แม่ทัพหญิงแห่งศิลปะแสดงสด กับศิลปะแห่งการท้าทายขีดจำกัดความอดทนของร่างกายและจิตใจ Marina Abramovic
Author: MutAnt
ในการทำงานศิลปะ นอกจากศิลปินจะใช้วัตถุดิบอย่างผืนผ้าใบ กระดาษ ไปจนถึงวัตถุดิบหรูหราราคาแพงอย่างหินอ่อน หรือทองเหลือง และสัมฤทธิ์แล้ว วัตถุดิบอีกอย่างที่ศิลปินบางคนหยิบมาใช้งานคือสิ่งที่มนุษย์เราได้รับมาตั้งแต่เกิด นั่นก็คือร่างกายของเรานั่นเอง ศิลปินเหล่านี้เลือกที่จะใช้ร่างกายของตัวเองเป็นเครื่องมือในการทำงานศิลปะต่างผืนผ้าใบหรือวัตถุดิบอื่นใด ส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างศิลปินและผู้ชม และสร้างหนทางใหม่ๆ ของการมีประสบการณ์ร่วมกับงานศิลปะอย่างใกล้ชิดจนน่าตื่นตะลึง ในบรรดาศิลปินจำนวนนั้น มีศิลปินอยู่ผู้หนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นตัวแม่ของศิลปะประเภทนี้ ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า มารินา อบราโมวิช (Marina Abramovic) ศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ชาวเซอร์เบียน ผู้มีฉายาว่า ‘คุณย่าแห่งศิลปะแสดงสด’ (the grandmother of performance art) ศิลปินผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นที่รู้จักมากที่สุดของโลกคนหนึ่ง… แต่ตอนนี้เธออยากให้เราเรียกเธอว่า ‘แม่ทัพหญิงแห่งศิลปะแสดงสด’ (warrior of performance art) มากกว่า

อบราโมวิชบุกเบิกแนวทางใหม่ๆ ให้กับศิลปะแสดงสด ด้วยการดึงผู้ชมให้เผชิญหน้าอย่างใกล้ชิดกับความเจ็บปวด เหนื่อยยาก เลือด บาดแผล ความตาย อย่างใกล้ชิดที่สุด เธอมักจะนำเสนอตัวตนและร่างกายของเธอผ่านบาดแผลและการทรมาน ผลงานของเธอมักจะเกี่ยวข้องกับการท้าทายขีดจำกัดความอดทนของร่างกายและจิตใจ เป้าหมายในการทำงานศิลปะแสดงสดของเธอคือการเอาชนะความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณ โดยใช้ศิลปะข้ามทุกขอบเขตจำกัด หลายครั้งที่เธอต้องเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหนักและเสี่ยงชีวิตในการทำการแสดงสด เธอมองว่าการทดสอบขีดจำกัดของร่างกายเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทางจิตวิญญาณ และมักทำลายระยะห่างระหว่างศิลปินและผู้ชมด้วยการใช้ร่างกายของตัวเองเป็นสื่อทางศิลปะ
ผลงานที่โดดเด่นที่สุดของเธอคือ Rhythm 0 (1974) ศิลปะแสดงสดที่เธอเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ จำนวน 72 ชิ้น อย่างดอกกุหลาบ กรรไกร ปากกา ปืนพกบรรจุกระสุน และเปิดโอกาสให้ผู้ชมใช้อุปกรณ์เหล่านี้ทำอะไรกับเธอก็ได้ตามใจเป็นเวลา 6 ชั่วโมง ผลงานชิ้นนี้นอกจากจะแสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลการกระทำของตัวเอง มนุษย์เราก็สามารถทำเรื่องเลวร้ายได้อย่างง่ายดาย (ผู้ชมบางคนถึงกับเอาปืนจ่อหัวเธอ) เธอยังต้องการให้ผู้ชมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในผลงานศิลปะของเธอมากกว่าจะเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์อยู่เฉยๆ เท่านั้น



