KING OF T-POP จากภูเก็ตบอยสู่ตัวพ่อแห่งวงการทีป็อป กับทุกนาทีที่สวยงามของ ‘นนท์ – ธนนท์ จำเริญ’

Share This Post

- Advertisement -

Photographer: Thanat Treamchanchuchai

Fashion Editor: Chanond Mingmit 

Author: Neeraj Kim

หลังจากที่คนไทยวุ่นวายกับการเอาชีวิตรอดในช่วงแห่งโรคระบาดเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ลืมตามาอีกที วงการเพลงไทยก็เต็มไปด้วยนักร้องหน้าใหม่ที่แทบแจ้งเกิดกันรายวัน ทั้งจากค่ายใหญ่ ค่ายเล็ก และศิลปินอิสระ ซึ่งเป็นผลพวงของยุคดิจิทัลแบบแต่งเอง ร้องเอง เผยแพร่เอง ไม่ต้องง้อสังกัดอีกต่อไป เด็กรุ่นใหม่อายุสิบปลายๆ ถึงยี่สิบต้นๆ ปล่อยเพลงออกมากันอย่างไม่หยุดหย่อน พระเอกนายเอกซีรีส์วายก็ใช้การ ‘ปล่อยเอง’ ออกมาเป็นสินค้าต่อยอดชื่อเสียงตัวเอง ยังมีรายการแบบเซอร์ไววัลที่เอาเด็กผู้ชายหลายๆ คนมารวมอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน และฝึกซ้อมด้วยระบบเทรนนีจนคัดเหลือจำนวนที่โปรดิวเซอร์ต้องการ เพื่อเดบิวท์เป็นศิลปินเต็มตัวในขั้นตอนต่อไป สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นและติดต่อกันเหมือนเป็นไวรัส แต่เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ค่อยๆ หยั่งราก รดน้ำ พรวนดิน และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จนเริ่มเติบโตและแตกยอดกันอย่างรวดเร็ว แต่ถึงแม้ว่าการเป็น ‘ศิลปิน’ ในยุคสมัยนี้จะง่ายกว่าเมื่อก่อนแค่ไหน แต่สิ่งที่คงไม่แตกต่างกันก็คือ ศิลปินที่ยืนระยะได้นานต้องแลกด้วยผลงานที่มีคุณภาพ ไม่ใช่แค่สวยหล่อไปวันๆ เท่านั้น

“ผมไม่รู้ว่าการร้องเพลงดีคืออะไร เพลงหยอดตู้เพลงแรกที่ผมร้องตอนอายุ 4 ขวบคือ ‘ชีวิตสัมพันธ์’ ของคาราบาว (2530)”

