นิทรรศการ ‘Field Collapse’ เป็นผลงานศิลปะที่ได้รับคัดเลือกจากโครงการ Open Call for Art Projects ที่จัดขึ้นโดย ‘100 Tonson Foundation’ ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยส่งผลงานมาให้คัดเลือกเพื่อจัดแสดงภายใต้การสนับสนุนทางด้านงบประมาณและพื้นที่แสดงงานของมูลนิธิฯ
Photography: Courtesy of 100 Tonson Foundation / Ketsiree Wongwan
งานศิลปะและงานออกแบบถึงแม้จะเป็นงานสร้างสรรค์คนละแขนง แต่ก็มีรากเหง้าพื้นเพมาจากที่เดียวกัน ในปัจจุบันศิลปินหรือนักออกแบบต่างร่วมกันลบเลือนขอบเขตระหว่างศิลปะและงานออกแบบด้วยการสร้างสรรค์ผลงานที่ผสมผสานเอกลักษณ์ของทั้งสองฝั่งเข้าไว้ด้วยกันจนอาจกล่าวได้ว่าแทบจะไม่มีเส้นแบ่งขอบเขตระหว่างงานศิลปะและงานออกแบบอีกต่อไป เช่นเดียวกับผลงานของ thingsmatter สตูดิโอที่สร้างสรรค์งานออกแบบและศิลปะร่วมสมัยที่เป็นการร่วมงานของศาวินี บูรณศิลปิน ศิลปิน/นักออกแบบชาวไทย และทอม แดนเนอเคอร์ (Tom Dannecker) นักออกแบบ/ศิลปินชาวอเมริกัน ผู้ทำงานอยู่บนพรมแดนระหว่างศิลปะและการออกแบบ นอกจาก thingsmatter จะทำงานออกแบบโครงการสถาปัตยกรรมต่างๆ มากมายแล้ว พวกเขายังจัดแสดงนิทรรศการศิลปะหลากหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018, งานอาร์ต ออน ฟาร์ม ของจิมทอมป์สันฟาร์ม และเทศกาล Pattani Decoded 2022
ล่าสุด thingsmatter จัดแสดงนิทรรศการศิลปะที่มีชื่อว่า Field Collapse ณ หอศิลป์ 100 Tonson Foundation ที่นำเสนอผลงานศิลปะที่ผสมผสานงานศิลปะกับสถาปัตยกรรมเข้าด้วยกัน ผลงานชุดนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากช่วงเวลาในกระบวนการระหว่างการก่อสร้างอาคารสถาปัตยกรรม ที่อยู่อาศัย หรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่พวกเขาพบว่ามีความน่าสนใจในเชิงสังคม เศรษฐกิจ หรือแม้แต่มีสุนทรียะบางอย่างซ่อนอยู่ พวกเขาค้นพบว่าพื้นที่ก่อสร้างเป็นโลกที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ที่คนงานก่อสร้างสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นจากโครงไม้หล่อปูนและโครงสร้างเหล็กเส้นต่างๆ ด้วยเทคนิคที่เป็นธรรมชาติ รวมถึงการนำกลับมาใช้ซ้ำ การคำนวณ ผสมผสานกับทักษะที่ส่งต่อมา เพื่อตีความแบบร่างที่สถาปนิกหรือนักออกแบบสร้างสรรค์ขึ้น ทำให้พื้นที่ก่อสร้างเหล่านั้นนำเสนอบริบททางสังคมบางอย่างที่เป็นมากกว่าผลลัพธ์ทางสถาปัตยกรรม
นิทรรศการ Field Collapse นำเสนอผลงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ขนาดใหญ่ ที่ประกอบด้วยเหล็กเส้นจำนวนนับไม่ถ้วน วางเรียงทับซ้อนพร่างพรายตา และระบบคานไม้อัด ที่กินพื้นที่เกือบทั้งหมดของห้องจัดแสดง ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความงดงามและความชาญฉลาดในการคำนวณการจัดวางโครงสร้างภายในของสิ่งก่อสร้างเพื่อความแข็งแรงและมั่นคงในงานสถาปัตยกรรมแล้ว ผลงานชิ้นนี้ยังเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมและสร้างปฏิสัมพันธ์กับตัวงานผ่านพื้นที่เปิดเป็นทางขึ้นคล้ายบันไดให้ผู้ชมเดินขึ้นไปสัมผัสกับมุมมองภายในตัวงานได้ศาวินี บูรณศิลปิน หนึ่งในสมาชิกของ thingsmatter กล่าวถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการครั้งนี้ว่า
