ส่องความเป็นไปได้ อุปสรรค และอื่นใดในการสร้างหมุดหมาย ‘กรุงเทพฯ ดินแดนแห่งมิวสิคเฟสติวัล’ ในอนาคต ผ่านบทเรียนการจัด Sonic Bang และ Road to Sonic Bang

Share This Post

- Advertisement -

Photographers: Wasu Sukatocharoenkul / Krissana Phaisee / Similan Prangprasert / Watchara Panthong

Author: Pacharee Klinchoo

ในปี 2013 ประเทศไทยได้มีการจัดงานมิวสิคเฟสติวัลในร่มที่ชื่อว่า Sonic Bang ที่มีศิลปินกว่า 35 ชีวิตขึ้นแสดงบน 6 เวทีในหนึ่งวัน รวบตึงไลน์อัพจากทั่วทุกมุมโลกแบบพอมองย้อนกลับไปแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่าตอนนั้นวิ่งดูแต่ละเวทีทันได้อย่างไร และในปี 2023 นี้ Road to Sonic Bang หวนคืนสู่กรุงเทพฯ เมืองคอนเสิร์ตอีกครั้งหนึ่งแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ทำเอาเราอดสงสัยถึงการดำรงอยู่ของมิวสิคเฟสติวัลในร่มแบรนด์นี้ไม่ได้ และเราก็ไม่ปล่อยให้ตัวเองสงสัยอยู่ได้นาน เราจึงชวนไข่ – รักษิต รักการดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ไลฟ์ เนชั่น เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ มาคุยถามถึงความเป็นมาเป็นไป ทิศทาง ปัญหา อุปสรรค และสิ่งต่างๆ ที่เขาได้เรียนรู้ระหว่างทางการจัดมิวสิคเฟสติวัลนี้

เมื่อสิบปีที่แล้ว การจัดมิวสิคเฟสติวัลถือเป็นเรื่องใหม่มากๆ เล่าให้เราฟังหน่อยว่า Sonic Bang เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ได้อย่างไร

ตั้งแต่ที่ผมกับคุณเนล (Neil Wayne Thompson (เนล เวนน์ ทอมบ์สัน) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไลฟ์ เนชั่น เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด) เริ่มทำงานคอนเสิร์ตด้วยกันมา พวกเราก็ไปเซอร์เวย์ที่งาน Summer Sonic ประเทศญี่ปุ่น เพื่อดูศักยภาพของวงต่างๆ ที่ขึ้นเล่นในงาน ว่าสามารถนำพวกเขามาเล่นที่ประเทศไทยได้มากน้อยขนาดไหน และจุดประสงค์หลักในการไปก็คือเพื่อไปศึกษาดูว่ามิวสิคเฟสติวัลระดับนั้นเขาจัดงานกันอย่างไร เขาจัดการคนดูหลักหมื่นกันแบบไหน เพราะว่าทีมงานของเราไม่เคยได้มีโอกาสจัดการคนดูจำนวนขนาดนั้นมาก่อน แต่กลายเป็นว่าเฟลครับ (หัวเราะ) เพราะคนญี่ปุ่นเขาจัดการตัวเองได้ มีแค่นกหวีดหนึ่งอันก็หยุดฝูงชนได้แล้ว ผมเลยไปศึกษาและเรียนรู้อะไรอย่างอื่นแทน ก็ได้เห็นว่ารูปแบบการจัดงานที่ผสมผสานระหว่างเวทีในร่มและเวทีกลางแจ้งเป็นรูปแบบที่ดีและน่าสนใจ