ทุกนาทีที่สวยงาม | Always with Me

“ในวงนั้นเหรอ ผมใส่เสื้อผ้าไหมแพรสีชมพู ตอนนั้นผมอยากเป็นนักร้อง อยากร้องเพลง คิดแค่นั้น” นนท์เล่าย้อนถึงโมเม้นต์แรกที่เขารับหน้าที่เป็นนักร้องนำของวงลูกทุ่งประจำโรงเรียน สมัยที่ยังเป็นเด็กชายธนนท์ซึ่งเกิดและเติบโตในจังหวัดภูเก็ต “ตอนนั้นผมเป็นนักวิ่ง ตัวดำเลย ตัวสูงที่สุดในรุ่น แล้วเราก็รู้สึกว่าเริ่มไม่สนุกกับการวิ่งเหมือนช่วงแรก พอดูรายการเกมฮอตเพลงฮิต แมลงมัน เจอวงพราว ได้ฟังเพลงวงพอส เราก็ยังไม่ได้อยากเป็นนักร้อง แต่อยากร้องเพลง พอดีมีเพื่อนเปิดร้านคาราโอเกะที่ชอบมีลูกค้าขี้เมาเข้ามาร้อง เขาก็มาหยอดเหรียญร้องเพลง ตอนที่เพื่อนเคลียร์ตู้ช่วงกลางวัน ผมก็ได้ร้องฟรี เล่นร้องเพลงกัน แต่พอผมร้องแล้วเพื่อนหยุดฟัง เพื่อนที่นั่งเคลียร์เหรียญอยู่ในตู้ก็บอกว่า เฮ่ย มึงร้องเพลงเพราะนะเนี่ย จินตนาการว่าเป็นเด็กๆ 4-5 ขวบคุยกัน ผมจำได้เลย เพื่อนมันนิ่งไปเวลาเราร้องเพลง ก็ตกใจ ส่วนที่โรงเรียน ช่วงเย็นๆ ก็จะมีเด็กนักเรียนวงลูกทุ่งมาซ้อมเต้น แล้วจะมีนักร้องมายืนทวนท่าเต้นด้วย โอกาสมันอยู่ตรงนี้นี่เอง แต่ถามว่าชอบลูกทุ่งเลยไหม ผมรู้สึกว่าตัวเองร้องลูกทุ่งไม่ดี ลูกทุ่งไม่ใช่แนวที่เราปรารถนาจะทำแต่แรก เพราะภาพในหัวอยากทำวงดนตรีแนวโมเดิร์นด็อก พอส พราว ซึ่งต่างจังหวัดในตอนนั้นมันยังไม่มี ขนาดเด็กเล่นกีตาร์ยังไม่มีเลย แล้วผมเด็กมาก ไม่รู้จะหาจากไหน จะให้ไปคุยกับรุ่นพี่ก็รู้สึกว่ามันประหลาดไปหน่อย ตอนนั้นอยู่ในกลุ่มเด็กเกเรด้วย ถ้าไปถามมันก็เสียลุค (หัวเราะ) นั่นล่ะ พอเห็นเขาซ้อมกันก็เลยไปห้องอาจารย์ บอกว่าผมอยากเป็นนักร้อง”

ในวันหวานของวัยรุ่นไทยที่เกิดก่อน พ.ศ. 2530 ‘โลกดนตรี’ เป็นรายการเพลงแบบถ่ายทอดสดรายการแรกๆ ของเมืองไทย เริ่มออกอากาศเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2514 โดยใช้ชื่อ Pop on Stage ในช่วงแรก ก่อนมีนโยบายเปลี่ยนชื่อรายการเป็นภาษาไทยในภายหลัง นี่น่าจะเป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่คำว่า ‘ป็อป’ ถูกนำมาใช้กับรายการเพลงของไทยอย่างเป็นทางการ แม้เส้นแบ่งของความป็อปในตอนนั้นยังไม่ชัดเจนเท่าตอนนี้ คนทั่วไปมักเรียกเพลงฟังง่ายๆ ว่าเพลง ‘สตริง’ หรือไทยสากล จนติดปากมากกว่าคำว่าป็อปด้วยซ้ำ และคนในยุคนั้นฟังเพลงหลากหลายแนวมากกว่าในตอนนี้ จึงเป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่ของใครหลายคนจะมีเทปพุ่มพวง คาราบาว เติ้งลี่จวิน นิตยา บุญสูงเนิน และไมโคร เรียงอยู่ในช่องใต้ที่พักแขนในรถยนต์ ชาตรี วงดนตรีวงแรกๆ ที่มีโอกาสได้ขึ้นแสดงสดบนเวทีโลกดนตรีอยู่ภายใต้สังกัดอีเอ็มไอ ประเทศไทย ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศเจ้าแรกๆ ที่นำพาความเป็นสากลเข้ามาในเมืองไทย ก่อนจะตามมาด้วยค่ายเพลงในบ้านเราอย่างรถไฟดนตรี (2522) นิธิทัศน์ โปรโมชั่น (2524) คีตา เรคคอร์ดส (2529) สามค่ายเพลงที่วันนี้คนส่วนใหญ่อาจจะลืมชื่อไปแล้ว แต่ก็ควรค่าที่จะได้รับการสรรเสริญว่าเป็นโปรโมเตอร์คนสำคัญและสร้างรากฐานให้กับวงการ ‘ทีป็อป’ อย่างแข็งแรง เพลง ‘หมื่นคำลา’ ที่นนท์ได้คัฟเวอร์ไว้เมื่อหลายปีที่แล้ว เป็นผลงานของฝันดี-ฝันเด่น นักร้องดูโอ้คู่แฝดยุค ’90s อยู่ในอัลบั้มออกฤทธิ์ (2537) ภายใต้สังกัดคีตา เรคคอร์ดส เป็นอัลบั้มที่อยู่ในหมวด ‘ล้านตลับ’ เครื่องชี้วัดความมีชื่อเสียงของศิลปินในยุคที่จำหน่ายแบบเทปคาสเซ็ท

