Photographer: Wasu Sukatocharoenkul
Direction by: Teeratat Somudomsup
Author: Ak Suttiyangyuen



Different Shades of Blue
Tannie Lee ศิลปินลูกครึ่งไทย-เกาหลีมาดนายแบบ กับ ‘ดนตรีที่ระบายเรื่องความทุกข์’ ด้วยแนวดนตรีแบบบลูส์

Tannie Lee (แทนนี่ ลี) ศิลปินลูกครึ่งไทย-เกาหลีมาดนายแบบที่หลายคนอาจจะเคยเห็นหน้าของเขาในบทบาทอื่นๆ ก่อนหน้านี้ แต่วันนี้เขามาพร้อมกับซิงเกิ้ลใหม่ล่าสุด ‘หัวเราะทีหลัง’ พร้อมกับความ blues ที่ชัดเจนและเข้มข้นยิ่งกว่าเดิมนับตั้งแต่ ‘เทียบเท่าเธอไม่ได้’ เดบิวต์ซิงเกิ้ลในฐานะศิลปินเดี่ยวเมื่อปี 2021 จนเราต้องขอนั่งพูดคุยกับเขาแบบเรียลๆ เพื่อถามถึงที่มาที่ไป ทำไมเสียงกีตาร์ที่แตกพร่าของแนวบลูส์ถึงกลายเป็นแรงบันดาลใจที่แทรกอยู่ในแนวทางดนตรีของเขา และยิ่งแต่จะเพิ่มความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ จุดเปลี่ยนจากการเป็นวงดนตรีมาเป็นศิลปินเดี่ยว
เพราะหากเราฟังให้ลึกลงไปถึงประวัติศาสตร์ดนตรีบลูส์ จะเห็นเลยว่าแทบไม่ต่างจากผลผลิตที่ผ่านการกลั่นอารมณ์ความรู้สึกมากระจายอยู่บนตัวโน้ตทุกตัว ผสมกับการเล่าเรื่องผ่านเนื้อเรื่องที่ไม่ต่างจากไดอารี่ระบายความในใจ และการที่เขาอยากจะพาเราทุกคนไปสำรวจแต่ละช่วงอารมณ์ความรู้สึก ที่ถ้าเป็นเราปกติก็คงจะเก็บไว้หรือระบายกับเพื่อนสนิท แค่คนไม่ออกมาประกาศให้โลกรู้ในบทบาทของศิลปินและแนวดนตรีบลูส์ ที่สำหรับเขาแล้วเปรียบเสมือน ‘ดนตรีที่ระบายเรื่องความทุกข์’
อย่างเช่นถ้าเราลองไปดูที่เนื้อเพลง ‘เทียบเท่าเธอไม่ได้’ ของเขา จะมีท่อนที่เต็มไปด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ เปรียบเปรยของสองสิ่ง หรือถ้าเป็น ‘ชีวิตเคยดีกว่านี้’ ก็เป็นการเปิดเผยหมดเปลือกแบบไม่ต้องเหนียมอายว่าชีวิตเมื่อก่อนมันเคยดีกว่านี้เพราะมีเธออยู่ ที่ยกตัวอย่างสองเพลงนี้มาเพราะสำหรับเราถือว่าเป็นความกล้าของศิลปินที่จะพูดกับเรื่องนี้แบบตรงๆ ไม่อ้อมค้อม เหมือนตอกย้ำว่าเราก็เป็นเพียงแค่มนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหน เดินบนท้องถนน กินข้าวข้างทาง หรือเดินพรมแดง ขับรถหรู รัก โลภ โกรธ หลง เสียใจ เสียดาย ทุกคนมีหมดเหมือนกัน