งานเขาจะเริ่มตั้งแต่ราวๆ เที่ยงตรง คนก็มารวมกันที่พื้นที่ในร่ม มีโซนศูนย์อาหาร โซนนิทรรศการ และโซนแสดงดนตรี ผมว่าบรรยากาศโดยรวมมันดี และอยากจะลงมือทำอะไรแบบนี้บ้าง ในยุคนั้นทางเราก็ได้มีความพยายามที่จะจัดงานกึ่งๆ เฟสติวัลแบบนี้มาแล้ว แต่เหมือนเป็นการทำไลน์อัพเล็กๆ ก่อนวงหลักจะขึ้นแสดงมากกว่า อย่างคอนเสิร์ต Linkin Park ก็จะมีวงไทยมาเปิดสองวง เรียกได้ว่าเราเคยทำคอนเสิร์ตแบบ multiple shows มาก่อนแล้ว เมื่อเราชอบรูปแบบการจัดงานของ Summer Sonic เราก็เลยคิดจะลองทำ Sonic Bang ขึ้นมาครับ

คอนเซ็ปต์เริ่มแรกในการจัดงานก็คือ ‘เมืองไทยมันร้อนจัง มาดูมิวสิคเฟสติวัลในห้องแอร์กันดีกว่า อย่าไปจั๊กแร้เปียกกันข้างนอกเลย มาฟังดนตรีแบบสบายๆ กันเถอะ’ พอคิดได้แบบนี้ เราก็มาดูไลน์อัพว่าแนวเพลงจะต้องหลากหลายมากๆ เน้นไปที่วงเอเชียด้วย เราก็ได้วงดีๆ มาเยอะมาก ทั้ง Rain, Jason Mraz, Pitbull, Placebo ไปจนถึง Pet Shop Boys เลยครับ แต่เมื่อสิบปีที่แล้ว คนดูยังไม่เข้าใจว่ามิวสิคเฟสติวัลคืออะไร เกิดคำถามเยอะแยะมากมาย ทำไมตารางชนกัน ทำไมมีหลายเวที มีนักดนตรีตั้ง 30 วง ต้องดูยังไงถึงจะครบ และแต่ละวงขึ้นกี่นาที เล่นแค่สามเพลงแล้วจบเลยหรือเปล่า เลยกลายเป็นว่า know-how ของผู้จัดกับแฟนเพลงมันต่างกัน

Music is The Strongest Form of Magic

ผลตอบรับของงาน Sonic Bang ในแง่ของคนทำงานคือประสบความสำเร็จมากๆ เลยครับ เราสามารถจัดการศิลปินมากขนาดนั้นให้เรียบร้อยได้ภายในหนึ่งวัน ทั้งในส่วนของ backstage ส่วนของ production หรือส่วนของ accommodation ทีมไทยที่จัดงานปีแรกเก่งกันมากเลยครับ พวกเราไม่เคยจัดงานใหญ่ขนาดนี้มาก่อน สิ่งที่ชัดเจนคือการจัดการหลังบ้านให้มันเป็นมิวสิคเฟสติวัลที่มี full service ให้ศิลปิน ซึ่งเราทำสำเร็จได้ดีครับ

ดังนั้น ในแง่ของผู้จัด ผมถือว่าการจัดงาน Sonic Bang ครั้งนั้นเป็นการจ่ายค่าเทอมเพื่อที่จะเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างเพื่อมาต่อยอดทำงานในอนาคต ได้เรียนรู้ความต้องการของทั้งศิลปินและผู้ชม และได้ประสบการณ์ในการจัดมิวสิคเฟสติวัล ซึ่งแน่นอนว่าแตกต่างจากการจัดคอนเสิร์ตเยอะมากๆ มันคือการจ่ายค่าเทอม

ในส่วนของผู้ชม ในแง่ของคุณภาพ ผู้ชมมีความสุขกับโชว์ ทุกวงขึ้นโชว์กันแบบเต็มที่ คุณภาพของงานคือดีมาก คนประทับใจ แต่ในแง่ของปริมาณคนดู คนดูน้อยไปเยอะ เพราะในตอนนั้น คนยังไม่ค่อยเข้าใจคอนเซ็ปต์ของมิวสิคเฟสติวัล ในแง่ของรายได้มันเลยไม่เวิร์คไปด้วยครับ แต่พอโชว์จบแล้ว คนก็เอาไปเล่าต่อในโซเชียลมีเดีย ซึ่งตอนนั้นมีแค่เฟซบุ๊กเป็นหลัก ทุกคนบอกว่าคุ้ม เลยกลายเป็นกระแส ‘รู้งี้มาดูดีกว่า’ แต่มันก็จบไปแล้วน่ะครับ