“ผมไม่รู้ว่าการร้องเพลงดีคืออะไร เพลงหยอดตู้เพลงแรกที่ผมร้องตอนอายุ 4 ขวบคือ ‘ชีวิตสัมพันธ์’ ของคาราบาว (2530)” นนท์เล่าย้อนกลับไปถึงวัยเด็กของเขาอีกครั้ง “ผมไม่ได้รู้สึกว่าร้องดีนะ รู้แค่ว่ามันมีเมจิกโมเม้นต์บางอย่างที่เพื่อนมันหยุดฟัง แล้วเราก็ เฮ่ย สิ่งนี้มันคืออะไรวะ เราเห็นเพื่อนหยุดฟัง แต่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการร้องดีคืออะไร แต่ถ้าถามเรื่องการแม่นคีย์ น่าจะเกิดจากการฟังของคนในบ้าน ผมโตมากับพ่อ แม่ พี่ชาย ที่ชอบฟังเพลงกันทั้งบ้าน เราก็ได้รับอิทธิพลจากตรงนั้นมา ผมโตมากับการได้ยิน ซึ่งมันก็คือ ear training นี่ล่ะ”

คนใหม่ | New Me

“กลัว ตื่นเต้น ดีใจ เป็นความรู้สึกหลายอย่างที่ปั่นป่วนอยู่ข้างใน” นี่น่าจะเป็นคำพูดแรกๆ ของนนท์ที่ทำให้พวกเราได้รู้จักเขาจากรายการประกวดร้องเพลงชื่อดังที่เขาคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้ การประกวดร้องเพลงทางโทรทัศน์ไม่ได้เป็นกระแสที่เพิ่งมา แต่เป็นพลวัตของอุตสาหกรรมเพลงไทยโดยมีวัฒนธรรมดนตรีป็อปอยู่เบื้องหลังอย่างขาดไม่ได้ ย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว การประกวดร้องเพลงสยามกลการ มีขึ้นครั้งแรกในปี 2524 และได้ชื่อว่าเป็นเวทีมาตรฐานที่คนชนะต้องมีความสามารถที่แท้จริง และมีผู้ชนะในปี 2527 อย่างเบิร์ด – ธงไชย แมคอินไตย์ เป็นสัญลักษณ์การันตีว่าการประกวดสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้ การประกวดของสยามกลการยังมีระดับยุวชน และคนที่คว้ารางวัลชนะเลิศในปี 2535 จนโด่งดังเป็นพลุแตกในเวลาต่อมาไม่นานคือ ทาทา ยัง ผู้ที่ได้รับฉายาว่า ‘สาวน้อยมหัศจรรย์’ เพราะอัลบั้มแรกของทาทา ‘อมิตา ทาทา ยัง’ วางแผงในปี 2538 ขณะที่เธอมีอายุแค่ 15 ปี และมียอดจำหน่ายมากถึง 1.3 ล้านตลับในระยะเวลาไม่ถึง 5 เดือน – ในตอนนั้น นนท์ไม่รู้หรอกว่าความดังของทาทามันสั่นสะเทือนประเทศขนาดไหน เพราะเขาเกิดในปี 2539 แต่ความกล้าหาญในการก้าวขึ้นเวทีประกวดระดับประเทศในวัย 16 ปีของเขา จะเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาลในฐานะหนุ่มน้อยมหัศจรรย์เช่นกัน