หรืออย่างในซิงเกิ้ลล่าสุด ‘หัวเราะทีหลัง’ ก็มีการผสมทั้งดนตรีร็อคและกรันจ์ แถมเนื้อหายังไม่ได้เฉพาะแค่เรื่องเศร้า แต่ให้กำลังใจกับชีวิต ที่ยิ่งน่าจะตอกย้ำชัดเจนในมิติความเรียลของเขาและดนตรีแบบบลูส์

จุดเริ่มต้น ที่มา และแรงบันดาลใจของซาวด์ดนตรีแบบบลูส์
เป็นดนตรีที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมมาตั้งแต่เด็กๆ เหมือนเป็นเบสิคของกีตาร์ ผมเป็นคนที่จับเครื่องดนตรีกีตาร์ตั้งแต่อายุน้อยๆ บลูส์สำหรับผมเลยเหมือนเป็นรากฐานที่ต่อยอดไปดนตรีหลายๆ อย่าง พอเราชอบเราก็อินกับการได้ขุดลึกเข้าไปในประวัติศาสตร์ดนตรี จนทำให้รู้สึกว่าบลูส์เป็นดนตรีที่มีเสน่ห์มาก ด้วยการเป็นดนตรีที่ระบายเรื่องความทุกข์ จะเรียกว่าเพื่อชีวิตก็ได้ เป็นดนตรีที่ถ่ายทอดอารมณ์และจิตวิญญาณได้ดี ตั้งแต่นั้นมาก็เลยเอามาปรับเป็นแนวทางดนตรีของตัวเอง
พอได้เอาแนวเพลงบลูส์มาทำผลงานเพลงตัวเองจริงๆ แล้วตรงกับภาพในหัวที่คิดเอาไว้มากน้อยแค่ไหน
น่าจะเรียกว่าตรงกับในหัวประมาณ 70% แล้วกันครับ เพราะว่าถ้าจะเล่นบลูส์แบบลึกๆ จริงๆ ก็คงยากที่จะประยุกต์ให้ร่วมสมัยสำหรับตอนนี้นะครับ เลยต้องมีการผสมผสานไป
แนวดนตรีบลูส์เริ่มเข้ามามีบทบาทกับแนวทางการฟังเพลงตั้งแต่เมื่อไร ถ้าให้เล่าย้อนไปถึงแนวทางดนตรีที่ทำให้เราเป็นแบบทุกวันนี้
สำหรับผมก็คือเป็นเด็กทั่วไป ฟังเพลงร็อคกับแก๊งเพื่อนที่ฟังเพลงเหมือนกัน แล้วก็เพื่อนผมเป็นคนพาให้ลงลึกไปอีก สังคมในโรงเรียนที่ผมโตมาจะค่อนข้างแปลก จะไม่ค่อยสนว่าตอนนี้มีเพลงอะไรออกมาหรือคนอื่นเขาฟังอะไรกัน ตอนนี้มีเพลงยุคใหม่มาแล้วก็ไปตามกระแสเรื่อยๆ ของผมและเพื่อนจะย้อน จะแปลกกว่า คือจากร็อคยุค 2000s Linkin Park ก็ย้อนลงไปเรื่อยๆ ไปถึง Nirvana แนวดนตรีแบบกรันจ์ แล้วก็ลงลึกไปอีก จนมาจบที่บลูส์
อย่างนี้มีศิลปินคนไหนในดวงใจที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราไหม
จะมี Jimi Hendrix ที่ผมชอบมาก จนขนาดว่าตั้งชื่อลูกชายผมว่าเฮนดริกซ์ แล้วก็มีถ้าสมัยใหม่ปัจจุบันหน่อยก็จะ Gary Clark Jr.