“ด้วยความที่พวกเรา (ศาวินีและทอม) ทำงานสถาปัตยกรรม ทำงานออกแบบบ้าน เวลาเราไปยังพื้นที่ก่อสร้างแล้วได้เห็นช่างก่อสร้างทำงานผูกเหล็กเส้นเป็นโครงสร้างฐานรากของอาคาร เรารู้สึกว่ากระบวนการก่อสร้างตรงนี้ จากภาพร่างไปสู่ขั้นตอนที่เสร็จออกมาเป็นงานสถาปัตยกรรม เป็นกระบวนการที่น่าสนใจ มีความงามและสุนทรียะในเชิงกวีอยู่ แต่ก็เป็นความงามที่ไม่ยั่งยืน เพราะเมื่อเหล็กเส้นถูกผูกเสร็จแล้ว ช่างก็จะเทคอนกรีตทับลงไป ซึ่งเป็นลักษณะของงานก่อสร้างที่เรียกว่า คอนกรีตเสริมเหล็ก สุดท้ายโครงสร้างเหล่านี้ก็จะถูกฝังอยู่ในคอนกรีตจนมองไม่เห็น หรือกระบวนการทำงานที่ช่างตอกไม้ เป็นแบบหล่อคอนกรีต หรือทำเสาคาน สิ่งเหล่านี้มีความงามแฝงอยู่ แล้วก็ไม่ใช่ความงามที่สถาปนิกอย่างเราออกแบบเพียงคนเดียว เราอาจจะเป็นคนออกแบบตัวคาน แต่เวลาก่อสร้างเราก็ต้องร่วมงานกับช่างก่อสร้าง ที่ต้องตีความว่าแบบของเราจะสร้างออกมาเป็นอย่างไร แล้วเขาก็ทำออกมาด้วยวิธีที่สิ้นเปลืองงบประมาณน้อยที่สุด ด้วยการใช้ไม้เหลือใช้ หรือวัสดุเก็บตกอะไรก็แล้วแต่ มาทำแบบหล่อ เรารู้สึกว่ากระบวนการเหล่านี้น่าสนใจและน่าชื่นชม
“ก่อนหน้านี้เราก็เคยทำงานที่นำเสนอกระบวนการแบบนี้ด้วยตัววัสดุอย่างเหล็กเส้น ซึ่งเป็นสิ่งที่โดยปกติเราจะมองไม่เห็นจากงานสถาปัตยกรรมที่สร้างเสร็จแล้ว เพราะมันเป็นโครงสร้างที่ถูกฝังอยู่ภายในคอนกรีต เราก็เลยอยากทำให้สิ่งเหล่านี้ถูกมองเห็นและจับต้องได้ งานสองชุดนี้แสดงที่งานสถาปนิก 60 และงาน Hong Kong Shenzhen Biennale of Urbanism/Architecture ที่ฮ่องกง “งานในนิทรรศการครั้งนี้ทำขึ้นจากเหล็กเส้นที่เขาเรียกว่า deformed bar หรือที่บ้านเราเรียกว่า เหล็กข้ออ้อย (เหล็กเส้นที่มีลักษณะเป็นปล้องๆ เพื่อให้คอนกรีตยึดเกาะได้) เราพัฒนางานชุดนี้ขึ้นจากงานชุดก่อนหน้า ที่เราทำเป็นแค่ก้อนบันไดด้วยเหล็กเส้น เพื่อเล่นกับแนวคิดเกี่ยวกับ positive/negative space และพื้นที่ตัน (solid) กับพื้นที่ว่าง (void) และการตั้งคำถามว่า สถาปัตยกรรมนั้นเป็นพื้นที่ (space) หรือเป็นวัตถุ (object) กันแน่ เรารู้สึกว่าเราอยากเล่นกับสภาวะที่ก้ำกึ่งเหล่านี้ พอเราเริ่มสำรวจงานสองชุดแรก เราก็รู้สึกว่าเราเริ่มมีวิธีการสื่อสารกระบวนการเหล่านี้ออกมาได้ “พอดีทาง 100 Tonson Foundation เขาเปิดโครงการ Open Call for Art Projects ให้นำเสนอโครงการศิลปะเพื่อคัดเลือกให้จัดแสดงใน 100 Tonson Gallery เราก็เลยนำเสนอโครงการนี้ ที่ต่อเนื่องจากงานสองชุดก่อนหน้าที่เราเคยสำรวจไป “เรารู้สึกว่าเราอยู่ในพื้นที่สีเทามาตลอด เพราะพอเราอยู่ในแวดวงสถาปนิก