อีกหนึ่งผลงานที่เลื่องชื่อของเธอคือ Balkan Baroque (1997) ที่เธอใช้แปรงขัดถูทำความสะอาดกระดูกวัวโชกเลือดจำนวน 2,500 ท่อน ในเวลา 6 วัน เพื่อแสดงสัญลักษณ์ถึงความเลวร้ายของสงครามที่เกิดขึ้นทุกๆ แห่งหนบนโลกใบนี้ ผลงานชิ้นนี้ร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 47 ในปี 1997 และได้รับรางวัลสูงสุดของงานอย่างสิงโตทองคำ
หรือผลงาน The Artist Is Present (2010) ที่เธอนั่งจ้องตากับผู้ชมเงียบๆ โดยไม่ทำอะไรเลย 8 ชั่วโมงต่อวัน ตลอดระยะเวลาเกือบสามเดือน โดยมีผู้ชมเข้ามานั่งจ้องตากับเธอ 1,545 คน
อบราโมวิชยังก่อตั้งสถาบัน มารินา อบราโมวิช (Marina Abramovic Institute – MAI) ที่สร้างศิลปินรุ่นใหม่หลากหลายแขนงให้เติบโตทางความคิดอย่างไร้ขีดจำกัด เพราะเธอเชื่อว่าศิลปะทุกแขนงสามารถหลอมรวมกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้เสมอ
ล่าสุด มารินา อบราโมวิช เป็นหนึ่งในศิลปินที่เข้าร่วมแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่สามในกรุงเทพฯ ประเทศไทย โดยเธอเลือกผลงานศิลปะแสดงสดระยะยาว (long durational performance) ของสมาชิก MAI มาจัดแสดงในรูปแบบของงานวิดีโอจัดวาง ซึ่งประกอบด้วยวิดีโอแสดงสดชิ้นสำคัญหลากชิ้นที่เกี่ยวข้องกับความโกลาหลและความสงบ อย่าง AAA AAA, The Scream, Dragon Heads, The Current รวมถึงวิดีโอ City of Angels และการแสดงสด Sea Punishing ซึ่งเกิดขึ้นที่อยุธยาและภูเก็ต ตามลำดับ



ที่สำคัญ เธอยังเดินทางมาจัดการบรรยายในหัวข้อ ‘The History of Long Durational Works of Art and MAI’ ให้มิตรรักแฟนศิลปะชาวไทยได้ชมกันเมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา
ในครั้งนี้เรามีโอกาสได้สนทนากับเธออย่างใกล้ชิด โดยมารินา อบราโมวิช กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้กลับมาเยือนกรุงเทพฯ และได้ร่วมแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เป็นครั้งที่สามว่า เธอยินดีที่ได้กลับมาที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง เพราะนอกจากตัวเธอจะมาแสดงผลงานในบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ศิลปินรุ่นเยาว์จากสถาบัน MAI ของเธอก็ได้มาแสดงงานที่นี่ด้วย อบราโมวิชเคยมากรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 1983 เธอกล่าวว่ากรุงเทพฯ เป็นสถานที่ค่อนข้างโดดเด่นเปี่ยมเอกลักษณ์ และในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งนี้ ที่จัดภายใต้ธีม CHAOS : CALM (โกลาหล : สงบสุข) นั้นเป็นแนวคิดที่น่าสนใจมาก เพราะคำว่า ‘โกลาหล’ กับ ‘สงบสุข’ เป็นเหมือนสองด้านของเหรียญเดียวกัน และกรุงเทพฯ ก็เป็นตัวอย่างอันสมบูรณ์แบบของสองคำนี้ เมื่ออยู่ในกรุงเทพฯ เราจะอยู่ใจกลางของมลภาวะทั้งทางเสียงและทางอากาศ นี่คือด้านหนึ่งของเหรียญ แต่เมื่อเราไปยังอีกมุมหนึ่งของกรุงเทพฯ ได้อยู่ในวัดวาอารามและโบสถ์ต่างๆ เราจะได้จดจ่ออยู่กับความเงียบสงัด สันโดษ และการทำสมาธิ ช่างเป็นสถานที่ทางจิตวิญญาณ ภาวะตรงกันข้ามนี้ช่างน่าหลงใหล เพราะเรามีสองด้านที่แตกต่างกันอย่างทรงพลังจนน่าเหลือเชื่อ
อบราโมวิชยังกล่าวถึงเคล็ดลับในการเตรียมตัวสำหรับการทำงานศิลปะแสดงสดอันสุดแสนจะยาวนานและยากลำบากของเธอว่า ในการทำงานศิลปะแสดงสด เราต้องเรียนรู้อย่างมากเกี่ยวกับร่างกายตัวเอง เกี่ยวกับอำนาจจิต เกี่ยวกับความมุ่งมั่นจดจ่อ เกี่ยวกับวินัย การกำหนดจิตใจ และความสันโดษ เวลาทำงานศิลปะแสดงสด เธอต้องเตรียมตัวไม่ต่างอะไรกับนักบินอวกาศ เธอต้องบังคับให้ร่างกายไม่หลั่งน้ำย่อยออกมาเวลากลางวัน เพราะตอนกลางวันเธอจะไม่กินอาหารตลอดวันไปจนถึงกลางคืน นอกจากนั้นเธอยังไม่ดื่มน้ำ ไม่นอนหลับ ไม่เข้าห้องน้ำ แต่จะทำทุกอย่างในเวลากลางคืนแทน