ให้ลองย้อนไปถึงเส้นทางดนตรีมีจุดเปลี่ยนหรือจุดผลักดันตอนไหนที่ทำให้เราอยากเป็นศิลปิน
ผมเป็นนักดนตรีอาชีพมาหลายปี ตั้งแต่เรียนมหาลัยปีแรก จริงๆ ก็อยากจะเป็นศิลปินมาตลอด แต่ว่าก็อยากเป็นมือกีตาร์ อยู่ในวงดนตรีมาหลายวง ฟอร์มวง วงแตกไปหลายวง แต่จนช่วงโควิดระบาดที่เราก็ออกจากอีกวงหนึ่งมา เพราะเรามองภาพแล้วว่าไม่น่าจะไปได้ แล้วน่าจะถึงจุดอิ่มตัวของเรา ก็คิดว่าอายุเราเองก็เริ่มมาก ถ้าเราไปหาคนมาร่วมอุดมการณ์อีกคงจะเหนื่อยและเป็นไปได้ยาก ผมเลยตัดสินใจว่าทำคนเดียวเลยแล้วกัน เริ่มงานด้วยตัวเอง
แล้วเราโอเคไหมกับการที่เคยอยู่ในวงมาก่อนแล้วเปลี่ยนมาจัดการทุกอย่างคนเดียว
ทำงานง่ายครับ เพราะว่าวงดนตรีคืองานกลุ่ม มีถกเถียงกันว่าจะเอาอย่างไร แน่นอนว่างานกลุ่มจะต้องมีความต้องการไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แพสชั่นที่ไม่เท่ากันด้วย ไม้บรรทัดไม่เท่ากันด้วย แต่ว่าทำคนเดียวเราจบง่ายด้วยตัวเอง ทำแค่สองอย่าง ชอบกับไม่ชอบ ไม่ชอบก็คือเปลี่ยน ชอบก็คือโอเคไปต่อ
เท่าที่ฟังเพลงมาทั้งหมดเหมือนจะเอาชีวิตมาเขียน รู้สึกกลัวกับการที่ต้องร้องอะไรที่มันส่วนตัวมากขนาดนี้ไหม
จริงๆ มันค่อนข้างเซนซิทีฟนะครับ เพราะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างส่วนตัว อาจจะแบบทัชใจเรามากที่สุด แต่ผมว่าในเมื่อคอนเซ็ปต์เราคือดนตรีบลูส์แล้ว เราจะเล่าเป็นความทุกข์หรืออะไรก็ตามเราก็เล่าความจริง เราก็ยินยอมความจริงดีกว่า
แล้วถ้าเวลาเห็นคอมเมนท์ไม่ได้เป็นไปในทิศทางบวกจะรู้สึกอย่างไร
สำหรับผมยังไม่ได้เจอเยอะขนาดนั้น แต่เคยเจอมาตอนที่ยังเป็นวงดนตรี ถามว่าหวั่นไหวไหม ตอนแรกๆ ผมหวั่นไหวนะ แต่หลังๆ ก็รู้สึกว่าเราทำไปก็ไม่มีทางทำให้ทุกคนเห็นด้วยกับเราได้ แต่ว่าเราก็แค่มีหน้าที่ต้องทำเรื่อยๆ พยายามที่จะพิสูจน์ตัวเองไป วันหนึ่งผลงานก็คงจะตอบเองว่าสิ่งที่เราทำถูกจริตคนหรือเปล่า
มีเป้าหมายในวงการดนตรีไว้อย่างไรบ้าง
ผมว่าผมก็เหมือนศิลปินทุกคนก็อยากมีเพลงฮิต อยากมีงาน ทัวร์คอนเสิร์ต แต่ว่าเป้าหมายพวกนั้นก็เป็นเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุด แต่ว่าผมว่าผมมองเป็นสเต็ปดีกว่า อยากที่จะอยู่ในกลุ่มคนฟังที่ชัดเจน เล่นงานที่ชัดเจน อยู่ในแนวทางที่ชัดเจนของตรงนี้ให้ได้มากที่สุดแล้วก็อาจจะขยายไปในอนาคต อาจจะยังไม่ได้มีแพลนทำอัลบั้มเต็ม แต่ว่าก็มีเขียนเพลงไปเรื่อยๆ ปีหนึ่งก็จะมีสองเพลง สามเพลงบ้าง ไม่แน่อาจจะได้รวมก็ได้ครับ

Something Pop
