New York as a Canvas

Share This Post

- Advertisement -

นับตั้งแต่ราวปี 1620 เกิดการค้นพบดินแดนใหม่ที่ชื่อ New Amsterdam ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อ New York และในศตวรรษที่ 19-20 เป็นช่วงที่ตัวเมืองนิวยอร์ค หรือ New York City ที่ตั้งอยู่บนเกาะแมนฮัตตันเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยการเป็นดินแดนที่ผู้คนจากทั่วโลกเดินทางมา ด้วยหวังจะมีชีวิตที่ดีกว่า ผู้คนมากกว่า 8.4 ล้านคน มากกว่า 200 ภาษา จึงกลายเป็นจุดเด่นที่ทำให้เมืองเต็มไปด้วยหมุดหมายทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย

Photographer: Adison Rutsameeronchai

Author: Jermsiri Luangsupporn

New York: เมื่อเมืองและผู้คนคืองานศิลปะนิวยอร์ค เมืองที่เราต่างรู้กันดีว่าไม่เหมือนใคร ด้วยความเป็นเบ้าหลอมของผู้คนและวัฒนธรรมมายาวนาน ความแตกต่างหลากหลายเหล่านั้นได้กลายเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างเมืองให้มีเอกลักษณ์ งดงาม สร้างสรรค์ ผุพัง เกิดขึ้นใหม่จนเป็นนิวยอร์ค เมืองที่ทุกอย่างคือศิลปะ สะท้อนผ่านตึกอาคาร ผู้คน วิถีชีวิตในแบบที่ใครหลายคนยกให้เป็นเมืองแห่งแรงบันดาลใจ

ทำไมนิวยอร์คจึงเป็นเมืองศิลปะ?

เป็นคำถามที่อาจจะดูกว้าง แต่ถ้าหากคิดลึกๆ ลงไปแล้ว การให้คำตอบว่า ‘เมืองและผู้คน’ คือผู้สร้างงานศิลปะเหล่านี้ขึ้นมาคงไม่ผิดนัก ทั้งตัวเมืองเองที่ผสมผสานโลกเก่า-ใหม่ การจัดวางพื้นที่สำหรับงานสร้างสรรค์ไว้ในทุกๆ แห่ง แม้บนฟุตบาทก็ยังแบ่งพื้นที่เล็กๆ ให้ดอกไม้เบ่งบาน ตะแกรงระบายอากาศบนถนนที่ปล่อยไอร้อนจากระบบรถไฟใต้ดิน ควันสีขาวๆ ที่พวยพุ่งอยู่ทั่วไปในเมือง มองให้ดีก็เป็นความงดงามอย่างหนึ่งผู้คนที่แตกต่างอย่างสุดขั้วจากถิ่นกำเนิด แต่กลับเดินบนถนนเส้นเดียวกัน โดยสารซับเวย์บวนเดียวกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน เช่นเดียวกับน้ำหอมกลิ่นต่างๆ ที่โชยผ่านตอนที่เดินสวนกับใครสักคนบนท้องถนน เมืองที่รวมผู้คนทั้งโลกไว้ด้วยกันในแบบที่ภาษาแทบไม่มีข้อจำกัด กลายเป็นการเชื่อมโยงศิลปะระหว่างคนทั่วโลก หรือเรียกได้ว่าเป็นประตูแห่งโอกาสที่ไม่มีที่ไหนเหมือนและถ้าจะมองแยกย่อยเป็นภาคส่วน ใจความสำคัญในการก่อร่างสร้างนิวยอร์คเป็นเมืองศิลปะ ก็อาจแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ

New York City: เมืองคือผู้คนนับตั้งแต่ราวปี 1620 เกิดการค้นพบดินแดนใหม่ที่ชื่อ New Amsterdam ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อ New York และในศตวรรษที่ 19-20 เป็นช่วงที่ตัวเมืองนิวยอร์ค หรือ New York City ที่ตั้งอยู่บนเกาะแมนฮัตตันเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยการเป็นดินแดนที่ผู้คนจากทั่วโลกเดินทางมา ด้วยหวังจะมีชีวิตที่ดีกว่า ผู้คนมากกว่า 8.4 ล้านคน มากกว่า 200 ภาษา จึงกลายเป็นจุดเด่นที่ทำให้เมืองเต็มไปด้วยหมุดหมายทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย นอกจากนี้ นิวยอร์คยังอยู่บนพื้นฐานการเติบโตที่หล่อหลอมผู้คนในเจเนอเรชั่นใหม่ๆ ให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยศิลปะ ด้วยการเรียนการสอนที่พัฒนาวิธีคิด มุมมอง ให้เข้าใจศิลปะจนซึมซับมันไว้อยู่ในเนื้อในตัวอย่างน้อยๆ การเกิดและเติบโตด้วยสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ก็ทำให้ผู้คนมีสายตาของศิลปิน มีความรุ่มรวยทางสุนทรียะ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการตกแต่งบ้านสำหรับเทศกาลสำคัญๆ ไปจนถึงการใช้พื้นที่ของเมืองจัดแสดงงานศิลปะทุกประเภท ตั้งแต่ไฟน์อาร์ตไปจนถึงงานสตรีทอาร์ตที่มีให้ได้ชมทั่วทั้งเมือง

New Horizons: อาคาร พื้นที่อาศัย ห่อหุ้มและสร้างสรรค์

ตึกอาคารเป็นสิ่งที่โดดเด่นที่สุดอีกอย่างของนิวยอร์ค บนพื้นที่เกาะแมนฮัตตันราว 778.2 ตารางกิโลเมตร กับภาพจำของตึกระฟ้าที่เรียงรายตรงเส้นสายตา ท่ามกลางภาพจำนี้ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังคืออาคารที่สร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ผสมผสานอาคารสมัยต่างๆ มาจนถึงปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น 

Brownstone: อาคารในช่วงแรกของการก่อสร้างเมือง ทุกวันนี้ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปทั้งในย่านบรู๊คลิน ฮาร์เล็ม โฮโบเก้น ไปจนย่านเก่าแก่ต่างๆ สะท้อนอิทธิพลยุโรปชัดเจน ความหมายตรงตัวคือเป็นอาคารที่สร้างจากหินทรายที่ได้รับความนิยมในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา โดยมีการแกะสลักให้เป็นรูปทรงต่างๆ ทั้งเสา ซุ้มประตู รวมถึงฟาซาดที่กลายเป็นจุดเด่นให้บราวน์สโตนแต่ละหลัง

Beaux-Arts: การออกแบบอาคารที่ได้รับความนิยมในศตวรรษที่ 19-20 ได้รับอิทธิพลจากงานสถาปัตยกรรมฝรั่งเศส ด้วยความชดช้อยของเส้นโค้ง จากเค้าโครงของงานในยุคกรีก-โรมัน มักใช้หินอ่อนสีสว่าง และตกแต่งด้วยรูปสลักเทพเจ้ากรีกโบราณ ส่วนใหญ่ออกแบบสำหรับอาคารที่เป็นแลนด์มาร์คหรือสถานที่สำคัญ อย่างเช่น Metropolitan Museum of Art, Grand Central Terminal และ New York Public Library

Art Deco: อาร์ตเดโคได้รับความนิยมในช่วงปี 1920-1930 เน้นรูปทรงเรขาคณิต สีสว่าง และความสมมาตร เป็นยุคสมัยที่รุ่งโรจน์ของงานออกแบบอีกครั้งและกลายเป็นคลาสสิกข้ามกาลเวลาจนถึงปัจจุบัน กลุ่มอาคารอาร์ตเดโคอย่างเช่น Empire State Building, Chrysler Building, One Wall Street, 70 Pine Street, Bryant Park Hotel และ Paramount Building

Modern: ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา เทคโนโลยีสมัยใหม่ คอนกรีต เหล็ก กระจก กับการออกแบบสไตล์มินิมอลิสท์ เส้นสายเรียบง่าย เป็นการใช้พื้นที่แบบ one space ที่ลดกำแพงกั้น เน้นฟอร์มและฟังก์ชั่นเพื่อประโยชน์การใช้งาน อาคารที่อยู่ในสายทางนี้อย่างเช่น United Nations Headquarters, Lever House, Seagram Building และ One World Trade Center