เพราะเหตุนี้หรือเปล่า ถึงเว้นไปนานมาก กว่าจะกลับมาจัดอีกครั้งในปีนี้

เว้นไปเพราะเราคิดว่าตลาดบ้านเรายังไม่พร้อม เอาเฉพาะคนไทย ไม่รวมชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย หรือคนที่บินมาดูนะครับ และเรามองว่าถ้าตลาดเราพร้อมแล้วเราจะสามารถทำยอดขายให้ถึงเป้าหมายได้ไหม แต่ที่กลับมาจัดอีกครั้งในปีนี้เพราะผมเห็นแล้วว่ามีผู้เล่นเด็กๆ เข้ามาจับมิวสิคเฟสติวัลมากขึ้น และทุกคนก็จัดได้ดี ผมจึงคิดว่าจะลองกลับมาอีกสักครั้ง เลยปั้น River Fest ขึ้นมาเป็นมิวสิคเฟสติวัลกลางแจ้งที่จัดไปเมื่อปีที่แล้ว เลยคิดจะเอา Sonic Bang ที่เป็นเฟสติวัลในร่มกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แต่คิดว่าจะจัดสเกลไม่ใหญ่มาก เลยกลายมาเป็น Road to Sonic Bang นี่ล่ะครับ

แปลว่าวางแผนการระยะยาวไว้ทั้ง River Fest และ Sonic Bang ใช่ไหม

เราอยากจะทำมิวสิคเฟสติวัลอะไรที่เป็นไทยๆ ให้มันเป็นหมุดหมายของวงที่บินมาเล่นที่ Summer Sonic แล้วอาจจะแวะมาเล่นกับเราก่อนหรือหลังงานก็ได้ เพราะเมืองไทยเองก็เป็นหนึ่งในหมุดหมายที่นักดนตรีอยากจะมาเล่นเวลาเปิดเอเชียทัวร์อยู่แล้วนะครับ

แปลว่าทั้งฐานคนดู และ facility ในประเทศไทยเข้มแข็งมากพอที่จะรองรับคอนเสิร์ตสเกลใหญ่และมิวสิคเฟสติวัลได้แล้วใช่ไหม

คอนเสิร์ตเดี่ยวนี่ไม่สงสัยเลยครับ ทุกวันนี้ประเทศเรามีคอนเสิร์ตแทบจะทุกสัปดาห์อยู่แล้ว และหลากหลายด้วย แต่มิวสิคเฟสติวัลยังเป็นข้อสงสัยครับ ผมกับทีมกำลังพยายามหาส่วนผสมที่ลงตัวทั้งสองทาง คือต้องประสบความสำเร็จทั้งตัวงานและรายได้ครับ เพราะเราทำธุรกิจ เราต้องหาจุดกึ่งกลางให้ทุกภาคส่วนเดินไปพร้อมกันให้ได้