FrenchW ศิลปินหนุ่มรุ่นใหม่ กับการเชื่อมโยงทุกคนกับดนตรีป็อปๆ และเนื้อหาที่พร้อมจี้ใจแบบเข้าใจไม่ยาก
“โทรศัพท์อาจจะเปลี่ยนเครื่องใหม่ แต่ทำยังไงฉันคงลืมเธอไม่ลง”
ท่อนจี้ใจที่ทำเอาเราต้องจ้องมองลงไปในโทรศัพท์ที่ใช้ฟังเพลงนี้อยู่ ประกอบกับเสียงร้องของศิลปินหน้าใหม่ เฟรนช์ – สหรัฐ วงศ์อนันต์ชัย ที่ยิ่งช่วยพา ‘โทรศัพท์เครื่องเก่า (Memories)’ เพลงฟังสบายสไตล์ bedroom pop จี้ลงไปในใจคนฟังตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยินแบบไม่ยาก
เพราะโทรศัพท์สำหรับเราเกือบทุกคนยังรับบทเป็นเหมือนเครื่องบันทึกความทรงจำ ทุกภาพถ่าย รอยยิ้มที่เกิดขึ้น แค่ได้ยินเสียงแจ้งเตือนข้อความจากเขาคนนั้น… ที่วันนี้ไม่มีอีกแล้ว… ที่ล้วนแต่ช่วยทำให้ผลงานของศิลปินหนุ่มหน้าใหม่ผู้นี้ที่เพิ่งกลับมาเมืองไทยได้ไม่นานกลายเป็นไวรัลในชั่วข้ามคืน ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงเนื้อเพลงพูดเปรียบเปรยระบายความในใจได้ตามสไตล์ของ FrenchW (เฟรนช์-ดั๊บ) ที่เขาให้คำนิยามว่าเป็น ‘universal love music’ เพลงรักครอบจักรวาล ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยหรืออังกฤษก็สามารถเข้าใจได้ไม่ยาก
“เฟรนช์ว่าความรักเป็นเรื่องเบสิคของคนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกคนก็มีความรักในแบบของตัวเองได้ ความรักของเราหน้าตาเป็นอย่างนี้ ซึ่งบางทีก็ไม่ตรงกับคนอื่น แต่ว่าแมสเสจที่เราจะสื่อสารในเพลงของเราคือพยายามหามุมมองความรักที่ทุกคนจับต้องได้ ที่หลายๆ คนต้องเคยผ่านเคยเจอ เรื่องที่อาจจะมีสิ่งของหรือสัญลักษณ์บางอย่างที่เล่าถึงเรื่องราวความรัก” เขาเริ่มเล่าให้ฟังหลังจากที่เราขอคำนิยามถึงแนวเพลงจากเขา
ทำให้ทั้งสองซิงเกิ้ลที่ปล่อยออกมาทั้ง ‘โทรศัพท์เครื่องเก่า’ และ ‘หน้าจอ’ ล้วนแต่เป็นการบอกเล่าผ่านมุมมองที่คุ้นเคยเข้าใจได้ไม่ยากของศิลปินชื่อแปลกหู ที่ก่อนจะไปทำความรู้จักเขาให้มากขึ้นกว่านี้ถึงที่มาที่ไปและศิลปินที่ทำให้เขาอยากจะก้าวเข้ามาในวงการดนตรี พร้อมเรื่องราวกว่าจะมาถึงวินาทีนี้ของเขา คำถามแรกที่เราอดถามไม่ได้คือที่มาของชื่อ FrenchW
“ดั๊บมาจาก W ครับ เป็นตัวแรกจากนามสกุลถ้าเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ตอนนั้นเป็นช่วงที่เราหาชื่อศิลปินอยู่พอดี แล้วเพื่อนเฟรนช์ไปเรียนต่อที่ U-Dub (University of Washington) เพื่อนเลยบอกว่า ‘เฮ่ยนี่ไง Washington ก็เหมือนชื่อนามสกุลยูเลย ก็เอาเป็นเฟรนช์-ดั๊บไปเลยสิ’ แล้วก็เป็นช่วงที่เกม Fortnite กำลังมา จะมีอักษรย่อ W คือ winner (ผู้ชนะ) แล้ว L คือ loser ก็เลยยิ่งทำให้เลือกคำนี้เพราะเหมือนว่ามีคำว่าผู้ชนะอยู่”
