Author: Pacharee Klinchoo
Photography: Courtesy of Saint Laurent by Anthony Vaccarello
‘When the Sky Blooms with Sakura’


ความผูกพัน รอยยิ้ม ความฝัน และเรื่องราวร้อยเรียงระหว่างศิลปินชาวจีน Cai Guo-Qiang (ไช่กั๋วเฉียง) และอิวากิ (Iwaki) เเมืองริมทะเลในประเทศญี่ปุ่น


‘When the Sky Blooms with Sakura’ คือชื่อโปรเจ็กต์การแสดงพลุเวลกลางวันของศิลปินชาวจีน ไช่กั๋วเฉียง ณ บริเวณริมชายหาดเมืองอิวากิ ประเทศญี่ปุ่น โดยโปรเจ็กต์นี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจาก Saint Laurent by Anthony Vaccarello และ The National Art Center, Tokyo (ไช่จัดงานแสดงนิทรรศการศิลปะของเขา Ramble in the Cosmos – From Primeval Fireball Onward ที่ NACT ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน – 21 สิงหาคม 2023) ทำหน้าที่เสมือนเป็น ‘พิธีเปิด’ งานนิทรรศการนี้ และตัวกระตุ้นโปรเจ็กต์ ‘Iwaki Manbon Sakura’ ที่จะปลูกต้นซากุระทั้งหมด 99,000 ต้นทั่วพื้นที่เมืองอิวากิ เพื่อให้มองเห็นสีชมพูยามดอกซากุระบานสะพรั่งได้จากอวกาศ
ศิลปินผู้หลงใหลในความงดงามแห่ง ‘ดินปืน’
ในสารคดีเรื่อง ‘Sky Ladder: The Art of Cai Guo-Qiang’ ที่สตรีมมิ่งอยู่ใน Netflix นั้นแนะนำให้เรารู้จักกับไช่กั๋วเฉียง ศิลปินชาวเมืองเฉวียนโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะจาก ‘ประทัด’ ซึ่งผลงานอันเป็นที่ประจักษ์สู่สายตาประชาคมโลกในวงกว้างได้แก่การแสดงพลุและดอกไม้ไฟในพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งในปี ค.ศ. 2008 และงานเปิดการจัดประชุม APEC ที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพเมื่อปี ค.ศ. 2014 แต่อย่างไรก็ดี ไช่ได้เปิดเผยว่า การร่วมงานกับรัฐบาลจีนทั้งสองครั้งนั้นทำให้พลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ของเขาตีบตัน แม้ว่าเขาจะไม่ได้บอกเหตุผลอย่างชัดเจน แต่ก็เดาได้ไม่ยากว่าทางการจีนคงจะมีข้อจำกัดทางการเมืองอะไรหลายๆ ประการที่เขาไม่สามารถ ‘ก้าวล่วง’ ไปได้
ผลงานศิลปะในอีเวนต์สำคัญระดับชาติทั้งสองครั้งของเขาก็ผ่านพ้นไปอย่างสวยงามและตราตรึงใจในฐานะ ‘ศิลปินชาวจีน’ ที่เกิดและเติบโตในประเทศจีน แต่ก็ปฏิเสธความเป็นจริงไม่ได้ว่าผลงานของไช่นั้นโด่งดังและเป็นที่รู้จักในฝั่งโลกเสรีเสียมากกว่า และในปัจจุบันไช่และภรรยา (Hong Hong Wu) ตั้งรกรากอยู่ที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่กลางยุคเก้าศูนย์ และก่อนที่เขาจะลงหลักปักฐานที่อีกฟากของโลก เขาและภรรยาเคยแวะพัก (กายและใจ) ที่เมืองอิวากิในประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว
สัมพันธ์ระหว่างศิลปินและพื้นที่อาศัย
ในวันที่ไช่และภรรยา (ที่ในตอนนั้นยังเป็นแฟนสาว) ตัดสินใจออกจากบ้านเกิดเมืองนอน หอบภาพวาดดินปืนที่เขาหลงใหลข้ามน้ำข้ามทะเลมายังเกาะแห่งนี้ เขาปักหมุดหมายแรกที่ย่านกินซ่า กรุงโตเกียว เพราะเขารู้ว่าพื้นที่แห่งนั้นเต็มไปด้วยแกลเลอรี่งานศิลปะกว่าพันแห่ง และนั่นหมายความว่าเขามีโอกาสกว่าพันครั้งที่จะแนะนำให้โลกรู้จักกับผลงานของเขาในฐานะศิลปินคนหนึ่ง
แต่หลังจากนั้นเพียงไม่นาน เขาก็ตระหนักว่า หากไม่มีแกลเลอรี่ใดสนใจงานของเขา (เพราะเขาเป็นศิลปินต่างชาติ) โอกาสนั้นก็จะหดลงเป็นศูนย์ เขาจึงตัดสินใจพาภรรยาออกเดินทางระยะทาง 200 กิโลเมตรจากกรุงโตเกียวไปยังเมืองอิวากิ และเริ่มต้นหนทางการเป็นศิลปินของเขาที่นั่น
ในช่วงเริ่มต้น แม้ชาวอิวากิจะโอบรับไช่และภรรยาอย่างอบอุ่น แต่ชีวิตเขาก็ไม่ได้ง่ายดายนัก เขาได้พัฒนาทักษะการเป็นศิลปินผ่านการจัดนิทรรศการเดี่ยว แต่รายได้ของเขาก็ไม่ได้มากมายนัก เขาและคณะกรรมการหมู่บ้านต้องอาศัยการทำความเข้าใจกับชาวบ้านในอิวากิถึงความสำคัญของงานศิลปะของเขา และในที่สุดผลงานของไช่ที่ผลิตขึ้นระหว่างการพำนักกว่า 9 ปีที่อิวากินั้นก็ได้เดินทางไปแสดงโชว์รอบโลก และถึงแม้ว่าตอนนี้ไช่จะเดินทางออกจากอิวากิเป็นการถาวรแล้ว ใจเขาก็ยังคงวนเวียนอยู่กับพื้นที่แห่งนี้ไม่ไปไหน
ข้อเท็จจริง: นิทรรศการ The Horizon from the Pan-Pacific ของไช่ที่จัดแสดง ณ Iwaki City Art Museum ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์ The Horizon ที่มีการแสดงพลุความยาวกว่า 5,000 เมตรที่โกดังร้างริมทะเล ได้ถูกนำไปแสดงทั่วโลกภายใต้ชื่อ A Gift from Iwaki