“พอเข้าวงดนตรีลูกทุ่งไปจริง ๆ บรรยากาศมันก็สนุกนะ แต่ไม่ใช่สไตล์ผมสักเท่าไหร่ ไม่ใช่ความสนใจแบบเรา แค่อยากร้องเพลง ตอนนั้นถามว่าทำไมร้องลูกทุ่งทั้งที่อยากตั้งวงสตริง หนึ่งเลยคือหาไม่ได้ ในขณะเดียวกัน ผมโตมากับนักกีฬา เลยรู้ดีว่า ถ้าไม่ซ้อม ความพร้อมก็ไม่เกิด ถ้าไม่ทำก่อน ก็จะไม่รู้ว่าเราทำได้ไหม ถ้าผมอยากเป็นนักร้องนำ ผมก็ต้องเริ่มร้องเพลง แล้วผมขึ้นเวทีตรงไหนได้บ้าง ต่างจังหวัดมีแค่เวทีแบบนี้ ผมเลยร้องลูกทุ่ง ทั้งที่ไม่รู้ว่าลูกทุ่งมันร้องยากขนาดไหน” จริง สิ่งที่นนท์เล่าเป็นความจริง ภูเก็ตในยุคก่อนฟองสบู่แตกเป็นเมืองท่องเที่ยวแล้ว แต่ไม่ได้เป็นดรีมเดสติเนชั่นของคนทั้งโลกที่มาพร้อมกับความเจริญเหมือนอย่างทุกวันนี้ ก็แค่หนึ่งจังหวัดในภาคใต้ ที่ได้รับความนิยมน้อยกว่าหาดใหญ่ด้วยซ้ำ “ผมชนะการประกวดครั้งแรกตอน 8 ขวบ แล้วก็ชนะเวทีนั้นเวทีเดียว หลังจากนั้นแพ้หมดแบบไม่ต้องรอประกาศผล แต่เราสนุกกับการได้ทำ ผมสนแค่ว่าอยากทำแล้วเราได้ทำ แพ้บ่อยจนไม่ได้คาดหวังกับผลลัพธ์ จนมีครั้งหนึ่งได้ที่ 2 ผมกลับบ้านล้างหน้าหมดแล้ว เขาโทรมาตามว่าอยู่ไหน ได้ที่ 2 นะเนี่ย ก็ต้องแต่งหน้าทำผมใหม่ ขี่รถไป ดีที่มันไม่ไกล (หัวเราะ) ถือว่าเราเก็บแต้มไปเรื่อยๆ ถ้าชนะก็เป็นกำไร”

ชีวิตของนนท์หมุนเปลี่ยนไปอีกครั้ง เมื่อความเจริญจากส่วนกลางไหลเข้ามาในวันที่เขาเติบโต ช่วงมัธยมต้น เขาเริ่มค้นพบที่ทางสำหรับดนตรีป็อป “มีเพื่อนเริ่มเอากีตาร์มาเล่นที่โรงเรียน นี่แหละคนที่รอ ชื่อไกด์ ก็ถามว่าอยากตั้งวงกันไหมเพื่อน เดี๋ยวเป็นนักร้องให้ เพื่อนก็บอกเอาดิ ขี้แอ็คหน่อย ตอนนั้นใครเล่นกีตาร์ขี้แอ็คทุกคน แล้วมันก็เหมือนในหนัง ผู้หญิงมาล้อมให้เล่นให้ฟัง ผมก็เล่นไปเรื่อยเพราะโตมากับดนตรีที่หลากหลาย ตอนเด็กๆ คนชอบบอกว่า วงดนตรีร็อคคือแบบนี้ นักร้องคนนี้เป็นแนวนั้น ผมไม่ชอบการนิยามแบบนี้เลย นี่คือการตีกรอบความสามารถ คุณสามารถเปลี่ยนเสียงคุณได้ถ้าคุณเข้าใจนักดนตรี หรือรู้จักเสียงของตัวเอง เพราะฉะนั้น ผมมองเสียงเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง ไม่ตีกรอบ ผมอยากร้องทุกแนว เพราะไม่รู้ว่าแนวไหนเป็นแนวไหน อย่างที่ผมร้องลูกทุ่งไม่ถนัดมาก แต่ผมก็พอทำมันได้ ก็เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไป”