ส่วนตัวคุณมองว่าคุณจะสามารถหาจุดกึ่งกลางนั้นได้ในอนาคตอันใกล้ไหม

ผมมองว่ามิวสิคเฟสติวัลทุกแบรนด์สามารถจัดที่ประเทศไทยได้หมดล่ะครับ แต่มันจะยั่งยืนไหมนี่คือคำถามที่ต้องหาคำตอบอีกทีหนึ่ง ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งในเรื่อง facility กำลังคน และเทคโนโลยี ส่วนเรื่องพื้นที่อาจจะมีการท้าทายหน่อยว่า ถ้าไม่ใช่เมืองพัทยา จะมีพื้นที่ไหนในประเทศที่สามารถรองรับมิวสิคเฟสติวัลดีๆ ได้ เรื่องของโรงแรมไม่ต้องเป็นห่วง ดังนั้น เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องของตลาด ผู้ชมเข้าใจคอนเซ็ปต์ของมิวสิคเฟสติวัลมากพอหรือยัง เด็กรุ่นใหม่เข้าใจไหมว่าการไปมิวสิคเฟสติวัลแตกต่างจากการไปดูคอนเสิร์ตอย่างสิ้นเชิง เพราะจากการสำรวจมา เด็กรุ่นใหม่จะคิดว่าการไปดูมิวสิคเฟสติวัลไม่คุ้มค่า เพราะเขาอยากดูศิลปินเพียงคนเดียว ไม่ได้อยากดูทุกวง เขาไม่ได้สนุกกับการไปยืนรอวงที่ตัวเองต้องการดูนานๆ แต่ในขณะเดียวกัน คนที่ชอบไปมิวสิคเฟสติวัลเขาก็จะมีความต้องการที่จะได้รู้จักวงใหม่ๆ ได้ไปซึมซับบรรยากาศ เห็นคนแต่งตัวสวยๆ ไปร่วมกิจกรรม คนที่ชอบไปคอนเสิร์ตกับคนที่ชอบไปมิวสิคเฟสติวัลยังมีความทับซ้อนกัน แต่ก็ไม่ใช่คนกลุ่มเดียวกันเสียทีเดียวครับ

คิดว่าแนวโน้มการเติบโตของผู้ชมจะเป็นไปในทิศทางไหนมากกว่ากัน คอนเสิร์ตเดี่ยว หรือมิวสิคเฟสติวัล

ผมว่าทั้งสองทางครับ ฝั่งคอนเสิร์ตเดี่ยวโตขึ้นแน่ๆ คอนเสิร์ตสเกลที่ไม่เคยมาทวีปเอเชียมาลงประเทศไทยไม่หยุดเลย ตลาดเราโตขึ้นมากแล้ว มีคอนเสิร์ตเดี่ยวให้ดูไม่ขาด ส่วนมิวสิคเฟสติวัล ผมมองว่าในทวีปเอเชียเริ่มตื่นตัวขึ้นเยอะ มีงานมิวสิคเฟสติวัลกระจายทั่วไปทั้งในฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย รวมไปถึงจีนด้วย ประเทศไทยเองก็มีมิวสิคเฟสติวัลเยอะมากๆ ผมเลยคิดว่าฝั่งมิวสิคเฟสติวัลมันเติบโตขึ้นได้อีก แต่ก็ต้องดูผลประกอบการจากผู้จัดอื่นๆ ด้วยว่าตัวเลขที่ได้มามันคุ้มค่าแล้วหรือยัง

ถ้าอัตราการเติบโตมีแนวโน้มสูงขึ้นขนาดนี้ คุณจะสนับสนุน Sonic Bang ต่อไป หรือสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมาอีก

เรามีการจ้างบริษัททำวิจัยจริงจังเรื่องพฤติกรรมของคนดูที่มีต่อมิวสิคเฟสติวัล เพราะเราอยากจะรู้ว่าอะไรคือจุดสำคัญที่ทำให้คนตัดสินใจไปร่วมงานมิวสิคเฟสติวัลนี้ สังเกตได้เลยว่างานมิวสิคเฟสติวัลที่มีวงอินดี้มารวมกันเยอะๆ ก็จะมีตลาดอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ไม่ทะลุเหมือน Big Mountain ที่ฐานคนดูเยอะมาก ก็ต้องหาคำตอบว่าทำไมมิวสิคเฟสติวัลในบ้านเราที่มีวงอินเตอร์ขึ้นเล่นถึงไปไม่ถึงจุดนั้นเสียที

