไหลของสีนั้นไม่ต่างอะไรกับการจำลองอิริยาบถของน้ำ พอเราทำเทคนิคนี้จนชำนาญ เราพอจะมองออกว่าจังหวะไหนเราควรปล่อยให้ธรรมชาติของเทคนิคเผยตัวออกมา ทั้งปฏิกิริยา การทับซ้อนของสี ซึ่งก็คือความงามของปรากฏการณ์ธรรมชาติ เราไม่จำเป็นต้องไปบังคับควบคุมมาก เพราะพอเราทำงานมาเยอะๆ เราจะรู้ว่า ถ้าเราควบคุมมาก เส้นจะไม่มีความอิสระ
“ด้วยความที่ในช่วงปริญญาตรี เราเรียนสาขาศิลปะภาพพิมพ์ เราก็จะคุ้นเคยกับปฏิกิริยาการไหลและการทำปฏิกิริยาของน้ำกับน้ำมัน เพื่อนรุ่นพี่ที่เรียนภาพพิมพ์มาด้วยกัน พอเขาเห็นงานเราไม่ว่าจะชุดไหน เขาก็จะพูดว่าเรามีจริตของคนทำงานภาพพิมพ์มาตลอด ซึ่งแน่นอนว่าด้วยประสบการณ์ที่เรามี จริตเช่นนี้ก็ต้องเผยออกมาโดยอัตโนมัติ เพราะมันสั่งสมอยู่ในตัวเรามานาน บางทีเราอาจจะทำออกมาโดยไม่รู้ตัว เวลาทำงานภาพพิมพ์ เราก็เห็นความงามของตัวเทคนิคอยู่แล้ว พอมาทำงานจิตรกรรมเราก็เอาสิ่งนี้มาทำให้ชัดเจนขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีความสดกว่า”
อัจจิมาเผยถึงที่มาของความลุ่มหลงในความเป็นน้ำของเธอว่า
“บางทีเราก็สงสัยว่าทำไมตัวเองถึงชอบดูน้ำมากขนาดนี้ อย่างตอนเด็กๆ นี่ ถ้าถามว่าอยากไปไหน ก็ต้องตอบว่าอยากไปทะเลแน่นอน ตอนเรียนปริญญาตรีสาขา
ภาพพิมพ์ เราทำงานเป็นภาพของผู้หญิงที่อยู่ท่ามกลางน้ำ พอมาเรียนปริญญาโท เรารู้สึกว่าเราไม่อยากอยู่ภายใต้กระบวนการของการทำงานภาพพิมพ์แล้ว เราอยากทำงานลงไปบนผืนผ้าใบโดยตรง แทนที่เราจะจำลองตัวเองให้เป็นภาพของผู้หญิงในน้ำ ก็กลายเป็นเราให้ตัวเองเผชิญกับการเคลื่อนไหวของเรากับน้ำไปตรงๆ เลย เราไม่จำเป็นต้องใช้ร่างกายของคนมาแสดงความรู้สึก หากแต่ใช้ความเคลื่อนไหวและทิศทางของน้ำสร้างอารมณ์ความรู้สึกขึ้นมาแทน เหมือนเป็นการประกอบกันของเส้น สี ทัศนธาตุของน้ำที่เวิ้งว้าง แต่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว
“เวลาเราไปเที่ยวทะเล เรามองดูน้ำมาตลอด บางครั้งแช่ดูทั้งวันทั้งคืน จนเราเห็นว่าน้ำมีโครงสร้างเส้นอยู่ข้างใน ถ้าดูน้ำในงานของเราทุกชิ้น จะเห็นว่ามีโครงสร้างเส้นสายของรูปทรงน้ำอยู่ บางคนอาจมองว่าน้ำไม่มีรูปทรง แต่เรามองเห็นมวล เห็นเส้นสายรูปทรงของน้ำ แม้กระทั่งจังหวะที่น้ำเคลื่อนตัว เป็นโครงสร้างที่มีระบบและรูปแบบอยู่ เพราะฉะนั้น ภาพน้ำของเราไม่ได้เป็นน้ำที่เหลวเป๋ว แต่มีโครงสร้างที่ชัดเจนมากในแต่ละภาพ”