ส่วนที่สนุกสุดๆ ได้แก่อาคารยุค Postmodern ที่เล่นเรื่องฟอร์มแตกต่าง ไม่มีรูปแบบตายตัว ไม่เหมือนใคร และสร้างความใหม่ให้นิวยอร์ค ไม่ว่าจะเป็น AT&T Building หรือ Sony Building, Lipstick Building, 2 Columbus Circle, The New York Times Building, New Museum รวมถึง the Guggenheim ที่ออกแบบโดย Frank Lloyd Wright

Art Life: พิพิธภัณฑ์มีชีวิต

พิพิธภัณฑ์ในนิวยอร์คมีจำนวนมากมาย และขึ้นชื่อว่าควรได้ไปชมสักครั้งในชีวิต แต่นอกเหนือจากพิพิธภัณฑ์ระดับโลกเหล่านั้น ฉากหลังของเมืองที่อยู่บนท้องถนนก็คล้ายเป็นผ้าใบผืนใหญ่ให้ผู้คนจากทั่วโลกเปลี่ยนตัวเองเป็นศิลปินที่สาดสีสันลงไป นิวยอร์คจึงเต็มไปด้วยงานศิลปะระดับโลกไปจนถึงงานสตรีทอาร์ตบนท้องถนน นั่นทำให้ทั้งเมืองคือพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่สร้างสรรค์โดยผู้คน เมื่อเมืองคือขอบเขตของพิพิธภัณฑ์ การก่อสร้างเมืองก็เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความเป็นศิลปินของผู้คน ทั้งการสร้างทางเดินเลียบแม่น้ำฮัดสัน ตึกสร้างใหม่ที่ใช้กระจกเป็นตัวสะท้อนแดดบ่ายอย่างงดงามในทุกๆ วัน สิ่งปลูกสร้างเก่าแก่ก็ถูกดัดแปลงมาใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอย่าง High Line ที่พัฒนาจากรางรถไฟดั้งเดิม หรือกระทั่งซับเวย์ที่กลายเป็นอีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์มีชีวิตของนิวยอร์คไปแล้ว

คงมีเมืองไม่มากนักที่จะจัดวางสเปซคู่ขนานไปกับการจัดวางตึกอาคาร ทุกๆ บล็อกที่เดินผ่านจะกลายเป็นฉากหลังที่งดงามได้เสมอ ตึกสูงเป็นเส้นนำสายตาไปสู่ท้องฟ้าสีสด และพื้นที่ด้านหน้าตึกหลายแห่งก็ปล่อยเป็นที่ว่างให้ผู้คนได้นั่งมองตึกที่ค่อยๆ เปลี่ยนภาพด้านหลังไปตามแสงสีของวัน

นอกจากความบันเทิงที่ไม่เคยหลับใหล นิวยอร์คยังเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับดนตรี แฟชั่น การแสดงมากมายที่เติบโตส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งล้วนเป็นงานศิลปะในรูปแบบที่สัมผัสได้มากกว่าการมองเห็น

• พิพิธภัณฑ์ในนิวยอร์คมีมากกว่า 80 แห่ง ครบทุกหมวดหมู่ของการจัดแสดง

• The Metropolitan Museum of Art (The Met) คือพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดของนิวยอร์ค ติดอันดับ top five พิพิธภัณฑ์ที่มีผู้เข้าชมสูงสุดในโลกต่อปี

สำหรับนักท่องเที่ยว นิวยอร์คคือเมืองศิลปะที่เต็มไปด้วยเรื่องราวตื่นตาตื่นใจ แต่ถ้าเราลองใช้เวลาสำรวจในรายละเอียด จะมองเห็นอะไรที่มากกว่านั้น

ศิลปะอยู่ในตัวตนของนิวยอร์ค ศิลปินจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาที่นี่เพื่อหาแรงบันดาลใจ ขณะเดียวกันก็ใช้นิวยอร์คเป็นเวทีในการแสดงงาน เชื่อมต่อผู้คนที่สนใจในสิ่งเดียวกัน Susan Hefuna ศิลปินที่สร้างงานศิลปะจากการซึมซับผังเมืองระบบกริด (grid) ของนิวยอร์คที่เธอเห็นทุกๆ วันในการเดินทาง “ฉันจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเดินอยู่ที่ไหน แต่ฉันชอบประสบการณ์ในนิวยอร์คมาก ตัวฉันที่อยู่ในเมืองนี้ เหมือนกับว่ากำลังซึมซับบรรยากาศเหล่านั้น”

- Advertisement -