เปิดอ่านจดหมายรักจากนนทรีย์ นิมิบุตร ถึงมิตร ชัยบัญชาผ่าน ‘มนต์รักนักพากย์’ 

Share This Post

- Advertisement -

Author: Maya Sayers

Photography: Courtesy of Netflix 

‘ดีกว่าที่คาดไว้เยอะมาก’ คือวลีแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวหลังจากที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง ‘มนต์รักนักพากย์ – Once Upon a Star’ ในโรงภาพยนตร์จบลง แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีการการันตีกลายๆ จากชื่อของอุ๋ย – นนทรีย์ นิมิบุตรในฐานะผู้กำกับอยู่แล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าเราไม่ค่อยจะ ‘คาดหวัง’ กับความเป็นหนังไทยไว้สักเท่าไหร่

ส่วนหนึ่งที่เราเลิกคาดหวังกับ ‘หนังไทย’ ก็เพราะคำว่า ‘พลังนุ่มนิ่ม soft power’ ที่ผู้ใหญ่ในประเทศชอบพูดบ่นพร่ำแต่ทำจริงไม่ได้นั่นแหละ เรารู้สึก(เอาเอง)ว่าการยัดเยียด ‘ความเป็นไทย’ ในภาพยนตร์ไทยแต่ละเรื่องที่ถูกจัดว่า ‘ดี’ นั้นมันชวนให้ขย้อนราวกับโดนยัดอาหารที่ไม่อยากกินในวันที่อิ่มจนจุกแล้วก็ว่าได้ และพอได้เห็นหน้าหนังที่ดูเหมือนจะยัดเยียดความเป็นไทยโบร่ำโบราณมาขนาดนี้ ความคาดหวังของเราจึงไม่มีอะไรมากไปกว่าหนังภาพสวยโชว์ความ mise-en-scène ซึ่งถ้าภาพยนตร์เรื่องนี้ทำได้ตามที่เราหวังไว้ ก็ถือว่าผ่านตามเรทปกติ 

แต่พอเราได้ใช้เวลากว่าสองชั่วโมงยี่สิบนาทีในโรงภาพยนตร์ เราก็รู้เลยว่า สิ่งที่อุ๋ยบอกกับทัพนักข่าวระหว่างงานแถลงข่าวภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าเขารักและหลงใหลบรรยากาศของภาพยนตร์และมิตร ชัยบัญชาในยุคนั้นมากนั้นไม่ใช่เรื่องโกหก หรือพูดเอาหล่อเกินจริงแต่อย่างใด เพราะความรักและแพสชั่นที่เขามีต่อภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นมันถูกถ่ายทอดออกมาในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่มันพอจะเป็นไปได้แล้ว

ส่วนหนึ่งที่เรามักจะจิ๊จ๊ะกับภาพยนตร์ย้อนยุคคือความพยายามที่จะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นสมจริงจนกระทั่งเราเห็นข้อบกพร่องต่างๆ ในเรื่องจนกระทั่งหงุดหงิดและไม่สามารถอินกับเรื่องเล่าตรงหน้าได้เลย แต่สิ่งที่น่าประทับใจในภาพยนตร์เรื่องนี้คือความสมจริงที่ดูเป็นธรรมชาติและลื่นไหลจนเราเชื่อได้ไม่ยากว่ามานิตย์ เก่า ลุงหมาน และเรืองแขคือคนที่เกิด เติบโต และใช้ชีวิตในยุคนั้นจริงๆ และที่สำคัญ… เราเชื่อจริงๆ ว่า [สปอยล์] ฉากที่พวกเขาได้พบกับมิตร ชัยบัญชา และบทสนทนาที่ทำเอาหลายคนน้ำตารื้นนั้นคือบทสนทนาที่เกิดขึ้นจริง เพราะมันดูจริงมากในจักรวาลเรื่องแต่งนี้ จนทำให้เรามองภาพเรื่องแต่งนั้นซ้อนทับกับความจริงได้ไม่ยาก 

นอกเหนือจากความสมจริงอันเป็นธรรมชาติของฉากและนักแสดงแล้ว อารมณ์และความรู้สึกในเรื่องก็ลื่นไหลไม่แพ้กัน ส่วนหนึ่งของความลื่นไหลก็คือ ‘ความเนิบช้า’ ที่ปรากฏในการดำเนินเรื่อง (ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือความอืดยืดย้วยแบบไม่ตัดฉัวะฉะตามจังหวะชีวิตของคนยุคดิจิตอล) ซึ่งหนูนา – หนึ่งธิดา โสภณ ผู้รับบท ‘เรืองแข’ ก็ได้อธิบายในงานแถลงข่าวเช่นกันว่าเธอถูกสั่งให้ ‘พูดช้าๆ’ ตามจังหวะที่โลกในยุคนั้นหมุนไป ไม่ใช่จังหวะโลกในยุคนี้ที่เธอคุ้นชิ้น ดังนั้น เป็นไปได้ว่าเวทย์มนตร์ที่เกิดขึ้นระหว่างสองชั่วโมงยี่สิบนาทีในโรงภาพยนตร์ที่เราสัมผัสมานั้น ก็เกิดจากการได้ย้อนกลับไปเดินในจังหวะเดียวกับที่คนยุคนั้นเดินนั่นเอง 

บทความชิ้นนี้อาจจะไม่ได้ลงลึกเรื่องการวิเคราะห์อะไรใดๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เราบอกได้เต็มปากและเต็มคำก็คือ เราเชื่อแล้วว่าพลังนุ่มนิ่มของความเป็นไทยสามารถสื่อสารได้โดยไม่ต้องยัดเยียด (และไม่ต้องยึดโยงกับภาพลักษณ์ ‘ซีรีส์วายไทย’ ที่เราก็ไม่ค่อยจะเข้าใจเท่าไหร่) และเราเชื่อว่า ผู้คนกว่า 120 ประเทศทั่วโลกที่มีโฮกาสเข้าถึงคอนเทนต์นี้ของประเทศไทยคงจะได้รับพลังนุ่มนิ่มอะไรบางประการแบบไม่ต้องยัดทะนานได้ไม่มากก็น้อย

‘มนต์รักนักพากย์ Once Upon A Star’ สตรีมที่ Netflix ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2023 เป็นต้นไป

- Advertisement -