เดินทางสำรวจย้อนรำลึกอดีตแห่งความทรงจำอันเลือนราง หาคำตอบถึงเวทมนตร์ การดำรงอยู่ และการแผ่ขยายของ soft power ที่ไม่ได้ซอฟต์ดั่งชื่อ ของวัฒนธรรมแอนิเมะจากประเทศญี่ปุ่นไปกับ Studio Ghibli

Share This Post

- Advertisement -

Photographer: Kachapon Panuditeekun

Author: Maya Sayers

ความทรงจำหม่นเศร้าจาก Grave of the Fireflies

“วันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1945 คือคืนที่ผมตาย” ประโยคเปิดแอนิเมชั่นอันทรงพลังจากปากของเซตะ โยโกกาวะ ตัวละครหลักจากแอนิเมชั่นเรื่อง Grave of the Fireflies (1988) ผลงานการสร้างของ Studio Ghibli ที่ทำให้ผู้ชมบางคนสะเทือนขวัญถึงขั้นไม่สามารถดูภาพยนตร์เรื่องนี้จนจบได้… เราเองก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน

เราเคยได้ยินมาว่า เสน่ห์เงียบๆ ของงานจากประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย แอนิเมชั่น มังงะ หรือซีรีส์ ก็คือ ถ้าคุณได้เริ่มดู/อ่าน/เสพเรื่องใดเป็นเรื่องแรก (จากทีมผู้สร้างหรือนักเขียนนั้นๆ) คุณจะยึดติดอยู่กับเรื่องนั้นจน (อาจจะ) ไม่สามารถ move on ไปเสพเรื่องอื่นอย่างสงบใจได้เลย เราไม่แน่ใจนักว่าคำพูดนั้นสามารถเชื่อถือในแง่ข้อเท็จจริงได้สักเท่าไหร่กัน แต่สำหรับเราที่ไม่สามารถ move on ไปจากนวนิยายเรื่อง Norwegian Wood (ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย) ของฮารุกิ มุราคามิ และแอนิเมชั่นเรื่อง Grave of the Fireflies (สุสานหิ่งห้อย) ของอิซาโอะ ทากาฮาตะ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Studio Ghibli ไปได้แล้ว คำพูดนี้อาจจะเป็นจริงในสักยูนิเวิร์สของเราก็เป็นไปได้

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ หลังจากที่เราได้ทำความรู้จักกับ Studio Ghibli ผ่านตัวละครไอคอนิคของสตูดิโอทั้งเหล่าเพื่อนผองจาก My Neighbor Totoro / กลุ่มภูตเขม่า (Susuwatari) จาก Spirited Away / ผีไร้หน้า (No-Face) จาก Spirited Away / จีจี้ (Jiji) จาก Kiki’s Delivery Service แต่แอนิเมชั่นเรื่องที่ทำงานกับเราได้เป็นเรื่องที่สองกลับเป็นเรื่อง The Wind Rises (2013) ที่ว่าด้วยเรื่องวิศวกรการบินในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เหตุการณ์ใน Grave of the Fireflies เคยทำเราสะเทือนใจครั้งยังเด็กนั่นเอง

นั่นอาจจะเป็นความทรงจำหม่นเศร้าของเราที่ยึดโยงอยู่กับ ‘ภาพแรก’ ที่เราเสพผลงานจาก Studio Ghibli ที่ทำให้เราไม่สามารถ move on จากเซ็ตติ้งดั้งเดิมที่ฝังลึกในใจเราก็เป็นได้

ความทรงจำ แม้รางเลือน แต่ดำรงอยู่เสมอ

“เมื่อใดที่เธอได้เจอใครสักคนแล้ว เธอจะไม่มีวันลืมเขาไปได้” อีกหนึ่งคำพูดของเซนีบะ ฝาแฝดแม่มดยูบาบะ จากแอนิเมชั่นเรื่อง Spirited Away (2001) อาจจะตอบความเชื่อที่หาข้อพิสูจน์ไม่ได้ที่ว่า ถ้าคุณเริ่มเสพผลงานใดของนักเขียนคนหนึ่งเป็นครั้งแรก คุณอาจจะไม่สามารถ move on ไปเสพเรื่องอื่นอย่างมีความสุขได้อีกเลย เพราะเนื้อหาและความสะเทือนใจที่คุณได้รับเมื่อ ‘ได้เจอใครสักคน (เป็นครั้งแรก) แล้ว’ จะไม่มีวันลบเลือนไปจากใจของคุณ

นอกเหนือไปจากห้วงเวลาแห่งสงครามโลกครั้งที่สองที่ทั้งแอนิเมชั่นเรื่อง Grave of the Fireflies และ The Wind Rises แชร์ร่วมกันแล้ว ดูเหมือนว่าแอนิเมชั่นทั้งสองเรื่องจะไม่มีอะไรเหมือนกันโดยสิ้นเชิง แต่เมื่อทั้งสองเรื่องทำงานกับเราในคนละห้วงเวลาได้อย่างคล้ายคลึงแล้ว เราก็เชื่อว่าแอนิเมชั่นทั้งสองเรื่องน่าจะมี ‘ความคล้ายคลึง’ อะไรบางประการซ่อนอยู่อย่างแน่นอน