นอกจากผลงานภาพวาดของน้ำหลากหลายอิริยาบถและมิติแล้ว บนผนังของห้องแสดงงานยังมีประโยคถ้อยคำต่างๆ ติดอยู่เคียงข้างผลงาน ให้เราได้อ่านราวกับเป็นลำนำประกอบภาพวาดอีกด้วย
“เวลาเราทำงานเสร็จ เรามักจะคิดภาพของการจัดแสดง ว่าเราอยากได้ความรู้สึกของงานแบบไหน ด้วยความที่เราไม่อยากให้นิทรรศการมีแต่ภาพโล่งๆ เราก็เลยคิดว่าน่าจะมีถ้อยคำนำทางหน่อยไหม เหมือนเปิดหน้าหนังสือแล้วมีถ้อยคำลอยขึ้นมา เราก็ค้นหาไปเรื่อยๆ ว่ามีประโยคหรือคำพูดไหนที่เราชอบ เก็บสะสมมาจากหลายๆ ที่ อย่างผนังที่เป็นภาพของคลื่นสาดซัดฝั่ง เราก็บังเอิญไปเจอประโยคที่บอกว่า ‘ไม่ใช่ความบังเอิญที่สีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพ’ เรารู้สึกว่ามันใช่ เราก็หยิบเอามาไว้บนผนัง”
นอกจากตัวหนังสือให้อ่านบนผนังแล้ว ในนิทรรศการยังมีเสียงของทะเลคลอออกมาให้เราฟังไปพร้อมๆ กับการชมภาพวาด ให้ความรู้สึกเหมือนผู้ชมกำลังเดินอยู่ชายทะเลก็ไม่ปาน
“เสียงของทะเล เราก็หาจากในยูทูบ ว่าจะเอาเสียงแบบไหนดี ตอนแรกเป็นเสียงทะเลที่มีเสียงเปียโนบรรเลงด้วย แต่ฟังไปฟังมา เราก็เลือกเอาเสียงคลื่นอย่างเดียวดีกว่า แต่ถ้าฟังดีๆ ก็จะมีเสียงนกคลออยู่ด้วย เรารู้สึกว่าเป็นธรรมชาติดี
“แรงบันดาลใจสำคัญในการทำงานของเราคือผลงานของอาจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุด ‘การเดินทางของเส้นพาร์กินสัน’ ซึ่งเรามองว่าเป็นงานที่มีสีสันสวยที่สุด อ่อนหวานที่สุดของอาจารย์ เราเคยบอกกับอาจารย์ด้วยความแปลกใจว่า ไม่น่าเชื่อเลยว่าอาจารย์ป่วยแล้วจะทำงานออกมาได้สวยขนาดนี้ คือสวยที่สุดเท่าที่เราเคยเห็นมา ทำให้เราพลันคิดได้ว่า บางทีการทำงานศิลปะนั้นไม่จำเป็นต้องติดอยู่ในภาวะความเป็นจริงของตัวเองในแต่ละวัน แต่เราสามารถหลุดพ้นออกจากความเป็นจริงไปได้ด้วย เพราะศิลปะสามารถสร้างจินตนาการ สร้างโลกใหม่ขึ้นมา จนทำให้เราลืมความเป็นจริงได้ เราคิดว่า ถ้าเราอยากมองเห็นโลกแบบไหน เราก็สร้างโลกแบบนั้นออกมา”
1. Deep Blue Waves (2022)Oil on Canvas 90 x 120 cm.
2. Blue Night Sky 1 (2023) Oil on Canvas, 120 cm.
3. Flow Green Turquoise 1 (2020) Oil on canvas, 100 x 150 cm.