ฟังสองเสียงจากสองตัวตนของปันปัน นาคประเสริฐ และแพนไจน่า ฮีลส์ และคุณจะรู้ว่าโลกนอกกรอบความคิดของคุณนั้นกว้างใหญ่เพียงใด
Photographer: Ponpisut Pejaroen
Stylist: Teeratat Somudomsup
Author: Pacharee Klinchoo
ในฐานะ La Drope’s Friend ปันปันดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง
“ในส่วนของการดูแลผิว ปันเป็นคนที่ล้างหน้าค่อนข้างหมดจด ปันจะใช้ cleansing oil ที่เปลี่ยนเป็นน้ำนมเวลาโดนน้ำเปล่า เพราะใช้แล้วไม่เป็นสิว ทำให้ล้างหน้าได้หมดจดจริงๆ โดยปกติปันจะล้างหน้าประมาณสามรอบ ล้างให้เครื่องสำอางมันออกไปจริงๆ เพราะปันแต่งหน้าค่อนข้างบ่อย และสิ่งที่ปันรู้สึกว่าสำคัญมากจริงๆ คือ ออกไปจากบ้านต้องทา sunblock ด้วยนะคะ สำคัญสุดๆ เลย เพราะแสงแดดทำให้หน้าเราแก่เร็ว
“ส่วนเรื่องการกิน จริงๆ ปันจะพยายามไม่กินตอนดึกๆ เพราะรู้สึกว่าจะนอนไม่หลับ ไม่สบายตัว และปันพยายามกินคลีน แต่ถ้าวันไหนตบะแตกไปแล้ว สองสามวันหลังจากนั้นก็จะกลับมาเคร่งครัดกินคลีนใหม่ พยายามกินให้ดีขึ้น ปันไม่ดื่มน้ำอัดลม เพราะไม่รู้สึกว่าอินขนาดนั้น ส่วนเวลากินกาแฟ ปันก็จะกินอเมริกาโน่ไม่หวานเลยอยู่แล้วค่ะ
“ปันออกกำลังกายสม่ำเสมอในวันที่ปันว่าง ก็อาทิตย์ละ 3-4 ครั้งค่ะ ส่วนเรื่องนอนหลับพักผ่อน วันธรรมดาปันจะมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ เพราะสมองไม่ค่อยปิด เพราะฉะนั้น ปันก็จะปิดมือถือหนึ่งชั่วโมงก่อนนอน… ฟังดูตอแหลเนอะ แต่ปันปิดจริงๆ ค่ะ ก่อนนอนจะได้นอนไปเลย”
เวลามีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ปันปันแยกตัวตนระหว่าง ‘ปันปัน’ กับ ‘แพนไจน่า’ อย่างชัดเจนเลยไหม
“ชัดเจนค่ะ เวลาปัน interact กับคนในฐานะแพนไจน่า ก็เหมือนปันใส่หัวโขนมาน่ะค่ะ ปันเล่นเป็นคาแรกเตอร์นั้น พอลบหน้าออก ปันก็กลับมาเป็นปันปันเหมือนเดิม แต่เวลาเล่นเป็นมารายห์ คนรอบตัวอาจจะรำคาญหน่อยนะคะ เพราะมารายห์เดินเองไม่ได้ ต้องมีคนช่วยพยุง อะไรแบบนี้ มันก็ขึ้นอยู่กับคาแรกเตอร์ในแต่ละวันนะคะ ว่าปันจะเล่นอะไร แต่ปันก็รู้สึกค่ะว่า เวลาปันเป็นปันปัน มันแตกต่างจากเวลาปันเป็นแพนไจน่าค่อนข้างเยอะเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสียง กิริยา คำพูดคำจา ภาษา แล้วแต่เลยค่ะว่าคาแรกเตอร์จะเป็นยังไง แต่สมองปันยังเหมือนเดิมนะคะ ปันไม่ได้เปลี่ยนความคิดความอ่านอะไรมากมายขนาดนั้น”


‘ปันปัน’ กับ ‘แพนไจน่า’ เหมือนและแตกต่างกันมากน้อยขนาดไหน
