Jaeger-LeCoultre เป็นแบรนด์นาฬิกาที่อยู่คู่งาน Watches and Wonders Geneva มายาวนานตั้งแต่ก่อนที่ตัวงานจะใช้ชื่อนี้ และในทุกปีเราก็ได้เห็นธีมต่างๆ ที่ทางแบรนด์เลือกใช้เพื่อเป็นเส้นเรื่องหลักในการบอกเล่าความเป็นมาที่ทำให้ผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ต่างๆ มีความหมายและน่าสนใจมากที่สุด อย่างเช่นในปีนี้ที่แล้วที่นำเอาดาราศาสตร์มาผูกไว้กับฟังก์ชั่นต่างๆ บนหน้าปัดนาฬิกาของตน และในปีนี้ที่ใช้ธีม The Golden Ratio หรือทฤษฎีสัดส่วนทองคำในงานออกแบบเพื่อตอกย้ำถึงสัดส่วนแห่งความลงตัวของนาฬิกา Reverso ตัวเรือนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ารุ่นต่างๆ นับตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1930 เป็นต้นมา
เรามาเริ่มต้นกันเบาๆ กับ Reverso Tribute Small Seconds นาฬิการุ่นแรกในปีนี้ที่สานต่อตำนานของการออกแบบตัวเรือนนาฬิกาให้พลิกเอาด้านหลังออกมาไว้ข้างหน้าได้เพื่อป้องกันไม่ให้คริสตอลของนาฬิกาถูกกระแทกหรือขูดขีดขณะเล่นกีฬาโปโล Reverso Tribute Small Seconds เป็นนาฬิการุ่นที่มีฟังก์ชั่นแบบพื้นฐานเหมือนรุ่นดั้งเดิมที่สุด นั่นก็คือการบอกเวลาเพียงอย่างเดียว ตัวเรือนมีให้เลือกเป็นพิงค์โกลด์ ขนาด 45.6 x 27.4 x 7.56 มม. หน้าปัดสีดำขัดลายซันเรย์ หน้าปัดสีเงินแบบขัดลายซันเรย์ และหน้าปัดสีเบอร์กันดีแบบแลคเกอร์
และอีกทางเลือกหนึ่งคือรุ่นตัวเรือนสเตนเลสสตีลขนาด 45.6 x 27.4 x 8.5 มม. หน้าปัดสีเงินโอปอลีน โดย Reverso Tribute Small Seconds ทั้งรุ่นสเตนเลสสตีลและพิงค์โกลด์ต่างก็ที่ทำงานด้วยเครื่องรุ่นเดียวกันซึ่งก็คือเครื่องนาฬิกาแบบไขลานรุ่นคาลิเบอร์ 822 ซึ่งมีกำลังลานสำรอง 42 ชั่วโมง และในยุคสมัยนี้ที่คนไม่ได้ใส่นาฬิกา Reverso ขณะเล่นกีฬาอย่างจริงจังแล้ว Jaeger-LeCoultre ก็พร้อมที่จะให้บริการแกะสลักตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ที่มีความหมายสำหรับลูกค้าแต่ละท่านบนพื้นที่โลหะด้านหลังของตัวเรือนนาฬิกาโดยคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมตามระดับความยากง่ายของดีไซน์แต่ละชิ้น
หากเรามีสิทธิ์เลือกนาฬิการุ่นโปรดที่ Jaeger-LeCoultre ออกในปีนี้ ตำแหน่งนั้นจะต้องตกเป็นของ Reverso Tribute Chronograph อย่างแน่นอน เพราะว่าคอลเลคชั่น Reverso แบบคลาสสิกนี้ไม่มีนาฬิกาโครโนกราฟมาเกิน 20 ปีแล้ว และการกลับมาในครั้งนี้ก็ลงตัวทั้งในเรื่องของความสวยงามและความสะดวกการใช้งานจริง เมื่อมองทางด้านหน้าจะเห็นเพียงความเรียบหรูของเข็มชั่วโมงและเข็มนาทีประกอบกับหลักชั่วโมง แต่เมื่อพลิกมาทางด้านหลังจะพบกับฟังก์ชั่นโครโนกราฟที่ประกอบด้วยวงทดเวลา 60 วินาทีขนาดใหญ่ตรงกลางหน้าปัด และเข็มทดเวลา 30 นาทีแบบเรโทรเกรดทางด้านล่าง ทั้งหมดอยู่บนหน้าปัดแบบเปิดที่เผยให้เห็นการทำงานตลอดจนความละเอียดของงานขัดแต่งกลไกที่อยู่ข้างใต้ได้อย่างเต็มที่
