ลงนั่งพูดคุยกับ Es Devlin ผู้ออกแบบคอนเซ็ปต์และดีไซน์ และ Maria Luisa Frisa ภัณฑารักษ์ของงานนิทรรศการ Gucci Cosmos ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน

Photography: Courtesy of Gucci

งาน Gucci Cosmos ได้ให้ความสำคัญกับนักออกแบบ การดีไซน์เนื้อหา รวมไปถึงการโชว์ศักยภาพของช่างฝีมือในงานนิทรรศการครั้งนี้มาก ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

Es Devlin: นั่นเป็นเพราะนักออกแบบแต่ละรุ่น ส่งทอดทั้งความคิด แบบร่าง พลังสร้างสรรค์ ผลงาน นวัตกรรม ตลอดจนเทคนิคทางวิศวกรรมให้นักออกแบบรุ่นถัดๆ ไป ส่วนตัวแล้วดิฉันคิดว่านี่แหละ
คือหัวใจของแบรนด์นี้ – การส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น

แล้วก็อย่างที่คุณบอกว่าหัวใจสำคัญอีกอย่างคือตัวช่างฝีมือแต่ละคนด้วย การที่แบรนด์สร้างเรื่องเล่าขานจนเป็นตำนานมาได้จนปัจจุบัน ไม่ใช่แค่เพราะ creative director นักออกแบบ หรือ brand ambassador อย่างตัวพวกคุณเอง แต่ตำนานของแบรนด์ยังอยู่ในตัวของช่างฝีมือทุกคน ที่เป็นเจ้าของทุกฝีเข็ม ลายปัก และชิ้นผ้าที่ตัดเย็บออกมา งานของแบรนด์เป็นผลงานที่สร้างร่วมกันระหว่างคนหลายรุ่น นี่คือเส้นเรื่องที่ดิฉันหวังว่านิทรรศการของเราถ่ายทอดออกมาค่ะขอให้คุณมาเรีย ลูอีซา ยกตัวอย่างของสักหนึ่งชิ้นจากงานนิทรรศการ Gucci Cosmos ที่แสดงให้เห็นวิวัฒนาการของสไตล์การออกแบบตามบริบทของแต่ละทศวรรษ 

Maria Luisa Frisa: ตัวของที่จัดแสดงก็มีหลายชิ้นมาก แต่ว่าก็อย่างที่คุณเอสบอกค่ะ มนุษย์เป็นผู้ออกแบบสร้างสิ่งของ แต่สิ่งของก็เปลี่ยนรูปร่างรูปทรงของพวกเราเหมือนกัน เคยมีคนกล่าวไว้ด้วยว่า แฟชั่นก็คืองานสถาปัตยกรรมที่อยู่แนบชิดกับร่างกายเรามากที่สุด พูดอีกอย่างคือ เสื้อผ้าช่วยห่อหุ้ม ปกป้องเรา แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยสื่อความเป็นตัวตนของเราให้กับผู้อื่นด้วย

พอพูดเรื่องนี้ ทำให้ดิฉันอยากเล่าเรื่องรองเท้าโลฟเฟอร์ขึ้นมาเลย คือว่า Gucci ได้ดีไซน์รองเท้าโลฟเฟอร์สำหรับผู้ชายที่มีตัวเหล็กรูป horsebit เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแบรนด์ ออกมาในปี 1953 และรองเท้าสไตล์นี้ก็เป็นตัวสะท้อนมโนทัศน์สังคมเรื่องความเป็นชายที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคนั้นได้เยี่ยมทีเดียว

รองเท้าทรงนี้ถือว่าเป็นตัวแทนของวิถีชีวิตแบบใหม่ที่ผ่อนคลายและน่าเย้ายวนกว่าในอดีต เพราะสมัยนั้นผู้ชายจะใส่แค่รองเท้าที่มีเชือกผูก และรองเท้าโลฟเฟอร์ดูเป็นเครื่องแต่งกายแบบลำลองสำหรับใส่ในเวลาว่างมากกว่า แต่ดีไซน์ของ Gucci ได้ทำให้รองเท้าทรงนี้กลายมาเป็นรองเท้าที่ใส่กันในชีวิตประจำวันอย่างแพร่หลายมาก มากเสียจนในช่วงกลางทศวรรษ 1980s รองเท้าโลฟเฟอร์ horsebit ของ Gucci ได้ไปเป็นของจัดแสดงในคอลเลกชั่นของ The Metropolitan Museum of Art ในเมืองนิวยอร์ก เพราะเป็นหลักไมล์สำคัญในประวัติศาสตร์สิ่งของ ที่นอกจากจะสะท้อน know-how ของนักออกแบบและช่างฝีมือของแบรนด์แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความคิดริเริ่ม กล้าที่จะแหวกขนบเก่าๆ ไปด้วยในเวลาเดียวกัน สำหรับดิฉัน นี่แหละคือ Gucci – การมี know-how ควบคู่ไปกับความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่

ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1990s รองเท้าทรงโลฟเฟอร์ก็ได้ถูกหยิบขึ้นมาอีกครั้งโดย Tom Ford ซึ่งรอบนี้ดิฉันก็เห็นว่ามันสะท้อนภาพลักษณ์ความเป็นชายในสังคมที่เปลี่ยนไปเช่นกัน กล่าวคือความเป็นชายที่ยืดหยุ่นและผ่อนคลายยิ่งขึ้นกว่าเก่า อย่างวัสดุรองเท้าก็ทำด้วยหนังกลับแบบนิ่ม ไม่มีซับใน สีของรองเท้าเองก็มีทั้งสีชมพู สีฟ้าอ่อน สีขาว แล้วคนใส่ก็มักจะไม่สวมถุงเท้าด้วย เดี๋ยวนี้ผู้ชายที่ไหนก็ใส่รองเท้าโลฟเฟอร์โดยไม่มีถุงเท้าใช่ไหมคะ แต่สมัยนั้นถือว่าเป็นอะไรที่แปลกสะดุดตามากๆ และพลิกขนบความเป็นชายเลยทีเดียว

เทรนด์การเปลี่ยนแปลงก็มาในทิศทางนี้เรื่อยๆ จนถึงรองเท้าสลิปเปอร์ของดีไซเนอร์ Alessandro Michele ซึ่งก็คือรองเท้าโลฟเฟอร์ที่กลายมาเป็นรองเท้าสลิปเปอร์ ซับในด้วยขนเฟอร์ ก็เป็นการตีความค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไป ในเรื่องของการแต่งกายและในเรื่องของการใช้ชีวิต ใช่ไหมคะ เป็นไลฟ์สไตล์แบบหนึ่ง สำหรับดิฉัน Gucci สามารถ ‘จับ’ การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของคนในสังคมได้เก่งมาก ไม่เท่านั้น ยังรับรู้ลักษณะนิสัยของคนที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยได้ด้วย

สืบเนื่องจากที่คุณมาเรีย ลูอีซา เพิ่งกล่าวไปว่า ‘ของ’ เป็นเครื่องให้ความหมายกับชีวิตคน คุณสองคนใช้เทคโนโลยีสื่อดิจิตัลหลากหลายแบบเพื่อช่วยเล่าเรื่องของ ‘ของ’ และบริบททางสังคม แต่ว่าในช่วงเวลาที่ของดังกล่าวเปิดตัวสู่สังคม ส่วนมากยังไม่มีเทคโนโลยีสื่อดิจิตัลเหล่านี้ อยากถามว่า คุณมีวิธีตีความ และเลือกใช้เทคโนโลยีแสง สี เสียง บทกวี และสื่อประกอบอื่นๆ เพื่อเล่าเรื่องของจัดแสดงซึ่งเป็นวัตถุทางกายภาพ อย่างไรบ้าง

ED: น่าสนใจมากที่คุณตั้งคำถามเกี่ยวกับเทคโนโลยี เพราะว่าอันที่จริงแล้ว เรื่องราวของ Gucci ก็เริ่มต้นจากเทคโนโลยีใหม่ชิ้นหนึ่งนี่แหละค่ะ ตอนนั้นปี 1921 คุณ Guccio Gucci เพิ่งถูกส่งไปชุบตัวที่โรงแรมซาวอยในกรุงลอนดอนเมื่อสองปีก่อนหน้า เพื่อเก็บประสบการณ์และเรียนรู้การทำงานโรงแรมในเมืองใหญ่อย่างกรุงลอนดอน ซึ่งเจ้าของโรงแรมก็บังเอิญเป็นผู้อำนวยการสร้างละครเวทีรายใหญ่ที่มีชื่อเสียงมากในประเทศอังกฤษ ชื่อ Richard D’Oyly Carte เป็นคนที่อยู่เบื้องหลังละครโอเปร่าของ Gilbert and Sullivan และเป็นบุคคลสำคัญมากในวงการละคร