ก่อนเคป็อปจะครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากมายมหาศาลในตอนนี้ วงการเพลงไทยเคยมองเจป็อปและดนตรีป็อปจากทั้งฝั่งอเมริกาและอังกฤษเป็นต้นแบบ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และอาร์เอส คือสองค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่ทำงานกับศิลปินอย่างเป็นระบบ และมีฐานคนฟังมากที่สุด ในขณะที่เพลงป็อปของแกรมมี่จะดูโตเป็นผู้ใหญ่ เล่าเรื่องที่ยากและซับซ้อนกว่า ฝั่งอาร์เอสเปิดตลาดให้กับเพลงสไตล์ป็อปแดนซ์จังหวะสนุก ก่อนสหัสวรรษที่ 2 จะมาเยือนตามปฏิทินคริสต์ศักราช ช่องในเคเบิ้ลทีวียังทำให้เราได้รู้จักกับ Channel V และ MTV รายการโทรทัศน์ที่เปิดมิวสิกวิดีโอวนไปตลอด 24 ชั่วโมง สร้างการรับรู้กระแสเพลงป็อปจากฝั่งตะวันตก (และฝั่งเอเชียบ้าง) ให้เร็วและกว้างขึ้นกว่าเดิม – ส่วนวงพราว วงพอส และโมเดิร์นด็อก ที่นนท์บอกว่าเป็นวงดนตรีภาพจำของเขาในตอนนั้น กลับจัดอยู่ในหมวดเพลงอัลเตอร์ หรืออัลเทอร์เนทีฟ ซึ่งเป็นกระแสตีกลับของความป็อปในตลาดที่คนกลุ่มหนึ่งรู้สึกว่าการฟังเพลงมันเริ่มจะง่ายเกินไปแล้ว ไม่นาน ความอัลเตอร์ก็กลายเป็นเมนสตรีม เหมือนเด็กแนวในสยามที่แต่งตัวเหมือนกันไปหมด

ยุคสมัยแห่งอินเตอร์เน็ตมาพร้อมนวัตกรรม MP3 และการไร้ท์เพลงเถื่อน ปิดฉากยุคเทปคาสเซ็ทอย่างสมบูรณ์แบบ กระแสทีป็อปถึงจุดอิ่มตัว และมีของใหม่ที่หอมหวานกว่าคือวัฒนธรรมเคป็อป ซึ่งเข้ามาอย่างเป็นขบวนการ พร้อมซีรีส์เกาหลี อาหารเกาหลี และความเป็นเกาหลีอีกหลายประการในฐานะ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ หรือสินค้าของรัฐบาลเกาหลีที่แย่งส่วนแบ่งทางการตลาดซึ่งเคยเป็นของประเทศญี่ปุ่นไปแทบจะหมดสิ้น พูดอีกทาง ผู้ฟังมีอำนาจในการเลือกเสพมากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพารายการในโทรทัศน์หรือวิทยุอีกต่อไป และอุตสาหกรรมดนตรีไทยต้องการการลงทุนมากกว่าเดิมเพื่อผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานกว่าเดิม การแข่งขันขยายขอบเขตเป็นวงกว้างกว่าเดิม เกิดผู้เล่นในตลาดหน้าใหม่ที่ช่วยกันหมุนเข็มทีป็อปแบบใสๆ กลับเข้าตลาดอีกครั้ง โดยเฉพาะคนฟังรุ่นใหม่ที่โตมากับกามิกาเซ่

“ผมชนะการประกวดครั้งแรกตอน 8 ขวบ แล้วก็ชนะเวทีนั้นเวทีเดียว หลังจากนั้นแพ้หมดแบบไม่ต้องรอประกาศผล แต่เราสนุกกับการได้ทำ”

เธอมีคนเดียวบนโลก | Ain’t No Other One

ตั้งแต่วันที่พิธีกรประกาศว่า นนท์ – ธนนท์ คือผู้ชนะของรายการ จนมาถึงวันนี้ เป็นเวลา 10 ปีพอดิบพอดีที่เขายังสามารถเอาชีวิตรอดในอุตสาหกรรมดนตรีในบ้านเราได้ “เร็วจนงงเหมือนกันครับ ส่วนหนึ่งคือผมพยายามคำนึงตลอดว่าผมอยากร้องเพลง แต่ผมจะไม่ได้บอกตัวเองว่าอยากเป็นศิลปิน ผมไม่คิดว่าจะเป็นศิลปินได้ ไม่แน่ใจว่าทรัพยากรที่เรามีมันเรียกว่าศิลปินได้ไหม รูปร่าง หน้าตา บุคลิกภาพ เราไม่ได้หวังตรงนี้ แต่การที่ได้มามันก็เป็นโอกาสที่ดี เพราะนอกเหนือจากการทำงาน มันก็ยังมีเรื่องอื่นอีก เช่น ไลฟ์สไตล์ในวงการ ปาร์ตี้ผมก็ไม่ชอบ การแฮงเอ๊าท์ของผมคือเล่นเกมออนไลน์ที่บ้าน มันก็รู้สึกว่าไม่ค่อยเป็นตัวเองเท่าไหร่ในช่วงแรกๆ แต่พอเวลาผ่านไป คนในวงการก็ถูกคัดกรองไปเรื่อยๆ จนมาเจอกลุ่มคนที่รู้สึกว่ามีทัศนคติในการทำงานที่เหมือนกัน”