ที่สำคัญ Reverso Tribute Chronograph ยังแตกต่างจากนาฬิกา Reverso แบบโครโนกราฟในอดีตตรงที่บนหน้าปัดด้านหลังซึ่งเป็นฝั่งของโครโนกราฟนั้นมีเข็มบอกเวลาตามปกติด้วยซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมากจนถึงดีที่สุด ความซับซ้อนทั้งหมดนี้ทำให้เครื่องไขลานรุ่นคาลิเบอร์ 860 มีชิ้นส่วนมากถึงกว่า 300 ชิ้น แต่ก็ยังสามารถบรรจุลงในตัวเรือนขนาด 49.4 x 29.9 x 11.14 ได้อย่างลงตัว รายละเอียดทั้งหมดนี้ประกอบกันทำให้ Reverso Tribute Chronograph เป็นนาฬิกาที่มีรายละเอียดน่าค้นหา มีคอมพลิเคชั่นในระดับกลางที่สามารถใช้งานในชีวิตประจำวันจริงได้ และมีราคาในระดับที่เหมาะสมและคุ้มค่าที่สุด ทั้งในรุ่นสเตนเลสสตีลหน้าปัดสีเทาอมฟ้าแบบขัดลายซันเรย์ซึ่งเป็นสีใหม่ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในคอลเลคชั่น Reverso ราคาอยู่ที่ 20,000 ยูโร และรุ่นพิงค์โกลด์หน้าปัดสีดำแบบขัดลายซันเรย์ ราคาอยู่ที่ 35,000 ยูโร
และสำหรับคนรักนาฬิกาที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ เราขอนำเสนอ Reverso Tribute Duoface Tourbillon ซึ่งเป็นทายาทสายตรงของนาฬิกา Reverso Tourbillon รุ่นแรกที่ Jaeger-LeCoultre เปิดตัวเมื่อ 30 ปีก่อนในปี ค.ศ. 1993 เรือนเวลาสองหน้าสองอารมณ์สองเวลารุ่นนี้มีจุดเด่นอยู่ที่กลไกตูร์บิยองบริเวณ 6 นาฬิกาซึ่งเป็นวิธีการดั้งเดิมจากยุคสมัยของนาฬิกาพกในการทำให้เครื่องนาฬิกาทำงานได้อย่างมีความเที่ยงตรงสูงสุด ด้วยการนำเอาชิ้นส่วนที่จะได้รับผลกระทบจากแรงโน้มถ่วงของโลกเข้าไปอยู่ในกรงที่จะหมุนไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นการเฉลี่ยค่าความคลาดเคลื่อน ในครั้งนี้ Jaeger-LeCoultre ประสบความสำเร็จในการทำให้กลไกตูร์บิยองที่ประกอบด้วยชิ้นส่วน 62 ชิ้นและมีน้ำหนักรวม 0.455 กรัมนี้มีความบางเป็นพิเศษ ส่งผลให้ตัวเครื่องไขลานรุ่นคาลิเบอร์ 847 ที่ใช้ในนาฬิการุ่นนี้บางเพียงแค่ 3.9 มม. เท่านั้น
ด้านหน้าของ Reverso Tribute Duoface Tourbillon มีหน้าปัดสีเงินแบบขัดลายซันเรย์ที่ดึงดูดสายตาให้มองไปที่กลไกตูร์บิยองทางด้านล่าง และเมื่อพลิกมาทางด้านหลัง เราก็จะได้เห็นกับหน้าปัดที่สองที่มีสไตล์แบบเปิดบางส่วน ด้านบนมีแผ่นหน้าปัดสีดำแบบขัดลายซันเรย์เพื่อบอกเวลาในประเทศที่สองตามคอนเซปท์ Duoface สองหน้าสองเวลาของ Jaeger-LeCoultre ถัดขึ้นไปทางด้านขวาบนมีสัญลักษณ์รูปดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เพื่อบอกว่าขณะนั้นในประเทศที่สองเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน พื้นที่โดยรอบทั้งหมดมีการแกะสลักบนเนื้อโลหะด้วยเทคนิคกิโยเช่ซึ่งใช้เครื่องมือที่มีอายุกว่า 100 ปีได้อย่างสวยงาม
Jaeger-LeCoultre สามารถออกแบบนาฬิกาแต่ละรุ่นข้างต้นนี้ให้มีความพิเศษในแบบฉบับของตนได้ด้วยความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมายาวนาน ผ่านทั้งยุครุ่งเรืองและยุคแห่งความยากลำบากของอุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสมาได้อย่างมั่นคง หากคุณผู้อ่านสนใจนาฬิกา Jaeger-LeCoultre รุ่นใดก็สามารถติดต่อกับบูติคสยามพารากอนของแบรนด์ได้โดยตรงเพื่อสอบถามเรื่องราคา กำหนดของเข้าหรือการสั่งจองที่หมายเลข 02-610-9925-6
Writer : Ruckdee Chotjinda