Winter Is Calling

Share This Post

- Advertisement -

Photographer: Brett Lloyd for Dior Men

Author: Chanond Mingmit

ศิลปะที่ถูกเล่าเรื่องราวผ่านวรรณกรรมผสมผสานการร้อยเรียงด้วยกาลเวลาที่ถูกสร้างสรรค์และตีความโดยคิม โจนส์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ออกมาเป็นคอลเลกชั่นเครื่องแต่งกายสำหรับสุภาพบุรุษประจำฤดูหนาว 2023-2024 จาก Dior Men ซึ่งได้แรงบันดาลใจในการออกแบบโดยการรื้อฟื้นผลงานต้นแบบมารังสรรค์ใหม่ด้วยฝีมือของ มร. แซงต์ โลรองต์ ทายาทที่คริสเตียน ดิออร์ เลือกเองมากับมือ พร้อมกับอาศัยจินตนาการ และแนวคิดวรรณกรรมชิ้นเอก The Waste Land (‘แผ่นดินที่สิ้นสูญ’ กวีนิพนธ์ผลงานประพันธ์โดยที. เอส. อีเลียต มหากวีแห่งศตวรรษที่ 20 ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1922) และนี่คือจุดบรรจบระหว่างโลกใบเก่ากับโลกใบใหม่ ที่มีทั้งการไหลบ่าและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม

เมื่อ 65 ปีก่อน ในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1958 อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ ได้นำเสนอผลงานอาภรณ์ชั้นสูงคอลเลกชั่นแรกที่เขาออกแบบให้แก่ห้องเสื้อ Dior เท่านั้น โลกแฟชั่นก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ขึ้นอีกครั้ง และคอลเลกชั่นประจำฤดูใบไม้ผลิ-ฤดูร้อน 1958 นั้นเอง ที่กลายเป็นแหล่งกำเนิดแรงบันดาลใจสำคัญให้กับงานสรรค์สร้างคอลเลกชั่นประจำฤดูหนาวครั้งนี้ของคิม โจนส์ ในรูปแบบเครื่องแต่งกายชายที่หยิบยกมรดกสำคัญทางประวัติศาสตร์ของ Dior มาใช้ นั่นก็คือการนำวัสดุสิ่งทอสำหรับตัดเย็บเครื่องแต่งกายสตรีมารังสรรค์เป็นเสื้อผ้าบุรุษ รวมถึงการนำวัสดุและแบบแผนการตัดเย็บสูทอังกฤษมาหลอมรวมกับศิลปะการตัดเย็บของห้องเสื้อชั้นสูงของฝรั่งเศสออกมาเป็นเครื่องแต่งกายที่ถูกนำเสนอในรูปแบบที่บอกเล่าเรื่องราวของยุคสมัย ถูกหยิบยกออกมาจากผลงานรุ่นต้นแบบในแผนกจัดเก็บผลงานชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์โดยตรง เพื่อทำการรังสรรค์และดัดแปลงเติมความสดใหม่ อย่างเสื้อกะลาสี Marine (มารีน) ของ มร. แซงต์ โลรองต์ ได้ถูกปรับทรงที่เคยกระชับ เข้ารูป ให้คลายตัวหลวมด้วยการใช้ผ้าทอลายสองสำหรับตัดเย็บเครื่องแบบทหารม้า (cavalry twill) อีกทั้งยังยืนความยาวให้ดูสะโอดสะองตามมิติทรงชุดสวมกันเปื้อนของชาวประมง

“วัสดุสิ่งทอเครื่องแต่งกายสำหรับสุภาพสตรีในคอลเลกชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อนในปี 1958 ถูกนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการออกแบบคอลเลกชั่นล่าสุดนี้”

ในขณะที่โครงสร้างการตัดเย็บชุดเปิดไหล่เข้ารูปของผลงานต้นแบบนาม Acacias (อากาเซีย: ดอกกระถิน) ได้รับการลดตำแหน่งไหล่แขนให้ลู่ต่ำ อีกทั้งยังตัดเย็บด้วยผ้าขนสัตว์ หรือผ้าทอใยขนสัตว์สำหรับชุดสูทผู้ชาย จนทำให้มิติทรงดูใหม่และแปลกตา ส่วนเสื้อโค้ต Passe Partout (ปาส ปารตูต์: กุญแจผี หรือกุญแจหลัก เป็นคำเปรียบเปรยถึงคุณสมบัติในการดัดแปลงได้หลายรูปแบบ) ซึ่งแต่งปกเสื้อเป็นแถบผ้าพันคอสำหรับใช้พับทบ หรือผูกโบหลวม ได้เผยโฉมใหม่โดยอาศัยผ้าทวีดดาเนอกัล (Donegal tweed) เนื้อหยาบมาตัดเย็บ พร้อมเติมลูกเล่นแขนเสื้อติดซิปรูดเปิดปิดตลอดความยาว แนวคิดดั้งเดิมของผ้านิตเนื้อยืด มอบความสะดวกง่ายดายในการสวมใส่ได้หลายโอกาส อีกทั้งมอบความคล่องตัวได้รูปทรงปราศจากโครงสร้าง กลับถูกหักล้างด้วยการนำลูกเล่นเหลี่ยมมุมเชิงสถาปัตย์มาใช้ร่วมกับการตัดเย็บเข้ารูปแบบชุดสูท และเพื่อเติมความครบครัน งานออกแบบใหม่สะกดสายตาของรองเท้า และรองเท้าหุ้มข้อหรือบู๊ตพิมพ์ลายสามมิติกับเสื้อนอก ซึ่งดัดแปลงแบบมาจากแจ๊กเก็ตเก็บอุปกรณ์สารพัดประโยชน์ของนักเดินทะเล ล้วนเป็นบทพิสูจน์ไหวพริบในการพลิกแพลงทักษะความชำนาญด้านการตัดเย็บของ House of Dior ให้ได้ผลลัพธ์ร่วมสมัยอย่างที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน ขณะเดียวกัน บรรดากระเป๋าก็อาศัยความสง่างามจากงานออกแบบที่เรียบง่าย ร่วมกับความพิถีพิถันทางการสรรค์สร้างเป็นพื้นฐานสำคัญ พร้อมกับตัดทอนรายละเอียดหรือองค์ประกอบตกแต่งประดับประดาเพื่อเผยโครงสร้างทรงกล่องจาก Vernis (แวรนีส์: น้ำมันชักเงา หรือสีเคลือบเงา) ผลงานต้นแบบที่ มร. แซงต์ โลรองต์ ออกแบบขึ้นโดยใช้ความเรียบง่ายสื่อถึงกระแสนิยมยุคใหม่ในสมัยนั้นได้อย่างลงตัว

- Advertisement -