คอนเสิร์ตล่าสุดที่เพิ่งผ่านพ้นไป เป็นเหมือนการสรุปเรื่องราวใน 10 ปีที่ผ่านมาของเขา ใครที่เคยเห็นนนท์เล่นคอนเสิร์ตไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน ก็ต่างยอมรับว่าเขาเป็นนักเอนเตอร์เทนที่ดี ชวนคนดูคุย ตั้งใจร้องเพลง และบางครั้งก็แปลงเพลงด้วยเนื้อใหม่ที่เรียกรอยยิ้มจากทุกคน ความสามารถของเด็กหนุ่มอายุ 27 ปีคนนี้ไม่ธรรมดา ความทะเล้นแบบบ้านๆ น่าจะมาจากตอนที่เขาได้ท่องไปในโลกของเพลงลูกทุ่ง ส่วนความมั่นใจน่าจะเป็นพลังที่สั่งสมมาตั้งแต่ชนะการประกวด และที่รู้สึกได้ว่ายังมีอยู่เสมอไม่ว่าจะเห็นเขาจากในจอหรือตัวจริงคือแพสชั่นในการร้องเพลง น้ำเสียง แววตา ท่าทาง ล้วนบ่งบอกว่าความสุขของนนท์ – ธนนท์ คือการร้องเพลงให้คนฟัง ต้องมีคนฟัง เขาถึงจะรู้สึกว่านั่นคือสุขที่แท้จริง

“ในคอนเสิร์ตนี้เราอยากจริงจังกับมันมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เราเอาความสนุกเป็นใหญ่ แต่รอบนี้เราเอาความจริงจังใหญ่ขึ้นมาด้วย แล้วเราเติมไม้ยมกเข้าไป (ชื่อคอนเสิร์ต จริงๆ จังๆ) ทำให้มันหนักแน่นขึ้น และมีการตั้งคำถามอยู่นิดหนึ่งในนั้น ซึ่งผมอยากให้มีพื้นที่ของการเอาใจช่วยว่าเราจะจริงจังกับมันได้ไหมอยู่ตรงนั้นด้วย เพราะไม่แน่ใจว่าเราจะจริงจังได้ไหม ผมไม่แน่ใจว่าจะพูดยังไงให้มันพิเศษมากมาย ถือว่าเป็นคอนเสิร์ตที่อยากทำ เราสนุกกับมัน และเป็นคอนเสิร์ตที่ทุกคนสามารถสนุกกับมันได้ด้วย คือแค่นั้นสำหรับผม ผมไม่ค่อยมีวิธีการพูดให้สนใจ แต่ผมรู้ว่าสิ่งที่ผมทำ มาด้วยเจตนาที่ดี ทำด้วยแรงปรารถนา ความมุ่งมั่นตั้งใจที่ดี ทีมงานที่พร้อม ผมว่ามันก็เป็นองค์ประกอบของคอนเสิร์ตที่ดีแล้วนะ”

รางวัลและสถิติทางดนตรีต่างๆ ที่เขาเคยได้รับคือประจักษ์พยานที่การันตีว่าเขาคือนักร้องเพลงทีป็อปแห่งยุคนี้ ไม่ว่าพรุ่งนี้เขาจะยังร้องเพลงอยู่ไหม แต่ทศวรรษที่ผ่าน นนท์ก็ได้ทำงานหนักอย่างเต็มที่ และจะมีคนหนึ่งเจเนเรชั่น จำหลายๆ เพลงที่เขาเคยร้องได้อย่างแน่นอน

- Advertisement -