Author & Photographer: Sethapong Pawwattana
หินอ่อนที่ได้รับการแกะสลักเสลาจนดูเหมือนมีลมหายใจที่เราคุ้นเคยหรืออาจจะได้ไปชมของจริงมาแล้วส่วนใหญ่จะเป็นผลงานของยุคฟื้นฟูวิทยาการหรือเรอเนสซองส์ของยุโรป ไม่ว่าจะเป็นฝีมือของมิเคลันเจโล หรือโจวันนี เบอร์นินี แต่ถ้าหากย้อนไปถึงยุคกรีกโบราณที่รากฐานงานประติมากรรมหินอ่อนแม้จะมีชิ้นงานที่สมบูรณ์หลงเหลือมาจนปัจจุบันน้อยกว่าชิ้นงานที่เป็นซากหักพัง ประติมากรรมหินอ่อนที่ไม่สมบูรณ์แบบเหล่านี้กลับทรงคุณค่าและบอกเล่าถึงที่มาของประติมากรหินอ่อนในยุคต่อๆ มา หลายๆ ชิ้นเป็นแรงบันดาลใจให้กับประติมากรยุคหลังๆ สร้างผลงานที่สมบูรณ์แบบขึ้นมาจากต้นแบบที่เป็นซากโบราณวัตถุ
มีคำถามที่ถามกันบ่อยๆ ว่าทำไมประติมากรรมเทพเจ้าของกรีกถึงเน้นความสวยงามของร่างกายที่เปลือยเปล่าไม่ว่าหญิงหรือชาย (แต่จะเป็นเพศชายเยอะกว่า) แต่ของเพศหญิงมักจะมีผ้าหรือการสวมชุดที่เกิดจากการเดรปผ้าแบบกรีกโบราณ (peplos) ทำไมถึงต้องเป็นรูปผู้ชายเปลือยที่เน้นกล้ามเนื้อสวยงาม ก็เพราะร่างกายที่งดงามสมบูรณ์แบบนั้นต้องผ่านการฝึกฝนไม่ว่าจะเป็นเชิงทหารเพื่อการรบ แสดงถึงความพร้อมของผู้ชายในการออกศึก หรือแม้แต่การแข่งกีฬา ยุคกรีกโบราณมียิมเนเซียมหรือสถานที่สำหรับออกกำลังกาย ฝึกฝนในเรื่องกีฬา รวมทั้งสนามเพื่อการแข่งขันกีฬาต่างๆ เพราะฮีโร่ของกรีกไม่ใช่แค่นักรบ แต่นักกีฬาก็ได้รับการยกย่องเช่นกัน ช่อลอเรลหรือช่อมะกอกที่ทำเป็นมงกุฎเพื่อสวมศีรษะของผู้ชนะก็ไม่ต่างกับสิ่งที่แม่ทัพหรือนักรบจะสวมมงกุฎแห่งชัยชนะนี้เช่นกัน และภายหลังก็ได้มีการทำด้วยวัสดุมีค่าต่างๆ อย่างทองคำ
รูปร่างที่แข็งแรง มีกล้ามเนื้อที่สวยงาม เป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์แบบ ในเมื่อจะต้องทำรูปที่เป็นตัวแทนของเทพเจ้าเพื่อการเคารพบูชาจึงทำให้มีรูปร่างที่สมบูรณ์แบบเช่นกัน แต่สิ่งที่น่าสังเกตก็คือรูปร่างของเทพเจ้าต่างๆ จะมีความสมบูรณ์ในแต่ละวัยต่างกัน อย่างเช่นเทพเจ้าซุส ซึ่งเป็นเทพบิดร จะมีรูปร่างเหมือนวัยกลางคนที่มีกล้ามเนื้องดงาม ขณะที่แอร์เมสจะมีรูปร่างเป็นเด็กหนุ่มเพราะเป็นเทพแห่งการสื่อสาร เป็นผู้แจ้งข่าวจากเทพเจ้าที่จะต้องมีความว่องไว ส่วนเทพอพอลโลที่ถือเป็นเทพที่มีความหล่อเหลาเป็นอันดับต้นๆ ก็จะมีรูปร่างเป็นชายหนุ่ม หรือคิวปิดมีรูปร่างเป็นเด็กหนุ่มวัยแตกพานหรือไม่ก็เป็นเด็กซนๆ แล้วแต่จะพูดถึงในกรณีไหน ถ้าเล่าเรื่องคิวปิดกับไซคี รูปร่างของคิวปิดก็เป็นเด็กหนุ่ม แต่ถ้าเป็นเรื่องราวคิวปิดกับคุณแม่คือวีนัส คิวปิดก็จะเป็นเด็กซนๆ เพราะคุณแม่ก็มีความซุกซนในเรื่องความรัก