ทีนี้ โรงแรมซาวอย เป็นโรงแรมแห่งแรกในกรุงลอนดอนที่ติดลิฟต์ ในยุคนั้นไม่มีโรงแรมไหนมีลิฟต์ใช้เลย แต่ว่าริชาร์ด ดอยลี คาร์ท เป็นคนหัวดี เขาอยากทำเงินเพิ่มจากห้องพักชั้นสูงๆ ของโรงแรม เพราะแขกที่มีฐานะร่ำรวยมักไม่อยากพักในห้องที่อยู่ชั้นสูง เพราะว่าไม่อยากเดินขึ้นบันได ห้องพักชั้นบนจึงมีค่าเข้าพักถูกมาก เขาเลยลงทุนติดตั้งลิฟต์ไฟฟ้า แต่ติดอยู่อย่างเดียว คือลิฟต์นั้นวิ่งช้ามากๆ กว่าจะขึ้นจากชั้นล่างสุดไปชั้นบนสุดของโรงแรมใช้เวลากว่า 7 นาที สำหรับ กุชโช กุชชี ที่เป็นเด็กฝึกงานอยู่ตอนนั้นรับหน้าที่เป็นเด็กยกกระเป๋า ช่วยแขกขนสัมภาระเข้าออกลิฟต์ หมายความว่าเขามีเวลากว่า 7 นาทีในการยืนร่วมลิฟต์กับกระเป๋าเสื้อผ้าของแขก และได้สังเกตทุกรายละเอียด ซึ่งสำหรับดิฉันคิดว่าไอเดียการออกแบบที่คุณเห็นอยู่ในนิทรรศการนี้ น่าจะมีต้นตอมาจากช่วงเวลานี้นี่แหละ

เป็นเรื่องเล่าที่น่าประทับใจมาก น่าสนใจที่มีเรื่องของความเป็น สมัยใหม่อยู่ตั้งแต่เมื่อ 100 ปีก่อนในประวัติศาสตร์ของ Gucci ซึ่งฉันคิดว่าคอนเซ็ปต์เรื่องเวลา ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างงดงามในนิทรรศการนี้

ED: ดิฉันเสริมตรงนี้ได้นิดหนึ่งนะคะ ถ้าคุณไม่ว่าอะไร จริงๆ แล้วในห้องแรกของนิทรรศการเรา มีเทคโนโลยีเรียบง่ายให้พบอยู่ชิ้นหนึ่ง คือประตูหมุน พูดถึงแล้วฉันอยากไปค้นดูเลยว่ามีการใช้ประตูหมุนเป็นครั้งแรกเมื่อปีไหน แต่เดาว่าโรงแรมซาวอยน่าจะเป็นที่แรกๆ

ประตูนี้ให้ความรู้สึกของการเปลี่ยนเวียนหมุนไป เหมือนการเคลื่อนของเวลา ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ที่พบได้ในทุกส่วนของนิทรรศการ โดยเฉพาะในห้อง Zoetrope ที่ผู้เข้าชมจะได้เห็นภาพฉายเคลื่อนไหวเป็นม้าควบไปรอบๆ ห้องค่ะ คำว่า ‘zoe’ แปลว่า ‘ชีวิต’ ส่วน ‘trope’ แปลว่า ‘หมุน’ เจ้าเครื่อง zoetrope นี้คิดค้นขึ้นในศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นยุคแรกที่มนุษย์ได้เห็นภาพลวงตาที่ดูเสมือนภาพเคลื่อนไหว ในสมัยนั้น ไม่มีใครคิดเลยว่ามนุษย์จะได้มี ‘เวทมนตร์’ แสดงภาพเคลื่อนไหวได้เช่นนี้ ลักษณะเครื่องจะเป็นทรงกระบอก มีรูเจาะอยู่ แล้วด้านในก็จะมีภาพเขียนรูปม้าวิ่ง ถ้าคุณมองผ่านรูแล้วหมุนเครื่องไปรอบๆ จะดูเหมือนกับว่าม้ากำลังวิ่งอยู่ นี่คือจุดเริ่มของเทคโนโลยีภาพเคลื่อนไหว และเป็นจุดเริ่มของวงการภาพยนตร์ แม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือที่ทุกคนในห้องนี้พกติดตัวก็ไม่อาจมีอยู่ได้เลยหากไม่มีเจ้า zoetrope นี้ เพราะฉะนั้น ดิฉันพูดได้เลยว่าเทคโนโลยี และต้นกำเนิดของเทคโนโลยี เป็นประเด็นสำคัญมากในนิทรรศการนี้ค่ะ