ได้รับคำตอบหรือยัง

ยังไม่ได้คำตอบ แต่สิ่งที่ตอบได้ก็คือ (1) ในส่วนของงานเทศกาลดนตรีแนว K-pop ผู้ชมจะอยากดูแค่วงปิดโชว์ พวกเขาไม่อยากจะรอ และ (2) ความเข้าใจผิดว่าวงดนตรีที่มาร่วมงานเทศกาลดนตรีจะเล่นแค่สามสี่เพลงเท่านั้น ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วแต่ละวงเล่นไม่ต่ำกว่า 45 นาที ยาวไปจนถึงสองชั่วโมงได้เลย ดังนั้น ผมว่าเราต้องแก้ความเข้าใจผิดตรงนี้ ซึ่งมันก็ทำได้สองอย่างคือ พูดซ้ำๆ กับทำให้ดูซ้ำๆ และทั้งสองอย่างก็ต้องใช้เวลาครับ

ขอถามเรื่องการดีลศิลปินว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะตอบรับคอนเสิร์ตเดี่ยวหรืองานเทศกาลดนตรีมากกว่ากัน

ทั้งคู่เลยครับ วงดนตรีที่กำลังเริ่มดังส่วนใหญ่จะมีตารางลงเทศกาลดนตรีอยู่แล้ว เพราะพวกเขาอยากจะสร้างฐานแฟนคลับใหม่ๆ ส่วนวงที่ได้รับเลือกให้ขึ้นมาเป็นวงปิดก็จะเป็นวงแรงๆ ที่ถูกเลือกมาแล้ว และเมื่อได้วงปิดแรงๆ แล้ว ก็จะมีศิลปินที่อยากจะตามมาขึ้นเวทีเดียวกับวงปิดดังกล่าว ประมาณนี้ครับ

ประเทศไทยมีศักยภาพมากๆ เลยใช่ไหมกับการเป็นหมุดหมายสำหรับคอนเสิร์ตในอนาคต

เป็นอยู่แล้วครับ แต่การเป็นหมุดหมายของงานเทศกาลดนตรียังเป็นคำถามอยู่ แม้ว่าทิศทางของคำตอบจะเป็นไปในทิศทางบวก แต่มันก็ต้องพึ่งพาหลายภาคส่วนเยอะเหลือเกิน อันดับแรกต้องพึ่งพาภาครัฐ เช่น กรุงเทพฯ สามารถมีสเตเดี้ยมสำหรับจัดงานสัก 4 สเตเดี้ยมได้ไหม นี่คือคำถามที่เราไม่สามารถหาคำตอบเองได้ในฐานะองค์กรเอกชน หรือถ้าเกิดว่าเราจัดงานเทศกาลดนตรีสเกลราวๆ 3-4 หมื่นคน สาธารณูปโภคพื้นฐานจะสามารถรองรับได้ไหม เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องของการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ภาคเอกชนเริ่มเห็นคุณค่าของงานเทศกาลดนตรีแบบนี้แล้วหรือยัง ส่วนตัวผมเชื่อว่างานเทศกาลดนตรีจะโตได้มากกว่านี้แน่ๆ แค่ต้องใช้เวลาอีกสักนิด และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมากขึ้นอีกหน่อย

มีอะไรอยากจะเสริมในฐานะผู้จัดไหม

ผมอยากให้ผู้จัดสนับสนุนศิลปินไทยด้วยครับ และในขณะเดียวกัน ผมก็อยากจะให้ศิลปินไทยทำเพลงภาษาอังกฤษมากขึ้น เพื่อที่จะไปมีส่วนแบ่งในตลาดประเทศอื่นได้ หลังจากยุคโควิดมา ผมก็ต้องชื่นชมวงไทยอย่าง HYBS ภูมิ น้ำชา หรือมิลลิ ที่พวกเขาพาตัวเองไปปรากฏตัวบนเวทีของเทศกาลดนตรีประเทศอื่นได้ อยากให้ผู้จัดใช้ศิลปินไทยในงานเทศกาลดนตรีในประเทศด้วย อย่าละเลยน้องๆ ผมเชื่อว่าในอนาคตจะมีศิลปินที่มีศักยภาพตามมาอีกเยอะแน่นอนครับ

- Advertisement -