และความคล้ายคลึงนั้นก็คือการเล่นกับความ ‘ตกใจ’ ของผู้ชม โดยเรื่อง Grave of the Fireflies นั้นเปิดเรื่องแบบสปอยล์ตอนจบไว้เลยว่าชะตากรรมของตัวละครเอกทั้งคู่จะเป็นอย่างไร ในขณะที่ The Wind Rises เปิดเรื่องด้วยความฝันวัยเยาว์และความรักของตัวละครเอก ก่อนจะปิดท้ายว่า ความฝัน ความเชื่อ และความรักในวิศวกรรมการบินของเขานั้นนำไปสู่เหตุการณ์อะไรในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและทั้งสองเรื่องก็จบลงด้วยความสูญเสียของตัวละครเอกที่ก็เป็นมนุษย์ปุถุชนไม่ต่างจากพวกเราที่เป็นผู้ชม… มนุษย์ปุถุชนที่ต้องมารับผลจากการตัดสินใจของชนชั้นผู้นำเพียงไม่กี่คน

ภาพทรงจำของสงครามโลกครั้งที่สองที่ถูกถ่ายทอดใน Grave of the Fireflies นั้นถูกนำเสนอซ้ำอีกครั้งใน The Wind Rises อย่างแยบยล ความสูญเสีย ภาวะสิ้นหวัง และความสั่นคลอนของประชาชนที่มีต่อรัฐ ณ ห้วงเวลานั้นล้วนแล้วแต่ไม่แตกต่าง ทุกคนล้วนสูญเสีย และเมื่อมนุษย์ได้พบเจอกับความสูญเสียเหล่านั้น ไม่ว่าจะเจอด้วยตัวเอง หรือผ่านความเจ็บปวดที่ถูกถ่ายทอดผ่านเรื่องเล่าเรื่องราวต่างๆ มนุษย์ก็ไม่มีวันลืมมันได้ลง

ทำได้เพียงกลั่นมันออกมาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพื่อย้ำเตือนว่าความสูญเสียนั้นเคยเกิดขึ้นจริง และเพื่อให้ความหวังลมๆ แล้งๆ กับคนรุ่นใหม่ว่าเราไม่ควรเดินตามความสูญเสียเหล่านั้นอีกครั้ง… แม้ว่ามันจะดูริบหรี่มากแค่ไหนก็ตาม

ความทรงจำที่งดงาม แต่ไม่อาจแทนที่ได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ภาพจำ’ ของคนส่วนใหญ่ของ Studio Ghibli นั้นยึดโยงอยู่กับตัวละครสมมติที่ชื่อโตโตโระ (จากแอนิเมชั่นเรื่อง My Neighbor Totoro) ที่ปรากฏตัวบนโลโก้ของสตูดิโอจนกลายเป็นภาพชินตา และก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าโตโตโระและผองเพื่อนนั้นก็ทำหน้าที่เป็น ‘ตัวเรียกแขก’ ให้กับแฟนด้อมจิบลิหลายต่อหลายเจเนอเรชั่น และตัวมันเองก็ได้ไปปรากฏตัวเป็นคาเมโอ้ (แขกรับเชิญ) ในแอนิเมชั่นชื่อดังฝั่งอเมริกาอย่าง Toy Story 3, South Park และ The Powerpuff Girls และจากสถิติของ Statista Research Department ที่เผยแพร่ในปี 2022 นั้นปรากฏว่า My Neighbor Totoro นั้นเป็นภาพยนตร์ของ Studio Ghibli ที่มีคนเข้าชมสูงสุดของค่าย (คิดเป็น 28.8% จากผู้ชมทั้งหมด) แต่ภาพยนตร์เรื่อง Spirited Away นั้นกลับเป็นเรื่องที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยมในปี 2003 และทำให้โลกตื่นรู้ถึงการดำรงอยู่ของ Studio Ghibli ได้เป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น

ข้อเท็จจริง: ฮายาโอะ มิยาซากิ ปฏิเสธการเดินทางไปรับรางวัลออสการ์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปีนั้น เพราะ “ผมไม่ต้องการไปเหยียบประเทศที่สั่งระเบิดประเทศอิรัก” แต่เขาเดินทางไปรับรางวัลทรงเกียรติของออสการ์ (Academy Honorary Award) ด้วยตัวเองในปี 2014

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในความเป็น ‘ชาวเกาะ’ ของประเทศญี่ปุ่นนั้นก็คือ สารที่พวกเขาสื่อในเรื่องราวและเรื่องเล่าต่างๆ นั้นดูเหมือนจะมีความเป็นสากลน้อยกว่าเรื่องราวของผู้คนที่อยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น การกระโดดออกมามีชื่อเสียงนอกเกาะบ้านเกิดในโลกยุคที่อินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ และเมื่อโลกมีอินเทอร์เน็ต จังหวะก้าวย่างของเรื่องราวและการดำเนินเรื่องอันเป็นเอกลักษณ์ของพวกเขาก็ไม่สามารถเข้าไปจับใจผู้คนในวงกว้างได้อย่างรวดเร็วเกินไปนัก นับตั้งแต่ก่อตั้งสตูดิโอมาเมื่อปี ค.ศ. 1985 กรรมการออสการ์เพิ่งจะมาเห็นศักยภาพของพวกเขาหลังจากนั้นเพียง 18 ปีเท่านั้นเอง