หนุ่มน้อยวัยยี่สิบต้นๆ คนนี้เพิ่งจะเดินทางกลับมาเมืองไทยหลังจากที่บินไปเรียนด้านดนตรีที่ลอนดอน หลังจากค้นหาตัวตนพบด้วยการไปเรียนซัมเมอร์ด้านดนตรีที่บอสตัน เมืองที่เหมือนจะมีอะไรแต่กลับราบเรียบตามคำบอกเล่าของเขาผู้โหยหาสีสันในชีวิตบนเส้นทางดนตรี ลอนดอนจึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะที่สุดและช่วยปรุงรสปลุกปั้นความกลมกล่อมให้ดนตรีของเขา
เหมือนว่าชีวิตของคุณจะเติบโตมาในเส้นทางดนตรีเลย ช่วยเล่าให้เราฟังหน่อยได้มั้ย
จริงๆ ไม่นะครับ เพราะว่าคุณพ่อผมรับราชการ แล้วคุณแม่ก็มาสายทำแมกกาซีน ทำให้เราก็เห็นทั้งสองฝั่งว่าเขาทำอะไรกันบ้าง ตอนเด็กๆ เราติดไปที่ทำงานช่วงปิดเทอมบ้าง แต่เราชอบในเสียงเพลง เราฟังเพลงมาตั้งแต่เด็ก เราฟังคาราบาว ฟังพี่บี้ ฟังหลายๆ คนมาตั้งแต่เด็ก โตขึ้นมาก็ได้ไปอยู่ในวงประสานเสียง ช่วงอายุ 13-14 ปี พอโตขึ้นเราก็เริ่มค้นพบตัวเองว่าเราชอบดนตรี แล้วทางบ้านก็ดีที่เขาก็ปล่อยให้เรามีอิสระทางความคิด ในทางที่อยากเป็นอะไรก็ปล่อยไป เราก็เห็นรุ่นพี่ที่เขาทำดนตรีแล้วเรารู้สึกว่าพวกเขาเท่จังเลย บางคนเล่นกีตาร์จีบสาว เราก็เลยคิดว่าเราจะเป็นแบบนั้นให้ได้สักวัน เราก็ได้เริ่มเขียนเพลงเอง ทำเพลงเอง แล้วก็ตกหลุมรักการทำเพลง
ยังจำเพลงแรกที่แต่งในชีวิตได้ไหม ช่วยเล่าให้เราฟังหน่อย
เพลงแรกในชีวิตที่แต่งคือชื่อว่า Vague แปลว่าคลุมเครือ ซึ่งเนื้อเพลงดนตรีก็คลุมเครือด้วยเช่นกัน สำหรับเรามันเป็นเพลงแรกที่ได้แต่งขึ้นมา เหมือนกับการเปิดก๊อกน้ำครั้งแรก ก็อาจจะมีสนิม มีตะไคร่น้ำอะไรออกมา น้ำใสๆ ยังไม่ออกมาหรอกครับครั้งแรก แล้วก็เป็นเพลงที่ทุกวันนี้เรายังไม่กล้ากลับไปฟัง เพราะมันห่วยมาก (ขำ) แต่ว่าก็เป็นเหมือนกับการเปิดก๊อกน้ำครั้งแรก ที่ผมต้องขอบคุณตัวเองที่วันนั้นเขียนขึ้นมา ทำให้เราเขียนมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ที่มีเพลงที่หลายคนรู้จักกัน
เคยเห็นบอกว่า บี้ – สุกฤษฎิ์ คือไอดอลของเรา เพลงอะไรของบี้ที่เราได้ยินครั้งแรกแล้วทำให้มองเขาว่าเป็นไอดอลของเราทันที
‘จังหวะหัวใจ’ เป็นเพลงที่ครบเครื่อง มีดีไซน์การร้องที่สวยมีท่าเต้น ที่เรามองย้อนกลับไปในยุคนั้น ถ้าพี่บี้มาอยู่ในยุคนี้ ผมว่าก็น่าจะเป็นยุคที่เพลงนี้บูมอีกรอบได้เลย แล้วก็เป็นเพลงที่คุณแม่ผมชอบด้วย คุณแม่ชอบดูรายการ The Star เราก็นั่งดูกับเขา ไปดูคอนเสิร์ตด้วย เป็นเอฟซีตั้งแต่เด็กๆ เลยครับ
ถ้าจะเรียกว่าอยากเป็นศิลปินเพราะพี่บี้เลยได้ไหม