MLF: ขออนุญาตนะคะ ดิฉันมีอะไรจะเสริมอีกหน่อย เพราะที่คุณเอสพูดทำให้ฉันนึกอะไรออก คือเวลาเราพูดถึงเวลาในวงการแฟชั่น เรามักจะพูดถึงเวลาที่เป็น ‘วงกลม’ หรือเวลาที่เป็นวัฏจักร อย่างเวลาเล่าเรื่องวิวัฒนาการของตัว silhouette หรือทรงเสื้อผ้าที่ได้รับความนิยมในช่วงยุค 1800s จะวาด silhouette ลงบนกระบอกที่หมุนได้ เพื่อแสดงทิศทางที่เป็นวงกลมของรสนิยมที่เปลี่ยนไป

คนพูดกันเสมอว่าแฟชั่นเป็นวงการเดียวที่นำประวัติศาสตร์ของตัวเองมารื้อฟื้นใหม่ตลอดเวลาและเปลี่ยนประวัติศาสตร์ดังกล่าวให้เป็นสิ่งใหม่ได้เสมอ เพราะฉะนั้น การหมุนเวียนเป็นวัฏจักรซึ่งเอสถ่ายทอดออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมในนิทรรศการนี้ ก็คือความเป็นวัฏจักรของแฟชั่นนั่นแหละค่ะ คือมีการดึงขนบเก่าๆ มาตีความ เคลื่อนไหว และอัพเดตตัวเองอยู่ตลอดเวลา นี่คือหัวใจอีกอย่างของประวัติศาสตร์ Gucci ค่ะ

ED: เพราะฉะนั้น ตัวชิ้นงาน zoetrope นอกจากจะให้ความหมายเหมือนที่มาเรีย ลูอีซา เพิ่งกล่าวไป คือความเป็นวัฏจักรของเทรนด์แฟชั่น กาลเวลา และความเป็นมนุษย์แล้ว ยังเชื่อมโยงกับ
ประวัติศาสตร์ Gucci ในรายละเอียดยิบย่อยด้วยนะคะ เพราะตอนที่กุชโช กุชชี ทำงานอยู่โรงแรมซาวอย เขาได้เห็นกิจกรรมของชนชั้นสูงในอังกฤษ คือการเป็นสมาชิกคันทรีคลับ และได้ขี่ม้า ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันของคนในสังคมอังกฤษทั่วไปในขณะนั้น ซึ่งดิฉันว่าควรขอให้มาเรีย ลูอีซา เล่าให้ฟังสักเล็กน้อยว่าเลือกภาพเงาสำหรับเฟรมแต่ละเฟรมในห้อง Zoetrope อย่างไรบ้าง เพราะเธอปะติดปะต่อเรื่องราวจาก horsebit แล้วต่อยอดไปให้เราได้ชมดีไซน์จากนักออกแบบมากหน้าหลายตา ที่นำความสัมพันธ์ระหว่างม้าและคนมาสร้างสรรค์และตีความใหม่ คุณสนใจจะเล่าสักหน่อยไหมคะ

MLF: ได้ค่ะ ห้อง Zoetrope เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ จริงๆ ทุกส่วนในนิทรรศการนี้มีความน่าสนใจและมีเรื่องราวของมันอยู่นะคะ สำหรับห้อง Zoetrope จะเล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนและสัตว์ รวมทั้ง
ความเข้าใจและการสื่อสารกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ซึ่งประเด็นนี้ก็ปรากฏหลายครั้งในประวัติศาสตร์ของแบรนด์ การจัดห้องนี้น่าสนใจมากตรงที่ดิฉันได้เลือกของจัดแสดงมาร้อยเรียงเหมือนเป็นลำดับเหตุการณ์ สำหรับดิฉันแล้ว การแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างชิ้นงานจัดแสดงเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะในนิทรรศการแฟชั่น ไม่มีทางเลยที่เราจะมองของชิ้นใดชิ้นหนึ่งอย่างโดดๆ โดยไม่นึกถึงชิ้นอื่นๆ ได้ เราจึงต้องเริ่มจากการวิเคราะห์คุณค่าของงานชิ้นนั้นและบริบททางประวัติศาสตร์ของมัน ตามด้วยการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างงานนั้นกับงานอื่นๆ เพื่อดูว่าเกิดเรื่องราวและมุมมองใหม่ๆ บ้างหรือไม่