“เวลาองค์มันลง เวลาแต่งหญิง ปันรู้สึกว่ามันทำให้ปันดูมั่นใจมากขึ้น ซึ่งปกติปันก็เป็นคนธรรมดาที่มีความมั่นใจอยู่แล้วนะ เพราะฉะนั้น เวลาแต่งเป็นแพนไจน่า ปันก็จะยิ่งมั่นใจขึ้น และเฟียร์ซขึ้นกว่าเดิมอีกค่ะ”
ปันปันคิดว่าสังคมไทยโอบรับความเป็น LGBTQ+ ได้มากน้อยขนาดไหน และสังคมไทยมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหนในช่วงที่ปันปันเติบโตมา
“ปันว่าสังคมค่อยๆ เปิดรับได้มากขึ้นนะ งานไพรด์ก็ใหญ่ขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่ได้เห็น มีการคุยกันในเรื่องต่างๆ หลายเรื่องที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมรสเท่าเทียม ความหลากหลาย ทางเพศ non-binary หรือการไม่เอาคนมาใส่ไว้ในกรอบ เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่ดีขึ้นมาก แต่ในส่วนของกฎหมาย มันยังไปไม่ถึงในจุดที่ปันคิดว่าสังคมเราควรจะไปให้ถึง เวลามีคนมาบอกว่า ‘ให้รอไปก่อน’ นั่นเพราะเขาไม่ได้เห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ จะต้องดำเนินการในตอนนี้ เพราะฉะนั้น การที่คนอื่นมาบอกว่า ‘ก็รอไปก่อนสิ ได้แค่นี้ก็ดีแล้ว’ ปันอยากตอบว่า ‘ไม่ค่ะ’ เพราะหลายๆ ที่บนโลกนี้เขาได้รับสิทธินี้แล้ว ทำไมสังคมเรายังไปไม่ถึงจุดนั้นอีก ปันเองก็เป็นลูกครึ่งไต้หวัน และไต้หวันเองก็ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมมาตั้งแต่ปี 2021 แล้ว ดังนั้น ปันเลยอยากให้สังคมเราเปิดกว้างจริงๆ อย่าใช้คำว่า ‘รอไปก่อน’ ในสิทธิที่ทุกคนควรจะได้เท่าเทียมกันค่ะ”
อยากให้เล่าเรื่องประสบการณ์ที่ปันปันไปประกวด RuPaul’s Drag Race UK vs The World ให้ฟังหน่อย
“ประสบการณ์ในส่วนของความยากลำบากคือ ปันรู้สึกว่าปันเป็นตัวแทนจากประเทศไทยเพียงหนึ่งเดียว ปันเลยอุดรูรั่วทั้งหมดที่ปันมีโดยการไปลงเรียนคลาสทุกอย่างที่พอจะทำได้ ประมาณ 11 คลาส ไม่ว่าจะเป็นเย็บผ้า แต่งหน้า ทำผม สไตลิ่ง นั่งสมาธิ แอ็คติ้ง เดินแบบ และอื่นๆ คือปันเรียนเยอะมาก เพราะปันรู้สึกว่าปันแบกรับความคาดหวังจากการเป็นตัวแทนของประเทศไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้เข้าร่วมรายการนี้ ปันรู้สึกว่ามันหนักมากจริงๆ นี่คือความเครียดนะ