ได้เลยครับ ก็เป็นไอดอลทางด้านศิลปินแล้วกัน แต่ว่าพอโตขึ้นมาก็เห็นความชอบของเรา เวย์ของเราจะไปในอีกแนว เพราะถ้าให้เราทำเหมือนพี่บี้ทำก็คงจะไม่ได้ แต่ว่าผมก็พยายามหาเวย์ของตัวเอง

สำหรับเราแล้วมีจุดหักเหที่ทำให้รู้สึกว่าอยากเปลี่ยนเส้นทางชีวิตบ้างไหม
มีตอนช่วงอายุ 16 ช่วงนั้นเรากำลังหัวเลี้ยวหัวต่อ แล้วเราก็กำลังจะต้องเลือกแล้วว่าจะไปทางไหน ถ้าเราจะเลือกไปสายธุรกิจ ช่วง 17-18 สองปีสุดท้ายของไฮสคูล เราก็ต้องไปเรียนทางด้านนั้น เรียนเรื่องตัวเลขธุรกิจต่างๆ ซึ่งเราก็เลยขอที่บ้านไปซัมเมอร์ที่ Berklee College of Music ที่บอสตัน เป็นครั้งแรกเลยที่ไป ต่างประเทศคนเดียว เป็นครั้งแรกที่ต้องออกจากบ้านไปไกลหลายเดือน พอเราไปเราได้เจออาจารย์ เจอเพื่อนๆ ที่เขาชอบดนตรีเหมือนกัน บางคนก็เป็นคนไทยนะครับที่ไปอยู่นู่นแล้วเขาก็ให้คำแนะนำเรา
พอกลับมาผมก็บอกที่บ้านเลยว่าเราจะไปสายนี้ สายดนตรี เราจะไปเรียนต่อดนตรี แต่ว่าเราจะไปเรียนที่ลอนดอนแทน เพราะว่ามีหลายๆ คนที่เป็นรุ่นพี่ที่ไปเรียนแล้วก็ชอบเมือง แล้วเราเป็นคนชอบฟุตบอล เราก็เลยอยากไปอังกฤษ ขอที่บ้านไป ออดิชั่นติดด้วย ก็ไปยาวเลย
ให้ตอนนี้ลองมองย้อนกลับไป การตัดสินใจกลับไทย ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่คุ้มค่าไหม
คุ้มครับ หลังจากที่เรียนจบ ตอนแรกเราแค่คิดว่าเราทำเพลงภาษาอังกฤษ เราก็อยากไปโตและอยู่ที่นู่นเลย แต่พอกลับมาเราเองก็มีเพลงไทยที่เราเขียนไว้บ้างอยู่แล้ว แม่ก็บอกว่าให้ลองสักครั้งหนึ่ง ตอนนั้นมีเพลงหนึ่งที่เราเขียนชื่อว่า Walk You Home เป็นเพลงแรกที่ปล่อยกับทาง Tero Music เราเขียนเพลงนี้ตอนอยู่อังกฤษ ตอนแรกเขียนเป็นภาษาอังกฤษด้วยนะครับ ก็เลยเอามาแปลเป็นไทย เอาไปให้ค่ายที่ไทยดู เหมือนเป็นการเทสต์ตัวเองแล้วกัน ว่าความเป็นไปได้ของเราอยู่ในระดับไหน ส่งให้ค่ายดู ค่ายชอบ ค่ายก็กลับไปดูเพลงที่เราเคยปล่อยมาตอนเป็นศิลปินอิสระ ก็คิดว่าน่าจะเวิร์ค ก็เลยเรียกเข้ามาคุยกัน เซ็นสัญญา 5 ปี ตอนนั้นเราก็ไม่ได้คิดว่าเพลงเราจะเป็นที่รู้จักหรือจะไปไหนเลยครับ เพราะว่าเราก็แค่ว่า 5 ปีก็เหมือนเรียนรู้แล้วกัน ถ้าเฟลเราก็กลับมาเริ่มต้นใหม่ เราก็ไม่ได้เสียหายอะไร เราก็ทำให้ดีที่สุดใน 5 ปีนี้ พอเพลงที่ 2 ปล่อยมา กลายเป็นเพลงดัง เราก็คิดว่าคุ้มละ (ขำ)
เราได้มาเจอหลายๆ คน ได้มีประสบการณ์ที่แบบถ้าเราอยู่ที่ลอนดอนทุกวันนี้เราคงจะไม่ได้ประสบการณ์แบบนี้ เติบโตแบบนี้ เป็นศิลปินหรือไม่ได้เป็นในแบบที่เราวาดไว้ตอนแรก ถือว่าน่าดีใจมากๆ ที่ได้โตมาถึงทุกวันนี้