ED: จริงๆ เราจะให้คำอธิบายละเอียดแบบนี้กับห้องที่เราตั้งชื่อว่า Eden ก็ได้เหมือนกันนะคะ เราเพิ่งเล่าเรื่องตอนที่คุณกุชโช กุชชี ไปเจอผู้อำนวยการสร้างละครเวทีที่โรงแรมซาวอย แต่ยังมีคนสำคัญในวงการละครอีกรายหนึ่ง คือ Vittorio Accornero de Testa ซึ่งคนที่ไปเจอเขาคือ Rodolfo Gucci ตอนที่โรดอลโฟเป็นนักแสดงอยู่ที่สตูดิโอภาพยนตร์ชิเนชิตต้าค่ะ ซึ่งอัคคอร์เนโรตอนนั้นทำงาน
เป็นนักออกแบบฉากและจิตรกร

นับจากปี 1961 อัคคอร์เนโรทำงานเขียนภาพให้ Gucci อยู่ได้ 10 ปี เขาวาดลวดลายแสนวิจิตรงดงามสำหรับผ้าพันคอและเครื่องประดับอื่นๆ เป็นลายสัตว์และพืชพรรณต่างๆ จากแบบจริง ซึ่งผู้มาเยี่ยมชมนิทรรศการก็จะได้มีโอกาสชมผ้าพันคอที่ว่าในงานนี้ด้วยค่ะ ดิฉันคิดว่าเป็นครั้งแรกที่ผ้าพันคอชุดนี้ได้มาจัดแสดงในประเทศจีนด้วย ในห้อง Eden จะเห็นว่าเราได้ยกพรรณไม้และสัตว์ทั้ง 37 ชนิดที่ปรากฏบนผ้าพันคอ Flora ที่อัคคอร์เนโรเป็นผู้วาดลาย เราได้สร้างแมลงทุกชนิดด้วยปูนปลาสเตอร์แล้วห้อยไว้จากเพดาน และหากคุณฟังเสียงพากย์ประกอบในห้อง จะได้ยินชื่อสีทุกสีที่นำมาระบายลงในภาพ ดังนั้น หวังว่าคุณจะสัมผัสได้ถึงกระบวนการรังสรรค์ลายผ้านี้… ผู้ชายคนเดียว นั่งบรรจงวาดดอกไม้และสัตว์ทุกชนิดที่คุณเห็น และภาพวาดของเขาได้ประดับเป็นลวดลายเสื้อผ้าจำนวนนับไม่ถ้วน แม้กระทั่งลายผึ้งที่อยู่ด้านหลังรองเท้าของดิฉัน ก็วาดโดยชายหนึ่งเดียวคนนี้ในปี 1962 ค่ะ

ในห้อง Archivio มีการจัดแสดง cabinet of curiosities ที่ให้ประสบการณ์ที่วิเศษมากระหว่างการเข้าชม และชื่อยังมีความเชื่อมโยงในหลายๆ ประเด็น ทั้ง ‘curate’ (การคัดเลือกชิ้นงานเพื่อจัดแสดงในนิทรรศการ), ‘care’ (ความเอาใจใส่) และ ‘curio’ (วัตถุแปลก น่าสนใจ) แล้วยังเป็นจุดที่อยู่กึ่งกลางพื้นที่จัดแสดงของนิทรรศการด้วยใช่ไหม

ED: ดิฉันดีใจจริงๆ ที่คุณพูดถึงเรื่องที่มาและรากของคำว่า ‘curate’ มันเป็นคำที่วิเศษมาก อย่างที่คุณยกตัวอย่างมา คำว่า curiosity, curate และ care มาจากรากเดียวกัน คือคำว่า ‘cura’ ค่ะ
เพราะฉะนั้น ถ้าคุณอยากรู้เรื่องอะไรบางอย่าง แปลว่าคุณ ‘แคร์’ สิ่งนั้น การ curate ก็เป็นการแสดงความห่วงใย ความใส่ใจ เช่นเดียวกัน