อบราโมวิชกล่าวว่า สำหรับศิลปินแสดงสด ห้วงขณะในปัจจุบันนั้นสำคัญที่สุด เพราะเรามีชีวิตเฉพาะในเวลาปัจจุบันเท่านั้น อดีตและอนาคตนั้นไม่สำคัญเท่ากับนาทีนี้ นาทีนี้จึงสำคัญและจริงที่สุด ในขณะเดียวกัน งานของเธอคือผู้ชม คือสาธารณชน เธอไม่อาจทำงานได้โดยปราศจากผู้ชม ศิลปินแสดงสดและผู้ชมต่างทำงานร่วมกัน ถ้าไม่มีผู้ชม งานของเธอก็ไม่มีความหมายอะไรเลย
ในอดีต ผลงานที่โดดเด่นและสร้างชื่อเสียงให้เธอที่สุดอย่าง Rhythm 0 นั้นมีความสุ่มเสี่ยงจนแทบจะทำให้เธอเสียชีวิตได้ แต่ในขณะที่ผลงานในยุคหลังของเธออย่าง The Artist Is Present นั้นกลับเป็นอะไรที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง เพราะมันช่างเรียบง่าย ไร้กระบวนท่า จนแทบจะไร้การเคลื่อนไหวเลยก็ว่าได้ อบราโมวิชกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างผลงานสองชิ้นในสองช่วงเวลาว่าระหว่างผลงานอย่าง Rhythm 0 กับ The Artist Is Present นั้นเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบที่ดี ผลงานทั้งสองชิ้นนั้นสำคัญสำหรับเธอมากๆ โดยเธอทำงานชิ้นแรกตอนอายุ 28 ปี ด้วยความเกรี้ยวกราด เพราะทุกคนหัวเราะเยาะและบอกว่างานของเธอไม่ใช่ศิลปะ และเธอน่าจะถูกส่งไปโรงพยาบาลบ้า ในยามที่แสดง เธอยืนอยู่ในห้องโดยมีวัตถุอยู่บนโต๊ะ 72 ชิ้น ที่ผู้ชมจะใช้ทำอะไรกับเธอก็ได้ ถ้าพวกเขาอยากฆ่าเธอ ก็สามารถฆ่าได้เลย โชคดีที่พวกเขาไม่ทำ เธอเองก็เพิ่งมาตระหนักทีหลังว่าวัตถุที่เธอวางอยู่บนโต๊ะเหล่านั้นกำลังฉุดรั้งจิตวิญญาณของมนุษย์ให้ต่ำลง อบราโมวิชกล่าวว่าเธอต้องใช้เวลา 35 ปี ถึงจะเข้าใจสิ่งนี้ และเลือกที่จะทำผลงานที่สร้างสถานการณ์ที่ยกระดับจิตใจของมนุษย์ด้วยเก้าอี้สองตัวในงานชิ้นหลังแทน

ถึงแม้จะทำงานเกี่ยวกับการต่อต้านสงคราม และตั้งคำถามกับระบอบเผด็จการ อย่างในผลงาน Balkan Baroque แต่อบราโมวิชเองก็มองว่าเธอไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เธอยังกล่าวอีกว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา หลายคนมักถามเธอว่า “ศิลปะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ไหม” ถึงแม้ศิลปินเยอรมันอย่างโจเซฟ บอยส์ จะเคยกล่าวว่า “ศิลปะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้” แต่โดยส่วนตัว เธอคิดว่าศิลปะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ นี่คือความจริงที่น่าเศร้า เพราะมันเป็นเรื่องที่ยากเอามากๆ และคนรุ่นเธอเองก็ยังไม่สามารถทำได้ ถึงแม้ศิลปะจะสามารถช่วยเปิดความตระหนักรู้ ปลุกสติสัมปชัญญะ และสร้างความเข้าใจ แต่การเปลี่ยนแปลงโลกจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราทุกคนในโลกนี้ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งโดยส่วนใหญ่พวกเรายังไม่ได้ทำ แต่เธอก็ยังทิ้งท้ายอย่างให้ความหวังว่าในอนาคต คนรุ่นใหม่อาจจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ ถึงแม้คนรุ่นเธอยังไม่สามารถทำได้ก็ตามที