จากเนื้อเพลงส่วนใหญ่จะพูดถึงความรักของคนในยุคนี้หมดเลย มีอะไรอีกไหมที่ได้แรงบันดาลใจจนอยากเอามาแต่งเพลง
ล่าสุดไปเยี่ยมคุณย่ามา เพราะคุณย่าไปนวดแผนไทยมาแล้วหมอนวดไปกดยังไงไม่รู้เส้นเอ็นอักเสบที่หัวเข่า เราก็เลยไปเยี่ยมคุณย่าที่โรงพยาบาล ตอนเราไปคุณย่าก็ร้องโอยเพราะเขาเจ็บ นอนแอดมิตอยู่ เราก็บอกว่า “สู้ๆ นะ ชูสองนิ้วหน่อย” เขาก็ร้องไห้ขึ้นมา แล้วบอกว่า “มันต้องเจ็บอีกนานแค่ไหน” เสร็จแล้วเราก็คิดว่า “เฮ่ย ที่แกโอยมาตลอดเพราะแกเจ็บ แต่ที่แกร้องไห้เพราะแกไม่รู้ว่าแกจะต้องเจ็บอีกนานเท่าไร” ก็เลยเอามาเขียนเป็นเพลงว่า ที่เราต้องทรมานไม่ใช่เพราะเราเจ็บ แต่เราไม่รู้ว่ามันอีกนานแค่ไหนจะหายเจ็บ เราก็เอามาเขียนเป็นเพลงในอัลบั้มนี้แหละ
เรามีเป้าหมายในวงการดนตรีอย่างไรบ้าง
เราอยากมีเพลงที่หลายๆ คนร้องได้ คอนเสิร์ตที่เมื่อก่อนดูพี่บี้เล่นอิมแพคฯ แน่นอนว่าศิลปินทุกคนก็อยากมีคอนเสิร์ตใหญ่ๆ มีทัวร์เป็นของตัวเอง
สุดท้ายแล้วมีเรื่องอะไรที่คนยังไม่เคยรู้เกี่ยวกับคุณบ้าง
อันนี้น่าจะเป็นอีกเรื่องที่หลายคนไม่ค่อยรู้เลยคือ เพลง Free Fall เพลงประกอบซีรีส์ KinnPorsche The Series เพลงนี้เฟรนช์เป็นคนเขียนภาษาอังกฤษ ที่ Slot Machine ร้อง อันนี้หลายๆ คนก็ไม่รู้ บางคนบอกว่าหลอนหูมาก แต่ไม่รู้ใครเขียน ก็เพิ่งมารู้ว่าเป็นผม

Going Solo
Eii Thanaphan จากสมาชิกวงดนตรีสู่การโลดแล่นในฐานะศิลปินเดี่ยว และแรงบันดาลใจจากทุกสิ่งรอบตัวที่นำมาถ่ายทอดเป็นเพลงตามสไตล์ของเขาได้
เชื่อว่าทุกคนต่างก็อยากอยู่ในความสัมพันธ์หรือความรักที่ดีๆ แต่เดี๋ยวนี้สถานะความรู้สึกของคนสองคนมักจะไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคนเสมอไป และไม่ได้มีแค่รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้นด้วย คุยกันทุกวัน ปฏิบัติทุกอย่างเหมือนแฟน แต่เรียกว่าเพื่อน แถมยังขยายย่อยออกไปอีกมากมายแล้วแต่ใครจะไปอยู่จุดไหน จุดกึ่งกลางระหว่างมากกว่าเพื่อนแต่ไม่ใช่แฟน จนทำเอาความรักที่ดีแบบที่คาดหวังไว้ตอนแรกกลับกลายไม่สมหวัง
‘Unofficial’ ซิงเกิ้ลจากเอย – ธนพรรษ์ ยาท้วม ในฐานะศิลปินเดี่ยว จึงกลายเป็นหนึ่งในตัวแทนเพลงสำหรับชาวสถานะคลุมเครือ ผ่านปลายปากกาที่เขาทั้งเขียน คอมโพส และร่วมโปรดิวซ์ตั้งแต่ต้นจนจบ จากแรงบันดาลใจที่เขาหาได้จากสิ่งรอบตัว ตามที่เขาบอกเราว่า“เพราะแรงบันดาลใจจะชอบมาตอนที่เราไม่รู้ตัว”ซึ่งมีตัวอย่างและการตอกย้ำด้วยเพลงแนวสนุกๆ กลิ่นอายผสมทั้งอาร์แอนด์บี ป็อป และฮิปฮอป ที่ได้แรงบันดาลใจม%