อนิจจังฟูจิซัง : สำรวจจุดต่ำสุดของสมการพาราโบลา เมื่อเจแปนนีสจะไม่อีสเกรทอะเกนอีกต่อไป
Photographer: Toh Virunan
Author: N. R. Gautam
“คนญี่ปุ่นเป็นชนชาติประหลาด” ผมคิดอย่างงี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้เห็นแฟนเก่าของน้าเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เขาดูตัวใหญ่ ดูดบุหรี่จัดมาก จะพูดอะไรก็ต้องซี้ดปากหรือทำเสียงจึ๊ๆ สักหน่อย ผ่านมาเนิ่นนาน โรงงานหลังนี้ก็ยังผลิตประชากรออกมาเหมือนเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในฉากหน้าที่ทุกคนดูมุ่งมั่น จริงจัง เก็บขยะโชว์ทุกครั้งในงานมหกรรมกีฬาระดับโลก (หึ) ประเทศเดียวกันนี่แหละที่มีโกมิยาชิกิ (gomi yashiki) หรือบ้านขยะ อยู่ไม่น้อยเลย (ลองไปหารูปดูจากคีย์เวิร์ดนี้ในกูเกิ้ลได้) บ้านคนญี่ปุ่นทั่วไปก็มีของวางรกอย่างคนปกติเขาเป็นกัน ขนาดมาริเอะ คอนโด ยังต้องออกมาสารภาพว่ายอมแพ้แล้ว เลิกจัดงานแล้ว มาจัดระเบียบใจแบบไลฟ์โค้ชกันดีกว่า – ภายใต้หิมะที่ปกคลุมคุณปู่ฟูจิยามะ ลาวาข้างล่างกำลังซ้อมเต้นระบำรอวันเปิดฟลอร์ ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นอะไรกันอะ ญี่ปุ่นไม่เก๋อีกต่อไปแล้ว เปลือกเสาโทริอิสีแดงสดใสกำลังซีดเซียวจนเม็ดสีเหือดหาย ญี่ปุ่นไร้สีจะเผยความจริงบางประการที่น่ากระอักกระอ่วนใจให้เราไม่มากก็น้อย แต่ถ้าเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ญี่ปุ่นนี่น่าเที่ยว แต่ไม่น่าอยู่” ก็คงจะจินตนาการถึงความประสาทแดกที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่กีฟจะชิทกับเกาะนิปปอนแห่งนี้อีกต่อไปเพื่อนคนญี่ปุ่นของผมมักจะแปลกใจที่เห็นผมชอบฟังเพลงแนวเอ็งกะ (enka) อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ คือเป็นเพลงลูกทุ่งญี่ปุ่นที่ต้องร้องแบบเอื้อนลูกคอแปดชั้น ฮิบาริ มิโซระ (Hibari Misora) เป็นอีกคนที่ผมชอบมาก เกิดไม่ทันเธอหรอกแต่ความเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์มันส่งผ่านเสียงของเธอมาเต็มๆ เลย ในตอนที่ญี่ปุ่นโดนนิวเคลียร์บอมบ์ไปจุกๆ 2 ลูก เพลงของเธอคือสิ่งบันเทิงแสนสดใสท่ามกลางผู้คนที่รู้สึกสิ้นหวัง ญี่ปุ่นผู้พ่ายแพ้กลับมาสู้อีกครั้ง สร้างรถไฟความเร็วสูง เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก สร้างแบรนด์รถยนต์ของตัวเอง ส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าคุณภาพ ทั้งมังงะและเจป็อปกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์แบบเมนสตรีม ขนาดอุตสาหกรรมความโป๊ก็ยังเฟื่องฟูในยุค ’70s เป็นต้นมา เศรษฐกิจญี่ปุ่นใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก อะไรๆ มันก็ดูดีไปหมดสินะตอนนั้น



ย่านอุเอโนะ เมืองโตเกียวยามค่ำคืนที่แม้จะมีแสงสี แต่ก็มืดหม่นแตกต่างจากตอนกลางวันอันครึกครื้นอย่างสิ้นเชิง