เราเองก็ประทับใจในตัวละครต่างๆ ที่ปรากฏใน My Neighbor Totoro ไม่น้อย แต่อาจจะเป็นเพราะคำสาป ‘เรื่องแรก’ ที่ Grave of the Fireflies ได้ร่ายมนตร์ไว้กับเรา ทำให้เราไม่สามารถก้าวข้ามความรู้สึก ‘มืดหม่น’ ที่เรารู้สึกเมื่อนึกถึงสตูดิโอนี้ไปได้ และไม่ว่าเราจะเห็นความสดใสน่ารักของเหล่าผองเพื่อนโตโตโระ และเด็กน้อยอย่างซะสึกิและเมมากแค่ไหน ความรู้สึกมืดหม่นก็ยังกัดกินในใจเราไม่จางไป

ดังนั้น เมื่อมีทฤษฎีแฟนกล่าวอ้างว่าแท้จริงแล้วโตโตโระนั้นคือเทพเจ้าแห่งความตาย และเม (ตัวละครหลัก) นั้นอาจจะจมน้ำตาย หรือบางทฤษฎีก็บอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากคดี Sayama incident ที่เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับความตายของสองพี่น้องที่หุบเขาซายามะ เราก็หลงเชื่อไปได้ไม่ยาก แม้กระทั่งตัวสตูดิโอเองออกจดหมายปฏิเสธอย่างแข็งขันเป็นลายลักษณ์อักษรว่า “ทุกคน ไม่ต้องเป็นกังวลไป รับประกันว่าทฤษฎีต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่อง My Neighbor Totoro ที่บอกว่าโตโตโระคือเทพเจ้าแห่งความตาย และเมเสียชีวิตนั้น เป็นไม่ความจริง” เราก็ยังตั้งข้อสงสัยบางประการในใจอยู่

นั่นเป็นสิ่งที่ไม่น่ารัก แต่เราก็อดคิดแบบนั้นในบางจังหวะไม่ได้จริงๆ

โลกสดใสเริงร่ากับ The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok 2023

แต่ไม่ว่าภาพจำหรือความทรงจำดำดิ่งของเราจะยึดโยงอยู่กับ Grave of the Fireflies แค่ไหน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok 2023 นั้นกระชากเราออกจากห้วงทรงจำดำดิ่งมาสู่โลกเสมือนจริงที่เห็นได้จริงแบบพลิกกลับหลัง

ฉากจากภาพยนตร์แอนิเมชั่นทั้ง 10 เรื่อง (Nausicaä of the Valley of the Wind / My Neighbor Totoro / Spirited Away / Pom Poko / Porco Rosso / Princess Mononoke / Castle in the Sky / Kiki’s Delivery Service / Howl’s Moving Castle / Ponyo on the Cliff by the Sea) ที่ถูกนำมาร้อยเรียงติดตั้งให้ผู้ชมนิทรรศการได้ดื่มด่ำกับฉากต่างๆ ราวกับตัวเองได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าเรื่องราวในจินตนาการเหล่านั้นทำให้โลกจิบลิอันหมองหม่นของเรามีสีสันมากขึ้น และทำให้เราตระหนักรู้ได้จริงๆ ว่า แท้จริงแล้ว โสตสัมผัสแห่งการรับรู้โลกแห่งจินตนาการของเรานั้นตรงกันข้ามกับสิ่งที่สตูดิโอต้องการนำเสนอในนิทรรศการนี้มากแค่ไหน

ข้อเท็จจริง: ฉากปราสาทกลับหัว (Laputa) จากเรื่อง Castle in the Sky จัดแสดงเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ (ภายในบริเวณนิทรรศการ) และฉากโปเนียวกับเหล่าฝูงปลาจากเรื่อง Ponyo on the Cliff by the Sea จัดแสดงหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

เชื่อได้เลยว่าสาวกของ Studio Ghibli นั้นจะฟินกับงานนิทรรศการครั้งนี้อย่างแน่นอน ส่วนเราเองนั้น การก้าวออกจากโลกที่ Grave of the Fireflies สร้างไว้ในหัวเรามาสู่โลกทัศน์อันสดใสของสตูดิโอที่ถูกถ่ายทอดอย่างหมดจดงดงามในนิทรรศการนี้อาจจะทำให้ตาเราพร่าเลือนเล็กน้อย แต่การได้รับรู้ถึงความสดใสที่ดำรงอยู่จริงในโลกแห่งจินตนาการที่เราเชื่อว่ามืดหม่นมาตลอดชีวิต ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่เราไม่มีวันจะลืมลงได้อีกอย่างแน่นอน

นิทรรศการ The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok 2023 จัดแสดงเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่เซ็นทรัลเวิลด์ไลฟ์ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

- Advertisement -