เขาก็จะมองว่าเราอยู่ในสายศิลปะ พอเราอยู่ในแวดวงศิลปะ เขาก็จะมองว่าเราเป็นสถาปนิก ถึงเราจะทำงานศิลปะ ก็เหมือนเป็นงานศิลปะแบบคนนอก (outsider art) แต่เราก็ไม่ได้คิดมากอะไร เพราะเราพยายามทำงานที่เปิดพื้นที่ให้คนเข้ามามีส่วนร่วม หรือสร้างบทสนทนากับผู้คน “ก่อนหน้านี้เราทำงานสถาปัตยกรรมแบบจริงๆ จังๆ อย่างการออกแบบบ้าน-สำนักงานมาตลอด พอถึงจุดหนึ่ง เรารู้สึกว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่ได้พูดถึงเลย เพราะมัวแต่จดจ่ออยู่กับเรื่องการก่อสร้าง งบประมาณ ลูกค้า ผู้รับเหมา หรืออย่างตอนเรียน เราก็สนใจเรื่องอื่น อย่างประวัติศาสตร์ ทฤษฎี และปรัชญา ที่ก็ยังเกี่ยวข้องกับศิลปะและสถาปัตยกรรมนั่นแหละนะ แต่ว่าอาจจะมีความเป็นกวีกว่า หรือมีสเกลที่เล็กกว่า เรารู้สึกว่าพอเรามีทักษะพอที่เราจะสร้างบ้านสร้างอาคารแล้ว เราก็อยากสำรวจ หรือสร้างบทสนทนาในสิ่งที่เรายังไม่ได้พูดถึง เป็นเหมือนการทำงานในเชิงทดลองมากขึ้น
“อาจจะด้วยความที่เราฝึกฝนมาในฐานะนักออกแบบพื้นที่ เมื่อมาทำงานศิลปะ เราก็ยังรู้สึกว่างานของเราจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อมีคนเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับงาน เราชอบมากที่ตอนเปิดงานมีเด็กๆ ขึ้นไปเดินเล่น เรารู้สึกว่ามันช่วยเติมเต็มให้งานของเราสมบูรณ์ เพราะถ้างานตั้งอยู่เฉยๆ เราคิดว่ามันยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เราเปิดพื้นที่ให้คนเข้าไปยืนอยู่ภายในตัวงานและเป็นส่วนหนึ่งของงาน และเปิดพื้นที่ตรงปลายห้องแสดงงานให้ผู้ชมได้มองตัวงานด้านนอก เหมือนเป็นงานประติมากรรม “โดยปกติแล้ว โครงสร้างเหล็กเส้นจะไม่สามารถตั้งอยู่ได้ด้วยตัวเอง มันต้องไปประกอบกับอะไรสักอย่าง จะเป็นปูนหรือวัสดุอื่นประกอบกันให้เกิดความมั่นคงแข็งแรง หรือถ้าไม่ใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง โดยมากเรามักเห็นเหล็กเส้นแบบนี้ถูกใช้เป็นวัสดุตกแต่ง นำมาทำเฟอร์นิเจอร์ หรือราวบันไดตามคาเฟ่ แต่เราอยากใช้มันในลักษณะวัสดุก่อสร้างของโครงสร้างงานสถาปัตยกรรม ที่มีนัยยะในตัวมันที่เกี่ยวเนื่องกับงานก่อสร้าง เราจึงต้องทำให้มันตั้งอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ได้ถูกซ่อนเร้นอยู่ในคอนกรีต ในสเกลที่แทบจะห่อหุ้มคน เพื่อให้คนสามารถสัมผัสพื้นผิวของวัสดุได้ โดยเราใช้เหล็กเส้นไปเกือบ 5 ตัน แต่ในความเป็นจริง ตัวเหล็กเส้นก็ทำงานร่วมกันกับโครงไม้ข้างบนที่ยึดให้แน่น เป็นระบบโครงสร้างรวมที่มั่นคงปลอดภัยพอที่คนจะเดินขึ้นไปได้ โดยถ้าสังเกต โครงสร้างนี้ตั้งอยู่เฉยๆ แต่ไม่ได้ยึดลงกับพื้นเลย