“แต่ในส่วนของความประทับใจคือปันไปอาทิตย์แรกแล้วชนะเลย ส่วนอาทิตย์ที่สองก็ได้ดี และมาชนะอีกในอาทิตย์ที่สาม ปันเลยรู้สึกว่าปันชนะไปครึ่งการแข่งขันแล้วนะ และมีคนเหมือนจะทั่วเอเชียมาเชียร์ปันเยอะมาก ปันเลยรู้สึกว่า ถึงปันจะไม่ได้มงกุฎในรอบนี้ แต่ปันก็ได้ทำให้ทุกคนเห็นแล้วว่าคนไทยไม่แพ้ใคร ปันทำให้ตัวเองภูมิใจในสิ่งที่ปันได้ทำออกไป ปันไม่เสียใจอะไรเลยนะ เพราะสถานการณ์มันเป็นเกม เราเข้าใจในจุดนี้ และปันรู้สึกว่าปันเติบโตในฐานะ drag queen และศิลปินขึ้นอย่างมาก หลังจากรายการออนแอร์ ปันก็ได้เดินทางไปหลายที่ ไปทำโชว์ ทำสิ่งที่ปันรัก ปันรู้สึกแล้วว่าชีวิตนี้คุ้มค่าจัง และตอนนี้ปันกำลังจะไปเป็น artist residency ที่อเมริกาของ Drag Race Live ซึ่งปันว่ามันเป็นความฝันของนักแสดงหลายๆ คนนะที่อยากจะมี residency ที่ต่างประเทศน่ะ”


หลังจากมีประสบการณ์ตรงนั้นแล้ว ปันปันวางแผนชีวิตต่อไปอย่างไร
“ปันก็จะทำสิ่งที่ปันรักต่อไป คือเดินทางไป entertain ผู้คน และสร้างผลงานของตัวเองให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งการถ่ายแบบและการทำโชว์ ปันจะไม่อยู่ที่เดิม ปีหน้าปันก็จะมีโปรเจ็กต์ที่น่าตื่นเต้นมากๆ รออยู่ ทั้งรายการTongue Thai’d with Pangina Heals ซีซั่นสองซึ่งเป็นรายการของปันเอง ปันได้โชว์สิ่งที่ปันรักมากเกี่ยวกับประเทศไทย นั่นคืออาหารค่ะ”
เดินทางไปมาแล้วเกือบจะรอบโลก ปันปันคิดว่าสังคมโลกเปิดกว้างต่อ LGBTQ+ จริงๆ แล้วหรือยัง
“โลกของ LGBTQ+ บนหลายๆ ที่ในโลกนี้เปิดกว้างมากๆ แล้วนะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมรสเท่าเทียม การมีห้องน้ำแบบไม่แบ่งเพศ ปันเห็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ต่างๆ ที่ทำให้รู้สึกว่ามันแตกต่างเนอะ อย่างเวลาปันรับงานจากเมืองนอก เขาจะมีคำถามเกี่ยวกับ Pronouns ว่า ‘จะให้เราเรียกคุณว่าอะไร’ ในทุกๆ สัญญา เพื่อให้เกียรติคนที่มาทำงานน่ะค่ะ”


อธิบายคำว่า ‘drag culture’ ให้กับคนที่อาจจะยังไม่เข้าใจวัฒนธรรมนี้ให้ฟังในแบบปันปันหน่อย
“Drag คือศิลปะค่ะ การที่เรามาแต่งเป็นคาแรกเตอร์หนึ่ง ไม่ว่าเราจะอยู่ในเพศใด คือการแสดงออกทางศิลปะ และใครๆ ก็ทำงานศิลปะได้นะคะ เพราะฉะนั้น สำหรับปัน มันมีคำเดียวที่จะอธิบายได้
นั่นคือ ‘ศิลปะ’ มันจะเป็น drag queen หรือ drag king มันก็เป็นศิลปะ เพียงแต่ drag culture เป็นศิลปะประเภทที่ยังคง niche อยู่ แต่ในหลายๆ ที่ พอ RuPaul’s Drag Race ดังขึ้น ศิลปะแขนงนี้มันก็แมสขึ้นมา นั่นแหละค่ะคำอธิบาย มันคือศิลปะแบบที่ใครๆ ก็ชื่นชมดื่มด่ำกับมันได้ และเราก็จะได้เห็นตัวตน ความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะเหล่านั้น ได้เรียนรู้ เรื่องราวของคนนั้น มันคือศิลปะนั่นเองค่ะ”