ประติมากรของกรีกที่มีชื่อเสียงในยุคแรกๆ ถือเป็นบุคคลในตำนานที่ก้ำกึ่งว่าจะมีตัวตนจริงๆ หรือไม่ก็อาจจะเป็นแค่เรื่องเล่า นั่นก็คือดีดาลุส (Daedalus) ผู้สร้างเขาวงกตบนเกาะครีตเพื่อกักขังมิโนทอร์ (ตัวเป็นคน ศีรษะเป็นโค) เขายังได้ชื่อว่าเป็นคนสร้างประติมากรรมรูปคนขึ้นมาเป็นคนแรกๆ ของอารยธรรมกรีก ซึ่งมีชื่อของเขาในจารึกอายุราวๆ 1,400 ปีก่อนคริสตกาล และในมหากาพย์อีเลียด ชื่อของเขาได้นำมาตั้งเป็นชื่อของรูปแบบประติมากรรมลอยตัวดีดาลิก (Daedalic style) ที่อยู่ในกรอบของเรขาคณิต มือแนบลำตัว โดยได้อิทธิพลจากอียิปต์และเมโสโปเตเมีย งานยุคแรกนี้จะทื่อเป็นทรงตรงไร้การเคลื่อนไหว (นอกจากการก้าวเท้าเพื่อสื่อถึงการเคลื่อนไหวแบบอียิปต์) ต่อมาเป็นยุคอาร์เคอิก (Archaic) ที่ใบหน้ามีรอยยิ้มแบบยกมุมปาก และการวางท่าของประติมากรรมจะหลีกหนีความเป็นทรงแท่ง มีการทำให้เหมือนคนจริงๆ มากยิ่งขึ้น มีประติมากรรมชายหนุ่ม (kouros) และหญิงสาว (kore) ที่ทำขึ้นเพื่อระลึกถึงคนที่เสียชีวิต โดยรูปผู้ชายจะมีลักษณะเปลือยกาย (แสดงถึงความสมบูรณ์แบบ) แต่รูปผู้หญิงจะสวมชุดแบบ peplos การที่รูปผู้ชายต้องเปลือยกายสะท้อนถึงการเป็นบุรุษเพศที่จะมีการแข่งขันกีฬาซึ่งถือเป็นกึ่งพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ที่จะอุทิศแด่เทพเจ้า
สำหรับประติมากรรมหินอ่อนของกรีกที่สร้างความอัศจรรย์ใจให้กับคนยุคหลังๆ หนึ่งในนั้นก็คือประติมากรรมคนขว้างจักร (Lancellotti Discobolus) ที่แกะจากหินอ่อนจากยุคคลาสสิกของกรีกมีต้นแบบจากรูปหล่อบรอนซ์ในศตวรรษที่ 2 ซึ่งสูญหายไปแล้ว โดยรูปแกะหินอ่อนที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติโรมชิ้นนี้มีลักษณะการวางท่าคล้ายกับงานแกะหินอ่อนคนขว้างจักรชิ้นอื่นๆ แต่ลักษณะการหันศีรษะอาจจะไม่เหมือนกัน และการแกะจากหินอ่อนมีต้นทุนในการทำถูกกว่าการหล่อด้วยบรอนซ์ แต่ก็น่าทึ่งที่ประติมากรรมยุคคลาสสิกของกรีกสามารถสร้างจุดสมดุลให้กับชิ้นงานด้วยการวางท่าทางของรูปแกะหินอ่อนที่ท้าทายจินตนาการ กล้ามเนื้อของรูปสลักนี้มีความเหมือนจริงมาก