โปรเจ็กต์แห่งความรัก ความคิดถึง และการเยียวยาบาดแผล
ในวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2011 เวลา 14.46 น. สึนามิลูกยักษ์ซัดเข้าที่ภูมิภาคโทโฮคุ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่นอันเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ส่งผลให้ระบบหล่อเย็นและระบบสำรองไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเสียหาย เตาปฏิกรณ์ยูนิตที่ 1, 2 และ 3 หลอมละลาย และในวันถัดมา (12 มีนาคม) ไฮโดรเจนในยูนิตที่ 1 และ 3 เกิดระเบิด กระทบลามไปถึงยูนิตที่ 4 ทำให้เกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีจากปฏิกิริยาลูกโซ่ แม้ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะไม่ร้ายแรงเท่าเหตุการณ์ที่ฟุกุชิมะ แต่ก็ส่งผลกระทบมากพอที่จะทำให้คนนอกเมืองหลีกเลี่ยงที่จะเดินทางมาที่เมืองนี้
และเมื่อได้ยินเรื่องราวนี้ ไช่และผองเพื่อนที่เป็นคณะกรรมการหมู่บ้านก็ต้องการที่จะเปลี่ยนพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่คนอยากจะมาเยือนสักครั้งในชีวิต จึงเกิดโปรเจ็กต์ ‘Iwaki Manbon Sakura’ ที่มุ่งมั่นจะปลูกต้นซากุระจำนวน 99,000 ต้น (จำนวนเลขที่หมายถึงความเป็นนิรันดร์ตามความเชื่อของชาวจีน) ในพื้นที่จังหวัดอิวากิเพื่อเป็นของขวัญแก่เด็กรุ่นถัดๆ ไป และหวังว่าต้นซากุระเหล่านี้จะมองเห็นได้จากนอกโลกในวันที่มันบานสะพรั่งพร้อมกัน
และเพื่อเป็นการแนะนำโปรเจ็กต์นี้ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทีมงานที่อิวากิได้สร้าง SMoCA (Snake Museum of Contemporary Art) ที่ออกแบบโดยไช่ท่ามกลางหุบเขาของเมือง พร้อมทั้งจัดงานแสดงพลุ ‘When the Sky Blooms with Sakura’ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากแบรนด์ Saint Laurent by Anthony Vaccarello และ The National Art Center, Tokyo
โปรเจ็กต์นี้ดำเนินงานโดยไม่มีการสนับสนุนโดยตรงจากหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานอื่นใด เจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับโปรเจ็กต์นี้ล้วนเป็นอาสาสมัคร และโปรเจ็กต์นี้เป็นการเดินทางที่ยาวนาน ไช่และชาวเมืองอิวากิเชิญชวนทุกคนมาร่วมเดินทางกับโปรเจ็กต์นี้ไปด้วยกัน

“Using gunpowder as a mediumbecomes a way to liberate myself.”
– Cai Guo-Qiang –