“ส่วนชื่อของนิทรรศการ Field Collapse เราหยิบยืมมาจากงานเขียนของนักวิจารณ์ศิลปะชาวอเมริกัน โรซาลินด์ อี. เคราส์ (Rosalind E. Krauss) อย่าง Sculpture in the Expanded Field (1979) ซึ่งเป็นงานเขียนชิ้นสำคัญที่พูดถึงงานที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างงานสร้างสรรค์อย่างงานประติมากรรม (sculpture) งานภูมิทัศน์ (landscape) และงานสถาปัตยกรรม (architecture) ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีคำว่างานศิลปะจัดวาง (installation art) เลยด้วยซ้ำ ซึ่งงานเขียนชิ้นนี้มีอิทธิพลกับเราตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา ในที่นี้ Field Collapse อาจจะเป็นพื้นที่ที่ทุกสิ่งทุกอย่างมาซ้อนทับกันโดยไม่ได้แยกอย่างชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไรหรือจะต้องเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น”
นอกจากผลงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ขนาดใหญ่ที่เปิดให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมแล้ว ยังมีผลงานภาพร่างลายเส้นอันละเมียดละไม ผลงานภาพพิมพ์ดิจิทัลเปี่ยมสีสันแปลกตา และวิดีโอจัดวางที่บันทึกกระบวนการติดตั้งผลงานแบบ time-lapse จัดแสดงอยู่ด้วย “งาน drawing ในงานนิทรรศการนี้มีสองชุด ชุดแรกเป็นภาพลายเส้นขาวดำที่เราให้ชื่องานว่า workingdrawing ที่เราเอาแบบก่อสร้างของงานชุดนี้หลายๆ หน้ามาทับซ้อนกันทำเป็นงานดิจิทัลคอลลาจ งานสเก็ตช์ชิ้นนี้เป็นเหมือนตัวงาน Field Collapse ในแง่ที่มันเป็นความงามระหว่างทาง หรือแบบไม่ได้ตั้งใจ เหมือนตอนเราทำงานในโปรแกรม AutoCAD หรือ Illustrator เรารู้สึกว่าลายเส้นแบบนี้สวยเหลือเกิน “ผลงานอีกชิ้นมีชื่อว่า Deflected Shape No. 4 (Field Collapse) ซึ่งเป็นไดอะแกรมที่มีที่มาจากโปรแกรมที่ทอมใช้สำรวจและคำนวณความแข็งแรงของโครงสร้างของงานศิลปะจัดวางชุดนี้ เป็นระบบวิศวกรรมที่ใช้คำนวณการรับน้ำหนักของโครงสร้างว่าหนักขนาดไหนจะถึงจุดวิกฤตที่โครงสร้างจะยวบหรือพังลงมา เหมือนเราคำนวณหาว่าคนสามารถขึ้นไปอยู่บนบันไดแต่ละขั้นได้กี่คน โปรแกรมก็จะช่วยคำนวณหาความปลอดภัยว่าคนขึ้นไปข้างบนได้เท่าไหร่ เราก็จับเอาห้วงขณะของจุดวิกฤตนั้นมาขยายความทำเป็นงานภาพพิมพ์ดิจิทัลออกมา”
บางคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า ศิลปะต่างกับงานดีไซน์ตรงที่งานดีไซน์นั้นต้องมีฟังก์ชันหรือประโยชน์ใช้สอย หากแต่ศิลปะไม่จำเป็นต้องมี เมื่อเราตั้งคำถามนี้กับนักออกแบบที่ทำงานศิลปะอย่างศาวินี เธอก็ทิ้งท้ายกับเราว่า “เราคิดว่างานศิลปะมีฟังก์ชันนะ แต่มันมีความเป็นนามธรรมมากกว่าฟังก์ชันตามปกติ อาจจะเป็นฟังก์ชันเพื่อการสื่อสาร หรือเพื่อแสดงออก ในแง่หนึ่ง ศิลปะมีฟังก์ชันทางสายตา หรือฟังก์ชันในเชิงปรัชญา ไม่ใช่ฟังก์ชันในเชิงกายภาพแบบเดียวกับโต๊ะเก้าอี้ สำหรับเรา ศิลปะมีวาระหน้าที่ของมันอยู่ มันมีความเป็นนามธรรม แต่มันก็ยังรับใช้เป้าหมายบางอย่างอยู่ สำหรับเรา เรามีความสุขเวลาเห็นคนได้ดูงานศิลปะแล้วได้สัมผัสกับประสบการณ์บางอย่าง ไม่ว่าจะในแง่ไหน ทั้งมีความเพลิดเพลิน ได้ยิ้ม หรือได้แรงบันดาลใจก็ตามที”
– Author: MutAnt –