คุณพูดถูกเป๊ะเลยค่ะ ว่าเจ้ากล่องสีแดงที่หมุนรอบตัวเองอยู่ตรงกลางห้องนั้น ที่เป็นตู้เก็บของวิเศษของเรา คือจุดศูนย์กลางของงานนิทรรศการทั้งหมด สืบเนื่องมาจากแนวคิดที่สอนกันภายใน Gucci เองเกี่ยวกับนิยามของคำว่า archive หรือหอเก็บประวัติ เขากล่าวกันว่าห้องที่ไว้ใช้เก็บเอกสารหรือวัตถุทางประวัติศาสตร์นั้นไม่ควรเป็นเหมือนห้องเก็บอัฐิ ที่เย็นชา หยุดนิ่ง ไร้ซึ่งชีวิต แต่ต้องเป็นสิ่งมีชีวิต มีลมหายใจ พวกเราจึงต้องการถ่ายทอดแนวคิดนี้ผ่านห้องห้องนี้ ด้วยเสียงเต้นของหัวใจที่ดังกังวานไปทั่วห้อง และข้ามผ่านกาลเวลายุคสมัย ไปถึงคนในอดีตและคนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบ ช่างศิลป์ หรือนักคิด

ดิฉันใช้กล่องหมุนได้ในการจัดงานแสดงมามากกว่า 10 ปีแล้ว รวมถึงตอนออกแบบเวทีละคร ก็มีหยิบมาใช้เหมือนกัน เพราะมันเหมือนกับเป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง คุณนั่งนิ่งๆ แล้วมองกล่องหมุนไปเรื่อยๆ ให้มันค่อยๆ แสดงสิ่งของที่อยู่ข้างในให้เห็นได้ ซึ่งดิฉันคิดว่ามาเรีย ลูอีซา เลือกชิ้นงานมาจัดแสดงในกล่องได้น่าสนใจมากๆ คุณอยากเล่ากระบวนการคิดตรงนั้นสักหน่อยไหมคะ

MLF: ค่ะ ขอบคุณมากค่ะ ดิฉันกำลังนึกถึงบางอย่างที่เพิ่งพูดไปเมื่อวานพร้อมกับคุณเอส คือเจ้ากล่องสีแดงใบนี้ก็เหมือนเป็นหัวใจของห้องเก็บประวัติที่เต้นไปเรื่อยๆ เพราะที่ที่บันทึกประวัติศาสตร์เป็นพื้นที่แห่งจินตนาการ ไม่ใช่ที่ที่แห้งแล้งไร้ชีวิตชีวา อย่างที่เอสบอก ใช่ไหมคะ แต่ก่อนหน้านี้เราพูดเรื่องระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมไป ดิฉันเลยอยากให้ลองนึกถึงห้องเก็บประวัติว่าเป็นกองหมักปุ๋ยดู เพราะว่าชิ้นงานที่ผู้ชมเห็นนั้นไม่ได้หยุดนิ่ง แต่เปลี่ยนแปลง เติบโต และผลิบานอยู่ตลอดเวลา โดยการทำปฏิกิริยาระหว่างกันและกัน และนอกจากนั้นก็จุดประกายสร้างชิ้นงานใหม่ๆ ซึ่งก็จะสร้างงานชิ้นใหม่ๆ ต่อไปอีกเป็นทอดๆ

เพราะฉะนั้นแล้ว หลังจากที่ผู้ชมได้ผ่านงานนิทรรศการมา ได้ผ่านเขาวงกตที่เต็มไปด้วยรายละเอียดจากการศึกษาวิเคราะห์อย่างเข้มข้น ห้องนี้ก็อาจทำให้เห็นภาพได้กระจ่างทันทีว่าห้องเก็บ
ประวัติคืออะไรกันแน่ เพราะการจะได้มีโอกาสเข้าไปชมห้องเก็บประวัติแฟชั่นเป็นอะไรที่ยากมากๆ อย่างที่ว่า ห้องเก็บประวัติคือหัวใจของแบรนด์แฟชั่น และยังเป็นห้องที่มีคุณค่าสูงที่สุดห้องหนึ่งในทุกๆ แง่มุม เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าจะได้เข้าไปง่ายๆ และในงานนี้ Gucci ได้ให้ผู้เยี่ยมชมงานมีโอกาสมาเป็นส่วนหนึ่งของห้องเก็บของล้ำค่า เป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในโลกที่แทบประเมินราคาไม่ได้
ซึ่งก็จะค่อยๆ สร้างอารมณ์ร่วมให้ผู้เยี่ยมชมงาน จนไปถึงจุดใจกลางของห้องเก็บประวัติที่ยังคงมีลมหายใจ มีเสียงหัวใจเต้นให้ได้ยิน ซึ่งดิฉันเห็นว่าเป็นสัญลักษณ์แทนความสร้างสรรค์ที่ไม่หยุดนิ่งค่ะ