บ่อน้ำนิโกริ (Nigori Pond) ที่หมู่บ้านโอชิโนะ ฮักไก (Oshino Hakkai Village) ไฮไลท์ประจำหมู่บ้านที่นักท่องเที่ยวและชาวบ้านจะมาดูปลา และขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ กันอย่างเนืองแน่น ย่านอุเอโนะ เมืองโตเกียวยามค่ำคืนที่แม้จะมีแสงสี แต่ก็มืดหม่นแตกต่างจากตอนกลางวันอันครึกครื้นอย่างสิ้นเชิง

ฮิโรโกะ และโยโกะ เป็นเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่รับบทบาทเป็นแม่บ้านเต็มตัว สิ่งที่ทำให้ผมยังคบทั้งสองคนนี้เป็นเพื่อนคือพวกเธอเป็นชาวเกาะตาขีดที่ไม่ปลอม ไม่พยายามพูด “เฮ้~ โฮ้~ โซเดสเน้~~” กันทั้งวัน ฮิโรโกะหัวเราะเสียงดัง ส่วนโยโกะก็เป็นแม่บ้านญี่ปุ่นบ้าๆ บอๆ ยิ้มกว้างทุกวันเวลามีคนชมว่าสวย พวกเธอน่ะ ทำแบบนี้ไม่ได้หรอกในบ้านเกิดของตัวเอง ประเทศที่ทุกอย่างมีคำอธิบายประกอบการใช้งานกับทุกเรื่อง บูชาแบบแผน มองทุกอย่างเป็นขาวกับดำ แค่ใช้ตะเกียบคีบอาหารส่งต่อกันทำมาเป็นตกใจยิ่งกว่าเจอแมลงสาบในอาหาร ความเครียดและความกดดันเพิ่มมากขึ้นตามเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองและถดถอย คนแก่ไปเลยหลงตัวเองว่าเป็นรุ่นที่พาญี่ปุ่นออกจากความยากลำบากยุคหลังสงคราม คนเริ่มแก่เชื่อในการทำงานจนตัวตาย ไม่เลือกงานไม่ยากจน หนุ่มสาววัยทำงานก็ต้องรับหน้าที่เป็นฐานพีระมิดในองค์กร วิ่งรับใช้คนอื่นไปทั่ว ไม่อยากมีแฟน เพราะแค่นี้ก็ปวดหัวจะแย่อยู่แล้ว เด็กเกิดใหม่น้อยลง ที่เกิดมาบางคนก็โดนบูลลี่ในโรงเรียน ยังไม่รวมเรื่องสังคมชายเป็นใหญ่ กีดกันกลุ่มแอลจีบีทีคิวไอเอบวก อ้อ ยังมีเรื่องดูถูกพวกลูกครึ่งและผู้อพยพในประเทศ จนหลายครั้งอยากอุทานออกมาว่า “อิหยังเดสก้ะ~!” อะไรของมันวะเนี่ยพลเมืองประเทศนี้ ความโมเอะชูก้าชูก้ารูนไม่มีอยู่จริงสักนิด พนักงานในเมดคาเฟ่ที่ให้บริการด้วยเสียงแปด ตอนพักก็ไปนั่งซึมๆ ดูดบุหรี่อยู่หลังร้าน หมดแล้วยุคทองของแดนอาทิตย์อุทัย จะหวังให้มีนิฮงเรอเรสซองส์ก็น่าจะยาก เพราะสิ่งที่พวกเด็กตาขีดสมัยนี้นิยมทำคือเลียขวดโชยุในร้านซูชิจานหมุน ไม่ก็เอานิ้วจิ้มน้ำลายไปแตะซูชิแล้วรอให้มีคนอื่นหยิบไปกิน ทศวรรษแห่งการสาบสูญนี่กินเวลานานมาก
หน้าหนาวแบบวินเทอร์อีสคัมมิ่งอยู่กับประเทศนี่มานานเกินไปแล้ว ภาพที่อาเบะโดนยิงตายเหมือนเป็นซีนจบซีรีส์อีพีล่าสุด เป็นจุดสิ้นสุดของความรุ่งเรืองอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนอีพีหน้าจะเริ่มเป็นญี่ปุ่นยุคมืดละ เปิดฉากด้วยแสงไฟนีออนแบบไซเบอร์พังค์ เป็นดิสโทเปียที่หนีไม่พ้นเวลาอยู่ข้างเรา คนรุ่นใหม่คิดแบบนั้น ผมก็เชื่อแบบนั้น แต่ถ้าเราดูญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง อาจจะไม่ได้เป็นอย่างหวังเอาไว้ ในเมืองใหญ่อย่างโตเกียวกลับมีบ้านที่ไร้ผู้อาศัยอยู่เต็มไปหมด คนแก่ตาย คนรุ่นใหม่ไม่มีเงินซื้อหรือเช่าบ้าน ค่าแรงของญี่ปุ่นเติบโตไม่เกิน 5% ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าต่ำสุดๆ ไปเลย ได้เงินเท่าเดิม แต่ของแพงขึ้น คนรุ่นใหม่เป็นสิบล้านเลยปล่อยจอยกับชีวิตตัวเองแล้ว พอกันทีเป็นทาสในออฟฟิศห้องแอร์ ออกมาทำพาร์ทไทม์ให้พอมีเงินหล่อเลี้ยง แล้วเกาะพ่อกับแม่กินไปวันๆ ก็โอเคแล้วแหละ พวกเขาคิดอย่างนั้น เพราะงานหนักทำให้คนเป็นบ้า แถมยังต้องอยู่ภายใต้เจ้านายแก่ๆ ที่เหมือนกดปุ่มหยุดความคิดของตัวเองไว้ตั้งแต่ปี1991 ส่วนเมืองไทยที่ดูเหมือนจะหายใจโล่งกว่าญี่ปุ่นหน่อย (หมายถึงชิวกว่า ไม่ใช่อากาศดีกว่า) จะมีคนที่อยู่ในตลาดแรงงานแค่ 40% ในปี 2030 หรือคิดเป็นร้อยละ 40 หรือเรียกว่าถ้าในบ้านมีสมาชิกอาศัยอยู่ 10 คน จะมีแค่ 4 คนที่ออกไปทำงานหาเงินเข้าบ้านและรับผิดชอบทุกชีวิต เป็นความแซดที่หนีไม่พ้นเหมือนกัน เพราะคนไม่มีลูก ไม่ใช่คนไม่เอากัน แต่พวกเขา (และเราๆ กันนี่แหละ) รู้สึกว่าบ้านเมืองยังไม่ดี มีลูกก็เป็นภาระเปล่าๆ ทั้งภาระทางกายและภาระทางอารมณ์ มีบางอย่างซ่อนอยู่ใต้พื้นดินบ้านเราเหมือนกัน รอวันปะทุ ขนาดการเมืองญี่ปุ่นไม่มีทหารมาแทรกแซงยังเป็นขนาดนี้ ส่วนบ้านเราน่ะหรอ วะฮ่าฮ่า

ผลงานสุดท้ายของฮิบาริ มิโซระ คือเพลง Kawa no Nagare no Yō ni แปลเป็นไทยว่า ดั่งสายธารที่รินไหล (ฟีลเพลง ‘สายน้ำไม่ไหลกลับ’ ของมาช่า) มิโซระชอบเพลงนี้มาก เธอบอกว่าชีวิตของเรานี่เหมือนสายน้ำเลยนะ ตรงบ้าง คดเคี้ยวบ้าง ไหลลงช้าบ้าง เร็วบ้าง แต่สุดท้ายก็ไหลลงทะเลเดียวกัน ฮิบาริเปิดคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายในเดือนกุมภาพันธ์ 1989 เธอได้ร้องเพลงนี้บนเวทีอย่างที่ตั้งใจไว้ เดือนมิถุนายน 1989 ฮิบาริเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวในวัย 52 ปี โทรทัศน์ทุกช่องในตอนนั้นยกเลิกทุกรายการที่กำลังออกอากาศอยู่เพื่อนำเสนอข่าวการเสียชีวิตของเธอ หลังจากนั้นทุกปี สถานีวิทยุและโทรทัศน์จะเล่นเพลง Kawa no Nagare no Yō ni ในวันเกิดของเธอ เคยมีการสำรวจความคิดเห็นโดย NHK คนญี่ปุ่นจำนวน 10 ล้านคนโหวตให้เพลงนี้เป็นเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล
ผมว่าญี่ปุ่นไม่มีทางกลับมาเป็นนัมเบอร์วันของใครได้อีกต่อไปแล้ว แค่ใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มีอยู่ในตอนนี้ก็น่าจะเก็บกินไปได้อีกนาน ทริปญี่ปุ่น 3 วันแรกสนุกเสมอ พอเริ่มเข้าวันที่ 4-5 จะรู้สึกว่า โห ประเทศนี้มันเหงาจังเลยน้า ปัญหาอยู่ที่อะไร ใครเป็นตัวต้นเรื่องที่ทำให้สังคมญี่ปุ่นมาถึงจุดนี้ เสียงคลื่นในทะเล เสียงน้ำในทะเลสาบ เสียงใบไม้เสียดสีกัน แล้วเสียงทุกอย่างก็หายไป ผมรู้สึกว่าบางครั้งญี่ปุ่นเงียบจนได้ยินเสียงคลื่นความถี่ที่ชวนให้ปวดหู มันกระอักกระอ่วนคล้ายกับที่ฌอง-ปอล ซาร์ต เคยเขียนไว้ใน La Nausée ชีวิตที่ไม่ยึดติดและผูกมัดกับใครเลยมันเป็นอย่างนี้นี่เอง ความเหงามันน่ากลัวอย่างนี้นี่เอง