เป็นร่างกายของนักกีฬาที่ฝึกฝนมาอย่างหนัก เป็นการสรรเสริญความเป็นฮีโร่ของนักกีฬา มือขวาที่จับจักรนั้นเหยียดเกร็งไปด้านหลัง ทุกเส้นของกล้ามเนื้อของแขนแสดงพลังที่เราเชื่อว่าถ้าจักรถูกขว้างออกไปจะไปได้ไกลมาก ขณะที่มือขวามีความเกร็งเพื่อรับน้ำหนักการวางจังหวะของมือและการย่อของขาทั้งสองข้าง (รวมทั้งการวางเท้า) คือพลังที่กำลังจะถูกปลดปล่อยออกไปกับตัวจักร รูปหินอ่อนที่เหมือนมีชีวิตจึงไม่เกินเลยไปสำหรับผลงานชิ้นนี้
แน่นอนว่างานแกะสลักหินอ่อนของกรีกที่หลงเหลือมาจนปัจจุบันไม่ได้มีสภาพสมบูรณ์เป็นส่วนใหญ่ แต่นั่นก็สอดคล้องกับหลักความงามของกรีกที่อธิบายถึงความงามของร่างกายที่เหนือกว่าใบหน้าที่งดงาม แน่นอนว่าถ้าเรามองคนคนหนึ่งเราจะมองความสวยความงามของเขาจากใบหน้า แต่ประติมากรรมกรีกที่เน้นความงามของร่างกายนั้นทำให้ใบหน้ากลายเป็นรองไป การพัฒนาฝึกฝนจนร่างกายเต็มไปด้วยมัดกล้ามที่งดงามจนกลบความงามของใบหน้า ไม่แปลกใจที่ torso หรือรูปลำตัวของประติมากรรมกรีกที่เกิดจากซากของผลงานที่แขนหรือขารวมทั้งศีรษะอาจจะแตกหักเสียหายไปกลายเป็นความงามอีกรูปแบบหนึ่ง
จนมีคำกล่าวว่าประติมากรรม Venus de Milo นั้นอาจจะไม่ได้รับเสียงชื่นชมเท่านี้ถ้าหากแขนของรูปหินอ่อนนี้อยู่ครบ หรือรูปแกะหินอ่อน The Belvedere Torso ที่คาดว่ามีอายุมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ถือเป็นรูปลำตัวที่งดงามที่สุดชิ้นหนึ่งของโลก (ไม่มีส่วนศีรษะ แขน และขา) เป็นลำตัวของชายที่พ้นวัยเด็กหนุ่ม เพราะจากกล้ามเนื้อที่ล่ำสันและไม่เพรียว ปัจจุบันรูปแกะหินอ่อนนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์ของวาติกัน เราจะเห็นว่าบรรทัดฐานการสร้างความงดงามของกรีกนั้นเป็นเรื่องสำคัญ แสดงถึงระเบียบและวินัยของชายกรีกที่จะฝึกตนให้มีกล้ามเนื้อที่งดงามสมบูรณ์แบบจนทำให้ความงดงามของใบหน้านั้นต้องเป็นเรื่องรอง ซึ่งแนวคิดนี้หนุ่มสาวยุคปัจจุบันก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ไม่ถึงขั้นให้ความสำคัญกับรูปร่างมากกว่าใบหน้า เพราะยุคนี้แพทย์ช่วยได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า
Greek sculpture that emphasizes the beauty of muscles to show strength, heroic perfection.
งานศิลปะเหล่านี้จัดแสดงอยู่ที่ Museo Nazionale Romano กรุงโรม ประเทศอิตาลี