สำหรับการเลือกชิ้นงานที่จัดแสดงในห้องนั้น เป็นเรื่องค่อนข้างท้าทาย แต่ก็สนุกด้วยเหมือนกันค่ะ เพราะว่าพวกเราต้องหาวิธีเลือกของที่ตราตรึงใจคนได้อย่างทันที ในขณะเดียวกันก็ยังมีของชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่พวกเราอยากนำเสนอด้วย ซึ่งไม่สามารถวางไว้เฉยๆ อย่างโดดๆ ได้ เพราะงานเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้คนถือ ให้สวมใส่ เลยต้องหาวิธีนำเสนอที่ทำให้คนรู้สึกใกล้ชิดกับสิ่งของได้ นี่คือวัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุดค่ะ

นิทรรศการนี้จัดที่เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน สถานที่ที่จัดงานมีส่วนในกระบวนการออกแบบนิทรรศการอย่างไรบ้างคะ

ED: มีส่วนแน่นอนค่ะ อันที่จริง ตึกที่เราใช้และนั่งอยู่ในขณะนี้ ในอดีตเคยเป็นโรงงานประกอบเครื่องบิน และแน่นอน เราสองคนหวังว่านิทรรศการนี้จะช่วยให้ผู้เข้าชมได้ ‘โบยบิน’ ไปด้วยจินตนาการเช่นกัน แทนที่จะบินไปกับเครื่องจักร

ดิฉันคิดว่าอีกอย่างที่น่าสนใจคือโครงสร้างของงาน ที่มีวงกลมหลายวงซ้อนกันหมุนไปเรื่อยๆ ชวนให้เรานึกถึงเอกภพและดาวเคราะห์ที่โคจรไปรอบๆ ศูนย์กลางจักรวาล แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้นึกถึงฟันเฟืองและส่วนประกอบชิ้นเล็กชิ้นน้อยในเครื่องจักรกลด้วย เพราะสุดท้ายเราก็ทราบกันดีว่า fashion house เป็นเครื่องจักรกลทางเศรษฐกิจ พร้อมกับเป็นแหล่งจุดประกายตำนานและเรื่องราวต่างๆ ในเวลาเดียวกัน เราต้องนำเสนอทั้งสองด้านนี้ของแบรนด์ในเวลาเดียวกัน ไม่ใช่แค่ตีความพร่ำเพ้อเรื่องนามธรรมจนละเลยความเป็นจริงว่าแบรนด์คือธุรกิจระดับโลก ความตั้งใจของเราคือยอมรับว่าแบรนด์เป็นได้ทั้งสองอย่างพร้อมกันอย่างไรบ้าง ประเด็นนี้ก็สัมพันธ์กับตัวตึกด้วย ที่เคยเป็นโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเครื่องบิน และเป็นเหมือนวิหารแทนโลกอุตสาหกรรมด้วย

MLF: งานนี้เป็นนิทรรศการใหญ่ครั้งแรกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของแบรนด์ Gucci ซึ่งเราได้เปิดตัวที่เมืองเซี่ยงไฮ้ มหานครใหญ่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน แล้วเมื่อคืนหลังจากอยู่เซี่ยงไฮ้มาตั้งหลายวัน (หัวเราะ) ดิฉันก็ได้เข้าไปเยี่ยมชมย่านใจกลางเมืองเสียที แล้วก็ประทับใจ ตื่นตาตื่นใจกับมันมากค่ะ ดิฉันรักเมืองแบบนี้ ที่มีความโดดเด่น ความเคลื่อนไหวในหลายๆ ด้าน ที่คอยเสริมกันและกัน